Shoplifters : “เพียงแค่ให้กำเนิดก็เป็นแม่ได้แล้วหรือ”

  • Shoplifters คือภาพยนตร์ที่กำกับโดย ฮิโระคะซุ โคเระเอะดะ ออกฉายในปี 2018 และสามารถคว้ารางวัล Palme d’Or จากเทศกาลหนังเมืองคานส์มาได้
  • “ครอบครัวชิบาตะ” ตัวละครหลักใน Shoplifters คือครอบครัวที่สมาชิกแต่ละคนไม่ได้มีความเกี่ยวโยงทางสายเลือด และเพราะความยากจนทำให้พวกเขาต้อง “ทำงานเสริม” ด้วยการลักเล็กขโมยน้อยเพื่อเลี้ยงปากท้อง
  • โคเระเอะดะพาเราไปสำรวจคนชายขอบกลุ่มหนึ่งที่เลือกมาอยู่ร่วมกัน ทลายจารีตสังคม และกำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นมาเอง พร้อมคำถามสำคัญที่ว่า “เราเลือกครอบครัวเองได้ไหม” และ “อะไรคือครอบครัวที่ถูกที่ควร”

*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์

“เราเลือกครอบครัวเองได้ไหม”

คือคำถามที่ Shoplifters (万引き家族) พยายามชวนผู้ชมขบคิด ภาพยนตร์ที่กำกับโดย ฮิโระคะซุ โคเระเอะดะ เรื่องนี้ออกฉายในปี 2018 และคว้ารางวัล Palme d’Or จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ได้สำเร็จ ด้วยเรื่องราวกินใจของกลุ่มคนกะพร่องพะแพร่งและต่างเลือดเนื้อเชื้อไขที่ได้มาอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ ประกอบไปด้วยคุณย่า สามีและภรรยา เด็กสาว เด็กชาย และเด็กหญิงตัวเล็กอีกหนึ่งคน ความยากจนผลักให้พวกเขาต้องเลี้ยงชีพด้วยการลักเล็กขโมยน้อย มีชีวิตอยู่อย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ ในเมืองใหญ่ และแต่ละคนต่างก็มีความลับดำมืดที่เก็บงำไว้ไม่ให้สมาชิกคนอื่นในครอบครัวได้รู้

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ Shoplifters ได้รับคำชมมากมายคือ แม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นเรื่องราวของคนจนในสังคมเมือง แต่ผู้กำกับอย่างโคเระเอะดะก็ไม่ได้ถ่ายทอดมันออกมาให้เป็น “poverty porn” หรือการฉายภาพความจนให้น่าสงสาร เพื่อหาประโยชน์จากความสงสารนั้น และเขาก็ไม่ได้มีจุดประสงค์ให้คนดูอยากวิพากษ์วิจารณ์รัฐสวัสดิการหรือระบบเศรษฐกิจ สิ่งที่โคเระเอะดะต้องการถ่ายทอดออกมาผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้ คือการพาเราเข้าไปยัง “พื้นที่สีเทา” ของความผิดชอบชั่วดี การพาคนดูย้อนสำรวจตัวเองว่าเราเคยสนใจใยดีเพื่อนร่วมโลกเหล่านี้มากแค่ไหน และสิ่งใดคือนิยามที่แท้จริงของคำว่า “ครอบครัว”

ครอบครัวที่ยึดโยงกันไว้ด้วย “เงิน” แต่ความรักก็ไม่ได้ข้นน้อยไปกว่า “เลือด”

ครอบครัวคือความสัมพันธ์อันใกล้ชิดที่สุดที่มนุษย์พึงมีต่อกันได้ แต่ก็กลับเป็นความสัมพันธ์อันนำมาซึ่งปัญหามากที่สุดในสังคม

Shoplifters พาเราไปรู้จักครอบครัวทั้งสองแบบ แบบแรกคือครอบครัวที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดหรือสถานะตรงตามสูตรสำเร็จ “ครอบครัว” ตามขนบสังคม แต่กลับทิ้งไว้เพียงความวุ่นวิ่นเว้าแหว่งทางใจให้ตัวละครในเรื่อง กับอีกครอบครัวที่ไม่ได้มีความเชื่อมโยงทางสายเลือดและไม่ได้มีจุดเริ่มต้นจากความรัก ทว่ากลับเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์พร้อมด้วยความรักความเข้าใจเท่าที่ครอบครัวหนึ่งจะมีได้

ครอบครัว “ชิบาตะ” ใน Shoplifters ประกอบไปด้วย คุณย่าฮัทสึเอะ ผู้เป็นเจ้าของบ้านหลังเล็กที่สมาชิกทั้งหมดอยู่อาศัยด้วยกันอย่างแออัดยัดเยียด คุณย่าฮัทสึเอะต้องผิดหวังกับครอบครัวเดิมของเธอ เมื่อสามีนอกใจไปมีคนอื่น เธอจึงเปิดบ้านต้อนรับคู่สามีภรรยา โอซามุ และ โนบุยะ ให้มาอยู่ด้วยกัน

“ถ้ามีแม่ที่ไม่อยากให้ลูกเกิดมา ลูกก็คงโตมาเป็นผู้ใหญ่อย่างเรา”

บทสนทนาระหว่างโอซามุและโนบุยะ ผู้มีบทบาทหน้าที่ในบ้านชิบาตะเหมือนเป็น “พ่อ” และ “แม่” ทำให้เราได้รู้ว่าทั้งสองคนไม่ได้มีพื้นฐานครอบครัวที่ดีมากนัก นอกจากนั้นเรายังได้รู้ด้วยว่าโนบุยะเองเคยถูกอดีตสามีทำร้ายอีกด้วย

ขยับมาที่รุ่น “ลูก” ครอบครัวชิบาตะมี อากิ เด็กสาวผู้เป็นหลานของสามีคุณย่าฮัทสึเอะกับภรรยาใหม่ แม้จะไม่รู้ว่าปมที่ทำให้อากิหนีมาอยู่กับคุณย่าคืออะไร แต่ดูเหมือนว่าครอบครัวที่แท้จริงของอากิจะไม่ได้มอบความรักให้กับเธอเท่ากับที่มอบให้น้องสาวของเธอ และแทนที่จะออกตามหาเมื่อลูกสาวหายไป ครอบครัวของอากิก็กลับเลือกรักษา “หน้าตา” ทางสังคมไว้ และบอกใครต่อใครว่าเธอไปเรียนต่างประเทศ

โชตะ คือเด็กอีกคนที่เป็นสมาชิกครอบครัวชิบาตะ และโชตะอาจเป็นเพียงคนเดียวที่ไม่เคยสัมผัสกับครอบครัวแบบอื่น ๆ เลย นอกจากครอบครัวชิบาตะเพราะเขาถูกโอซามุและโนบุยะเก็บมาเลี้ยงตั้งแต่ยังแบเบาะ

ส่วน จูริ สมาชิกคนใหม่ของครอบครัว คือเด็กหญิงตัวเล็กที่ครอบครัวชิบาตะตัดสินใจเลี้ยงไว้ เมื่อได้รู้ว่าพ่อแม่ของเธอใช้ความรุนแรงกับเธอเสมอ และสมาชิกครอบครัวชิบาตะทุกคนก็ต้อนรับเธออย่างอบอุ่น อีกทั้งยังสอนให้เธอรู้ว่าครอบครัวควรปฏิบัติต่อกันอย่างไร

โคเระเอะดะให้สัมภาษณ์กับ Vulture ว่า Shoplifters ต่างจากภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ ของเขาตรงที่แม้จะเป็นการสำรวจนิยามคำว่าครอบครัวเช่นเดียวกัน แต่ครอบครัวใน Shoplifters นั้น เริ่มจาก “เงิน”  

“เงิน” คือสิ่งที่โยงใยครอบครัวชิบาตะแทนสายเลือด โอซามุและโนบุยะมาอยู่กับคุณย่าฮัทสึเอะก็เพราะเธอมีบ้านและเงินบำนาญของสามีผู้ล่วงลับให้พวกเขา ส่วนคุณย่าฮัทสึเอะเองก็ไม่ได้ให้ที่พักพิงและเงินกับโอซามุและโนบุยะ เพราะคิดว่าเธอเป็นลูกชายลูกสาว แต่พวกเขาคือ “หลักประกัน” ที่ทำให้เธอรู้ว่าเธอจะไม่ตายอย่างโดดเดี่ยว

สมาชิกครอบครัวชิบาตะไม่ได้มาอยู่ด้วยกันเพราะต้องการสร้าง “ครอบครัว” พวกเขาต่างมาอยู่ด้วยกันเพราะความจำเป็นในชีวิตและเพราะสมาชิกบางคนในครอบครัวมีสิ่งที่ใครอีกคนตามหา คุณย่าเห็นหลักประกันว่าเธอจะไม่ตายอย่างโดดเดี่ยวในตัวสมาชิกแต่ละคน โอซามุและโนบุยะเห็นเงินในตัวคุณย่า และเห็นลูกที่พวกเขามีเองไม่ได้ในตัวโชตะและจูริ อากิได้รับการเอาอกเอาใจและใส่ใจจากคุณย่าแบบที่ไม่เคยได้รับในครอบครัวที่แท้จริง โชตะอยู่ที่นี่เพียงเพราะเขาไม่รู้จักที่อื่นอีกแล้ว ส่วนจูริก็เห็นครอบครัวอบอุ่นในบ้านชิบาตะ

หากจะมองว่าสิ่งเหล่านี้คือ “ผลประโยชน์” ที่พวกเขาได้รับเมื่ออยู่ด้วยกันก็ไม่ผิดนัก แต่หากจะมองว่าผลประโยชน์เหล่านี้ก็คือความรักแบบที่ครอบครัวควรจะมีให้กันและกันก็ไม่ผิดอีกเช่นกัน และหากนิยามของครอบครัวไม่ได้อยู่ที่การเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขเดียวกัน แต่คือที่ที่เราจะมอบความรักความอบอุ่นให้แก่กันแล้ว ในเมื่อสมาชิกครอบครัวชิบาตะแต่ละคนสามารถเติมเต็มสิ่งที่ขาดหาย เยียวยารักษาแผลใจที่สมาชิกแต่ละคนเจ็บมาจากครอบครัวแท้ ๆ ของตัวเอง และสร้างความรักความผูกพันขึ้นมาในแบบของพวกเขาแล้ว จะตัดสินได้อย่างไรว่าพวกเขาไม่ใช่ “ครอบครัว” ที่ถูกที่ควรเพียงเพราะไม่ใช่สายเลือดเดียวกัน  

ประเทศชิบาตะ ครอบครัวอนาธิปไตยผู้ทลายจารีตสังคมและปกครองตนเอง

แม้ Shoplifters จะเป็นเรื่องราวชีวิตของแรงงานและกลุ่มคนชายขอบในสังคมญี่ปุ่น แต่โคเระเอะดะก็ไม่ได้ฉายภาพให้พวกเขาเป็นกลุ่มคนผู้โดนกดทับที่น่าสงสารและเลือกชีวิตตัวเองไม่ได้ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้แปรความจนเป็นความโรแมนติกแบบ “ถึงจนก็มีความสุขได้” หากแต่โคเระเอะดะทำให้เราเข้าไปสัมผัสครอบครัวชิบาตะในฐานะมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่ต้องดิ้นรนใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ที่รัฐสวัสดิการไม่ทั่วถึงและกฎเกณฑ์ของสังคมไม่ได้ถูกสร้างมาโดยมีพวกเขาเป็นหนึ่งในสมการนั้น พวกเขาจึงต้องสร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมาเองเพื่อดำรงชีวิตให้รอดในโลกที่ไม่เคยมองเห็นพวกเขา

หนังสือเล่มหนึ่งที่มักจะปรากฏในบทสนทนาของโชตะกับโอซามุเสมอคือ Swimmy หนังสือนิทานภาพว่าด้วยเรื่องของสวิมมี ปลาตัวเล็กสีดำที่อาศัยอยู่ร่วมกับเพื่อนปลาตัวเล็กที่ต่างก็มีตัวสีแดง วันหนึ่งปลาใหญ่กินเพื่อน ๆ ของสวิมมีไปจนหมด แม้จะเศร้า แต่สวิมมี่ก็ว่ายน้ำออกไปท่องโลกกว้าง จนเจอกับกลุ่มปลาตัวเล็กสีแดงฝูงใหม่ที่ไม่กล้าออกว่ายไปไหนเพราะกลัวจะตกเป็นเหยื่อปลาใหญ่ สวิมมีจึงเสนอให้เพื่อน ๆ ว่ายรวมฝูงกันเป็นรูปร่างของปลาตัวใหญ่ ส่วนตัวมันเองที่มีสีดำจะอยู่ตรงตำแหน่งของดวงตา ปลาน้อยทั้งหลายที่ว่ายรวมกลุ่มกันจึงไล่ปลาใหญ่ไปได้ในที่สุด

“ไม่สงสารปลาใหญ่เหรอ” โชตะถามโอซามุ

“ไม่หรอก ปลาใหญ่ก็กินเพื่อนปลาเล็กไปแล้วตั้งเยอะ” โอซามุตอบ

การก่อร่างสร้างรูปเป็นปลาใหญ่ของเหล่าปลาน้อยคือการก่อกำเนิดครอบครัวชิบาตะ ฝูงปลาตัวเล็กที่โดนกดทับจากสังคมไม่ได้จำยอมแต่ก็ไม่ได้ต่อต้านกฎเกณฑ์ที่สังคมกำหนด พวกเขายังมีงานสุจริตทำนอกบ้าน โอซามุเป็นแรงงานรับเหมาก่อสร้าง โนบุยะทำงานในโรงงานซักรีด คุณย่าฮัทสึเอะได้เงินบำนาญของสามี อากิเป็นพนักงานบริการทางเพศ แต่ในเมื่อการเป็นปลาน้อยที่พยายามใช้ชีวิตแบบปลาน้อยไม่อาจทำให้พวกเขามีชีวิตรอดในสังคมที่เต็มไปด้วยปลาใหญ่นี้ได้ สมาชิกครอบครัวชิบาตะจึงเลือกที่จะปกครองตนเอง มีกฎเกณฑ์เป็นของตนเอง และแยกตัวออกมาจากจารีตสังคม

ตราบใดที่สินค้ายังวางอยู่บนชั้นวาง แปลว่ามันยังไม่มีเจ้าของ สิ่งที่เราทำจึงไม่เรียกว่าการขโมย

เราไม่ผิดที่ขโมยหากเราไม่ได้ทำให้เจ้าของร้านล้มละลาย

สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่โอซามุปลูกฝังโชตะมาโดยตลอด ต่อให้กฎหมายจะบอกว่าผิด แต่กฎเกณฑ์ของชิบาตะกลับบอกว่ามันเป็นสิ่งที่ทำได้

แม้กระทั่งตอนที่พาจูริมาอยู่ด้วยเพราะรู้ว่าพ่อแม่ที่แท้จริงใช้ความรุนแรงกับเธอ บ้านชิบาตะที่รู้ว่าสิ่งที่พวกเขาทำนั้นเข้าข่ายการลักพาตัวเด็ก ก็ยังคงตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นใหม่ว่า หากไม่เรียกร้องค่าไถ่ก็ไม่ได้แปลว่าเรากำลังลักพาตัว

ความเป็นอนาธิปไตยนี้ส่งผลมาถึงในบ้าน เพราะไม่ได้ใช้ชีวิตขึ้นอยู่กับค่านิยมหรือจารีตทางสังคม โครงสร้างและค่านิยมในบ้านชิบาตะเองจึงไม่ได้ทำตามกฎเกณฑ์ของสังคมไปด้วย และที่น่าสนใจคือ ความเป็นอนาธิปไตยกลับเป็นสิ่งที่ทำให้ครอบครัวชิบาตะอบอุ่นกว่าหลาย ๆ ครอบครัว ที่ต้องปฏิบัติตัวตามบรรทัดฐานสังคม เพราะมันช่วยทลายบทบาททางเพศและทลาย “ศีลธรรม” บางอย่างที่ทำให้บางครอบครัวมีช่องว่างระหว่างกันลงไปด้วย

โอซามุผู้เป็นผู้ชายเพียงหนึ่งเดียวในครอบครัว (หากไม่นับโชตะที่ยังเป็นเพียงเด็กชาย) ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้นำครอบครัวหรือมีอำนาจบาตรใหญ่กว่าใครในบ้าน ขัดกับระบอบชายเป็นใหญ่ในสังคมญี่ปุ่น กลับกัน ในบ้านชิบาตะ ผู้หญิงคือคนที่มีบทบาทและทำหน้าที่เหมือน “ผู้นำ” ในครอบครัว สมาชิกทุกคนมีที่อยู่อาศัยด้วยบ้านของคุณย่าฮัทสึเอะและเงินบำนาญที่เธอได้รับก็เหมือนเสาหลักสำคัญให้ครอบครัวยังประคองชีวิตต่อไปได้ ส่วนโนบุยะก็มักจะมีหน้าที่ตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญต่อครอบครัวแทนที่จะเป็นหน้าที่ของโอซามุ

ในบ้านที่การขโมยของไม่ใช่เรื่องผิด การเป็นหญิงขายบริการก็ไม่ใช่ความอับอายด้วย อากิสามารถพูดเรื่องนี้กับทุกคนในครอบครัวรวมถึงคุณย่าฮัทสึเอะที่ควรจะเป็นคนแก่หัวโบราณและต่อต้านเรื่องเหล่านี้ได้โดยไม่ถูกตัดสิน เช่นเดียวกับอาการอวัยวะเพศแข็งตัวของผู้ชาย ที่เด็กวัยกำลังโตอย่างโชตะต้องเผชิญ เขาสามารถพูดเรื่องนี้กับโอซามุได้ และโอซามุก็ไม่ได้ทำให้โชตะรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงในร่างกายกลายเป็น “เรื่องต้องห้าม” อย่างที่หลาย ๆ บ้านมักจะทำกัน

ส่วนโอซามุและโนบุยะผู้ที่มีสถานะเป็นเหมือนพ่อและแม่ของบ้าน ก็ไม่เคยใช้สิทธิ์ของความเป็นพ่อแม่มากดขี่ข่มเหงลูก พวกเขามอบความรักและมอบสิทธิ์และเสียงให้เด็ก ๆ ในฐานะมนุษย์ที่ทัดเทียมกัน แม้แต่การเลือกเสื้อผ้าตัวใหม่ให้จูริใส่ บ้านชิบาตะก็ยังเลือกตามความชอบของเธอแทนที่จะเลือกตามความเห็นของตัวเอง

ฉากที่น่าประทับใจฉากหนึ่ง คือฉากที่สมาชิกทุกคนต่างออกมา “ฟังเสียงพลุ” ด้วยกัน ท่ามกลางตึกสูง บ้านเล็ก ๆ หลังนี้เป็นดินแดนเอกเทศที่สมาชิกในครอบครัวได้ร่วมแบ่งปันช่วงเวลาแสนสุขด้วยกัน โอบกอดกัน และมองหาสิ่งที่รู้ว่ามีแม้จะไม่ถูกต้องตามครรลองของคนนอกอย่างความรักแบบครอบครัวที่พวกเขามอบให้กันและกัน เฉกเช่นประกายสว่างไสวของพลุที่ถูกตึกสูงบดบังไว้ และพวกเขาก็ทำได้เพียงเงี่ยหูฟังเท่านั้น

สมาชิกครอบครัวชิบาตะแต่ละคนต่างก็เป็นสวิมมี พวกเขาคือปลาน้อยที่ต้องมาว่ายรวมกันและประกอบสร้างกฎเกณฑ์ขึ้นใหม่เพื่อสู้กับปลาใหญ่ในท้องทะเลคลั่ง แต่ปลาน้อยแต่ละตัวก็ได้พบตำแหน่งแห่งที่ที่เหมาะสมของตัวเองในโครงสร้างที่พวกเขาได้ร่วมกันกำหนดขึ้นเอง ซึ่งทุกตำแหน่งในโครงสร้างต่างก็มีความสำคัญไม่ต่างกัน

พื้นที่สีเทา ที่ในสายตา “เขา” กับ “เรา” มีความเข้มไม่เท่ากัน

ช่วงเวลาแห่งความสุขของครอบครัวสุขสันต์ต้องจบลงหลังจากการเสียชีวิตของคุณย่าฮัทสึเอะ และการที่โชตะ ที่เริ่มสงสัยในนิยามของคำว่า “ครอบครัว” ยอมให้ตัวเองโดนจับหลังขโมยของ จนนำมาสู่การจับกุมสมาชิกทั้งครอบครัว

ช่วงที่เจ้าหน้าที่รัฐสอบปากคำสมาชิกแต่ละคนในครอบครัว คือช่วงที่โคเระเอะดะพาเราไปสำรวจพื้นที่สีเทาและอาจจะเป็นเทาเข้มไปถึงดำ หากมองจากสายตาของคนนอก แต่กลับเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” อันเล็กจ้อยที่ครอบครัวชิบาตะผู้ถูกสังคมผลักออกมาให้อยู่ชายขอบสามารถเบียดเสียดกันเข้าไปอยู่ได้

ตำรวจเปิดเผยความลับบางอย่างของคุณย่าให้อากิรู้ ทำให้เธอเข้าใจไปว่าคุณย่าให้เธอมาอยู่ด้วยเพียงเพื่อต้องการ “ไถเงิน” ค่าเลี้ยงดูจากพ่อแม่ของเธอ แต่สิ่งที่เราได้เห็นมาตลอดเรื่องในช่วงที่คุณย่ายังมีชีวิตอยู่ ก็คือความรักความใส่ใจที่คุณย่ามีให้อากิ เธอพาหลานออกไปทานมื้อเย็นด้วยกัน บอกรหัสเบิกเงินบำนาญให้อากิรู้ ไม่เรียกร้องให้อากินำเงินที่หามาได้จากการขายบริการทางเพศมาแบ่งให้ครอบครัว และปลอบอากิเมื่อเธอทุกข์ใจ คำถามคือความรักความห่วงใยที่คุณย่ามีให้เธอเป็นของปลอมเพียงเพราะ (ตำรวจเข้าใจไปว่า) คุณย่ารับเธอมาเพื่อเรียกค่าเลี้ยงดูจากพ่อแม่หรือเปล่า

นอกจากนั้น หนังยังพาเราไปสำรวจเรื่องของเส้นแบ่ง “ศีลธรรม” ระหว่างคนที่มีสิทธิ์มีเสียงในการกำหนดเส้นแบ่งนั้น กับคนที่ชีวิตไม่ได้ให้ทรัพยากรมากพอที่จะใช้ชีวิตให้ถึงมาตรฐานเส้นแบ่งนั้นได้

“รู้ไหมว่าการทิ้งศพเป็นเรื่องผิดกฎหมาย” สมาชิกครอบครัวชิบาตะที่เหลืออยู่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งคำถาม เมื่อพบว่าพวกเขาฝังศพคุณย่าฮัทสึเอะไว้ในบ้าน และไม่ได้ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดไว้เมื่อมีผู้เสียชีวิต สำหรับคนนอก สิ่งที่พวกเขาทำคือการ “ทิ้ง” ศพ แต่สำหรับครอบครัวชิบาตะ พวกเขามีทางเลือกแค่นั้น การจัดงานศพใช้เงินมากเกินไป และการขุดดินฝังศพไว้ในบ้าน คือการทำเพื่อคุณย่าเป็นครั้งสุดท้ายในแบบที่ดีที่สุดที่พวกเขาจะนึกได้แล้ว

“รู้สึกผิดบ้างไหมที่ใช้ให้เด็กไปลักขโมย” ตำรวจตั้งคำถามกับโอซามุ และคำตอบที่เขาตอบกลับไปก็คือ นั่นเป็นทักษะเดียวที่เขารู้ โอซามุและโนบุยะที่อยากเป็นพ่อและแม่ให้กับครอบครัวไม่ได้มีทักษะอื่นใดที่จะส่งต่อให้ “ลูก” นำไปใช้ดำรงชีพได้นอกจากการลักเล็กขโมยน้อย ทักษะการลักขโมยที่เป็นเรื่องผิดศีลธรรมตามบรรทัดฐานของสังคม กลับเป็นของขวัญที่ล้ำค่าที่สุดที่โอซามุจะมอบให้ลูกของเขาได้

จนกระทั่งหนังพาเรามาถึงคำถามสุดท้ายที่เป็นแกนหลักของเรื่องราวทั้งหมดอย่าง “ครอบครัววัดกันที่อะไร”

โนบุยะถูกเจ้าหน้าที่ซักถามเรื่องที่ “ลักพาตัว” จูริมาจากพ่อแม่ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ใส่ใจเสียด้วยซ้ำว่าพวกเขาไปลักพาตัวจูริมาได้อย่างไร และครอบครัวที่แท้จริงของจูริเหมาะสมแล้วหรือที่จะเป็นคนดูแลเธอ

“เพียงแค่ให้กำเนิดเด็กคนหนึ่งขึ้นมาก็เป็นแม่ได้แล้วเหรอ” โนบุยะถามเจ้าหน้าที่

“แต่หากไม่ได้เป็นคนให้กำเนิด จะเรียกว่าเป็นแม่ได้จริง ๆ หรือคะ” เจ้าหน้าที่ถามเธอกลับ “เด็ก ๆ เรียกคุณว่าอะไร”

ไม่ เด็ก ๆ ไม่ได้เรียกโนบุยะว่าแม่ ไม่ได้เรียกโอซามุว่าพ่อ และทั้งคู่ก็ไม่ได้เป็นคนให้กำเนิดอากิ โชตะ หรือจูริ

ท้ายที่สุด Shoplifters ก็ไม่ได้ให้คำตอบที่แน่ชัดกับเราว่า ในพื้นที่สีเทาที่ยังเต็มไปด้วยความคลุมเครือทั้งทางศีลธรรมและนิยามอันเลือนรางของคำว่าครอบครัวนี้ สิ่งใดกันแน่ที่ถูก สิ่งใดที่ผิด และครอบครัวที่แท้จริงควรเป็นอย่างไร ทิ้งไว้เพียงแต่คำถามที่ว่า เรา – ผู้มีเจตจำนงเสรีในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง – เลือกครอบครัวเองได้ไหม หรือต้องรอให้ใครมาบอกว่าสิ่งใดใช่และไม่ใช่ “ครอบครัวที่แท้จริง” 

อ้างอิง : https://www.vulture.com/2018/11/shoplifters-hirokazu-kore-eda-interview.html


Writer

Avatar photo

ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา

อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts