บทความนี้ไม่ได้พูดถึง “Sir Ken Robinson” เจ้าของ TED Talk ยอดวิวสูงสุดที่เปลี่ยนให้โลกทบทวนระบบการศึกษาและมุมมองต่อเด็กใหม่ด้วยอารมณ์ขัน แต่พูดถึงเด็กคนหนึ่งที่เกือบจะกลายเป็น “เด็กด้อยโอกาส” ที่พลิกฟื้นชีวิตได้ด้วยครูหนึ่งคนที่เชื่อมั่นในตัวเขา
เพียงครูแค่หนึ่งคนเท่านั้น
เขากลายเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้คนนับล้าน
“เรากำลังทำลายเด็ก ด้วยความหวังดีจากระบบหรือเปล่า?”
คือคำถามที่เขาพูดไว้ใน TED Talk เรื่อง “Do Schools Kill Creativity?” ซึ่งมีความยาวเพียง 18 นาที ที่แทบจะทุกนาทีแทงลึกถึงใจกลางของทุกระบบการศึกษาในโลก การมียอดวิว 70 ล้านครั้งไม่ได้เกิดจากความบังเอิญ แต่เกิดจากความจริงที่ทุกคนรู้สึก แต่ไม่กล้าพูด
เขาไม่ได้เป็นแค่ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา เขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่เคยถูกระบบทอดทิ้ง แต่กลับมาช่วยให้คนอื่นไม่ต้องเจอกับสิ่งที่เขาเจอ
เด็กชายขาลีบ กับการถูกมองข้าม และการได้รับการมองเห็น
เรื่องของเด็กชาย Ken Robinson เริ่มต้นที่เมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ ในปี 1950 เขาเป็นลูกคนที่ 5 จากพี่น้อง 7 คน พ่อของเขาเคยเป็นนักฟุตบอลกึ่งอาชีพ และตอนที่เคนยังเล็ก พ่อของเขาตั้งความหวังไว้ว่าลูกชายจะได้เดินตามรอยเป็นนักฟุตบอล

CR: Ray3578
แต่แล้วเมื่อเคนอายุ 4 ขวบ เขาป่วยเป็นโปลิโอ ต้องเข้าโรงพยาบาลนาน 8 เดือน เมื่อออกจากโรงพยาบาล เขาต้องใช้ไม้เท้าในการเดิน ความฝันที่จะเป็นนักฟุตบอลสิ้นสุดลงทันที
วิกฤติครั้งใหญ่ของครอบครัวไม่ได้จบแค่นั้น ไม่กี่ปีต่อมา พ่อของเขาได้รับอุบัติเหตุขณะทำงานที่ท่าเรือ ทำให้อัมพาตทั้งตัว ต้องนอนติดเตียงเป็นเวลา 19 ปี ครอบครัวจึงสูญเสียหัวเสาหลักที่หาเลี้ยงครอบครัว
เมื่ออายุ 5 ขวบ Ken ถูกส่งไปเรียนที่โรงเรียน Margaret Beavan Open Air Day School for the Physically Handicapped ชื่อโรงเรียนบอกทุกอย่าง นี่คือโรงเรียนสำหรับเด็กพิการ ในยุคที่ยังไม่มีการใช้คำพูดที่นุ่มนวลเหมือนปัจจุบัน
ในโรงเรียนแห่งนี้ มีเด็กที่มีความพิการหลากหลายรูปแบบ ทั้งโปลิโอ อัมพาต ตาบอด หูหนวก เขาเล่าถึงประสบการณ์นั้นว่า “ในฐานะเด็ก เราไม่ได้สนใจความพิการของกันและกัน เราเป็นเพื่อนกับคนที่เราว่าน่าสนใจหรือตลกดี เหมือนเด็กทั่วไป”

จุดเปลี่ยนของชีวิตเขาเกิดขึ้นเมื่ออายุ 10 ขวบ มีแขกคนหนึ่งมาเยี่ยมห้องเรียน ซึ่งต่อมาเขาถึงรู้ว่าคือ Charles Strafford ผู่ตรวจการศึกษาประจำเมืองลิเวอร์พูล
Strafford คุยกับครูแล้วเดินมาคุยกับเด็กหลายคนเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขากำลังทำ เขาคุยกับเคนสักพักหนึ่ง ไม่กี่วันหลังจากนั้น เคนถูกครูใหญ่เรียกไปพบและทำแบบทดสอบต่างๆ กับผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการศึกษา หลังจากนั้นเขาถูกย้ายไปเรียนในชั้นที่สูงกว่า และได้เรียนกับครูคนพิเศษที่ชื่อ Miss York
Miss York เป็นครูที่น่าเกรงขาม แต่เธอเตรียมเคนเพื่อสอบเข้าโรงเรียนระดับ eleven-plus ซึ่งเป็นการสอบคัดเลือกเข้าโรงเรียนมัธยม เคนจึงกลายเป็นคนแรกในครอบครัวและเป็นนักเรียนคนเดียวจากโรงเรียน Margaret Beavan ที่สอบผ่านได้ในปีนั้น

“ถ้าครูคนหนึ่งไม่ได้เห็นอะไรบางอย่างในตัวผมที่ตัวผมเองยังไม่เห็น ชีวิตผมอาจไปในทิศทางที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง”
ด้วยทุนการศึกษา Ken เข้าเรียนที่ Liverpool Collegiate School ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาความสนใจและความสามารถที่จะกำหนดชีวิตที่เหลือของเขา
การที่มีคนเชื่อในตัวเขาทำให้เขาเชื่อในตัวเอง การที่มีคนมองเห็นสิ่งที่เขาทำได้แทนที่จะมองแต่สิ่งที่เขาทำไม่ได้ ทำให้เขารู้ว่าเขาไม่ได้ “เสียเวลาเปล่า” อย่างที่บางคนเคยบอก
แต่สิ่งที่น่าคิดคือ ถ้าไม่มี Charles Strafford ที่หยุดสังเกตเขา ถ้าไม่มี Miss York ที่เตรียมเขาอย่างจริงจัง Sir Ken อาจไม่มีวันนี้ แล้วในห้องเรียนทุกวันนี้ เรามีบุคคลแบบ Miss York หรือ Mr. Strafford เพียงพอแล้วหรือยัง?

ประสบการณ์ในวัยเด็กทำให้ เคนเรียนรู้บทเรียนสำคัญ เขาใช้ชีวิตด้วยหลักการที่ว่า “ไม่มีวันหนีจากสิ่งที่ทำให้กลัว” เพราะการเป็นโปลิโอ การที่ถูกตีตราว่าเป็นคนพิการ การที่ต้องเดินผ่านผู้คนที่จ้องมอง ชี้นิ้วใส่เขาอยู่ตลอดเวลา ทำให้เขาเรียนรู้ตั้งแต่เล็กๆ ว่า “ต้องเงยหน้าขึ้นและเดินต่อไป”
ประสบการณ์นี้เองที่ทำให้ เขาเข้าใจว่า ระบบการศึกษาไม่เพียงแต่สอนความรู้ แต่ยังกำหนดว่าใครคือคนมีค่า ใครคือคนไร้ค่า และนั่นคือจุดเริ่มต้นของปัญหาใหญ่ทั้งหมดที่กำหนดศักยภาพมนุษย์ในชีวิตของเขาที่จะดำเนินต่อไปในชีวิตที่เหลือ
อุตสาหกรรมชื่อว่า ‘โรงเรียน’ : โรงงานผลิตเด็กดี
ระบบโรงเรียนที่เราเคยชินเกิดขึ้นในช่วงยุคอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) เมื่อ 200 ปีที่แล้ว โลกต้องการแรงงานจำนวนมากที่มีทักษะเหมือนกัน ทำงานได้ตรงเวลา เชื่อฟัง และทำตามคำสั่ง โรงเรียนจึงถูกออกแบบมาเหมือนโรงงาน มีกระดิ่งบอกเวลา เด็กถูกจัดตามอายุ ไม่ใช่ตามความสนใจหรือความสามารถ ทุกคนต้องเรียนเวลาเดียวกัน สอบแบบเดียวกัน ตอบให้เหมือนกัน

เซอร์เคนเรียกระบบนี้ว่า “one-size-fits-all education” หรือ “การศึกษาแบบเหมารวม” ซึ่งเปรียบเหมือนโรงงานผลิตเสื้อผ้าที่ผลิตแต่ไซส์ M ไม่เคยสนใจว่าใครอ้วน ผอม เตี้ย ยาว โรงเรียนไม่เคยถูกออกแบบมาเพื่อ “มนุษย์ที่แตกต่าง”
และแม้ว่าโลกเปลี่ยนไปจากช่วงเวลานั้นมานับร้อยปี เราอยู่ในยุคข้อมูลข่าวสาร (Information Age) ที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหา การทำงานร่วมกัน อย่างเช่นในปัจจุบัน แต่ระบบการศึกษายังคงใช้แนวคิดเดิมจากยุคอุตสาหกรรม
จุดตั้งต้นของเขาไม่ใช่แค่ “สอนให้สนุกขึ้น” แต่คือ “ต้องรื้อฐานคิดการศึกษาใหม่หมด”
ในระบบปัจจุบัน เด็กที่เก่งคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์จะได้รับการยกย่อง เด็กที่เก่งศิลปะหรือดนตรีจะถูกมองว่าเป็น “กิจกรรมเสริม” เด็กที่เรียนเก่งแต่ไม่เชื่อฟังจะถูกมองว่าเป็น “ปัญหา” เด็กที่คิดต่างจากคนอื่นจะถูกบอกว่า “ผิด”
เซอร์เคนเห็นว่านี่คือการฆ่าความเป็นมนุষย์อย่างเงียบๆ เราไม่ได้ฆ่าด้วยความชั่วร้าย แต่ฆ่าด้วยความหวังดี แม้เราอยากให้เด็กมีอนาคตที่ดี แต่กลับทำลายสิ่งที่ทำให้พวกเขาเป็นตัวของตัวเอง
เราฆ่าความแตกต่างหลากหลาย
นั่นหมายถึงเราฆ่าความเป็นมนุษย์
ความคิดสร้างสรรค์: ไม่ใช่ความสนุก ของเล่น แต่คือทักษะเอาตัวรอด
คำว่า “ความคิดสร้างสรรค์” (creativity) ในความเข้าใจของเซอร์เคน ไม่ใช่เรื่องของการวาดรูป เล่นดนตรี หรือเขียนบทกวี แต่คือ “ความสามารถในการคิดนอกกรอบ”
มันคือความสามารถในการเผชิญกับสถานการณ์ใหม่ หาทางออกที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน และกล้าลองผิดลองถูก นี่คือทักษะที่ทุกอาชีพต้องการในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

และเป็นความสามารถตามธรรมชาติที่มีอยู่แล้วในตัวมนุษย์ทุกคน
ลองดูเด็กเล็กๆ สักคน พวกเขามาอยู่ในโลกใบนี้ด้วยการกล้าถามทุกอย่าง กล้าลองทุกอย่าง ไม่กลัวว่าจะผิด ไม่กลัวว่าจะโง่ ไม่กลัวว่าจะล้ม พวกเขาเล่นกับความเป็นไปได้ทุกแบบ เด็กทุกคนเกิดมาพร้อมกับความคิดสร้างสรรค์
แต่พอเข้าโรงเรียน เด็กเรียนรู้ว่ามีคำตอบ “ถูก” และ “ผิด” ที่ชัดเจน พวกเขาเรียนรู้ว่าการผิดคือสิ่งที่น่าอาย การไม่รู้คือสิ่งที่ไม่ดี การคิดต่างคือสิ่งที่อันตราย
เด็กที่ถามคำถาม “แปลกๆ” มักจะได้รับคำตอบว่า “อย่าถามอะไรแบบนี้ ตั้งใจเรียนก่อนไป” เด็กที่คิดวิธีแก้โจทย์แบบใหม่ มักจะได้ยินว่า “ใช้ตามวิธีที่ครูสอนก็พอ” เด็กที่อยากรู้อยากเห็น มักจะได้ยินว่า “อย่าเพ้อเจ้อน่า เรียนให้เก่งก่อนเถอะ”

ถ้าเรากำลังสอนเด็กให้กลัวผิดมากกว่ากล้าคิด และถ้าเด็กไม่กล้าผิด แล้วจะมีวันกล้าฝันถึงอนาคตที่แตกต่างไหม?
สิ่งที่น่าเศร้าคือ ผู้ใหญ่โดยเฉพาะในระบบมักมีข้ออ้างว่าทำถูกแล้ว เราคิดว่าเราช่วยเด็กเตรียมตัวสำหรับโลกแห่งความเป็นจริง แต่เราเห็นผลลัพทธ์แล้วว่า เราอาจกำลังทำให้พวกเขาไม่พร้อมสำหรับโลกที่กำลังจะมาถึง
โลกในอนาคตไม่ต้องการคนที่จำได้ดี แต่ต้องการคนที่คิดได้ดี ไม่ต้องการคนที่ทำตามคำสั่งได้ดี แต่ต้องการคนที่สร้างคำสั่งใหม่ได้ ไม่ต้องการคนที่ไม่เคยผิด แต่ต้องการคนที่รู้จักลุกขึ้นมาแก้ไขบางสิ่งหลังจากผิดพลาดไป และทดลองซ้ำแล้วซ้ำอีกจนกว่าเราจะค้นพบคำตอบใหม่ๆ
เราจะรอลุ้นให้เด็ก ‘รอดจากระบบ’ หรือจะกล้าปรับระบบให้ ‘เด็กทุกคนรอด’?
ในการบรรยายของเขา เขามักจะเล่าเรื่องเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ชอบลุกออกจากที่นั่งในห้องเรียน ครูบอกแม่ว่าเด็กคนนี้ “สมาธิสั้น” และอาจต้องใช้ยา แต่จิตแพทย์ที่แม่ของเธอพาไปหาแนะนำว่าให้แม่พาให้เด็กผู้หญิงคนนี้ไปทดลองเรียนเต้นรำ ผลเปลี่ยนแปลงเป็นที่ประจักษ์ และจิตแพทย์คนนั้นได้บอกกับแม่ของเธอว่า “ลูกของคุณไม่ได้ป่วย เธอแค่เป็นนักเต้น”

เด็กผู้หญิงคนนั้นคือ Gillian Lynne นักออกแบบท่าเต้นของเรื่อง “Cats” และ “The Phantom of the Opera” ผลงานที่ทำให้เธอมีชื่อเสียงไปทั่วโลก
เรื่องราวของ Gillian และการบรรยายของเซอร์เคน สั่นสะเทือนระบบการศึกษาทั้งในอังกฤษและอเมริกา เขาไม่ได้เป็นแค่นักวิชาการที่นั่งวิพากษ์วิจารณ์ เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลอังกฤษในคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา
แต่สิ่งที่เขาเสนอไม่ใช่การปะซ่อม เขาเสนอการเปลี่ยนแปลงใหม่ทั้งหมดจากรากฐาน Sir Ken เสนอการเรียนรู้แบบ personalized (เฉพาะบุคคล) และ holistic (องค์รวมรอบด้าน) เขาเชื่อว่าการศึกษาต้องมองเห็นเด็ก ‘ทั้งคน’ ไม่ใช่แค่สมอง
เขาไม่เสนอ “สูตรสำเร็จ” เพราะเขาเชื่อว่าไม่มีสูตรสำเร็จแบบเดียวกันสำหรับทุกคน แต่เขาเสนอ “คำถาม” ที่ระบบต้องตอบ
“We need to move from an industrial model of education to a model based on principles of agriculture.”
“เราต้องเปลี่ยนจากแบบจำลองอุตสาหกรรมในการศึกษา ไปสู่แบบจำลองที่อิงหลักการเกษตรกรรม”
สิ่งที่เขาหมายถึงคือ ในโรงงาน เราใส่วัตถุดิบเข้าไป แล้วได้ผลผลิตที่เหมือนกันออกมา แต่ในไร่นา เกษตรกรปลูกเมล็ดพันธุ์ที่แตกต่างกัน ให้น้ำ ให้ปุ่ย ให้แสงแดดที่เหมาะสม แล้วปล่อยให้แต่ละต้นเติบโตเป็นของตัวเอง
เขาเชื่อว่า โลกไม่ต้องการคนที่เก่งที่สุดในห้องสอบ แต่ต้องการคนที่รู้จักตัวเอง รู้จักจุดแข็ง จุดอ่อน รู้จักแรงบันดาลใจของตัวเอง และร่วมกัน ‘สร้าง’ โลกใหม่ได้
แต่การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ระบบที่มีอายุ 200 ปีไม่ได้เปลี่ยนได้ในชั่วข้ามคืน นโยบายการศึกษายังคงมุ่งเน้นคะแนนสอบ การจัดอันดับ การแข่งขัน มากกว่าการเรียนรู้ การสร้างสรรค์ หรือการเข้าใจตัวเอง
ในหลายปีที่ผ่านมา เราอาจเห็นเด็กบางคนที่พอ ‘เอาตัวรอด’ จากระบบที่ทำลายความแตกต่าง ความคิดสร้างสรรค์ หรือการเป็นตัวของตัวเอง ด้วยความโชคดีบางอย่าง จากครอบครัว สภาพแวดล้อม หรือโรงเรียนทางเลือกที่เป็นรูปแบบใหม่ๆ เด็กเหล่านั้นได้เรียนรู้สิ่งที่ตัวเองสนใจ ด้วยวิธีที่ตัวเองเข้าใจ ในเวลาที่ตัวเองพร้อม
แต่นั่นเป็นจำนวนเด็กส่วนน้อยมากๆ ถ้านับจริงๆ ก็อาจจะไม่ถึง 10% ของประชากรในแต่ละประเทศ และสิ่งที่น่าเศร้าคือ พวกเขาต้อง “เอาตัวรอดจากระบบ” แทนที่ระบบจะ “ช่วยพวกเขา” ให้บรรลุเป้าหมายในการศึกษา การเรียนรู้ และการเติบโตของตัวเอง
คำถามก็ยังคงถูกถามอยู่ “Do School Kills Creativity?”
เซอร์เคน โรบินสัน เสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2020 ด้วยโรคมะเร็ง ในวัย 70 ปี ที่บ้านในลอนดอน ลูกสาวของเขา Kate Robinson เขียนไว้ในบทความรำลึกว่า “มีคนบางคนเกิดมาเพื่อทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น พ่อของฉันเป็นหนึ่งในนั้น”
ก่อนจะจากไป เขาได้เห็นโลกเปลี่ยนไป เห็นเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการศึกษา เห็นการเรียนออนไลน์ขยายตัว เห็นโรงเรียนทางเลือกเกิดมากขึ้น เขาได้เห็นครูหลายคนเริ่มตั้งคำถามกับระบบ และเห็นพ่อแม่เริ่มให้ความสำคัญกับความสนใจและความคิดสร้างสรรค์ของลูกมากขึ้น

แต่สิ่งที่เขายังไม่ได้เห็นคือการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในระบบการศึกษากระแสหลัก แม้ยอดแชร์ TED Talk “Do Schools Kill Creativity?” จะถูกรับชมไปแล้วกว่า 70 ล้านครั้ง แปลเป็น 62 ภาษา แต่ห้องเรียนในระบบหลักของประเทศต่างๆ ยังไม่เปลี่ยนแปลง
“Children are not data points on a graph. They are living, breathing, creative individuals.”
“เด็กไม่ใช่จุดข้อมูลบนกราฟ พวกเขาคือปัจเจกบุคคลที่มีชีวิต หายใจ และคิดสร้างสรรค์”
COVID-19 กลายเป็นการทดสอบแนวคิดของเขา เมื่อโรงเรียนปิด เด็กต้องเรียนที่บ้าน พ่อแม่ได้เห็นด้วยตาตัวเองว่าการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นแค่ในห้องเรียน เด็กบางคนเรียนรู้ได้ดีกว่าเมื่อไม่ถูกบังคับให้อยู่กับที่ เมื่อได้เรียนตามจังหวะของตัวเอง เมื่อได้เรียนรู้สิ่งที่สนใจ
แต่เมื่อโรงเรียนเปิดอีกครั้ง ทุกอย่างกลับไปเหมือนเดิม เหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น เราลืมบทเรียนจากช่วงนั้น กลับไปเน้นคะแนนสอบ การแข่งขัน การจัดอันดับ
ในไทยเราก็ยังคงอยู่ในกับดัก “เรียนดี มีวินัย เชื่อฟัง” เด็กที่เก่งคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ยังได้รับการยกย่องมากกว่าเด็กที่เก่งศิลปะหรือกีฬา เด็กที่ “ดื้อ” หรือมีความคิดเห็นเป็นของตัวเองยังถูกมองว่าเป็นปัญหา เด็กที่คิดต่างจากมาตรฐานยังถูกบอกให้ “ปรับตัว”
Brandon Busteed จาก Kaplan North America เล่าว่า “ผมได้ยินจากครูนับไม่ถ้วนตลอดหลายปีที่ผ่านมา ที่บอกว่า เซอร์เคน เป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาคิดนอกระบบและนอกกรอบ”

แนวคิดของเซอร์เคนยังคงถูกนำไปใช้ในวงการศึกษาทั่วโลก มีโรงเรียนทางเลือกที่ตั้งอยู่บนฐานความคิดของเขา มีครูหลายคนที่เปลี่ยนวิธีสอน มีพ่อแม่หลายคนที่เปลี่ยนวิธีเลี้ยงดู
แต่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงยังต้องใช้เวลา ยังต้องการคนเพิ่มขึ้นอีกเยอะที่เชื่อว่าเด็กทุกคนมีคุณค่า ไม่ใช่แค่เด็กที่เรียนเก่ง ยังต้องการผู้คนที่เข้าใจว่าความแตกต่างไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นความงาม
เซอร์เคนเคยพูดไว้ในช่วงท้ายของชีวิตว่า “เราไม่รู้ว่าโลกจะเป็นยังไงในอีก 5 ปีข้างหน้า แล้วเราจะเตรียมเด็กให้พร้อมกับโลกในอีก 20 ปีข้างหน้าได้อย่างไร ถ้าเรายังใช้ระบบเดิมจากเมื่อ 100 ปีที่แล้ว?”
นี่คือคำถามสุดท้ายที่เขาทิ้งไว้ให้เราตอบ ไม่ใช่ในฐานะนักวิชาการ หรือนักสร้างแรงบันดาลใจ แต่ในฐานะมนุษย์ที่ห่วงใยอนาคตของเด็กๆ