“ลูกจะเป็นใครก็ได้ เเต่ต้องรักตัวเอง” พ่อเลี้ยงเดี่ยว ‘เบียร์’ ศิริพงษ์ เหล่านุกูล

  • “เลี้ยงเด็กคนหนึ่งคงไม่มีอะไรมากหรอก หิวก็ให้กิน ง่วงก็ให้นอน อยากเล่นของเล่นก็ให้เล่น” คือภาพการเลี้ยงเด็กของ ‘เบียร์’ ศิริพงษ์ เหล่านุกูล ก่อนเป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยว เมื่อ 6 ปีก่อน
  • เเต่พอมาเลี้ยงจริง ชีวิตพ่อของเบียร์ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะมิชชั่นการเป็นพ่อคือการสอนให้ลูกเชื่อว่า จะเติบโตเป็นใครก็ได้ เเต่ต้องรักตัวเองมากพอที่จะรักคนอื่น  
  • เมื่อก่อนคนชื่นชมเบียร์เพราะเขาเป็นผู้ชายที่เลี้ยงลูก เเต่สำหรับพ่อเลี้ยงเดี่ยวลูกสองกลับตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นว่า ถ้าการเลี้ยงลูก คือ หน้าที่ปกติของพ่อเเม่ การที่ผู้ชายเลี้ยงลูกคนเดียวคงไม่ใช่เรื่องเเปลก

6 ปีที่เเล้ว กระทู้พันทิป ‘จากวัยเฟี้ยว ต้องมาเป็นคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว’ ได้รับความนิยมจากโลกออนไลน์เพราะคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวลุกขึ้นมาเขียนประสบการณ์การเลี้ยงลูกของตัวเอง

เจ้าของกระทู้ คือ ‘เบียร์’ ศิริพงษ์ เหล่านุกูล พ่อของ ‘ปัฐพ์’ เด็กชายวัย 8 ขวบ เเละ ‘ปั๊บ’ น้องชายวัย 5 ขวบ 

เเต่วันนั้น เขาคือเด็กจบใหม่ที่มีการเที่ยวเเละสังสรรค์เป็นงานอดิเรก 

ด้วยเหตุผลที่ต้องการพิสูจน์ตัวเองให้พ่อเเม่เห็นว่า “จะจริงจังกับชีวิตมากขึ้น” ทำให้เบียร์ตัดสินใจทิ้งความสนุกช่วงวัยรุ่นเเล้วรับ ‘ปัฐพ์’ ลูกชายวัย 1 ปี 2 เดือนของน้องสาวมาดูแลพร้อมบอกว่า “เลี้ยงเด็กคนหนึ่งไม่ยาก เดี๋ยวพี่เลี้ยงเอง”  

ถึงใครจะมองตรงข้าม เเต่เบียร์คิดเเบบนั้นจริงๆ  

“หิวก็ให้กิน ง่วงก็ให้นอน อยากเล่นของเล่นก็ให้เล่น” คือภาพการเลี้ยงเด็กของคุณลุงที่กำลังจะเป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยว

เมื่อลงมือทำจริง กลับไม่เป็นตามภาพ เบียร์พบว่า การเลี้ยงเด็กไม่ใช่เเค่ป้อนข้าวป้อนน้ำ เเต่จะต้องรับผิดชอบมนุษย์คนหนึ่งให้มีชีวิตที่ดีขึ้นให้ได้ 

จากวัยเฟี้ยวสู่พ่อเลี้ยงเดี่ยว

“ผมเคยคิดว่าตอนอายุ 30 ผมต้องเป็นผู้ชายเก่ง ทำงานในบริษัทเเล้วก็ทำธุรกิจส่วนตัว ปาร์ตี้กับเพื่อน ภาพในหัวเราคือ จะมีเพื่อนมากินเลี้ยงที่บ้าน”

คือจินตนาการของอดีตคนช่างฝันก่อนจะเป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยว เพราะภาพชีวิตจริงของ ‘เบียร์’ วัย 30 ปี คือ เมื่อกลับถึงบ้านเเล้วถามลูกว่า การบ้านเสร็จหรือยัง

ย้อนกลับไปเมื่อ 6 ปีก่อน เบียร์กำลังจะเรียนจบมหาวิทยาลัยเเละสนุกกับชีวิตวัยรุ่น ทั้งกิน เที่ยว สังสรรค์ อยู่หอกับเพื่อน ที่เขาเรียกว่าเป็นการใช้ชีวิตเเบบไม่ต้องมานั่งรับผิดชอบใคร

ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่น้องสาวเลิกกับเเฟน ทำให้เบียร์รู้จักกับ ‘ปัฐพ์’ ลูกชายคนเเรกวัยขวบเศษของน้องสาว

“เลี้ยงเด็กคงไม่มีอะไรมากหรอก” คือคำตอบเเบบไม่คิดของเบียร์ เเละความสนิทของสองพี่น้อง ถึงจะไม่มั่นใจว่า พี่ชายจะเลี้ยงลูกได้ เเต่เธอยอมให้ลูกชายมาอยู่กับคุณลุงที่คอนโด 4 วัน

4 วันของการทดลอง ทำให้เบียร์พบคำตอบว่า “การเลี้ยงเด็กมีอะไรมากกว่าที่คิด”

“4 วันนั้นผมไม่ได้นอนเลย เพราะลูกร้องไห้หาเเม่ตลอด ภาพเพื่อน 4 คนนั่งตาปรือมองหน้าเด็กคนหนึ่งที่นั่งตรงกลางพร้อมคำถามว่าเอาไงต่อดี เเต่เรารู้สึกว่างเปล่า ตั้งคำถามกับตัวเองว่ากำลังทำอะไรอยู่”

เเต่ความรู้สึกว่างเปล่าของเบียร์ถูกเติมเต็มด้วยคำพูดของ ‘เเม่’

“เเม่บอกว่า เเม่เลี้ยงลูก 3 คนยังทำได้เลย เราก็นึกว่า ตอนนั้นเเม่ทำได้ไง เเต่เราก็ตอบกลับเเม่ไปว่า สบาย เเต่ความจริงน้ำตาร่วงนะ (หัวเราะ)”

จุดพลิกชีวิตวัยเฟี้ยว

เพราะใช้ชีวิตเเบบไม่ต้องรับผิดชอบใคร ทำให้การมีเด็กคนหนึ่งเข้ามาในชีวิตอย่างไม่ตั้งตัว คือ จุดพลิกชีวิตของเบียร์

“เบียร์เป็นเด็กที่โตมาด้วยการทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ไม่ได้นึกถึงอนาคตเเละไม่ต้องรับผิดชอบใคร อยากตื่นตอนไหนก็ตื่น อยากนอนตอนไหนก็นอน อยากจะกินตอนไหนก็กิน เพราะชีวิตวัยรุ่นเป็นช่วงเวลาของการใฝ่ฝันว่าอยากจะใช้ชีวิตเเบบไหน ซึ่งมันต่างมาก พอมีอีกชีวิตหนึ่งต้องรับผิดชอบ เราไม่สามารถทำอะไรตามใจตัวเองได้ เหมือนเราทิ้งความเป็นตัวเองเเละความฝันไป”

ถึงจะบอกว่า เลี้ยงเพราะไม่ได้คิดอะไร เเต่เบียร์บอกว่า ที่ตัดสินใจเเบบนั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะอยากจะพิสูจน์ตัวเองให้พ่อเเม่เห็นว่า เขาโตมากพอที่จะเลี้ยงเด็กคนหนึ่งได้

เบียร์บอกว่า เขาโตมาจากการดูเเลของคนอื่น จนได้มาเลี้ยงมนุษย์อีกคนหนึ่ง ทำให้รู้ว่า เขารักเด็กคนนี้ในฐานะพ่อ ไม่ใช่ลุง 

“จริงๆ ผมเเค่อยากพิสูจน์ให้พ่อแม่เห็นเฉยๆ เพราะตอนนั้นสายตาที่บ้านคิดว่าผมเป็นคนไม่เอาไหน เลยเอาเด็กมาเป็นคนช่วยพิสูจน์ตัวเรา เเต่ผมไม่รู้เลยว่าผมจะหลงรักเขาไปโดยที่ยังสงสัยว่า ความรักเเบบนี้คือรักลูกไหม

“เหตุการณ์ที่ทำให้ผมรู้สึกว่าเรารักลูกมาก คือหลังจากเลี้ยงปัฐพ์มา 4-5 เดือน เราพาลูกไปกินข้าวเเล้วมีคุยงานต่อ เราไม่มีสมาธิกับงานเลย มัวเเต่เเอบกดโทรศัพท์หาเพื่อนว่าเขาร้องไห้ไหม หิวไหม จนเพื่อนถามว่าเป็นไรมากไหม เขาเพิ่งเดินถึงหน้าห้าง คือเราเป็นห่วง เรารู้สึกเอะใจกับตัวเองว่าหรือนี่คือความรู้สึกของคนเป็นพ่อ

“กลับมา เรานั่งมองหน้าเขาตอนหลับ ถามตัวเองว่า ทำไมเราถึงรักเขามากขนาดนี้ เวลามีคนมาถาม รู้สึกยังไงกับการเป็นพ่อ ผมไม่รู้สึกเลยว่าเป็นพ่อ เเต่รู้สึกว่าเรารักคนคนหนึ่งโดยเราพร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้เขามีชีวิตที่ดีมากกว่า”

จุดเริ่มต้นที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เเต่เบียร์ไม่เคยคิดว่าตัวเองทำพลาด ซ้ำยังตั้งมั่นกับตัวเองว่า เราจะทำทุกอย่างให้ดีกว่านี้ได้

“เพราะผมอยากให้ลูกได้สิ่งที่ดีที่สุด”

ลองผิดลองถูกอย่างน้อยได้เรียนรู้

เเม้ว่าการเลี้ยงเด็กจะไม่ใช่เรื่องง่าย เเต่เบียร์ก็เลือกจะหาวิธีการเลี้ยงลูกตามฉบับตัวเองด้วยการลองผิดลองถูกตามคำเเนะนำของคนอื่น

“ผมกับเพื่อนพาลูกไปห้างช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ไปยืนเเถวๆ เเผนกเเม่เเละเด็ก เเล้วคนไหนพาลูกวัยเดียวกับลูกเรามาก็เข้าไปถาม ผมไม่อยากอ่านหนังสือเพราะไม่เข้าใจ เเต่อยากได้วิธีเชิงปฏิบัติเเละเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนรอบข้าง เราก็ลองทำตามที่เขาเเนะนำ ถูกบ้างผิดบ้าง เเต่อย่างน้อยเราได้เรียนรู้”

หลังจากมีประสบการณ์เลี้ยงลูกคนเเรกทำให้เบียร์รับ ‘ปั๊บ’ ลูกชายคนที่สองของน้องสาวมาเลี้ยงด้วยเช่นกัน เขาพบว่า ลูกสองคนไม่เหมือนกัน ทำให้วิธีการเลี้ยงต้องเปลี่ยนตาม

“เลี้ยงลูก 2 คน ยากขึ้น เพราะเราเลี้ยงเหมือนกันไม่ได้ ต้องเลี้ยงด้วยวิธีการต่างกัน คนเเรกอยู่ง่ายกินง่าย เเต่คนที่สอง กินยากเป็นคนหัวรั้น ต้องคุยด้วยเหตุผล”

เป้าหมายของพ่อ คือ การเลี้ยงลูกให้รักตัวเอง

ในฐานะพ่อ เบียร์มองว่าสิ่งที่ยากที่สุดของการเป็นพ่อลูกสอง คือ การเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก เพราะเขาเชื่อว่าการสอนที่ดีที่สุด คือ การทำให้ลูกเห็น

“การเป็นตัวอย่างที่ดียากมาก เพราะการสอนลูกที่ดีที่สุดคือทำให้เขาเห็นว่าเราเป็นยังไง บางอย่างเป็นแค่เรื่องง่ายๆ บางทีแค่พับที่นอน เเค่เก็บของให้เรียบร้อย เราเป็นคนสะเปะสะปะ เเต่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี อันนี้ยากมาก กว่าจะเปลี่ยนเเปลงได้ กว่าจะทำทุกอย่างให้มันดีขึ้น”

นอกจากนี้ เบียร์คิดว่าเป็นเรื่องปกติที่พ่อเเม่จะคาดหวังให้ลูกมีอาชีพการงานที่ดีหรือมีฐานะที่มั่นคง เเต่สำหรับเขา ความท้าทายของการเป็นพ่อคน คือ “การสอนให้ลูกเติบโตเป็นใครก็ได้ เเต่ต้องรักตัวเอง

“เราต้องสอนให้เขารักตัวเองมากพอที่จะภูมิใจในตัวเอง เเล้วรักคนรอบข้าง ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข นั่นคือมิชชั่นของเรา”

เบียร์สอนลูกให้รักตัวเองด้วยการทำให้ลูกเชื่อว่า ‘เขาจะเป็นคนที่ดีกว่านี้ได้’

ทุกครั้งที่ลูกทำแก้วน้ำแตก เราจะต้องเงียบแล้วบอกเขาว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวช่วยกันเก็บ คือเราต้องใช้ความอดทนอดกลั้น ผมพูดเหมือนรู้ดีนะ จริงๆ เเล้วไม่เลย เเรกๆ อาจจะไม่เป็นไร ครั้งที่สองรู้สึกว่า อีกเเล้วเหรอ ครั้งที่ 5 บอกลูกว่านี่ใบที่ 5 เเล้วนะ เเต่สุดท้ายเราทำได้

“เราไม่ได้เป็นพ่อเเม่ที่ professional การที่เราจะเป็น professional ในสิ่งนั้นได้ ต้องทำซ้ำเเล้วซ้ำอีก เเล้วไม่ได้มีเราร้อยคน เราคือคนเเรก เพราะฉะนั้นเราต้องเรียนรู้ความรู้สึกของลูกเเละความรู้สึกของตัวเองด้วย รวมถึงเข้าใจธรรมชาติของเด็ก”

ไม่มีใครเป็นพ่อเเม่ที่ดีที่สุด เเต่ต้องหาจุดที่พ่อเเม่พอดีกับลูก

เบียร์เคยคิดว่า เขาจะต้องเป็นพ่อเเม่ที่เด็กใฝ่ฝันเเละเข้าใจลูก 

เเต่เรื่องจริงไม่เหมือนละคร เพราะคำว่าดีที่สุดของเเต่ละคนไม่เหมือนกัน เนื่องจากสิ่งที่สำคัญกว่า คือ การเป็นพ่อเเม่ที่พอดีกับความรู้สึกของตัวเองเเละลูก

เมื่อถามว่า พ่อเเม่จะวัดจุดพอดีได้อย่างไร เบียร์ตอบว่า “วัดไม่ได้หรอก เราเดาเอา”

ถึงจะวัดไม่ได้ เเต่เบียร์เลือกที่จะพูด รับฟัง เเละใส่ใจ ท่องไปในความรู้สึกของลูก เพื่อค้นพบจุดพอดีระหว่างกัน

“เเม้ว่าภาพที่ออกไปจะดูเหมือนเรามีเวลาพาลูกไปทำกิจกรรม เเต่จริงๆ เเล้วเรามีเวลาอยู่กับลูกน้อยมาก เพราะเราทำงานหลายอย่าง เเต่ทุกเวลาที่เราอยู่กับลูกคือเวลาคุณภาพ เวลาที่เราอยู่กับเขา เราจะใส่ใจ ถามเขาว่าวันนี้ไปโรงเรียนเป็นยังไงบ้าง ทะเลาะกับเพื่อนเป็นยังไง แล้วจบยังไง

“คุยโดยไม่ตัดสินใจว่าสิ่งที่เขาทำผิดหรือถูก แต่คอยถามว่าเขาได้เรียนรู้อะไร เเล้วเเลกเปลี่ยนกัน ค่อยๆ เติมกันวันละนิด”

การเลี้ยงลูกเท่ากับเรื่องปกติของพ่อเเละเเม่ 

ย้อนกลับไปเมื่อ 6 ปีก่อน หลังจากกระทู้พันทิปที่เบียร์เขียนระหว่างลูกหลับได้รับความนิยมจนเป็นกระทู้เเนะนำ มีทั้งคนเข้ามาชื่นชม เพียงเพราะเขาเป็น ‘ผู้ชายที่เลี้ยงลูก’

อีกทั้งมีความเห็นกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของพ่อเเม่เลี้ยงเดี่ยวที่เขียนว่า ประสบการณ์ของเบียร์ทำให้พวกเขามีกำลังใจในการเลี้ยงลูก

เบียร์จึงตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นว่า ถ้าการเลี้ยงลูก คือ หน้าที่ปกติของพ่อเเม่ ดังนั้นการที่ผู้ชายเลี้ยงลูกคนเดียวคงไม่ใช่เรื่องเเปลก

“พ่อเเม่ทุกคนเลี้ยงลูกเหมือนเรา บางคนเก่งกว่าเราด้วยซ้ำ เเต่ทำไมไม่ได้รับการยกย่อง เราเลี้ยงเเค่นี้ ทำไมตัวเราถึงพิเศษกว่าคนอื่น

“ถามว่า ถ้าคนคนหนึ่งเกิดมาเเล้วเป็นหน้าที่ของใคร ก็เป็นหน้าที่ของคนสองคนนั่นเเหละ”

รวมถึงคนในสังคมอาจชินตากับบทบาทชายหญิงตามธรรมเนียมเดิมที่มีฐานความคิดมาจากสังคมชายเป็นใหญ่

“ประเทศไทยอยู่ในสังคมชายเป็นใหญ่ บทบาทของผู้ชายถูกตีกรอบให้เป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นแฟมิลี่แมน คนชินกับบทบาทเเบบนี้ เเล้วคิดว่าการเลี้ยงลูกเป็นหน้าที่ของผู้หญิง คนเลยมองว่าเเปลกจังที่ผู้ชายมาทำเเบบนี้ อยากให้สามีเป็นแบบนี้บ้างจัง คนนี้คือสามีในฝันเลย ทั้งที่จริงๆ เเล้วเป็นเรื่องที่ทุกคนควรทำ”

ถึงจะเชื่อว่า การเลี้ยงลูกคือเรื่องปกติของพ่อเเม่ เเต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้พ่อเเม่ทลายกรอบบทบาทของตัวเอง ไม่กำหนดว่า พ่อต้องทำเเบบนี้ หรือเเม่ต้องทำเเบบนี้ เพราะมนุษย์ทุกคนต่างกัน เช่นเดียวกับนิยามการเลี้ยงลูกของพ่อเเม่ที่ไม่เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น พ่อเเม่จะเข้าใจความสุข ความทุกข์ บทบาทหน้าที่ของกันเเละกันได้ คือ ทั้งสองคนต้องทำทุกอย่างด้วยกัน

“การที่เราจะเข้าใจบทบาทหน้าที่กันได้ ทั้งสองคนต้องทำทุกอย่างด้วยกัน พาลูกเข้านอนเเละตื่นพร้อมกัน ช่วยกันทำกับข้าวให้ลูก ไปเที่ยวหรือส่งลูกไปโรงเรียนด้วยกัน ลองทำเเล้วจะเข้าใจมากขึ้น ถึงความรู้สึกอาจจะไม่เท่ากัน เเต่ความรับผิดชอบต้องใกล้เคียงกัน”

เมื่อเป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยว เบียร์จึงเข้าใจทั้งบทบาทพ่อเเละเเม่ เพราะเป็นพ่อที่ทำกิจกรรมพร้อมกับลูกเเละเป็นเเม่ที่ล้างขวดนม เปลี่ยนผ้าอ้อม ทำอาหารให้กับลูก 

เบียร์เสริมสั้นๆ ว่า “ต้องลองทำดู ผมเองทำมาทุกอย่างเเล้ว” 

ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ ลูกจะเชื่อว่าพ่อเเม่อยู่ด้วยเสมอ 

วัยอนุบาลของลูกชายคนเเรก พ่อเบียร์เลือกจะทำโฮมสคูลโดยอ้างอิงจากพัฒนาการของลูก

ด้านหนึ่งเขาคือเจ้าของธุรกิจเสื้อผ้า เเต่อีกมุมหนึ่งเขาคือคุณพ่อฟูลไทม์

“ผมเลี้ยงเอง เต็มเวลา ไปทำงานไปด้วยกัน เข้าออฟฟิศด้วยกัน ไปเที่ยวด้วยกัน อยู่ด้วยกันแทบจะ 24 ชั่วโมงเลย”

กิจกรรมโฮมสคูลของพ่อเบียร์ คือ การฝึกให้ลูกเล่าเรื่องผ่านคำพูด ตัวอักษร เเละภาพ รวมถึงสอนลูกบวกเลขป้ายทะเบียนรถ

“เมื่อเราอ้างอิงจากพัฒนาการ ลูกจะมีความสุขเเละไม่ถูกบังคับ เเต่ต้องหากิจกรรมทำร่วมกันดูจากสิ่งที่ลูกชอบ เช่น เขาชอบดูสารคดียักษ์ เราก็พาเขาไปนั่งเรือดูยักษ์ เเล้วกลับมาวาดรูป”

เบียร์เลี้ยงลูกจนลูกชายคนโตเข้า ป.1 ก็ชวนเเม่มาช่วยพาลูกๆ ไปโรงเรียนเเละดูเเลเรื่องอาหารการกิน

ขณะเดียวกันที่ผ่านมา เบียร์ปล่อยให้ลูกเป็นคนเรียนรู้เเละลงมือทำด้วยตัวเอง

“ผมปล่อยให้เขาเรียนรู้ตามแบบของเขา เพราะผมเชื่อว่าการหาความรู้สำคัญกว่าความรู้

“อยากให้พ่อเเม่เชื่อว่า การปล่อยลูกเผชิญสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองไม่ใช่การผลักไสหรือผลักเขาออกจากอ้อมกอดเรา เเต่การปล่อยให้เขาทำอะไรด้วยตัวเอง เราจะต้องเป็นคนรับฟัง”

เบียร์เชื่อว่า การรับฟังด้วยใจที่เปิดกว้างคือการเปิดประตูสู่จิตใจของลูก ทำหน้าที่เป็น ‘บุรุษไปรษณีย์’ ที่คอยหยิบสิ่งที่เขาต้องการ

“เราจะหยิบให้ เเต่จะบอกเสมอว่า สิ่งที่เราหยิบจะส่งผลอย่างไรกับเขา ไม่ได้บอกว่าเเบบไหนดีไม่ดี เเต่ให้เขาเรียนรู้เอง”

เพราะการเรียนรู้ คือ การลงสนามเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ตรงหน้าเเล้วเเก้ปัญหาด้วยตัวเอง

“ลูกเคยเล่าว่า ทะเลาะกับเพื่อน เเทนที่จะถามว่าใครทำลูกเรา เเต่ถามต่อว่า เรื่องราวเป็นอย่างไรต่อ เขาเเก้ปัญหาอย่างไร สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเห็นว่า ลูกเราเเก้ปัญหาได้ ลูกผมเลยเป็นเด็กที่เล่าเรื่องให้ผมฟังตลอด เเล้วเราก็จะรู้ว่าเขาคิดอย่างไร

“พ่อเเม่ต้องเเข็งใจให้ได้ เราไม่มีทางรู้ว่าลูกจะทำให้เราโกรธเเค่ไหน เเต่พ่อเเม่ต้องควบคุมอารมณ์ตัวเองให้ได้ มันยากมาก อาจจะมีบางครั้งที่เราต้องกลับมาตั้งสติใหม่ เเล้วกลับไปทำให้ดีที่สุดในเวอร์ชั่นของเรา”

สุดท้าย พ่อเเม่จะต้องเป็นคนที่ลูกเชื่อว่า จะสุขหรือทุกข์ เขาจะมีพ่อเเม่อยู่ด้วยเสมอ

“ลูกต้องรู้ว่า จะสุขหรือทุกข์เขาจะมีเรา นี่คือสิ่งสำคัญ ให้เขารู้สึกว่า ต่อให้เขาจะทำอะไรเขาต้องหันกลับมามองเรา ไม่ว่าเขาจะไปไกลสักเเค่ไหนหรือตัดสินใจอะไร เขาจะนึกถึงเรา”

สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่ได้สื่อสารกัน เบียร์อยากชวนพ่อเเม่คุยกับลูก ตั้งต้นจากคำถามง่ายๆ ว่า เรียนเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อนที่เคยทะเลาะกันตอนนี้เป็นอย่างไร ครูวิชานี้ที่โหด ดุอีกไหม คุยเรื่องเหล่านี้กับลูกทุกวัน อาจทำให้คุณมองเห็นลูกในมุมมองที่ไม่เคยเห็น

จากจุดเริ่มต้นที่คิดว่า การเลี้ยงเด็กคงไม่มีอะไรมาก ผ่านเส้นทางการลองผิดลองถูกจนเป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยวลูกสองในวันนี้ เบียร์คิดว่า เป็นเส้นทางที่ยาก เเต่เขากลับมีความสุข เมื่อเห็นลูกชายใส่เสื้อของเบียร์เเล้วเห็นว่า ลูกเขาโต รับผิดชอบตัวเองเเละน้องได้

“ถ้าถามว่าความสุขของพ่อเลี้ยงเดี่ยวคืออะไร ก็คือคำตอบในละคร คือ การที่เห็นเขาเติบโต” เบียร์ทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้ม


Writer

Avatar photo

ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง

Related Posts