คลองเตยดีจัง : พื้นที่เรียนรู้นอกกรอบที่ตอบโจทย์ชีวิตเด็กคลองเตย

  • แม้ว่าสาเหตุที่ทำให้เด็ก ๆ ในชุมชนคลองเตยหลุดจากระบบการศึกษาจะมีหลากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นความยากจน ความรุนแรง ปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เด็ก ๆ ตัดสินใจออกจากการศึกษาในระบบมาทำงานด้วยตัวเองก็คือหลักสูตรการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์และไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงได้
  • ครูแอ๋ม – ศิริพร พรมวงศ์ ผู้จัดการโครงการคลองเตยดีจัง จึงได้ตั้งเป้าให้มีศูนย์การเรียนและออกแบบหลักสูตรที่ตอบโจทย์ชีวิตของเด็ก ๆ ได้เพื่อเป็นพื้นที่ให้พวกเขาได้ตั้งหลักชีวิต หรือแม้แต่กลับเข้าสู่ระบบอีกครั้ง
  • ก่อนจะเป็นคลองเตยดีจัง พวกเขาตั้งต้นมาจากโครงการ Music Sharing ด้วยการนำศิลปะและดนตรีเข้าไปเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็ก ๆ ได้สัมผัสศิลปะ ลองเล่นดนตรีและมีเวทีให้แสดงออก เพราะไม่ว่าจะเป็นเด็กคลองเตยหรือเด็กกลุ่มไหน ๆ ก็ต่างต้องการ learning space ให้พวกเขาได้ค้นหาตัวเอง ค้นพบความสนใจใหม่ ๆ และได้ทดลองทำเช่นกัน
  • 10 ปีกับการทำงานอาสาในพื้นที่คลองเตย ชาวคลองเตยดีจังต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจชุมชน สานสัมพันธ์กับผู้คนที่อาจไม่น่าคบหาในสายตาคนอื่น ๆ และใจกว้างมากพอที่จะแบ่งปันพื้นที่ที่พวกเขาตั้งใจทำให้เด็ก ๆ ให้กลายเป็นพื้นที่ที่ชุมชนจะได้มาเรียนรู้ร่วมกัน

“เขาเพิ่งปาร์ตี้กันเสร็จ” เธอเล่าขณะที่ทีมของเรากำลังจัดแจงสถานที่ในการสัมภาษณ์ เตาถ่านและอุปกรณ์เนื้อย่างที่ตั้งอยู่กลางลานบ้านคือหลักฐานว่าไม่นานมานี้เพิ่งมีปาร์ตี้หมูกระทะบริเวณนั้น ถัดไปไม่ใกล้ไม่ไกลมีเสื้อผ้าอัดแน่นอยู่บนราวแขวนตรงที่ที่ควรจะเป็นโรงรถ กำแพงอีกฟากมีป้ายใหญ่สะดุดตาเขียนว่า Music Sharing

“เขา” ที่เพิ่งปาร์ตี้เสร็จ เธอหมายถึงเด็ก ๆ จากชุมชนคลองเตยที่เพิ่งแวะมากินเลี้ยงหมูกระทะกันที่ออฟฟิศคลองเตยดีจังเมื่อวันก่อน ส่วนเสื้อผ้าที่อัดแน่นอยู่บนราวแขวนในโรงรถก็คือสินค้าที่เด็ก ๆ คลองเตยได้รับบริจาคมาและจะนำไปขายต่อภายใต้โครงการ Learn and Earn โครงการที่ให้พวกเขาได้ฝึกทักษะอาชีพค้าขายและมีรายได้ระหว่างเรียน

เราอยู่กับ ครูแอ๋ม – ศิริพร พรมวงศ์ ผู้ก่อตั้ง Music Sharing และผู้จัดการโครงการคลองเตยดีจัง โครงการที่เหล่าอาสาสมัครได้เข้าไปสร้างพื้นที่การเรียนรู้ท่ามกลางชุมชนที่มีชื่อเสียงเรื่องความรุนแรงและยาเสพติดชุมชนหนึ่งอย่าง “คลองเตย”

10 กว่าปีก่อนเธอเริ่มจากการนำดนตรีและศิลปะเข้าไปจัดกิจกรรมให้เด็กคลองเตย ให้พวกเขาได้สัมผัสศิลปะ ได้ลองเล่นดนตรี และยังมีเทศกาลโชว์ฝีมือด้วยการเปลี่ยนโรงฆ่าสัตว์เก่าในชุมชนโรงหมูให้เป็นเวทีคอนเสิร์ตเล็ก ๆ จนกระทั่งวันที่โรงฆ่าสัตว์ถูกเวนคืนพื้นที่ไป

แม้จะต้องขยับโยกย้ายพื้นที่ทางกายภาพ แต่ครูแอ๋มเชื่อว่าพื้นที่ของการเรียนรู้นั้นมีไอเดียเป็นที่ตั้ง พื้นที่มืดในชุมชนคลองเตยบางพื้นที่ แม้แต่พื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่เสพยาก็ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็ก ๆ ที่ในวันนี้ไม่ได้หยุดอยู่แค่เรื่องศิลปะและดนตรี เพราะคลองเตยดีจังได้ตั้งเป้าหมายที่จะสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่เป็นศูนย์การเรียนที่สามารถออกวุฒิการศึกษาให้เด็กได้เพื่อรองรับเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา กับแผนการเรียนรู้ที่สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตจริงได้ที่จะเปลี่ยนเนื้อหาด้านวิชาการอันน่าเบื่อสำหรับเด็ก ๆ ให้กลายเป็นห้องเรียนแสนสนุก

แน่นอนว่าการทำงานกับชุมชนที่มีปัญหาอันซับซ้อน สะสม และมหึมาไม่ใช่เรื่องง่าย และนี่ไม่ใช่เรื่องราวปาฏิหาริย์ที่คนกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มเดียวจะสามารถเปลี่ยนชุมชนที่มีประชากรกว่าแสนคนให้กลายเป็นพื้นที่สว่างและขจัดปัญหาได้ภายในพริบตา

การพูดคุยของเรากับครูแอ๋มจึงเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจและไฟฝันที่จะมอบโอกาสการเรียนรู้ให้เด็ก ๆ ขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยเรื่องราวสุดเรียลของพื้นที่เรียนรู้ชุมชนคลองเตยที่ไม่ได้มีสถานะเป็นเพียงพื้นที่เรียนรู้ของเด็ก ๆ แต่คือพื้นที่สาธารณะที่ต้องใช้ร่วมกับสารพัดผู้คน คนไร้บ้าน คนติดยา ผู้คนที่ในสายตาคนนอกอาจไม่น่าคบหา แต่สำหรับชาวคลองเตยดีจัง พวกเขาคือเจ้าของพื้นที่ที่มีสิทธิ์ในพื้นที่นั้นเท่าเทียมกัน และบางครั้งบางที พื้นที่นี้ก็กลายเป็นพื้นที่ที่ชุมชนก็ได้เรียนรู้บางสิ่งบางอย่างร่วมกัน

10 ปีจาก Music Sharing สู่คลองเตยดีจัง

คลองเตยดีจังเริ่มต้นมาจากไหน

คลองเตยดีจังเริ่มต้นมาจากกลุ่มอาสาสมัครที่อยากเข้ามาทำกิจกรรมกับเด็กชุมชนคลองเตย ในช่วงแรกเราก็จะเน้นดนตรี ศิลปะ และกิจกรรมสร้างสรรค์ ก็จะมีครูศิลปะและนักดนตรีที่รับบริจาคเครื่องดนตรีเพื่อเอาไปสอนเด็ก ๆ  หลังจากนั้นเราก็พัฒนากิจกรรมอื่นๆ ด้วย เช่น โครงการสร้างอาชีพ โครงการที่สนับสนุนเรื่องการศึกษา ซึ่งช่วงหลังงานของเราก็เกี่ยวกับงานด้านการศึกษาเยอะขึ้น

เราเริ่มต้นที่มาเป็นอาสาสมัครประมาณ 10 ปีแล้ว ปีนี้เป็นปีที่ 10 พอดี แล้วตอนนี้เราก็มีกลุ่มเด็กที่ทำงานด้วยที่ขึ้นมาเป็นแกนนำเยาวชน แล้วก็ขึ้นมาเป็นคนดูแลโปรเจ็กต์คลองเตยดีจังต่อ

เริ่มสนใจงานอาสาตั้งแต่ตอนไหน

จริง ๆ ชอบงานทางสังคม ตอนเรียนเราก็ไปออกค่ายอาสา ร่วมทำกิจกรรมกับชมรมอาสา ชมรมชนบท ชมรมอนุรักษ์

หลังจากนั้นเราก็สนใจประเด็นเรื่องเด็ก แต่ว่าไม่ได้เป็นครู ไม่ได้เป็นนักดนตรี แค่ชอบเฉย ๆ เรากับเพื่อน ๆ เลยรวมตัวกันมาช่วยสอนเด็ก ใช้ทักษะการด้นสด ไม่ได้เป็นวิธีการสอนแบบในระบบที่ต้องสอนแบบเรียงลำดับ 1 2 3 4 ส่วนใหญ่ที่เราสอนเราก็ไม่ได้เน้นให้เด็กต้องเก่งเพื่อที่จะไปแข่งขัน แต่เน้นให้เด็กได้สนุกกับมัน ได้เล่นรวมวง ได้เจอเพื่อน ได้ใช้ชีวิตร่วมกัน ได้ไปดูคอนเสิร์ต หลังจากนั้นถ้าเด็กต้องการจะเก่งขึ้น เขาก็ต้องไปพยายามด้วยตัวเอง แต่ว่าบางคนต้องการแค่ให้ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่ได้ต้องการเล่นเป็นอาชีพ เขาก็เลือกว่าจะใช้ดนตรีเป็นส่วนไหนขององค์ประกอบของชีวิต

เพราะอะไรถึงเลือกใช้ดนตรีและศิลปะในการเข้าหาเด็ก ๆ  

ที่เป็นเรื่องดนตรีและศิลปะเพราะมันเป็นความชอบของทีมเรา อาสาสมัครที่มาทำทีมเราบางส่วนเป็นนักดนตรี หลายคนก็ไม่ได้เรียนดนตรีแต่ชอบดนตรี เราก็เลยใช้ความชอบของเราไปสนับสนุนเด็ก เพราะการเรียนดนตรีมันใช้ทุนสูง ทั้งเครื่องดนตรีเอย ค่าเรียนเอย เราเลยอยากเอาสิ่งพวกนี้ไปทำอะไรให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมได้

ทำไมถึงเลือกพื้นที่คลองเตย

เมื่อก่อนเราทำหลายที่ ทั้งคลองเตย บางซื่อ บนดอย เมื่อก่อนมันอยู่ในร่มของ Music Sharing กลุ่มที่ทำดนตรีเพื่อการแบ่งปัน ที่มาเป็นคลองเตยดีจังเพราะมันเป็นโปรเจ็กต์ระยะยาว เราเข้าไปทำงานกับเด็ก แล้วเด็กอยากรวมตัวกัน แล้วมีอาสาสมัครเข้าไป คลองเตยก็เลยเป็นพื้นที่หลักในการทำงาน แล้วก็พัฒนามาเป็นงานอื่น ๆ นอกจากเรื่องดนตรีและศิลปะ

บรรดาอาสาสมัครมารวมกลุ่มกันได้ยังไง

เริ่มจากทีมในมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของน้อง ๆ ในสถาบันเดียวกันกับเพื่อนๆ ที่ชอบเล่นดนตรีมาด้วยกัน มีคนเวียนเข้าเวียนออก แต่หลักๆ ก็จะมีทีมที่คอยประสานงาน จัดการอยู่ตรงกลาง แล้วก็มีน้อง ๆ อาสาสมัครเข้ามาเรื่อย ๆ

จากวันที่เริ่มโปรเจ็กต์ Music Sharing คิดว่ามันจะกลายเป็นโปรเจ็กต์ที่ยาวขนาดนี้ไหม

ตอนแรกก็ไม่ได้คิดว่ามันจะยาว ไม่ได้คิดเป็นรูปแบบขององค์กร มีอะไรให้ทำก็ทำ เช่น เราเล่นดนตรีเสร็จ เราก็แค่อยากจะจัดคอนเสิร์ต เราก็จัดเป็นเทศกาล เราสนใจเรื่องไหนก็ทำเรื่องนั้น เราเห็นพื้นที่ว่างในชุมชน เราก็คิดว่าน่าจะเอามาเป็นประโยชน์ให้เด็กได้แล้วก็ระดมทุนกัน ที่เรามาเป็น “คลองเคยดีจัง” ได้เพราะเราเข้าร่วมในเครือข่าย “พื้นที่นี้ดีจัง” ก็เลยกลายเป็นคลองเตยดีจัง

ตอนนี้การทำงานยังเป็นรูปแบบเดิมที่ไม่มีขั้นมีตอนอยู่ไหม หรือมีการวางแผนมากขึ้น

ตอนนี้ทำไปทีละโปรเจ็กต์ เราทำโครงการ Learn and Earn ที่สนับสนุนให้เด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษามีโอกาสกลับเข้ามาในระบบ แล้วก็ฝึกประกอบอาชีพ โดยมีสามเป้าหมายหลัก ๆ คือ หนึ่ง – ให้เด็กมีวุฒิการศึกษา สอง – ให้เด็กฝึกประกอบอาชีพได้ เข้าใจเรื่องการตลาดเข้าใจการขาย หาทางที่จะเอาตัวรอดได้ สาม – ทำให้เด็กมีรายได้ระหว่างเรียน แต่ถ้าถามว่าในระยะยาวเราอยากจะเป็นอะไร เราอยากเป็นศูนย์การเรียนที่สนับสนุนเด็กได้ เพราะตอนนี้ปัญหาเด็กออกจากระบบการศึกษาเยอะมาก แล้วระบบการศึกษาส่วนใหญ่วิธีการเรียนรู้ก็เป็นวิชาการ ยังไม่ตอบโจทย์ให้เด็กทุกคนได้ใช้ศักยภาพในการค้นหาตัวเอง

สาเหตุที่เด็ก ๆ ออกจากระบบการศึกษาคืออะไร

คิดว่ามีหลายเหตุผลและบริบทของแต่ละพื้นที่มันอาจจะไม่เหมือนกัน อย่างคลองเตยก็อาจจะมาจากครอบครัวที่มีรายได้ค่อนข้างน้อย ฐานะยากจน พอถึงวัยหนึ่งของเด็ก พ่อแม่ก็ไม่มีแรงสำหรับส่งเรียน เด็ก ๆ เลยต้องเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย อันที่สองก็อาจจะเป็นค่านิยมในชุมชน เด็กอาจไม่รู้ว่าแรงบันดาลใจที่จะเรียนนั้นเรียนไปเพื่ออะไร เขาไม่ได้เห็นต้นแบบที่ชัดเจนว่าถ้าเรียนมหา’ลัยแล้วมันจะต่างกับที่เขาไปทำงานยังไง

สมมติว่าถ้าเรียนจบปริญญาตรีได้เงินเดือน 15,000 ตอนนี้เขาทำอยู่ร้านกาแฟก็ได้เท่ากัน เขาจะเสียเวลาตั้ง 4-6 ปีไปเรียนปริญญาตรีเพื่อกลับมาได้เงิน 15,000 หรือเปล่า ถ้าเรียนจบปริญญาตรีมันก็ควรจะมีเงินเดือนขั้นต่ำที่ทำให้เขากล้าลงทุนกับการศึกษาและรู้ว่าเขาจะเรียนไปเพื่ออะไร เขาไม่มีแรงจูงใจมากพอที่จะเห็นว่า ถ้าเขาเรียนแล้วเขาจะมีโอกาสมีรายได้เพิ่มขึ้น เขาคิดแค่ว่าเขาต้องทำงานเท่านี้พอเพื่อที่จะหาเลี้ยงตัวเอง ณ วันนี้ แล้วหลายคนก็ไม่ชอบระบบการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์ชีวิตเขา

Free from school บทเรียนนอกกรอบที่ตอบโจทย์ชีวิต

เป้าหมายของคลองเตยดีจังในตอนนี้คืออะไร

สิ่งที่เรากำลังจะทำก็คือการออกแบบระบบการศึกษาแบบใหม่ซึ่งออกวุฒิการศึกษาให้เด็กได้ ในระยะสั้นมันก็จะเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ พื้นที่เรียนรู้ แต่ระยะยาวก็คือโรงเรียนชื่อ Free Form School ซึ่งอยู่ระหว่างการออกแบบหลักสูตร

ปัญหาของระบบการศึกษาคือเรียนไปแล้วไม่รู้จะเอาวิชาการไปใช้ในชีวิตยังไง เช่น แชร์ลูกโซ่มันก็คือเลขยกกำลังหรือดอกเบี้ย กำไรขาดทุน ก็ไปสอนกันตอนโต แล้วไม่ได้ถูกนำมาใช้ในชีวิตจริง จริง ๆ การเงินควรเรียนตั้งแต่มัธยม แต่ในโรงเรียนสอนแค่คณิตศาสตร์ซึ่งไม่ได้บูรณาการกับชีวิตประจำวัน

ตอนนี้เราเลยเชิญวิทยากรที่เป็นนักคณิตศาสตร์ มากางหลักสูตร ม.ต้น-ม.ปลาย แล้วก็ดูว่าคณิตศาสตร์แบบไหนที่จำเป็นจะต้องใช้ ที่ไม่จำเป็นก็ตัดออก แล้วก็เอามาประมวลใหม่ให้เป็นกิจกรรม ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้เข้าคู่กับการใช้ชีวิต

จากที่บอกว่าเด็กมักจะออกจากระบบการศึกษาเพราะเขาไม่มีแรงจูงใจที่จะเรียนต่อ แล้วพื้นที่ที่คลองเตยดีจังกำลังทำอยู่จะช่วยทำให้เด็กมีแรงจูงใจเรียนต่อได้ยังไง

พี่ว่ามันเสริมเรื่องทักษะชีวิตแล้วก็แรงบันดาลใจ ที่เด็กไม่อยากเรียนต่อก็เพราะเขาไม่เห็นโลกภายนอกมากพอ โลกที่ทำให้เขามีแรงบันดาลใจและเชื่อว่าเขามีชีวิตที่ดีกว่านี้ได้ มีเงินเดือนมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำได้ พื้นที่ที่เราทำเลยเป็นการไหลเวียนกันระหว่างคนภายนอกกับคนภายใน มันก็จะมีการสร้างแรงบันดาลใจซึ่งกันและกัน เช่น ถ้าเขามีโอกาสไปดูคอนเสิร์ต เขาก็จะเห็นว่า จริง ๆ โลกภายนอกมันมีโอกาสให้เรานะ ถ้าเราพยายามมากพอ

คำว่ามหาวิทยาลัยสำหรับเด็กคลองเตยมันไกลเกินเอื้อมมาก เพราะว่ามันไม่ตอบโจทย์เรื่องรายได้และมันเหนื่อยเกินไป ด้วยทักษะวิชาการที่อ่อน เขาอาจจะไม่สามารถเรียนจนจบได้ ไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเองที่จะเรียนให้จบ พื้นที่การเรียนรู้มันเลยสร้างแรงบันดาลใจและเชื่อมต่อระหว่างชุมชนกับโลกภายนอก ซึ่งจะทำให้เขาเข้มแข็ง พยายามพัฒนาตัวเองและยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

อันที่สองมันก็น่าจะเป็น soft skills ต่าง ๆ เช่น การสื่อสาร การเข้าสังคม การจัดการ ความรับผิดชอบ การตรงต่อเวลา การฝึกที่จะยอมรับผิด การสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา เมื่อไหร่ที่ข้างในเขาเข้มแข็ง เขาจะไปเรียนอะไรก็ได้ เขาจะไปทำอะไรก็ได้

หลักสูตรการเรียนที่คลองเตยดีจังกำลังออกแบบอยู่ต่างจากหลักสูตรในระบบยังไง

อย่างคณิตศาสตร์ เขาก็บอกว่า “ครู มันยากไป” เพราะว่าระดับความรู้ของเด็กไม่เท่ากัน แล้วมีครูแค่คนเดียว เราก็เลยทำระบบพี่เลี้ยงสนับสนุนกลุ่ม มีครูอยู่หน้ากระดาน ส่วนเด็กก็แบ่งเป็นกลุ่มย่อย แล้วก็ทำระบบพี่เลี้ยงไปในกลุ่มย่อยเพื่อเข้าไปช้อนให้เขาเข้าใจมากขึ้น ให้เด็กตามให้ทัน

บางเรื่องที่มันไม่สนุกเพราะเด็กตามไม่ทันแล้วเขาไม่กล้าถาม เขาก็เลยเก็บความไม่รู้ไว้ ทำให้เขาไม่อยากเรียน แต่เมื่อไหร่ที่เขารู้เรื่อง เขาก็สนุกกับมัน อย่างสัปดาห์ที่แล้วเราสอนเรื่องการผลิตลำโพง ต่อระบบไฟฟ้า ทำลำโพงขายผ่านกล่องกระดาษซึ่งยากมาก แต่พอเราออกแบบความยากของวิชาการให้มันเป็นกระบวนการ เขาก็สนุก เด็กไม่ได้กลัวเรื่องที่ยาก แต่ระบบการเรียนการสอนเรามันไม่ได้ออกแบบให้เขาเข้าใจมากกว่า

เราจะรู้ได้ยังไงว่าหลักสูตรไหนเหมาะกับเขา

คิด ทดลอง แล้วก็แก้ บางทีเรานึกไม่ออกหรอกว่าอันไหนเหมาะที่สุด เราดีไซน์เสร็จก็ทดลองให้เด็ก feedback เมื่อก่อนพี่ไม่กล้าให้อาสาสมัครสอนเลย เพราะว่าเด็กที่นี่เดินออกแบบรุนแรงด้วย เขายกมือบอกว่า “ครู! อยู่โรงเรียนหนูก็ต้องเรียนแบบนี้ อยู่ที่นี่หนูก็ต้องเรียนแบบนี้อีกเหรอ!” “ครูคนนี้สอนไม่รู้เรื่องเลย พูดไม่รู้เรื่อง!” เลยไม่กล้าเอาอาสาสมัครเข้าไปสอนจนกว่าอาสาสมัครจะได้เทรนแล้วก็ออกแบบร่วมกับเรา

ก่อนออกแบบหลักสูตร พี่ประชุมกับอาสาสมัครละเอียดมาก เช่น วิชาคณิตศาสตร์เป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล สอนปริญญาโท ปริญญาเอก แต่ตอนนี้มาทำหลักสูตรคณิตศาสตร์ตอนต้นซึ่งมันดีไซน์ใหม่หมดเลย ส่วนภาษาอังกฤษได้น้องจาก Teach for Thailand และ Unicef ที่ผ่านมาถ้ามีอาสาสมัครมาช่วยสอน พี่ก็จะเบรกไว้ก่อน เดี๋ยวมันจะกลายเป็นความทุกข์ทรมานระหว่างเด็กและอาสา เราปล่อยให้เด็ก feedback 100 เปอร์เซ็นต์ ครูอาจจะต้องจิตแข็งเพราะเด็กจะตรงไปตรงมา ถ้าเด็กไม่ชอบก็ต้องยอมรับให้ได้ ต้องเปลี่ยน ออกแบบกระบวนการใหม่ มันก็จะทำให้เราละเอียดมากขึ้น

เคยมีชั้นเรียนที่คนมาน้อยมาก ๆ ไหม แล้วครูแอ๋มแก้ปัญหายังไง

ตอนแรกถ้าต้องเรียนวิทยาศาสตร์กับภาษาอังกฤษ เขาจะถามว่า “ทำไมต้องมาเรียน” ก็ต้องหลอกล่อหน่อย ภาษาอังกฤษเรามีเรียน 4 ครั้ง ใครเรียนได้มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์พาไปต่างประเทศด้วย ไปปิดจ๊อบที่ปีนัง มาเลเซีย เราใช้กลไก gamification ให้ไต่แร็งก์ ต้องทำเหมือนเล่นเกม ถ้าสอนแบบขึ้นกระดานไปไม่รอด

เมื่อก่อนเราสอนดนตรี เราอยากให้เด็กเก่งขึ้น เราก็ไปหาว่าเด็กชอบเล่นเกมเพราะอะไร ชอบเพราะมันมีเลเวล มีเลเวลแล้วมีรางวัล การอัปเวลทำเขาได้อะไรกลับมา เราก็พยายามใช้กระบวนการแบบนี้ แม้กระทั่ง Learn and Earn ก็ทำเป็นเลเวลเหมือนกัน เช่น ถ้าเขาเป็นคนประสานงาน บริหารจัดการ ทำ artwork ได้ เขาก็จะได้ค่าตอบแทนราคานี้ ให้เขาได้เห็นว่าทำไมเขาต้องพัฒนาตัวเอง

นอกจากนั้นในระหว่างเรียนก็จะมีเกมตลอดเวลา เด็กจะไม่มีทางหลับ มันจะมีวิจัยอยู่ว่า เด็กนั่งฟังได้มากสุด 15 นาที ถ้ามากกว่า 15 นาที ตัดออกได้เลย คาบเรียน 3 ชั่วโมงเลยต้องซอยออกมาเป็น 5 นาที brain gym 10 นาที intro หลังจากนั้นก็เข้ากระบวนการกลุ่ม รวมกลุ่มเสร็จก็เป็นการสะท้อน เพื่อให้เด็กไม่หลับใหลไปกับการเรียนการสอน

พื้นที่เล็ก ๆ ที่ใจต้องกว้างพอ

คิดว่าปัญหาหลักๆ ของคลองเตยคืออะไร

ปัญหาคลองเตยมันใหญ่และซับซ้อนมาก ตั้งแต่โครงสร้าง ความยากจนจากรุ่นสู่รุ่น พ่อแม่หรือปู่ย่าอพยพมาจากต่างจังหวัดเพื่อมาขายแรงงานท่าเรือบ้าง เก็บขยะบ้าง ก่อสร้างบ้าง เพราะเขาไม่ได้เรียนหนังสือ เป็นวัฏจักรและขยายปริมาณไปเรื่อย ๆ จนมีประชากรเป็นแสน ๆ คน กว่าที่เขาจะขยับฐานะตัวเองได้มันก็ยาก อย่างที่สองก็ยาเสพติดและความรุนแรงที่มันซ้ำซ้อนกับปัญหาเดิม ๆ ปัญหามันเลยใหญ่มหึมา แล้วทำอะไรได้น้อยมาก

มีเด็กคลองเตยสองหมื่นกว่าคน เราทำงานกับเด็กได้แค่ 30-40 คน มากสุดก็ 100 คน แต่ที่เราพยายามจะทำคือทำงานเชิงลึก มากกว่างานสงเคราะห์ เราพยายามทำงานคุณภาพให้เห็นว่าถ้าเราลงทุนกับคน มันสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ แต่ถ้าเราจะทำงานเชิง scale มันต้องเป็นรัฐเท่านั้นที่จะเปลี่ยนได้ สิ่งที่ทำได้คือต้องผลักดันรัฐให้มารับผิดชอบสิ่งนี้

ต้องให้รัฐมาพัฒนาทรัพยากรณ์มนุษย์มากกว่าสิ่งปลูกสร้าง การลงทุนกับคนมันจับต้องไม่ได้ มันวัดผลไม่ได้ คนเลยไม่ค่อยอยากลงทุน แต่ถ้าเราอยากจะเปลี่ยนแปลง เรื่องนี้คือเรื่องใหญ่แต่ต้องใช้เวลาด้วย แล้วก็ต้องใช้งบประมาณเยอะ แต่ว่าเราพยายามทำให้เห็นว่า ถ้าลงทุนกับคนแล้วเปลี่ยน ประเทศจะมันมีอัตรา GDP สูงขึ้นหรือมีทรัพยากรบุคคลที่พัฒนาประเทศได้

ตอนแรกที่เราเข้าไปใช้พื้นที่ เรามีวิธีการอธิบายให้ชุมชนเข้าใจได้ยังไงว่าเรากำลังทำอะไรอยู่

เราเข้าไปคุยกับประธานชุมชนว่าเราทำอะไร เพื่ออะไร มันก็มีคำถามแหละว่าเราเข้าไปทำอะไร มันมีกลุ่มแบบนี้ด้วยเหรอ แต่มันก็ผ่านการพิสูจน์ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าเครื่องมือที่เราใช้ มันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น เด็กเปลี่ยนจากเกเรมารับผิดชอบตัวเองได้ ดูแลครอบครัวได้ ชุมชนจะการันตีความสำเร็จของเราได้ก็ต่อเมื่อเขาเห็นหลักฐานเชิงประจักษ์

ถ้าเป็นกิจกรรมชั่วคราว เราก็ประสานงานพ่อแม่ผู้ปกครอง บางทีพ่อแม่เอาเด็กมาฝากกับเราเพราะว่าได้กินข้าวฟรี อย่างน้อยเขาก็ประหยัดข้าวเที่ยงได้ มีที่ให้เล่น มีคนช่วยเลี้ยงลูก

ทีแรกผู้ปกครองหลายคนเขาจะทนไม่ได้เวลาเราทำกิจกรรม เขาสงสัยว่าทำไมไม่ด่าเด็ก ไม่ตี ไม่จัดการ มันเกเรมาก ชุมชนคลองเตยเขาด่ากันรุนแรงเป็นปกติ แต่เวลาเราทำงานกับเด็ก ถ้ามีปัญหาเราก็จะให้เด็กสะท้อน เปิดสภา ทำกติกา มีบทลงโทษ เราเรียกว่าพฤติกรรมทำซ้ำให้เขาเปลี่ยนพฤติกรรมโดยไม่ใช้ความรุนแรง แต่ใช้วงคุย ไม่ใช่การได้ยินจากเราว่าต้องเป็นคนดี แต่มันต้องมีกระบวนการที่สม่ำเสมอ พอผู้ปกครองเห็นว่าเด็กเปลี่ยนไป เขาก็จะรู้สึกว่าถ้าเด็กอยู่กับเราก็วางใจได้

แล้วมีกรณีที่เด็กไม่พร้อมเปลี่ยนไปกับเราไหม

70-80 เปอร์เซ็นต์เลย มันมีจังหวะชีวิตของเด็ก ถ้าเป็นเด็กเล็กเขาจะสนุกกับทุกอย่าง พอโตขึ้นเขาก็จะมีทางเลือกของตัวเอง บางคนก็กลับเข้าสู่วงจรชีวิตของเขา แต่เราก็ไม่ว่าอะไร มันเป็นสิ่งที่เขาเลือก สิ่งที่เราทำงานกับเด็กก็คือเขาเลือกอะไรก็ได้ตามความต้องการของเขา แล้วก็ชวนเขาวิเคราะห์ ชวนเขาทบทวนตัวเองให้มากที่สุด เขาไม่ต้องเลือกไปเส้นทางเดียวกับเราก็ได้ บางคนก็อาจถูกแทง บางคนอาจติดคุก บ้างก็ใช้ยาจนชีวิตไม่เหลืออะไร แต่ว่าพื้นที่ของเราคือพื้นที่ที่จะไม่ทำให้เขาสิ้นหวัง พื้นที่ที่จะโอบรับเขาเมื่อเขาทำพลาด เพราะพื้นที่ที่โรงเรียนหรือที่บ้านอาจจะไม่ทำหน้าที่นี้แล้ว เขาพ่ายแพ้ต่อระบบการศึกษาแล้ว มันก็จะมีบาดแผลและถูกตราหน้าแล้วว่า คนคนนี้ไม่ได้เรียนหนังสือ

มีเด็กวนเข้าวนออกแบบนี้ตลอดเวลา เมื่อไหร่ที่เขาไม่วนออก เขาเริ่มต้นชีวิตตัวเองได้ หมายความว่าความเข้มแข็งข้างในเขาพร้อมแล้วที่จะใช้ชีวิต แต่การเป็นวัยรุ่นมันก็จะเป็นแบบนี้แหละ สิ่งที่เราต้องทำก็คือใจกว้าง ใจกว้างว่าเขาพร้อมจะวนออกได้เสมอ ถ้าเขาไปเมื่อไหร่ก็ไม่เป็นไร เคารพการตัดสินใจ แต่ว่าถ้าเขาพร้อมจะกลับมาเริ่มต้นนับหนึ่ง เราก็พร้อมเปิดพื้นที่ให้เขานับหนึ่งใหม่ ตอนแรกเราก็ไม่ชินหรอกเพราะคาดหวังว่าเราลงทุนไปแล้ว สอนเขาแล้ว อบรบแล้ว พาไปทำทุกอย่างแล้ว ทำไมเป็นแบบนี้ แต่สุดท้ายแล้ว พอเราทำงานไปเรื่อย ๆ เราจะเข้าใจวัฏจักรของวัยและสังคมที่เขาเติบโตมา พื้นที่เราน่าจะเป็น space แบบหลวม ๆ เข้าออกได้ ถ้าเขามีที่ไปเราก็สนับสนุนให้เขาไป แต่ถ้าไม่ไหวก็กลับเข้ามาใหม่ มาตั้งหลัก

เคยมีพื้นที่ที่ทับซ้อนกับพื้นที่ยาเสพติดไหม

เคย ตอนแรกเราเข้าไปชวนเขามาออกแบบและปรับปรุงเป็นพื้นที่ทำกิจกรรม เราถามเขาว่าอยากให้ชื่ออะไร เขาบอกว่า อยากให้ใช้ชื่อว่า Safe House เพราะเมื่อก่อนดูดกัญชาตรงนี้ เราก็พยายามให้เขามีส่วนร่วมกับการออกแบบ แต่สุดท้ายเขาก็ปรับตัวเข้ากับเราไม่ได้ แต่เราก็จะไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน แม้ว่าเราจะใช้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่สว่างขึ้น แต่เราก็เคารพเขา

การเข้าไปเปลี่ยนพื้นที่ในคลองเคยต้องคิดด้วยว่าจะทำยังไงให้เราเคารพทุกคนให้ได้มากที่สุด ถ้าเราเคารพเขา เราก็จะได้รับการตอบรับที่ดีกลับมา พื้นที่เรามีทั้งคนบ้า คนเมายา มีคนหนึ่งเล่นกีตาร์เก่งมากแต่เมายาตลอดเวลา เวลามาถึงก็จะขอเล่นกีตาร์ เราก็ให้มาเล่นเลย ปรบมือเชียร์ เราก็เคารพกัน แต่ถ้าเราแบ่งฝั่งว่า คนใช้ยา คนเมาเป็นคนไม่ดี มันก็จะทำให้เราเป็นศัตรูกัน เราเลยต้องประนีประนอมกับวัฒนธรรมเก่า เพราะพื้นที่มุมมืดมันก็เหมือนบ้านเขา เรากำลังลุกล้ำพื้นที่เขาอยู่ มันก็ต้องมีการสื่อสารกันด้วยความเคารพ คนที่ใช้ยาไม่ได้หมายความว่าเขาอยากใช้ยาตลอดชีวิต แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าเขาอยากให้ลูกหลานเขาใช้ยาด้วย เขาไม่สามารถเอาชนะยาเสพติดได้แต่เขาก็ไม่ต้องการให้ลูกหลานใช้

มีพ่อแม่หลายคน เมายาไอซ์มาแอบอยู่หลังรถแล้วก็มาสะกิดว่า “ครูขอคุยด้วยหน่อย เสียใจมาก ลูกแอบสูบบุหรี่” ตัวเองเมายาไอซ์มานะ แต่ร้องไห้เพราะลูกแอบสูบบุหรี่ จิตใต้สำนึกเขาไม่ได้มองว่ายาเสพติดเป็นเรื่องดี แต่เขาเอาชนะไม่ได้ เราก็เคารพเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ได้ผลักให้เขาเป็นคนร้าย

พื้นที่ตรงนั้นเลยกลายเป็นพื้นที่ที่ชุมชนสามารถเข้ามาใช้ได้ด้วย

คือชุมชนก็ให้ความร่วมมือกับกิจกรรมตลอด เราออกแบบให้ชุมชนทำกับข้าว มีการจ้างงาน งานบวชงานแต่ง เขามาขอใช้พื้นที่ ประชุม พัฒนาอาชีพ ส่งเสริมอาชีพ ก็ win-win ทั้งสองฝ่าย เขามีรายได้ ลูกหลานปลอดภัย เขาก็พร้อมสนับสนุนเราและเห็นว่าพื้นที่นี้สำคัญ เมื่อก่อนเขามองว่าไร้สาระ ไปทำงานดีกว่า แต่พอเขาเห็นว่าการเล่นไม่ไร้สาระ มันทำให้ลูกเขาเปลี่ยน เขาก็จะรู้สึกว่ามันสำคัญ อย่างตอนนี้พื้นที่โรงฆ่าสัตว์ถูกเอาคืนกลับไป เขาก็รู้สึกเสียใจ

ที่ดินในคลองเตย มันมีโอกาสจะต้องย้ายออกตลอดเพราะมันเป็นพื้นที่ของรัฐ แต่ปลายทางแล้วมันต้องเห็นผลลัพธ์เชิงประจักษ์ ถ้าเขาไม่เห็นเขาก็ไม่รู้หรอกว่ามันมีประโยชน์

รัฐจะช่วยยังไงได้บ้างนอกจากให้ทุนกับให้พื้นที่

ถ้ามองแบบโครงสร้างใหญ่ ๆ มันก็ต้องแก้เรื่องระบบการศึกษา การสนับสนุนสวัสดิการหรือการเปิดพื้นที่ให้เด็ก รัฐจะทำอะไรได้บ้างก็ต้องทดลองดู ต้องมาหา how-to ร่วมกัน แต่มันมีไอเดียมากมายที่ภาคประชาสังคมทำ แต่มันก็ทำได้แค่นี้ มีหลายกลุ่มที่ก็ทำได้แค่นี้ เพราะฉะนั้นรัฐก็ต้องมาจับมือร่วมกับภาคประชาสังคม

Learning Space : พื้นที่ทดลองทำและโอบอุ้มความฝันที่ถูกลดความสำคัญในระบบ

จากที่ฟังมา การได้มีพื้นที่เรียนรู้ดูเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับเด็กกลุ่มเปราะบางมาก แล้วสำหรับเด็กชนชั้นกลาง learning space จำเป็นไหม

พี่คิดว่า learning space มันเป็นพื้นที่ทางเลือกให้เด็กได้มาทดลองใช้ชีวิต คือในระบบการศึกษาเด็กอาจจะไม่ได้มีโอกาสได้ทดลองชีวิตในแบบที่เขาชอบ มันอาจจะมีแค่วิชาเรียน วิชาบังคับ สุดท้ายก็ไม่ตอบโจทย์ แต่ learning space มันเป็นพื้นที่ทดลองให้เขาได้หาว่า เขาชอบอะไร เขาถนัดหรือไม่ถนัดอะไร เพราะกว่าที่เราจะรู้ เราต้องลองผิดลองถูกแล้วก็ทดลองทำ  

ในระบบการศึกษาทั่วไป ส่วนใหญ่เราจะเป็นผู้ฟัง ได้ลงมือทำจริง ๆ ก็อาจจะ 10-20 เปอร์เซ็นต์ มันเลยไม่สามารถเอาไปปฏิบัติได้ แต่พื้นที่การเรียนรู้คือพื้นที่ทดลองทำแล้วก็แลกเปลี่ยน เด็กจะเข้าใจกระบวนการเรียนรู้ได้ก็ต่อเมื่อเขาได้ลงมือปฏิบัติ ลองผิดลองถูก แล้วก็สะท้อนว่าเขารู้สึกอะไร คิดอะไร ชอบอะไรไม่ชอบอะไร เหมือนวิชาดนตรี เด็กไม่ต้องชอบดนตรีทุกคน แต่ถ้าเขาทดลองเรียนแล้ว แล้วเขาไม่ชอบ เขาชอบวิทยาศาสตร์ เขาชอบเรื่องป่าไม้ เขาชอบดูนก เขาก็ตอบได้ว่าเขาชอบอะไร ไม่จำเป็นว่าคนที่มาเรียนแล้วจะชอบสิ่งนั้นทั้งหมด แต่พื้นที่แบบ learning space คือพื้นที่ปฏิบัติการณ์ให้เขาได้ลงมือทำ

พี่เลยคิดว่ามันเป็นพื้นที่จำเป็นสำหรับเด็กทุกคน ลองนึกถึงสมัยเราเป็นเด็ก ถึงแม้ว่าเราจะเป็นเด็กชนชั้นกลางแต่ถ้าเราอยากเรียนดนตรี เราก็ไม่รู้จะไปเรียนที่ไหน โรงเรียนไม่มีพื้นที่มากพอให้เราเล่นดนตรี แล้วค่าใช้จ่ายในการเรียนดนตรีก็แพงเกินไป เมื่อก่อนพี่ชอบศิลปะกับดนตรี พี่ก็ไม่รู้ว่าจะไปเรียนศิลปะกับใคร จริง ๆ มันควรมีพื้นที่เรียนรู้ที่ควบคู่ไปกับการศึกษาในระบบโดยมีสถานะเท่า ๆ กัน แล้วคุณภาพต้องดีด้วย มันควรมีทางเลือกให้เด็กมากที่สุด เท่าที่เด็กจะเลือกได้ ถ้าเขาอยากเรียนหมอ ก็ไปตามเส้นทางนั้น แต่ถ้าเขาไม่พร้อม ก็ควรจะมีทางเลือกอื่น ๆ ให้เขาค้นหาตัวเองกับเพิ่มทักษะ

ตอนนี้ learning space ที่ครูแอ๋มทำถือว่ายั่งยืนหรือยัง

ไอเดียหรือคอนเซ็ปต์มันยั่งยืนแล้วแหละ แต่ในเชิง space มันอาจจะเปลี่ยนรูปได้หมด ถ้าความเข้มแข็งมันอยู่ในวิธีคิด เราจะยกวิธีคิดนี้ไปที่ไหนก็ได้ เมื่อก่อนเรามีพื้นที่ที่โรงฆ่าสัตว์เก่า ที่เราไปทำ space ไปทำแหล่งเรียนรู้ แต่พอมันถูกเอาคืนเพราะเป็นพื้นที่ของรัฐ เราก็ตระเวนไปเรื่อย ๆ ตามสนามกีฬา สนามบาส แล้วเราก็ทำเป็นพื้นที่เรียนรู้ให้เด็ก แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องของพื้นที่อย่างเดียว คนออกแบบ space คนที่ดูแล space ก็สำคัญ ถ้าคนดูแล space ไม่ได้ทำให้มันเป็นพื้นที่ที่มันปลอดภัยและเด็กกล้าเข้ามาร่วมทำกิจกรรม มันก็อาจจะเป็น space ที่ไม่ตอบโจทย์

แสดงว่าพื้นที่ในเชิงกายภาพอาจไม่สำคัญเท่าวิธีคิด

ใช่ พี่คิดแบบนั้นนะ พื้นที่ทางกายภาพอาจจะสำคัญในการเชื่อมเรากับเด็กให้ใกล้ชิดกัน สมมติเรามีพื้นที่ใกล้บ้านเด็กมันก็อาจจะทำให้เราเข้าใกล้เด็กได้ แต่ถ้าพื้นที่นั้นไม่มีกระบวนการให้เด็กได้สนุกสนาน มีความสุข มันก็จะเป็นพื้นที่ร้าง อย่างที่เราเห็นว่ามันมีสนามเด็กเล่นร้าง สนามฟุตบอลร้าง เพราะมันไม่มีกระบวนการให้พื้นที่นั้นมันมีความหมาย แต่เราก็ยังจำเป็นต้องใช้พื้นที่ทางกายภาพเพื่อเจอกับเด็ก

Learning space ในฝันของครูแอ๋มเป็นแบบไหน

ถ้าเชิงกายภาพต้องใกล้บ้าน เด็กเดินถึงเลย พ่อแม่เห็นว่าอยู่ตรงไหน อันที่สอง ต้องมี facility ส่งเสริมให้เด็กพัฒนา เมื่อก่อนเรามีที่ซ้อมดนตรี มีสนามกีฬา อุปกรณ์เต็มไปหมด แต่เราจำกัดเวลาให้เด็กใช้ กติกาเรามีข้อเดียวคือต้องเก็บ ฝึกวินัยเรื่องการเก็บของ แล้วก็ต้องมีคนที่ดูแลที่เข้าใจ อันนี้ต้องฝึก playworker หรือครูที่ต้องเล่นกับเด็ก ของอาจจะสำคัญแต่ผู้เล่นกับเด็กสำคัญที่สุด เด็กเขาต้องการครู เขาจะมีเล่นผม ถักผมเรา การเล่นมันคือการพัฒนา EQ เขา ตั้งแต่การกำหนดเวลา การเก็บของ การแบ่งของเล่น การไม่แย่ง แค่กระบวนการพวกนี้ มันก็สำคัญมาก ๆ แล้ว


Writer

Avatar photo

ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา

อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า

Photographer

Avatar photo

ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

Illustrator

Avatar photo

ธีรภัทร์ เศาธยะนันท์

ชอบกินลาเต้เย็น

Related Posts