จริงไหม นกที่ตื่นเช้าจะได้กินหนอนก่อนใคร แล้วใครว่า ‘นอนตื่นสาย’ เป็นความผิด

  • ความเชื่อของคนรุ่นพ่อ “นกที่ตื่นก่อน ได้หนอนตัวโตกว่า” ขณะที่คนรุ่นลูก “แล้วรู้ไหม หนอนที่ตื่นเร็วจะถูกกินก่อน
  • คนรุ่นหนึ่งตื่นเช้า แต่คนอีกรุ่นตื่นสาย เพราะเมื่อคืนนอนดึกมาก และชอบขออีก 5 นาที การตื่นเช้าจึงเข้าขั้นลำบาก และกลายเป็นความขัดแย้งกันในที่สุด
  • เรื่องทั้งหมดจะคลี่คลายลงได้ง่าย ถ้าทุกฝ่ายเข้าใจเรื่อง Sleep Cycle ของแต่ละวัยที่ไม่เหมือนกัน

“นอนกินบ้านกินเมือง”

“อย่านอนตื่นสาย อย่าอายทำกิน”

“นกที่ตื่นเช้าจะได้กินหนอนก่อนใคร”

นอกจาก 3 ประโยคนี้ ยังมีอีกหลายคำสอนที่พยายามจูงใจให้เราเป็นคนตื่นเช้าเพื่อเริ่มต้นวันก่อนคนอื่น 

“ขออีก 5 นาที” ลูกหลายคนตอบพ่อแม่ด้วยคำนี้ แล้วล้มตัวลงนอนยาวกว่าที่ทดเวลาไว้ เพราะเมื่อคืนนอนดึกมาก การตื่นเช้าจึงเข้าขั้นลำบาก และกลายเป็นความขัดแย้งกันในที่สุด 

แต่เรื่องทั้งหมดจะคลี่คลายลงได้ง่าย ถ้าทุกฝ่ายเข้าใจเรื่อง Sleep Cycle ของแต่ละวัยที่ไม่เหมือนกัน 

ตื่น – เคลิ้ม – หลับลึก – ฝัน

ปกติเเล้ว ‘วงจรการนอน (Sleep Cycle)’ จะเริ่มต้นขึ้นเมื่อเราหลับตา สมองของเราจะเข้าโหมด ‘การนอน’ ช่วงเเรก ที่เรียกว่า Non-Rapid Eye Movement (NREM) sleep ในระดับเเรก คือ สมองจะทำงานช้าลง เปลี่ยนจากการตื่นเป็นหลับ โดยจะใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที

หลังจากนั้นร่างกายเราจะถูกปรับเข้าสู่ NREM Sleep ระยะที่สองเรียกว่า Light Sleep คือหลับระยะตื่นหรือการเคลิ้มหลับ ซึ่งการนอนระยะนี้กินเวลากว่า 50% ของเวลานอนทั้งหมด หัวใจทำงานช้าลง อุณหภูมิร่างกายต่ำลง เตรียมเข้าสู่ภาวะหลับลึกในระยะที่ 3

เมื่อร่างกายของเราพร้อมเเล้ว จะเดินทางเข้า NREM Sleep ระยะที่สาม เรียกว่า Deep Sleep หรือการหลับลึก ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายจะได้พักผ่อนเเละซ่อมเเซมตัวเอง รวมถึงส่งผลต่อระบบความจำเเละความคิดสร้างสรรค์ด้วย เหมือนเราดำดิ่งไปกับการพักผ่อน จึงเป็นช่วงที่ปลุกยากที่สุด

หลังจากหลับลึกระยะหนึ่ง ร่างกายจะสร้างภาพที่เหมือนความจริงขึ้นมา เรียกว่า การฝัน โดยทางวิทยาศาสตร์เรียกว่าเป็นการนอนเเบบ Rapid Eye Movement (REM) โดยคนเราจะเริ่มฝันหลังจากหลับไปเเล้วประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที ซึ่งการหลับในระยะนี้ร่างกายจะเก็บอารมณ์เเละความรู้สึกของเราไว้ 

ตั้งเเต่การเคลิ้มหลับจนเราฝันจะนับเป็นหนึ่งวงจรการนอนของเรา ซึ่งตลอดคืนวงจรการนอนจะทำงานวนเข้าสู่การนอนระดับต่างๆ ประมาณ 4-5 รอบต่อคืน เว็บไซต์ verywellhealth อธิบายว่า ปกติการนอนของคนหนุ่มสาวที่สุขภาพดีจะมีวงจรการนอนดังนี้ 

  • รอบที่ 1: 1-2-3-2-REM
  • รอบที่ 2: 2-3-2-REM
  • รอบที่ 3: ตื่นครู่หนึ่ง-1: 1-2-3-2-REM
  • รอบที่ 4: 1-2-ตื่นครู่หนึ่ง
  • รอบที่ 5: 1-2-REM-2

ทั้งนี้งานวิจัยเรื่อง Sleep and Human Aging มหาวิทยาลัยเเคลิฟอร์เนีย พบว่า รูปเเบบการนอนของคนหนุ่มสาวเเตกต่างจากผู้ใหญ่ คือ คนหนุ่มสาวจะหลับง่ายเเละหลับยาว ส่วนผู้ใหญ่จะหลับยากเเละตื่นบ่อย 

นกที่ตื่นเช้าจะได้กินหนอนก่อนใคร จริงไหม?

“นกที่ตื่นเช้าจะได้กินหนอนก่อนใคร” หมายถึง คนที่เตรียมพร้อม เริ่มทำอะไรก่อนตั้งแต่เนิ่นๆ จะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า

เเล้วถ้าเราเปรียบเทียบให้นกที่ตื่นเช้าคือพ่อเเม่หรือผู้ใหญ่เเละหนอนคือลูกล่ะ 

พ่อเเม่อยากให้ลูกตื่นเช้าเพื่อที่จะได้เริ่มต้นทำกิจวัตรประจำวัน มีเวลาออกไปเที่ยว เเละหาความรู้ เเต่ลูกยังอยากนอนอยู่บนเตียง เพราะพักผ่อนไม่เพียงพอ

โดยข้อเท็จจริง พ่อเเม่ที่อยากให้ลูกตื่นเช้าไม่ผิด ลูกที่อยากนอนตื่นสายก็ไม่ผิด เพราะความจริงเเล้ว เเต่ละช่วงวัยต้องการเวลานอนไม่เท่ากัน ข้อมูลจาก มูลนิธิการนอนหลับแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Sleep Foundation) ระบุว่า เด็กอายุ 6-13 ปี ควรนอนวันละ 9-11 ชั่วโมง วัยรุ่นอายุ 14-17 ปี ควรนอนวันละ 8-10 ชั่วโมง คนหนุ่มสาวเเละผู้ใหญ่ควรนอนวันละ 7-9 ชั่วโมง 

รวมถึงเวลาของการหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนินที่ควบคุมการนอนซึ่งเเปรผันตามอุณหภูมิเเละเเสง หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นฮอร์โมนที่ส่งสัญญาณถึงสมองว่าเราต้องนอนเเล้วก็ผลิตออกมาในเวลาที่ต่างกัน

ในหนังสือ Why We Sleep ของ Matthew Walker ระบุว่า ในช่วงวัยรุ่นอายุ 16-17 ปี เมลาโทนินจะผลิตออกมาเวลา 23.00-00.00 น. แต่ผู้ใหญ่จะผลิตออกมาเวลา 21.00 น. ขณะเดียวกันเด็กอาจจะไม่ได้ต้องการตื่นสาย เเต่เมลาโทนินผลิตช้าลง เเต่ต้องการเวลานอนเท่าเดิม

นอกจากนี้ฮอร์โมนเมลานินยังทำงานสัมพันธ์กับนาฬิกาชีวภาพ (Biological Clock) ที่เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมเเละกิจกรรมของเราใน 24 ชั่วโมงซึ่งถูกควบคุมจากปริมาณเเสงในเเต่ละวัน 

ทั้งนี้นาฬิกาชีวิตของแต่ละคน แต่ละวัยก็ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับสภาพสังคม เงื่อนไขชีวิต และประสบการณ์ บางครั้งนกที่ตื่นเช้าอาจจะได้กินหนอนก่อนใคร ขณะเดียวกันหนอนที่ตื่นเช้าก็อาจจะถูกกินก่อนใครเช่นกัน

นกกระจาบ นกฮูก เเละนกประเภทที่ 3

หรือความจริงเเล้ว ทุกคนล้วนเป็นนก เพียงเเต่เป็นนกคนละเเบบ 

Daniel Pink เจ้าของหนังสือเรื่อง When: The Scientific Secrets of Perfect Timing แบ่งคนออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ นกกระจาบ (Lark) คือ คนตื่นเช้า, นกฮูก (Owl) คือคนนอนดึก ตื่นสาย เเละนกประเภทที่ 3 (Third Birds) คือคนที่อยู่กึ่งกลางระหว่างนกกระจาบเเละนกฮูก

สามารถสำรวจตัวเองด้วย 2 คำถามง่ายๆ ว่า ตื่นกี่โมง เเละ นอนกี่โมง หลังจากนั้นหาจุดกึ่งกลางของเวลาเข้านอนเเละตื่นนอน

ถ้าจุดกึ่งกลางอยู่ในช่วงเวลาตั้งเเต่ 00.00-03.00 น.เเสดงว่าเป็นนกกระจาบ ถ้าอยู่ช่วง 03.00-05.30 น.เเสดงว่าเป็นนกประเภทที่ 3 เเต่อยู่ในช่วงเวลาตั้งเเต่ 05.30-12.00 น. เเสดงว่าเป็นนกฮูก

นอกจากนี้ Pink ยังเขียนไว้ในหนังสือเรื่อง When: The Scientific Secrets of Perfect Timing ว่า เด็กมีเเนวโน้มที่จะเป็นนกกระจาบ เเละเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นเเละวัยทำงานอาจเป็นนกฮูกในบางครั้ง เเล้วจะกลับมาเป็นนกกระจาบอีกครั้ง

ไม่มีใครรู้ว่า นกที่ตื่นเช้าจะได้กินหนอนก่อนคนอื่นไหม เเต่ที่รู้ คือ ไม่ว่าจะเป็นนกหรือหนอนเราสามารถที่จะเข้าใจนาฬิกาชีวิตของตัวเราเเละคนรอบได้ เพียงเปิดใจ รับฟัง เเละเข้าใจ

ที่มา

https://www.verywellhealth.com/the-four-stages-of-sleep-2795920#citation-21

https://www.verywellhealth.com/what-is-sleep-architecture-3014823

https://www.nksleepcenter.com/blog/sleep-cycle/
https://www.cnbc.com/2018/04/30/daniel-pink-how-to-time-your-day-for-peak-performance.html

https://www.nopadolstory.com/knowledge/your-best-time/


Writer

Avatar photo

ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง

Illustrator

Avatar photo

กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts