เลี้ยงเด็กหนึ่งคนใช้คนทั้งหมู่บ้าน พลังของชุมชน พลังที่ทำให้ “ครอบครัวยิ้ม” : เรื่องเล่าจากเวทีครอบครัวยิ้มสัญจร จังหวัดพะเยา สู่ภาพฝันของประเทศไทยที่เด็กทุกคนจะได้รับการมองเห็น

Mappa ไปสัญจรกับครอบครัวยิ้มสัญจรที่จังหวัดพะเยามาค่ะ!

พวกเราได้มีโอกาสเข้าร่วมงานมหกรรมครอบครัวยิ้มสัญจรที่จังหวัดพะเยา เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2568 และร่วมฟังวงเสวนา “2 ทศวรรษ งานครอบครัวเข้มแข็ง สู่ ครอบครัวยิ้ม” โดยมีผู้ร่วมพูดคุยคือ 

คุณเยาวลักษณ์ ชีพสุมล จากบริษัทกล้าก้าว อินสไปเรชั่น 

คุณทวีสิน วงศ์เรือง สถาบันครอบครัวเข้มแข็ง จังหวัดพะเยา 

คุณณัฐยา บุญภักดี จากสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สสส.) 

คุณณิรดา อ่อนน้อม จากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพะเยา 

และมีคุณยงยุทธ ไชยา เป็นผู้ดำเนินรายการ

ทันทีที่ก้าวเข้าไปในห้องประชุมของมหาวิทยาลัยพะเยา สิ่งที่เราได้สัมผัสไม่ใช่ความอลังการหรือเวทีที่ยิ่งใหญ่ แต่เป็นความอบอุ่นจริงใจของชาวบ้านจากตำบลต่างๆ ในพะเยา ที่รวมตัวกันด้วยหัวใจที่มุ่งหวังให้ลูกหลานในชุมชนปลอดภัยและมีความสุข ผู้คนในห้องไม่ได้มีเพียงผู้มีตำแหน่ง แต่เต็มไปด้วยผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ครูจากศูนย์เด็กเล็ก อาสาสมัคร และชาวบ้านธรรมดา ที่มีหัวใจอันยิ่งใหญ่ในการดูแลเด็กทุกคนในชุมชนราวกับลูกหลานของตนเอง

เมื่อ “เลี้ยงเด็กหนึ่งคน ใช้คนทั้งหมู่บ้าน” เป็นความจริง ไม่ใช่คำขวัญ

พลังของการรวมตัวเป็น “ครอบครัวยิ้ม” ที่เริ่มต้นจากพะเยาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว วันนี้ขยายไปกว่า 700 ตำบลใน 7 จังหวัดทั่วประเทศไทย ไม่ใช่แค่คำขวัญสวยหรู แต่เป็นความจริงที่เกิดจากการลงมือทำของคนธรรมดาที่ไม่เคยรอความช่วยเหลือจากภายนอก

มีเรื่องเล่ามากมายตลอดการเดินทาง 20 ปีที่ผ่านมา 

แต่เรื่องที่ทำให้คนในห้องประชุมหยุดฟัง คือเรื่องเล่าของครอบครัวยิ้มจากจังหวัดตรัง ที่อาสาสมัครครอบครัวยิ้มเข้าช่วยเหลือผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งกำลังตัดสินใจจบชีวิต เพราะสามีถูกจับกุม ตัวเองพิการมองไม่ชัด และลูกสองคนยังเล็กมาก อาสาสมัครเข้าไปโอบกอด ให้กำลังใจ และดึงชุมชนเข้ามาร่วมดูแลเธอจนผ่านวิกฤตชีวิตได้จนถึงทุกวันนี้ นี่คือพลังของชุมชนที่แท้จริง

ที่พะเยา สิ่งที่นักวิจัยและนโยบายต่างค้นหามาตลอดกลับอยู่ใน “ชุมชน” ที่ทุกคนต่างดูแลเด็กทุกคนในหมู่บ้านอย่างใกล้ชิด ครูดูแลเด็กนอกห้องเรียน เพื่อนบ้านให้ความสนใจเด็กข้างบ้านเสมอ ลุงป้าในชุมชนกลายเป็นญาติที่เด็กพึ่งพาได้ยามครอบครัวมีปัญหา และอาสาสมัครเป็นเหมือนพ่อแม่สำรองที่พร้อมเข้าช่วยเหลือทุกเวลา

Data Driven แบบบ้านๆ :เมื่อระบบถูกสร้างจากความเป็นเพื่อนบ้านที่อยู่ “ในสายตา” 

คุณทวีสินเล่าว่า ความสำเร็จนี้มาจาก “ระบบบ้านๆ” ที่เกิดขึ้นจากหัวใจของผู้คน ไม่ใช่เพราะกฎหมายบังคับ แต่เพราะความรู้สึกที่ว่า “ครอบครัวเป็นชีวิตของทุกคน” ทุกคนจึงพร้อมเป็นหูเป็นตาให้กัน สังเกตปัญหาและแก้ไขด้วยวิธีการที่คิดขึ้นมาเองในชุมชน ไม่ต้องรอแบบฟอร์มหรือเอกสารทางการ ชุมชนคือคำตอบแรกที่เด็กทุกคนสามารถพึ่งพาได้ทันที

นี่คือ “Community-led Approach” ที่ชุมชนเป็นผู้กำหนดปัญหา ตั้งเป้าหมาย วางแผน และดำเนินการ โดยใช้ทรัพยากรและภูมิปัญญาที่มีอยู่แล้ว เมื่อชุมชนเข้มแข็งพอ พวกเขาไม่จำเป็นต้องรอการสนับสนุนจากภายนอกอีกต่อไป ซึ่งทำให้ “วิถี” ของชุมชนมีความยั่งยืนอย่างแท้จริง

DATA DRIVEN แบบบ้านๆ ต่างจากเดิมยังไง 

ชาว Mappa ลองถอดสมการมาดูกัน

แบบเดิม: เก็บข้อมูลตามฟอร์ม → ถามคำถามตามลิสต์ → ข้อมูลไม่มีความหมายกับผู้เก็บข้อมูล →เกิดปัญหา → รายงานเจ้าหน้าที่ → ส่งต่อหน่วยงาน → รอการช่วยเหลือ → บางทีก็ช้าหรือการช่วยเหลือมาไม่ถึง → ชุมชนไม่เข้าใจปัญหาและไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ตัวเองแก้ได้ 

แบบครอบครัวยิ้ม: เก็บข้อมูลด้วยวิธีที่คิดกันเองตามแต่ละชุมชนถนัด →  เห็นอะไร เจออะไรก็บันทึกกันแบบบ้านๆ ถ่ายรูปบ้าง เขียนบ้าง  → ชาวบ้านเห็นปัญหา → ชุมชนประชุมกันทันที → หาทางแก้ด้วยทรัพยากรที่มีและเท่าที่ทำได้ → ขาดอะไรค่อยขอความช่วยเหลือ → เด็กได้รับการสอดส่องดูแลอยู่ในสายตาผู้หลักผู้ใหญ่ในชุมชน

นอกจากนั้น คุณณัฐยา บุญภักดี ยังเล่าว่าในปีนี้หลายตำบลไม่ต้องพึ่งงบประมาณจากภายนอกแล้ว เพราะสามารถบริหารจัดการเองผ่านกองทุนสุขภาพตำบลที่มีอยู่ในพื้นที่ นี่คือหลักฐานชัดเจนถึงความยั่งยืนที่แท้จริง

เมื่อคำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน และนโยบายควรต้องฟัง

หนึ่งในช่วงที่ประทับใจเราที่สุดคือ การได้ฟังคุณณัฐยาเล่าถึงการค้นพบ ช่องว่าง 2 เรื่อง ที่ทำให้ปัญหาเด็กไม่คลี่คลาย:

ช่องว่างที่ 1: ปัญหาเด็กไม่มีเจ้าของเรื่องในระดับพื้นที่   “ไม่มีหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลเด็กแบบรับผิดชอบเต็มๆ อยู่ในระดับพื้นที่เลย เด็ก 70% ของประเทศเป็นเด็กในครอบครัวยากจน ครอบครัวยากจนเหล่านี้อยู่ในชุมชน หมู่บ้าน ถ้าเรามีเด็ก 70 คนจาก 100 คนที่เป็นเด็กยากจน แล้วเราไม่ทำอะไรเลย ประเทศจะรอดไหม” นี่คือคำถามสำคัญที่เราควรย้อนทบทวนไปพร้อมกัน

ช่องว่างที่ 2: วิธีการผิดๆ ที่ถูกส่งต่อกันมา   “วิธีการทำงานต่างๆ ที่ทำลงไปในชุมชนนั้นล้วนแล้วแต่เป็นโครงการที่สร้างเครื่องมือสำเร็จรูปแล้วเอาไปให้ชุมชนใช้ในการแก้ปัญหา แล้วไม่ได้เหมาะกับการใช้งานของชุมชน ไม่สอดคล้อง ไม่เข้าปาก ไม่เข้าเนื้อเข้าตัวชุมชน” นี่คือปัญหาที่ทำให้แม้มีเครื่องมือที่ดี แต่เป็นเครื่องมือจากส่วนกลางที่ไม่ได้รู้จักชุมชนจริงๆ ส่วนใหญ่โครงการเหล่านั้นเมื่อจบลง ชุมชนก็จะไม่ได้ใช้ต่อ

จากการค้นพบนี้ เกิดการปฏิวัติความคิดใหม่ โดยมีเพียงโจทย์ที่คุณณัฐยา ในฐานะผู้นำแนวความคิดแบบ “ครอบครัวยิ้ม” มาจุดประกายต่อยอดในพื้นที่ต่างๆ  “ชุมชนต้องเห็นปัญหาเอง และต้องไปคิดกันเองว่าชุมชนอยากที่จะใช้วิธีการอย่างไรในการทำงาน ชุมชนเริ่มคิดก่อน ลงมือทำก่อน ติดขัดอะไร เดี๋ยว นักวิชาการ เดี๋ยวหน่วยงานภายนอก เดี๋ยวบ้านพัก เดี๋ยว พมจ. ก็จะช่วยเสริม” 

จาก “ครอบครัวเข้มแข็ง” สู่ “ครอบครัวยิ้ม” ในวันที่แม้โครงการจะจบแต่ “วิถี” ของชุมชนจะยั่งยืน

จาก “ครอบครัวเข้มแข็ง” มาสู่ “ครอบครัวยิ้ม” คือการเปลี่ยนแปลงที่เน้นการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และย้ำว่าสิ่งสำคัญไม่ใช่เพียงความเข้มแข็ง แต่คือการสามารถ “ยิ้มได้” และ “สู้ไปด้วยกัน” ไม่ว่าโลกภายนอกจะเป็นเช่นไร

ที่สุดแล้ว งานนี้คือการแสดงให้เห็นว่าการเลี้ยงเด็กหนึ่งคนต้องใช้คนทั้งหมู่บ้านไม่ใช่เพียงแค่ความฝัน แต่เป็นสิ่งที่ทำได้จริง และชุมชนทุกแห่งมีศักยภาพที่จะดูแลลูกหลานของตนเองได้ หากทุกฝ่ายร่วมมือและเข้าใจหัวใจที่แท้จริงของคำว่า “ชุมชน”

หลังจากได้ร่วมงานนี้ สิ่งที่ Mappa อยากฝากไว้คือ คำขอบคุณ ชาวพะเยาทุกท่าน ที่พิสูจน์ให้เราเห็นว่า คนธรรมดาๆ สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ธรรมดาได้ และที่สำคัญคือ “เลี้ยงเด็ก หนึ่งคน ใช้คนทั้งหมู่บ้าน” ไม่ใช่แค่ความฝัน แต่เป็นสิ่งที่ทำได้จริง

ขอบคุณโครงการครอบครัวยิ้ม อาสาสมัคร ที่ทำหน้าที่นี้ โดยความเชื่อว่าเด็กทุกคนสมควรได้รับการดูแล ได้รับการมองเห็น ได้รับความรัก และทำให้เราที่เป็นผู้ไปเยือนได้เห็นว่า “ยังมีคนที่ไม่ยอมให้เด็กโตลำพัง”

และขอบคุณที่แสดงให้โลกเห็นว่า คำตอบที่แท้จริงอยู่ที่เรา อยู่ที่ชุมชน อยู่ที่ “เราไม่ทิ้งกัน”

เพราะในท้ายที่สุด สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากพะเยาคือ บ้านที่ยิ้มได้ คือบ้านที่มีคนคอยห่วงใย มีคนคอยดูแลกัน และมีคนที่พร้อมจะยื่นมือออกมาเมื่อใครต้องการความช่วยเหลือ

นั่นคือของขวัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ชาวบ้านพะเยาได้มอบให้กับบ้านใหญ่ คือประเทศไทย  ความหวังที่ว่าเราไม่ต้องทิ้งใครไว้ข้างหลัง


Writer

Avatar photo

กองบรรณาธิการ Mappa

Illustrator

Avatar photo

Arunnoon

มนุษย์อินโทรเวิร์ตที่อยากสื่อสารและเชื่อมโยงกับผู้คนผ่านภาพวาด

Related Posts