คุยกับ ‘สนัด-ณัฐพงษ์ โสธรวัฒนา’ กระบวนกรแห่ง Muchimore ที่ถนัดในการชวนคนมา ‘คุยกับตัวเอง’

“ขอบคุณครับที่มาชวนคุย เป็นคนชอบคุยครับ” ‘สนัด-ณัฐพงษ์ โสธรวัฒนา’ บอกกับเราหลังจากจบบทสนทนา            แต่คำว่า ‘คุย’ ของผู้ชายคนนี้ไม่ได้หมายถึงการพูดคุยระหว่างบุคคลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการคุยกับตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาทำมาตั้งแต่ยังเด็ก

การคุย การคิด การตั้งคำถามกับตัวเองคือวิธีที่สนัดใช้หาคำตอบกับหลาย ๆ คำถามที่เกิดขึ้นในความรู้สึกและชีวิตของเขา และเป็นวิธีที่เขานำมาใช้เป็นหลักเมื่อก่อตั้ง Muchimore Balance House พื้นที่ที่เปิดโอกาสให้คนอื่น ๆ ให้เข้าถึงการพูดคุยกับตัวเอง

ทุกวันนี้ เขายังคงคุยกับตัวเองอยู่เสมอ พร้อมกับถ่ายทอดวิธีการคุยแบบนี้ให้กับอีกหลาย ๆ คนที่เดินทางมาที่นี่ เพื่อผลสุดท้ายในการค้นพบวิธีการดูแลจิตใจด้วยตัวเองที่ผลลัพธ์อาจแตกต่างไปในแต่ละคน

อดีต ‘เด็กเหม่อ’ ในสมุดพก

             “จำได้ว่าเป็นคนชอบคุยกับตัวเองตั้งแต่เด็กแล้ว น่าจะตั้งแต่ ป.1 – ป.2 เรียกว่าเป็นเด็กเหม่อก็ได้ จำภาพได้เลยว่าเป็นห้องเรียน แล้วเราก็นั่งกลาง ๆ เยื้องไปทางเกือบริมห้องหน่อย ตรงริมห้องมีหน้าต่าง เราก็จะมองออกไป จนคุณครูสังเกตแล้วเอามาเขียนในสมุดพกว่า ชอบเหม่อ ชอบมองออกไปนอกหน้าต่าง

             “จริง ๆ ช่วงเวลานั้นมันเหมือนเรามีบทสนทนากับตัวเองร้อยแปดพันเก้าเรื่องเลย อย่างถ้าในชีวิตประจำวันก็จะเป็นคำถามว่า ทำไมเพื่อนคนนั้นต้องโกรธด้วยนะ เขาใจเย็น ๆ ได้ไหม หรือทำไมเพื่อนคนนี้เขาเก่งเรื่องนี้ หรือเขาไม่เก่งเรื่องนี้แต่ไปเก่งอีกเรื่องนี้ ไปจนถึงคำถามแบบที่หลาย ๆ คนอาจจะเคยมีคำถามในชีวิตคล้าย ๆ กันว่า เราเกิดมาทำไม แต่ว่าไม่ใช่คิดกับตัวเองจนไม่เล่นกับเพื่อนนะ ก็เล่นตามปกติ เพียงแต่มันจะมีบางจังหวะที่เราอยู่คนเดียว หรือไม่ได้อยู่คนเดียวหรอก แต่เหมือนเราอยู่ในหัวตัวเอง

“เวลาคิดก็ไม่ได้ไปถามใครนะ ไม่ได้ไปหาคำตอบกับใคร เหมือนเราถามตัวเองแล้วก็ลองพยายายามหาคำตอบให้ตัวเอง มันเลยทำให้เราได้คิด ได้คุยกับตัวเองเยอะ แล้วที่เราคิดว่าตอบได้ จริง ๆ มันอาจจะไม่ได้ถูกก็ได้ แต่เรารู้สึกว่าการที่ได้อยู่กับตัวเองเยอะ คุยกับตัวเองบ่อย ๆ มันได้คำตอบอะไรเยอะดีนะ ก็เลยมองว่ามันมีประโยชน์และใช้วิธีนั้นในการหาคำตอบมาตลอด”

พื้นที่ที่ได้อยู่กับตัวเองและอยู่กับคนอื่นไปพร้อมกัน

             ก่อนจะมาเป็น Muchimore สนัดผ่านการลองผิดลองถูกมาหลายอย่าง ทั้งในแง่ของประสบการณ์การเรียน การทำงาน และวิธีการที่ใช้ที่นี่

             เขาเคยอยากเรียนจิตวิทยา ก่อนจะเปลี่ยนไปเรียนบริหารธุรกิจ แล้วจบมาทำงานเอเจนซี ออกแบบอีเวนต์และนิทรรศการ เปิดบริษัทของตัวเอง ทำงานเกี่ยวกับดีไซเนอร์ รวมถึงลองไปเมืองจีนอยู่ครึ่งปี

             “เราลองทำมาหลายอย่างจนถึงจุดที่มานั่งทบทวนตัวเองว่า ทั้งหมดที่เราทำมา มันใช่ชีวิตของเราเองจริง ๆ หรือเปล่า คราวนี้เลยให้เวลาตัวเองยาว ๆ เลย ค้นหาตัวเองสักพัก เรียกว่าลอสต์ไปสักพักหนึ่ง จนค่อย ๆ กลับมาใช้วิธีถามตัวเองเรื่อย ๆ ว่า สุดท้ายแล้วอะไรที่เราจะอยู่กับมันได้ทั้งชีวิตจริง ๆ อะไรที่เราจะอยู่กับมันได้โดยที่ไม่เบื่อเลย คำตอบที่ได้ก็คือไอ้การเป็นเด็กเหม่อนี่แหละที่เราอยู่กับมันแล้วเราแฮปปี้ ได้ใช้เวลากับตัวเอง ได้คำตอบนู่นนี่

             “พอคิดได้แล้วเราก็มองต่อว่า เราจะทำเป็นอาชีพได้ไหม แล้วเลยเริ่มเห็นว่า คนวัยทำงานที่เขาทำงานเหนื่อย ๆ เวลาเขาพักผ่อน บางคนก็ดูหนัง ร้องคาราโอเกะ กินบุฟเฟต์ แต่มีอยู่ทางหนึ่งที่เราสนใจมากเลยก็คือเวิร์กช็อป คนอื่นอาจจะไปเขียน Calligraphy ไปปั้นเซรามิกกัน แต่ถ้าเราทำเวิร์กช็อปเกี่ยวกับจิตใจโดยเฉพาะซึ่งเป็นเรื่องที่เราสนใจ ชวนคนมาเข้าใจเรื่องสติ สมาธิ การคุยกับตัวเอง การตระหนักรู้ตัว

             “กิจกรรมแรกสุดเลยชื่อ Mute Hour ตั้งใจว่าจะให้คนมานั่งเงียบ ๆ อยู่ด้วยกัน 2 ชั่วโมง ตอนนั้นใช้คาเฟ่ของเพื่อนที่ชั้นบนเป็นแกลเลอรีเป็นที่จัดเวิร์กช็อป เราตั้งใจให้คนมานั่งเงียบ ๆ อยู่ด้วยกัน 2 ชั่วโมง มาถึงไม่ต้องแนะนำตัวอะไรทั้งนั้น ให้ดูศิลปะแล้วก็อยู่กันเงียบ ๆ

             “กิจกรรมที่ 2 นี่ก็ทดลองเหมือนกัน คนที่สมัครเข้ามาเขาก็แนวทดลองเหมือนกัน เขาอยากรู้ว่ากิจกรรมอะไร ช่วงนั้นเรายังไม่ได้เก็บเงินนะ กิจกรรมนี้เราให้คนที่ไม่รู้จักกันเลยนั่งตรงข้ามกัน เป็นเก้าอี้เรียงกันเป็นสองแถว แล้วบอกเขาว่าให้ใช้สายตาสื่อสารกัน ไม่ต้องพูด ไม่ต้องทำท่า ไม่ต้องทำอะไรทั้งนั้น ผลลัพธ์ที่ได้จากกิจกรรมนั้นมันเซอร์ไพรส์มาก แล้วก็ทำให้เรารู้สึกว่า เราทำสิ่งนี้ได้

             “ที่บอกว่าเซอร์ไพรส์เพราะบางคู่นั่งจ้องตากัน แล้วเขาก็น้ำตาไหลออกมา ยื่นมือออกมาจับกัน ทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้พูดอะไรออกมาเลย พอจบเซสชั่น เราก็ให้คนทำสมาธิแต่เป็นแบบอิสระ ให้อยู่กับตัวอย่างไรก็ได้ มีทั้งคนที่ไปยืนข้างหน้าต่าง บางคนนั่ง บางคนหลับ บางคนก็ลงไปนอน ตรงนี้ทำให้เราเข้าใจเพิ่มขึ้นว่า คำว่า สมาธิ หรือการอยู่ตัวเองของแต่ละคนมันไม่เหมือนกันเลยนะ

             “จนสุดท้ายที่เซอร์ไพรส์ที่สุดคือตอนที่บอกว่า ทุกคนครับ เราจบกิจกรรมแล้ว ทุกคนพูดได้เลยครับ คนที่ไม่รู้จักเลยและไม่ได้พูดกันมาก่อน อยู่ดี ๆ คุยกันได้อีกยาวเลย พอเราเห็นบรรยากาศนั้น เราลยตัดสินใจว่า เราจะทำอะไรแบบนี้แหละ สร้างพื้นที่ที่ให้คนได้อยู่กับตัวเอง พร้อม ๆ กันกับคนอื่น คืออยู่กับตัวเองไปด้วยและอยู่กับคนอื่นไปด้วย แล้วพอถึงจุดหนึ่งก็ได้แชร์ความรู้สึก แชร์ประสบการณ์กัน เรารู้สึกว่ามันเป็นบรรยากาศที่ดีมากเลย”

นักสร้างพื้นที่และ ‘กระบวนกร’ ที่ชวนคนมาสร้างบทสนทนากับตัวเอง

         “ตอนที่คิดว่าจะเริ่มทำที่นี่ตอนแรก เรายังไม่รู้ว่าจะเรียกตัวเองว่าอะไรด้วยซ้ำ แต่พอไปเรียนคอร์สผู้นำกระบวนทัศน์ใหม่ มันทำให้เรามั่นใจมากขึ้น แล้วก็รู้ว่าสิ่งที่เราทำ เราเรียกตัวเองว่า กระบวนกรหรือนักออกแบบกิจกรรม พอถึงจุดที่เริ่มมั่นใจในตัวเองมากขึ้น คราวนี้เราลุยเลย เริ่มออกแบบกิจกรรมขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอกหัก ความเศร้า การดูแลความโกรธ การดูแลอารมณ์ ก็ค่อย ๆ ทำมา จนสุดท้ายก็กลายเป็นเวิร์กช็อปที่น่าจะมีชื่อที่สุดของที่นี่ คือ Self-Dating Experience เป็นเวิร์กช็อปที่เรานำหลายที่เรียนรู้มาผสมรวมกันเป็นช่วงเวลาครึ่งวันที่พาคนมาคุยกับตัวเอง มาอยู่กับตัวเองจริง ๆ ลงลึกไปถึงจุดที่คนจะเรียกว่า ฉันเป็นตัวของตัวเองนะ

             “หลัก ๆ เราใช้คำว่า ‘คุยกับตัวเอง’ กิจกรรมนี้นาน 4 ชั่วโมง ซึ่งตลอดเวลาจะเป็นการคุยกับตัวเองทั้งหมดเลย อย่างแรกคือคุยผ่านร่างกาย อย่างเช่น ลองยกมือซ้ายขึ้นมา วันนี้เราอยากบอกอะไรกับมือซ้ายของเรา แล้วถ้ามือซ้ายของเราพูดได้ เขาจะตอบกลับมาว่าอะไร กระบวนการจะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่หัวจรดเท้า

             “กิจกรรมต่อไป เราจะฉายภาพที่เราเอาภาพถ่ายของเขามาทำเป็นภาพวาดการ์ตูน แล้วบอกว่านี่คือคู่เดทของคุณวันนี้นะ มาเดทกัน แล้วก็จะเป็นกระบวนการถามคำถาม ตอบคำถาม เป็นการคุยกับตัวเองอีกแบบหนึ่ง กิจกรรมอีกอย่างก็คือเปิดไพ่ที่เป็นการ์ดภาพ ให้เขาคุยกับตัวเองว่าเห็นไพ่ใบนี้แล้วรู้สึกอย่างไร เชื่อมโยงกับชีวิตอย่างไร เพราะอย่างที่เขาบอกกันว่า ภาพ 1 ภาพมีล้านความหมาย มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ แต่ละคนดูก็รู้สึกไม่เหมือนกัน หรือแม้แต่ตัวเราเอง ดูวันนี้กับอีก 1 เดือนข้างหน้าก็อาจจะเปลี่ยนความหมาย ไพ่แต่ละใบมันพาเขาไปได้ค่อนข้างลึก เรียกว่าให้ไพ่เข้ามาช่วยคุย ช่วยให้คนใคร่ครวญกับตัวเอง

             “ส่วนกิจกรรมที่ใช้เวลาน้อยกว่านั้นก็อย่าง Heart Review ที่เราให้เขามาทบทวนความรู้สึกตัวเองว่า หัวเราใจเรามันเป็นอย่างไรบ้างแล้วโดยใช้กระบวนการศิลปะเข้ามาช่วยและใช้การคุยประกอบ เอกลักษณ์ของที่นี่คือการคุย ให้คุยกับหัวใจตัวเอง

             “เราถือเป็นหน้าที่เราที่ต้องทำให้เขาเปิดใจกับตัวเองให้มากที่สุด หลาย ๆ คนอาจจะรู้สึกที่ทำไปแล้วเขาจะได้อะไรหรือเปล่า เพราะคนที่มาบางคนเขาไม่พูด แต่ว่าเราจะมีวิธีการจับสังเกตว่าสิ่งที่เราสื่อสารไปมันถึงเขาแล้วนะ โดยที่เขาอาจจะไม่ได้จำเป็นต้องพูดออกมา ณ ที่นี่ ณ เวลานั้นก็ได้ แต่ให้เขาได้รู้สิ่งนั้นกับตัวเอง แล้วเอาสิ่งนั้นกลับบ้านไปด้วย เท่านั้นก็พอแล้ว

             “แต่ในตัวกระบวนการ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ Safe Space เราต้องค่อย ๆ ทำให้เขารู้สึกว่าเขาปลอดภัยที่สุดและโอเคที่จะคุยกันกับเรา คุยกับตัวเองผ่านเราทีหนึ่ง วิธีหนึ่งคือการสร้างสถานที่ที่ทำให้เขารู้สึกแบบนั้นได้ เป็นที่ที่ทิ้งตัวได้น่ะ อย่างที่นี่เราจะไม่เก้าอี้กัน มาถึงให้นั่งพื้นก่อนเลย แล้วบรรยากาศต่าง ๆ หรือเฟอร์นิเจอร์ที่เราเลือกใช้ ก็เป็นไปในแนวทางนั้น

             “อีกอย่างหนึ่งคือเราให้เวลากับเขา ซึ่งเรื่องเวลาสำคัญมาก ๆ เราเลยพยายามจะออกแบบกิจกรรมที่เป็น 2 ชั่วโมง 4 ชั่วโมง หรือเต็มวัน จากนั้นก็มีเครื่องมือต่าง ๆ เข้ามาช่วย เพราะเครื่องมือเหล่านี้ก็ทำให้เขาได้พูดผ่านตัวละครบางอย่างแทนที่จะพูดตรง ๆ อย่างเช่นบางคนอาจจะไม่อยากพูดว่า ฉันทะเลาะกับแม่ตั้งแต่เด็ก แต่ถ้าบอกว่าตัวละครตัวใหญ่เป็นแม่ ตัวเล็กเป็นลูก แม่รู้สึกโกรธลูก แล้วลูกอยากตอบกลับไปว่าอย่างไร มันจะมีเครื่องมือหรือมีวิธีการที่ค่อย ๆ ช่วยให้เขาระบายออกมาได้”

คุยน้อย แต่ฟังมาก… อุปสรรคของการคุยกับตัวเอง

             “อุปสรรคในการคุยกับตัวเองของคนทั่วไปคือการคุยกับคนอื่น แต่จริง ๆ เราชอบใช้คำว่า ‘เสียง’ เพราะช่วงนี้เสียงข้างนอกมันอาจจะเยอะ เสียงข้างในมีอยู่แล้วแต่มันถูกกลบ เสียงข้างนอกนี่ไม่ใช่แค่เสียงหมาเห่าหรือเราคุยกันนะ แต่เสียงสังคมก็ใช่

             “แต่การคุยมันก็มีกรณีที่มากไปก็ไม่ดีนะ คือทุกอย่างมีความไม่สมดุล มีความมากไป เกินไปของมันอยู่ ถ้าคุยเยอะไปมันจะเหมือนวนอยู่ความคิด คิดมาก คิดเยอะ คิดวน คิดซ้ำ แต่อยากบอกว่าการคุยแบบนั้นไม่ใช่นิยามของคำว่า การคุยกับตัวเอง Muchimore อยู่ดี เพราะคุยตัวเองมันต้องหาบาลานซ์หรือความสมดุล ซึ่งมันต้องสอดคล้องกันทั้งความคิด จิตใจ และร่างกาย เวลาที่เราคุยกับตัวเองแล้วอยู่แต่กับความคิด จิตใจกับร่างกายหายไป เราได้รู้สึกถึงความรู้สึกของเราหรือเปล่า ร่างกายเราได้กระทำอะไรไหม ทุกอย่างมันต้องไปพร้อมกัน

             “เวลาพูดถึงคำว่า สมดุล ไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องมีจุดสมดุลเพียงจุดเดียว สมมติว่าถ้ามี 100 แต้ม สมดุลไม่ได้อยู่ที่ 50 ซึ่งเป็นตรงกลางแน่ ๆ และการอยู่ที่ 50 ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะแฮปปี้ตลอดไป เพราะธรรมดาของชีวิตแล้ว สมดุลมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ มันคือการที่เรารู้ตัวว่ามันเอียงไปทางไหน ต้องเดินกลับมาทางไหนมากกว่า เป็นการเดินไปเรื่อย ๆ อย่างรู้ตัว

             “หลัง ๆ เราเลยจะเน้นคำหลัก ๆ 3 คำ คือ Awareness Balance และ Authentic คือการตระหนักรู้ ความสมดุลก็ยังอยู่นะ แล้วก็ต้องมีความจริงแท้กับตัวเองด้วย

             “อย่างความจริงแท้กับตัวเอง เท่าที่สังเกต เรามองว่าหลายคนกำลังพยายามหามันอยู่ อย่างตั้งแต่ Gen Y ขึ้นมา มันจะมีคำว่า ค้นหาตัวเองสิ เป็นตัวของตัวเองนะ คำว่าค้นหาตัวเองนี่ชัดเจนมากเลย ทุกคนพยายามจะแสดงมันออกมา ทีนี้พอภาพของการเป็นตัวของตัวเองมันคือควมมั่นใจ คุณต้องแต่งตัวอย่างมั่นใจ คุณต้องทำนู่นทำนี่อย่างมั่นใจ บางทีมันอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์สำหรับทุกคนนะ

“การเป็นตัวของตัวเองจริง ๆ ของบางคนอาจจะไม่ได้ต้องตะโกนขนาดนั้นว่า เฮ้ย ฉันเป็นสิ่งนี้ ก็เลยกลับมาที่เรื่องภายในอีกทีหนึ่งว่า จริง ๆ ตอนนี้แต่ละคนอาจจะกำลังตามหาอยู่ แต่ตามหาผิดจุด เขากำลังตามหาข้างนอกกันอยู่ว่า ไอ้สิ่งที่ว่าเป็นตัวของตัวเองนี่เป็นอย่างไร แต่ว่าหาเท่าไหร่ก็อาจจะหาไม่เจอสักทีเพราะว่าสุดท้ายแล้วคำตอบมันอยู่ข้างใน ก็เป็นอีกงานหนึ่งที่เราทำ ให้คนกลับมาอยู่ข้างใน เห็นตัวเองข้างในจริง ๆ ว่า ความจริงแท้ของเรามันคืออะไร

“ถามว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าเจอความจริงแท้ของตัวเองเองแล้ว มันเป็นความรู้สึก ทุกคนจะมีความรู้สึกของตัวเองว่าสิ่งนี้คือใช่แหละ ซึ่งผมว่าส่วนใหญ่มันจะเป็นนามธรรม เป็นคุณค่า เช่น ฉันชอบช่วยเหลือผู้อื่น ฉันชอบความเสี่ยง ความสนุก แล้วถึงค่อยแปลงสิ่งนั้นออกมาเป็นรูปธรรม”

Muchimore สเปซที่เยียวยาตัวเองและคนอื่น ๆ ไปพร้อมกัน

         “คำว่า ‘สเปซ’ สำคัญมากในความคิดเรา ความเห็นส่วนตัวคือมันควรจะมีพื้นที่แบบนี้เยอะ ๆ เลย เพราะอย่างที่นี่ก็มีคนจากหลายที่มาก ๆ บางคนบ้านอยู่ไกลมาก มาจากต่างจังหวัดเพื่อมาร่วมเวิร์กช็อปโดยเฉพาะก็มี เพราะฉะนั้นจริง ๆ มันควรจะมีทั่วประเทศเลยด้วยซ้ำ อันนี้คือพูดถึงสเปซในแง่ Physical Space นะ

             “แต่ว่าสเปซจริง ๆ ที่สำคัญคือทางนามธรรม สเปซทางจิตใจที่เราทุกควรจะให้กับมันตัวเอง มีเวลาให้ตัวเองไหม แค่วันละ 10 – 15 นาทีก็ได้ หรืออีกแบบหนึ่งคือคนรอบข้าง ถ้าเราสามารถเป็นพื้นที่ให้กับคนรอบข้างได้ พื้นที่นี้อาจจะไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่ากับคนรอบข้างรับฟังกันด้วยซ้ำ แต่บางทีพอเป็นคนใกล้ตัว แต่ละคนก็จะมีเรื่องของตัวเอง ทำให้อาจจะไม่ได้มีใครฟังใครขนาดนั้น ก็เลยต้องอาศัยพื้นที่อย่าง Muchimore เป็นสเปซตรงกลาง

             “แต่ก่อนถ้ามีคนมาถามตอนแรก ๆ ว่า เปิดพื้นที่อย่าง Muchimore ขึ้นมาทำไม คำตอบที่ได้มันอาจจะเป็นคำตอบหล่อ ๆ อย่างฉันอยากช่วยเหลือคน ทำให้คนได้กลับมาดูแลจิตใจตัวเอง แต่ทุกวันนี้เราตอบได้ว่ามันเพื่อตัวเราเองด้วยและมีความคิดถึงคนอื่นด้วย

“ที่ตอบแบบนั้นเพราะว่าสุดท้ายแล้วคนที่ทุกข์และอยากออกจากทุกข์มากที่สุดก็คือเริ่มจากเราก่อน เราถึงได้พยายามหาวิธีการอะไรก็ได้ที่ทำให้ตัวเราได้ผ่อนคลายความทุกข์ลงไปบ้าง พอเราเจอวิธีนี้ เราก็แชร์ออกไป เพราะฉะนั้นถ้าถามว่า Muchimore ให้อะไรเรา ตอบเลยว่า ที่นี่เยียวยาตัวเราเยอะมากและคนที่มาที่นี่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นผู้เข้าร่วมกิจกรรม คนที่มาทำงานร่วมกัน หรือแม้แต่คนที่มาใช้สถานที่ เรารู้สึกแต่ละคนมีการส่งผ่านพลังงานความคิด ความรู้สึกอะไรบางอย่างที่มันมีประโยชน์ต่อเราเสมอเลย

“เรามักจะบอกกับหลาย ๆ คนว่า นี่คือสิ่งที่ใช่ในชีวิตแล้ว นี่คือความสุข นี่คือสิ่งที่เราอยู่กับมันได้ตลอดชีพ พูดออกไปอาจจะฟังดูน่าหมั่นไส้ แต่เราก็ถือว่าเราค้นหาตัวเองมานานหลายปีกว่าจะได้เจออะไรแบบนี้ พอได้เจอแล้วก็ทำมาเรื่อย ๆ รู้สึกอีกทีมันเหมือนก้าวเลยไปอีกขั้น ก้าวเลยความสุขไปอีกน่ะ มันคือชีวิตที่สุดท้ายแล้วไม่ได้แค่ความสุข แต่เรารู้สึกว่าว่าตัวเองโฟลว์ไปกับสิ่งนี้ เป็นหนึ่งในชีวิตเรา มีทั้งสุขทั้งทุกข์ ทั้งขึ้นและลง

“อีกสิ่งที่มองว่าสำคัญคือเรื่อง Mindset ด้วย เพราะจริง ๆ แล้วทุกคนอยู่ในกฎธรรมชาติเดียวกัน ทุกคนมีทุกข์ และสุดท้ายของสุดท้ายแล้วจริง ๆ ทุกคนต้องดูแลตัวเอง บางทีมันฟังดูโหดร้ายนะ แต่มันคือความจริง สิ่งที่เราทำคือช่วยเสริมพลังให้เขาว่า คุณควรดูแลตัวเองจริง ๆ และดูแลอย่างไร”


Writer

Avatar photo

พนิชา อิ่มสมบูรณ์

นักเขียนที่ชอบบอกทุกคนอย่างภูมิใจว่าเคยเป็นครูอนุบาลและยังชอบเล่นกับเด็กๆ อยู่ แต่ชอบคุยกับคนทุกวัยผ่านงานสัมภาษณ์ ส่วนชีวิตอีกด้านเป็นโอตาคุกีฬาโอลิมปิกและการ์ตูนญี่ปุ่น

Photographer

Avatar photo

ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts