เคยสงสัยไหมว่า ทำไมเรื่องราวต่างๆ จึงสะกดเด็กๆ ให้อยู่นิ่งราวกับต้องมนต์ ไม่ว่าจะเป็นนิทานก่อนนอน หรือเรื่องเล่าอันน่าตื่นเต้น ทั้งสองเป็นกิจกรรมที่อยู่คู่กับเด็กทุกยุคสมัย เมื่อใดก็ตามที่พ่อแม่นั่งลงข้างๆ ลูก ไม่ว่าจะอ่านหนังสือนิทาน หรือเล่าเรื่องปากเปล่า เด็กๆ ก็พร้อมจะรับพลังที่ส่งผ่านจากเรื่องราวเหล่านั้นได้โดยทันที
ลองจินตนาการถึงค่ำคืนเงียบสงบ คุณแม่หยิบหนังสือนิทานเล่มโปรดมาอ่านให้ลูกฟัง ขณะที่อีกครอบครัวหนึ่ง คุณพ่อเลือกที่จะเล่าเรื่องการผจญภัยจากประสบการณ์ของเขาเอง ทั้งสองกิจกรรมนี้ดูเหมือนจะคล้ายกัน แต่จริงๆ แล้ว ‘การเล่าเรื่อง’ และ ‘การอ่านนิทาน’= นั้น ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กในรูปแบบที่ต่างกัน
บทความนี้จะพาไปสำรวจว่าเรื่องเล่า และ การอ่านหนังสือภาพสำหรับเด็กว่ามีบทบาทต่อการเติบโตของเด็กๆ ในแง่ใดบ้าง และพ่อแม่จะใช้ประโยชน์จากสองกิจกรรมนี้ได้อย่างไร
Storytelling เมื่อผู้เล่ากับผู้ฟัง ผูกพันผ่านเรื่องราว
ทุกคนล้วนมีทักษะการเล่าเรื่องอยู่ในตัวไม่มากก็น้อย เพราะการเล่าเรื่องถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่คนเราใช้แลกเปลี่ยน แบ่งปันประสบการณ์ เมื่อใดก็ตามที่เราใช้น้ำเสียง และสีหน้าท่าทางเพื่อสื่อสารให้อีกฝ่ายสามารถจินตนาการตามเรื่องราวที่เล่าได้ นั่นหมายความว่าเรากำลังใช้ทักษะการเล่าเรื่อง (Storytelling) ซึ่งเป็นทักษะที่อยู่กับมนุษย์มาอย่างยาวนาน
ในการเล่าเรื่อง อย่างน้อยๆ จะต้องมีผู้ที่เกี่ยวข้อง 2 คน นั่นคือ ผู้เล่า และ ผู้ฟัง บางครั้งผู้ฟังอาจมีมากกว่าหนึ่ง ซึ่งเสน่ห์ของเรื่องเล่าที่ถ่ายทอดจากตัวผู้เล่าเอง ก็คือ แม้ผู้ฟังจะฟังเรื่องเล่าเดียวกัน แต่ภาพที่เกิดขึ้นในความคิดของผู้ฟังจะแตกต่างกัน เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากจินตนาการของแต่ละคน ซึ่งการจินตนาการภาพขึ้นมาจากสิ่งที่ฟังนั้น จำเป็นต้องมีประสบการณ์ระดับหนึ่งเพื่อให้นึกภาพตามเรื่องเล่าได้ ดังนั้น เด็กเล็กจึงอาจไม่อินกับการเล่าเรื่องปากเปล่าเท่ากับเด็กวัยเรียน ที่พอมีภาพจำสิ่งต่างๆ รอบตัว พอที่จะสามารถจินตนาการถึงสิ่งที่ฟังให้เป็นภาพประกอบได้
เรื่องเล่าจึงมีเสน่ห์ ตรงที่ภาพประกอบของแต่ละคนจะต่างไปตามจินตนาการของผู้ฟัง นอกจากนี้ การเล่าเรื่องยังสร้างความเชื่อมโยงทางอารมณ์ระหว่างผู้เล่าและผู้ฟังด้วย
ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่องจากปากแม่ถึงลูกในช่วงก่อนนอน การแลกเปลี่ยนเรื่องราวในครอบครัว หรือแม้กระทั่งการเล่าเรื่องในวงสนทนากับเพื่อนๆ ความผูกพันเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นผ่านการฟังและการตอบสนองต่อเรื่องราวที่ถ่ายทอด การเล่าเรื่องจึงไม่ใช่เพียงการสื่อสารข้อมูล แต่เป็นการแบ่งปันอารมณ์ ความรู้สึก และประสบการณ์ที่อยู่ในใจ ซึ่งช่วยสร้างความใกล้ชิดและความเข้าใจกันมากยิ่งขึ้น
ขณะที่ลูกเริ่มเติบโตไปมีสังคมของตัวเอง การเล่าเรื่องอาจกลายเป็นเครื่องมือสร้างสายสัมพันธ์ ผ่านการแบ่งปันประสบการณ์ที่แต่ละคนพบเจอ
ตกเย็นที่สมาชิกในครอบครัวกลับมาพบกัน เรื่องเล่าของแต่ละคน สามารถเชื่อมโยงสมาชิกในครอบครัวเข้าไว้ด้วยกัน เด็กๆ แบ่งปันประสบการณ์จากโรงเรียน พ่อแม่เล่าปัญหา ความท้าทาย ความสำเร็จ ที่เกิดขึ้นจากการทำงาน เรื่องเล่าทำหน้าที่เป็นสายสัมพันธ์ของครอบครัวโดยที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ตัว
นอกจานี้ การเล่าเรื่องยังเสริมพัฒนาการทางภาษาและทักษะการสื่อสาร รวมทั้งส่งเสริมการคิดเชิงเหตุผล และการแก้ปัญหาผ่านการวิเคราะห์เรื่องราวในแบบของตัวเอง ยิ่งผู้เล่ามีทักษะการเล่าเรื่อง เช่น การเปลี่ยนน้ำเสียง สีหน้า หรือท่าทาง ก็ยิ่งช่วยดึงดูดความสนใจของเด็กๆ
เรื่องเล่าจึงไม่เพียงเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงครอบครัวไว้ด้วยกัน แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาเด็กหลายๆ ด้านหากนำมาใช้ให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละวัย
Story Reading ให้นิทานเป็นสื่อกลางระหว่างใจ
สำหรับเด็กๆ ที่ยังไม่มีประสบการณ์ในโลกใบใหญ่มากนัก เรื่องเล่า ที่มีหนังสือภาพสำหรับเด็กเป็นสื่อกลาง ช่วยให้เด็กๆ เข้าใจเรื่องราวได้ง่ายขึ้น เพราะมีภาพประกอบที่ปรากฏบนหน้ากระดาษ การอ่านนิทาน จึงต่างจากเรื่องเล่าปากเปล่า ที่ผู้ฟังแต่ละคนต้องใช้จินตนาการของตนเอง
การอ่านนิทานผ่านหนังสือ (Story Reading) โดยเฉพาะการอ่านจนจบเล่ม จึงเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวจากตัวอักษรสู่จินตนาการของเด็กๆ ผ่านเสียงของผู้เล่าและภาพที่อยู่ในหนังสือ ทำให้นิทานเป็นกิจกรรมที่เหมาะกับเด็กทุกวัย แม้กระทั่งทารก เพราะเด็กๆ ไม่จำเป็นต้องมีพื้นความรู้ (Background Knowledge) ก็เข้าใจเรื่องราวได้ง่ายๆ ผ่านภาพประกอบ
หนังสือนิทาน ยังทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างผู้เล่ากับผู้ฟัง ที่ทำให้ผู้เล่าและเด็กๆ มองเห็นภาพเดียวกัน และแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกันได้ ภาพประกอบเนื้อหา ทำให้พวกเขาสามารถเชื่อมโยงความคิดและจินตนาการของตัวเองเข้ากับภาพและคำบรรยายในหนังสือ ซึ่งไม่เพียงก่อให้เกิดสายสัมพันธ์ระหว่างผู้เล่าและผู้ฟัง แต่ยังเป็นการปูพื้นความรู้เกี่ยวกับโลกใบใหญ่ให้กับเด็กๆ ไปพร้อมกันด้วย
หากจะบอกว่าการอ่านนิทานให้ลูกฟังเป็นสื่อกลางที่เชื่อมโยงจิตใจระหว่างพ่อแม่ในฐานะผู้อ่าน กับลูกในฐานะผู้ฟัง ก็คงไม่ผิดนัก เพราะช่วงเวลาที่พ่อแม่และลูกได้อยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิด โดยมีนิทานเป็นสื่อ เสียงอ่านที่นุ่มนวลของพ่อแม่ เสียงหัวเราะหรือความตื่นเต้นในขณะที่อ่านเรื่อง ทำให้เกิดการเชื่อมโยงทางอารมณ์ที่ลึกซึ้ง ลูกได้รับสัมผัสถึงความรักและความห่วงใยจากพ่อแม่ เมื่อพ่อแม่กอดลูกไว้อย่างอ่อนโยนและอ่านนิทานให้ฟัง นั่นคือการส่งผ่านความอบอุ่นจากใจสู่ใจ ทำให้ลูกได้รู้สึกถึงความปลอดภัยและความรัก
การอ่านนิทานที่ดีจึงไม่ควรเป็นแค่การอ่านเรื่องตามตัวอักษรเท่านั้น แต่ควรแบ่งปันประสบการณ์ผ่านเรื่องราวแต่ละหน้า ต่อยอดความคิดและจินตนาการของเด็กๆ ด้วยการตั้งคำถาม เช่น ขณะที่พ่อแม่อ่านนิทานที่ตัวละครต้องแก้ปัญหาบางอย่าง อาจตั้งคำถามว่าถ้าเป็นลูกจะแก้ปัญหาอย่างไร จะทำแบบตัวละคร หรือมีทางเลือกอื่น
บ่อยครั้งการอ่านนิทาน ก็เป็นการจุดประกายความสงสัยใคร่รู้ในตัวเด็กๆ เช่น เมื่อพ่อแม่อ่านเรื่องที่ตัวละครมีความกล้าหาญ ลูกอาจถามว่าทำไมตัวละครถึงทำสิ่งที่ยากได้ พ่อแม่สามารถใช้โอกาสนี้ ‘เล่าเรื่อง’ จากประสบการณ์จริง เพื่อสร้างบทสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความกล้าหาญ ซึ่งบางครั้งโอกาสแบบนี้ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในชีะจำวัน เรื่องราวในนิทานจึงจำลองสถานการณ์ต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้พ่อแม่ลูกได้แบ่งปันประสบการณ์และความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เป็นโอกาสที่พ่อแม่จะได้สอนทักษะต่างๆ ที่จำเป็นในชีวิตให้กับลูกได้
สร้างเด็กรักการอ่านผ่าน เรื่องเล่า และ การอ่านนิทาน
การเล่าเรื่องและการอ่านนิทานช่วยกระตุ้นจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ส่งเสริมให้เด็กรักการอ่าน เพราะเมื่อเด็กได้ฟังเรื่องราวที่น่าสนใจ พวกเขาจะรู้สึกสนุกและอยากค้นพบเรื่องราวใหม่ๆ มากขึ้น ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการอ่านหนังสือด้วยตัวเอง นอกจากนี้ การเล่าเรื่องและการอ่านนิทานยังสร้างประสบการณ์เชิงบวกให้กับเด็กผ่านความใกล้ชิดกับพ่อแม่ ทำให้พวกเขารู้สึกผูกพันกับหนังสือและการอ่าน
การฟังนิทานยังช่วยพัฒนาทักษะการฟังและการคิดอย่างมีเหตุผล เพิ่มพูนคำศัพท์และความรู้เกี่ยวกับภาษา เด็กๆ จะเรียนรู้การวิเคราะห์เรื่องราวและเชื่อมโยงความคิด ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการอ่านและการเรียนรู้ในอนาคต เรื่องราวที่สอดแทรกคุณค่าหรือการแก้ปัญหายัง เปรียบเหมือนบทเรียนชีวิตที่เตรียมพร้อมให้เด็กเข้าใจโลกและสังคมมากขึ้น ทั้งยังสร้างแรงบันดาลใจสู่การรักการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าเรื่องเล่า หรือ การอ่านนิทาน ต่างทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างผู้เล่าและผู้ฟัง เมื่อเลือกใช้ให้เหมาะกับวัย ย่อมเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียนรู้โลกกว้างผ่านประสบการณ์ที่หลากหลาย เสริมสร้างพัฒนาการทางภาษา การคิดวิเคราะห์ และเข้าอกเข้าใจความรู้สึกของคนรอบข้าง ในขณะเดียวกันก็เป็นกิจกรรมที่สร้างสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและอบอุ่นระหว่างพ่อแม่และลูก นำไปสู่นิสัยรักการอ่านที่ตัวเด็กๆ ไปจนโตได้
อ้างอิง :
https://files.eric.ed.gov/fulltext/ED488942.pdf
https://blog.lboro.ac.uk/research/communication-culture-citizenship/children-learning-storytelling/