หล้า-สุชาดา อินต๊ะ : จิตอาสาผู้ใช้ทุนหัวใจสร้างพื้นที่ปลอดภัยรองรับเด็กมากว่า 19 ปี

บ้านครึ่งไม้ผสมปูนชั้นเดียวขนาดกะทัดรัดหลังนี้เป็นบ้านของ ‘หล้า’

มันตั้งอยู่ถัดเข้ามาจากถนนสายหลักที่มุ่งหน้าสู่ตัวอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ไม่กี่สิบเมตร

ในภาษาถิ่นเหนือคำว่า ‘หล้า’ หมายถึง ‘ลูกคนเล็ก’

เราจึงพอเข้าใจได้ที่จะมีสมาชิกอยู่ร่วมชายคาถึง 8 คน แต่ถ้านับกันให้ครบตามจริง ทุกวันนี้เธอยังมีสมาชิกรุ่นราวคราวลูกและหลานอีกจำนวนเกือบสองโหลที่แวะเวียนมาใช้ชีวิต กิน เล่น และเรียนรู้อยู่ที่นี่ราวกับเป็นบ้านหลังที่สอง

นั่นเป็นเพราะ หล้า-สุชาดา อินต๊ะ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) เทศบาลตำบลจอมแจ้ง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ได้ตั้งใจเปิดบ้านพักส่วนตัวเป็นกึ่งส่วนรวมเพื่อสร้าง ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ให้เด็กและเยาวชนที่มีภาวะยากลำบากในพื้นที่ ได้มาพึ่งพาอาศัย คลายปมในใจ รวมทั้งในชีวิตจริง

ซึ่งเธอทำมันมานานกว่า 19 ปีแล้ว

เปิดบ้านฮีลใจ

“เริ่มมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ สมัยก่อนชาวบ้านละแวกนี้เวลามีปัญหาทะเลาะเบาะแว้ง หาข้อตกลงกันไม่ได้ก็มักจะมาเคลียร์ที่นี่ เพราะพ่อเราเป็นหัวหน้าสถานีโรงบ่มใบยาสูบ ผู้คนค่อนข้างนับหน้าถือตา ประกอบกับพี่ชายก็เป็นทนายความจึงช่วยไกล่เกลี่ยปัญหาต่างๆ ให้จบได้ บ้านเราเลยเป็นกลายพื้นที่ที่มีผู้คนหมุนเวียนเข้าออกอยู่ตลอด จนมีคนแซวขำๆ ว่าลูกผัวใครหายมาตามได้บ้านนี้” หล้าเล่ากลั้วเสียงหัวเราะ

ขณะเดียวกันก็ทำให้เราพอจะปะติดปะต่อต้นตอของเส้นแบ่งความเป็นส่วนตัวและส่วนรวมที่ค่อยๆ พร่าเลือนอย่างเป็นธรรมชาติ

นอกจากเป็นที่พื้นเคลียร์ใจของผู้ใหญ่ พ่อของเธอยังชอบช่วยเหลือเด็กยากไร้หรืออุปการะเด็กที่พ่อแม่ไม่มีเวลาส่งเสียเลี้ยงดูในชุมชน สิ่งเหล่านี้บ่มเพาะและหล่อหลอมสมาชิกครอบครัวอินต๊ะทุกคน รวมถึงหล้าที่เลือกเส้นทางชีวิตจิตอาสา พร้อมรับไม้ต่อจากพ่อด้วยการเปิดบ้านเป็นพื้นที่ฮีลใจ ให้คำปรึกษา แก้ไขปัญหาและโอบอุ้มเด็กๆ ให้พวกเขาเติบโตเข้าหาแสง

เงื่อนปมจากผู้ใหญ่

“เราไม่เคยคิดว่าเป็นภาระนะ เพราะมองว่าเด็กเหล่านี้ก็เหมือนกับลูกหลาน ถ้าเขามีปัญหาแต่ไร้ที่พึ่งก็คงเคว้ง เราเลยพยายามสนับสนุนและสร้างพื้นที่ปลอดภัยขึ้นมา เพื่อให้เขาได้มีที่พึ่งพิง ตลอดจนมีอิสระที่จะคิด จะฝัน และเป็นตัวของตัวเอง” หล้าอธิบายแนวคิดของการเปิดบ้านรองรับเด็กและเยาวชน

โดยเด็กกลุ่มแรกที่เดินเข้ามา คือกลุ่มเพื่อนของ น้ำ-รพีพัฒน์ อินต๊ะ เด็กหนุ่มนิสัยเป็นกันเอง แม้ภายนอกออกจะพูดน้อยและดูขี้อาย ลูกชายคนเดียวของเธอ

“ผมสนิทกับแม่มากๆ จนแทบจะเป็นเพื่อนกันได้เลย เราคุยกันได้ทุกเรื่องแล้วเวลามีปัญหาผมก็มักจะได้รับคำแนะนำดีๆ

ที่ฟังแล้วรู้สึกสบายใจขึ้นจากแม่ ดังนั้นพอเห็นเพื่อนเครียดหรือรู้ว่าเขากำลังมีปัญหาบางอย่าง ผมเลยชวนเขามาคุยกับแม่ ซึ่งแม่ก็ช่วยแก้ปัญหาให้เพื่อนผมได้ทุกคน รวมๆ ตอนนี้ที่เคยพามาประมาณ 12 คน มีทั้งเพื่อนห้องเดียวกันแล้วก็รุ่นน้องด้วย” น้ำ

เล่าด้วยแววตาภาคภูมิใจ

จากวันแรกที่เป็นเพียงกลุ่มเพื่อนของลูกชาย ขยับขยายสู่กลุ่มเพื่อนของเพื่อน เพื่อนของรุ่นน้อง เรื่อยไปจนรุ่นน้องของเพื่อน กระทั่งบ้านของหล้ากลายเป็นที่พึ่งพาอาศัยของเด็กและเยาวชนในตำบลขี้เหล็กมาอย่างต่อเนื่อง

“เราเปิดบ้านลักษณะนี้มาโดยตลอด ก็จะมีเด็กทยอยเข้ามาเป็นรุ่นๆ ซึ่งปัญหาที่เจอส่วนมากก็คือปัญหาความยากจน ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และปัญหาช่องว่างระหว่างเด็กกับผู้ปกครอง ยกตัวอย่างเด็กรุ่นแรกๆ ก็จะมีเด็กผู้หญิงที่มีปัญหาท้องไม่พร้อม ซึ่งเราช่วยประสานให้ครอบครัวทั้งสองฝ่ายมาเจรจาตกลงกันเพื่อหาทางออกและแบ่งความรับผิดชอบเรื่องการเลี้ยงดูหลาน บางทีก็เข้ามาปรึกษาว่าจะทำอย่างไรให้ครอบครัวยอมรับเรื่องการเป็นเพศหลากหลาย เราก็พยายามช่วยเท่าที่ทำได้คือไปคุยปรับความเข้าใจกับผู้ปกครองเด็กและขออย่าสร้างแรงกดดันให้ลูก อย่าบังคับชีวิตลูกจนเกินไป ซึ่งระยะหลังเขาก็ผ่อนความเข้มงวดลงบ้าง แต่ที่มากสุดคือเด็กยากจนไม่มีเงินกินข้าว เสื้อผ้าและรองเท้าไม่มีใส่ เราจะใช้วิธีไปขอรับบริจาคเสื้อผ้ามือสอง ชุดนักเรียน ชุดลูกเสือ-เนตรนารี รวมถึงอุปกรณ์กีฬามาแจกให้กับเด็กกลุ่มนี้”

แม้จะผ่านมาหลายรุ่น แต่หล้าบอกกับเราว่า ปัญหาเด็กรุ่นไหนๆ ก็ไม่ได้ต่างกัน เพราะล้วนมีต้นตอจากความจน ค่านิยมเก่า และความคาดหวังของครอบครัว ซึ่งขอดเป็นปมในใจและส่งผลต่อพฤติกรรมด้านลบ สิ่งเหล่านี้ทำให้เธอชัดเจนว่าปัญหาเด็กและเยาวชนในสังคมล้วนมาจากปมที่ผู้ใหญ่เป็นคนสร้าง

กุญแจแห่งความลับ

“ทำไมถึงคิดแบบนั้นล่ะครับ” ผมหล่นถามเพราะยังไม่อาจคล้อยตามเต็มร้อย

“เรามองว่าถ้าเด็กไม่มีปัญหา เขาก็คงไม่สร้างปัญหา” 

เธอตอบตรงไปตรงมาแต่น่าคิด ก่อนเสริมต่อว่าเป็นเพราะส่วนมากผู้ใหญ่ต่างหากที่สร้างปัญหาให้เด็ก ซึ่งเหตุผลเดียวกันนี้เองที่ทำให้เด็กหลายคนที่มีปัญหาเลือกหันหลังให้กับครอบครัว

โรงเรียน หรือแม้แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีส่วนดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง

“หลักๆ คือการจับผิด ตีตรา และกล่าวหาตัดสินเด็กโดยที่ยังไม่ทันได้หามูลเหตุเท็จจริง ประเด็นดังกล่าวเป็นปัญหาที่ผู้ใหญ่สร้างและเด็กเป็นผู้ต้องแบกรับ พวกเขาจึงรู้สึกต่อต้าน บ้างรู้สึกเก็บกดจนเลือกเดินทางผิดและไม่กล้าพึ่งพิงสถาบันที่ควรเป็นที่พึ่งอันดับแรก”

หล้าบอกว่าโรงเรียนก็คล้ายกันอีก แทนที่เด็กจะได้รับการช่วยเหลือแก้ปัญหากลับกลายเป็นว่ามักโดนเรียกผู้ปกครองก่อน ซึ่งเด็กบางคนอาจยังไม่พร้อมให้ผู้ปกครองทราบ พวกเขาจึงกลัวที่จะปรึกษาปัญหากับทางโรงเรียน

“สำหรับที่นี่เราจะไม่ใช้วิธีการแบบนั้น แต่จะใช้การสังเกตพฤติกรรมและจำนิสัยของเด็ก อย่างบางคนปกติเป็นคนร่าเริงแจ่มใส จู่ๆ เงียบขรึม นั่งเล่นเกมคนเดียวไม่อยากสุงสิงกับใคร เราก็จะพยายามเข้าไปไถ่ถาม กินอะไรมาหรือยัง อยากกินอะไรไหม

บางครั้งก็เกริ่นไปว่าวันนี้ใครมีอะไรมาปรึกษาแม่บ้าง พูดกับแม่ได้นะเดี๋ยวช่วยแก้ปัญหา คำพูดพวกนี้เราจะใช้ถามเด็กอยู่บ่อยๆ หรือเด็กบางคนเดินเข้าบ้านมาไม่พูดไม่จา แค่เห็นหน้าเราก็ร้องไห้ เราก็จะโอบกอด ปลอบโยน และบอกเขาว่าอย่าไปคิดว่าตัวคนเดียวเพราะยังมีแม่อยู่ตรงนี้เสมอ”

อีกประการสำคัญที่ทำให้เด็กๆ กล้าคลี่คลายปมในใจให้เธอรับรู้และถือเป็นกุญแจดอกสำคัญของพื้นที่ปลอดภัยแห่งนี้ คือ ‘การรักษาความลับ’

“สิ่งที่ทำให้เด็กกล้าเปิดเผยกับเรา คือความเชื่อมั่นว่าปัญหาของเขาจะไม่แพร่งพรายไปไหน เพราะทุกปัญหาของเด็กที่เข้ามาที่นี่จะถูกเก็บเป็นความลับทั้งหมด ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลหรือเซ็นเอกสารใดๆ ขอแค่ใจพร้อมก็เข้ามา ซึ่งก็เชื่อมโยงกับเหตุผลว่าทำไมเราจึงไม่ขยายเครือข่ายหรือรับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ เพราะการไปพึ่งพาหน่วยงานหรือองค์กรส่วนมากจะมีเรื่องเอกสารเข้ามาเกี่ยวข้อง ความลับรวมทั้งข้อมูลของเด็กจะต้องถูกส่งออกไปข้างนอก นั่นทำให้เขาหมดความเชื่อมั่นและไว้ใจเราทันที”

ตลอดเวลาเกือบสองทศวรรษที่คอยประคับประคองเด็กๆ ทำให้หล้าเรียนรู้ว่า ‘การรักษาความลับ’ เท่ากับ ‘การรักษาความไว้วางใจ’

ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้เข้าถึงใจกลางปัญหาของเด็กและเยาวชนได้อย่างแท้จริง

ส่วนเรื่องข้อตกลงในการเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกัน เรื่องที่วานขอคือ หากใครมีอะไรก็พูดคุยกันตรงๆ แต่แน่นอนเด็กบางคนอาจจะไม่กล้า ซึ่งหล้าบอกว่า พวกเขาจะใช้วิธีปรึกษาหาทางช่วยเหลือกันเองในกลุ่มก่อน หรือหากถึงที่สุดแล้วก็อาจบอกลูกชายให้มาคุยกับเธออีกต่อ

ส่วนเรื่องที่เข้มงวดเด็ดขาดคือการห้ามนำสารเสพติดเข้ามาในพื้นที่

“ไม่เคยมีใครนำยาเสพติดเข้ามานะครับ

หรือแม้กระทั่งกัญชากับน้ำกระท่อมก็ด้วย” ฟิล์ม เพื่อนรุ่นน้องของน้ำบอกกับเราว่า

เขาชอบมานอนเล่น กดเกมมือถือ และรวมทีมซ้อมฟุตบอลหลังเลิกเรียนที่นี่เป็นประจำเพราะรู้สึกสบายใจ

“ตอนเจอแม่หล้าครั้งแรก ผมรู้สึกว่าท่าทางเขาน่าจะดูเป็นคนที่โหดอยู่” เด็กชายหัวเราะคิกคัก “แต่จริงๆ แกเป็นคนใจดีมากครับ เวลามีอะไรแกจะคอยช่วยเหลือและให้คำปรึกษาตลอด”

อย่างกรณีล่าสุดที่เขาทำงานแล้วไม่ได้รับค่าจ้าง แถมยังถูกท้าให้เอาเรื่องไปแจ้งความ หล้าก็ช่วยเป็นธุระจัดการประสานกรมแรงงาน จนตอนนี้ได้รับเงินคืนตามสิทธิ

“ผมก็เกือบจะโดยยึดรถ เพราะทีแรกกะจะเอาค่าแรงไปผ่อนส่ง แต่นายจ้างไม่ยอมจ่ายสักที” กาย หนึ่งในผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกับฟิล์มว่า “ดีที่แม่หล้าช่วยไว้ แม่เป็นคนใจดีมีอะไรชอบแบ่งปันแล้วก็คุยสนุก รู้สึกเหมือนเป็นเพื่อนคนหนึ่งเลยครับ”

ต้นทุนหัวใจ

โต๊ะม้าหินอ่อนที่ตั้งกลางระหว่างโรงจอดรถ แปลงผักสวนครัว และร่มเงาของไม้ยืนต้นสองสามชนิด หล้าจัดแจงติดไฟส่องสว่าง เดินปลั๊กสามตา และมุงผ้าใบเป็นหลังคาพอกันแดดคุ้มฝน พื้นที่อาจไม่กว้างขวางมากก็จริง หากก็สมบูรณ์ตามอัตภาพและสารพัดประโยชน์ 

ทั้งใช้เป็นโต๊ะอาหาร ลานเล่นดนตรี ทำการบ้าน นั่งพักผ่อนหย่อนใจ หรือเป็นจุดรวมพลพรรคไปซ้อมฟุตบอลช่วงหลังเลิกเรียน

“ถ้าเป็นวันธรรมดาเด็กๆ จะนัดหมายกันมารวมตัวที่นี่ประมาณห้าโมงเย็น ก่อนไปซ้อมฟุตบอลที่สนามของโรงเรียนบ้านแม่ขะจาน จากนั้นจะกลับมากันอีกทีราวหนึ่งทุ่ม เราก็ตระเตรียมสำรับกับข้าวมื้อเย็นไว้ให้พวกเขากินกันตรงโต๊ะม้าหินอ่อน เสร็จเรียบร้อยส่วนใหญ่จะนั่งเล่นเกม ร้องเพลง เล่นดนตรีตามประสา ใครแบตมือถือหมดก็เสียบชาร์จตรงนี้ อยู่ถึงสักสามทุ่มจึงพากันทยอยกลับบ้าน”

แต่ละสัปดาห์จะมีเด็กแวะเวียนมาที่บ้านประมาณ 20 กว่าคน ส่วนช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จะมากันแต่เช้าตรู่อยู่กันไปจนเย็นย่ำ เธอจึงต้องกักตุนวัตถุดิบอาหารไว้ให้พร้อมสำหรับสมาชิกทุกคน

“โครงไก่สด 4 กิโลฯ ไข่ไก่ 2 แผง มาม่า 2 กล่อง วัตถุดิบพวกนี้เราจะหาติดบ้านไว้ไม่เคยขาด เพราะทำเมนูได้หลากหลาย เช่น โครงไก่ต้มน้ำปลา ต้มแซ่บโครงไก่ ไข่ทรงเครื่อง หรือถ้าหากวันไหนเราติดธุระเด็กๆ ก็ยังสามารถทำเมนูง่ายๆ กินเองได้สบาย”

ไม่เพียงข้าวปลาอาหาร ที่นี่ยังมีโน้ตบุ๊ก สัญญาณไวไฟ กระดาษ และเครื่องพรินต์ไว้ให้เด็กๆ ใช้สืบค้นข้อมูลประกอบการเรียนและทำรายงานส่งอาจารย์ฟรี 

“อย่างที่บอกว่าเด็กส่วนใหญ่ฐานะทางบ้านยากจน เวลาคุณครูสั่งงานที่ต้องทำในคอมพิวเตอร์ พวกเขาจะต้องเดินทางไปใช้บริการที่ร้านซึ่งอยู่ไกลพอสมควร เราคิดว่ามันค่อนข้างอันตราย แล้วเด็กบางคนไม่มีแม้กระทั่งเงินค่าโดยสารรถประจำทางด้วยซ้ำ ก็เลยจะบอกทุกคนตลอดว่า ใครอยากใช้คอมพิวเตอร์ หางาน พรินต์งาน มาใช้บ้านนี้ได้เลย”

มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่เดินเข้ามาเพราะขาดแคลนในสิ่งนี้ 

ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นดอกผลจากน้ำพักน้ำแรงและหมุดหมายในใจของหล้าที่อยากสร้างเด็กให้เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดี ทำอาชีพสุจริตเลี้ยงครอบครัวได้

“อย่างน้อยเห็นเขาได้กินอิ่ม เรียนจบออกไปมีการงานที่ดี แค่นี้เราก็มีความสุขและภูมิใจมากแล้ว” หล้ากล่าวด้วยรอยยิ้ม 

เหนืออื่นใด เธอบอกกับเราว่าเรื่องผู้สนับสนุนไม่เคยมีอยู่ในหัว 

เพราะกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ไม่ใช่เรื่องต้องอาศัยต้นทุนเงินตรามากมาย

หากมีต้นทุนหัวใจที่มากพอ


Writer

Avatar photo

คุณากร เมืองเดช

เป็นคนอ่านช้าที่จับพลัดจับผลูจนกลายมาเป็นคนเขียนช้า และอยากแบ่งปันเรื่องราวบันดาลใจให้อ่านกันช้าๆ มีเจ้านายเป็นแมวโกญจาฟันสวย แต่ไม่ค่อยยิ้มแฉ่ง

Related Posts