เคยสังเกตกันไหม?
เวลาเราเลือกหนังสือนิทานให้กับเด็ก ด้วยสายตาของผู้ใหญ่เรามักจะเลือกเล่มที่มีคำสอนที่ดี มีภาพน่ารัก อาจเพราะหลายครั้งเรามักจะเห็นว่าพวกเขาเป็น ‘เด็ก’ ที่ต้องการคำสั่งสอนที่ดีเพื่อใช้ดำเนินชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ต่อไป และอาจเพราะหลายครั้งเราเห็นว่า ‘เด็ก’ เป็นสิ่งมีชีวิตที่ ‘น่ารัก’ ซึ่งคู่ควรกับหนังสือภาพน่ารักๆ เติมสีสันอย่างสมบูรณ์สวยงาม
หนังสือภาพสำหรับเด็กที่ถูกนำเสนอออกมาในตลาดโดยส่วนใหญ่จึงมักมีลักษณะสอดคล้องกับมุมมองข้างต้น ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องผิดอะไร หากแต่ในอีกหลายมุม ‘เด็ก’ อาจไม่ใช่เพียงสิ่งมีชีวิตสุดน่ารักหรือสิ่งมีชีวิตที่จำเป็นต้องได้รับการ ‘สั่งสอน’ อยู่ตลอดเวลา แต่พวกเขายังเป็น ‘มนุษย์’ ที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง มีอารมณ์หลากหลายและมีความสามารถในการรับรู้เนื้อหาที่แตกต่างหลากหลาย ได้ด้วยสายตาของเขาเอง โดยที่ไม่ต้องอาศัยการบอก การครอบงำด้วยกรอบค่านิยมหรือชุดความคิดความเชื่อบางประการของผู้ใหญ่อย่างพวกเรามากนัก บางครั้งพวกเขาจึง ‘เข้าถึง’ สิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้มากกว่าพวกเราเสียอีก
ด้วยเหตุนี้จึงนำไปสู่คำถามที่ว่า หากรูปแบบ หนังสือเด็ก ละคร สื่อและงานศิลปะอื่นๆ ที่ได้รับเลือกให้เด็กได้อ่าน-ได้ชม จำกัดอยู่เพียงความน่ารัก สวยงาม ดีงาม หรือเต็มไปด้วยมุมมองของผู้ใหญ่แล้วนั้น สายตาแห่งจินตนาการที่พร้อมมองเห็น ‘ความเป็นไปได้’ ใหม่ๆ มากมายของเด็กจะมีพื้นที่อยู่ตรงไหน? และหากเราคาดหวังให้เด็กมีกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเอง แต่ผู้ใหญ่ไม่ให้พื้นที่เด็กๆ ในการรับรู้ เข้าใจ และตีความด้วยตัวเองแล้ว เมื่อไหร่เด็กๆ ถึงจะได้รับโอกาสในการสร้างการเรียนรู้ภายในของตนเองขึ้นมา
จากคำถามในประเด็นเหล่านี้ Mappa เลยออกเดินทางไปพูดคุยกับ เกื้อ — เกื้อกมล นิยม ที่เธอแนะนำตัวเองว่าเป็นผู้ที่ชื่นชอบการทำหนังสือเด็ก เธอเป็นนักเขียนนิทานภาพและบรรณาธิการสำนักพิมพ์สานอักษร โรงเรียนรุ่งอรุณ ในอีกมุมหนึ่งสิ่งที่เธอชื่นชอบไม่แพ้กันคือการทำงานศิลปะ ที่เธอทำควบคู่ไปกับการงานในชีวิต“ใครชวนไปทำอะไรที่ข้องเกี่ยวกับสองอย่างนี้ เราก็ทำ” ซึ่งสองสิ่งในความชอบของเธอดูเหมือนจะทำงานร่วมกันอย่างน่าสนใจ และนำมาสู่บทสนทนาที่น่าสนใจไม่แพ้กันต่อประเด็นที่พวกเราตั้งต้นกันเอาไว้
เด็กไม่เคยมีปัญหาในการเข้าถึงศิลปะ
เราเริ่มต้นพูดคุยกันผ่านคำที่หลายคนคุ้นหูอย่าง ‘ศิลปะ’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ เกื้อ-เกื้อกมล เองได้ทำงานอยู่เป็นประจำตามความสนใจส่วนตัว และเป็นการเปิดบทสนทนาที่จะพาพวกเราไปคุยกันต่อเรื่องหนังสือภาพสำหรับเด็กได้ในแง่มุมที่ลึกมากยิ่งขึ้น
เกื้อเริ่มจากสะท้อนมุมมองของเธอต่อศิลปะ โดยเธอมองว่าลึกลงไปในเรื่องนี้คือเรื่อง “ความสัมพันธ์” กล่าวคือความเป็นศิลปะเกิดขึ้นในกระบวนการระหว่าง ‘คนสร้างงานศิลปะกับงานศิลปะ’ และ ‘คนเสพงานศิลปะกับงานศิลปะ’ โดยชิ้นงานศิลปะเป็นเพียงพื้นที่กลางให้เกิดความสัมพันธ์ดังกล่าว การให้ค่าศิลปะที่ตัวชิ้นงาน หรือที่ความสวยงามอย่างเดียว จึงอาจปิดกั้นการเข้าถึงความสัมพันธ์ตรงนั้น
“บางทีเราคุ้นชินกับงานศิลปะ เมื่อมันออกมาเป็นผลงานแบบจับต้องได้ เช่น ภาพวาดหนึ่งชิ้น แต่จริงๆแล้ว ความเป็นศิลปะอยู่ในตอนที่มันทำงานกับ ‘เรา’ ซึ่ง ‘เรา’ ในที่นี้คือทั้งคนทำและคนเสพ ชิ้นงานเป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ตรงนั้นมากกว่า สำหรับเราศิลปะจึงเป็นเรื่องความสัมพันธ์ แต่หลายครั้งพอพูดถึงงานศิลปะ คนทั่วไปมักจะติดกับเรื่อง ‘ความสวยงาม’ เพราะว่าความสวยก็เป็นสิ่งที่น่าดึงดูด อย่างเห็นว่าคนนี้หน้าตาดี มันก็เป็นความประทับใจแรก แต่นั่นก็ไม่ใช่ทั้งหมดของคนคนนั้น มันมีอย่างอื่นอยู่ในตัวตนของเขาอีก หน้าตาเป็นข้างนอกที่ห่อหุ้ม แต่สิ่งที่ทำงานกับเรามากกว่าหน้าตาข้างนอกที่ตามองเห็น คืออะไรล่ะ”
คำถามที่เกื้อทิ้งท้ายไว้ ทำให้เรามีบทสนทนาในหัวของเราด้วยเหมือนกันว่า “สำหรับพวกเราแล้ว ศิลปะมีความหมายอย่างไร? หลังจากทิ้งคำถามชวนคิด เกื้อพาพวกเรากระโจนเข้าประเด็นเรื่องศิลปะของเด็กๆ โดยชี้ชวนให้เห็นว่าการเข้าถึงหรือสัมพันธ์กับศิลปะนั้นเป็นเรื่องง่ายและไม่ซับซ้อน โดยเฉพาะกับมนุษย์ในวัยเด็กที่หลายครั้งพ่อแม่หรือผู้ใหญ่อาจเผลอคิดไปว่าพวกเขายังไม่สามารถเข้าใจอะไรได้มาก แต่พวกเขากลับเป็นกลุ่มที่อยู่นอกขนบความคิดความเชื่อที่โลกได้สร้างเอาไว้ก่อนแล้วมากที่สุดและเข้าถึงงานศิลปะได้อย่างตรงไปตรงมา
“หากลองสังเกต จะเห็นว่าเด็กไม่มีปัญหากับการเข้าถึงศิลปะเลย เพราะเด็กเพิ่งมาอยู่ในโลกใบนี้และพวกเขามีสิ่งที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘authenticity’ หรือความซื่อสัตย์ต่อตนเอง เด็กมีความสามารถในการรับรู้ตรงๆแสดงออกตรงๆ โดยไม่ถูกความคิด ความเชื่อ ค่านิยมต่ออะไรบางอย่างมาครอบไว้ ที่เราบอกว่าเราทำงานศิลปะแล้วได้ค้นพบสิ่งนี้ที่ไม่ใช่เพียงชิ้นงาน มันคืออันนี้แหละ เราคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการที่จะให้ ‘ตัวเราจริงๆ’ ออกไปมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ไม่ใช่ ‘ตัวเรา’ แบบที่สังคมคาดหวัง แล้วศิลปะทำให้เกิดสิ่งนี้ได้”
เมื่อเราถามต่อไปว่า ‘หนังสือภาพสำหรับเด็กทำงานแบบเดียวกันกับงานศิลปะหรือไม่’ เกื้ออธิบายว่า หนังสือภาพสำหรับเด็กมีสิ่งที่จำเป็นจะต้องมีอย่างหนึ่งซึ่งต่างออกไปคือ ‘มันต้องทำให้เด็กอ่านรู้เรื่องและอยู่ในบริบทที่เด็กเชื่อมโยงได้’ เธออธิบายพลางค้นหาหนังสือนิทานเล่มบางที่จะนำมาอธิบายเพิ่มเติมให้พวกเราเห็นภาพมากขึ้น
หนังสือภาพเล่มนั้นชื่อว่า ‘สีฟ้าเล็กเล็ก กับ สีเหลืองเล็กเล็ก’ โดยผู้เขียน Leo Lionni (ลีโอ ลิออนนี) และผู้แปล สุภาวดี โกมารทัต ซึ่งเล่าเรื่องของความสัมพันธ์ในชีวิตคนเรา ตั้งแต่ความสัมพันธ์ง่ายๆ อย่างครอบครัวและเพื่อน ไปจนถึงความท้าทายของความสัมพันธ์ระหว่างผิวสี หนังสือเล่าเรื่องที่ลึกซึ้งผ่านภาพวงกลม-วงรี ขยุกขยิก ต่างจากความเคยชินของหลายๆ คนที่เมื่อจะเล่าเรื่องบ้านก็จะเป็นภาพบ้านที่สวยงามม มีภาพของคน พ่อ แม่ ลูก เพื่อน ย่า ยาย ตา ขึ้นมาอย่างชัดเจน
เกื้อชี้ไปที่ตัวเล่มแล้วค่อยๆ เปิดไปทีละหน้า พร้อมกับอ่านออกเสียงให้เราฟัง ‘…นี่คือสีฟ้าเล็กๆ สีฟ้าเล็กๆ อยู่บ้านกับพ่อสีฟ้าและแม่สีฟ้า…สีฟ้าเล็กๆ มีเพื่อนเยอะแยะ…’ ทั้งยังชี้ชวนให้พวกเราที่อยู่ในวงสนทนาร่วมกันมองเหล่าวงกลมวงรีที่ขนาดเล็กใหญ่อย่างอิสระเหล่านั้นแล้วตอบคำถามว่า‘คนไหนพ่อ คนไหนแม่ คนไหนลูก คนไหนเพื่อน?’ ซึ่งพวกเราก็ตอบกันไปตามจินตนาการ ‘วงเล็ก ต้องเป็นลูกแน่ๆ วงใหญ่อาจเป็นพ่อไม่ก็แม่ วงเล็กๆ อีกหลายๆ วงคงจะเป็นเพื่อนๆ ของลูกตามที่เนื้อหาบรรยายไว้’ แม้ว่าจะไม่มีรูปบ้านหรือคนสักคน พวกเราก็เชื่อมโยงกันต่อได้ผ่านเจ้าวงกลมวงรีเหล่านั้น เกื้อจึงขมวดประเด็นนี้เพิ่มเติมว่า
“จะเห็นว่าภาพในหนังสือภาพเล่มนี้ เป็นงานศิลปะมาก มีความนามธรรม(abstract) วงกลมวงรีไม่มีหน้าไม่มีตา ไม่มีบ้าน ไม่มีอะไรเลย แต่เมื่อมันถูกเล่าด้วยบริบทที่ใกล้ตัวเด็ก อย่างครอบครัว โรงเรียน และเพื่อน เด็กจะเข้าใจและเชื่อมโยงได้ทันที”
เกื้อเล่าให้เห็นว่าหนังสือภาพทำงานในการเชื่อมโยงให้เด็กเข้าใจหรือ ‘อ่านรู้เรื่อง’ อย่างไร แม้จะไม่ใช่ลายเส้นที่ชัดเจนหรือเป็นภาพในอุดมคติที่สมบูรณ์แบบ แต่เมื่อนำมาประกอบกับความเข้าใจเด็ก แล้วนำเสนอแบบให้เด็กมีส่วนร่วมในการตีความ จินตนาการ หนังสือภาพแนวศิลปะนี้ก็ทำงานกับผู้อ่านอย่างลึกซึ้งได้
“นี่ก็คืองานศิลปะกับเด็ก บางทีแล้วเด็กเองถ้าเวลาวาดรูปเขาก็วาดแบบนี้ (ชี้ไปที่ภาพในหนังสือภาพเล่มนั้น) เพราะยังบังคับมือไม่ได้ เขาจะวาดประมาณนี้ แล้วหากสังเกตเรื่องราวในเล่ม มันก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเขา เพราะเด็กจะมีอะไรมากไปกว่าพ่อแม่ เพื่อน การเล่น กิน นอน และเขาก็จะมีปัญหาที่ต้องเผชิญ เรื่องศิลปะกับเด็ก มันไม่ได้ยาก เขาจะเข้าถึงง่าย ต่อเมื่อเราค่อยๆ ใส่ส่วนผสมให้เขากินได้ เรื่องที่มันดูเหมือนจะ abstract ดูเหมือนจะยาก มันก็ไม่ได้ยาก” เกื้อเสริม
‘ความน่ารักสวยงามแบบที่ผู้ใหญ่คิดว่าเหมาะสม’ ‘ความชัดเจนที่เกินพอดี’ สิ่งที่จำกัดหนังสือเด็กและการรับรู้ของเด็กให้อยู่ในกรอบกล่องของ ‘ความดีงาม’
เมื่อบทสนทนาในวงเริ่มเห็นพ้องต้องกันว่า ‘เด็ก’ เข้าถึงหนังสือภาพ หรืองานศิลปะได้ไม่ยากเลย เราจึงเริ่มคุยกันต่อในประเด็นหนังสือภาพสำหรับเด็ก ที่แม้ขึ้นชื่อว่า ‘สำหรับเด็ก’ ก็จริง ทว่าผู้เลือกสรรมาให้เด็กอ่านนั้นย่อมเป็นผู้ใหญ่และผู้ปกครอง และหลายครั้งความคิดความเชื่อว่าในกรอบที่ว่าหนังสือภาพสำหรับเด็กจะต้องสวยงาม น่ารัก มีคำสอนที่ดีงามก็อาจมาครอบการเลือกงานให้เด็กๆ ได้อ่านอยู่หลายครั้ง
“สิ่งที่ปิดกั้นส่วนหนึ่งก็คือพ่อแม่หรือผู้ใหญ่รอบตัว อย่างเล่มนี้ (สีฟ้าเล็กเล็ก กับ สีเหลืองเล็กเล็ก) พ่อแม่ก็มักจะไม่ซื้อ เป็นเล่มที่ไม่ได้ค่อยได้รับความนิยม หมายถึงว่า พ่อแม่หลายคนอาจไม่เลือกซื้อเพราะยังรู้สึกว่า ‘ภาพอะไรอะ ไม่มีหน้า ไม่มีตา ไม่บอกอะไรเลย แล้วตกลงมัน ‘สอน’ เรื่องอะไร’” เกื้อยกตัวอย่าง ก่อนที่เราจะถามต่อว่าสิ่งที่ปิดกั้นการเลือกงานที่หลากหลายนั้นคืออะไรกันแน่ เกื้อคลี่ขยายต่อในแต่ละประเด็นได้อย่างน่าสนใจ
“อย่างหนึ่งคือ มันถูกปิดกั้นด้วยความชัดเจน เราติดกับความชัดเจน ต้องให้คน ให้สื่อ ให้หนังสือบอกมาเลยว่ามันคืออะไร ต้องวาดให้ชัดเจนว่านี่คือ ‘บ้าน’ บ้านต้องมีหลังคา ประตู หน้าต่าง เราติดกับดักพวกนั้น ความชัดเจนมันทำให้เรารู้สึกปลอดภัย แต่ในขณะเดียวกันมันก็ทำให้ความเป็นไปได้มันน้อย มันแคบลง เราสบายใจว่าเราเข้าใจมันได้ แต่สำหรับเด็กๆ มันกว้างกว่านั้นมาก และศิลปะก็ทำงานแบบนั้นด้วย มันทำให้ความเป็นไปได้มันกว้างขึ้น ทำให้เรามองโลกกว้างๆ อย่างเป็นไปได้มากขึ้น”
นอกจาก ‘ความชัดเจน’ ที่หลายครั้งเข้ามาครอบการเลือกงานบางชิ้นให้กับเด็กแล้ว มุมมองที่ติดอยู่กับความสมบูรณ์แบบ ความสำเร็จรูปที่เชื่อว่าเป็นสิ่งดีงามแล้วก็อาจกรอบให้ความหลากหลายในการเลือกมีน้อยลงเช่นกัน
“ความสมบูรณ์แบบ ความสำเร็จรูป ความสะดวก ความดี ความงาม โดยเฉพาะความดีนี่ติดกันเยอะมาก คือในความจริงโลกไม่ได้มีแต่ ‘สิ่งที่ดี’ ดังนั้นการมองโลกและความเข้าใจโลกของเด็กจึงควรจะกว้างกว่า ‘สิ่งที่ดี’ ตามนิยามของเรา ปกติต้นไม้ก็จะมีวันที่ต้องตาย ใบเหี่ยว หรือมีเชื้อโรค แต่ในปัญหาเหล่านั้น มันก็เป็นวงจรปกติของระบบนิเวศที่จำเป็นต้องเป็นอย่างนั้น แล้วก็ต้นไม้ก็จะมีวิธีแก้ของเขา บางต้นจะมียางพิเศษ ต้นอื่นก็มีแบบอื่น แต่กว่ามันจะปรับตัวให้ตัวเองแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้มันหลายเจนเนอเรชั่น ดังนั้นปัญหา ความไม่สมบูรณ์ ความไม่ดี มันเป็นเรื่องปกติและมันใช้เวลาเพื่อปรับตัวหรือแก้ปัญหา แต่ว่าคนมักจะเอาดีแบบสำเร็จรูป เอาเร็วให้ได้เลย ให้มันดีเลย บอกไปเลยว่า โกรธไม่ดี ร้องไห้ไม่ดี ผู้ชายห้ามร้องไห้อ่อนแอ มันก็เป็นความเข้าใจผิดอะไรบางอย่างของคนเรา”
เกื้อยกตัวอย่างต่อไปถึงความคิดที่ว่าเมื่อเราเชื่อว่าเด็กจะต้องอยู่เฉพาะกับเรื่องที่ดีงามเท่านั้น ในขณะที่ธรรมชาติของเด็กอาจต้องการทั้งความท้าทาย ความรู้สึกของการได้ผจญภัย ไปจนถึงการแก้ปัญหาต่างๆ
“ทั้งหมดทั้งมวลคือความเป็นผู้ใหญ่ เราชอบความชัดเจน ความดี ชอบสิ่งที่สำเร็จรูป ไม่ชอบเสียเวลา ไม่ชอบความท้าทาย ไม่ชอบความขัดแย้งหรือการมีปัญหา เวลามีปัญหาเกิดขึ้น ผู้ใหญ่มักจะหนีและไม่อยากให้มันเกิดขึ้น แต่จริงๆ แล้วเด็กชอบนะ ถ้าเด็กพบปัญหา เขาจะพยายามปรับตัวทันทีที่ตรงนั้นเลย เด็กทะเลาะกัน คนหนึ่งจะเข้าไปเล่น แต่อีกคนไม่ให้เล่น เขาก็จะปรับตัวกันตรงไปตรงมาอย่างนั้นที่ตรงนั้นเลย”
“บางทีหนังสือเด็กชอบบอกให้เด็กแบ่งปัน แต่ความจริงเด็กก็อาจยังไม่อยากจะแบ่งในตอนนั้นก็ได้ เช่น เขาเล่นกันมาดีๆ แล้วมีเพื่อน ‘พรวดพราด’ เข้ามาจะเล่นด้วย ใครจะอยากให้เล่น แล้วถ้าถูกบอกไม่ให้เล่น เพื่อนคนนั้นก็จะได้รับบทเรียนว่า เข้ามาแบบพรวดพราดไม่ได้นะ คนอื่นอาจจะไม่ชอบ เขาก็จะเกิดการปรับตัว ได้เรียนรู้บางอย่างขึ้นมาในขณะนั้น แต่ถ้าเกิดเรารีบสรุป รีบชี้ถูกชี้ผิดว่า ‘เด็กคนนั้นไม่แบ่งปัน ไม่ให้เพื่อนเล่นด้วย เป็นเด็กไม่ดีเลย’ คนที่จะต้องเรียนรู้เพื่อปรับตัวก็จะไม่ได้ปรับตัว แล้วเพื่อนที่ให้เล่นก็จะให้ด้วยความจำใจเพราะฉันต้องเป็นคนดี เป็นคนที่แบ่งปัน เขาก็จะไม่ได้เรียนรู้เรื่องขอบเขตของความสัมพันธ์เลย ทั้งที่สิ่งเหล่านี้มันคือความท้าทายของชีวิต หนังสือเด็กที่ติดอยู่กับความดีงามแบบนั้น มักทำให้เราเข้าใจไปเองว่า ถ้าฉันแบ่งปันแปลว่าฉันได้เรียนรู้แล้ว ฉันเป็นคนที่น่ารักและเป็นคนดีแล้ว แล้วเราก็โตขึ้นมาด้วยความเข้าใจว่าฉันต้องเป็น ‘คนดี’ โดยที่ไม่รู้ว่าคำว่าคนดีจริงๆ คืออะไร เป็นคนดีที่ตัวเองเดือดร้อนหรือเปล่า”
เกื้อยกตัวอย่างเรื่องการแบ่งปันต่อ โดยสมมุติว่า หากลูกเราเอาของเล่นไปโรงเรียน แล้วไม่แบ่งเพื่อน เราอาจจะไม่เร่งไปตัดสินว่าลูกนิสัยไม่ดี แต่ควรถามเขาก่อนว่า ลูกรู้สึกอย่างไรกับของชิ้นนี้? แล้วตอนที่เพื่อนมาขอเล่นรู้สึกอย่างไร? เราต้องหาข้อมูลก่อนว่าเขาติดขัดอะไรจึงไม่แบ่ง เพื่อทำความเข้าใจ และสร้างข้อตกลงที่ตรงไปตรงมา โดยที่ไม่ต้องเอาความรู้สึกผิดของการเป็นคนดีมาแบกเอาไว้ เกื้อขมวดอีกครั้งว่าสิ่งนี้ก็คือ ‘authenticity’ หรือความซื่อสัตย์ต่อตนเอง ซึ่งสำคัญในการทำงานศิลปะและหนังสือภาพสำหรับเด็ก ดังที่พูดคุยกันมาข้างต้น
กระบวนการการทำหนังสือเด็กที่ ‘หัวใจ’ คือการผสมผสานระหว่าง ‘ความเข้าใจเด็ก’ กับ ‘ความเข้าใจตัวเอง’
เมื่อพูดคุยกันมาถึงครึ่งทาง เราก็ชวนสนทนากันต่อในแง่ของกระบวนการการทำหนังสือเด็ก ตั้งแต่การตั้งต้นไปจนถึงปลายทาง การริเริ่มทำหนังสือภาพเริ่มจากตรงไหน มีระหว่างทาง และปลายทางอย่างไร เกื้อเล่าให้เราฟังว่า วิธีการของเธอปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามบริบทและเงื่อนไขของการทำงาน จากเดิมทีจะเน้นทำในโจทย์ กล่าวคือทำจากบทเรียนของโรงเรียนรุ่งอรุณ อย่างเช่น แผนการสอนไหนที่น่าสนใจก็เอามาทำ แต่เมื่อมาในช่วงหลังก็เริ่มเปลี่ยนวิธีการ
“ช่วงหลังเราก็รู้สึกว่าเราอยากทำงานที่มันเป็นเรามากขึ้น เพราะเราเริ่มเห็นแล้วว่าการทำงานด้วยสัญชาตญาณ มันจะมีชีวิตชีวา แต่ในขณะเดียวกันเราก็ยังต้องอาศัยความคิด ซึ่งก็คือความเข้าใจการรับสื่อของเด็ก เข้ามาร่วมด้วย ก็จะมีวิธีทำคือ มีเรื่องอะไรก็ลองเขียนมันออกมาก่อน แล้วเก็บเอาไว้ สักพักหนึ่งเอามาดูใหม่ แล้วก็ลองดูว่ามันจะเป็นอะไรได้อีก เราสามารถเล่นอะไรกับมันได้อีก แล้วก็เติม องค์ประกอบที่เกี่ยวกับชีวิตเด็ก ความเป็นเพื่อน ความท้าทาย หรือเรื่องราวที่เกินคาดหมาย สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนของความรู้ความเข้าใจในการทำหนังสือเด็ก ที่เอามาประกอบกับความเป็นตัวเรา(ผู้เขียน)เข้าไป เช่นเรื่องที่ชอบ สไตล์การนำเสนอ เป็นต้น หลังจากนั้นก็เอาเรื่องนี้ไปขายเพื่อนๆ นักวาดต่อ ว่าเขาสนใจหรือชอบเรื่องไหน อยากวาดเรื่องไหน รู้สึกเชื่อมโยงกับเรื่องไหนได้”
เกื้อเล่าว่าขั้นตอนการทำงานกับนักวาด นักวาดที่จะมาวาดภาพประกอบก็จะต้องรู้สึกชอบเรื่องนี้หรือว่ารู้สึกอะไรบางอย่างกับเรื่องนี้เหมือนกัน การรวมตัวกันของงานเขียนและงานวาดจึงเกิดจาก ‘ความรู้สึก’ ของทั้งสองฝ่ายต่องานชิ้นหนึ่งๆ มองเห็นภาพร่วมกัน แล้วจึงรวมกันออกมาเป็นชิ้นงาน เกื้อชี้ชวนให้เห็นว่าหัวใจของการทำงานในกระบวนการเช่นนี้ก็คือ ‘authenticity’ ของทุกฝ่ายต่อชิ้นงานหนึ่งๆ เพื่อให้งานออกมาจริงใจต่อคนอ่านมากที่สุด
“ประเด็นสำคัญคือการที่บรรณาธิการ นักเขียน และนักวาด เห็นแนวคิดของเรื่องการนำเสนอความสนุกแบบที่มี ‘authenticity’ ไปในทิศทางเดียวกัน แล้วใช้ความสามารถของแต่ละฝ่ายมาทำงานด้วยกัน เพื่อสร้างสรรค์มันขึ้นมา ระหว่างทางมันจะเป็นการลองทำไปก่อนแล้วมาดูกันว่าใช่ไหม มันจะเกิดการแก้เยอะมากๆ เพราะเป็นสิ่งที่คาดการผลล่วงหน้าอย่างแน่นอนไม่ได้ และต้องทดลองแนวทางร่วมกัน ทั้งแนวเขียน แนววาด และอื่่นๆ ดังนั้นคนทำทุกฝ่ายต้องกัดไม่ปล่อย ทำไม่หยุด แต่รอเป็น มันเลยไม่ค่อยมีคนทำ เป็นกระบวนการที่ใช้เวลานาน แต่ได้เงินน้อย”
เมื่อเราถามต่อถึงความท้าทายของการพัฒนาหนังสือเด็กเกื้อก็เล่าต่อว่า
“น่าจะเป็นเรื่องความเอามาผสมกันตรงกลางนี่แหละ เรื่องความเป็นเรากับความเข้าใจศาสตร์ทำหนังสือเด็ก ก็คือเข้าใจเด็กกับเข้าใจตัวเอง การนำมาผสมกันให้ได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เราลองผิดลองถูกมาตลอด และก็ยังลองอยู่ เราต้องอยู่กับเด็กเยอะๆ อ่านเยอะๆเห็นเยอะๆเหมือนกัน”
เมื่อพูดกันถึงความท้าทาย เราจึงชวนพูดคุยในประเด็นของการสนับสนุนงานเหล่านี้ในบริบทของสังคมไทย เกื้อให้ความเห็นว่าสิ่งสำคัญคือการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อให้คนทำงานด้านหนังสือสามารถที่จะมีพื้นที่ในการทำงานที่กว้างขึ้น และมีกำลังในการผลิตงานที่หลากหลายมากขึ้น
“จริงๆ ไม่ใช่แค่เรื่องหนังสือ เรื่องใหม่ๆ ทุกเรื่องที่มันทวนกระแสหลัก แต่มันมีคุณค่า มันมักจะไม่ใช่สิ่งที่คนทั่วไปยอมเสียเงินซื้อ ในประเทศอื่น การทดลองทางวิทยาศาสตร์ การปกป้องคุณค่าอะไรบางอย่าง รวมถึงเรื่องการพัฒนาหนังสือคือสิ่งที่รัฐบาลจะซัปพอร์ต อย่างเรื่องหนังสือก็คือหลายประเทศจะมีเงินอุดหนุนสำนักพิมพ์สามารถให้รัฐบาลซื้อขาดไปเลยจำนวนหนึ่ง เพื่อที่ หนึ่ง ช่วยทำให้ต้นทุนต่อเล่มต่ำลง เพราะพิมพ์ในปริมาณมาก สอง มันทำให้รัฐบาลกระจายหนังสือไปถึงเด็กๆ ได้ไกล ถึงคนที่ไม่สามารถซื้อได้ และ สาม มันช่วยให้ผู้ปกครองเห็นความหลากหลายของหนังสือมากขึ้น ไม่ใช่แค่หนังสือที่ขายง่าย อยู่ในกระแสเพียงอย่างเดียว ไม่อย่างนั้นคนก็จะเลือกผลิตแต่สไตล์ที่ขายง่าย ไม่สวนกระแส ไม่ค่อยทำให้เกิดคุณค่าใหม่ๆ ขึ้น หากหนังสือหลากหลายขึ้น แผงหนังสือมันก็จะเปลี่ยนไป แค่นั้นผู้ปกครองก็เปลี่ยนแล้วนะ เหมือนท้าทายผู้ซื้อด้วยความแตกต่างหลากหลายมากขึ้น มันก็มีตัวเลือกมากขึ้น เกิดการเลือกใหม่มากขึ้น”
‘เนื้อหา’ ในหนังสือเด็ก คือการทิ้งเมล็ดพันธุ์เอาไว้ให้เขาฉุกคิด
เมื่อพูดคุยกันในแง่ของกระบวนการและที่ทางของหนังสือเด็กในบริบทสังคมไทยแล้ว ในช่วงท้ายเกื้อชวนเราเข้าไปในประเด็น ‘เนื้อหา’ ที่ในปัจจุบันเริ่มมีการขยับขยายประเด็นสื่อสารของหนังสือเด็กมากขึ้น ตามชุดคุณค่าสากลไม่ว่าจะเป็น เรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง เรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องปัญหาสังคมในเชิงโครงสร้าง ซึ่งในมุมหนึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจที่สังคมขยับขยายประเด็นการสื่อสารที่หลากหลายมากขึ้น หากแต่ประเด็นสำคัญที่อาจต้องคิดอย่างละเมียดต่อการนำเสนอประเด็นเหล่ากับเด็กก็มีให้ขบคิดและระแวดระวังอยู่ในบางแง่มุม เกื้อแบ่งปันมุมมองเหล่านี้กับเราว่า
“ประเด็นเหล่านี้ไม่ใช่ไม่ให้พูดกับเด็กนะ เป็นประเด็นที่ควรพูดมากๆ แต่ว่าคนพูดต้องเข้าใจด้วยว่า บริบทของเด็กเวลาที่เขาอ่าน เขาจะรู้สึกว่าเรื่องนี้มันท้าทายเขาอย่างไร แล้วก็คุณต้องพยายามไม่ทำให้จบแบบหมดหวัง จบแล้วต้องพอมีความหวังด้วย แต่ว่าในขณะเดียวกันความหวังนั้น มันต้องมาจากสิ่งที่เด็กเข้าไปแก้ไขได้ เด็กมีกำลังพอที่จะเปลี่ยนมันได้ เป็นกำลังของเขา”
เกื้อเน้นย้ำต่อว่าเรื่องราวหรือการจบเรื่องของหนังสือเด็ก ควรเป็นความท้าทายแบบของเด็ก กล่าวคือเด็กสามารถ ‘รู้สึก’ ว่าพวกเขาเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างไม่เกินกำลัง
“คือต้องเป็นความท้าทายของเขา ไม่ใช่ว่าจบแบบชี้ชวนว่าเรื่องนี้ต้องเป็นปัญหาของรัฐ แบบนี้เด็กจะเริ่มเอาไม่อยู่แล้ว หรือเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐ หรือว่าเป็นเรื่องของคนที่อยู่ห่างไกลเขามากๆ โจทย์คือจะต้องทำอย่างไรให้ย่อยเรื่องเหล่านี้มาเป็นเรื่องสำหรับเด็กได้ จำเป็นต้องตั้งคำถามดีๆ เช่น เรื่อง ‘ความยากจน’ เราจะคุยประเด็นนี้กับเด็กอย่างไร ประเด็นเรื่องความขาดแคลนเหรอ หรือว่าประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ ประเด็นมันต้องชัดมาก แล้วก็มาดูจริงๆ ว่าสำหรับเด็กแล้ว ความเหลื่อมล้ำคืออะไร เพราะจริงๆ เด็กเขาไม่มีความเหลื่อมล้ำ เด็กยังไม่มีมาตรวัดต่างๆ เด็กไม่ได้สนใจ ความรวย ความจน ความแตกต่างทางเชื้อชาติ ตอนเด็กๆ ที่เราเจอเด็กฝรั่ง เราไม่เคยกลัวเลย เราพูดภาษาไทยใส่เขา เขาพูดภาษาต่างประเทศใส่เรา มันไม่มีเรื่องความแตกต่าง ความแตกต่างมันมาตอนที่เราโตแล้ว แล้วเราจะเอาประเด็นนี้ใส่เข้าไปในหัวเด็กทำไม การจะทำหนังสือในประเด็นเหล่านี้ก็ต้องตั้งคำถามให้ดี”
เกื้ออธิบาย พร้อมกับยกหนังสือนิทานภาพ ‘ทำไม’ โดย นิโกไล พอพ็อฟ ที่จัดพิมพ์โดย มูลนิธิเอสซีจี เธอเล่าว่าเล่มนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งในการเล่าเรื่องใหญ่มากๆ อย่าง ‘สงคราม’ แต่เด็กเข้าใจง่ายเพราะว่ามันสื่อสารผ่านเรื่องของการแย่งของกัน คือมีสัตว์สองชนิดแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย อยากได้ดอกไม้สวย อันนี้เด็กเข้าใจได้ เพราะเวลาเขาเล่นกับเพื่อน มันก็จะมีแบ่งฝักฝ่ายอย่างนี้ แล้วนี่(ชี้ไปที่ภาพ)หน้าแรกเราจะเห็นเลยว่า พื้นที่ตรงนี้มีดอกไม้เยอะแยะเลย แต่ว่าแต่ละฝ่ายจะเอาแค่ดอกนี้ มันงี่เง่ามาก ซึ่งเมื่อจบลงเด็กก็จะเกิดคำถามตามที่เนื้อเรื่องปูมาเลยว่า ‘ทำไม ทำไมเป็นแบบนี้’ เหมือนชื่อเรื่อง
“เราทำได้แค่นี้นะกับเด็ก เราทำได้แค่ทิ้งเมล็ดพันธุ์ให้เขาฉุกคิดเอาไว้ว่าเราจะให้มันเป็นแบบนี้จริงเหรอ แล้วเราก็หวังว่าพอโตขึ้นพวกเขาจะไม่ถูกครอบงำด้วยอะไรก็ตาม เราทำได้เท่านี้ แบบนี้เด็กจะเข้าถึงได้ดีกว่า และแม้ว่าเรื่องราวในเรื่องนี้จะจบเศร้า แบบทำลายล้างหมดเลย แต่ว่าด้วยความที่เขาตั้งชื่อเรื่องว่า ‘ทำไม’ มันก็เลยทำให้เด็กคิดว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ล่ะ แล้วถ้าเป็นเขาเองเขาจะปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นไหม อันนี้มันอยู่ในกำลังของเขา เขาจัดการได้”
เกื้อเล่าว่าพออ่านจบแล้ว เคยมีเด็กถามขึ้นมาเลยว่า ‘ทำไมไม่แบ่งดอกไม้กันตั้งแต่แรก ดอกไม้ก็มีตั้งเยอะแยะ ทำไมจะต้องทำร้ายกันขนาดนี้ด้วย’ แล้วเน้นย้ำว่าสิ่งที่หนังสือเด็กทำได้ อาจไม่จำเป็นต้องมีคำว่าสงคราม การเมือง ความขัดแย้ง ความรุนแรง การเปลี่ยนแปลง ความเหลื่อมล้ำ หรืออื่นๆ แต่อย่างใด แต่อาจจะเป็นเพียงคำถามที่ทิ้งเอาไว้ในใจเด็กๆ เพราะเมื่อเวลาเหมาะสมในวันหนึ่ง คำถามเหล่านั้นจะถูกปลุกขึ้นมาทำงานกับตัวเด็กๆ ได้เอง
“เพราะว่ามันไกลมาก แล้วมันโหดร้ายมากด้วย เราจะเอาภาพโหดร้ายพวกนั้นมาให้เด็กมันก็อาจจะดูเกินขอบเขตไป สำหรับเด็กเล็ก เมื่อเกินขอบเขตก็จะยากมากที่จะทำให้เขาเข้าถึงได้” เกื้อสรุปบทสนทนาข้างต้น
………..
ผู้ใหญ่ก็มีสิ่งที่เรียกว่า ‘ความเป็นเด็ก’ และเราสามารถปล่อยให้มันออกมาทำงานบ้าง
ก่อนการพูดคุยจะจบลง พวกเราได้พูดคุยกันถึงหนังสือเด็กอีกหลายๆ เล่มที่ทำให้เห็นภาพของกระบวนการคิดและการสร้างสรรค์ที่น่าสนใจ และทิ้งท้ายกันด้วยการพูดคุยกันถึง ‘ความเป็นเด็กในตัวเรา’ ที่เป็นส่วนสำคัญเลยทีเดียวในการใช้มันออกมาทำงานศิลปะ หรืองานเกี่ยวกับเด็ก เกื้อบอกว่าหลายครั้งที่ทำงานศิลปะหรือหนังสือเด็ก เราต้องเรียกความเป็นเด็กในตัวเองออกมา เพื่อเปิดประตูให้ไปสัมผัสศักยภาพที่หล่นหายไปไประหว่างการเติบโต โดยเฉพาะ ‘การเล่น’ การเล่นทำให้เราไม่กลัวไปล่วงหน้า เปิดโอกาสให้เกิดเรื่องที่คาดเดาไม่ได้ ไม่คิดถึงแต่ผลประโยชน์ และมีแรงเล่นสนุกได้ไม่หยุด
เมื่อเราถามว่า พลังของการเล่นแบบเด็กมันเป็นอย่างไร เธอหัวเราะและตอบทันทีว่า ‘chaos!’ (ความโกลาหลวุ่นวายสับสนและยุ่งเหยิง)
“การเล่นแบบเด็กมันคือคำว่า chaos คือความไร้แบบแผน คือไม่มีคำสั่งหรือการควบคุม เป็นความวุ่นวายอย่างเป็นธรรมชาติ แล้วก็จะเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป อยู่ตลอดเวลา เช่น คนนี้เล่นเป็นโจรสลัดอยู่ดีๆ อ้าว! ไปเป็นแม่ค้าขายบะหมี่แล้ว หรือเครื่องมือที่อยู่ในมือเป็นดาบอยู่ดีๆ กลายไปเป็นกระชอนลวกก๋วยเตี๋ยวแล้ว มันโกลาหลมาก แต่ก็เป็นความโกลาหลที่สนุก แล้วพวกเขาก็เรียนรู้ไปพร้อมกันว่าต้องปรับตัวต่อพื้นที่ตรงนั้นอย่างไร”
เกื้อขมวดกลับมาเปรียบเทียบกับการทำงานว่า
“เมื่อไหร่ที่เราเห็นทุกอย่างเป็นเรื่องจริงจังไปหมด ไม่เล่นเลย เราจะปิดกั้นตัวเองจากการได้ไปเจอความท้าทายเหล่านั้น ถ้าเรามีพื้นที่การทำงานที่เล่นได้ เราก็เล่นสิ พอเราเล่นปุ๊บ โอ้โห มันพาเราไปไกลเลย จากที่เรามีกรอบมากๆ พอลองเล่น มันจะไม่มีกรอบ แล้วมันจะพาเราไปได้เรื่อยๆ เอง ตราบใดที่เราจริงใจต่อชิ้นงานที่ทำ คนที่สัมผัสก็จะสัมผัสแบบนั้น กับเด็กเหมือนกัน ถ้างานมันจริงแท้ เด็กก็จะสัมผัสได้ มันคือความจริงใจต่อกัน มันคือการเอาของที่เรามีไปแลกกันโดยที่ไม่ต้องมีกรอบอะไรมาก”