Taming the Voice of Judgement
กล่อมเสียงตัดสิน ได้ยินเสียงภายในของตัวเอง

  • การโทษคนอื่น (projection) เป็นกระบวนการทางจิตใจในสมองที่มนุษย์มีมาแต่กำเนิด
  • ในกระบวนการตัดสินมีพลวัตหลายประการให้เราขบคิดและลองวิเคราะห์ตัวเองว่าเรากำลังตัดสินอย่างไรและเพราะอะไร
  • ก่อนจะตัดสินใครหรืออะไร การมีสติ ลองมองในมุมคนอื่น ทบทวนตัวเองและหาข้อมูลเพิ่มเติมเป็นกระบวนการที่จะช่วยยั้งไม่ให้เราด่วนสรุป

เมื่อเราตัดสินคนรอบข้างไม่ว่าจะในทางบวกหรือลบ เรากำลังยัดเยียดตัวตนบางส่วนของเราให้คนอื่น เราจะหลงลืมรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับคนคนนั้นว่าเขาเป็นคนอย่างไร กำลังพูดอะไร และสถานการณ์เดียวกันจากมุมมองของเขาเป็นอย่างไร

การโทษคนอื่น (projection) เป็นกระบวนการหนึ่งของจิตสำนึกของมนุษย์ที่เราซัดทอดมุมมองต่อชีวิตของเราไปให้ผู้อื่น ไม่ว่าเราจะคาดเดาไปในทางบวกหรือลบ กระบวนการนี้ก็คล้ายคลึงกัน เราเห็นโลกผ่านเลนส์เฉพาะตัวซึ่งติดตัวมาแต่เกิด “แผ่นกรอง” ในจิตใจนี้ฝังในสมองเราอย่างแน่นหนาพอกันกับการรับรู้สภาพแวดล้อมทางกายภาพ อุดมคติและมุมมองต่อชีวิตคือความเป็นจริงในแบบของเรา

ทว่าก่อนจะตัดสินใคร มีหลายอย่างให้เราฉุกคิดและพิจารณา

พลวัตของการตัดสิน

เรากำลังติเพื่อก่อหรือกำลังทำร้ายคนอื่นอยู่กันแน่

สตีเวน สตอสนี (Steven Stosny) นักจิตวิทยาและนักเขียนกล่าวไว้ว่าการวิพากษ์วิจารณ์จะกระทบต่อความสัมพันธ์เมื่อคำวิจารณ์นั้นเกี่ยวข้องกับอุปนิสัยแทนที่จะพูดถึงพฤติกรรม เต็มไปด้วยการกล่าวโทษแทนที่จะมุ่งไปที่การพัฒนา ตั้งบน “วิธีที่ถูกต้อง” เพียงวิธีเดียวและด้อยค่าผู้อื่น

เกร็ก เอนริเกส์ (Gregg Henriques) อาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเจมส์ แมดิสัน กล่าวถึงพลวัตทั้งแปดที่พึงระลึกถึงเมื่อเราตัดสินผู้อื่น ได้แก่

พลวัตการเข้าถึงใจ 

เมื่อประเมินการกระทำหรือนิสัยของคนอื่น เราควรรู้เบื้องหลังของเขาก่อน เขามองโลกอย่างไร มีที่ไปที่มาอย่างไร และมีประสบการณ์อย่างไรก่อนจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ เช่น เขาคิดอย่างไรและรู้สึกอย่างไรตอนที่ตัดสินใจอะไรบางอย่าง เป็นต้น

พลวัตกรอบความคิด-ค่านิยม 

ทบทวนว่าเรากำลังใช้กรอบความคิดและค่านิยมของใครในการตัดสิน กรอบเหล่านั้นเป็นสัจธรรมหรือว่าขึ้นกับปัจเจก มีความเกี่ยวข้องจริงหรือไม่ เช่น ถ้าคุณมองว่าการรักเพศเดียวกันไม่ถูกต้อง คุณกำลังใช้กรอบความคิดหรือค่านิยมใด และคนที่คุณตัดสินเชื่อและใช้ชีวิตในกรอบเดียวกันหรือเปล่า

พลวัตอำนาจ

หากการตัดสินของคุณมีอิทธิพลมากกว่าอีกฝ่าย พลวัตอำนาจย่อมไม่เท่าเทียมกัน ดังนั้น เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบทั้งทางตรงและที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินของเรา

พลวัตของคน-สถานการณ์

มีงานวิจัยพบว่าการตัดสินคนอื่นมักเหมาว่าเป็นนิสัยของคนคนนั้นมากกว่าจะมองว่าเป็นเพียงปัจจัยในสถานการณ์เฉพาะ เช่น หากมีคนแซงคิว เรามีแนวโน้มมองว่าคนคนนั้นเห็นแก่ตัวและไม่นึกถึงคนอื่น ทว่าหากเราเป็นฝ่ายแทรกแถวบ้าง เราจะมีข้ออ้างอันจำเป็นในสถานการณ์นั้นชัดเจนในหัว (“ฉันรีบมาก ขอครั้งนี้ครั้งเดียวเถอะนะ!”)

พลวัตของคน-การกระทำ

การกระทำแต่ละอย่างมีน้ำหนักไม่เท่ากัน หากต้องการคงไว้ซึ่งการไม่ตัดสิน พยายามแยกการกระทำออกจากผู้กระทำ 

พลวัตเปิดปิด

แม้เราจะต้องระวังไม่หลงเชื่ออะไรง่าย ๆ แต่หากมีข้อมูลใหม่ที่ท้าทายความคิดแรก ๆ ของเรา เราต้องเปิดใจให้กับการเปลี่ยนแปลงการตัดสินของเรา

พลวัตความรู้ผิวเผิน-ลึก

การตัดสินควรขึ้นกับความลึกของความรู้ของเรา ทว่าคนส่วนมากตัดสินจากส่วนเสี้ยวของข้อมูลและกรอบของการเหมารวมต่าง ๆ และไม่แปลกที่ยิ่งถ้าคุณรู้เยอะเท่าใด ก็ยิ่งไม่มั่นใจมากเท่านั้น

พลวัตเชิงบวก-ลบ

แม้การตัดสินเชิงบวกเกินเหตุอาจนำมาซึ่งปัญหา แต่การตัดสินคนอื่นในแง่ลบก็มีแนวโน้มส่งผลเสียหรืออันตรายได้ไม่แพ้กัน

หยุดคิดสักนิดก่อนตัดสิน

สมองเราถูกออกแบบมาพร้อมสัญชาตญาณการเอาตัวรอด หากรู้สึกถูกคุมคาม เราจะเข้าสู่โหมดสู้-หนี-อยู่กับที่ และมองไม่เห็นเหตุผลมากมายที่อาจอยู่เบื้องหลังพฤติกรรมของอีกฝ่าย เราจะเกร็งและเข้าสู่ท่าตั้งรับ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาปกติ กุญแจสำคัญคือการหยุดก่อนจะเข้าสู่โหมดนี้

มีสติเสมอ 

แม้การตัดสินจะเป็นสัญชาตญาณตามธรรมชาติ แต่เราควรระวังคำพูด เพราะเมื่อพูดออกไปแล้วเราไม่สามารถย้อนเวลากลับไปได้ หยุดก่อน แล้วพิจารณาว่าเราสามารถเข้าใจได้หรือเปล่าว่าเหตุผลของเขาคืออะไร ปรับเสียงช่างวิพากษ์วิจารณ์ภายในให้กลายเป็นคำพูดเชิงบวก หรืออย่างน้อยก็ความคิดเห็นที่เป็นกลาง เพราะไม่ว่าอย่างไร เราไม่มีวันรู้เหตุผลของการกระทำของคนอื่นเหมือนกับเรื่องเจ้าสุนัขที่บราชเล่า

ไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง 

เมื่อมีคนไม่เห็นด้วยกับเราหรือสร้างปัญหาให้เรา ท่องไว้ว่ามันไม่ได้เกี่ยวกับเราเสมอไป มันอาจเป็นความเจ็บปวดหรือทุกข์ใจของอีกฝ่าย ลองให้โอกาสเขาดูดีไหม “อย่าประเมินความเจ็บปวดของคนอื่นต่ำไป” วิล สมิธกล่าว “เพราะถ้าว่ากันตรง ๆ ทุกคนล้วนมีเรื่องทุกข์ใจ แค่บางคนซ่อนมันเก่งเท่านั้นเอง” ลองมองหาข้อดีทั่ว ๆ ไปของเขาดู เรื่องนี้อาศัยการฝึกฝน เพราะตามธรรมชาติจิตใจเรามักมองหาด้านลบของคนอื่น ทว่าถ้าเราตั้งใจ เราจะหาข้อดีในตัวคนอื่นได้เสมอ

ท่องไว้ว่า “ทุกคนเหมือนกับฉัน” อย่าลืมว่าเรามีส่วนคล้ายคลึงกันมากกว่าแตกต่างกัน เมื่อใดที่เราอยากวิพากษ์วิจารณ์ใคร คนคนนั้นมีครอบครัวที่รักเหมือนกับเรา อยากเป็นสุขและพ้นจากความทุกข์เหมือนกัน และที่สำคัญที่สุดคือ เขาผิดพลาดได้เหมือนกับฉัน 

ปรับเปลี่ยนกรอบความคิด

หากมีใครทำอะไรไม่ถูกใจเรา อาจลองคิดง่าย ๆ ว่าเขากำลังแก้ปัญหาด้วยวิธีที่ต่างจากเรา หรือมีตารางเวลาไม่เหมือนเรา ซึ่งอาจจะช่วยให้คุณเปิดใจได้กว้างและยอมรับพฤติกรรมเขาได้มากขึ้น ดังที่ทะไลลามะกล่าวว่า “ผู้คนมีหนทางที่ต่างกันในการแสวงหาการเติมเต็มและความสุข แค่เพราะเขาไม่ได้ไปทางเดียวกับเราไม่ได้หมายความว่าเขาหลงทาง”

ทบทวนพฤติกรรมตัวเอง 

บางครั้งเราตัดสินคนอื่นจากการกระทำที่เราเองก็ยังทำหรือเคยทำ ยกตัวอย่างถ้าคุณตะโกนด่าใครที่ขับรถแย่ ลองถามตัวเองว่า “ฉันเคยขับรถแย่หรือเปล่า” แน่ละ เราทุกคนก็เคย 

ศึกษาเพิ่มเติม 

เมื่อมีใครทำพฤติกรรมน่ารำคาญ เขาอาจมีอาการผิดปกติบางอย่าง เช่น คนที่ทักษะสังคมไม่ดีอาจเป็นโรคแอสเพอร์เกอร์ ดังนั้นหากมีใครรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของคุณ ท่องไว้ว่ามันไม่ได้เป็นเพราะคุณ ให้โอกาสอีกฝ่าย คงไม่มีใครตื่นเช้ามาแล้วคิดว่า “วันนี้ฉันจะทำตัวทุเรศ” คนส่วนใหญ่ทำดีที่สุดแล้วภายใต้ข้อจำกัดที่มี ณ เวลาหนึ่ง

รู้สึกดีต่อตัวเอง

เบรอเน บราวน์ (Brené Brown) ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมสงเคราะห์จากมหาวิทยาลัยฮูสตันกล่าวว่า “หากฉันรู้สึกพอใจกับการเลี้ยงลูกของตัวเอง ฉันจะไม่ไปตัดสินคนอื่น หากฉันรู้สึกพอใจในร่างกายตัวเอง ฉันจะไม่ไปตัดสินทางเลือกของคนอื่น ฉันไม่เที่ยวไปล้อเลียนน้ำหนักหรือรูปร่างคนอื่น เราใจร้ายกับคนอื่นเพราะเราใช้คนอื่นเป็นเบาะรองรับความรู้สึกบกพร่องที่เรามีต่อตัวเอง” และจำไว้เสมอว่า การตัดสินคนอื่นไม่ได้นิยามคนคนนั้น แต่นิยามตัวเราเอง

อ้างอิง

https://www.psychologytoday.com/us/blog/living-the-questions/201410/10-reasons-to-stop-judging-people

https://www.psychologytoday.com/us/blog/theory-knowledge/201305/making-judgments-and-being-judgmental

https://www.psychologytoday.com/us/blog/anxiety-another-name-pain/202112/it-is-impossible-not-be-judgmental

http://journal.psy.kbu.ac.th/jour/20221201/10.pdf

Feldman Barrett, Lisa. How Emotions are Made: The Secret Life of the Brain. Houghton, Mifflin, Harcourt Publishing, New York, New York. 2017.

https://www.psychologytoday.com/intl/blog/anger-in-the-age-entitlement/201404/whats-wrong-criticism


Writer

Avatar photo

ศิริกมล ตาน้อย

อยากเกิดใหม่เป็นแมงกะพรุน

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts