“ขออุปกรณ์ ขอสอนที่บ้าน และขอสอนอย่างเดียว” 3 ข้อจากครูไทย เมื่อต้องสอนออนไลน์อย่างไร้เดดไลน์

วินาทีนี้ เราคงไม่ต้องเท้าความกันให้ยืดยาว ถึงผลกระทบทางการศึกษาที่เกิดขึ้น เมื่อห้องเรียนต้องอพยพสู่พื้นที่ออนไลน์มาพักใหญ่ ภายใต้สังคมที่เหลื่อมล้ำอย่างสุดขั้ว  

ภายใต้ห้องเรียนจอสี่เหลี่ยมที่ผู้สอนและผู้เรียนถูกแยกออกจากกัน เราพบว่าครูคือด่านหน้าในการรับมือกับความไม่พร้อมทุกมิติของระบบการศึกษา เมื่อแนวโน้มของสถานการณ์จะมีแต่ย่ำแย่ลง เพดานของยอดติดผู้เชื้อโควิด-19 รายใหม่พุ่งสูงถึงวันละ 3,000-5,000 คน สถานศึกษาต่างๆ จำเป็นต้องอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก พร้อมกับการเรียนและสอนออนไลน์ต่อไปอย่างไม่มีกำหนด 

ท่ามกลางความโกลาหล และผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว mappa รวบรวมสุ้มเสียงของครูไทยจำนวนหนึ่ง พวกเขาต้องการความช่วยเหลือใดที่สุดในช่วงเวลานี้ ผ่านคำถาม “ถ้าต้องเรียนออนไลน์ทั้งเทอม ครูอยากขออะไร 3 ข้อ”

จากการเก็บข้อมูลเป็นเวลา 3 วัน เราพบปัญหา ความเห็น ความทุกข์ และข้อเสนอแนะมากมายของคุณครู​ บทความถัดจากนี้ จึงเป็นการนำเสนอปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับคุณครู เพื่อส่งเสียงให้ดังขึ้น แข็งแรงขึ้น โดยหวังว่าเสียงดังกล่าวจะพัฒนากลายเป็นข้อเรียกร้องที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรับฟัง 

5 เรื่องอันดับแรกที่ครูอยากจะขอ…

สิ่งที่ครูขอ: ขออุปกรณ์การเรียนออนไลน์สำหรับครูและเด็ก

“ขอให้เด็กทุกคนเข้าถึงและเรียนออนไลน์ได้ เพราะตอนนี้ยังมีเด็กหลายคน ไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้เพราะไม่มีมือถือ หรือมือถือเป็นรุ่นโทรเข้าโทรออก ไม่มีเงินเติมเน็ต เพราะผู้ปกครองไม่มีรายได้ (ไม่ว่าจะเรียนแบบไหนอินเทอร์เน็ตก็ยังสำคัญอยู่ดี)”

“ขอสมาร์ทโฟนพร้อมอินเทอร์เน็ตฟรี ครั้งละ 3 เดือนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเลิกเรียนออนไลน์”

แม้รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 54 จะระบุไว้ชัดว่า รัฐต้องมีหน้าที่ดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี อย่างมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย แต่ในวันที่การศึกษาจำต้องอยู่ในรูปแบบออนไลน์ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏขึ้น ยังพบว่ามีเด็กอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ทั้งที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่ยากจน ครอบครัวมีรายได้ต่อครัวเรือนไม่เกิน 40,000 บาทต่อปี หรือประมาณ 3,300 บาทต่อเดือน หรือเด็กในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร การเข้าถึงอุปกรณ์ในการเรียนและความพร้อมในการเรียนออนไลน์จึงเป็นเรื่องยากและแทบจะเป็นไปไม่ได้ 

สิ่งที่ครูขอ: ขอการสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น อินเทอร์เน็ต ค่าไฟ รวมถึงแอพพลิเคชั่น ที่ครูต้องใช้ในการทำสื่อ เช่น การตัดต่อวิดีโอ การทำสไลด์

“ขอการสนับสนุนอินเทอร์เน็ตนักเรียน อาจเปลี่ยนงบจากค่าชุด ค่าอาหารกลางวันไปแทน รวมถึงสนับสนุนแอพพลิเคชั่นที่ครูต้องใช้ในการทำสื่อ”

“ถ้าไม่มีอุปกรณ์ให้ ขอค่าเน็ต ค่าไฟ ในการสืบค้นเอกสารให้เด็กเรียน และถ้าโรงเรียนไม่มีงบ ของบที่สามารถเบิกจากเขตได้ ไม่ใช่ให้ครูออกเงินเอง”

นอกจากความพร้อมด้านอุปกรณ์ นี่คือประโยคข้อความที่ครูแสดงความเห็นไปในทางเดียวกันจำนวนมากที่สุด โดยใจความสำคัญคือการมองว่า ‘อุปกรณ์ต่างๆ’ เช่น สมาร์ทโฟน อินเทอร์เน็ต เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างการเรียนรู้แบบออนไลน์ให้เกิดขึ้นจริง

นับตั้งแต่สถานศึกษาถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบอย่างฉับพลัน เราพบว่าปัญหาความไม่พร้อมทางด้านอุปกรณ์ของครูและนักเรียนเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่าง ข่าวดังที่เผยแพร่เมื่อเดือนมกราคม 2564 ภาพของนักเรียนหญิงที่นั่งกางร่มในทุ่งนาเพื่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตในการเรียนออนไลน์

ข่าวและผลสำรวจความคิดเห็นของเหล่าครูดังกล่าว สะท้อนถึงความไม่พร้อมที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำของระบบการศึกษา เราพบว่ามีครูจำนวนมากที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการจัดการซื้ออุปกรณ์ไม่ว่าจะเป็นแท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ ไฟ รวมถึงค่าแพ็คเกจอินเทอร์เน็ตเพื่อสอนออนไลน์ มีครูจำนวนไม่น้อยที่พยายามเสนอทางออกของปัญหา โดยเสนอให้นำงบค่าชุดนักเรียนและค่าอาหารกลางวันที่โรงเรียนเคยได้รับเปลี่ยนมาเป็นเงินสนับสนุน เพื่อทำให้ปัญหาดังกล่าวคลี่คลาย

สิ่งที่ครูขอ: ขอสอนที่บ้าน

“โรงเรียนหลายแห่งบังคับให้ครูมาสอนออนไลน์ที่โรงเรียน แต่โรงเรียนไม่ได้มีความพร้อมทั้งอุปกรณ์ ระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งบางทีครูอยู่ที่บ้านอาจจะทำงานได้สะดวกกว่าด้วยซ้ำ”

‘ครูอาร์ม’ ธนากร สร้อยเสพ ครูสอนวิชาประวัติศาสตร์ โรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ จังหวัดลำพูน เคยให้สัมภาษณ์กับ mappa ถึงประเด็นดังกล่าวไว้ว่า วิกฤติดังกล่าวนอกจากครูต้องต้องเผชิญหน้ากับภาระงานที่หนักเหมือนเดิม เช่น การเข้ารับการอบรม การทำรายงานเอกสารส่งโรงเรียนจนเบียดบังเวลาในการสอน แทนที่ครูจะได้โฟกัสกับการออกแบบเครื่องมือใหม่ๆ และคิดค้นวิธีการใหม่ที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ของเด็ก ที่สำคัญครูไทยยังต้องเดินทางไปสอนออนไลน์ที่โรงเรียน

แม้ประกาศของกรุงเทพมหานครที่ว่าด้วยการปิดสถานที่ อาทิ โรงเรียน สถาบันกวดวิชา และสถาบันการศึกษาทุกประเภท ห้ามจัดการเรียน การสอน การสอบ การฝึกอบรม รวมถึงการทำกิจกรรมใดๆ ยังมีผลใช้บังคับอยู่ ทว่าการบังคับให้ครูมาสอนออนไลน์ที่โรงเรียนสามารถทำได้ โดยอยู่ภายใต้คำสั่งของผู้บริหาร

ท่ามกลางตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่สูงทะลุ 3,000-5,000 ต่อวันเช่นนี้ ครูจำนวนไม่น้อยมีความกังวลในความปลอดภัยของตัวเองรวมถึงครอบครัว เนื่องจากครูจำนวนมากยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ฉะนั้นการเดินทางออกจากบ้านเพื่อเดินทางไปสอน อาจเพิ่มความเสี่ยงในการรับเชื้อ 

นอกจากนั้นครูยังแสดงความคิดเห็นว่าการจัดการเรียนการสอนที่บ้าน อาจมีความพร้อมมากกว่า เพราะสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่โรงเรียนช้าและไม่ทั่วถึง

สิ่งที่ครูขอ: ขอสอนอย่างเดียว

“ลดเอกสารเรื่องอื่นลง ขอให้ครูได้เต็มที่กับการเตรียมงานการสอนอย่างสุขใจ ต้องสอนสด ต้องส่งคลิปในบทเรียนเพื่อทบทวน ทำใบงานเพิ่มเติมจากหนังสือแบบฝึกหัด”

“ขอให้งานเอกสารลดลง การขอข้อมูล การสำรวจซ้ำซ้อน ซ้ำซากลดลง ให้ครูได้มีเวลาเตรียมสอนออนไลน์ ติดตามเด็ก ตรวจงาน มีเวลาคิดและผลิตงานที่สร้างสรรค์เหมาะสมกับการเรียนออนไลน์ในแต่ละเรื่อง”

“อย่าเพิ่มภาระงานครู โดยมีเอกสารต่างๆ ให้ครูพิมพ์ส่ง กรอกเอกสารส่ง โดยมีคำสั่งส่งด่วน (เพราะครูเตรียมการสอนทุกชั่วโมง)”

“ไม่ต้องสอนชดเชยและลดงานเอกสาร”

“ขอเกณฑ์ในการวัดผลประเมินผลแบบที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในสถานการณ์นี้ค่ะ ป.ล.รายงานต่างๆ น้อยลงหน่อยเถอะค่ะ”

“อยากให้หยุดการประเมินและประชุมต่างๆ นะคะ อยากให้เวลากับการสอน เพราะต้องเตรียมการสอน ต้องถ่ายวิดีโอสอน ทำสื่อ ตรวจงาน บางวันนอนตี 1 ตี 2”

“อย่าเพิ่มภาระให้ครูเป็นพอ…ไม่ใช่จะมาประเมินช่วงนี้บ้างละ…หรือจะมาเอางานด่วนบ้างละ…แค่เตรียมเอกสารกับสอนออนไลน์ก็จะหน้ามืดตายละ”

อีกหนึ่งประเด็นที่ครูไทยต้องเผชิญหน้ามาตลอดคือ ‘ภาระงานนอกเหนือการสอน’

ช่วงเวลานี้นับเป็นระลอกที่สามแล้วกับการเรียนออนไลน์ นอกจากความไม่พร้อมของอุปกรณ์การเรียน จำนวนการบ้านที่ล้นเกินกำลังของนักเรียน การจับต้นชนปลายไม่ถูกในการออกแบบวิธีการสอนของครู มาตรการที่ไม่ครอบคลุมผู้ปกครองและนักเรียน วิกฤตินี้ยังสะท้อนให้เห็นภาพภาระงานยิบย่อยที่ครูต้องแบกไว้บนบ่า 

แม้ห้องเรียนจะเปลี่ยนรูปแบบเป็นออนไลน์ ครูถูกผลักเข้ามาสู่ระบบออนไลน์ ทว่านโยบายต่างๆ ที่ยึดโยงกับระบบราชการ ทั้งงานเอกสาร ติดตาม ประเมินผลที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสอนเนื้อหาในห้องเรียน ไม่ได้เป็นตัวช่วยในการส่งเสริมพัฒนาการสอนของครู ซ้ำยังกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้ครูรู้สึกหนักและเหนื่อยมากกว่าเดิม

สิ่งที่ครูขอ: ขอวัคซีน

“ขอข้อเดียวครับ วัคซีน”

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าครูคือด่านหน้าของระบบการศึกษา การจัดสรรวัคซีนให้กับกลุ่มคณะครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศเป็นสิ่งจำเป็นที่ภาครัฐต้องเร่งทำ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้ครู และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครองและนักเรียน 

สำหรับประเทศไทยข้อมูล ณ วันที่ 27 มิถุนายน 2564 พบว่าสถิติของประชากรที่ได้รับวัคซีนแล้วมีเพียง 9,055,141 โดส ขณะที่สัดส่วนของการฉีดวัคซีนทั่วโลกมีมากถึงจำนวน 2,898 ล้านโดส ยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับวัคซีน และหนึ่งในนั้นคือบุคลากรครู 

ยิ่งมีคำสั่งให้ครูเดินทางไปปฏิบัติงานที่โรงเรียนตามแผนนโยบาย การเข้าถึงวัคซีนจึงเป็นต้องให้ความสำคัญกับคณะครูและบุคลากรทางการศึกษาเพิ่มมากขึ้นด้วย


Writer

Avatar photo

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา

พยายามฝึกปรือและคลุกอยู่กับผู้คนในวงการการศึกษา เพราะเชื่อว่าการเรียนรู้เป็นใบเบิกทางให้ขยายขอบขีดความสามารถตัวเอง ฝันสูงสุดคืออยากเห็นตัวเองทำงานสื่อสารที่มีคุณภาพและคุณค่าต่อไป

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย

ทำงานกราฟิกหลากหลาย นิยมการพูด-เขียนสั้นๆ วาดรูปน้อยๆ เพราะสมาทานแนวคิดประหยัดพลังงาน มองว่าเด็กคือมนุษย์ตัวเล็กย่อส่วน ไม่ได้รักหรือเกลียดเป็นพิเศษ

Related Posts