‘ช่างมัน’ ไม่เคยแก้ปัญหา ‘ลงมือทำ’ ดีกว่าจาก 5 เรื่องราวใน TEDxcharoenkrung

  • บทเรียนจากวิกฤตโรคระบาด การเมือง และสังคม ทำให้เราหันกลับมามองปัญหาใกล้ตัวที่เคยมองข้ามไป หลายครั้งอยากลงมือทำเพื่อช่วยสังคม แต่ไม่กล้าลงมือทำ 
  • เพราะการรู้ปัญหาไม่ได้แปลว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง สังคมจะเดินต่อไปได้ เมื่อเราเห็นปัญหาและลงมือทำด้วยความสามารถที่เรามี แค่ไม่บอกว่า ‘ช่างมัน’ ก็ถือเป็นหนึ่งเสียง
  • ชวนปลดล็อคความคิดผ่าน 5 เรื่องราวที่จะทำให้เราก้าวข้ามเงื่อนไขที่มองไม่เห็นและกล้าลงมือทำผ่านเรื่องเล็กในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินคนอื่น การซื้อเสื้อผ้า เริ่มต้นบทสนทนาสร้างเมือง การถูกเอาเปรียบทางอ้อมจากการกินหมูกระทะ ไปจนถึงการอนุรักษ์คลองจากงาน TEDxCharoenkrung 2021 ใครล็อค คลายล็อค

เห็นปัญหาร้อยครั้งไม่เท่ากับลงมือทำครั้งเดียว

บทเรียนจากวิกฤตโรคระบาด การเมือง และสังคม ทำให้เราหันกลับมามองปัญหาใกล้ตัวที่เคยมองข้ามไป

อยากลงมือทำเพื่อช่วยสังคม แต่ไม่กล้าลงมือทำ เพราะเงื่อนไขที่มองไม่เห็น

เงื่อนไขความกลัว ความไม่รู้ และไม่เข้าใจว่าเราจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสังคมอย่างไร

จึงเป็นที่มาของงาน TEDxCharoenkrung 2021 ในธีม ‘ใครล็อค คลายล็อค’ ที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Thailand Creative & Design Center: TCDC)  กลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ชวนผู้ฟังอันล็อกความคิดให้กล้าลงมือทำผ่าน 8 สปีกเกอร์ 8 เรื่องราว และ 2 การแสดง

แต่จากทั้งหมด 8 เรื่องราว มี 5 เรื่องราวที่ปลดล็อกแนวคิดให้ก้าวข้ามเงื่อนไขที่มองไม่เห็นและกล้าลงมือทำผ่านเรื่องเล็กในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินคนอื่น การซื้อเสื้อผ้า เริ่มต้นบทสนทนาสร้างเมือง การถูกเอาเปรียบทางอ้อมจากการกินหมูกระทะ ไปจนถึงการอนุรักษ์คลอง

เพราะการรู้ปัญหาไม่ได้แปลว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง สังคมจะเดินต่อไปได้ เมื่อเราเห็นปัญหาและลงมือทำด้วยความสามารถที่เรามี แค่ไม่บอกว่า ‘ช่างมัน’ แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ถือเป็นหนึ่งเสียง

หมอแป๊ะ: มากกว่าบาปบุญ การทำแท้งคือสิทธิในร่างกาย

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) บอกว่า 6 ใน 10 ของการตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจทั้งหมดจบลงด้วยการทำแท้ง และเกือบครึ่งตัดสินใจทำแท้งเถื่อน

25 ล้าน คือ จำนวนผู้หญิงที่ทำแท้งในแต่ละปี และ 23,000 คน คือ จำนวนผู้หญิงที่เสียชีวิตจากการทำแท้งในแต่ละวัน

“ยินดีต้อนรับสู่โลกสีเทาของการตั้งครรภ์” 

คือ ประโยคเปิดทอล์ก “ขอทวงความเป็นคน แก่ผู้พ้นความเป็นมารดา” ความยาว 12 นาที ของ ‘หมอแป๊ะ’ ผศ.นพ.ธนพันธ์ ชูบุญ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 

หมอแป๊ะ คือ อดีตคนเคยตัดสินการทำแท้งว่าเป็นเรื่องผิดด้วยการตั้งคำถามกับผู้หญิงวัย 20 ปีคนหนึ่งซึ่งมาขอทำแท้งเป็นครั้งที่ 4 ว่า “การทำแท้งสามครั้งที่ผ่านมาเธอไม่เคยรู้สึกอะไรเลยหรือ มันง่ายมากที่จะทำแท้งแล้วท้องใหม่ นั่นคือผมเกลียดเขาแล้วครับ ผมตัดสินว่าเขาไม่ดีพอให้ผมรักษา”

แต่บทสนทนาระหว่างหมอกับคนไข้หลังจากนั้น ทำให้คุณหมอเปลี่ยนความคิดว่า หมอไม่ได้รักษาคนไข้อย่างเดียว แต่หมอมีหน้าที่ “รักษาสิทธิและความเป็นหญิง” ด้วย

“พ่อไม่เคยมองหนูเป็นลูก อยู่ในบ้านหนูเป็นอากาศ” คือคำตอบของผู้หญิงคนนั้น 

เพราะขาดและต้องการความรักจึง ‘ยอม’ เพื่อความอบอุ่นทางใจ 

“ถ้าผมไม่ทำ เขาจะถูกส่งไปหาหมอเถื่อนที่มีอยู่ทั่วประเทศ เขาอาจจะใช้วิธีการบีบ เหยียบ คัดมดลูกจนเกิดการแตก ฉีกขาด หรือบางทีก็ใช้ไม้เสียบลูกชิ้น ไม้แขวนเสื้อ แหย่เข้าไปในช่องคลอด ความเจ็บปวดเหล่านั้นมันตกอยู่ที่ผู้หญิง”

เพราะความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง ลูกสาววัยมัธยมของคุณหมอรับรู้ได้ 

“ถ้าพ่อไม่ทำแท้ง ผู้หญิงจะอยู่ยังไง” คือ คำถามของลูกสาววัยมัธยม หลังจากรู้ว่า พ่อสนับสนุนและให้บริการยุติตั้งครรภ์หรือการทำแท้งอย่างปลอดภัย

ในฐานะพ่อ “ผมดีใจที่ลูกห่วงใยเพื่อนมนุษย์ มากกว่าบาปบุญคุณโทษที่เคยถูกสั่งสอนมา”

และมากกว่าบาปบุญ การทำแท้ง คือ การพูดถึงเรื่องสิทธิในร่างกาย

“ที่ผมทำแท้ง หลายๆ คนอาจจะมองว่าไม่ดี แต่ผมเข้าใจแล้วว่าสิ่งที่ผมทำคือผมกำลังรักษาสิทธิที่มนุษย์คนหนึ่งพึงมี ผมสอนลูกให้เข้าใจถึงสิทธิของตัวเอง สิทธินี้ไม่ใช่ใครให้มา มันติดตัวเราอยู่แล้ว ลูกมีสิทธิในร่างกาย ลูกมีทางเลือกเสมอ”

การทำแท้งเป็นเรื่องไม่ดี สังคมบอกแบบนั้น มันเป็นเรื่องบาปบุญและศีลธรรม

แต่สำหรับคุณหมอ การทำแท้ง คือ การให้โอกาสผู้หญิงคนหนึ่งกลับไปมีสุขภาพที่สมบูรณ์และมีชีวิตของเขาเอง

อย่างน้อยที่สุด ในเวลาที่ยากลำบาก หลายคนต้องการความเข้าใจ สุภาพสตรีที่ต้องการทำแท้งก็เช่นกัน

สูตินรีแพทย์ที่ให้บริการทำแท้งปลอดภัยในความหมายของคุณหมอ ควรเป็นคนที่เข้าใจว่า เรื่องนี้เป็นสิทธิของผู้หญิง เธอมีสิทธิในร่างกายตัวเอง เช่นนั้นบทบาทของหมอ คือ ให้ความสำคัญชีวิตตรงหน้า วางเรื่องบาปบุญลง แม้จะเป็นเรื่องยากก็ตาม

หากเราข้ามผ่านเรื่องบาปบุญและการตัดสิน เราจะเป็นคนที่ให้โอกาสคนเคยพลาดกลับมาเป็นคนธรรมดาคนหนึ่งในสังคม

“ผมสอนลูกศิษย์เสมอว่าผู้หญิงมีสิทธิในร่างกายของเขา ประเทศชาติขับเคลื่อนด้วยบาปบุญคุณโทษไม่ได้ แต่จะพัฒนาได้เมื่อเราพร้อมที่จะต้อนรับการกลับมาของ ‘ผู้ที่เคยผิดพลาดไปแล้ว’”

ระหว่างการทอล์กความยาว 12 นาที คุณหมอบอกว่ามีคนทำแท้งเถื่อนสำเร็จแล้ว 576 คน และ 12 นาทีหลังจากทอล์กนี้จบลงจะมีผู้หญิงเสียชีวิตจากการทำแท้ง 1 คน 

“เพราะสีเทาขยับมาทางสีขาวที่ไม่ได้ขาวสนิท และการตายของผู้หญิงอีกหนึ่งคนข้างหน้าจะไม่สูญเปล่า ถ้าเราเข้าใจ” คุณหมอทิ้งท้าย

WE PARK: บทสนทนาที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน แต่สร้างเมืองได้

“กำแพงที่สูงที่สุด คือ กำแพงโครงสร้างรัฐ และอาวุธที่ทำลายกำแพงนั้นได้ คือ ความร่วมมือ”

ประโยคหนึ่งของยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิก ผู้ร่วมก่อตั้ง WE PARK ในทอล์ก “เสียงทลายกำแพง” เพราะความฝันและเสียงของคนอยู่ไม่เคยถึงรัฐ ผู้สนับสนุนหลักในการออกแบบเมือง

“เราเติบโตในเมืองที่ขาดการมีส่วนร่วมกับทางเลือกที่มีอยู่แค่ 2 ทาง คือ เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย มีแต่เสียงเห็นด้วยที่ถูกรับฟัง แล้วเสียงที่ไม่เห็นด้วยล่ะ…”

คำว่า ‘เมือง’ ไม่ได้หมายถึงสถานที่เพียงอย่างเดียว แต่ ‘เมือง’ กำลังพูดถึงคุณภาพชีวิตและเสรีภาพของผู้คนด้วย

จึงเป็นที่มาของการสร้าง “บทสนทนาเพื่อแก้ปัญหา” ของยศพล เพื่อให้ “เมืองเป็นพื้นที่ของทุกคน” ซึ่งเป็นบทสนทนาที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน แต่เข้าใจและ ‘รับฟัง’

หนึ่งในความสำเร็จอันเป็นรูปธรรมของเขาคือการออกแบบลานกีฬาพาร์ค 1 ในแฟลตคลองจั่น

โจทย์สำคัญของการออกแบบที่ตั้งต้นจากการรับฟัง คือ

“คุณครูอนุบาลอยากได้สนามเด็กเล่น เด็กๆ จะได้มีพื้นที่วิ่งเล่น คุณลุงคุณป้าอยากได้พื้นที่ปลูกสมุนไพรเพื่อเผยแพร่ความรู้ และเด็กๆ อยากได้เวทีการแสดง”

เมื่อสวนสาธารณะเปิดใช้งานจริง คุณป้าบอกกับยศพลว่า “ป้าภูมิใจและดีใจมาก” นั่นหมายความว่าเสียงของคุณป้าถูกได้ยิน ความเป็นพลเมืองได้ถูกเปิดขึ้นแล้วจากการมีส่วนร่วมครั้งนั้น 

“ผมเปลี่ยนลานกีฬาพาร์ค 1 ในแฟลตคลองจั่นให้เป็นพื้นที่สาธารณะขนาดเล็ก ที่นั่นคนออกแบบไม่ใช่ผม ไม่ใช่ใคร แต่เป็นคนในชุมชน ผมเปลี่ยนการออกแบบจาก top down เป็น bottom up เปลี่ยนจากความคิดเราเป็นใหญ่สู่การรับฟัง เปลี่ยนจากการช่วยเหลือเป็นหุ้นส่วนแล้วพัฒนาไปด้วยกัน”

เราต่างมีฝันที่อยากจะอยู่ในเมืองที่ดี อยากให้คนรัก พ่อแม่ ลูกหลาน มีพื้นที่ความสุขของตัวเองและใกล้บ้าน คงดีถ้าความฝันเหล่านี้ถูกแปรเป็นเสียงให้รัฐได้ยิน 

“เสียงที่เราได้ยินกันและกันอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่เสียงที่มาจากผู้ทรงเกียรติเท่านั้น”

การรับฟังและสนทนาจากทุกคนจะนำมาสู่ข้อเสนอ การพัฒนา และการมีส่วนร่วมของคนทุกคน 

เช่นเดียวกับแนวคิดหลักของ ‘WE PARK’ กลุ่มคนที่อยากเปลี่ยนเมืองให้เป็นเมืองของทุกคนด้วยการเปลี่ยนพื้นที่รกร้างเป็นพื้นที่สาธารณะที่กระจายทั่วเมืองทุกคนสามารถเดินถึงได้ในระยะ 400 เมตร บนความเชื่อ “เมืองไม่ใช่สิ่งปลูกสร้างแต่เป็นสังคม”

สังคมที่เกิดจากการทำงานร่วมกันตั้งแต่หาพื้นที่ ออกแบบ สร้าง ระดมทุน และบริหารจัดการของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม ประชาชน และภาควิชาการ ทำงานด้วยกัน อีกทั้งยังได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) และ กรุงเทพมหานคร จนตอนนี้มีสวนสาธารณะที่เข้าถึงคนเมือง 5 แห่งกระจายทั่วกรุงเทพฯ

“ทุกคนสามารถแบ่งปันทรัพยากรเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวในชุมชนได้” คือจุดประสงค์ของโครงการ WE PARK

เพราะยศพลเชื่อว่า “ทุกการพุ่งชนกำแพงจะมีรอยร้าวเสมอ และรอยร้าวนั้นคือบทเรียนของการเติบโต” และเมื่อเราทลายกำแพงได้แล้ว สุดท้ายเราก็จะมีเมืองที่สวยและผู้คนมีความสุข

“กี่ครั้งแล้วที่เราต้องอยู่ในภาวะ ‘ยอม’ จำนนในเมืองที่เราไม่มีส่วนร่วมกับเมืองที่เราไม่ได้มีส่วนเลือก แต่ถ้าเราเชื่อมั่นว่าทุกการพุ่งชนกำแพงจะมีรอยร้าวเสมอ และรอยร้าวนั้นคือบทเรียนของการเติบโต”

เราจะทลายกำแพงก้าวผ่านความเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ ขณะเดียวกันลูกหลานก็จะเติบโตในเมืองที่สวยและมีความสุข เมืองที่ตั้งต้นจากการรับฟังไม่ใช่การถูกกำหนดจากใคร

Reviv : ซื้อใหม่ทำไม ตั้งสติก่อนจ่ายเงิน

แต่ละปีเสื้อผ้าถูกผลิตออกมาประมาณ 1 แสนล้านชิ้น และ 70% ของเสื้อผ้าเหล่านั้น ผู้สวมใส่มักโยนทิ้งไปแล้วซื้อใหม่

ขณะเดียวกันการตัดสินใจเลือกซื้อเสื้อผ้าใหม่ของเรากลับถูกสังคมปลูกฝังให้ซื้ออย่างไม่ลืมหูลืมตา 

เวลามีคอลเล็คชั่นเสื้อผ้าใหม่ๆ มา ต้องตามซื้อ โดยภาครัฐและภาคธุรกิจก็ให้ความสำคัญกับการบริโภคสินค้าเพื่อแสดงให้เห็นว่าสภาพเศรษฐกิจของประเทศมีการเติบโต แต่กลับไม่คำนึงถึงผลกระทบของอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ส่งผลเสียตามมา

“เราซื้อเสื้อผ้ากันไปทำไม” 

คำถามแรกก่อนเริ่มต้นทอล์ก “ซื้อทำไมถามใจเธอดู” ของ ‘ภูมิ’ ภาคภูมิ โกเมศโสภา ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท  Reviv 

สำหรับหลายคน การซื้อเสื้อผ้าใหม่ คือ การปกปิดความรู้สึกในใจ

ซื้อเพราะอยากบอกตัวตน (ฉันจะใส่เสื้อซ้ำไม่ได้)

ซื้อเพราะอยากเป็นที่ยอมรับ (อย่างน้อยเสื้อผ้ามีแบรนด์ ผู้คนจะสนใจ)

ซื้อเพราะลดราคา (โปรวันกับเดือนเดียวกัน ฉันจะพลาดไม่ได้)

ซื้อเพราะเคยเห็นดาราที่ชอบใส่แล้วถ่ายลงสื่อโซเชียลมีเดีย (ซัพพอร์ตศิลปินที่ชอบนิดหนึ่ง)

ไม่ว่าจะซื้อเสื้อผ้าใหม่ด้วยเหตุผลอะไร แต่เราซื้อเพราะคาดหวังว่าเสื้อผ้าจะตอบสนองความรู้สึกบางอย่างในใจเรา จนลืมตั้งคำถามว่า ราคาที่ต้องจ่ายของการซื้อเสื้อผ้าใหม่คืออะไร

ฉากหลังของเสื้อผ้าที่เราใส่อยู่ คือ มลพิษทางน้ำและอากาศ เพราะขั้นตอนการผลิตยังต้องอาศัยสีย้อมผ้า ใช้น้ำทำความสะอาดเสื้อผ้า และการทิ้งเสื้อผ้าแบบฝังกลบยังทำให้ดินเสื่อมสภาพ ยังไม่นับรวมถึงเวลาการทำงานของผู้ผลิตเสื้อผ้าในแต่ละตัว

“ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจว่าทำไมคนที่ผลิตสินค้าหรือคนขายเสื้อผ้า เขาไม่เคยตั้งคำถามว่าเสื้อตัวนี้ที่ฉันขายมันสร้างผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมยังไงบ้าง เพราะเป้าหมายของภาครัฐและภาคธุรกิจคือผลักดันให้สังคมบริโภคสินค้าให้มากที่สุดโดยที่ไม่ต้องตั้งคำถามเหล่านี้”

“ผมเชื่อว่า การตั้งคำถามกับเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ในแต่ละตัวจะช่วยให้เราค่อยๆ เห็นคุณค่าของเสื้อผ้าในตู้ของเรามากขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่านั่นคือจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงของพวกเราในฐานะผู้บริโภค”

กลยุทธ์ที่ได้ผลดีในกลไกการตลาดจึงมักส่งเสริมให้ผู้บริโภคเอาความรู้สึกหรือคุณค่าของตัวเองมาผูกมัดกับการเลือกซื้อสินค้า เพราะทำให้มัน ‘ขายได้’

“ยิ่งเรารู้สึกเปราะบางกับตัวเองมากแค่ไหน การซื้อสินค้าตัวใหม่เพื่อปลอบประโลมความรู้สึกเหล่านั้นก็ยิ่งกลายเป็นกลไกในการตอบสนองความต้องการของเรามากขึ้น”

ภูมิมองว่า เสื้อผ้าก็ไม่ต่างจากคนคนหนึ่ง ความสัมพันธ์ของคนใส่กับเสื้อผ้าก็ไม่ต่างจากคนรัก

“ผมคิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเสื้อผ้าไม่ต่างอะไรกับคนแปลกหน้าที่เราอยากได้เป็นแฟน เรารู้จักกับเขาเพียงผิวเผินบนหน้าร้าน พร้อมกับภาพวาดฝันที่สื่อโฆษณาวาดไว้ให้ โดยที่เราไม่รู้จักอะไรเกี่ยวกับเขาเลยจริงๆ พอเราเบื่อเขาแล้ว เราก็สามารถโยนเขาทิ้งไปได้อย่างไร้เยื่อใย แล้วก็พร้อมที่จะไปหาแฟนคนใหม่”

“เพราะสำหรับพวกเรา เสื้อผ้าเป็นของใช้แล้วทิ้ง” สุดท้ายพอเก่า เราก็ ‘ทิ้ง’ 

ภูมิจึงอยากชวนทุกคนถามตัวเองตอนหยิบเสื้อผ้าว่า เรารู้จักเสื้อผ้าตัวนี้มากน้อยแค่ไหน

“เราซื้อมาใส่ตอนไหน เราซื้อมาเมื่อไหร่ แล้วตอนที่เราซื้อเราต้องการอะไรจากเขากันแน่ เราใส่เขาบ่อยมากแค่ไหน คุณและเขาเคยไปที่ไหนด้วยกันมาบ้างแล้วเราให้คุณค่ากับเสื้อผ้าที่เราใส่ตัวนั้นมากพอหรือยัง”

ด้วยเหตุผลที่ไม่อยากให้ทิ้ง ทำให้ภูมิและเพื่อนตัดสินใจร่วมกันทำ Reviv บริการเย็บ ซ่อม ปรับแต่งเสื้อผ้าออนไลน์ พร้อมเล่าเรื่องระหว่างทางของช่างเย็บ และวัตถุดิบที่ใช้ปรับแต่งเสื้อผ้า ให้ลูกค้ารู้สึกผูกพันและเห็นคุณค่าเสื้อผ้าตัวเก่าอีกครั้ง

ยกตัวอย่างเช่น ผลงาน “Slow but Chua” ที่มาจากความตั้งใจของชาวม้งที่ชื่อว่าแม่ชัว และ Reviv ในการเปลี่ยนรูขาดของเสื้อผ้าด้วยฝีปักที่ไม่ยอมปล่อยผ่านจนกว่าจะสมบูรณ์แบบ สร้างความรู้สึกให้อยากเอากลับมาใส่ใหม่อีกครั้ง ภายใต้ความเชื่อที่ว่าการนำกลับมาใส่ใหม่ดีกว่าซื้อใหม่

ภูมิอยากให้มองว่า การซื้อสินค้าใหม่ก็เพื่อตอบสนองความต้องการของเราเป็นเรื่องปกติและสามารถทำได้ ขณะเดียวกันก็อยากให้ทุกคนหันมาใส่เสื้อผ้าซ้ำ หันมาสำรวจความสัมพันธ์ของตนเองกับเสื้อผ้าและตั้งคำถาม

“การตั้งคำถามกับเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ในแต่ละตัวจะช่วยให้เราค่อยๆ เห็นคุณค่าของเสื้อผ้าในตู้ของเรามากขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่านั่นคือจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงของพวกเราในฐานะผู้บริโภค”

เส้นด้าย : ทุกการเปลี่ยนแปลงมีราคาที่ต้องจ่าย ช่างมันไม่ได้แปลว่ายอม 

รถปาดหน้าขึ้นสะพาน ค่า sms ไร้ที่มาแต่กลับต้องจ่ายพร้อมค่าโทรศัพท์ และการมีประกันสุขภาพต่างหาก (ทั้งที่มีประกันสังคมเป็นพื้นฐาน) เพื่อเข้าโรงพยาบาล

คือ 3 ตัวอย่างของการถูกเอาเปรียบในเรื่องเล็กน้อยที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน

แต่คริส โปตระนันทน์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มเส้นด้าย มองว่า นี่คือ ‘สิทธิ’ 

สิทธิที่จะ ‘ไม่ยอม’ เพื่อ ‘ไม่ถูกเอาเปรียบ’ 

เพราะหลายครั้งเราเพิกเฉยต่อเรื่องที่ทำให้เรารู้สึกแย่ ถูกเอาเปรียบ แล้ว ‘ปล่อยผ่านไป’ จนกลายเป็นเรื่องธรรมดา 

เรื่องเล็กๆ ที่เกิดขึ้นจริงจากประสบการณ์ของคริส คือ การกินหมูกระทะ 

“ผมไปกินหมูกระทะ ป้ายเขียนว่า ‘199 บาทหมูกระทะ’ แล้วมันจะมีจุดเล็กๆ ดอกจันเขียนว่าไม่รวมเครื่องดื่ม สองคนเช็คบิลออกมาเขาเก็บเงินผม 509 บาทเพราะมันไม่รวม VAT ที่เป็นส่วนต่าง ตอนไปจ่ายเงินผมเลยบอกเจ้าของร้านว่า วันหลังช่วยแจ้งนิดหนึ่งว่าร้านไม่รวม VAT ลูกค้าที่ใช้บริการเขาจะได้รู้”

หลายคนอาจไม่คิดว่าเรื่องนี้ เรากำลังถูกเอาเปรียบ แต่ในฐานะผู้บริโภค เรามีสิทธิรู้ข้อมูลอย่างถูกต้องและครบถ้วนก่อนตัดสินใจเดินเข้าร้าน แม้ว่าราคาที่ต้องจ่ายจะมีมูลค่าหลักหน่วยหรือหลักสิบก็ตาม

ในเหตุการณ์นี้คริสยอมเสียเวลาอย่างน้อยสองชั่วโมงไปแจ้งความ เพื่อให้ร้านหมูกระทะติดสติกเกอร์อีกแผ่นเพื่อบอกลูกค้าคนอื่นว่า 199 บาท ไม่รวม VAT ไม่รวมเครื่องดื่ม แม้ว่าร้านจะบอกว่า “ก็ไม่เห็นมีใครมีปัญหาเลยหนิ มีคุณมีปัญหาอยู่คนเดียว” 

“เพิ่มเงินแค่ไม่กี่บาทที่เป็นส่วนต่างก็ช่างมัน เงินแค่นิดเดียวไม่เป็นไรหรอก ฉันจ่ายได้แต่จะมีสักกี่คนที่ไม่เพิกเฉยเพื่อปกป้องสิทธิของตนเองและเรียกร้องต่อสำนักงานส่งเสริมและคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)”

“ผมรู้สึกพอใจว่าผมได้ทำอะไรที่ถูกต้อง ยืนหยัดในความถูกต้องและช่วยเหลือคนข้างหลังที่เป็นลูกค้าคนอื่นๆ”

จึงเป็นที่มาของกลุ่มเส้นด้าย กลุ่มของคนที่ไม่ยอมและต่อสู้เพื่อให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น แม้ว่าจะมีเส้นหรือไม่มีเส้นก็ตาม

จนเข้ามามีบทบาทสำคัญในช่วงโควิดที่ผ่านมา 

“ไม่มีใครพูดแทนผู้ป่วยได้” แต่เส้นด้ายจะรักษาสิทธิให้ผู้ป่วยเอง

เพราะในภาวะวิกฤตโรคระบาด ผู้ป่วยโควิดจำนวนมากถูกเอาเปรียบและตัดปัญหาด้วยคำพูดสั้นๆ ว่า ‘เตียงเต็มแล้ว’ หรือ ‘น้ำยาหมด’

บางครั้งก็ไม่สามารถติดต่อใครที่จะช่วยเหลือได้ ทำให้ผู้ป่วยทำได้แค่รอ

“วันนั้นเราตั้งเพจขึ้นมา โพสต์ไปว่าเราจะตั้งกลุ่มเส้นด้าย ทำคอลเซ็นเตอร์ เราจะรับผู้ป่วยเองจากวันนั้นถึงวันนี้ เส้นด้ายช่วยคนไปกว่า 2 แสนคน แล้ววันนี้เส้นด้ายกลายเป็นชื่อแรกๆ ที่ผู้ป่วยมักจะนึกถึงถ้าเป็นโควิดหรือติดโควิดขึ้นมา”

ในช่วงแรกๆ ของสถานการณ์โควิด มีเพียงการตรวจโควิดแบบ RT-PCR ที่โรงพยาบาลเท่านั้น ซึ่งใช้เวลาในการรอผลนาน 2-3 วัน เมื่อตรวจเสร็จทางโรงพยาบาลจะแจ้งผลผ่าน SMS หรือทางโทรศัพท์ ซึ่งบางครั้งก็ไม่ได้รับการตอบกลับ

ในขณะเดียวกันโรงพยาบาลบางแห่งเตียงไม่เต็ม แต่กลับไม่รับผู้ป่วยเพิ่ม เพียงเพื่อเก็บเตียงไว้ให้ผู้ป่วยที่จ่ายเงินสดหรือผู้ป่วยที่มีประกันเอกชนเท่านั้นทำให้ผู้ป่วยที่มาพร้อมสิทธิการรักษาขั้นพื้นฐานไม่สามารถทำอะไรได้เลย

แม้จะไม่รู้ว่าหนทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่คริสบอกว่ากลุ่มเส้นด้ายจะยังสู้ต่อไปเป็น ‘โดมิโนที่ไม่ล้ม’ บนความเชื่อว่า ทุกการเปลี่ยนแปลงมีสิ่งที่ต้องจ่าย มีค่าเสียเวลา หรือค่าความเสียหายเกิดขึ้น

“บางครั้งคุณจะต้องสู้ด้วยราคาที่ต้องจ่าย ถ้าถามว่ามันแพงแค่ไหน ผมก็จะตอบว่ามันจะแพงเท่ากับโดมิโนที่มันล้มไปเรื่อยๆ มันมาถึงครอบครัวคุณ มันมาถึงตัวคุณ แล้ววันนั้นคุณจะรู้ว่าราคาที่แพงมันแพงแค่ไหน แล้วคุณจะรู้ว่าท้ายที่สุดแล้วคุณจะยอมเป็นโดมิโนที่ล้มลงหรือคุณจะยอมเป็นโดมิโน่ที่ไม่ยอมล้ม”

ซัน ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์ : การทิ้งขยะเป็นเรื่องง่าย แต่จะมีใครเก็บขยะที่ตัวเองไม่ได้เป็นคนทิ้ง

“สมัยเด็ก เวลาหิวน้ำมาก ไปหาน้ำต้มไม่ทันก็เอามือวักน้ำคลองขึ้นมากินได้แต่ทุกวันนี้มันเปลี่ยนไปหมดแล้ว มีแต่สายขยะลอยมาเป็นแพยาวสุดลูกหูลูกตา อาหารที่เคยอุดมสมบูรณ์ ทุกวันนี้เหลือเพียงปลาไม่กี่ชนิดที่อยู่ตามข้างวัดเท่านั้นเอง”

เรื่องเล่าสมัยเด็กของ ‘ซัน’ ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์ ที่เปรียบเทียบคุณภาพของน้ำคลอง ในทอล์ก “แก้ปัญหาคลองฉบับ DIY” ในคลองบางกอกใหญ่และละแวกใกล้เคียง

แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไป ซันคิดว่าคนรุ่นใหม่น่าจะใส่ใจสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้นแต่กลับไม่เป็นไปตามคาด

ปัจจุบันขยะลอยน้ำยังคงมีและเพิ่มขึ้นทุกวัน 

“จากสายน้ำที่เคยใสสะอาด กระโดดลงเล่นได้ วันนี้แค่เอามารดน้ำผักยังกังวลเลยครับว่ามันจะอยู่หรือว่าจะตาย เวลามาโดนตัวเรา โดนมือเรา ก็ต้องหาน้ำสะอาดมาล้างอีกที เพราะไม่รู้ว่ามีสารเคมีอะไรอยู่ในน้ำบ้าง มันน่าเสียดายที่สายน้ำที่เป็นแหล่งหล่อเลี้ยงสรรพชีวิตจะต้องมาเปลี่ยนกลายเป็นท่อระบายน้ำเสียของมนุษย์ เพียงแค่ไม่กี่ชั่วอายุคนเท่านั้นเอง”

หลังจากออกจากงานเพื่อกลับไปอยู่ที่บ้านกับครอบครัวทำให้ซันเห็นขยะจากคลองทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นพลาสติก ถุงยาง ผ้าอนามัย แพมเพิร์ส รวมถึงยาฆ่าแมลง และขยะอันตรายอื่นๆ ที่ลอยเกลื่อน

เมื่อเห็นภาพตรงหน้าที่มีแต่ขยะ ภาพในหัวของซันจึงเกิดเป็น “การแก้ปัญหาคลองฉบับ DIY” ขึ้นมา

เริ่มต้นด้วยการพายเรือเก็บขยะออกจากคลองไปจนถึงเก็บขยะไปคืนคนที่ทิ้งลงคลอง พร้อมขอร้องว่าอย่าทิ้งขยะลงคลองแต่การทำแบบนี้กลับโดนด่า ไม่พูดด้วย รวมไปถึงปิดประตูใส่ เมื่อลองแล้วไม่เวิร์กจึงหาทางแก้ไขปัญหาใหม่

เกิดเป็นโครงการ ‘ชวน Kids ไม่ทิ้งคลอง’ เริ่มต้นจากการชวนเด็กๆ ค้นหาวิธีสร้างความตระหนักไม่ให้คนทิ้งขยะลงคลอง

ขั้นตอนแรก คือ ให้เด็กๆ เดินแจกโบรชัวร์รณรงค์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมกับให้นักศึกษานิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ (ที่ร่วมโครงการด้วย) แจ้งข้อกฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานทิ้งขยะลงคลอง

การทิ้งขยะเป็นเรื่องง่าย แต่จะมีใครบ้างที่ลุกขึ้นมาเก็บขยะที่ตัวเองไม่ได้เป็นคนทิ้ง

โดยกิจกรรมหลักของ การแก้ปัญหาคลองฉบับ DIY คือ การพาคนในชุมชนมาเข้าใจความสำคัญของน้ำคลองและปัญหาจากการทิ้งขยะลงคลองที่กระทบต่อธรรมชาติ

“ถ้าเราทำให้คนที่ยังไม่ทิ้งขยะ เขามาเห็นปัญหามาสัมผัสบรรยากาศริมคลองจริงๆ เขาก็จะไม่โตขึ้นมากลายเป็นคนที่ทิ้งขยะ”

ซันยังบอกอีกว่าตัวเองเคยเป็นคนหนึ่งที่ได้ทิ้งมลพิษลงคลองอย่างมหาศาล และคนทั่วไปมองว่ามันเป็นเรื่องปกติทุกคนก็ทำกัน

“ผมเคยซื้อเรือแท็กซี่มาลำหนึ่ง เติมน้ำมันเดือนหนึ่งประมาณ 400-500 ลิตร วันหนึ่งเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง คนขับเรือผมไปคลายวาล์วใต้ท้องเรือทำให้น้ำมันนองเต็มพื้นเรือ เขาก็บอกไม่เป็นไร เอาผงซักผ้าสาดลงไปแล้วดูดน้ำมันเครื่องออก ซึ่งเรือลำอื่นเขาก็ทำแบบนี้”

7-8 ครั้งต่อปีเป็นจำนวนที่เรือหลายลำทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง นั่นแสดงว่ามันเป็นการเพิ่มมลพิษทางน้ำอย่างมหาศาลเช่นกัน

ซันจึงเริ่มศึกษาการทำเรือไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่เป็นการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ กระทั่งปัจจุบันเรือหลายลำได้เปลี่ยนมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์กว่า 10% ของจำนวนเรือในคลองทั้งหมดแล้ว ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงที่ดี

ผู้แก้ปัญหาคลองฝั่งธนเปรียบการแก้ปัญหาคลองไม่ต่างจากการแก้ปมเชือกว่าว แม้จะเป็นเรื่องง่าย ถ้าใช้กรรไกรตัดแล้วต่อเชือกใหม่ แต่รอยต่อก็ไม่หายไป แต่ถ้าค่อยๆ แก้ปมเชือกก็จะหายไป

“ปัญหาในคลองหรือปัญหาอื่นๆ ที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์มันก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกับการแก้เชือกว่าวเท่าไหร่ เรารู้ว่าปัญหาต่างๆ มันเกิดจากอะไรและเราก็เป็นมนุษย์ทำไมเราจะแก้ไม่ได้ อย่าเพิ่งรีบด่วนตัดปมทิ้งแล้วเฉยไปเสียก่อน ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนสามารถแก้ปัญหาเชือกว่าวของตัวเองให้สำเร็จ” 


Writer

Avatar photo

สุภาพรรณ ฤทธิยา

หายใจเข้าเพลง k-indie หายใจออกซีรี่ย์ อนิเมะ นิสิตฝึกเขียนเอกวารสารฯ ที่ตอนนี้กำลังสนุกกับการเรียนรู้โลกกว้างก่อนเรียนจบ

Avatar photo

ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง

Photographer

Avatar photo

สุภาพรรณ ฤทธิยา

หายใจเข้าเพลง k-indie หายใจออกซีรี่ย์ อนิเมะ นิสิตฝึกเขียนเอกวารสารฯ ที่ตอนนี้กำลังสนุกกับการเรียนรู้โลกกว้างก่อนเรียนจบ

Illustrator

Avatar photo

กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts