เป็นวัยรุ่นไม่ง่าย ขอ “พื้นที่ปลอดภัย” ให้วัยรุ่นได้เติบโต

  • ในช่วงสองสามปีมานี้ที่โลกเผชิญวิกฤตโรคระบาด การเรียน การเข้าสังคมซับซ้อนยุ่งยากกว่าที่เคย
  • ตราบใดที่วัยรุ่นขาดที่ปรึกษาที่ดี ไปโรงเรียนแล้วยังมีความกดดันรออยู่ กลับบ้านก็ยังพบกับความคาดหวัง ความเครียดและกดดันจะไม่มีวันหมดไป
  • “พื้นที่ปลอดภัย” เกิดขึ้นได้ทั้งที่บ้านและโรงเรียนหากเราทุกคนร่วมมือกัน

“เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย”

หากถามวัยรุ่นว่ารู้สึกอย่างไร คำตอบส่วนใหญ่คงหนีไม่พ้นประโยคนี้ ด้วยเป็นวัยคาบเกี่ยวระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ ลำพังความเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของวัยรุ่นก็ล้าพอแล้ว พวกเขาอาจสูงขึ้น สรีระเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ไหนจะอารมณ์ที่แปรปรวนตามระดับฮอร์โมนต่าง ๆ เท่านั้นยังไม่พอ ความเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจก็มากมายไม่แพ้กัน วัยรุ่นต้องพบกับสังคมที่กว้างขึ้น การเรียนที่ไต่ระดับยากขึ้น พ่วงมาด้วยความรับผิดชอบที่มากขึ้น จนกว่าจะถึงทางแยกว่าจะทำอะไรต่อไปในชีวิต  

ทว่าหลายครั้งหลายครา ผู้ใหญ่หลายคนที่ผ่านวัยนี้กันมาก่อนกลับไม่เข้าใจพวกเขาเลย อาจเพราะเริ่มลืมเลือนไปแล้วว่าความเหนื่อยยาก ณ ขณะนั้นมันเป็นอย่างไร ประกอบกับยุคสมัยที่แตกต่างกันอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสองสามปีมานี้ที่โลกเผชิญวิกฤตโรคระบาด ทำให้ชีวิตประจำวัน การเรียน การเข้าสังคมซับซ้อนยุ่งยากกว่าที่เคย

ฉะนั้น พอวัยรุ่นมีปัญหา คนที่จะรู้สึกร่วมไปกับพวกเขาและเข้าใจได้ดีที่สุดจึงมักจะเป็นคนวัยเดียวกันที่เผชิญสถานการณ์ตึงเครียดใกล้เคียงกัน สามารถอยู่เคียงข้าง คอยปลอบใจได้โดยไม่ดูเบาหรือซ้ำเติม 

วัยรุ่นอาจกอดคอกันร้องไห้ได้ แต่หลังจากนั้นเล่าจะทำอย่างไรต่อ ตราบใดที่พวกเขาไปโรงเรียนแล้วยังมีความกดดันรออยู่ กลับบ้านไปพบกับความคาดหวัง ความเครียดและกดดันจะไม่มีทางหมดไป เพราะพวกเขาขาดที่ปรึกษาที่รู้ใจ ขาด “พื้นที่ปลอดภัย” ให้ฟื้นฟูจิตใจในวันที่ปัญหาถาโถมเข้ามา

‘พื้นที่ปลอดภัย’ จากอะไร เป็นอย่างไร ทำไมต้องมี

ประสบการณ์การผ่านวัยรุ่นอาจเทียบได้กับการเดินฝ่าสมรภูมิรบขนาดย่อม ที่ต้องคอยลุ้นว่าศัตรูจะโจมตีมาจากทิศทางใดบ้าง เพื่อนที่โรงเรียนเป็นมิตรไหม ครูใจดีหรือเปล่า ครอบครัวปลอดภัยพอจะเล่าปัญหาได้ไหม ปัญหาและแรงกดดันที่เด็กคนหนึ่งต้องเผชิญนั้นอาจใหญ่โตกว่าที่เราคิด

ผลการวิจัยโดยแฮนสันและสเนล (2021) ที่ตีพิมพ์ใน PLOs ONE เล่าถึงความสำคัญของการมีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับวัยรุ่น โดยคณะวิจัยพบว่าการที่วัยรุ่นถูกข่มขู่หรือคุกคามทางออนไลน์ หรือถูกกลั่นแกล้งรังแกในโรงเรียนเป็นปัจจัยบ่งชี้หลักสองประการของการมีความคิดหรือพฤติกรรมอยากฆ่าตัวตาย นอกจากนั้น สภาพแวดล้อมในห้องเรียนและครอบครัวก็มีอิทธิพลเช่นกัน ที่บ้าน การที่สมาชิกในครอบครัวทะเลาะกันรุนแรง ไม่ลงรอยกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นเวลานาน หรือพบกับการด่าทอหรือตะคอกเป็นปัจจัยบ่งชี้ 10 อันดับแรก ร่วมกับความรู้สึกไม่ปลอดภัยหรือเกลียดโรงเรียน

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย รายงาน การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบและบริการสนับสนุนทางจิตใจและจิตสังคมสำหรับเด็กและวัยรุ่นในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ฉบับประเทศไทย ซึ่งจัดทำโดยยูนิเซฟ กรมสุขภาพจิต สถาบันวิจัยประชากรและสังคม และสถาบันเบอร์เน็ต ประเทศออสเตรเลีย  ระบุว่า วัยรุ่นไทยอายุ 10 – 19 ปี ประมาณ 1 ใน 7 คน และเด็กไทยอายุ 5 – 9 ปี ประมาณ 1 ใน 14 คน มีความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์ ยิ่งกว่านั้น การสำรวจภาวะสุขภาพนักเรียนทั่วโลกในส่วนของประเทศไทยเมื่อปี 2564 (2021 Global School-based Student Health Survey) พบว่า ร้อยละ 17.6 ของวัยรุ่นอายุ 13 – 17 ปี มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย

ด้วยเหตุที่กล่าวมาข้างต้น วัยรุ่นจึงควรมีพื้นที่ปลอดภัย ในที่นี้หมายถึงทั้งพื้นที่ทางกายภาพและพื้นที่ทางใจ ซึ่งจะเกื้อหนุนสุขภาวะของวัยรุ่น ในวันเยาวชนสากลปี 2018 “ความสำคัญของพื้นที่ปลอดภัย” เป็นหัวข้อสำคัญที่ต้องการเพิ่มความตระหนักรู้ โดยโครงการ YouthPower อันเป็นความร่วมมือระหว่างองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐ (USAID) และแผนฉุกเฉินของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเพื่อบรรเทาปัญหาเอดส์ (PEPFAR) กล่าวถึงพื้นที่ปลอดภัยของวัยรุ่นไว้ว่า “วัยรุ่นต้องการพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยในการรวมตัว ทำกิจกรรมที่ตอบสนองความต้องการและความสนใจอันหลากหลาย มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ และแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี พื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัย เช่น พื้นที่ในเมืองจะช่วยให้วัยรุ่นเข้าใจปัญหาการเมืองการปกครอง ทั้งยังมอบโอกาสในการเล่นกีฬาหรือกิจกรรมนันทนาการอื่น ๆ ในชุมชน … พื้นที่ทางกายภาพที่ออกแบบมาอย่างเหมาะสมจะช่วยตอบสนองความต้องการของวัยรุ่น โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่เสี่ยงต่อการถูกแบ่งแยกหรือความรุนแรง”

พื้นที่ปลอดภัยในรั้วบ้าน

ถ้านอกบ้านคือสงคราม อย่างน้อยในบ้านก็ควรมีหลุมหลบภัยเล็ก ๆ ให้เด็กวัยรุ่นได้สมานแผล ชุบชูใจ ดูแลโลกภายในให้พร้อมฝ่าฝันอุปสรรคในโลกภายนอกที่ไม่เคยใจดี

พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนประสบปัญหาการสื่อสารกับวัยรุ่นเพราะช่องว่างระหว่างวัย วัล มุลลัลลี (Val Mullally) ที่ปรึกษาด้านการเลี้ยงดูบุตรเสนอ 6 แนวทางการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ลูกวัยรุ่นเปิดใจ ดังนี้

ตระหนักว่าบทบาทของคุณกับลูกวัยรุ่นต้องเปลี่ยนไป

ถึงวัยนี้ เขาไม่ได้ต้องการให้คุณเป็นเรือชูชีพ แต่เป็นประภาคารที่ช่วยส่องสว่างให้เขาเห็นภัยอันตรายและสถานที่ปลอดภัย

ให้ความไว้วางใจกัน

มุ่งไปที่การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและเคารพซึ่งกันและกัน รู้ว่าคุณในฐานะผู้ปกครองต้องเป็นฝ่ายนำ ความเชื่อใจจะนำมาซึ่งความเชื่อใจ แสดงให้เขาเห็นว่าคุณไว้ใจได้

ยกให้การฟังสำคัญที่สุด

เมื่อลูกวัยพรีทีนหรือวัยรุ่นยอมเล่าเรื่องราวในชีวิตเขาให้ฟัง หยุดกิจกรรมใดก็ตามที่คุณทำอยู่ (หากเป็นไปได้) และให้ความสำคัญกับการฟังเป็นอันดับแรก เมื่อคุณให้ความสนใจเขาเต็มที่แม้จะตีสองแล้วก็ตาม มีแนวโน้มสูงที่เขาจะแบ่งปันเรื่องราวกับคุณอีก

ฟังอย่างตั้งใจและ “วาง” อารมณ์ทั้งหลายลงก่อน

หากคุณจดจ่อกับคำถามว่า “สำหรับลูกแล้ว เรื่องนี้เป็นอย่างไร” คุณจะเรียนรู้การฟังอย่างไม่ตัดสินหรือพยายามยัดเยียดทางแก้ปัญหาของตัวเองให้ลูก

ความโกรธและกังวลของเรา หรือบางครั้งแม้แต่ความกระตือรือร้นของเราอาจขัดขวางการฟังอย่างตั้งใจ ตั้งสติและจดจ่อกับเรื่องที่อีกฝ่ายเล่า หากคุณใจลอยเผลอนึกเรื่องอื่น รีบกลับมาสนใจเรื่องราวตรงหน้าและจดจ่อกับการตั้งใจฟัง

“รับฟัง” ภาษากาย น้ำเสียง และคำพูดของพวกเขา

คุณอาจมัวแต่จดจ่อกับเรื่องที่เขาเล่าจนเผลอมองข้ามท่าทางของเขาไป เงี่ยหูฟังการเปลี่ยนแปลงของพลังงาน น้ำเสียง ความหนักแน่นของเสียง แววตา และจังหวะหยุดพูด อันเป็นคำใบ้ของสิ่งที่อยู่ข้างในจริง ๆ 

เลี่ยงการ “แก้ไข”

การให้คำแนะนำทันทีอาจจะง่าย แต่คุณไม่สามารถนำทางเขาได้ตลอด เด็ก ๆ ต้องพัฒนาเข็มทิศภายในของตัวเอง เมื่อคุณตั้งใจฟัง คุณให้พื้นที่ภายในให้เขาได้คลายปมความคิดอันยุ่งเหยิงและหาวิธีการแก้ปัญหาของตัวเอง ซึ่งจะเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ได้ผลในการรับมือสถานการณ์วุ่นวายที่วัยรุ่นต้องเจอ

พื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียน

หากเข้ารับการศึกษาในระบบการศึกษา โรงเรียนก็เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่วัยรุ่นใช้เวลาส่วนใหญ่ในช่วงกลางวัน เด็กบางคนรับประทานอาหารมากกว่าหนึ่งมื้อในโรงเรียน และปฏิสัมพันธ์ทางสังคมส่วนมากก็เกิดขึ้นที่นั่น สภาพแวดล้อมในโรงเรียนจึงเป็นอีกส่วนสำคัญในการดูแลรักษาสุขภาพจิตของวัยรุ่น

เอ็ม. เจ. เฟียฟร์ (M.J. Fievre) นักการศึกษา บรรณาธิการและนักเขียนได้เรียบเรียงแนวทางการสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ปลอดภัยไว้ดังนี้

ออกแบบหรือแก้ไขประมวลวิชาของคุณ 

คุณอาจจะเลือกงานเขียนจากนักเขียนหลากหลายเชื้อชาติหรือวางแผนเชิญคนอาชีพต่าง ๆ ที่มีพื้นเพแตกต่างกันมาบรรยายในห้องเรียน ซึ่งจะช่วยให้เห็นว่าเราสามารถเรียนรู้ได้จากทุกคน แม้แต่คนที่ไม่เหมือนเรา อย่าลืมสอดแทรกโครงการต่าง ๆ ที่ชื่นชมตัวตนและวัฒนธรรมที่หลากหลายเพื่อให้นักเรียนโอบรับความแตกต่าง 

ในบางกรณี อาจมีการขยายเวลาเรียน นักเรียนหลายคนจิตใจอ่อนล้าจากเหตุการณ์สะเทือนใจที่รับรู้ได้ผ่านสื่อต่าง ๆ ความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจของคุณช่วยพวกเขาได้มากทีเดียว

การตกแต่งห้องเรียนและจัดการอภิปราย

ในห้องเรียน อย่าลืมหาภาพถ่ายของคนหลายเชื้อชาติที่ทำอาชีพต่างกัน เช่น นักบินอวกาศชาวเอเชีย แพทย์ผิวดำ ผู้เชี่ยวชาญชาวละติน เป็นต้น พยายามอย่าใช้อะไรที่เป็นภาพจำแบบเหมารวม สอดแทรกการนำเสนอผู้คนที่มีความพิการ หรือเชิญผู้พิการในชุมชนมาเยี่ยมห้องเรียน เพื่อให้เด็ก ๆ รู้ว่าคนเราเรียนรู้ได้เสมอ 

นอกจากการอภิปรายในชั้นเรียน ลองจัดกลุ่มอภิปรายออนไลน์เพื่อไม่ให้นักเรียนรู้สึกเหมือนถูกเลือกปฏิบัติและมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นโดยไม่เปิดเผยตัวตน คุณอาจไม่จำเป็นต้องกำกับดูแลกิจกรรมนี้ หรือแค่คอยดูความเรียบร้อยบางส่วนเท่านั้น

ให้เกียรติกัน

อ่านชื่อนักเรียนให้ถูกต้องก็เป็นวิธีหนึ่งในการสร้างความคุ้นเคยในโรงเรียน ซึ่งจะทำให้เด็กรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของห้องเรียน อย่ากลัวที่จะให้นักเรียนทวนชื่อของเขามากกว่าหนึ่งครั้ง 

การให้เกียรติกันยังหมายถึงการไม่พึ่งพานักเรียนในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ปัจจุบันต่าง ๆ ที่โผล่ขึ้นมาในการอภิปรายในชั้นเรียน เด็กคนดำ คนละติน หรือคนเอเชียไม่ต้องเป็นตัวแทนของเชื้อชาติของตัวเอง เด็กที่เป็นมุสลิมไม่ต้องคอยตอบคำถามเกี่ยวกับศาสนาของเขา อย่าทำให้เด็ก ๆ ลำบากใจ ในทางกลับกัน ลองให้พวกเขาพูดถึงการนำเสนอเหตุการณ์ต่าง ๆ ในสื่อซึ่งอาจรื้อฟื้นความทรงจำเลวร้ายหรือไม่เหมาะสม แล้วรับฟังพวกเขา 

สอนการให้กำลังใจเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อให้นักเรียนเห็นคุณค่าในตัวเอง

กำลังใจเล็ก ๆ น้อย ๆ เริ่มต้นที่การฟังอย่างตั้งใจด้วยใจ การจะเป็นผู้ฟังที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียนนั้น คุณต้องสบตาเขา และแสดงท่าทีสนใจในเรื่องที่เขาพูด เช่น พยักหน้า สรุปสิ่งที่เขาเล่า ถามคำถามเพื่อให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจเขาจริง ๆ และให้กำลังใจเขาด้วยประโยคปลอบใจ เช่น “ครูรู้ว่ามันน่าโมโหมาก ๆ สำหรับเธอนะ” คุณสามารถใช้ประโยคในลักษณะเดียวกันนี้เพื่อแนะนำให้เขาหาจุดที่สามารถเรียนรู้ได้จากประสบการณ์ดังกล่าว

พึงระลึกว่าการให้กำลังใจเล็ก ๆ น้อย ๆ เกิดขึ้นได้ในปฏิสัมพันธ์ทุกรูปแบบ ไม่เฉพาะแต่เวลานักเรียนประสบปัญหา คำพูดเหล่านี้ใช้ได้ผลเช่นกันกับประสบการณ์เชิงบวก โดยจะช่วยสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและการมีที่ทางของตัวเอง

แม้คุณจะไม่เห็นด้วยกับเรื่องที่นักเรียนเล่า คุณสามารถให้กำลังใจในเรื่องที่เขาเผชิญ ยอมรับอารมณ์ของพวกเขา และเสนอความช่วยเหลือเพื่อหาทางออกที่ได้ผล แทนที่จะมองว่าประเด็นการรังแกหรือเหยียดเชื้อชาติเป็นเรื่องต้องห้าม พยายามขจัดพฤติกรรมเหล่านี้ในชั้นเรียนด้วยการเผชิญหน้ากับปัญหาโดยตรง ณ วินาทีที่มันเกิดขึ้น ร้องเรียนกับทางโรงเรียนหากจำเป็น ทำลายวงจรนี้ด้วยการจัดการปัญหาอย่างจริงจังและตั้งใจปกป้องนักเรียน อย่าได้ยอมถอยกับประเด็นเหล่านี้ คุณมีหน้าที่รับผิดชอบความปลอดภัยของนักเรียนทุกคนทั้งทางกายและใจ

การสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับวัยรุ่นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และอาจมีวิธีการและแนวทางต่างกันไป สิ่งสำคัญคือการตระหนักเสมอว่าวัยรุ่นมีปัญหาของเขาเอง แม้เราจะไม่เข้าใจ แต่ก็สามารถสนับสนุนพวกเขาได้เสมอ

อ้างอิง

https://www.mykidstime.com/for-parents/how-to-create-a-safe-space-so-your-teen-will-talk/

https://iyfglobal.org/blog/young-people-tell-us-what-safe-spaces-mean-them

https://www.brandthink.me/content/house-safezone

https://mgronline.com/qol/detail/9650000083303

https://parentingteensandtweens.com/technology-is-stealing-all-the-safe-spaces-from-our-teens/

http://www.yetoolkit.ca/content/create-youth-friendly-spaces

https://mashable.com/article/what-is-a-safe-space-for-teens

https://middleearthnj.org/2016/11/20/teen-values/

https://www.thereporters.co/tw-humanity/1511221548/

https://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0258535

https://www.unicef.org/thailand/press-releases/alarming-poor-mental-health-trend-among-children-and-adolescents-thailand-requires

https://www.edutopia.org/article/cultivating-classroom-safe-space/


Writer

Avatar photo

ศิริกมล ตาน้อย

อยากเกิดใหม่เป็นแมงกะพรุน

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts

Interpersonal

‘หมอโอ๋’ เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน : เด็กๆ กับโอกาสติดโควิด และการกลับไปโรงเรียนหนนี้ที่ไม่เหมือนเดิม