หน้าร้อน (Summer) : Cornboi
Butter (방탄소년단) : BTS
แปะหัวใจ : เจ้านาย จูเน่
อย่างน้อยๆ ‘ครูกั๊ก’ ร่มเกล้า ช้างน้อย โรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม ต้องได้ฟัง 3 เพลงนี้เมื่อเปิดโอกาสให้เด็กๆ ม.4 เป็นดีเจในชั่วโมงวิชาคณิตศาสตร์ที่อยู่ในความรับผิดชอบ
แอดวานซ์กว่าคำถามว่า “ทำไมถึงให้เด็กๆ เปิดเพลงให้ฟัง” คือ “ทำไมเราต้องฟังเสียงเพลงของเด็ก”
มันเริ่มจากความรู้สึกว่า “ลองฟังเด็กบ้างดีกว่า” ตอนครูกั๊กทำค่ายราวๆ 5 ปีก่อน
“ปรากฏว่าเวลาที่เราทำกิจกรรม แล้วเด็กได้ฟังเพลงที่เขาฟัง เขาชอบ มันทำให้กิจกรรม smooth มากเลย เราเลยจำจากความรู้สึกตอนค่ายมาทำในห้องเรียน”
แรกๆ ครูกั๊กจะเปิดเพลงช่วงที่เด็กนั่งทำโจทย์ เพื่อให้ไม่รู้สึกว่าเรียนหนักเกินไป โดยเทียบเคียงกับตัวเองสมัยยังนุ่งกางเกงขาสั้น ที่เริ่มเปิดเพลงจาก YouTube ตอนฝึกทำข้อสอบ แล้วพบว่าเวลาผ่านไปไวมาก ทำโจทย์ได้หลายข้อ ย่อยความเครียดให้เบาบางลง พอมาเป็นครู เลยคิดว่านักเรียนน่าจะชอบวิธีนี้
ชอบหรือไม่ คงต้องให้เด็กๆ เป็นคนตอบเอง หนนี้ครูกั๊กมาพร้อมกับนักเรียนห้อง ม. 4/1 3 คน คือ ‘วาเลน’ ปุณยานุชพุ่มพวง, ‘แมงป่อง’ วรุณรดีขนุนทอง และ ‘ฟ้า’ กานต์มณีสุริโยทัย
วาเลน มาพร้อมกับเพลง ‘หน้าร้อน (Summer)’ ของ Cornboi แมงป่องเลือก ‘Butter (방탄소년단)’ ของ BTS ส่วนฟ้า ยกให้ ‘แปะหัวใจ’ ของเจ้านายกับจูเน่ เป็นอันดับ 1
“ชอบ หนูฟังบ่อยมาก (ลากเสียงยาว) เป็นเพลงรักที่มีความสุขมาก ฟังแล้วรู้สึกสบายดี ผ่อนคลาย” เมื่อถูกถามว่าทำไมถึงชอบ วาเลนตอบมาอย่างนี้
ติ่ง BTS อย่างแมงป่อง บอกอย่างตรงไปตรงมาว่าชอบ Butter เพราะนักร้องหล่อ เหมือนได้ฟังเพลงของ ‘แฟนทิพย์’
ฟ้า ที่เพิ่งย้ายมาจากกาฬสินธุ์ ชอบเนื้อหาที่น่ารักบอกไม่ถูกของเพลง แปะหัวใจ แต่ที่ชอบมากกว่าคือการได้สิทธิ์เปิดเพลงนี้ให้ครูและเพื่อนๆ ในห้องฟัง เพราะมันมีความหมายต่อ ‘เด็กใหม่’ อย่างฟ้ามาก
“ความที่หนูเป็นคนต่างจังหวัด ครูต่างจังหวัดเขาไม่ได้ทำอะไรเเเบบนี้ เขาจะอัดๆๆ ให้เด็กทำโจทย์ ห้องต้องเงียบ มันทำให้หนูไม่ชอบวิชาคณิตฯ เลย แต่พอมาเรียนกับครูกั๊ก หนูเริ่มเปิดใจมากขึ้น” ความกลัวที่พกมาล่วงหน้าว่าจะเรียนตามเพื่อนที่กรุงเทพฯ ไม่ทัน หรือเจอครูโหดกว่าของฟ้าเลยค่อยๆ หายไป
ผู้ใหญ่ฟังเพลงเด็กมันดียังไง
“เหมือนเขาฟังความคิดเด็ก เข้าใจเด็ก” ฟ้าพูดถึงครูกั๊ก
วาเลนเสริมเพื่อนว่า ที่ผ่านมามักจะเจอผู้ใหญ่ที่เมินมากกว่าฟัง พอถึงคิวได้พูดก็มักจะโดนเปลี่ยนเรื่อง หรือไม่ก็ปัดตกด้วยประโยคที่ว่า “ตัวเองอาบน้ำร้อนมาก่อน”
“หนูคิดว่า จริงๆ แล้ว ชีวิตที่เขาโตมามันคือสมัยก่อน แต่ตอนนี้อะไรหลายๆ อย่างมันเปลี่ยนไปมากแล้ว”
พอไม่ถูกฟังมากๆ เด็กๆ ทำอย่างไร?
“คุยกันเองในกลุ่มค่ะ สู้ไปเขาก็ไม่ฟังอยู่ดี” วาเลนบอก
แต่ท่ามกลางผู้ใหญ่ที่ไม่ฟัง ครูกั๊กกลับแหวกกระแสขึ้นมาด้วยการขอฟังเพลงจากเด็กๆ ความแปลกใจในแวบแรกจึงค่อยๆ เปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลอดภัย เมื่อจู่ๆ ก็ได้เปิด ‘เพลงรัก’ ให้ครูฟัง
“เพลงของคนคลั่งรักค่ะ (ยิ้ม) หนูกล้าบอกเรื่องนี้กับครู” ฟ้าอธิบาย
“ครูกั๊กเขารู้เรื่องความรักเด็กค่ะ ไม่เคยว่า มีแต่แซว ถ้าเป็นครูคนอื่นจะบอกว่าเรายังเด็กไป” วาเลนเสริมเพื่อน
แล้วที่บ้านล่ะ เปิดเพลงฟังกันอย่างนี้ไหม?
วาเลนชิงตอบก่อนคนแรกเลยว่า แม่ชอบฟังเพลงคล้ายๆ กัน
“แต่ก่อนแม่ก็ไม่ได้ชอบเหมือนกัน เขาจะพูดว่า เพลงสมัยนี้อะไรก็ไม่รู้ ไร้สาระแต่วันนั้นอยู่ดีๆ เขาก็เปิดเพลงที่หนูเคยฟังขึ้นมา หนูตกใจเลย เหมือนเขาฟังบ่อยๆ ก็เริ่มซึมซับในสิ่งที่หนูเป็น หนูคิดว่าแม่พยายามปรับตัวเข้ากับยุคสมัยด้วยเพราะเเต่ก่อนแม่เป็นคนหัวโบราณมาก ไม่ค่อยฟัง พอหนูโตขึ้น ได้คุยกับเขาหลายๆ เรื่อง เขาก็เริ่มเปิดใจในสิ่งที่หนูรู้สึก ปรับตัวเข้าหาหนู หนูก็ปรับตัวเข้าหาเขา ทุกวันนี้มันแฮปปี้มากเลย”
ส่วนเจ้าแม่เพลงรักอย่างฟ้า นอกจากเปิดแล้วยังร้องเพลงดังลั่นบ้าน เพราะไม่มีใครว่าอะไร
“ด้วยความแม่ที่อายุยังไม่เยอะ แล้วพี่สาวก็ฟังเพลงแนวเดียวกันด้วย เขาก็จะเข้าใจเรา และมีบทสนทนาต่อ เเม่ก็ถามว่าทำไมชอบเพลงนี้จัง หนูบอกว่าพอดีช่วงนี้คลั่งรัก หนูกับแม่ก็คุยกันได้ทุกเรื่องเลย” น้ำเสียงสดใสจากฟ้า
สำหรับฟ้า, วาเลน และแมงป่อง การที่ผู้ใหญ่ไม่ว่าพ่อ แม่ ครอบครัวหรือครู ฟังเพลงเดียวกับเขา หรืออย่างน้อยก็ถามไถ่ เปิดใจให้ ‘ความชอบ’ ของเด็กๆ มีที่ยืน สิ่งที่ได้กลับมาคือ ‘ความไว้ใจ’ โดยผู้ใหญ่ไม่ต้องร้องขอ
เพลงบอกอะไรในตัวเด็ก
เพลงที่เด็กเปิดให้ฟัง ยังบอกถึงความรู้สึก ความคิดของเขาในช่วงนั้น
“เพลงเหมือนแฟชั่น หลายอย่างซ่อนมากับเพลง ทั้งการแต่งตัว อารมณ์ความรู้สึก ยกตัวอย่างปีที่แล้ว เพลงแร็ปมาหนักมาก นั่นแสดงว่าเด็กเขาเครียดอะไรกันมา หรือเพลง ‘ประเทศกูมี’ ผมเปิดให้ฟังเอง พอเปิดเสร็จ เด็กถามว่าครูในเอ็มวีคืออะไร เราก็โอเค เดี๋ยววันนี้เราจะมาคุยเรื่องเอ็มวีประเทศกูมีกัน เราไม่ได้ตัดสินว่าอะไรผิดถูกเเต่บอกว่ามีข้อมูลประวัติศาสตร์เเบบนี้มา แบบที่ครูไม่เคยเรียนตอนเด็กๆ”
จนถึงบรรทัดนี้ การรับรู้ว่ามีครูอย่างน้อยหนึ่งคนที่ฟัง (เพลง) เรา ความเครียดที่เคยมีตอนไปโรงเรียน ตอนอยู่ในห้องเรียน มันก็น้อยลง วาเลนยกตัวอย่างตอนยังไปโรงเรียนได้ตามปกติ ความเครียดเบอร์แรกของเด็กๆ คือครู
“ครูบางคนเขาไม่ค่อยฟัง มาสอนๆๆ เด็กรู้เรื่องไม่รู้เรื่องก็ไม่รู้ สอนเสร็จหมดชั่วโมงก็ไป ไม่ได้ถามว่ารู้เรื่องไหม ถ้าหนูไม่รู้เรื่องวิชานั้น ใกล้สอบหนูจะเครียดมาก เพราะเราไม่รู้ว่าจะเอาอะไรไปสอบ เราไม่สามารถบอกครูไปได้ตรงๆ ว่า เราไม่รู้เรื่อง ครูบางคนบอกว่ามีอะไรถามได้เลยนะ เเต่สุดท้ายพอไปถามเขาจะบอกว่า ที่สอนมา ไม่ได้ฟังเลยใช่ไหม แต่กับครูกั๊ก ครูฟังเด็ก ทำให้หนูเริ่มรู้สึกอยากไปโรงเรียนมากขึ้น”
“ครูบางคนไม่รับฟัง ทำให้เด็กอคติกับครูคนนั้น ทำให้วิชานั้นน่าเบื่อ ไม่อยากเรียน” แมงป่องขออธิบายบ้าง
ฟ้าเองก็บอกว่า การที่ครูฟังเด็ก มันคือสิ่งสำคัญ
“รู้สึกว่าเขาเข้าใจมากขึ้นในสิ่งที่เราเป็น เหมือนเขาเปิดใจฟังเรา เเละทำให้เราอยากเรียนวิชานั้น”
สำหรับเด็กครูคือใคร
“ครูคือเพื่อนที่เคารพ” วาเลนตอบทันที ก่อนจะขยายความต่อว่า ครูเป็นเพื่อนที่มีเหตุผลมากกว่า และใช้เหตุผลนั้นมาอธิบายสิ่งที่เด็กไม่เข้าใจ
“ครูคือที่ปรึกษา” แมงป่องตอบบ้าง
“ถ้าเราสงสัยหรือไม่เข้าใจอะไร เราก็ถามเขา เวลาเจอปัญหาในชีวิต เราควรทำยังไง เราก็ถามครูเพราะบางทีเราไม่สามารถเอาปัญหานั้นไปพูดให้คนอื่นฟังได้ แต่เราไว้ใจครูค่ะ”
ความไว้ใจและความรู้สึกปลอดภัยที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นนี้ ไม่ใช่เพียงเพราะครูฟังเพลงเด็ก แต่เพลงเป็นแค่หนึ่งในเครื่องมือสร้างสายสัมพันธ์เท่านั้น และสายสัมพันธ์นั้นมันทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า
“ผมว่าการเลือกเพลงเป็นการให้เด็กทำงานศิลปะที่ง่ายที่สุด เหมือนอยากให้เด็กถ่ายภาพเเต่เขาไม่เก่งถ่ายภาพ หรือเขาบอกว่าชอบกิน KFC มาก เเต่เขาไม่สามารถทอด KFC ได้ แต่เขาสามารถไปซื้อ KFC มาให้เรากินได้ มันคือสิ่งเดียวกันนะครับ เด็กเขาจะถ่ายทอดเเบบนั้นเเต่เขาทำเองไม่ได้ บนโลกนี้มันมีของพวกนี้อยู่เเล้ว และเพลงก็เป็นสินค้าอย่างหนึ่งที่เด็กสะท้อนตัวเขาได้ง่ายที่สุด เราสามารถเรียนรู้เขาผ่านศิลปะพวกนี้ได้”
โดยเฉพาะเด็กเปราะบาง เมื่อเขาถูกรับฟังมากขึ้น ผ่านการขอเพลงของครู นั่นแปลว่าฉันมีตัวตน
“เหมือนเราบอกว่า ขอเพลงมาดิเเล้วเราเปิด มันมีคนรู้ว่าฉันมีตัวตน แล้วเราก็ทำให้เห็นว่าเดี๋ยวให้คนนั้นก่อน เขาขอมาก่อน คนนี้ใจเย็นนะ เลยทำให้เด็กคนนี้มีตัวตน ผมว่าการทำให้เด็กมีตัวตนเป็นเรื่องยากเหมือนกันนะ เพราะว่าห้องหนึ่งมีเด็ก 30-40 คน เขาจะผลัดกันฉายเเสง ครูมีหน้าที่ฉายเเสงว่าตอนนี้กูเห็นมึงเเล้วนะ อยู่ด้วยกันนะ นี่เป็นเรื่องเเรกของการเปิดพื้นที่รับฟัง มันช่วยให้เด็กไม่หลุดจากระบบ”
คำถามสุดท้าย แล้วถ้าเด็กคนนั้นไม่ชอบฟังเพลงล่ะ ครูจะฟังอะไรจากเขา
“มีๆ ถ้าหนูไม่อยากฟัง ผมจะลดเสียงให้ แล้วบอกให้ทน ถามว่าทำไมต้องทน? ลองนึกถึงตอนเราต้องไปสอบตามที่ต่างๆ เราจะบอกหรือบังคับได้ไหมว่าห้องนั้นเป็นห้องเงียบ บางทีมีงานบวช มีไซต์ก่อสร้างอยู่ข้างๆ ผมก็เลยบอกว่าฝึกไปเลย เงียบอะมีสมาธิอยู่เเล้ว เเต่จะทำยังไงให้มีสมาธิตอนไม่เงียบ พยายามบอกเขา ออนไลน์เด็กยังปิดลำโพงได้นะ ผมมีทางเลือกให้ (ยิ้ม)”
ลองฟังเพลงทั้ง 3 ที่วาเลน แมงป่อง และ ฟ้า แนะนำ