เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย ยาก เจ็บปวด : ทำความเข้าใจสมองวัยรุ่นให้ลึกถึงเนื้อเยื่อ

  • ทำไมวัยรุ่นถึงชอบทำก่อนคิด อารมณ์ก็พุ่งปรี๊ด แถมชอบนักเรื่องท้าทาย
  • ทำความเข้าใจวัยรุ่นผ่าน ‘สมอง’ กับรองศาสตราจารย์ ดร.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล
  • สมองส่วนอารมณ์พัฒนาเต็มที่ตั้งแต่อายุ 15 ปี แต่สมองกลีบหน้าสุดที่ควบคุมความคิดพัฒนาช้ากว่า จะเสร็จเมื่ออายุ 23 – 25 ปีขึ้นไป เป็นผลให้วัยรุ่นมักทำก่อนคิดและชอบความท้าทาย

เป็นวัยรุ่นมันยาก เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย เป็นวัยรุ่นมันเจ็บปวด …

สารพัดจะเป็นของวัยรุ่นที่ทำให้อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ทำไมช่วงเวลาที่น่าจะเต็มไปด้วยความสดใสในวัยเยาว์ แต่กลับมีเรื่องยากๆ ให้ต้องเผชิญเต็มไปหมด 

นอกจากฮอร์โมนที่ส่งผลต่อพฤติกรรมวัยรุ่น ยังมีการเปลี่ยนแปลงของ ‘สมอง’ ส่งผลให้วัยรุ่นกลายเป็นวัยที่ทำก่อนคิด หุนหันพลันแล่น ใช้ความรู้สึกเป็นตัวนำ ต้องการความสนใจและการยอมรับ 

ท่องโลกสมองวัยรุ่นไปกับรองศาสตราจารย์ ดร.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่จะทำให้เราเข้าใจว่าสมองวัยรุ่นที่กำลังพัฒนาเพื่อให้พร้อมให้เข้าสู่วัยผู้ใหญ่ กลับมีเรื่องเกิดขึ้นมากมาย ประหนึ่งหนังทริลเลอร์ 

ขอขึ้นคำเตือนตัวโตๆ ว่าเนื้อหาต่อไปนี้อุดมไปด้วยศัพท์วิชาการ บางทีอาจได้ฤกษ์เปิดลิ้นชักความทรงจำสมัยเรียนชีววิทยากันแล้ว

ตัดแต่งกิ่งประสาท เคลียร์พื้นที่สมองให้พร้อม

สมองคนเรามีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ลืมตาบนโลก บางส่วนพัฒนาเสร็จเมื่อเราอายุ 5 – 6 ปี เช่น สมองที่เกี่ยวกับการมองเห็น การรับความรู้สึก เป็นต้น ส่วนสมองที่เริ่มพัฒนาในช่วงวัยรุ่นนั้นอาจารย์นวลจันทร์อธิบายว่า เมื่อเราอายุ 12 ปีขึ้นไป ร่างกายจะเตรียมสมองให้พร้อมเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด คือ เปลือกสมองส่วนสีเทาจะบางลง

สมองแบ่งได้สองส่วน ส่วนแรกคือ เนื้อสมองส่วนสีขาว (white matter) ซึ่งเป็นส่วนของเส้นใยประสาทที่ทำหน้าที่รับและส่งสัญญาณประสาท เพื่อสื่อสารกับเซลล์ประสาทในสมองบริเวณอื่นๆที่อยู่ไกลออกไป และอีกส่วนคือ เนื้อสมองส่วนสีเทา (grey matter) ซึ่งประกอบไปด้วยตัวเซลล์ประสาท (neuron) และแขนงประสาทขาเข้า มีลักษณะเหมือนแขนงกิ่งไม้ ซึ่งบริเวณนี้จะเกิด Pruning หรือกระบวนการตัดแต่งกิ่งประสาทส่วนเกินที่ไม่ใช้งานออกไป เป็นผลทำให้เปลือกสมองส่วนสีเทาของวัยรุ่นค่อยๆ บางลงจนเท่ากับสมองผู้ใหญ่ 

อาจารย์นวลจันทร์เปรียบเทียบกระบวนการนี้ว่า เป็นการตัดแต่งกิ่งไม้ ทำให้ต้นไม้สามารถเจริญเติบโตได้แข็งแรง ออกผลผลิตได้มากขึ้น กระบวนการตัดแต่งกิ่งจะเสร็จสิ้นเมื่อเราอายุ 23 – 25 ปีเป็นต้นไป

กระบวนการ Pruning เกิดขึ้นกับเปลือกสมองทุกส่วน แต่ไม่ได้เกิดพร้อมกัน เปลือกสมองส่วนที่เกิด Pruning ในช่วงวัยรุ่น คือ สมองส่วนหน้าสุดบริเวณหน้าผาก เป็นศูนย์บัญชาการทำหน้าที่เชิงบริหารจัดการของสมอง หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Executive Functions (EF)

ในขณะที่เปลือกสมองตัดแขนงประสาทที่ไม่ใช้งานออกไป อีกด้านก็ทำให้การเชื่อมโยงแบบเครือข่ายของเซลล์ประสาทส่วนที่ยังเหลืออยู่ หรือที่เรียกว่า Neural network พัฒนาดีขึ้น ทำให้สมองหลายๆ บริเวณทำงานพร้อมเพรียงกันมากขึ้น สมองส่วนที่อยู่ห่างไกลสามารถติดต่อสื่อสารกันได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เครือข่ายประสาทเหล่านี้เชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อน ขอให้ลองนึกถึงการทำงานในบริษัทแห่งหนึ่งที่พนักงานยังทำงานไม่เป็นระบบ ไม่รู้ว่าใครมีหน้าที่อะไร พนักงานต่างวิ่งวุ่นเมื่อเจอปัญหา แต่เมื่อมีระบบในการทำงาน ปัญหาความวุ่นวายต่างๆ ก็ลดลงเพราะทุกคนรู้หน้าที่ของตัวเอง บริษัทก็งานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง

การเปลี่ยนแปลงนี้จะทำให้สมองบางส่วนที่ไม่เคยสื่อสารกัน เริ่มติดต่อเชื่อมโยงกันมากขึ้น วัยรุ่นจะค่อยๆ กำกับตนเองได้ดีขึ้นจนเท่าผู้ใหญ่ เช่น คิดก่อนทำ ไม่หุนหันพลันแล่น ทว่าในช่วงเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น 12 – 15 ปี การเชื่อมโยงในสมองส่วนใหญ่จะเป็นการเชื่อมโยงระยะใกล้ระหว่างบริเวณใต้เปลือกสมองด้วยกันเอง  (Subcortical connection) สมองส่วนใต้เปลือกสมอง หรือบริเวณ Subcortical นี้ ทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก ความต้องการ ความพึงพอใจ บวกกับฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นในร่างกาย เด็กวัยนี้จึงแสดงออกตามอารมณ์ ชอบแสวงหาความแปลกใหม่ และมักจะเข้าหาสิ่งที่ทำให้รู้สึกตื่นเต้นเร้าใจ 

ต่อมาเมื่อวัยรุ่นอายุ 15 – 18 ปี การเชื่อมโยงระยะใกล้จะค่อยๆ ลดลง และเริ่มมีการเชื่อมโยงระยะไกลเพิ่มขึ้น เช่น การเชื่อมโยงระหว่างเปลือกสมองใหญ่บริเวณต่างๆ ทางด้านหน้ากับทางด้านหลัง (Cortico – cortical connection) รวมทั้งเปลือกสมองใหญ่จะเชื่อมโยงกับบริเวณใต้เปลือกสมองมากขึ้นด้วย (Cortical – subcortical connection) จนในที่สุดเครือข่ายประสาทเหล่านี้จะค่อยๆ ทำให้สมองส่วนหน้าสุด (Prefrontal cortex) กลายเป็นเจ้านายใหญ่ ทำหน้าที่ประมวลข้อมูลจากสมองหลายๆ บริเวณ คิด วิเคราะห์ และสั่งการให้เราตอบสนองอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ สามารถกำกับตนเองได้ทั้งการกระทำ อารมณ์ ความคิด เพื่อพาตนเองไปสู่ความสำเร็จได้ กระบวนการที่ทำให้สมองส่วนหน้าสุดกลายเป็นเจ้านายใหญ่นี้เรียกว่า Frontalization เป็นผลให้วัยรุ่น ‘คิดก่อนทำ’ 

สมองส่วนหน้าสุด (Prefrontal cortex)

สมองวัยรุ่นเปรียบเสมือนบริษัทที่ตั้งแล้ว แต่ CEO ยังไม่พร้อม

สมองส่วนที่ใช้เวลาพัฒนานานที่สุดในมนุษย์ คือ สมองกลีบหน้า (Frontal lobe) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมกำกับการดูแลตัวเองของเรา ไม่ว่าเป็นความคิด อารมณ์ การกระทำ เป็นต้น ทำให้เรารู้จักคิดก่อนที่จะตัดสินใจ ควบคุมตัวเองไม่ให้ทำอะไรที่ไม่เหมาะสมออกไป และจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำ

อาจารย์นวลจันทร์ชวนทบทวนความจำหนึ่งรอบว่า ช่วงที่สมองกำลังพัฒนาเครือข่ายให้ทำงานดีขึ้น ทำให้สมองส่วนที่ไม่เคยทำงานร่วมกัน มีโอกาสเชื่อมต่อกันมากขึ้น โดยเฉพาะสมองที่อยู่บริเวณด้านหน้าและด้านหลัง เกิดการประสานทำงานร่วมกัน ทำให้สมองวัยรุ่นมีประสิทธิภาพมากขึ้นเทียบเท่าผู้ใหญ่ (มีวุฒิภาวะหรือ mature ขึ้น)

การเปลี่ยนแปลงที่เราฟังไปทั้งหมดก็ดูเป็นเรื่องดี แต่ทำไมพฤติกรรมวัยรุ่นถึงสวนทาง อย่างเช่นเรื่องที่เราได้ยินบ่อยๆ วัยรุ่นอารมณ์นำเหตุผล ทำอะไรไม่ยั้งคิด คำอธิบายจากอาจารย์นวลจันทร์ คือ เพราะการพัฒนาของสมองแต่ละบริเวณไม่ได้พัฒนาเสร็จพร้อมกัน สมองส่วนอารมณ์พัฒนาเต็มที่ตั้งแต่อายุ 15 ปี แต่สมองกลีบหน้าสุดที่ควบคุมความคิด การกระทำ และอารมณ์ จะพัฒนาช้ากว่า คือกว่าจะพัฒนาเสร็จก็อายุเกือบ 23 – 25 ปีขึ้นไป ทำให้อารมณ์ความรู้สึกจะพีคมากที่สุดในช่วงวัยรุ่น อยากได้อะไรต้องได้เดี๋ยวนั้น หรือสนใจอะไรก็หมกมุ่นอยู่กับสิ่งนั้น ขณะที่การคิด ตัดสินใจ เป็นเหตุเป็นผลยังทำได้ไม่ดีนัก ยังต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะพัฒนาเต็มที่ 

ดังนั้น ช่วงวัย 14 – 15 ปี อารมณ์หุนหันพลันแล่น (impulsivity) จะสูงมากที่สุด และจะค่อยๆ เย็นลงตามวัย พอเขาอายุ 17 – 18 ปีจะค่อยๆ หยุดคิดและควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น เริ่มเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น

สมองวัยรุ่นจึงเปรียบเหมือนกับบริษัทที่ตั้งเสร็จแล้ว ระบบทุกอย่างพร้อมทำงาน แต่ CEO ยังไม่เก่ง งานก็อาจเกิดการผิดพลาดได้ เป็นเหตุผลว่าทำไมสมองมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี แต่ว่าเด็กก็ยังมีปัญหาอยู่

สมองต้องการความสุข วัยรุ่นจึงเปราะบาง

การเปลี่ยนแปลงอีกส่วนที่ทำให้วัยรุ่นกลายเป็นวัยที่เปราะบาง คือ Limbic Reward system ระบบประสาทที่ทำให้มนุษย์เกิดความรู้สึกพึงพอใจ กำลังพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบในช่วงวัยรุ่นอายุ 12 – 14  ปี เป็นเหตุให้คนวัยนี้ชอบแสวงหาความท้าทาย ทำสิ่งที่ตื่นเต้นเร้าใจ ก็เพื่อให้เกิดการหลั่งของสารสื่อประสาท (neurotransmitter) ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Dopamine หรือที่เราเรียกว่าสารแห่งความสุข นั่นเอง

ช่วงวัยรุ่น สมองส่วน reward system จะมีความไวมากที่สุด ทำให้วัยรุ่นแสวงหาสิ่งที่ทำให้เขารู้สึกมีความสุขและให้ความพึงพอใจมากกว่าวัยอื่น วัยรุ่นจึงเป็นวัยที่วิ่งเข้าหาสิ่งแปลกใหม่ ที่ทำให้เขารู้สึกตื่นเต้น เร้าใจ (Sensation Seeking) 

“เด็กวัยก่อน 12 ปี ยังไม่ค่อยมีความต้องการออกไปแสวงหาความสุขนอกบ้าน แต่พอ 13 – 15 ปี การอยู่แต่ในบ้านเริ่มไม่ใช่สิ่งที่สนุกตื่นเต้นเร้าใจสำหรับวัยรุ่นเสียแล้ว เขาจะเริ่มสนใจโลกภายนอกมากขึ้น เริ่มเข้าหากลุ่มเพื่อน เริ่มสนใจเพศตรงข้าม เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งแปลกใหม่ 

“การเป็นที่ยอมรับของกลุ่มเพื่อนทำให้วัยรุ่นมีความมั่นใจ มีความสุขความพอใจ ก็เนื่องจากทำให้มีการหลั่งสารสื่อประสาท Dopamine ในสมองส่วน reward system มากขึ้น ในทางตรงกันข้าม หากเด็กวัยนี้ไม่เป็นที่ยอมรับของคนรอบข้าง ถูกเพิกเฉย หรือถูกปฏิเสธจากกลุ่มเพื่อน หรือคนรอบข้าง เขาจะรู้สึกวิตกกังวลอย่างมาก เป็นสาเหตุหลักของความเครียดในวัยรุ่น”  

วงจรประสาทนี้อาจทำให้วัยรุ่นคนหนึ่งประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวก็ได้ อาจารย์นวลจันทร์ยกตัวอย่าง หากเด็กวัยรุ่นใช้สิ่งที่ไม่เป็นโทษในการทำให้เขามีความสุข ความพึงพอใจ เด็กก็จะประสบความสำเร็จได้ เช่น การตั้งเป้าหมายการเรียน และพยายามทำให้สำเร็จ การเล่นดนตรี เล่นกีฬา การทำงานอดิเรกต่างๆ เป็นต้น 

สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ทำให้วัยรุ่นเกิดความสุขความพึงพอใจได้ง่ายๆ แต่ถ้าหากสิ่งที่เขาเข้าหาเพื่อทำให้เกิดความสุข ความพึงพอใจ เป็นสิ่งที่เป็นโทษ เช่น การทดลองใช้ยาเสพติด การหนีเรียน ก็อาจทำให้ชีวิตวัยรุ่นคนนั้นอยู่ในความเสี่ยงได้

การเป็นที่ยอมรับของเพื่อนและคนรอบข้างถือเป็นความพึงพอใจขั้นสุดของชีวิตวัยรุ่น และเป็นความสุข ความพึงพอใจจากข้างในที่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องพยายามตามหามากนัก เช่น ความสุขความพึงพอใจที่ได้รับจากความรักความอบอุ่นในครอบครัว จากคนใกล้ชิด จากเพื่อน เหล่านี้จะเป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้วัยรุ่นไม่รู้สึกขาดความสุขจนต้องไปแสวงหาความสุขจากภายนอกบ้าน เพราะฉะนั้น วัยรุ่นที่ขาดความสุขความพึงพอใจ ไม่สามารถหาความสุขความพึงพอใจได้จากภายในบ้าน จะทำให้เขาต้องพยายามตามหาสิ่งอื่นจากภายนอกบ้านมาทดแทน 

“วัยรุ่นทุกคนต้องการให้คนยอมรับว่าเขามีตัวตนอยู่นะ ต้องการให้คนยอมรับว่าเขามีความสามารถ ไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่งที่เขาทำได้ดี เป็นจุดที่สำคัญมาก สังคมไทยควรเปิดโอกาสให้เด็กวัยรุ่นได้แสดงออก ได้ทดลองทำกิจกรรมต่างๆ ที่หลากหลายตามความสนใจ ให้เด็กได้ค้นหาตัวเองให้เจอว่าเขาเก่งด้านไหน”  

“วัยรุ่นทุกคนควรได้รับโอกาสแสดงออกในทางสร้างสรรค์ ต้องมีเวทีกิจกรรมให้เด็กทุกคนค้นหาตัวเองให้เจอ โดยเฉพาะเด็กที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองเก่งอะไร ชอบทำอะไร จะไปทางไหนดี ยิ่งครอบครัวไม่เข้าใจ ไม่ให้การสนับสนุน เด็กก็จะยิ่งขาดความมั่นใจ เกิดความเครียด ความวิตกกังวล ขาดความสุขความพึงพอใจ จึงเป็นกลุ่มที่ต้องการการสนับสนุนมากขึ้น และสังคมไทยยังขาดกลไกที่ช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้”

‘เข้าใจ’ คำที่วัยรุ่นอยากบอกทุกคน

พัฒนาการสมองที่เล่ามาทั้งหมดเป็นสิ่งที่ต้องเกิดกับวัยรุ่นทุกคน กลไกตามธรรมชาติ แต่จะส่งผลลบหรือบวก หรือมีระดับความรุนแรงมากน้อยเท่าไร อาจารย์นวลจันทร์บอกว่า ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อมที่วัยรุ่นโตมา

“เด็กบางคนก็มีวุฒิภาวะเร็ว อายุยังไม่ถึง 20 ปีก็มีความคิดเป็นผู้ใหญ่แล้ว เด็กส่วนใหญ่เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นอาจมีพฤติกรรมแผลงๆ ที่ทำให้ผู้ใหญ่ต้องปวดหัวบ้าง แต่เมื่อไรที่สมองส่วนหน้าสุดของเขาแข็งแรงเพราะถูกฝึกให้ใช้งานบ่อยๆ เขาก็จะมีวุฒิภาวะเร็วขึ้น เป็นผู้ใหญ่เร็วขึ้น ทำให้โอกาสเสี่ยงลดลงด้วย เพราะคิดก่อนทำมากขึ้น”

“ถ้าผู้ใหญ่เข้าใจธรรมชาติวัยรุ่นตอนนี้ก็จะผ่อนหนักผ่อนเบาให้เขาได้ ยอมให้ลูกออกไปเรียนรู้ในสังคมนอกบ้านได้อย่างมีกฎเกณฑ์ หรือข้อตกลงร่วมกัน อะไรที่ทำได้ – ไม่ได้ เพราะสังคมก็ถือเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาวัยรุ่นให้เติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ ต่างจากวัยเด็กที่ส่วนใหญ่อยู่ในครอบครัว ซึ่งพ่อแม่จะเป็นหลักในการดูแลเขา แต่เมื่อไรถึงวัยที่เขาต้องออกไปเรียนรู้ข้างนอกบ้าน สังคมจะเป็นตัวช่วยสร้างวัยรุ่นให้เติบโต เขาจะเป็นคนอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับสภาพสังคมนั้นๆ หากเด็กได้มีโอกาสทำกิจกรรมเพื่อสังคม จิตอาสา ช่วยเหลือผู้อื่นที่ด้อยกว่า ก็จะทำให้เขาเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม มีความสุขความพึงพอใจ ภาคภูมิใจในตนเอง”

มาถึงพาร์ตสำคัญแล้วว่าพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่ดูแลวัยรุ่นควรรับมือหรือปฏิบัติตัวอย่างไร คำแนะนำของอาจารย์นวลจันทร์ คือ ทำให้บ้านเป็นพื้นที่ปลอดภัย แม้วัยรุ่นจะเป็นวัยที่ชอบใช้ชีวิตนอกบ้าน แต่เขาก็ยังต้องการมีบ้านให้กลับ แล้วเป็นที่ที่อบอุ่น ปลอดภัย มีความสุข หันไปยังเจอพ่อแม่ที่รักและเป็นห่วงเขา พร้อมให้คำปรึกษาเขาได้ตลอดเวลาเมื่อต้องการ 

ถ้าบ้านเป็นเสาหลัก เป็นที่ที่อบอุ่นปลอดภัย เด็กทุกคนเวลามีปัญหา ถ้าเขามีความผูกพันที่ดีกับพ่อแม่ เขาจะกลับมาคุยปัญหากับพ่อแม่ ถามความเห็นความคิดเอาไปตัดสินใจเอง

“ถ้าพ่อแม่คิดว่าลูกเป็นวัยรุ่นแล้วปล่อยได้เลย อันนี้ไม่ถูก พ่อแม่ยังต้องอยู่ตรงนี้เพื่อที่เมื่อไรเขาทุกข์ใจ เจอปัญหาที่แก้ไม่ได้ เขาจะกล้ามาหาเรา แต่ถ้าเรามีปฏิสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับลูก ลูกไม่กล้าพูดอะไรกับเราเลย อยู่ในบ้านก็มีแต่ทะเลาะเบาะแว้งกัน โอกาสที่เขาจะกลับมาปรึกษาพ่อแม่เมื่อเจอปัญหาก็จะน้อยลง เขาจะไปหาเพื่อนแทน ถ้าเจอเพื่อนดีก็ดีไป แต่ถ้าเพื่อนชวนไปหาความสุขนอกบ้านแบบที่ไม่ดี ก็อาจทำให้เขาล้มเหลวในชีวิตได้”

ส่วนจะทำบ้านให้มีความสุขอย่างไร ขึ้นอยู่กับสไตล์แต่ละครอบครัวเลย หากนึกไม่ออกลองตั้งต้นจากตัวเราก็ได้ว่า เราอยากอยู่บ้านแบบไหน บรรยากาศในบ้านแบบไหนที่ทำให้เราอยากกลับไป คงไม่ใช่บ้านที่เต็มไปด้วยเสียงทะเลาะ และบรรยากาศลบๆ ลอยเต็มไปหมดแน่ๆ เพราะความเครียด (stress) เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำลายสมองส่วนหน้า ทำให้เครือข่ายในสมองไม่แข็งแรง ทำงานได้ไม่เต็มที่ เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีแต่ความเครียด มีแต่ปัญหา การทะเลาะเบาะแว้ง ทำให้สมองส่วนหน้าของเขาพัฒนาได้ไม่เต็มที่

พัฒนาสมองตั้งแต่เด็กเล็กด้วย 3 อย่าง สมาธิดี รู้จักหยุด และเปลี่ยน 

สมองที่พัฒนามาอย่างดีตั้งแต่เด็กจะเป็นปัจจัยสำคัญให้วัยรุ่นก้าวเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะได้เร็วขึ้น อาจารย์นวลจันทร์แนะนำว่า ผู้ใหญ่ควรให้เด็กเล็กฝึกใช้ EF ให้มากที่สุด ผ่านการทำกิจกรรมที่เป็นของจริง เรียนรู้จากการลงมือทำจริง ลดการใช้สมาร์ตโฟนหรืออุปกรณ์สื่อสารต่างๆ เพิ่มของที่เด็กควรใช้ เช่น หนังสือ ของเล่น เครื่องดนตรี กีฬา ศิลปะ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยฝึกสมาธิ ความจำ และสร้างพื้นฐาน EF 3 เรื่องที่สำคัญในเด็กเล็ก คือ ความสามารถในการจำเพื่อใช้งาน ความสามารถในการหยุด และ ความสามารถในการเปลี่ยนความคิด ไม่ยึดติดความคิดเดียว

ความสามารถในการจำเพื่อใช้งาน คือ ความสามารถในการจำข้อมูลไว้ในใจและจัดการข้อมูลกับเหล่านั้น เพื่อคิดวิเคราะห์ ทำความเข้าใจกับสิ่งต่างๆ คิดแก้ปัญหา วางแผนจัดการงานให้เสร็จ จัดลำดับความสำคัญของงาน คอย update ข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน ฯลฯ

ความสามารถในการหยุด คือ การที่เด็กสามารถหยุดพฤติกรรมตัวเองได้ในสถานการณ์ที่รู้ว่าควรหยุด เด็กคิดและควบคุมตัวเองได้ เช่น ครูสอนอยู่ เขารู้ว่าต้องหยุดวิ่งเล่น มานั่งฟังครูสอน หรือถ้าอยากได้ของเล่นเพื่อน รู้จักที่จะไม่คว้าเลย แต่หาวิธีสื่อสารเพื่อขอเพื่อนเล่นดีๆ หรือเมื่อเด็กอยากได้อะไรไม่จำเป็นต้องให้ทันที รู้จักรอคอย อาจารย์นวลจันทร์เน้นว่ากิจกรรมในบ้านแทบทุกอย่างสามารถฝึก EF ในเด็กเล็กได้ 

ความสามารถในการเปลี่ยน คือ เด็กมีการยืดหยุ่นทางความคิด ไม่ยึดติดกับสิ่งที่วางแผนไว้ แม้ตัวเขาจะตั้งใจอะไรไว้ หากไม่เป็นไปตามที่วางไว้ สามารถเปลี่ยน ยืดหยุ่นความคิดได้ (flexible)  

การฝึกเหล่านี้จะทำให้ EF ของเด็กดีขึ้น เป็นฐานเมื่อเขาโตขึ้นเข้าสู่การพัฒนา Metacognition (อภิปัญญา ความสามารถของมนุษย์ที่เหนือกว่าการรู้คิด) และส่งผลให้ช่วงวัยรุ่นที่มีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ไม่มีปัญหามากนัก เพราะเขาจะใช้ EF เป็นเครื่องมือในการพัฒนา metacognition ต่อไป เช่น เขาสามารถที่จะหยุดเพื่อคิดก่อนทำ ชั่งใจว่าถ้าทำสิ่งนี้จะเกิดอะไรตามมา แล้วไม่ทำจะปฏิเสธอย่างไร หรือจะยอมตามเพื่อนไหมถ้าเพื่อนชวนไปทำสิ่งที่ไม่ดี วัยรุ่นสามารถใช้ความคิด การตัดสินใจ และเลือกทำด้วยตัวเองได้ เพราะวัยนี้ต้องเจอสถานการณ์เสี่ยงมากมาย เช่น การทะเลาะใช้กำลัง การใช้ยาเสพติด การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร เป็นต้น 

“ควรฝึกตั้งแต่เด็กเล็ก โดยเฉพาะช่วง 6 – 12 ปี เป็นช่วงที่เด็กยังไม่เข้าช่วงวัยรุ่น ยังไม่ต้องการสิ่งกระตุ้นจากภายนอกมาทำให้มีความสุข และยังไม่มีความหุนหันพลันแล่นมากนัก จึงเป็นช่วงที่ฝึกให้เด็กกำกับตนเองได้ดีที่สุด แต่ถ้าเลยช่วง 12 ไปแล้ว ก็ยังฝึกได้อยู่ เพราะสมองคนเราเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แต่อาจจะไม่ดีเท่าตอนที่เป็นเด็ก เพราะพัฒนาการทุกอย่างควรทำเป็นขั้นตอน ถ้าขั้นตอนที่เป็นพื้นฐานควรพัฒนาตั้งแต่วัยเด็กเล็กยังไม่ถูกฝึก แต่ไปฝึกช่วงที่โตแล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่เขาควรฝึกขั้นตอนที่ยากขึ้นไป กลับต้องมาย้อนฝึกในสิ่งที่เป็นพื้นฐาน มันก็ขัดแย้งกับความเป็นวัยรุ่นเขา ทำให้ฝึกยากขึ้น”

การเปลี่ยนแปลงของสมองในช่วงวัยรุ่นอาจเป็นหนึ่งในงานยากที่พ่อแม่ต้องรับมือ แต่ไม่มีเรื่องไหนที่ทำไม่ได้ เพียงใช้ความรัก ความเข้าใจ ความเอาใจใส่ การเลี้ยงดูอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เด็กๆ ฝึก EF เขาเยอะๆ จะเป็นตัวช่วยให้ช่วงเวลาวัยรุ่นของเจ้าตัวและคนรอบข้างง่ายขึ้น วัยรุ่นนับเป็นโค้งสุดท้ายของพ่อแม่ในการเลี้ยงลูกให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของสังคม เพียงช่วยประคับประคองเขาให้ผ่านช่วงวัยนี้ไปอย่างราบรื่นด้วยความเข้าใจพัฒนาการสมองของวัยรุ่น


Writer

Avatar photo

เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

ชีวิตอยู่ได้ด้วยซัมเมอร์ ทะเล และความฝันที่จะได้ทำสิ่งที่เป็นความสุขตลอดไป

Illustrator

Avatar photo

กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts