เพียงแค่เอ่ยชื่อ Thai PBS ออกมา เราเชื่อว่าคุณผู้อ่านคงคุ้นเคยแล้วบอกว่า ‘อ๋อ เคยดูช่องนั้น’ กันหลายคน
สิ่งที่บางคนอาจไม่ได้อัปเดตกัน คือในวันนี้ Thai PBS ไม่ใช่ช่อง (แม้จะเคยทำงานในสถานะนั้นมานานหลายปี) และถ้าจะเรียก Thai PBS ว่าเป็นสถานีโทรทัศน์ก็ไม่ถูก เพราะแท้จริงแล้ว ชื่อเต็ม ๆ ของพวกเขาคือองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยหรือ ส.ส.ท.
แล้วจริง ๆ Thai PBS ในวันนี้เรียกตัวเองว่าอะไร อาจบอกได้ว่าเป็นศูนย์กลางของการส่งเสริมและสร้างสรรค์เนื้อหาที่มีคุณภาพเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยมีเครื่องมือการสื่อสารและแพลตฟอร์มทั้งออนไลน์และออฟไลน์ในมือมากมาย
หลายคนอาจเห็นว่าไม่กี่ปีมานี้ หนึ่งในสิ่งที่ Thai PBS พยายามทำคือผลิตสื่อเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็ก ๆ อย่างการเกิดขึ้นของช่อง ALTV ที่มุ่งจับกลุ่มเด็กและผู้เลี้ยงดูโดยเฉพาะ โดยมีคอนเทนต์สาระความรู้มากมายที่เน้นสอนเด็กๆ ด้วยความสนุกสนาน ในขณะเดียวกันก็เป็นนวัตกรรมที่ผู้ปกครองและครูบาอาจารย์ชื่นชอบ
ล่าสุด Thai PBS ยังจัด EF Festival@Thai PBS เทศกาลเพื่อเด็ก ๆ และครอบครัวที่ชูเรื่อง EF (Executive Function) หรือการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า ซึ่งถือเป็นแนวคิดสำคัญที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในยุคนี้
มีงานวิจัยมากมายที่เชื่อถือได้ว่า เด็กอายุ 0 – 7 ขวบ ถือเป็นช่วงนาทีทองที่สมองจะพัฒนาอย่างเต็มที่ การพัฒนาในวัยนี้จะส่งผลถึงระบบความคิด การจดจำ และการจัดการอารมณ์ของเด็กไปทั้งชีวิต จึงมีการหยิบหลักนี้มาปรับใช้กับการสอน สื่อสาร และมีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก ๆ
ในงานนี้เองก็เช่นกัน Thai PBS อยากให้เด็ก ๆ ได้เล่นและเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่ผสมผสานวิทยาศาสตร์และศิลปะมาช่วยพัฒนาสมอง นอกจากนี้ ยังมีเสวนาให้ความรู้กับคุณพ่อคุณแม่ว่าควรเลี้ยงลูกอย่างไรเพื่อส่งเสริมให้เขามีพัฒนาการที่ดีสมวัย นับว่าเป็นงานที่ทั้งครอบครัวมาทำกิจกรรมร่วมกันได้เลยทีเดียว
เบื้องหลังงานนี้มีที่มาเป็นอย่างไร ทิศทางของ Thai PBS ในขวบปีที่ 15 กำลังจะไปทางไหน และทำไม Thai PBS จึงเชื่อว่าการพัฒนาเด็กที่จะช่วยยกระดับประเทศชาติ วันนี้เรามาพบ รศ. ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. เพื่อหาคำตอบ
Thai PBS Now
ทิศทางของ Thai PBS ในขวบปีที่ 15 ต่างจากวันแรกอย่างไร
ในเชิงหลักการของสื่อสาธารณะเรายังเหมือนเดิม เพราะ Thai PBS เกิดขึ้นเพื่อสนองต่อประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง แต่สิ่งที่เปลี่ยนคือวิธีการนำประโยชน์และคุณค่าส่งไปสู่ประชาชน มันถูกเปลี่ยนตามการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อและเทคโนโลยี รวมถึงการเปลี่ยนผ่านของสังคม
เช่น ตอนปี 2551 ที่เราก่อกำเนิดขึ้น เรามีทีวีช่องเดียวคือ Thai PBS ช่องหมายเลข 3HD วิธีการทำงานจึงใช้วิธีคิดแบบ TV Oriented มาก ๆ นั่นคือการผลิตรายการทีวีและบริหารผังหน้าจอ แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว
ถ้าจะให้อธิบายตัวเองว่าเราเป็นอะไร ณ ปี 2566 เราไม่ใช่แค่ Public Broadcasting (ช่องสาธารณะ) หรือ Public Media (สื่อสาธารณะ) แต่เราเรียกตัวเองว่า Multi Public Media Hub หรือศูนย์กลางของการส่งเสริมและสร้างสรรค์เนื้อหาและสื่อที่มีคุณภาพให้ไปสู่กลุ่มเป้าหมายให้ดีที่สุดเพื่อประโยชน์สาธารณะ
เพราะฉะนั้น เราไม่ใช่ TV Channel อีกต่อไป จริง ๆ ชื่อองค์การในพรบ. ก็ไม่ได้ชื่อสถานีโทรศัพท์ไทยพีบีเอส แต่เราคือองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย
หัวใจของการทำงานสื่อสารที่ Thai PBS ยึดถือคืออะไร
หนึ่ง สนองต่อประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ประโยชน์ของกลุ่มทุน กลุ่มการเมือง หรือกลุ่มอิทธิพลใด ๆ ด้วยเหตุนี้ทำให้ Thai PBS ถูกออกแบบให้ได้รับงบประมาณที่เป็นอิสระ ตรวจสอบได้ ไม่ได้ของบประมาณจากรัฐหรือพึ่งรายได้จากโฆษณา เพราะทั้ง 2 ส่วนนี้ทำให้สื่อขาดความเป็นอิสระระดับหนึ่ง
เนื่องจากเรามีเจตนาว่าจะทำหน้าที่เพื่อสนองต่อประโยชน์ของประชาชน และประโยชน์ของประชาชนจะเกิดก็ต่อเมื่อประชาชนมั่นใจว่าข้อมูลข่าวสารและสาระที่เสนอผ่าน Thai PBS นั้นถูกต้อง ไม่เจือด้วยอคติ ไม่มีการแอบแฝงผลประโยชน์ใด ๆ
สอง Thai PBS มีหน้าที่ส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ เราอยากทำให้ประชาชนคนไทยมองเห็นความรู้ได้อย่างกว้างไกล เชื่อมโยงกับความรู้ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับสากลได้ ดังนั้นจะเห็นว่า Thai PBS ไม่ได้เป็นแค่สื่อที่นำเสนอข่าวสาร แต่เราให้สัดส่วนงานกับคอนเทนต์ความรู้เยอะมาก ไม่ว่าจะสารคดี คอนเทนต์สั้น ไปจนถึงกลุ่มรายการเด็ก
สาม เราทำหน้าที่ส่งเสริมความหลากหลายในสังคม เราให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็็นมนุษย์ การมีอยู่ของคนกลุ่มน้อย จะเห็นว่าเราพยายามส่งเสริมเนื้อหาที่จะนำไปสู่การสร้างสังคมที่อยู่ร่วมกันได้โดยไม่แบ่งแยกหรือมีอคติ ทั้งการเลือกใช้คำในเนื้อหาที่เราค่อนข้างเข้มงวดเป็นพิเศษ เพราะเรามองว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
สี่ เราลงทุนกับ Market Failure หรือสิ่งที่ไม่ทำเงินแล้วตลาดไม่ลงทุน เราทำเพราะหน้าที่ของเราคือเราต้องเข้าไปลดช่องว่างในตลาด เช่น รายการเด็ก รายการเพื่อผู้สูงอายุ รายการเพื่อกลุ่มคนชายขอบ คนพิการ หรือคนกลุ่มน้อย จะเห็นได้ว่ารายการของเรามีภาษามือและมีแอปพลิเคชันที่ทำให้คนพิการเข้าถึงเนื้อหาเราได้อย่างเฟรนด์ลี่ นี่เป็นการทำงานเพื่อตอบประโยชน์ในข้อนี้ของเรา
สุดท้าย Thai PBS จะช่วยสร้างสังคมประชาธิปไตยที่แข็งแรง อยู่บนรากฐานของสังคมประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม เพราะเราเชื่อว่าสังคมที่แข็งแรงคือสังคมที่ภาคพลเมืองมีส่วนร่วมอย่างมีคุณภาพ ไม่ได้ใช้อารมณ์และไม่ใช้กำลัง อย่างตอนเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมา นอกจากงานคอนเทนต์ติดตามผล เราเดินสายไปรับฟังข้อเสนอจากประชาชน เหมือนกิจกรรม Sound Check ให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่บอกว่าเขาอยากเปลี่ยนแปลงอะไรหลังการเลือกตั้ง แล้วเราก็นำข้อมูลเหล่านี้ไปพัฒนาเป็นคอนเทนต์ที่สามารถนำเสนอกับสังคมได้
ใครคือกลุ่มเป้าหมายของ Thai PBS ในตอนนี้
ถ้าเป็นสมัยก่อนตอนปีแรก ๆ เราตอบได้ง่าย ๆ เป็นก้อนกลม ๆ ว่าเป็นกลุ่มไหน แต่ตอนนี้ตอบแบบนั้นไม่ได้แล้วเพราะสื่อที่เรามีมันแยกย่อยมาก อย่างช่องทีวีหลัก กลุ่มที่เราตอบสนองหลัก ๆ คือกลุ่มที่ยังดูทีวีตามผัง ผู้สูงอายุ คนอยู่บ้าน ส่วน ALTV ซึ่งเป็นทั้งทีวีและมัลติมีเดียในตัวเอง มีแพลตฟอร์มออนไลน์ มีแอปพลิเคชัน มันก็ตอบสนองกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเยาวชน คุณครู รวมถึงครอบครัว ส่วนแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งหลายก็ตอบสนองกลุ่มที่อยู่บนดิจิทัลแพลตฟอร์ม นอกจากนั้น เรามี OTT ของเรา (บริการสตรีมมิงเนื้อหาผ่านอินเตอร์เน็ต) คือช่อง VIPA เป็น On-Demand Platform ที่เราอยากให้คนไทยได้ดูฟรี เราก็นำเนื้อหาสาระที่คนดูเราชอบดู ทั้งสารคดียอดเยี่ยมหรือเนื้อหาเชิงความรู้อื่น ๆ ไปใส่ไว้ในนี้
กลุ่มคนดูเป้าหมายของแต่ละช่องทางจะแตกต่างกัน แต่ถ้าให้พูดคำใหญ่ ๆ ออกมาเป็นเชิงตัวตน เราคิดว่าคนที่เสพสื่อของ Thai PBS คือคนใฝ่รู้ ใฝ่หาอะไรบางอย่างในชีวิต และเป็นคนที่น่าจะอยากมีส่วนร่วมในสังคม เป็น Active Citizen ระดับหนึ่ง
Thai PBS Kids
พอพูดถึง ALTV ก็สนใจเลยว่า ช่อง ALTV เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมถึงอยากทำช่องสำหรับเด็ก ๆ คุณครู และผู้ปกครองโดยเฉพาะ
ก่อนหน้านี้เรามีกลุ่มคนทำรายการเด็กมานานแล้ว เกิดขึ้นมาตั้งแต่ Day 1 เลย เพราะใน พรบ. ของเรามีการระบุชัดเจนในพันธกิจว่าต้องทำเรื่องส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กด้วย จริง ๆ แล้วกลุ่มรายการเด็กของ Thai PBS นั้นโดดเด่นมาตลอด เพราะทีวีช่องอื่นเขาไม่ค่อยทำกัน เรามีส่วนไปกระตุ้นให้ช่องอื่นเขาทำด้วยซ้ำไป สมัยนู้นรายการเด็กแทบจะไม่มี ล้มหายตายจากกันไปหมดแล้ว แต่พอมี Thai PBS ทำให้ผู้ผลิตรายการหลาย ๆ คนเขามีโอกาสได้พัฒนางานด้านนี้
ต่อมาเราตั้งศูนย์สื่อสาธารณะเพื่อเด็กและครอบครัว เพราะเห็นว่ารายการเด็กเป็นจุดแข็งของเรา และอยากให้การทำงานด้านเด็กเติบโตขึ้นด้วย สุดท้ายก็กลายมาเป็น Thai PBS Kids สื่อที่มีเว็บไซต์และแฟนเพจของตัวเองในภายหลัง
ส่วน ALTV เกิดขึ้นหลังจากนั้นในช่วงปี 2563 จริง ๆ เรามีความคิดอยากสร้างทีวีอีกช่องที่เจาะกลุ่มเด็กเลยมาตลอด แต่อาจจะยังไม่พร้อมเลยไม่ได้ตัดสินใจเลยสักที จนกระทั่งโควิดระบาด โรงเรียน shutdown กันหมด ปิดเทอมหลายเดือน พวกเราเห็นว่าสถานการณ์ไม่สู้ดีแน่ ๆ และเป็นห่วงเด็ก แล้วก็คิดว่าการเรียนออนไลน์จะไม่ช่วยเหลือเด็กเท่าที่ควรเพราะมีเด็กจำนวนเป็นล้านที่เข้าไม่ถึงออนไลน์ แต่เขาอาจจะเข้าถึงทีวีได้ ที่เป็นห่วงมากกว่านั้นคือเด็กที่เสี่ยงจะหลุดจากระบบการศึกษาอาจมีมากขึ้น เราในฐานะสื่อที่มีพันธกิจช่วยเรื่องนี้เลยระดมคนในศูนย์เด็กฯ มาช่วยกัน เพื่อเปิดช่อง ALTV ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กขึ้นมา
รายการของช่อง ALTV ในช่วงที่โควิดกำลังระบาดหนัก ๆ กับตอนนี้ต่างกันไหม มีการพัฒนาต่อยอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอย่างไร
ไม่ต่างมาก ตอนเริ่มต้นใหม่ ๆ น้ำหนักของรายการจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือรายการที่ทำเพื่อชดเชยการเรียนรู้สำหรับเด็กที่ไม่ได้เรียน โดยยึดตาม 5 สาระวิชาที่เด็ก ๆ จะได้เรียน แต่รายการของเราไม่ใช่รูปแบบ DLTV ที่ครูยืนสอนหน้าห้องนะ เราทำให้เด็กสนุกกับการเรียนมากขึ้น อีกส่วนคือเรามีรายการที่นำเสนอแนวทางการสอนแบบใหม่ ๆ ให้คุณครู เช่น รายการครูพุ่มพวงที่ได้แรงบันดาลใจมาจากรถพุ่มพวง พาครูไปสอนในสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเสนอไอเดียใหม่ให้กับครูในช่วงโควิด
หลังทำมาได้สักระยะเราก็เริ่มได้ feed back จากการวิจัยประกอบ เราพบว่าเด็ก ๆ หลายคนไม่มีโอกาสจ่ายเงินเข้าไปโรงเรียนในโรงเรียนติวสอบ ทำให้ช่วงหลังเนื้อหาของ ALTV หนักไปที่การช่วยเด็กเหล่านั้น แต่เราไมไ่ด้ติวแบบดื้อ ๆ นะ แต่เน้นสอนให้สนุกเหมือนเดิม อีกส่วนคือเราพยายามผลักดันเนื้อหาที่ส่งเสริมพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กเล็ก เช่น ภาษา Coding (เขียนโปรแกรม)
ในการผลิตทุก ๆ รายการ หลักที่คุณยึดไว้ในใจเสมอในการทำงานคืออะไร
เหมือนชื่อสถานีเลย นั่นคือคำว่า Active Learning หรือ AL เรามีการศึกษาหลักสูตร Active Learning เยอะมาก แล้วได้คำตอบว่าเราไม่ได้อยากทำรายการที่จะไปทดแทนห้องเรียนของเด็ก แต่เราอยากไปไกลกว่านั้นคืออยากให้เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเอง จนเกิดคีย์เวิร์ดคำว่า Self-Directed Learner เพราะเราเชื่อว่าในอนาคต เด็กไม่จำเป็นต้องเป็น Learner จากการถูกบอกให้เรียน แต่ถ้าเขารู้ว่าจะเลือกอะไร กำกับตัวเขาเองได้ เขาจะมีศักยภาพในการเป็น Learner ได้ด้วยตัวเขาเอง
การมีสกิล Self-Directed Learning สำคัญกับเด็กอย่างไร
มันทำให้เด็กเคารพตัวเองและรู้ว่าตัวเองมีคุณค่า เราว่าปัญหาใหญ่ ๆ ในสังคมหลายเรื่อง โดยเฉพาะความรุนแรงและการสูญเสีย เกิดจากการสูญเสียคุณค่าในตัวเองหรือคิดว่าตัวเองไม่มีค่า เพราะฉะนั้น Self-Directed Learning จึงเป็นเรื่องใหญ่ เพราะสกิลนี้คืนคุณค่ากลับไปให้เด็ก
มันแตกต่างจาก Self-Centered นะ แบบนั้นคือเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ไม่มองเห็นความสำคัญของใครเลย แต่ Self-Directed Learning คือเห็นว่าตัวเองมีคุณค่าและอยู่ร่วมกับทุกคนได้ มีความเข้าอกเข้าใจคนอื่น มากกว่านั้นเมื่อมีสกิล Self-Directed Learning มันทำให้เด็กรู้ว่าเขาล้มแล้วจะลุกได้ เห็นทางออกของทุกปัญหา และเห็นทางเลือกมากมาย มีความเชื่อมั่นในการใช้เหตุและผลของตัวเองอย่างใตร่ตรอง
สำหรับ Thai PBS ความท้าทายของการทำรายการเด็กในยามนี้คืออะไร
ทำให้เด็กดู (หัวเราะ) นอกจากจะท้าทายเรื่องการทำเนื้อหาที่เราคิดว่าเหมาะสมกับเด็กแล้ว มันคือคำถามว่าเราจะเข้าถึงเขาได้ยังไง กระตุ้นให้เขาอยากดูได้ยังไง ความยากข้อถัดมาคือเราพยายามพูดตลอดว่ารายการเด็กที่เราทำต้องดูพร้อมกับครอบครัว อยากให้พ่อแม่หรือคนที่อยู่กับเด็ก ๆ เกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เพราะเราเชื่อว่ารายการไม่ได้เป็นแค่รายการ มันต้องทำหน้าที่สร้างและเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับคนรอบข้างเขาด้วย เพราะฉะนั้น เราเลยต้องทำรายการเด็กที่ทำให้พ่อแม่หรือคนที่อยู่กับเขารู้สึกว่าสนุกด้วย
สนุกของแต่ละคนมีความหมายไม่เหมือนกัน รายการสนุกในแบบฉบับของ Thai PBS เป็นอย่างไร
จริง ๆ ก็เป็นความสนุกทั่วไป แต่เราจะทำงานอยู่บนจริยธรรมเช่นว่าเราจะไม่พูดคำหยาบ ไม่บูลลีใคร เป็นตัวอย่างให้เด็ก ๆ ได้เห็นด้วย ความยากคือภายใต้กรอบเหล่านี้แล้วจะทำรายการยังไงให้ดูแล้วสนุกได้
วิธีหนึ่งที่จะรู้คือเรามีกลุ่มคนทำงานที่คอยตรวจสอบและฟีดแบ็กเราอยู่เรื่อย ๆ ก่อนจะทำรายการอะไร เราปั้นตัวอย่างขึ้นมาแล้วชวนเด็กกับผู้ใหญ่ที่เป็นกลุ่มตัวอย่างมานั่งดูด้วยกัน ได้ผลยังไงถึงจะเอาไปพัฒนาเป็นรายการจริง ๆ เพราะฉะนั้น รายการเด็กของ Thai PBS ไม่ได้ทำง่ายเลย และไม่ใช่ใครก็ได้มาทำ มันต้องผ่านการรีเสิร์ชจากผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายเต็มไปหมด
นับจนวันนี้ช่อง ALTV เปิดมาแล้ว 3 ปี ช่องนี้ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก ๆ อย่างไรบ้าง
ถ้าในเชิง Popularity หรือเรตติ้งเนี่ยมันอาจไม่ดีมาก แต่ถ้าเทียบเรตติ้งจากเมื่อปี 2563 ถึงตอนนี้ก็เห็นความเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งถือเป็นกราฟที่ดีเพราะอุตสาหกรรมทีวีทั่วไป เส้นกราฟจะลดลงตลอด
ส่วนในเชิงการเข้าถึงคอนเทนต์ผ่านช่องทางต่าง ๆ เราคิดว่ามีผลลัพธ์ที่ดีทีเดียว จากการวัดผลโดยสถาบันวิชาการที่ชวนเด็ก ๆ มาประเมิน พวกเขาก็จะบอกว่ารายการมีประโยชน์ ดูสนุก ส่วนครูจะให้เหตุผลว่าเขาชอบนวัตกรรมการเรียนการสอนที่นำไปปรับใช้ ผู้ใหญ่ในครอบครัวก็จะบอกว่ารายการของเราทำให้เขาเข้าใจสิ่งที่ต้องสื่อสารกับเด็ก รับมือกับพวกเขาได้ดีขึ้น
มากกว่านั้น เรายังเคยประเมินว่าเมื่อมีช่องนี้แล้ว สัดส่วนเนื้อหารายการเด็กในอุตสาหกรรมสื่อทั้งหมดดีขึ้นหรือเปล่า ผลปรากฎว่าดีขึ้นอย่างมาก เปอร์เซ็นต์ของคอนเทนต์เด็กเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด และส่งผลให้เกิด Content Creator ด้านเด็กด้วย โดยสรุปคือระบบนิเวศของสื่อเพื่อเด็กและการเรียนรู้ทั้งหมดมันแข็งแรงขึ้นค่ะ
คิดอย่างไรกับคำกล่าวที่หลายคนบอกว่า ยุคนี้ไม่มีคนดูรายการเด็กแล้ว
จริงหรือไม่จริงก็ไม่กล้าฟันธง แต่เอาเป็นว่าคำกล่าวนี้ท้าทายเราอย่างยิ่ง ความท้าทายในที่นี้คือเราต้องพยายามเอาชนะมันให้ได้ แต่เราคิดว่าเด็กหลายคนยังเสพคอนเทนต์อยู่ แต่อาจไม่ได้ดูทางทีวี ประเด็นคือเราจะหาเขาเจอไหม ก็ต้องไปพิจารณาเรื่องแพลตฟอร์มที่เราใช้และรูปแบบของรายการ
เดี๋ยวนี้ทำรายการเด็กไม่ใช่แค่ผลิตรายการแล้วจบ เราต้องทำแอพพลิเคชันให้เด็กมาดาวน์โหลดเพื่อเล่นเกมต่อ คือมันไม่ง่ายเลย แล้วยิ่งเป็นเด็กเล็ก เรายิ่งต้องทำกิจกรรมแบบ On Site จัดให้เด็ก ๆ มาร่วมงานด้วย
EF Festival @Thaipbs
หนึ่งในงาน On Site ของ Thai PBS ที่กำลังจะจัดขึ้นเร็วๆ นี้คือ EF Festival @Thaipbs ทำไมจึงเลือกหลักการเรื่อง EF มาใช้ในงานนี้ หลักการนี้สำคัญต่อเด็กและผู้ปกครองอย่างไร
อย่างที่บอกว่าเราให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้เด็กเป็น Self-Directed Learner ซึ่งหนึ่งในองค์ประกอบที่จะส่งเสริมให้เด็กเป็นแบบนั้นได้ คือการพัฒนาทางสมองของเด็ก
หลักการ EF เป็นการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า ซึ่งเด็กจะพัฒนาสมองส่วนนี้ได้ดีที่สุดคือตั้งแต่อายุ 0 – 7 ขวบ นับว่ายิ่งเล็กเท่าไหร่ก็ยิ่งพัฒนาได้เท่านั้น ซึ่งคนที่มีบทบาทที่สุดคือผู้เลี้ยงดูหรือครอบครัวที่ใกล้ชิดเด็ก พวกเขาจะเป็นคนที่คอยสนับสนุนให้เด็กรู้จักทักษะการพัฒนาสมองส่วนนี้ เพราะฉะนั้นความเข้าใจหลักการนี้จึงสำคัญ
จริง ๆ ในสภาวะที่โลกเปลี่ยนแปลงเร็ว มีเรื่องพลิกผันเต็มไปหมด ถ้าเราไม่ทำให้เด็ก ๆ มีความแข็งแรงในตัวเอง และใช้ศักยภาพที่เขามีเพื่อส่งเสริมตัวเขาเอง เด็ก ๆ โตขึ้นไปแล้วอาจจะลำบาก ซึ่งแนวคิด EF ให้ความสำคัญจุดนี้และเชื่อว่าเด็กทุกคนเกิดมามีศักยภาพที่จะเรียนรู้อยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบรอบข้างและคนใกล้ชิดที่จะสร้างสิ่งเกื้อหนุนให้เขาเรียนรู้ได้เพียงพอแค่ไหน และจะสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีที่ทำให้เด็กรู้สึกเชื่อมั่นว่าตัวเองมีคุณค่า มันจะช่วยทั้งเรื่องการเรียนรู้ การควบคุมอารมณ์ การมีวินับ ความอดทน การมีสติ การยับยั้งชั่งใจ และรู้จักใช้ปัญญา ทำให้เด็กมีความกล้าหาญ มุ่งมั่น ทำอะไรแล้วจะทำอย่างสุดความสามารถ
ทั้ง ๆ ที่คุณสามารถสื่อสารเรื่อง EF ไปในสื่อหลายช่องทางได้ ทำไมจึงเลือกจัดเป็นเฟสติวัล
เด็กเล็ก ๆ จำเป็นต้องใช้กิจกรรมที่ทำให้เขาได้ลงมือทำ และข้อดีของการจัดเป็นเฟสติวัลคือเราอยากส่งเสริมให้พ่อแม่เข้าใจบทบาทของตัวเองด้วยว่าเขาจะสนับสนุนลูกยังไงให้มีทักษะ EF
ความคาดหวังที่คุณมีต่องานนี้คืออะไร
เราอยากให้ Thai PBS และ ALTV เป็นพื้นที่ที่คนในครอบครัวได้มาเรียนรู้หลักการ EF ร่วมกัน และการมีเฟสติวัลนี้คือการอำนวยให้พื้นที่นี้เกิดขึ้นจริง ความคาดหวังใหญ่กว่านั้นคือหากเราช่วยได้ใช้หลัก EF พัฒนาสมองเด็กแล้ว เราเชื่อว่ามันจะลดความเสี่ยงของประเทศได้เยอะมาก ในหลายเรื่อง ๆ ที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น
อีกเป้าหมายหนึ่งเป็นเป้าหมายของคนผลิตงานสื่อ เราอยากสร้างความผูกพันกับประชาชนและกลุ่มเป้าหมายของเรา ถ้าเด็ก ๆ ได้สัมผัสกับพวกเรามากขึ้น ได้มาเรียนรู้ เขาก็จะได้เป็นแฟนคลับของ Thai PBS ต่อไป
ในมุมมองของคุณ สื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กที่ดีควรเป็นอย่างไร และ Thai PBS มีการขับเคลื่อนให้เกิดสื่อในทิศทางนั้นได้อย่างไร
เราคิดว่ามันต้องเป็นสื่อที่มีเป้าหมายชัดเจนก่อน อย่าง ALTV มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเด็กเพื่อเตรียมพร้อมเขาให้รับความท้าทายในอนาคต
สอง สื่อที่ดีต้องเป็นสื่อที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับเด็ก เด็ก ๆ ดูได้ และผู้ใหญ่ก็วางใจที่จะให้ลูกเขาอยู่กับสื่อการเรียนรู้นี้ด้วย
สาม สื่อที่ดีต้องเข้าใจเด็ก ไม่ใช่สั่งสอนแบบผู้ใหญ่ที่รู้ดี ฉะนั้นต้องพูดด้วยภาษาที่เด็กเขาจะรู้สึกว่าเป็นเพื่อนกับเขา และเขามาปรึกษาเราได้