ข้างหลังเรื่องและภาพของ อ่าน อาน อ๊าน หนังสือหัดอ่านตามระดับที่หวังให้เด็กไทยเรียนภาษาได้สนุกผ่านเรื่องราวแบบวรรณกรรม

“แล้วชื่ออ่าน อาน อ๊าน นี่มาได้ยังไงคะ” เราสงสัย

ทุกคนที่นั่งอยู่ตรงหน้าหัวเราะ แล้วบอกว่าจริงๆ พวกเธอคิดชื่อกันอยู่นาน เพราะอยากได้ชื่อที่สั้น ง่าย มีชีวิตชีวา และแน่นอนว่าอยากให้มีคำว่า ‘อ่าน’

“สุดท้ายได้เป็น อ่าน อาน อ๊าน ที่ออกเสียงเหมือนแอ่น แอน แอ๊น ชื่อนี้ตอบทุกโจทย์ เพราะมีคำว่าอ่านและได้ความบันเทิง” หนึ่งในนั้นอธิบาย

อย่างที่เธอบอก ชื่อที่ดีกว่านี้คงไม่มีอีกแล้ว เพราะ ‘ได้อ่านและได้ความบันเทิง’เป็นความตั้งใจหลักของโครงการ อ่าน อาน อ๊าน ชุดหนังสือหัดอ่านตามระดับสำหรับเด็กอายุ 3-8 ขวบ ที่ สสส. และทีมงานประกอบด้วย เจ-สุดใจ พรหมเกิด ผู้อำนวยการโครงการ, แหวน-กิติยา โสภณพนิช อดีตนักวิจัยอิสระ, เกื้อ-เกื้อกมล นิยม บรรณาธิการสำนักพิมพ์สานอักษร และผู้จัดการโครงการ แต้ว-ระพีพรรณ พัฒนเวช ร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้นมา

ความน่าสนใจของ อ่าน อาน อ๊าน หนังสือชุดนี้เป็นหนังสือหัดอ่านตามระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนในบ้านเรา หน้าตาอาจดูคล้ายหนังสือภาพ แต่ อ่าน อาน อ๊าน มีหัวใจสำคัญคือการจูงใจให้เด็กๆ เรียนรู้ภาษาผ่านเรื่องราวที่มีความเป็นวรรณกรรม  เพื่อพัฒนาไปสู่การต่อยอดความรู้ในด้านอื่นๆ ได้

มากกว่านั้น อ่าน อาน อ๊าน ตั้งใจให้เป็นหนังสือหัดอ่านที่สนุกสนานด้วยประสบการณ์ใกล้เคียงกับชีวิตประจำวันของเด็กๆ และคนรอบตัวไม่มีท่าทีสั่งสอน และซ่อนการส่งสารเรื่องรากความแตกต่างหลากหลายในสังคมไว้ในเรื่องอย่างแนบเนียนกว่าจะมาเป็นหนังสือชุดนี้ต้องผ่านอะไรมาบ้าง ทีมอ่าน อาน อ๊าน ทั้งสี่คนรอให้คำตอบกับเราแล้ว

ขอเชิญอ่าน อาน อ๊าน ได้ ณ บัดนี้  

เจ-สุดใจ พรหมเกิด , เกื้อ-เกื้อกมล นิยม , แหวน-กิติยา โสภณพนิช , แต้ว-ระพีพรรณ พัฒนเวช

หัดอ่าน

ก่อนจะตามไปดูเบื้องหลังการสร้างสรรค์หนังสือชุดอ่าน อาน อ๊าน เราขอแวะเล่าเรื่องหนังสือหัดอ่านตามระดับพอสังเขป

ว่ากันซื่อๆ แล้ว หนังสือหัดอ่านตามระดับก็ไม่ต่างอะไรจากหนังสือเรียนไทยที่มีตัวละครอย่างมานะ-มานีหรือแก้ว-กล้า ที่ความยากง่ายของภาษาจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามระดับชั้น แต่สิ่งที่ทำให้หนังสือหัดอ่านตามระดับต่างจากหนังสือเรียนที่เราคุ้นชินคือเรื่องราวที่สนุกสนาน และมีความหมาย

“เรื่องราวคือใจความสำคัญของการเรียนภาษา พอเป็นเรื่องที่ไม่มีความหมาย เช่นเรื่องที่สอนคำศัพท์อย่าง ขา ตา อา เอาคำเหล่านี้มาเรียงเป็นประโยค เช่น มาหาตา เดินไปนา หนังสือเหล่านี้จะเน้นให้อ่านได้ก่อนแล้วค่อยไปอ่านเรื่อง แต่ความจริงเรื่องนี้ควรมาพร้อมกับการเรียนรู้คำเลย เพราะฉะนั้น เอกลักษณ์ของหนังสือหัดอ่านตามระดับคือเรื่องจะอยู่ในภาพ 100%” เกื้อเล่า 

ถ้ามองจากหน้าตาแล้ว หนังสือหัดอ่านตามระดับอาจดูคล้ายๆ หนังสือภาพ (Picture Book) แต่ความแตกต่างคือ หนังสือภาพแบ่งระดับความยากด้วยเรื่องราวที่เบาสมองและหนักหนา ส่วนหนังสือหัดตามตามระดับ (Level Book) นั้นแบ่งระดับความยากง่ายด้วยคำอ่าน

มากกว่านั้น เป้าประสงค์ของหนังสือภาพคือ เป็นหนังสือที่มีคนอ่านให้เด็กๆ ฟัง ส่วนหนังสือหัดอ่านตามระดับเกิดขึ้นเพื่อให้มีคนอ่านให้เด็กฟังก็ได้ หรือเด็กจะอ่านเองก็ได้

“หนังสือภาพจะมีลักษณะเด่นคือคำจะอยู่ในเรื่อง เช่น มีภาพวาดเหตุการณ์บางอย่างแล้วมีคำบรรยายเหตุการณ์นั้น ผู้ใหญ่จะสนใจแต่อ่านตัวหนังสือ แต่หนังสือหัดอ่านตามระดับคือเรื่องจะอยู่ในภาพ แต่คำอาจจะธรรมดาจนบางคนมองว่าไม่มีอะไร เช่น ยายมาหา อามียา แต่จริงๆ แล้วการอ่านต้องอ่านทั้งหน้ากระดาษนั้น หมายความว่าอ่านภาพไปด้วย” แต้วเสริม 

“เช่น หน้าที่มีคำบรรยายว่าพ่อกะแม่ ถ้าปิดคำแล้วดูภาพอาจจะดูเหมือนไม่มีเนื้อเรื่องเลย แต่จริงๆ สิ่งที่เรื่องกำลังจะสื่อคือ แม่กำลังใส่รองเท้าคู่ใหม่ พ่อกำลังอ่านหนังสือพิมพ์” 

หนังสือหัดอ่านตามระดับไม่ใช่สิ่งใหม่ในต่างประเทศ ย้อนกลับไปช่วงยุคปี 70’s โทรทัศน์กำลังเป็นที่แพร่หลาย ทำให้เด็กๆ ในต่างประเทศเรียนภาษาได้น้อยลง มีเด็กอ่านไม่ออกเยอะ และครูก็มีปัญหาเรื่องการสอน 

“ปัญหาคือครูหรือพ่อแม่ไม่มีเครื่องมือที่สนุก ดึงดูด มีเสน่ห์มากพอที่จะช่วยให้เด็กอยากรู้ภาษา เด็กทุกชาติเหมือนกันหมด คือการเรียนรู้ภาษา-การอ่านนั้นไม่สนุก ผู้ใหญ่ไม่ทำให้สนุกเพราะคิดเอาเองว่าเด็กทำได้ เพราะไหนๆ ก็พูดเป็นแล้ว แต่คนที่พูดเก่งไม่ได้แปลว่าจะอ่านเก่ง หรือคนอ่านเก่งไม่ได้แปลว่าจะเขียนเก่งหรือคิดเก่ง เหล่านี้คือรายละเอียดที่สัมพันธ์กันหมด” แต้วบอก

“เวลาพูดถึงภาษา เราจะไม่ค่อยให้ความสำคัญเพราะเรารู้สึกว่าเด็กไทยอ่านออกพูดได้อยู่แล้ว แต่พลังที่อยู่ข้างในการเรียนภาษามันขาดหายไป ไม่มีเสน่ห์ เพราะฉะนั้นทุกคนก็หยิบจับภาษามาใช้แบบธรรมดา ไม่รู้สึกว่าต้องสะสมเยอะๆ ในตัวเพื่อใช้งาน”

และหนังสือหัดอ่านตามระดับนี่แหละ คือหนึ่งในหนทางแก้ไขปัญหา 

อ่าน อาน อ๊าน

ประเทศไทยไม่เคยมีหนังสือหัดอ่านตามระดับมาก่อน นั่นคือข้อเท็จจริงข้อแรกที่เซอร์ไพร์สเราไม่น้อย

แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีใครพยายามทำเรื่องนี้ ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของ ‘อ่าน อาน อ๊าน’ หนึ่งในแรงผลักดันสำคัญคือนพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ กรรมการกำกับทิศทาง สสส. ณ ขณะนั้นมีความสนใจในเรื่องการอ่านออกเขียนได้อย่างก้าวกระโดดของเด็กไทย อาจารย์หมอเคยศึกษา Oxford Reading Tree หรือหนังสือหัดอ่านตามระดับของอ๊อกฟอร์ด คิดว่าเป็นโมเดลที่น่าสนใจและจะได้ทำให้เด็กไทยได้อ่านเขียนอย่างสนุกสนาน

ประกอบกับ สสส. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนเรื่องการอ่านเพื่อสุขภาวะของเด็กไทยมาเสมอ คิดว่าโมเดลนี้น่าลองจึงสนับสนุนให้ เจ ผู้จัดการแผนงานศึกษายุทธศาสตร์สร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านมาริเริ่มโปรเจกต์ นั่นคือตอนที่เธอชวน แต้ว เกื้อ และแหวน ผู้เคยผ่านงานหนังสือเด็กและคลุกคลีอยู่กับการเรียนการสอนของเด็กๆ มาฟอร์มทีมด้วยกัน

ในระยะแรกเริ่ม พวกเธอก็ถกกันว่าหนังสือหัดอ่านตามระดับในไทยสำคัญกับเด็กแค่ไหน ทำไมต้องมีหนังสือที่ครูอ่านให้เด็กฟัง ทั้งๆ ที่เด็กมีหนังสือภาพสำหรับเด็กอยู่แล้ว อาจนำหนังสือภาพที่มีในตลาดอยู่แล้วมาจัดลำดับใหม่ก็ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ครูไทยและครูต่างชาติพยายามทำเช่นกัน

สุดท้าย พวกเธอก็เลือกแนวทางการสร้างหนังสือชุดใหม่อย่าง อ่าน อาน อ๊าน นั่นเพราะไม่ใช่แค่อยากทำหนังสือให้เด็กอ่าน แต่อยากสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้กับผู้เป็นครูและสังคมไทยด้วย

“มันคือระดับการอ่าน ไม่ใช่ระดับการฟัง เราเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าหนังสือเด็ก ตัวละครเป็นเด็ก แต่จริงๆ ภาษาการอ่านเขาอาจจะไม่ได้มีไว้เพื่อให้เด็ก 3 ขวบหัดอ่าน อย่างคำว่าสวัสดี สอ วอ ไม้หันอากาศ สอ ดอ สระอี มันไม่ใช่ระดับขั้นการอ่านของเด็กไทย เทียบง่ายๆ คือเด็กไทยเริ่มต้นจาก กอ-อา กา ขอ-อา ขา เลเวลที่หนึ่งจะเท่านี้พอ” แต้วบอก

ไม่ใช่แค่นั้น เพนพอยต์สำคัญที่ทำให้พวกเธอลุกขึ้นมาทำหนังสือชุด อ่าน อาน อ๊าน คือวิกฤตการอ่านของเด็กไทยที่มีพัฒนาการล่าช้าด้านภาษากว่า 30% มามากกว่า 10 ปี และจากสถิติของ UNICEF และสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า เด็กปฐมวัยกว่า 1 ล้านครัวเรือนไม่มีหนังสือในบ้านสักเล่ม นั้นหมายความว่าเด็กกว่าหนึ่งล้านคนไม่เคยมีความสุขกับการที่ผู้ใหญ่อ่านหนังสือให้ฟัง แย่ยิ่งกว่านั้นคือเด็กไม่มีการสะสมคลังคำ 

เจ-สุดใจ พรหมเกิด

“พลังของคลังคำควบคุมยุทธศาสตร์ทุกๆ ด้านของการพัฒนาเด็ก เด็กจะไม่สามารถเรียนคณิต วิทย์ หรือวิชาอื่นๆ ได้เลยถ้าอ่านไม่ออก อ่านไม่แตก ตีความไม่ได้” เจให้เหตุผล

“เด็กไทยตีโจทย์ไม่แตก หมายถึงเขาอ่านออกแต่ไม่เข้าใจ ไม่สามารถคิดพลิกแพลงอะไรได้ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้มาจากกระบวนการพัฒนาทางด้านภาษา” เกื้อสมทบ

เพนพอยต์อีกข้อคือเด็กหลายคนไม่เพียงแค่อ่านไม่แตก แต่ยังอ่านไม่ออก โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุระหว่าง 3-8 ขวบที่อ่านไม่ออกจนไม่อยากเรียน ถึงขั้นลาออกจากโรงเรียน หนังสือหัดอ่านตามระดับก็จะมาอุดรูรั่วนี้ให้เด็กๆ เหล่านั้น 

อ่านผิดอ่านถูก

เพราะอ่าน อาน อ๊าน เป็นนวัตกรรมด้านการอ่านนี่แหละ การจะสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

ไอเดียแรก พวกเธอคิดว่าอยากแปลจากหนังสือหัดอ่านตามระดับภาษาอังกฤษแบบตรงตัว แต่สุดท้ายไอเดียนี้ก็พับไป เพราะด้วยโครงสร้างทางภาษาที่แตกต่างกัน ทำให้คำที่แปลมาใช้กับเด็กไทยไม่ได้จริง

พวกเธอไม่ยอมแพ้ ในเมื่อฉบับแปลใช้ไม่ได้จึงต้องคิดเรื่องและภาพขึ้นมาใหม่ ทว่ากว่าจะถึงตรงนั้น ทีมอ่าน อาน อ๊านลองผิดลองถูกด้วยการนำหนังสือหัดอ่านตามระดับที่หาได้จากแทบทุกประเทศมากาง เพื่อถอดรหัสว่าแต่ละเล่มมีโครงสร้างอย่างไร มากกว่านั้นพวกเธอเดินทางไปสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญในไทย ทั้งนักวิชาการด้านภาษาและคนเขียนหนังสือเรียนของไทยเพื่อสร้าง ‘คัมภีร์’ เพื่อเป็นหลักยึดในกระบวนการสร้างสรรค์ อ่าน อาน อ๊าน

ทีมงานพบว่า หนังสือหัดอ่านตามระดับประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบหลัก คือ เรื่องราว ภาษา และภาพ

คำถามคือจะนำ 3 อย่างนี้มารวมกันได้อย่างไร 

“เรากลับไปดูที่คัมภีร์ของเรา เพราะเวลาเราเขียนคำ เขียนเรื่อง เราจะมีภาพในหัวอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือคำ เราจะทำยังไงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เราก็กลับไปดูในคัมภีร์ของเราว่ามันเกินระดับของเด็กไปไหม ถ้าเกินก็ต้องหาคำใหม่มาแทน” แต้ว ผู้เชี่ยวชาญในการทำหนังสือภาพสำหรับเด็กอธิบาย

“เช่น คำว่า กะ กับคำว่า กับ คำสองคำนี้มีความหมายเดียวกัน โดยความคุ้นชินเราจะใช้คำว่าแม่กับพ่อ แต่ในคัมภีร์ลำดับขั้นของคำที่เรามี สระแรกที่เด็กรู้จักยังไม่ถูกลดรูป ยังไม่มีตัวสะกด เพราะฉะนั้นคำที่ควรใช้ก็คือ ‘กะ’ กลายเป็น ‘แม่กะพ่อ’ อะไรแบบนี้ คัมภีร์จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะเราต้องไปเปิดดูตลอดเวลา”  

อ่านเอาเรื่อง

อ่าน อาน อ๊าน เป็นชุดหนังสือหัดอ่านตามระดับสำหรับเด็กอายุ 3-8 ปี โดยแบ่งออกเป็น 5 ระดับตามความยากของภาษาในเล่ม

แต่พูดก็พูดเถอะ ภาษายากหรือง่ายแค่ไหนก็ไม่ได้จูงใจเด็กๆ เท่ากับเรื่องและภาพ เพราะฉะนั้น นอกจากการเลือกคำศัพท์ที่พวกเธอต้องระมัดระวังเสมอ อีกสิ่งที่ให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือหน้าตาและอารมณ์ของตัวละคร

“ดูหน้าแม่ซะก่อน ทุกคนจะบอกว่าเหมือนแม่ที่บ้านเลย” เกื้อหยิบอ่าน อาน อ๊าน เล่มหนึ่งมาให้เราดู แล้วชี้ไปที่แม่ที่ใครดูก็รู้ว่ากำลังอารมณ์บูด

“เวลาเด็กส่วนใหญ่ดูภาพ เขาจะดูตัวละครเป็นหลัก เราจึงตั้งใจดีไซน์ภาพให้ตัวละครมีอารมณ์ที่ชัดเจน โดยเฉพาะอารมณ์ทางลบมันจะดึงดูดมาก พอดูปุ๊บ เขาจะเริ่มหาคำตอบแล้วว่าทำไมแม่ถึงทำหน้าแบบนี้”

มากไปกว่านั้น หนังสือชุด อ่าน อาน อ๊าน ยังมีจักรวาลของตัวเองที่คงอยู่แค่ในหนังสือชุดนี้เท่านั้น กล่าวคือจะมีตัวละครชุดเดิมและชุมชนเดิมอยู่ในทุกๆ เล่มนั่นเอง

 เกื้อ-เกื้อกมล นิยม

“จักรวาลในเรื่องจะตั้งบนฐานของความจริงที่เราทุกคนพบเห็น มีครอบครัวที่อยู่ในตลาด มีคนทำอาชีพค้าขาย มีครอบครัวที่มีฐานะหน่อย อาจมีพ่อเป็นหมอหรือนักวิชาการ มีครอบครัวคนจีน หรืออย่างเด็กๆ ในเรื่องก็จะเป็นเด็กที่ขึ้นรถสองแถวไปโรงเรียน” เกื้อแจกแจง 

“มันจะมีสิ่งหนึ่งที่ต่างออกไปต่างหนังสือเรียนไทย ที่ตัวละครไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่จะเป็นคนดี ไม่ค่อยทำเรื่องผิดพลาด แต่ในจักรวาล อ่าน อาน อ๊าน จะมีทั้งความซุ่มซ่าม ไม่ได้ตั้งใจ ขี้ลืม โกรธกันบ้าง ทะเลาะกันบ้าง ผิดพลาดได้ เพราะเราอยากให้มันเป็นธรรมชาติที่สุดเท่าที่จะทำได้”

เรื่องราวของแต่ละเล่มเป็นเรื่องราวในชีวิตประจำวัน สะท้อนประสบการณ์วัยเด็กของแต่ละคน แต่พวกเธอจับมายำให้สนุกขึ้น 

“เช่นการเดินมาโรงเรียน จริงๆ มันก็แค่เดินมาแค่นั้น แต่เราทำให้เดินมาแล้วสะดุดก้อนหิน หรือเดินมาแล้วเจออะไรสักอย่างอยู่ข้างทาง เป็นเรื่องไม่ปกติ อะไรแบบนี้” แต้วบอก “ด้วยความที่เราอยากให้อ่าน อาน อ๊าน มีความเป็นวรรณกรรมอยู่ด้วย แล้วในวรรณกรรมคือต้องมีปัญหาให้ตัวละครแก้ นั่นคือเหตุผลที่ทุกเรื่องต้องมีปัญหา” 

ในจักรวาลของ อ่าน อาน อ๊าน ยังให้ความสำคัญกับความหลากหลายของตัวละคร ทั้งตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศ ตัวละครที่เป็นผู้พิการซึ่งมีความหลากหลายทางกายภาพ ตัวละครที่หลากหลายเรื่องศาสนา ชาติพันธุ์ สีผิว ภาษา และขนาดร่างกาย ไปจนถึงความหลากหลายทางไลฟ์สไตล์และทางเลือกในชีวิต เช่น ตัวละครที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว 

ไม่เพียงเท่านั้น บางตัวละครยังทลายกรอบมายาคติของสังคมที่มีมานาน เช่น เด็กผู้หญิงที่ไม่เรียบร้อย มีนิสัยเหมือนลิงเหมือนค่าง คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวผู้เลี้ยงลูกได้อย่างสมบูรณ์ คุณพ่อที่รักการทำงานบ้าน ซักผ้าให้ทุกคน ไม่ได้โบ้ยว่านี่คือหน้าที่ของแม่ 

และบางครั้งตัวละครก็พลิกบทบาทไปจากที่เราเคยเห็น เช่น เด็กที่เคยเป็นผู้ร้องขอความช่วยเหลือมาตลอด บางครั้งก็เป็นฝ่ายที่ช่วยคลี่คลายปัญหาให้ผู้ใหญ่ได้

“แต่เราจะต๊ะไว้ในใจเสมอว่าเราจะไม่ยัดเยียด เพราะไม่งั้นเราจะทำให้ความหลากหลายเป็นความแตกต่าง ถ้าเราทำแบบ โอ้! ต้องเปิดใจสิ เด็กก็จะรู้สึกว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาทันที เราอยากให้เด็กรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้คือเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องธรรมชาติ และมีอยู่จริงในสังคม” เกื้อย้ำ 

อ่านอนาคต

อ่าน อาน อ๊าน ถูกผลิตออกมาแล้ว 2 ซีซั่น ผ่านการทดลองใช้กับศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนหลายแห่ง ผลลัพธ์ที่ได้คือครูหลายคนบอกพวกเธอว่า นับตั้งแต่มีอ่าน อาน อ๊าน เด็กๆ ก็เข้ามาสื่อสารกับครูเรื่องหนังสือมากขึ้น

หากสิ่งที่ทำให้ได้ผลแบบนี้ไม่ใช่เฉพาะเด็กๆ ที่ชอบอ่านเท่านั้นหรอก ทีมอ่าน อาน อ๊าน มองว่า บุคคลที่สำคัญไม่แพ้กันคือผู้ใหญ่

แต้ว-ระพีพรรณ พัฒนเวช

“ผู้ใหญ่มักจะไม่วางใจว่าเด็กสามารถคิดเองหรือตีความจากภาพเองได้ ต้องพยายามอธิบาย พยายามให้เด็กตอบเสมอ เช่นการชี้ไปที่ตัวละครแล้วถามว่าคนนี้ใคร พอเด็กตอบว่าแม่ ผู้ใหญ่ก็จะสบายใจ แต่จริงๆ คือเด็กรู้แล้วว่านี่คือแม่ ไม่ต้องถามก็รู้ (หัวเราะ) เราเลยอยากขอผู้ใหญ่ว่าต่อจากนี้ไม่ต้องทำแบบนี้แล้ว เพราะคุณเชื่อเถอะว่าเด็กมีความพยายามอยู่ เขาไม่รู้ในวันนี้ก็ไม่เป็นไรเลย เดี๋ยววันหน้าเขาก็พยายามค้นหาคำตอบเอง ยิ่งเด็กนิ่งและคิดกับเรื่องราวในหนังสือมากเท่าไหร่ ยิ่งมีประโยชน์มากเท่านั้น” แต้วบอก

แหวน-กิติยา โสภณพนิช

“ผู้ใหญ่ที่จะสอนเด็กอ่านหนังสือต้องเปิดกว้างพอที่จะให้เด็กมีอิสระ ตีความ และมีปฏิสัมพันธ์กับหนังสือในแบบฉบับของเขาเอง เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นแต่ละคนจะตีความได้หลากหลายมาก และผู้ใหญ่ต้องพร้อมที่จะเปิดรับ กระตุ้นให้เด็กตั้งคำถาม หาข้อมูล เชื่อมโยง นี่ถึงจะเรียกได้ว่าเป็นกระบวนการอ่านที่ครบสมบูรณ์จริงๆ” แหวนเสริม

บทสนทนาดำเนินมาถึงช่วงท้าย เราอดสงสัยไม่ได้ว่า การได้ทำหนังสือหัดอ่านตามระดับชุดอ่าน อาน อ๊าน มีความหมายกับพวกเธอยังไง

“ภูมิใจมาก ภูมิใจในทีม” เจตอบเร็ว“ นี่คือสิ่งที่เราไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้น แต่เราสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ แล้วมันก็ตอบโจทย์จริงๆ ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก โดยเฉพาะเด็กๆ ที่กระหายใคร่รู้มากเวลาได้อ่านหนังสือ ช่างพูด ช่างคุย ช่างซัก อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และทำให้เด็กสามารถมีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้ ตัวครูเองก็มีเมตตา อดทนรอคอยที่จะให้เด็กอ่านเองได้ด้วย มันเหมือนทำให้เขาเห็นว่าเด็กๆ ก็สามารถก้าวผ่านวิกฤตได้ด้วยตัวเอง”


Writer

Avatar photo

พัฒนา ค้าขาย

นักเขียนจากเชียงใหม่ผู้รักทะเลและฤดูหนาวพอๆ กับหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็นเรื่องเพศ ความสัมพันธ์ และเรื่องป๊อปทุกแขนง

Photographer

Avatar photo

ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

Related Posts