Thailand Policy Lab ห้องทดลองนโยบายที่มี ‘ประชาชน’ ร่วมออกแบบ

  • กระบวนการออกแบบนโยบายที่กระจุกตัวอยู่ที่ผู้เชี่ยวชาญเพียงไม่กี่คนคือความล้มเหลวในการฟังเสียงประชาชน
  • การออกแบบนโยบายเป็นกระบวนการที่ต้องระดมความคิดจากทุกภาคส่วนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
  • Social listening ไม่ใช่แค่การเก็บข้อมูลทางสถิติ แต่เป็นการรับรู้อารมณ์ ความรู้สึก ปัญหาและความคับข้องใจของคนในสังคม

‘นักทำนโยบายที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างรัฐกับประชาชน โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง’ คงเป็นนิยามอย่างเรียบง่ายที่สุดของห้องปฏิบัติการนโยบายประจำประเทศไทย (Thailand Policy Laboratory – TPLab)
ด้วยจุดมุ่งหมายในการเปลี่ยนแปลงกระบวนการออกแบบและกำหนดนโยบายให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนและตามความท้าทายใหม่ ๆ ในโลกอันผันผวนให้ทัน เสริมสร้างศักยภาพของผู้ออกแบบและกำหนดนโยบายสาธารณะ และส่งต่อเครื่องมือและความรู้ให้กับประเทศในเอเชียแปซิฟิกและภูมิภาคอื่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทยหรือ UNDP จึงจัดตั้ง TPLab ขึ้น
Mappa คุยกับทีมงาน TPLab เกี่ยวกับที่มาที่ไป ภารกิจและเป้าหมายของหน่วยงาน รวมถึงแนวโน้มของกระบวนการออกแบบนโยบายในประเทศไทย

ก่อนอื่นช่วยแนะนำตัวได้ไหม

สวัสดีค่ะ เอม กานท์กลอน รักธรรม เป็น Policy Communication and Engagement Officer ค่ะ

แตงกวา พริมา สุวัณณาคาร เป็น Policy Exploration Analyst ค่ะ

ฑิฟฟาณี เชน เป็น Policy Experimentation Analyst ค่ะ

กล้า กรกช ฉ่ำกมล เป็น Project Management Associate ครับ

ช่วยเล่าที่มาที่ไปของ TPLab ให้ฟังหน่อย

เอม : ห้องปฏิบัติการนโยบายประจำประเทศไทย (Thailand Policy Laboratory – TPLab) ก่อตั้งโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ฯ และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทยหรือ UNDP เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร ดังนั้น เงินที่ได้จะได้จากการระดมทุนต่าง ๆ ไม่ว่าจะหน่วยงานต่างประเทศอย่าง EU หรือประเทศที่บริจาคเงินให้ UN อยู่แล้ว
อย่างที่เราเห็นว่า จากสถานการณ์โควิดทั่วโลกทำให้ปัญหามันซับซ้อนขึ้นและเกิดขึ้นไว ปัญหาที่ต้องการการทำนโยบายที่รวดเร็วขึ้นและไม่ใช่การแก้ปัญหาทางเดียว ต้องมองเห็นองค์รวมของมัน สภาพัฒน์ฯ เองก็ตระหนักว่าวิธีการทำงานของเขาต้องปรับเปลี่ยน เขาจึงต้องการพาร์ทเนอร์อย่าง UN เพราะเรื่องเป้าหมายการพัฒนานโยบายอย่างยั่งยืน และความเชี่ยวชาญในการใช้นวัตกรรมทำนโยบาย ซึ่งนวัตกรรมที่นี่ไม่ใช่เทคโนโลยีแต่มันคือวิธีคิดใหม่ ๆ ความคิดเป็นเหตุเป็นผล สร้างสรรค์ขึ้น วิธีคิดที่ตีโจทย์แตกขึ้น ดังนั้นเราจึงมาร่วมมือกับ UNDP ซึ่งเขามีความเชี่ยวชาญเรื่องนวัตกรรมนโยบายที่เขาทำกับหลายประเทศทั่วโลกอยู่แล้ว นั่นเป็นสาเหตุที่สภาพัฒน์ฯ จับมือกับ UNDP จนเกิดขึ้นเป็น TPLab
เราเริ่มทำงานตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2021 ผ่านมาประมาณปีกว่าแล้ว วิสัยทัศน์และเป้าหมายหลักของเราคือการปรับกระบวนการการทำนโยบายของประเทศไทยให้มันตอบโจทย์ ตรงจุด รวดเร็วคล่องตัวมากขึ้น ดังนั้น บทบาทของเราจะไม่ใช่ think tank เหมือนหน่วยงานวิชาการที่ผลิตนโยบายอย่างเดียว ในการปรับกระบวนการนโยบายมันมีหลายภาคส่วน

3 เสาในการปรับกระบวนการนโยบายของ TPLab มีอะไรบ้าง

เอม : เสาแรก คือ การนำนโยบายมาใช้กับประเด็นที่หลากหลาย และนำมาทดสอบใช้จริงกับหน่วยงานภาครัฐและคนที่ทำงานนโยบายด้านนั้น ๆ อยู่ เป็นการนำแนวความคิดไปใช้กับนโยบายในหลากหลายประเด็น เพื่อให้กระบวนการปรับนโยบายไปได้หลากหลาย สิ่งที่ได้จากเสาแรกไม่ใช่แค่นโยบายกระดาษ สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือวิธีการทำงานของนักวางแผนนโยบายไทยที่จะเปลี่ยนไปจากการทำงานร่วมกับเรา หรือได้กระบวนการนโยบายใหม่ ๆ ที่จะได้ออกมาจากเสาแรก
เสาที่สอง คือ การเสริมสร้างทักษะของนักวางแผนนโยบายหรือคนที่เกี่ยวข้อง โดยเราจะนำเครื่องมือใหม่ ๆ ไม่ว่าจะ design thinking, system thinking, foresight หลัก ๆ คือการเสริมสร้างศักยภาพของนักวางแผนนโยบาย ดังนั้นจะเริ่มเห็นว่าเราไม่ใช่แค่ผลิตนโยบาย แต่การที่เราจะปรับปรุงกระบวนการนโยบายทั้งหมด เราต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานของคน เสริมทักษะของคนด้วย
งานหนึ่งในเสาที่สองที่น่าสนใจมากคือ ฑิฟฟาณีกำลังทำงานกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในชื่อวิชา Policy Innovations เวลาเราพูดถึงการเรียนเรื่องนโยบายสาธารณะคนที่จบสาขานี้ไม่จำเป็นต้องมาเป็นนักวางนโยบายเสมอไปอาจรับราชการก็ได้ ในระบบนิเวศของนโยบายมันมีหลายบทบาท ซึ่งพอพูดถึงนโยบายสาธารณะมันก็มีความดั้งเดิมของมันอยู่ที่มันอาจจะไม่ได้ปรับตัวตามโลก
สิ่งที่ฑิฟฟาณีทำอยู่คือทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และตั้งชื่อว่า Policy Innovation ออกแบบร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และไปทดลองที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาหนึ่งเทอม ก่อนกระจายหลักสูตรนี้ออกไปยังมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ซึ่งนี่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทำถูกจุด ไปเปลี่ยนที่หลักสูตรการศึกษา สุดท้ายเราผลิตคนออกมา หรือแม้กระทั่งสถาบันวิชาการทั่วประเทศมันได้ปรับเปลี่ยน ทัศนคติในเสาที่สอง

เสาที่สาม คือ การสร้างเครือข่ายแห่งนวัตกร เมื่อพูดถึงการทำนโยบายหรือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ สิ่งที่เราพยายามเปลี่ยนทัศนคติของคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับนโยบายคือ เราไม่ได้คิดว่ามีแค่ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นที่รู้ดีที่สุด เราไม่คิดว่าการทำนโยบายจะต้องออกมาจากผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เรากลับเชื่อว่าจริง ๆ แล้วคนที่อยู่กับปัญหาอาจนำมาซึ่งทางแก้ที่ตอบโจทย์กว่าผู้เชี่ยวชาญก็ได้ ดังนั้นการสร้างเครือข่ายนี้มันเลยสอดคล้องกับคุณค่าที่ TPLab เชื่อว่านักวางแผนนโยบายหรือใครก็ตามต้องตระหนักว่าคุณไม่ได้รู้ดีที่สุดและคุณไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ ทำงานด้านสังคมเราทำคนเดียวไม่ได้ เราต้องอาศัยพาร์ทเนอร์ อาศัยเครือข่าย อาศัยคนร่วมอุดมการณ์กับเรา ดังนั้น การสร้างเครือข่ายไม่ใช่แค่นักวางแผนนโยบาย แต่ ‘นวัตกร (innovator)’ ในความหมายของเราคือทุกคนสามารถวางนโยบาย สามารถส่งเสียงของตัวเองในเรื่องที่มันเกี่ยวข้องกับเขาได้ ในเสาที่สามจึงเน้นการสร้างเครือข่าย ทั้งเครือข่ายกับคน เครือข่ายความรู้

สามเสานี้มันทำงานควบคู่กันไป อย่างเสาแรกเราทำกับกลุ่มคนน้อยมาก ทำกับนักนโยบายที่เขาพร้อม เขามีพื้นที่ที่เขาอยากเปลี่ยนแปลงจริง ๆ กลุ่มคนน้อยมากแต่ความใหม่ ความ innovative มันมีสูง แต่เราทำแค่นั้นมันยังไม่พอ มันต้องสร้างเสาที่สองด้วย รวมถึงการทำชุมชนนวัตกร มันเป็นการขยายสเกลความเข้าใจเพื่อขับเคลื่อนทั้งระบบนิเวศไปในทางที่ยั่งยืน ถึง TPLab ไม่อยู่แต่การขับเคลื่อนยังไปต่อได้และเดินไปด้วยตัวของมันเองได้

ดังนั้น มันต้องทำงานร่วมกัน ภาคประชาสังคมเขาอินมาก อยากมีส่วนร่วมมากเลย แต่ภาครัฐไม่มีเครื่องมือและสกิลมากพอ มันไม่เวิร์ก มันเหมือนโต๊ะ ถ้าขาข้างหนึ่งพังมันก็ล้ม

แตงกวา : ที่จริงเสาแรกเป็นเสาที่แตงมองว่าเป็นการทดลอง ไม่มีถูกหรือผิด เรามีองค์ความรู้ universal เรามีกลุ่ม ผู้เชี่ยวชาญ จาก UNDP ที่มีองค์ความรู้และกระบวนการที่ใช้กับงานเพื่อการพัฒนา มันมีหลาย ๆ อย่าง เราอยากเอาสิ่งเหล่านี้มาทดลองกับบริบทไทย ซึ่งนี่คืองาน policy innovation ว่าถ้าเราเอากระบวนการเหล่านี้มาใช้ในกระบวนการนโยบายแล้ว สิ่งที่ได้คืออะไร pain point ของนักนโยบายที่จะนำสิ่งเหล่านี้มาปรับใช้คืออะไร เราอยากทำการทดลองและทำความเข้าใจว่าต้องปรับอะไรเพื่อให้ตรงกับเรามากขึ้น

ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญก็ออกแบบนโยบายได้เหรอ

แตงกวา : เราถือว่าผู้เชี่ยวชาญเขามีประสบการณ์เยอะ มีข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์และสถิติเยอะ เขาใช้ทุกอย่างที่เขาเรียนมาแล้วพยากรณ์ แต่ทีนี้เหตุและผลมันไม่ได้ชัดขนาดนั้น ยิ่งในโลกสมัยใหม่ ไม่มีเลยที่เหตุและผลจะชัดเจนขนาดนั้น
ดังนั้น คนที่รู้มากที่สุดคือคนที่อยู่ในสถานการณ์ เพราะเป็นคนที่อยู่ และหากเราออกมาตรการอะไรออกไปแล้วเขาเข้าใจว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นมีอะไร เหตุและผลมันต้องปรับให้เข้ากับพื้นที่ที่เขาอยู่ ไม่ใช่ให้ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่บนหอคอยงาช้างมองลงมาแล้วบอกว่านี่คือสิ่งที่ต้องทำทั้งหมด แล้วนำมาปรับใช้ทั้งหมด แล้วคิดว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามที่คาด มันก็กลับมาที่เรื่องการทดสอบ เราควรทดลองดูก่อนว่าปัญหาคืออะไร นำทางออกต่าง ๆ จากใครก็ตามที่คิดได้เอามาลองดูก่อนว่ามีผลเสียอะไรบ้าง แล้วค่อยขยับสเกลให้กว้างขึ้น มันมีหลายองค์ประกอบ
มันมีการตั้งคำถามว่าโจทย์ที่เรามีถูกหรือเปล่า การมีส่วนร่วมของหลาย ๆ ภาคส่วนในการคิดค้นแนวทางแก้ปัญหาขึ้นมา เพื่อทดสอบก่อนที่จะขยายขอบเขต มันดึงหลายมุมมาทั้งเชิงระบบ การเข้าใจความเป็นมนุษย์มากขึ้น การเข้าใจเหตุและผลไม่ได้ชัดเจนอย่างที่เราคิดไว้ และการทดลอง แล้วค่อย รวบรวมหลักฐานเพื่อบอกว่าสิ่งนี้ควรเป็นนโยบายที่เกิดขึ้น
มันคือการเปลี่ยนวิธีคิด จากภาพเดิมที่นโยบายต้องมากจากรัฐบาลส่วนกลางเท่านั้น แต่พยายามเปิดว่านโยบายมันมาจากทุกคน เพราะทุกคนคือผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบาย เพื่อให้นโยบายนั้นเป็นนโยบายโดยประชาชนเพื่อประชาชนจริง ๆ
การนำ design thinking มาช่วยคิด service design มันก็เหมือนกันกับธุรกิจที่คุณต้องออกแบบเพื่อประชาชน ไม่ใช่ออกกฎมาเพื่อบังคับประชาชนแต่ออกมาเพื่อประโยชน์ของประชาชนจริง ๆ

ยกตัวอย่าง เราก็มีกลุ่มก้อนเยาวชนที่เราไม่ได้มองเขาแค่ใช้เก็บ insight แต่เรามองเขาเป็น policy entrepreneurs ว่า คุณมาร่วมกับเรา อย่างน้อยในอนาคตคุณมีทักษะติดตัวในฐานะพลเมือง การวางแผนนโยบายหรือการแสดงความคิดเห็นเรื่องหนึ่งกับสังคมหน้าตาเป็นอย่างไร มันถูกผนวกเข้ามาในการตัดสินใจร่วมกับภาครัฐหรือคนที่เกี่ยวข้อง หรือกระทั่งเรากลับไปมหาวิทยาลัยต่างจังหวัดต่าง ๆ นี่ก็เป็นฐานที่สามที่เราสร้างเครือข่ายและเครือข่ายเรากว้างมาก ตั้งแต่ระดับชุมชน เยาวชน อาจารย์ NGOs

นโยบายสมัยก่อนเขาทำกันอย่างไร ทำไมถึงต้องปรับให้มีนวัตกรรมนโยบาย

แตงกวา : เวลาเรามีประเด็นที่เร่งด่วนมาก ๆ ที่แรกที่หลายคนจะไปคือ ตั้งกรรมการ หาผู้เชี่ยวชาญ เพราะรู้สึกว่านั่นคือจุดที่องค์ความรู้อยู่มากที่สุด เหมือนเป็นการทำอะไรเร่งด่วนที่สุด สมมติมีปัญหาเรื่องการท่องเที่ยว เรียกผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวทั้งหมดมาคุยกัน ตัดสินใจเลยว่าจะเอาอย่างไร มันก็มีความน่าเชื่อถือ แต่พอมันทำอย่างนี้บ่อย ๆ คนที่เขาประสบปัญหาจริง ๆ ทั้งที่เขารู้ว่ามันควรแก้ปัญหาอย่างไร สิ่งนี้ถูกทำให้เป็นเรื่องรองไปเลยเพราะถูกความเร่งด่วน ความผู้เชี่ยวชาญ ความง่ายชนะ

เราไม่ได้บอกว่าผู้เชี่ยวชาญไม่มีค่า แต่เราอยากนำเสียงอื่น ๆ เข้ามาด้วย ให้มาทำงานร่วมกันเพราะบางครั้งแต่ละกรณีของแต่ละฝ่ายมันอาจไม่ได้ตรงกันขนาดนั้นหรือเราอาจจะลืมใครคนใดคนหนึ่งไป

เหมือนเวลาพูดถึงเรื่องท่องเที่ยว เราจะพูดถึงธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร คนทำทัวร์ แต่ที่จริงแล้วคนทั่วไปในพื้นที่ท่องเที่ยวนั้นเขาก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน พวกร้านรถเข็น street food ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม มีใครเป็นตัวแทนเรื่องพวกนี้หรือเปล่าในการทำความเข้าใจว่าธุรกิจท่องเที่ยวคืออะไร มันไม่ใช่แค่ธุรกิจ มันคือระบบนิเวศมันคือวงจรของชีวิต ก็เลยรู้สึกว่าวิธีการเก่ากับวิธีการใหม่ มันมีความต่างและเราพยายามดึงมันออกมาให้มันครอบคลุมระบบมากขึ้น
ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะล้มระบบที่มีหรือสิ่งที่ทำมาตั้งแต่ก่อน แต่เป็นการเสริมบางอย่าง หรือการมองจากมุมอื่น ส่วนการกระทำอาจไม่ได้ต่างขนาดนั้น แต่ว่าเป็นสิ่งที่คิด สิ่งที่มอง คนที่เข้ามา สิ่งที่เรียนรู้ จริง ๆ แล้วกระบวนการเหล่านี้ เส้นทางที่เดินไปขยายกว้างออกมา ไม่ได้แปลว่าสิ่งที่ทำอยู่มันผิดหรือต้องลบล้างไปหมด แต่มันมีวิธีการอื่นมาเสริมเพิ่มเติมด้วยกัน

เพราะว่ามันมีช่องว่างด้วยไหม ความเร่งด่วนหรืออะไรก็ตามที่ทำให้เวลาทำนโยบาย คนที่มีปัญหาไม่ได้มีส่วนในการแก้ปัญหา

กล้า : บางทีปัญหาไม่ได้เกิดจากตัวมันเอง แต่เกิดจากวิธีการที่ถูกออกแบบมาตอบโจทย์สิ่งหนึ่งแต่มันดันมากระทบอีกสิ่งหนึ่ง เพราะในโลกปัจจุบันนี้ ปัญหามันเชื่อมกัน มันมีหลายอย่างมากที่เชื่อมโยงกันอยู่ เราจะแก้ปัญหาแค่จุดเดียวโดยไม่คำนึงจุดอื่นไม่ได้ เราเก็บไว้ในหัวใจแล้วกันว่าโลกมันซับซ้อนมาก การแก้ปัญหาแต่ละอย่างมันต้องมองทั้งระบบว่าเราจะเคลื่อนทั้งระบบอย่างไรให้ไปทางที่ดีข้างหน้าได้อย่างไร อันนี้คือจุดหนึ่งที่ต่างกับการทำนโยบายเมื่อก่อน

พูดง่าย ๆ คือมันมีทั้งช่องว่างนี้ และช่องว่างในการเห็นผลกระทบของวิธีการแก้ปัญหา ที่บางครั้งอาจไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบ

ฑิฟฟาณี : ใช่ เราอาจคิดว่ามีปัญหานี้ วิธีแก้ปัญหามี A B C แต่จริง ๆ แล้วอย่างที่กล้าบอกมามันมีวิธีอื่น ๆ ที่เรายังไม่เคยเห็น ไม่เคยทดสอบอยู่ด้วย เพราะฉะนั้น การเอา system thinking หรือเครื่องมือตัวอื่นมาคิดด้วย มันจะทำให้เห็นว่ามันอาจจะมีวิธีการอื่น ๆ ที่ตอนนี้อาจยังไม่ได้ทำแต่มันสามารถทำได้ หรือปัญหาอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้จับแต่เราสามารถไปเรียนรู้หรือดึงออกมาได้

ทำไมเราถึงต้องมี TPLab

เอม : ข้อแรก โลกปัจจุบันมีความไม่แน่นอนสูง คาดการณ์ได้ยาก ดังนั้นเราต้องการการตอบสนองต่อปัญหานั้น ๆ ที่คล่องตัว
ข้อที่สอง เราเชื่อว่าปัญหาปัจจุบันมันมีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกันในโครงสร้างมากขึ้น เช่น ฑิฟฟาณีทำเรื่องสุขภาพจิตของเยาวชน ถ้าการแก้ปัญหาแบบเดิม เราจะมุ่งไปที่สุขภาพอย่างเดียวเลย แต่ความจริงสุขภาพจิตของเยาวชนมันเกี่ยวข้องกับทุกอย่าง แม้กระทั่งสถานที่อาคาร ใครจะไปนึกว่าสถาปัตยกรรมก็มีผลต่อ สุขภาพจิต นั่นคือสาเหตุที่สองว่าทำไมต้องการ Thailand Policy Lab ที่สามารถ รับมือกับปัญหาได้อย่างเป็นระบบและได้แบบ non-linear solution แปลเป็นไทยตรงตัวที่สุดก็คือการแก้ปัญหาแบบไม่เป็นเส้นตรง การแก้ไขปัญหาแบบเป็นเส้นตรง มันเป็นการมองทีละมิติ เป็นด้าน ๆ ไม่เห็นความเชื่อมโยงกับมิติอื่น ส่วนการแก้ปัญหาแบบไม่เป็นเส้นตรงมันผ่านการคิดมาแล้ว
อย่างแตงกวาทำเรื่องประชากรกับสภาพัฒน์ฯ อยู่ ประเด็นเรื่องประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อัตราเกิดประชากรลดลง คิดแบบทางตรงเท่ากับคนต้องมีลูกเพิ่มสิ แต่ถ้าคิดแบบไม่ใช่ทางตรงอาจเป็น เราจะทำอย่างไรเพื่อให้คนเกิดความเชื่อมั่นต่อรัฐและอนาคตมากพอที่จะสร้างครอบครัวอย่างที่ตัวเองต้องการ
ข้อที่สาม นวัตกรรมในความหมายของเราคือวิธีการคิดใหม่ ๆ ที่จำเป็นต้องเข้ามาอยู่ในกระบวนการการทำนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นการคิดเชิงออกแบบ การคิดเชิงระบบ การคาดการณ์อนาคต สิ่งซึ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่วงจรนโยบายแบบเดิมอาจมีบ้างไม่มีบ้าง แต่เราต้องการทำให้มันเข้มแข็งขึ้น
ข้อที่สี่ เราเชื่อว่าคนที่อยู่ใกล้ปัญหาที่สุด อย่างเรื่องสุขภาพจิตของเยาวชน เราดึงเยาวชนเข้ามาเป็นหนึ่งในคนทำขั้นตอนแรก เราไม่ตัดสินเองว่าปัญหาที่เร่งด่วนและสำคัญของเยาวชนคืออะไร เราไม่ได้หลับแล้วตื่นขึ้นมาแล้วบอกว่า นี่แหละ ปัญหาของคุณ แต่เรามีการสำรวจทำ social listening เราเชื่อว่าคนที่เราต้องฟังเสียงเขามากที่สุดคือคนที่อยู่กับปัญหามากที่สุด และไม่ใช่แค่ฟังเท่านั้น ต้องดึงเขามาเป็น co-create policy ร่วมกัน

นี่คือ 4 เหตุผลง่าย ๆ ที่เราจะบอกทุกคนว่าทำไมถึงต้องมี Thailand Policy Lab

ประชาชนรู้ไหมว่าเขาต้องมีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบาย เขารู้ไหมว่าเขาสามารถทำฟังก์ชันนี้ได้

แตงกวา : โดยสามัญสำนึกมันก็ใช่ ในเชิงปรัชญาหน่อยคือ เราโตมาโดยถูกทำให้เชื่อสถิติตัวเลข ผู้เชี่ยวชาญเป็นปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลมากในการตัดสินใจอะไรก็ตาม ซึ่งมันอาจจะขัดกับสามัญสำนึกเราหมดเลย แต่ถ้าเราไปนำเสนออะไรโดยไม่มีตัวเลข ไม่มีผู้เชี่ยวชาญหรือตำแหน่งวิชาการใดไปนำเสนอ แล้วไปบอกว่าคนเขารู้สึกอย่างนี้ เหมือนมันให้คุณค่ากับความรู้สึกคนน้อยมาก ทั้ง ๆ ที่มันขัดกับสามัญสำนึกเรา ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งก็รู้แหละว่าความรู้สึกเรามันมีเหตุผล อันนี้อาจจะเข้าไปสู่การนำเสนอนโยบายและการขับเคลื่อน ว่าเราจะทำอย่างไรให้ความรู้สึกของคนมีคุณค่ามากขึ้นกว่าที่เคยในกระบวนการของนโยบาย
การที่ประชาชาชนเป็น active citizen เขารู้ตัวไหม โครงสร้างอำนาจรัฐเราเป็นแบบนี้มานาน รัฐไม่ได้มองว่าประชาชนเป็นพวกเดียวกันกับเขาหรือเปล่า นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้การทำนโยบายกระจุกอยู่ที่ผู้เชี่ยวชาญหรือเปล่า ไปกระจุกอยู่ในที่ที่เหมือนกับเป็นอำนาจในการกำหนด
นโยบายไม่ใช่ข้อกำหนด แต่มันคือวิถีชีวิตของผู้คน แต่ว่านโยบายแบบเดิม มันอาจมองว่าเป็นข้อกำหนดหรือเปล่า เป็นสิ่งที่ฉันกำหนดให้เธอต้องทำแบบไหน เพื่อได้ ผลลัพธ์แบบนี้
เอม : เอมว่ามันสะท้อนถึง mindset ต่ออำนาจของรัฐในประเทศเราว่าจริง ๆ แล้วการยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางมันควรเป็นตั้งแต่แรก แต่ไม่ได้เป็นแบบนั้นเพราะโครงสร้างรัฐเราเป็นแบบนี้
กล้า : อาจเป็นเรื่องการคิดเชิงระบบหรือเปล่า ที่แม้มันมีมานานแล้ว แต่มันอาจเป็นเชิงระบบที่ไม่มีความเป็นมนุษย์ในนั้น เมื่อก่อนอาจคิดกันว่าถ้าทำตรงนี้ ไปตรงนี้ ได้ตรงนี้ แต่ความเป็นจริงแล้วนโยบายที่ออกมาเพื่อมนุษย์ก็ต้องมีความเป็นมนุษย์อยู่ในนั้น
มนุษย์คือมีความรู้สึก ฉันได้รับข้อมูลนี้แล้วรู้สึกอย่างไร นโยบายออกมาตอบโจทย์ตรงนี้แล้วฉันพอใจไหม มันขาดความเป็นมนุษย์ตรงนี้ไป

แตงกวา : ความเป็นมนุษย์เมื่อเทียบกับเมื่อก่อนที่เรามองเชิงเครื่องจักรเท่านั้น ไดนามิกมีแค่ขึ้นหรือลง แต่ไดนามิกในมนุษย์กับโครงสร้างอื่น ๆ มันลึกซึ้งกว่านั้น
จะเปรียบเทียบว่าระบบมนุษย์กับระบบเครื่องจักรมันต่างกัน แต่เราเคยทำงานเชิงเครื่องจักรมาก่อน

การทำ social listening คืออะไร ต่างจาก public listening อย่างไร

เอม : เราฟังเพื่อจะเอาอะไร เราฟังเพื่อจะเอาข้อมูล หรือเราจะฟังเพื่อเอาความรู้สึกด้วย ความจริงแต่ละคนไม่เหมือนกัน และนี่เป็นสิ่งที่เอมคิดว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงที่ดีที่เราทำงานร่วมกับสภาพัฒน์ฯ
เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วเราจัดเสวนาเชิงนโยบายกับคนที่เป็นที่ปรึกษาสภาพัฒน์ฯ ที่ทำงานกับเราอย่างใกล้ชิด เขาพูดบนเวทีเลยว่า การฟังประชาชน มันคือการฟังความคับข้องใจของเขา การฟังอารมณ์ ความรู้สึก
ดังนั้น การทำนโยบาย หรือการฟังประชาชนนั้น เมื่อก่อนเราฟังผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเอาข้อมูล เอาองค์ความรู้ แล้วเอามาสร้างเป็นมุมมองเชิงลึกเพื่อผลิตออกมาเป็นนโยบาย แต่การฟังประชาชนที่ TPLab กำลังพยายามขับเคลื่อนอยู่ คือการฟังความรู้สึก การฟังความคับข้องใจ ความทุกข์ อารมณ์ความรู้สึกทุกอย่าง
บนเวทีมีคนที่เราเชิญมาพูดด้วยชื่อคุณน็อต มาพูดเรื่อง CBT เขาพูดดีมากและเอมคิดว่ามันสอดคล้องกับคุณค่าของ TPLab คือ เมื่อก่อนเวลาฟังคน เราจะรู้สึก เฮ้ย อย่าเอาอารมณ์มาพูดสิ แต่จริง ๆ แล้วคุณลืมไปหรือเปล่าว่านโยบายบางอย่าง หรือเรื่องบางเรื่องมันกดทับคนคนหนึ่งอยู่ แล้วเราจะไม่มีอารมณ์กับสิ่งนั้นได้ไง

คนถูกกดทับอยู่ย่อมมีอารมณ์ การฟังเพื่อเอาข้อมูลหรือการฟังเพื่อเอาความรู้สึก มันไม่ควรจะตัดอันใดอันหนึ่งไป มันควรเอาทั้งสองอย่าง หน้าที่ของนักวางแผนนโยบาย คุณนำสิ่งนั้นที่คุณฟังประชาชน ที่ไม่ใช่แค่เรื่องข้อมูลตัวเลข ความรู้สึกกดทับ ความคับข้องใจของเขา คุณจะนำตรงนั้นมาผสมผสานกับเครื่องมือทุกอย่างจนได้นโยบายที่มันคลายความข้องใจของประชาชนอย่างไร

ดังนั้น มันไม่ใช่แค่การฟังเพื่อเอาข้อมูล แต่มันคือการฟังความคับข้องใจของประชาชน

เข้าใจว่านโยบายต้องออกแบบให้รองรับคนหลากหลายมาก เราทำอย่างไร

เอม : เรายึดหลักว่า No one behind คือ การคิดกระบวนการหรือการทำนโยบายจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ที่ผ่านมาคิดว่ามันไม่ใช่การทิ้งมนุษย์เอาไว้นะ แต่มนุษย์ที่เขาคิดถึงมันไม่ครอบคลุมทุกคน มันเป็นแค่มนุษย์กลุ่มหนึ่งที่เขาคิดว่าเป็นคนส่วนมาก แล้วคิดว่าอันนี้มันตอบโจทย์ทุกคนแล้ว โดยไม่ได้คิดถึงคนอื่น ๆ ทุกคน หรือเอกลักษณ์ของแต่ละคน ซึ่งมันไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ความชอบไม่เหมือน แบ็กกราวด์ไม่เหมือน การทำนโยบายมันควรเข้าถึงคนเหล่านั้นด้วยเช่นกัน อาจจะไม่ใช่ทุกคนร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ใส่ความเป็นมนุษย์ที่ต่างจากเครื่องจักรลงไป คิดถึงมุมแบบนี้ให้กว้างขึ้น ให้ลึกขึ้นและเห็นถึงความเป็นคน จิตใจ อารมณ์เข้าไปด้วย ไม่ใช่แค่ข้อมูล
บางคนเชื่อว่าคนเราขับเคลื่อนได้ด้วยเงิน ถ้าเพิ่มเงินคนก็ยอมหมดเลย สมมติมีคนจะปรับพื้นที่แล้วไม่ยอมไปก็จะคิดว่าให้เงินเดี๋ยวก็ไป แต่ความจริงเขาไม่ได้มองว่า ที่คนเขาไม่ย้ายออกจากพื้นที่เพราะมันเป็นบ้านที่เขาอยู่มาตั้งแต่เด็ก มันผูกพัน บางที แรงผลักดันกับแรงจูงใจของคนมันไม่ได้พยากรณ์ง่ายขนาดนั้น
แรงบันดาลใจของคนมันมีความลึกซึ้งมากกว่าตัวเลขหรือเงิน ตัวอย่างนี้จะช่วยให้เราจะทำความเข้าใจว่าทำไมข้อมูล, สถิติ, แผนเศรษฐกิจ มันไม่พอ

ส่วนใหญ่คนทำงานนโยบายจะตันตรงที่ระบบราชการไทยไซโล เราจะทะลวงตรงนี้ไปได้ไหม

แตงกวา : ตอนนี้มันยังไม่ได้มีทางออกอะไรที่แน่ชัด แต่เท่าที่สัมผัสได้คือมันต้องเปลี่ยนแปลงจากระดับคนทำงาน กลุ่มที่แตงทำงานด้วยเขาพร้อมรับและค่อนข้างเปิดใจ เขาเกิดความเข้าใจว่าทำไมต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคส่วนอื่น ๆ แต่โครงสร้างมันไม่เอื้ออำนวย จึงเกิดอีกขาหนึ่งคือ decision maker ถ้าเราสามารถแสดงให้ decision maker หรือคนที่มีอำนาจตัดสินใจต่าง ๆ เห็นได้ว่าผลที่ได้รับของการคิดเชิงระบบมันมีผลกระทบมากกว่าปัจจุบันอย่างไร การที่เรามี ผู้นำแค่ไม่กี่คนที่สามารถซัพพอร์ตสิ่งนี้ได้ แตงหวังว่าในที่สุดเราจะเจอคนกลุ่มนั้น แล้วฝึกอบรมระดับปฏิบัติงานให้มากพอทำงาน
อันนี้เป็นแนวทางที่ค่อนข้างอุดมคติ แต่รู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงต้องมาจากคนสองฝั่ง
ฑิฟฟาณี : ณ ตอนนี้ ทุกคนก็รู้และเห็นถึงปัญหาว่าเราไม่สามารถทำงานไซโลได้แล้ว ก็เกิดวิธีการหลาย ๆ อย่างที่เริ่มทำให้เห็นถึงความร่วมมือกันหรือความพยายามให้เกิดความร่วมมือกันขึ้นมาได้ ซึ่งทางภาครัฐเองก็มีการฝึกอบรมหลายอย่างที่เปิดโอกาสให้คนข้ามหน่วยงานได้รู้จักกัน ซึ่งอันนี้ที่รู้สึกว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นที่เขาต้องพยายาม
หากเขาต้องการแก้ไขนโยบายนี้ เขาต้องไม่เอาคนจากที่เดียวมา แต่เขาต้องเอาคนจากหลาย ๆ ที่มาอยู่รวมกัน ช่วยกันแก้ปัญหา รู้ว่าหากต้องการแก้ปัญหานี้ต้องทำอะไร ไปที่ไหน ใครทำอะไร มันจะเห็นเลยว่าใน ระดับปฏิบัติงานมันจะมีการจัดการภายใน แต่ถามว่ามันไปถึงสุดหรือเปล่าแล้วทุกคนกลับไปเปลี่ยนแปลงได้เลยไหม อันนี้ที่นี่ยังตอบไม่ได้ว่าเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน แต่เห็นความพยายามจะทำให้เกิดขึ้น
กล้า : อีกองค์ประกอบหนึ่งเวลาที่เราแนะนำระบบหรือแนวคิดใหม่ คือ มาหาเจตนาร่วมกัน คนที่มาจากหลายภาคส่วน มาหาเจตนาร่วมกันว่าต้องการทำอะไร อย่างไร ตัวนี้จะเป็นตัวนำไปที่จุดไซโล ถ้าคุณไม่รู้ คุณต้องไปดูว่าคุณต้องทำอย่างไรต่อ หมายความว่า ไม่ใช่ฉันอยู่แค่นี้ ฉันไม่รู้ ฉันไม่ทำต่อแล้ว แต่ชวนคิดต่อว่า ถ้าฉันตันตรงนี้แล้ว ฉันไม่รู้อะไร ต้องเรียนรู้อะไรเพื่อให้รู้และไปต่อได้ เพื่อตอบโจทย์เจตนาร่วมที่มีร่วมกัน


Writer

Avatar photo

มิรา เวฬุภาค

Writer

Avatar photo

ศิริกมล ตาน้อย

อยากเกิดใหม่เป็นแมงกะพรุน

Photographer

Avatar photo

ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

Photographer

Avatar photo

ณัฐนันท์ วิจิตรบุญชูวงศ์

ถ่ายภาพ ชอบดูหนัง ไปนอน และหาของอร่อย

Illustrator

Avatar photo

ลักษิกา บรรพพงศ์

กราฟิกดีไซน์เนอร์ที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับธุรกิจเพลงเด็ก ติดซีรีส์ ชอบร้องเพลง ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และเป็นทาสแมว

Related Posts