“ทุกวันที่ตื่นเช้ามาแล้วผมยังมีความหวัง เพราะยังเชื่อว่าศิลปะธำรงความเป็นมนุษย์ได้อยู่” ทัศนัย เศรษฐเสรี

  • “ทุกวันผมยังรู้สึกว่าตื่นเช้ามาแล้วผมยังมีความหวัง ตื่นเช้ามาแล้วผมยังมีแรงที่จะทำอะไร ก็ยังเชื่อว่าศิลปะมันทำหน้าที่ได้อยู่”
  • บทสัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นในบ่ายที่อากาศร้อนอบอ้าววันหนึ่ง ในสตูดิโอของ ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี โดยเริ่มต้นจากคำถามง่าย ๆ อย่าง “มนุษย์เรียนรู้ศิลปะหรือศิลปะอยู่กับเรามาตั้งแต่เกิด” สู่บทสนทนาลื่นไหลที่ไปไกลตั้งแต่การศึกษา การเมือง จนถึงเรื่องความคิดสร้างสรรค์และวิถีชีวิตในฐานะอินทรียรูปที่มีการขยับเขยื้อนตลอดเวลา
  • แม้เรื่องสังคมที่ไร้อิสรภาพกับการศึกษาที่ฆ่าความคิดสร้างสรรค์จะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดในบทสนทนาของเราบ่อยครั้ง แต่บทสัมภาษณ์นี้ก็ยังคงเต็มเปี่ยมไปด้วยความหวัง ว่าศิลปะจะยังคงเป็นเครื่องมือที่ธำรงไว้ซึ่งความเป็นมนุษย์ได้เสมอ  

เราอยู่กับ ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์ประจำสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่สตูดิโอศิลปะของอาจารย์ในบ่ายที่อากาศร้อนอบอ้าว ผลงานศิลปะและวัสดุอุปกรณ์มากมายตั้งเรียงรายอิงกับผนัง พื้นที่ตรงกลาง มุมนั้นนิด มุมนี้หน่อย อัดแน่นอยู่ในโกดังกว้าง เว้นช่องว่างแคบ ๆ ไว้เป็นทางเดิน มุมเล็ก ๆ บางมุมไม่ได้มีเพียงผลงานของอาจารย์เท่านั้น แต่ยังมีสิ่งละอันพันละน้อยที่ทำให้เราเห็นบางแง่บางมุมของอาจารย์นอกเหนือไปจากด้านศิลปะและการเมือง ไม่ว่าจะเป็นจรวดกระดาษของลูกชายวัย 6 ขวบหรือโมเดลไดโนเสาร์ที่ลูกศิษย์ซื้อให้ซึ่งอาจารย์นำมาตั้งไว้บนโต๊ะทำงาน

“รักศิลปะไหม รักเคารพในมนุษย์ไหม ศิลปะไม่เป็นเจ้านายใคร และศิลปะไม่เป็นขี้ข้าใคร”

หลาย ๆ คนคงรู้จักอาจารย์ทัศนัยจากประโยคอันทรงพลังในคลิปไวรัลจากเหตุการณ์ที่อาจารย์ในคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่พยายามขัดขวางนักศึกษาไม่ให้จัดแสดงผลงานที่เกี่ยวกับการเมือง

สารภาพตามตรงว่าแม้เราจะมีรายการคำถามเตรียมไว้บ้างแล้ว แต่วินาทีที่ก้าวเข้าไปในสตูดิโอของอาจารย์ เราก็ยังไม่แน่ใจนักว่าอยากให้บทสัมภาษณ์ออกมาในทิศทางไหน เราจะคุยเรื่องการเมือง การสร้างงานศิลปะ มุมมองต่อเรื่องสัพเพเหระเพื่อให้รู้จักอาจารย์มากยิ่งขึ้น ถามถึงประสบการณ์ในชีวิตของอาจารย์ (ซึ่งท้ายที่สุดอาจารย์ก็เล่าให้เราฟังขณะที่พาเราเดินชมสตูดิโอ) หรือจะตั้งต้นคำถามจากชุดผลงาน “WHAT YOU DON’T SEE WILL HURT YOU” ของอาจารย์ที่พวกเราชื่นชอบ  

“มนุษย์เรียนรู้ศิลปะหรือศิลปะอยู่กับเรามาตั้งแต่เกิด” จึงเป็นคำถามแรกจากบรรดาคำถามหลายข้อที่เราตระเตรียมมาและคำตอบของอาจารย์ก็นำเราไปสู่บทสนทนาลื่นไหลจนไม่ต้องพึ่งรายการคำถามอีกเลย จากเรื่องระบบการศึกษาในประเทศไทยที่สังหารวิธีการทางศิลปะซึ่งเป็นกระบวนการในการได้มาซึ่งความรู้ใหม่ ไปสู่เรื่องที่ศิลปะแทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตของเราทุกคนไม่เว้นแม้แต่การจัดตู้ก๋วยเตี๋ยว เรื่องความคิดสร้างสรรค์ในฐานะเครื่องมือที่ใช้ทลายข้อจำกัดของยุคสมัย โดยมีหลักฐานตัวอย่างให้เห็นอยู่ใกล้ ๆ เป็นสีเทียนแท่งโตหลายสิบและอาจถึงหลายร้อยแท่งที่อาจารย์ทำขึ้นเองเพื่อทลายข้อจำกัดเรื่องสีตามท้องตลาด เรื่องสังคมมหรสพที่ทำให้เรากลายเป็นเพียงผู้เสพ เรื่องศิลปะในฐานะเครื่องมือธำรงไว้ซึ่งความเป็นมนุษย์ ไปจนถึงเรื่องอินทรียรูปแห่งวิถีชีวิตและการดำรงอยู่

“วิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ไปไกลกว่าการเมือง ไปไกลกว่าข้อถกเถียงในรัฐสภา ไปไกลกว่าความเข้าใจในเรื่องศิลปะของคนในวงการศิลปะ เพราะว่าวิถีชีวิตคือฟอร์มประเภทหนึ่ง มันคืออินทรียรูป มันเปลี่ยนแปลงตัวเองและพยายามที่จะก้าวพ้น และทลายข้อจำกัดของยุคสมัยเสมอ นั่นคือสิ่งที่เราเรียกว่า being หรือการดำรงอยู่”

ช่วงเวลาที่เราได้สนทนากับอาจารย์เพียงไม่กี่ชั่วโมง ได้กลายเป็นหนึ่งในการสัมภาษณ์ที่สำหรับเราแล้ว “ถึงใจ” ที่สุด ลึกซึ้งที่สุด ซื่อตรงที่สุด ธรรมดาที่สุด ทรงพลังที่สุด และแม้การเอ่ยถึงความจำกัดจำเขี่ยของอิสระเสรีในประเทศนี้หรือการไร้ความสามารถของระบบการศึกษาในการสร้างการเรียนรู้ จะปรากฏขึ้นมาในบทสนทนาของเราอยู่บ่อยครั้ง แต่บทสัมภาษณ์ในวันนั้นยังเปี่ยมด้วยความหวังจากพลังของมนุษย์ในการสงสัยใคร่รู้ การสร้างสรรค์ และการพยายามหาคำตอบเพื่อทลายข้อจำกัดแห่งยุคสมัย ที่อาจารย์พาเราไปให้เห็นสิ่งเหล่านั้นในตัวพวกเราเอง

บรรทัดต่อจากนี้ จะพาเราไปสัมผัสความเป็นมนุษย์ในตัวเราผ่านศิลปะกับมุมมองของอาจารย์ทัศนัย เศรษฐเสรี ศิลปิน อาจารย์ และมนุษย์คนหนึ่งที่เชื่อมั่นว่า “ศิลปะควรธำรงไว้ซึ่งความเป็นมนุษย์” 

“เมื่อไหร่ก็ตามที่วิถีชีวิตพยายามที่จะทะยานตัวเองออกไปจากข้อจำกัด ไปสู่สิ่งที่ยังไม่มีชื่อเรียก สิ่งที่ยังไม่มีข้อสรุป นั่นคือสัญญาณว่าโลกกำลังถึงจุดเปลี่ยน”

ระบบการศึกษาที่สังหารกระบวนการได้มาซึ่งความรู้ใหม่   

มนุษย์เรียนรู้ศิลปะหรือศิลปะอยู่กับเรามาตั้งแต่เกิด

ถ้าเราจะเข้าใจศิลปะในมุมของผมก็คือ ศิลปะมันไม่ใช่สิ่งบันเทิงใจหรือเป็นวัตถุ แต่แต่ศิลปะคือกระบวนการของการเรียนรู้ และการเรียนรู้ต้องมีอิสระที่จะเรียนรู้ ผมคิดว่าในเรื่องนี้เด็กเข้าใจศิลปะและอยู่กับศิลปะมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะว่าเด็กอยู่ในวันที่เขาแสวงหาและมีคำถามกับโลกรอบตัวและก็เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ นานาในมุมของเขาตลอดเวลา ในเด็กแรกเกิดหรือเด็กเล็ก ๆ กิจกรรมของเขาอาจจะไม่ใช้ฝีแปรง ไม่ได้ใช้อุปกรณ์ทางศิลปะ แต่เขาแสวงหาการเรียนรู้ตลอดเวลา และผมเชื่อว่าอันนี้คือศิลปะที่ธรรมชาติให้มาโดยกำเนิด

อาจารย์คิดว่าในประเทศเรา เด็ก ๆ มีโอกาสจะได้ทำงานศิลปะตามธรรมชาติของเขาแค่ไหน

ในประเทศนี้ผมว่าน้อยเพราะชั้นเรียนศิลปะในโรงเรียนก็มักจะมีกรอบคิดว่าศิลปะคืออะไรและเป็นกรอบคิดที่คับแคบด้วย เพราะฉะนั้นเด็กจะไม่ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เขาจะทำศิลปะตามแบบฝึกหัดที่เราเรียกว่าเป็นงานประดิษฐ์ เป็นงานคราฟท์ เป็นงานหัตถศิลป์ หัตถกรรม เขาไม่ได้ใช้กระบวนการที่ธรรมชาติให้มาในการแสวงหาและเรียนรู้

เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นทั้งโลกไหม หรือเป็นเฉพาะในบางสังคม เช่น ประเทศไทย  

เท่าที่ผมเห็น ในโลกตะวันตกที่ผมเคยใช้ชีวิตอยู่ การเข้าหอศิลป์มันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการเรียนรู้และก่อนที่ครูบาอาจารย์จะพานักเรียนเข้าหอศิลป์ เขาก็มีการศึกษาทางเรื่องศิลปะ ไม่ว่าจะประวัติศาสตร์ศิลป์ซึ่งเป็นการเข้าใจศิลปะแบบง่าย ๆ แล้วก็มีวิชาที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติทางศิลปะ ซึ่งเขาไม่ได้มุ่งเน้นให้สร้างวัตถุทางศิลปะหรืองานศิลปะชั้นเลิศอะไร แต่เขาเน้นให้เด็กคิดและมีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งมันอาจจะไม่ได้เป็นรูปแบบของศิลปะที่เราเข้าใจก็ได้ ตรงนี้มันก็ต่างจากสังคมไทยที่เด็กจะมีกรอบคิดและโลกทัศน์ว่าศิลปะคืออะไร เด็กอาจจะทำงานศิลปะได้เต็ม เขียนรูปเต็ม แต่ไม่มีความคิดสร้างสรรค์

มันก็สะท้อนความล้าหลังของประเทศไทยเรื่องการศึกษา การศึกษาของผมมันไม่ใช่แค่กระบวนการการได้มาซึ่งความรู้ แต่มันคือกระบวนการการได้มาซึ่งความรู้ใหม่หรือการทำความเข้าใจสิ่งที่เรายังไม่รู้จักซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ แต่ระบบการศึกษาไทยมันสังหารกระบวนการเหล่านี้ โลกมันวิวัฒน์มาถึงปัจจุบันเพราะเรามีเรื่องที่เราไม่รู้จักและเราก็พยายามที่จะหาเครื่องมือที่จะทำความเข้าใจมัน แต่ในบางประเทศ เช่น ประเทศไทย กระบวนการศึกษามันกลับทำลายการแสวงหาสิ่งที่เราไม่รู้จัก และถ่ายทอดสิ่งที่เรารู้อยู่แล้ว เข้าใจอยู่แล้วจากรุ่นสู่รุ่น แล้วเราก็เรียกมันว่าเป็นประเพณี เป็นความเข้าใจที่ไม่ต้องมีคำถามแล้ว ฉะนั้นการวิจารณ์และการตั้งคำถามในโรงเรียนจึงเบาบาง ระบบการศึกษาโดยส่วนรวมทั้งหมด ยังไม่ต้องไปพูดถึงศิลปะ มันจึงไม่ได้นำไปสู่การคิดใหม่ การเปิดโอกาสให้เด็กได้ทดลองความคิดและศักยภาพของความคิดที่มนุษย์พึงมี

การเรียนการสอนศิลปะในตอนนี้ที่มันยังไม่ค่อยดีเพราะว่าผู้สอนคิดว่าเขาเป็นคนที่เข้าใจทุกอย่าง เลยกำหนดว่าต้องเป็นแบบนี้หรือเปล่า

ในโรงเรียนศิลปะ ส่วนใหญ่มันเป็นอย่างนั้น คือผู้สอนคิดว่าเขาเป็นผู้ที่เข้าใจแล้วว่าศิลปะคืออะไรในแง่หนึ่ง ในอีกแง่หนึ่งเท่าที่ผมประสบมาก็คือผู้สอนไม่รู้เรื่องความคิดหรือกรอบคิดทางศิลปะเลย เป็นเรื่องที่แปลกมากนะ ถ้าเราไปภาควิชารัฐศาสตร์มันก็มีทฤษฎีพื้นฐานอยู่ว่านักรัฐศาสตร์ต้องเข้าใจทางรัฐศาสตร์แบบไหน ภาควิชาสังคมวิทยา ก็ต้องมีโครงสร้างประวัติศาสตร์สังคมวิทยาอยู่ ศิลปะก็มีปรัชญาศิลป์ ทฤษฎีศิลปะที่มันเป็นโลกวิชาการอยู่ ซึ่งคนที่เดินอยู่ในโรงเรียนศิลปะมีสักกี่คนที่รู้เรื่องพวกนี้ ทุกวันนี้สอนหนังสือตามอำเภอใจ ไม่ได้มีกรอบคิดอะไรเลย การประเมินผลงานนักศึกษาก็ไม่ได้มีกรอบคิดว่างานนักศึกษามันอยู่ในทฤษฎีแบบไหน ใช้กรอบคิดอะไรประเมิน ทุกคนประเมินตามอำเภอใจ แล้วคิดว่าตัวเองรู้ในสิ่งที่ตัวเองพูดออกมา ซึ่งไม่รู้อะไรเลย เป็นเรื่องที่ไปพูดที่บ้านเถอะ เพราะมันเป็นรสนิยมส่วนตัว

จริง ๆ แล้ว art school ควรทำหน้าที่อะไรในสังคม

ถ้าเชื่อแบบผมนะ ผมเชื่อว่า art school ไม่ได้ทำหน้าที่ผลิตศิลปิน แต่มันควรจะทำหน้าที่เหมือนสาขามนุษยศาสตร์ คือเป็นวิชาพื้นฐาน จะเป็นนายแพทย์ จะเป็นสถาปนิก ยังไงก็ต้องเรียนวิชามนุษยศาสตร์ ศิลปะก็เหมือนกัน มันเป็นมนุษยศาสตร์อีกแขนงนึงที่ทำให้มนุษย์มีความคิดสร้างสรรค์ มันจะทำให้นักศึกษาในสาขาอื่น ๆ จบไปเป็นนักธุรกิจ นักการเมือง นักวิทยาศาสตร์ นักการเกษตรที่สร้างสรรค์ เพราะผมเชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นต้นกำเนิดของทุกอย่าง ถ้าไม่มีความคิดสร้างสรรค์เราก็ไม่รู้ว่าเราจะมีความทะยานอยากไปทำการเกษตรเพื่ออะไร ผลิตสารเคมี ผลิตนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ หรือว่าการก้าวข้ามข้อจำกัดทางเศรษฐกิจไปสู่ความคิดทางเศรษฐศาสตร์แบบใหม่ไปทำไม

ความคิดสร้างสรรค์ในนิยามของอาจารย์คืออะไร

ความคิดสร้างสรรค์มันไม่ใช่ความเพ้อฝัน ไม่ใช่แฟนตาซี ที่นั่งคิดเพ้อฝันไปเรื่อย แต่ความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นจากข้อจำกัดของยุคสมัย มันเป็นแบบนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไร ไม่ใช่อยู่ดี ๆ กลางคืนไม่มีอะไรทำเลยเอานู่นเอานี่มาประกอบกันแล้วโชคดีกลายเป็นหลอดไฟ แต่มันมีข้อจำกัดของยุคสมัยอยู่ นำไปสู่การประดิษฐ์คิดค้นที่จะทำยังไงให้ยังมีแสงสว่างในตอนกลางคืน ความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ ก็ไม่มีอะไรทำ เอาไม้เอาหินมาเหลา แล้วกลายเป็นจอบขุดดิน แต่เกิดจากข้อจำกัดและความต้องการที่จะขยายแปลงเกษตร เลยหาเครื่องมือที่ขุดดินได้มากยิ่งขึ้นจนเกิดจอบเกิดเสียม เช่นเดียวกับความคิดสร้างสรรค์อื่น ๆ และความคิดสร้างสรรค์กับเสรีภาพเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้ เพราะถ้าเราไม่มีเสรีภาพเราก็ไม่มีความคิดสร้างสรรค์และเราก็จะไม่สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดของยุคสมัยได้ มันก็ไม่เกิดการประดิษฐ์คิดค้น

ในฝั่ง progressive education จะบอกว่า คำว่า to educate ในภาษาละตินแปลว่า เอาออกมา คือให้เอาศักยภาพหรือสิ่งที่มีออกมา แต่กระบวนการการศึกษาในตอนนี้มันเป็นการเอาเข้าไป อาจารย์คิดว่าศิลปะมันควรทำหน้าที่ให้เด็กได้เอาศักยภาพที่มีออกมาไหม และมนุษย์จะอยู่กันอย่างไรหากไม่มีอำนาจในการแสดงออก

อย่างที่บอกว่าศิลปะมันไม่ใช่แค่วิธีการหรือเทคนิกในการสร้างงานศิลปะที่เอาไว้แขวนผนังบ้านหรือจัดแสดงในนิทรรศการเท่านั้น แต่มันคือกระบวนการที่ทำให้เราเข้าใจโลกที่เป็นอยู่รอบ ๆ ตัว วิธีการในสตูดิโอ การเขียนรูป มันไม่ใช่เพื่อที่จะได้เขียนรูปรูปหนึ่ง แต่เป็นวิธีการทำความเข้าใจสิ่งที่เรายังไม่เข้าใจ เช่นเดียวกับการทำวิจัย การอ่านหนังสือ การฝังตัวเองในห้องสมุด เพราะเรามีคำถามที่ยังไม่เข้าใจ และเราก็ใช้วิธีการต่าง ๆ ที่เราจะเข้าใจมัน

ถ้าเราเข้าใจศิลปะแบบนี้เราก็จะไม่ติดกับกรอบ หรือติดยึดกับประเพณีทางความคิดว่าศิลปะมันต้องเป็นรูปแบบจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ แต่ศิลปะมันคือ ‘วิธีการทางศิลปะ’ ให้เด็กเขาเข้าใจสิ่งที่เขาไม่เข้าใจ ที่ไม่ใช่แค่การอ่านหนังสือ การเข้าห้องสมุด หรือการถามตอบในวิชาคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ มันอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่ได้มีความสำคัญกับคนอื่นเลย เป็นปัญหาในใจของเด็กคนนั้นคนเดียว แต่เขาพยายามที่จะเข้าใจมันผ่านวิธีการทางศิลปะง่าย ๆ เช่น การเขียนรูป วาดรูป การใช้สี หรือการใช้วัสดุ ที่จะเข้าใจว่าเขามีความรู้สึกต่อสิ่งที่เขามีในใจ ผมว่าแค่นี้ก็พอแล้ว

กระบวนการไหนในวิธีการทางศิลปะที่จะทำให้เรา ‘เข้าใจสิ่งที่เราไม่เข้าใจ’  

ผมไม่แน่ใจว่ามันทำให้เราเข้าใจได้อย่างไร แต่มนุษย์มันมีความพยายามแบบนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไร เวลาเราไม่เข้าใจอะไรเราก็ฝังตัวเองในห้องสมุด อ่านหนังสือเท่าที่จะอ่านได้ในโลกนี้เพื่อจะเข้าใจอะไรบางอย่าง พอถึงจุดหนึ่งอยู่ดี ๆ มันจะเข้าใจมันก็เข้าใจขึ้นมา การทำงานศิลปะเหมือนกัน มันไม่ได้มีผลที่คาดว่าจะได้รับว่าเมื่อไหร่ที่เราจะเข้าใจหรือถึงจุดที่พึงพอใจในการทำงาน แต่อยู่ดี ๆ มันก็เข้าใจขึ้นมา

กระบวนการทำความเข้าใจของมนุษย์มันไม่ใช่ knowledge (ความรู้) มันไม่ใช่ความรู้ที่เป็น reason (เหตุผล) หรือ rationality (ความเป็นเหตุเป็นผล) เพียงอย่างเดียว มันอาจจะเป็น wisdom (ปัญญา) มันอาจจะเป็น intuition (ปัญญาญาณ) มันอาจจะเป็น สหัชญาณ หรืออะไรบางอย่างที่เราตั้งชื่อให้มัน แต่มันไม่ได้เป็นกระบวนการแบบ หนึ่ง สอง สาม ทำสิ่งหนึ่งแล้วก็จะมีผลอีกสิ่งหนึ่งโดยทันที

ทุกวันนี้ที่เรายังแก้บางปัญหาไม่ได้ อาจเพราะเราพยายามคิดด้วยวิธีคิดแบบเดียวคือการหาเหตุผล

ผมคิดว่าไม่ใช่เฉพาะวงการศิลปะ แม้กระทั่งวงการวิชาการเองเราก็มักจะคิดว่าการทำความเข้าใจสิ่งหนึ่ง ๆ มันมีลักษณะเหมือนโครงการ ก็คือมีจุดเริ่มต้นของโครงการ มีจุดประสงค์ และก็มีผลที่คาดว่าจะได้รับ เมื่อได้รับผลที่คาดว่าจะได้รับแล้วก็จะปิดโครงการเพราะหมายถึงเราเข้าใจแล้ว สังคมไทยไม่สามารถพัฒนาไปสู่สังคมที่มีความสลับซับซ้อนได้มากขึ้นเพราะสังคมไทยคิดในเชิงนามธรรมไม่เป็น คิดในเชิงการวิจัยที่ต้องใช้เวลาทุ่มเททั้งชีวิตในเรื่องหนึ่ง ๆ เป็น lifetime research ไม่เป็น เราจะคิดว่ามันเป็นโครงการหนึ่ง การทำงานศิลปะก็คือทำให้เสร็จหนึ่งโครงการเอาจัดแสดงแล้วก็เริ่มโครงการใหม่ แต่คนจะไม่ค่อยคิดถึงเรื่องการปฏิบัติที่ใช้ชีวิต ใช้เวลาอยู่กับมันจนลมหายใจสุดท้าย ด้านหนึ่งก็เพราะทุกอย่างในโลกปัจจุบันก็เป็นทุนนิยม ทุกอย่างต้องออกดอกออกผลเร็ว เป็นอุตสาหกรรม ดังนั้นเรื่องอะไรที่ใช้เวลานานมาก ๆ มันนานเกินไป มันไม่ออกดอกออกผล มันไม่ควรที่จะทำ ในโลกวิชาการก็เช่นเดียวกัน ถึงได้มีการซื้องานวิจัยกันทุกวันนี้

การให้คุณค่ากับการมีเป้าหมายเชิงรูปธรรมส่งผลอย่างไรกับวงการศิลปะไทย

มันทำให้ความคิดสร้างสรรค์หดแคบลง แล้วทุกอย่างถูกลดรูปเหลือเพียงแค่วัตถุ ในปัจจุบัน เราจะเห็นว่าวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ไปไกลกว่าการเมือง ไปไกลกว่าข้อถกเถียงในรัฐสภา ไปไกลกว่าความเข้าใจในเรื่องศิลปะของคนในวงการศิลปะ วงการศิลปะหรือรูปแบบศิลปะที่เรามีอยู่ไล่ตามวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ไม่ทัน ในรัฐสภาก็เช่นกัน เพราะฉะนั้นคนรุ่นใหม่เขาถึงออกมาถกเถียงและเรียกร้องให้เข้าใจพวกเขา

วิถีชีวิตคือฟอร์มประเภทหนึ่ง มันคืออินทรียรูป มันเปลี่ยนแปลงตัวเองและพยายามที่จะก้าวพ้น และทลายข้อจำกัดของยุคสมัยเสมอ นั่นคือสิ่งที่เราเรียกว่า being หรือการดำรงอยู่

นี่คือศิลปะที่ดำรงอยู่ในวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ อยู่ในการกิน การดื่ม การเที่ยว อยู่ในรสนิยม นี่คืออิสรภาพที่อยู่ในวิถีชีวิต เพราะฉะนั้นพอเราพูดถึงศิลปะในสายหนึ่งที่มันพยายามลดรูปทุกอย่างเป็นวัตถุ มันก็ไปทำให้รูปทรงของชีวิตหรืออินทรียรูปในการดำรงอยู่มันแน่นิ่ง แช่นิ่ง ตายตัว แคบ และไม่มีการเปลี่ยน ไม่สามารถที่จะหาทางไปสู่ข้อสรุปใหม่ หาทางทลายข้อจำกัดให้ตัวเองได้ นั่นคือระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ แทนที่จะเข้าใจว่าวิถีชีวิตคืออินทรียรูป ต้องปล่อยให้มันเคลื่อนย้าย ทลายข้อจำกัด ก้าวพ้นข้อจำกัดของยุคสมัย พอเราไปลดรูปมัน เหลือเป็นเกรด เหลือเป็นความสำเร็จของปริญญา มันก็ไม่มีกระบวนการของการเรียนรู้ กระบวนการของการศึกษา เพราะฉะนั้นทุกคนก็ไม่มีชีวิต ก็เป็นมนุษย์ปลากระป๋อง

พ่อแม่ยุคใหม่บางคนถ้าให้ลูกเรียนศิลปะก็ต้องจัดแสดงงานให้เขา หรือจะให้เรียนดนตรีก็ต้องได้เล่นบนเวที มันเป็นเพราะสังคมเราให้คุณค่าแบบนี้ไหม

ส่วนใหญ่ผู้ปกครองจะคิดว่าการส่งลูกไปเรียนพิเศษ เรียนบัลเลต์ เรียนฟ้อนรำ เรียนศิลปะ เรียนประดิดประดอย มันจะนำมาซึ่งต้นทุนบางอย่างในอนาคต เป็นเป้าหมายที่จะออกดอกออกผลได้ การคิดแบบนี้คือการไปคิดว่าการศึกษาจะต้องนำมาซึ่งผลที่เป็นรูปธรรม มันทำให้การเรียนศิลปะ การเรียนดนตรี การเรียนบัลเลต์ไม่ทำให้เด็กหลงใหลกับสิ่งที่ตัวเองไปเรียน เขาไม่เห็นตัวเองในปัจจุบัน แต่เขาเห็นตัวเองในอนาคต ว่าเขาจะเป็นนักบัลเลต์ เขาจะเป็นศิลปิน เขาจะเป็นนักร้อง เขาจะเป็นนักกีต้าร์ แต่เขาไม่สามารถที่จะโฟกัสกับสิ่งที่เขากำลังฝึกฝนอยู่ ไม่สนุกกับมัน ซึ่งมันก็ไม่มีประโยชน์อะไร ผมเห็นคนจำนวนมากมีทักษะดีขึ้นกว่าคนในอดีต เพราะมันมีช่องทางการเรียนรู้เยอะ แต่การมีทักษะที่มากขึ้นมันไม่ได้หมายถึงความเข้าใจที่มากขึ้น มันไม่นำมาซึ่งความเข้าใจของเขาเอง คือเขามีความรู้เหมือนนกแก้วนกขุนทอง มันไม่สามารถที่จะเปลี่ยนเป็นความเข้าใจ ความต้องการ หรือสิ่งที่เขามีในชีวิตด้วยตัวเขาเองได้

ศิลปะในฐานะเครื่องมืออันธำรงไว้ซึ่งความเป็นมนุษย์

คุณค่าจริง ๆ ของศิลปะคืออะไร

ผมว่าคุณค่าจริง ๆ ของมันไม่ใช่เรื่องการขายงาน หรืออุตสาหกรรมศิลปะหรือเศรษฐศาสตร์ทางศิลปะ คุณค่าของศิลปะคือการดำรงอยู่และธำรงไว้ซึ่งความเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นในความเห็นของผม ศิลปะประเทศใดก็ตามที่มันทำลายความเป็นมนุษย์ ผมคิดว่ามันสมควรที่จะได้รับการด่าทอ การวิพากษ์วิจารณ์ เพราะศิลปะมันมาจากธรรมชาติและอิสรภาพของการเรียนรู้โดยเด็กเพื่อจะโตไปเป็นมนุษย์อย่างที่เขาอยากจะเป็น ถ้ามันมีการศึกษาหรือศิลปะแบบใดที่ไปทำลายคุณค่าของการค้นหาความเป็นมนุษย์ ทลายความเป็นมนุษย์ ผมว่ามันใช้ไม่ได้

อยากให้อาจารย์ช่วยยกตัวอย่างของการทำลายคุณค่าแบบที่อาจารย์ว่า

2-3 ปีที่ผ่านมาเราก็จะเห็นว่ามีประเด็นในโลกศิลปะ เช่น เรื่องการปิดหอศิลป์ไม่ให้นักศึกษาแสดงงาน หรือประเด็นผู้บริหารศิลปะคณะหนึ่งเอาผลงานศิลปะของนักศึกษาไปทิ้ง มีการฟ้องร้องนักศึกษาในข้อหาที่รุนแรง มันก็สะท้อนให้เห็นว่านี่คือการบ่อนทำลายความเป็นมนุษย์ บ่อนทำลายความเป็นศิลปะในฐานะเครื่องมือในการดำรงไว้ซึ่งความเป็นมนุษย์

สุนทรียศาสตร์และศิลปะมันดำรงอยู่ในส่วนที่ลึกซึ้งที่สุดของความเป็นมนุษย์ มันมีแรงปรารถนา จินตนาการ ความฝัน มันสำคัญมาก ๆ ถ้าสิ่งเหล่านี้ถูกปกครอง ถูกช่วงชิงไป ด้วยความคิดทางการเมืองแบบใดแบบหนึ่ง ถ้าเราถูกลิดรอนไป เราไม่มีจินตนาการของเราเอง จะถูกหรือผิดก็ตาม เราไม่มีความฝันของเราเอง จะถูกหรือผิดก็ตาม ผมก็ไม่รู้จะมีชีวิตเป็นมนุษย์ไปเพื่ออะไร

คนรุ่นใหม่สามารถอยู่ในฟอร์มอันคับแคบได้ไหม

ถ้าเราพูดเรื่องที่มันกว้างกว่าฟอร์มหรืออินทรียรูปของชีวิตว่ามันเปลี่ยนจากอดีตมาสู่ปัจจุบันอย่างไร เราก็จะเห็นว่ากิจกรรมของคนจำนวนมากมันสะท้อนให้เห็นว่า เขาไม่สยบยอมต่อข้อจำกัดทางการเมืองที่มันเป็นอยู่ เหตุการณ์ต่าง ๆ มากมายที่จะพูดได้ เช่น การไม่ยืนทำความเคารพหรือร้องเพลงในมหรสพต่าง ๆ มันก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไปด้อยค่าสิ่งที่มันดำรงอยู่ในเชิงประเพณี แต่เขารู้สึกว่าสิ่งเหล่านั้นมันไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเขา เพราะวิถีชีวิตของเขามีลักษณะที่บางครั้งก็ยังไม่มีชื่อเรียกด้วยซ้ำ ไม่รู้ว่าคืออะไร แต่ว่าเขาพยายามจะเข้าใจมันทุกวัน ซึ่งมันแตกต่างจากคนในอดีตมาก คนในอดีตเราอยู่ในกรอบมาตลอดเวลา กรอบครอบครัว กรอบโรงเรียน กรอบสังคม ปัจจุบันคนรุ่นใหม่เขาโบยบินจากสิ่งเหล่านั้นไปหมดแล้ว เขาไม่ต้องไปพึ่งพาโครงสร้างทางการเมืองแบบเดิม ระบบครอบครัวแบบเดิม สังคมแบบเก่า โลกมันกว้างกว่าสังคมที่เขามีชีวิตอยู่ ตรงนี้ผมว่าคือสิ่งที่มันเปลี่ยนแปลงอย่างไม่มีวันที่จะย้อนกลับไปได้แล้วสำหรับคนรุ่นใหม่

ถ้าเราเข้าใจว่าวิถีชีวิตคืออินทรียรูปที่มันปรับเปลี่ยนตัวเอง ก้าวข้ามข้อจำกัด และทลายข้อจำกัดเสมอ นั่นคือสิ่งที่มันทำให้อารยธรรมของเราวิวัฒน์มาถึงปัจจุบัน อันนี้คือจุดที่ดีมาก ๆ มันคือเรื่องที่เป็นปรากฏการณ์ของประวัติศาสตร์โลกที่ไม่มีใครห้ามได้ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่วิถีชีวิตตามหลังศิลปะ ผลิตซ้ำโลกศิลปะ ผลิตซ้ำรสนิยมทางศิลปะ ผลิตซ้ำสิ่งที่นักการเมืองคิด ผลิตซ้ำสิ่งที่มันเป็นข้อถกเถียงในรัฐสภา โลกจะล้าหลัง แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่วิถีชีวิตพยายามที่จะทะยานตัวเองออกไปจากข้อจำกัด ไปสู่สิ่งที่ยังไม่มีชื่อเรียก สิ่งที่ยังไม่มีข้อสรุป นั่นคือสัญญาณว่าโลกกำลังถึงจุดเปลี่ยน

นี่คือแนวคิดเบื้องหลังงานเรื่องสังคมมหรสพของอาจารย์หรือเปล่า

ในแต่ละงานแสดง ผมก็จะมีความคิดหลัก เมื่อ 6-7 ปีที่แล้วก็พูดถึงสังคมมหรสพที่ทำให้ปัจเจกชนไม่มีที่อยู่ที่ยืน หรือกลายเป็น nobody เป็นคนที่ไม่มีตัวตนเพราะเราถูกพลังของมหรสพมันทำลาย มันเต็มไปด้วยความอึกทึกคึกโครมและเราก็หลงลืมจุดยืนของเรา แต่จะมีงานแสดงหรือไม่มีงานแสดงผมก็อยู่ในสตูดิโอทุกวัน ถามว่าสิ่งที่ผมพูดมันคือสิ่งที่ผมแสดงในผลงานศิลปะหรือไม่ ไม่ใช่ แต่สิ่งที่ผมพูดถึงมันคือสิ่งที่ผมเป็นในสตูดิโอมากกว่า

ผมยังเชื่อว่าศิลปะมันเป็นเครื่องมือที่อย่างน้อยผมยังรู้สึกว่าผมยังเป็นมนุษย์อยู่ ผมยังเคารพความเป็นมนุษย์ของคนอื่น และผมก็จะไม่ยินยอมให้ใครมาทำลายความเป็นมนุษย์หรือทำลายผลงานศิลปะที่มันเชิดชูความเป็นมนุษย์ แค่นั้นเอง ทุกวันผมยังรู้สึกว่าตื่นเช้ามาแล้วผมยังมีความหวัง ตื่นเช้ามาแล้วผมยังมีแรงที่จะทำอะไร เพราะยังเชื่อว่าศิลปะมันทำหน้าที่ได้อยู่

มหรสพที่อาจารย์ว่าในไทยมันคือแบบไหน

คือมหรสพทางการเมือง พิธีกรรมขนาดใหญ่มากมาย ที่มันทำให้เราหลงระเริงไปกับสีสัน ความฟุ่มเฟือย ความยิ่งใหญ่ ความอลังการ หรือแม้กระทั่งในวิถีชีวิตของเราเองในระบบทุนนิยม ห้างสรรพสินค้าที่เราไปพักผ่อนหย่อนใจ ที่เราไปให้รางวัลกับชีวิตของเรา แล้วความทุกข์ของเราก็ไม่เคยได้รับการเยียวยาปัดเป่า มันเป็นแค่การไปหาความสุขชั่วคราวแล้วเราก็กลับมาเป็นมนุษย์เงินเดือนเหมือนเดิม สังคมน้ำเน่าทางการเมืองก็ยังดำรงอยู่ นั่นคือสิ่งที่มหรสพทำงานกับเรา มันทำให้เรารู้สึกว่าทุกที่เป็นสรวงสวรรค์ ทุกที่ไม่มีความทุกข์ ทุกที่ไม่มีปัญหา เราหาความสนุกได้ทุกที่ แล้วก็ดูปฏิทินไทยสิ ไม่มีประเทศไหนในโลกที่มีวันหยุดเยอะเหมือนประเทศไทย ถามว่าวันหยุดเยอะดีหรือเปล่าสำหรับมนุษย์ มนุษย์มันควรจะต้องพักผ่อนเยอะ ๆ แต่ว่าวันหยุดบนปฏิทินไม่ได้ทำให้เราทบทวนความเป็นมนุษย์ มันทำให้เราออกเที่ยว ไปใช้เงิน ลืมความทุกข์ อยู่กับศาสนาแล้วมองว่าโลกนี้ไม่มีปัญหาอะไร

ศิลปะไม่ใช่สมบัติของศิลปิน

ส่วนหนึ่งของความถดถอยในสังคมคือเราเป็นเพียงผู้เสพ ผู้ดู และผู้รอ แต่ศิลปะมันทำให้เราเป็นผู้สร้างได้เช่นกัน อาจารย์ช่วยอธิบายเรื่องนี้ได้ไหม

ผมพูดมาสักสิบปีแล้วว่าศิลปะไม่ใช่สมบัติของศิลปิน ความคิดสร้างสรรค์ก็เช่นกัน แต่ก่อนเราเชื่อว่าศิลปะหรือความคิดสร้างสรรค์มันเป็นสมบัติของคนที่มีพรสวรรค์หรือคนที่ได้รับการศึกษาฝึกปรือมาให้เป็นศิลปิน แต่ปัจจุบัน ศิลปะมันอยู่ในวิถีชีวิต อยู่ในร้านขายก๋วยเตี๋ยว คนขายก๋วยเตี๋ยวเขาก็อาจจะมีวิธีที่จัดตู้ก๋วยเตี๋ยวของเขาตามแบบที่เขาพึงพอใจ เขาอาจจะไม่ได้มองว่ามันงามไม่งามอย่างไร แต่เขามีการจัดรูป จัดความคิดสร้างสรรค์ของเขาแบบง่าย ๆ เราเห็นสิ่งเหล่านี้อยู่ทั่วไป

ทุกวันนี้วิถีชีวิตของคนรอบ ๆ ตัวเราก็เป็นอย่างนั้น ทุกคนเป็นช่างภาพ ทุกคนเป็นผู้รายงานข่าวในโลกโซเชียลมีเดีย ทุกคนทำงานศิลปะตามแบบที่เขาคิดว่าเขามีความสุขที่จะทำ ปัจจุบันมันก้าวข้ามคำถามว่าศิลปะคืออะไรไปแล้ว ก้าวข้ามความคิดสร้างสรรค์ว่ามันต้องเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ไปแล้ว บางทีแม่ผมตื่นมามีอาหารในตู้เย็นเท่านั้น แม่ผมก็สร้างสรรค์ทำเป็นมื้ออาหารให้ผมได้เท่าที่มีข้อจำกัดอยู่แค่นั้น ดังนั้นความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่เรื่องของคนชั้นสูง มันไม่ใช่เรื่องยิ่งใหญ่ มันเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ และมันก็สะท้อนว่าสังคมยังไม่ได้มีความสุขกันทั่วหน้า ทุกคนต้องเผชิญกับข้อจำกัดในชีวิตประจำวัน แต่มันก็นำมาสู่ความคิดสร้างสรรค์ ถ้าเราเข้าใจความคิดสร้างสรรค์แบบนี้เราก็จะมองโลกที่มันกว้างขึ้น โลกที่มันงดงามในทุกที่ ไม่ได้มองแบบโลกสวย แต่เราจะไม่เพียงเห็นความงามในแกลลอรีหรือในศิลปะโดยศิลปินที่ยิ่งใหญ่เท่านั้น เราจะเห็นวิถีชีวิตของคนว่ามีความสร้างสรรค์ตลอดเวลา

พออาจารย์พูดว่ามันไม่ใช่เรื่องของคนชั้นสูง เลยสงสัยว่าทำไมในประเทศนี้หรือแม้แต่ในโลกก็ตาม มักจะมีภาพจำว่าคนที่สร้างหรือแม้แต่เสพงานศิลปะได้ต้องเป็นคนชั้นสูง มีการศึกษา

เพราะเราเอาเรื่องสุนทรียศาสตร์ เรื่องศิลปะ เรื่องความงาม ไปผูกโยงเข้ากับศีลธรรม เราเคยได้ยินเสมอใช่ไหมว่าศิลปะช่วยเจียระไนสำนึกภายใน ทำให้เราเป็นคนมีความละเมียดละไม เราจะเป็นคนดี เป็นคนที่ใช้ชีวิตอย่างมีสุนทรียะ

คำว่ามีสุนทรียะ มันเป็นคำสำหรับคนเฉพาะกลุ่ม มันมีเรื่องชนชั้นอยู่ในนั้น คนที่มีสุนทรียะหมายถึงคนที่มีระดับทางศีลธรรม ระดับการมองโลกสูงส่งกว่าคนอื่น การที่ศิลปินคนหนึ่งจะทำงานศิลปะที่มีความงามที่ดีได้ต้องเป็นคนที่ยึดมั่นในศีลธรรมที่ดีด้วย สิ่งนี้มันก็เป็นมาตรฐานการให้รางวัลศิลปินแห่งชาติ ศิลปินแห่งชาติไม่ใช่แค่ศิลปินที่ทำงานศิลปะเก่งเท่านั้น ต้องเป็นคนดี เป็นคนที่มีศีลธรรมและจริยธรรมที่สูงกว่าคนอื่นด้วย เพราะฉะนั้นบุคลิกของศิลปินที่ยิ่งใหญ่ในประเทศไทยจำนวนมากเลยเหมือนเป็นผู้วิเศษ คือเป็นผู้ที่มีจริยธรรมสูงกว่าคนอื่นแล้วมองลงมาเหมือนลงมาโปรดเหล่าสังสารวัฏ เหล่าภูตผีปีศาจ

ในสังคมที่ศิลปะมีไว้เพื่อรับใช้แนวคิดบางอย่าง มันทำให้คนไม่มีเจตจำนงเสรีใช่ไหม

ใช่ เราคิดว่าศิลปะมันเป็นอาชีพ ซึ่งมันก็เป็นอาชีพแหละ หมายถึงมีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่ทำ แต่ทุกวันนี้แม้กระทั่งศิลปินที่เรียกตัวเองว่าเป็นศิลปินอาชีพ หารายได้จากโลกศิลปะ เป็นศิลปินที่มีคนรู้จักมาก ก็กลับผลิตซ้ำความคิดของศิลปะแบบเดิม ๆ หรือศิลปะที่เข้าใจแล้วว่ามันเป็นศิลปะ แต่น้อยคนมากที่พยายามจะค้นหาสิ่งที่มันไม่มีชื่อเรียก เช่น พระเจ้า เจตจำนงเสรี หรืออะไรก็ตามที่มันยังไร้รูป ยังไม่ปรากฏชัดเจน ซึ่งเป็นกลไกของมนุษย์ที่ทำให้โลกมาถึงปัจจุบันได้ ไอ้ความมุ่งมั่นแบบนี้มันค่อย ๆ หดหายไปในโลกอุตสาหกรรม ในโลกที่ทุกอย่างมันเป็นมืออาชีพ ผมก็เคยพูดกับเพื่อนเสมอว่าผมเป็นมืออาชีพไม่ได้ เมื่อไหร่ก็ตามที่ผมเป็นมืออาชีพ จิตสำนึกของมือสมัครเล่นที่พยายามค้นหาอะไรบางอย่างตลอดเวลามันจะถูกทำลายไป ถึงแม้คนจะบอกว่าผมทำงานเป็นมืออาชีพ ผมก็ไม่เคยเข้าใจในสิ่งที่ผมทำเลย ผมถึงยังทำมันทุกวันเพื่อจะได้เข้าใจ ถ้าวันนึงผมเข้าใจผมคงเลิก

อันนี้คือเป็นเรื่องส่วนตัวมาก ๆ ผมไม่ชอบที่จะผลิตซ้ำสิ่งที่เป็นความเข้าใจของคนอื่น เป็นความเข้าใจของประวัติศาสตร์ หรือความเข้าใจของตัวผมเอง และผมก็ไม่โกหกคนด้วยว่าผมเข้าใจมันแล้ว คนมาถามผมก็จะบอกว่าผมไม่รู้จริง ๆ ผมยังไม่เข้าใจสิ่งที่ผมทำอยู่ หลายคนเขาจะรู้สึกว่าทนไม่ได้กับความไม่เข้าใจ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราบอกว่าสิ่งที่เราทำคือความไม่เข้าใจของเรา มันจะดูไม่เป็นมืออาชีพ ศิลปินมันจะต้องเป็นผู้ที่บรรลุธรรม ต้องเข้าใจแล้วถึงนำสิ่งที่เข้าใจมาจัดแสดงให้คนได้เห็น เมื่อไหร่ก็ตามที่ผมพูดแบบนี้ คนก็จะบอกว่าไอ้นี่มันเป็นศิลปินชั้นเลว ศิลปินมันต้องเข้าใจสิ ไม่เข้าใจได้ยังไง แต่ผมก็บอกว่าผมไม่เข้าใจจริง ๆ ซึ่งบุคลิกแบบผู้บรรลุธรรมก็มีเฉพาะบุคลิกของศิลปินไทยนะ ในโลกตะวันตกเท่าที่ผมมีประสบการณ์ด้วย ทุกคนไม่เข้าใจในสิ่งที่ตัวเองทำ แล้วเขาพูดอย่างเปิดเผยว่าเขาไม่เข้าใจ จะว่าเขาโง่ก็ได้แต่เขาไม่เข้าใจจริง ๆ

ถ้าอย่างนั้นชิ้นงานที่อาจารย์ทำ มีชิ้นไหนที่สามารถบอกได้ว่ามันเสร็จสมบูรณ์แล้วจริง ๆ

ไม่มี แต่ความไม่เข้าใจมันก็ทำให้เกิดความเข้าใจโดยคนอื่น เกิดการตีความ และเราก็สามารถที่จะปล่อยวางให้คนอื่นเขาคิดในสิ่งที่เขาคิดได้ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราคิดว่าเราเข้าใจทุกอย่างไปเสียทั้งหมดและไม่เปิดโอกาสให้คนได้คิดในมุมมองเขาเลย เราก็จะเอากรอบมุมมองของเราไปตัดสิน เหมือนที่ศิลปะบางประเภทต้องไต่บันไดดู แบบ “ถ้าคุณไม่เข้าใจคุณก็ต้องไปศึกษามา”

แปลว่าศิลปะเป็นพื้นที่ของยังมีความไม่เสร็จ ความยังไม่เข้าใจบางอย่าง เพื่อเปิดโอกาสในการตีความ มันทำหน้าที่เปิดพื้นที่ให้สิ่งเหล่านี้

ใช่ มันก็เท่านั้นจริง ๆ นะ ถ้าเราเข้าใจว่าทุกอย่างมันไม่ใช่วัตถุสิ่งของที่คงรูปถาวร แต่มันคือมีลักษณะที่มันเหมือนสเปซ เป็นพื้นที่ที่มีการขยับเขยื้อนเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยของมัน ผมว่าเรื่องต่าง ๆ ที่เราแบกเป็นภาระอยู่ในใจ กลัวว่าโลกจะพังทลายไปต่อหน้าเรา กลัวว่าโลกจะเกิดความวุ่นวายมันก็จะผ่อนคลายลง แล้วโลกมันก็แบบนี้แหละครับ บางครั้งมันก็สงบสุข บางครั้งก็ทะเลาะเบาะแว้งกันไป แต่มันคือพื้นที่ที่มีอะไรมากมายที่อาศัยอยู่ร่วมกัน


Writer

Avatar photo

ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา

อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า

Photographer

Avatar photo

ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts