ถ้าความเหลื่อมล้ำในสังคมคือภูเขาน้ำแข็ง ความสามารถในการจินตนาการถึงชีวิตที่ดีกว่าอาจเป็นยอดภูเขาที่กำลังละลายของเด็กชายขอบ
หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าในประเทศที่หนาวเหน็บอย่างนอร์เวย์ รัฐกลับอบอุ่นพอจะส่ง ‘จินตนาการ’ ไปถึงมือเด็กทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในหุบเขาห่างไกลหรือย่านเมืองที่วุ่นวาย ผ่านโครงการระดับชาติชื่อว่า The Cultural Schoolbag (Den kulturelle skolesekken) กระเป๋าโรงเรียนที่ใส่ไม่ใช่แค่หนังสือเรียน แต่คือศิลปะ ความฝัน และโอกาส

ภาพจาก https://www.denkulturelleskolesekken.no/
บทความตอนนี้จะพาเราเรียนรู้ 5 บทเรียนจากโครงการนี้ ว่าเหตุใดจินตนาการจึงไม่ควรถูกมองว่าเป็น ‘กิจกรรมเสริม’ แต่คือ ‘เครื่องมือความเสมอภาค’ ที่รัฐควรจัดให้เด็กทุกคนโดยไม่ต้องรอให้สอบได้คะแนนดี หรืออยู่ในโรงเรียนดัง
บทเรียนที่ 1: ความฝันเป็นสิทธิ ไม่ใช่รางวัล
The Cultural Schoolbag เป็นการแสดงออกของรัฐนอร์เวย์ว่า “สิทธิทางวัฒนธรรมคือสิทธิมนุษยชน” ไม่ใช่ผลพลอยได้ของคนเก่งหรือคนมีฐานะ เด็กทุกคนในระดับประถมและมัธยมจะได้เข้าร่วมกิจกรรมศิลปะและวัฒนธรรมอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ซึ่งรัฐจัดหาและคัดเลือกอย่างพิถีพิถัน

ภาพจาก https://www.denkulturelleskolesekken.no/
นี่ไม่ใช่การ ‘ปลอบใจ’ แต่คือการสร้าง ‘แรงบันดาลใจ’ ด้วยการสื่อสารว่า “ความคิดสร้างสรรค์และศิลปะเป็นของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นลูกใคร หรืออยู่ที่ไหน” ซึ่งคือหนึ่งในรูปธรรมของการ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ผ่านการออกแบบระบบที่เท่าเทียมและทั่วถึง
ตัวอย่างเช่น ในปี 2022 มีการจัดเวิร์กช็อปภาพยนตร์ให้กับโรงเรียนชนบทใน Troms og Finnmark (ภูมิภาคห่างไกลทางตอนเหนือ) โดยนักเรียนได้เขียนบทและกำกับหนังสั้นของตัวเอง ไม่ใช่ในฐานะผู้ชม แต่เป็น ‘ผู้สร้าง’
บทเรียนที่ 2: สร้างระบบจัดส่งความฝันอย่างจริงจัง
โครงการนี้ไม่ใช่กิจกรรมอาสา หรือแคมเปญการตลาดของศิลปิน แต่เป็นโครงการภายใต้กฎหมายระดับชาติ มีระบบงบประมาณถาวร (permanent cultural budget) และความร่วมมือหลายกระทรวง รวมถึงกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม องค์กรศิลปะ และรัฐบาลท้องถิ่น และระบบคัดกรองคุณภาพโดยทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและศิลปะในทุกภูมิภาค

ทุกปีจะมีการจัดโปรแกรมที่เหมาะสมกับช่วงวัยของนักเรียน ทั้งละครเวที สารคดี การแสดงดนตรี นิทรรศการศิลปะ ไปจนถึงกิจกรรมเชิงปฏิบัติที่ให้นักเรียนมีส่วนร่วม โปรแกรมใน Oslo อาจมีโชว์บัลเล่ต์หรือออร์เคสตร้า ในขณะที่ใน Vestland อาจเน้นละครเวทีพื้นบ้านร่วมสมัยเพื่อเชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ท้องถิ่น
การออกแบบนี้ไม่ใช่แค่เพื่อความบันเทิง แต่เพื่อ “จัดวางศิลปะและจินตนาการเป็นโครงสร้างพื้นฐานของความเสมอภาค”
บทเรียนที่ 3: ไม่ใช่แค่ดู แต่ต้องได้ลองฝัน
หนึ่งในจุดเด่นคือการ “ไม่ให้เด็กเป็นแค่ผู้ชมที่เสพย์เนื้อหา” แต่เด็กจะ “เป็นผู้สร้าง” ได้ร่วมแต่งบท ลองเล่นละคร วาดภาพ วางคอนเซ็ปต์งานศิลป์ เขียนบทกวีจากประสบการณ์ชีวิตตนเอง สิ่งนี้เสริมให้เด็กเข้าใจว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นกระบวนการ ไม่ใช่พรสวรรค์ที่มีแค่บางคน

ภาพจาก https://www.denkulturelleskolesekken.no/
ตัวอย่างเช่น ในโครงการ ‘Kunstcamp’ ที่จัดโดย Akershus DKS นักเรียนได้สร้างงานศิลปะจัดวาง (Installation art) ร่วมกับศิลปิน ซึ่งผลงานบางชิ้นได้นำไปแสดงในนิทรรศการจริง การได้สัมผัสกระบวนการสร้างศิลปะ ทำให้เด็กจำนวนมากมองเห็นศักยภาพของตนเองในมิติที่โรงเรียนทั่วไปไม่สามารถมอบให้
บทเรียนที่ 4: ศิลปะคือภาษาที่เท่าเทียมที่สุด
นอร์เวย์มีประชากรผู้อพยพกว่า 15% Cultural Schoolbag ถูกใช้เป็นเครื่องมือลดความรู้สึกแปลกแยกผ่านกิจกรรมศิลปะ เช่น การเชิญศิลปินจากกลุ่มชาติพันธุ์ หรือศิลปินที่มีภูมิหลังเช่นเดียวกับเด็กกลุ่มเปราะบางมาสร้างงานร่วมกับนักเรียน

ภาพจาก https://www.denkulturelleskolesekken.no/
ในบางเขต เช่น Groruddalen ซึ่งมีเด็กจากครอบครัวมุสลิมและแอฟริกันจำนวนมาก DKS ได้ร่วมมือกับศิลปินหญิงเชื้อสายโซมาเลียเพื่อจัดกิจกรรมสื่อผสม (multimedia art) ที่พูดถึงเรื่องเพศ ภาษา และอัตลักษณ์อย่างละเอียดอ่อน
ผลการประเมินจาก National Centre for Arts in Education ชี้ว่า เด็กเหล่านี้มีความรู้สึก ‘เป็นเจ้าเข้าเจ้าของ หรือ belonging’ มากขึ้น และรู้สึกว่าพวกเขามีสิทธิ์จะเล่าเรื่องของตัวเองในที่สาธารณะ นี่ไม่ใช่การ “รวม” เด็กชายขอบเข้ามาในระบบ แต่คือการ “เชิญพวกเขา” มาเป็นเจ้าของเรื่องเล่าในระบบนั้น
บทเรียนที่ 5: การลงทุนระยะยาวในจินตนาการ คือการสร้างชาติอย่างยั่งยืน
โครงการนี้ดำเนินมากว่า 20 ปี และไม่เคยถูกยกเลิกแม้เปลี่ยนรัฐบาล เพราะมีฐานทางนโยบายและประชาสังคมที่เข้มแข็ง ผู้กำหนดนโยบายในนอร์เวย์เชื่อว่า “ประชากรที่มีจินตนาการคือประชากรที่มีศักยภาพในการปรับตัว สร้างสรรค์ และอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ดี”

ภาพจาก https://www.denkulturelleskolesekken.no/
ในโลกที่เปลี่ยนเร็ว ความสามารถในการจินตนาการถึงชีวิตที่ดีกว่าเดิมจึงไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน แต่มันคือทักษะเอาตัวรอดทางสังคมและเศรษฐกิจ
มีงานวิจัยจาก Norwegian Institute for Cultural Analysis พบว่า เด็กที่ได้ร่วมกิจกรรม DKS ต่อเนื่องมีระดับ self-esteem และ civic engagement สูงกว่าเด็กที่เข้าร่วมไม่ครบตามจำนวนปี
ไม่มีใครสร้างชาติได้ด้วยเด็กที่รู้แต่ท่องจำ แต่สร้างได้ด้วยเด็กที่ฝันได้ แล้วลงมือทำ
ประเทศไทยกำลังเริ่มต้น (รึเปล่านะ?)

ภาพจาก https://www.denkulturelleskolesekken.no/
บทเรียนจาก The Cultural Schoolbag ไม่ได้บอกว่าไทยต้องทำตามทุกอย่าง แต่ชี้ให้เห็นว่า การออกแบบระบบที่เห็นค่าจินตนาการ เป็นไปได้ และควรเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ เพราะในขณะที่ประเทศเรายังสู้กันเรื่องงบประมาณและโครงสร้างโรงเรียน เด็กหลายคนอาจกำลังโตขึ้นโดยไม่เคยเชื่อว่าตัวเองฝันไกลได้
และนั่นคือการพ่ายแพ้ที่เงียบที่สุดของชาติ