โลกสีเทา แต่ชีวิตเราสีพาสเทล มองนิยามคำว่า ‘หมู่บ้าน’ ผ่านโรงแรมสีหวานกับเด็กสาวชายขอบใน The Florida Project โลกสีเทา แต่ชีวิตเราสีพาสเทล 

‘เลี้ยงเด็กหนึ่งคนใช้คนทั้งหมู่บ้าน’ คือประโยคที่ผุดขึ้นในใจทุกครั้งเมื่อไปงานโรงเรียนลูก ภาพพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอาจากหลายครอบครัวที่มารวมตัวกันเพื่อให้กำลังใจลูกหลานตัวน้อยเป็นภาพที่น่าอัศจรรย์เปี่ยมด้วยพลังแห่งความรักและความทุ่มเทอย่างท่วมท้น เมื่อเทียบกับเด็กตัวเล็กจิ๋วซึ่งเป็นผู้รับพลังแห่งความรักเหล่านั้น  

แต่ก็ใช่ว่าเด็กทุกคนจะได้สัมผัสกับพลังแห่งความรักเช่นนั้น เพราะสังคมที่เราอยู่ไม่ได้สวยงามสำหรับทุกคน เด็กบางคนอาจไม่ได้มีทีมสนับสนุนทีมใหญ่เหมือนกับที่เราเห็นตามงานโรงเรียน บางคนอาจมีเพียงพ่อหรือแม่ บางคนอยู่กับปู่ย่าตายาย คำว่าหมู่บ้านสำหรับเด็กเหล่านั้น จึงอาจเป็นเพียง ‘หนึ่งคน’ ที่ดูแลพวกเขาอย่างเข้าอกเข้าใจ

เช่นเดียวกับ มูนี่ (Moonee) เด็กหญิงวัย 6 ปี ตัวละครจากเรื่อง The Florida Project ภาพยนตร์สัญชาติอเมริกัน ออกฉายในปี 2017 ผลงานกำกับการโดย ฌอน เบเกอร์ (Sean Baker) ที่เพิ่งได้รับรางวัลจากเทศกาลหนังเมืองคานส์มาหมาดๆ  The Florida Project เล่าเรื่องราวของมูนี่ และ เฮลลีย์ (Halley) แม่เลี้ยงเดี่ยวของเธอ  ทั้งคู่อาศัยอยู่ในโมเต็ลสีหวานราวกับลูกกวาดที่ชื่อว่า ‘เมจิก คาสเซิล’ (Magic Castle) ซึ่งผู้ชมเดาได้ไม่ยากว่า เป็นชื่อที่ตั้งให้ล้อไปกับ ‘เมจิก คิงดอม’ (Magic Kingdom) ของดิสนีย์แลนด์ ฟลอริด้า ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลโมเต็ลแห่งนั้นนั่นเอง

หากมองจากสายตาคนภายนอก มูนี่กับแก๊งเพื่อนของเธอ อาจไม่ห่างไกลจากคำว่า ‘เด็กเหลือขอ’ เท่าไรนัก การละเล่นแผลงๆ อย่างถ่มน้ำลายใส่รถคนอื่น พูดจาเกินวัยและเต็มไปด้วยคำหยาบ ไปจนถึงท่าทางทะลึ่งทะเล้น สวนกับกฎเกณฑ์ของสังคม ย่อมทำให้ผู้ใหญ่พากันส่ายหัวกับพฤติกรรมของมูนี่และผองเพื่อน แต่หากดูจนจบก็จะพบว่าถึงจะมีพฤติกรรมแก่นแก้ว แต่มูนี่ ถือเป็นเด็กที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ดีคนหนึ่งทีเดียว และที่เป็นเช่นนี้คงให้เครดิตใครไม่ได้นอกจาก เฮลลีย์ แม่เลี้ยงเดี่ยว เปรี้ยวซ่าส์ ของมูนี่นั่นเอง

ภาพจาก : The Florida Project | Official Trailer HD | A24

หมู่บ้านที่ดี มีรากฐานจากสายสัมพันธ์ 

เฮลลี่ย์ คือแม่วัยใสที่ถูกไล่ออกจากงานเต้นเปลื้องผ้า เพราะเธอปฏิเสธรับงานขายบริการลูกค้า จากเดิมที่ลำบากอยู่แล้วก็ยิ่งลำบากขึ้นไปอีก ในหนังมีฉากหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าเฮลลีย์พยายามขอรับสวัสดิการจากรัฐ แต่ด้วยเงื่อนไขซับซ้อนยุ่งยาก ทำให้เธอต้องดิ้นรนช่วยเหลือตัวเอง เพราะหากรอรัฐสวัสดิการ ทั้งเธอและลูกก็อาจต้องอดตายก่อน

แม้สถานการณ์ทางการเงินของเฮลลีย์จะเข้าขั้นวิกฤติ และต้องอาศัยเช่าโมเต็ลอยู่ไปวันๆ แต่การเล่าเรื่องผ่านมุมมองของเด็กน้อยอย่างมูนี่ ทำให้เรื่องราวไม่ดราม่าอย่างที่มันควรจะเป็น จากฉากที่มูนี่ต้องตามแม่ของเธอไปเร่ขายน้ำหอมให้นักท่องเที่ยว จนเกือบถูกตำรวจจับ หรือเฮลลีย์ทะเลาะกับเพื่อนจนขว้างปาอาหารทิ้ง จู่ๆ ภาพก็ตัดสลับมาเป็นฉากที่เฮลลี่ย์พามูนี่และเพื่อน ลัดเลาะริมถนน โบกรถคนแปลกหน้า เพื่อหามุมดีๆ นั่งดูดอกไม้ไฟที่จุดอยู่ในดิสนีย์แลนด์ด้วยกัน
เราไม่อาจบอกได้ว่าเฮลลีย์เป็น ‘แม่ที่ดี’ แต่หนังก็ทำให้เข้าใจได้ว่าเฮลลีย์เป็นแม่ที่ดีที่สุดเท่าที่เธอจะเป็นได้ในสภาพแวดล้อมที่เผชิญอยู่

รายงานเรื่อง Children and Family กรณีศึกษาจาก The Florida Project โดย Jesse L. Dooley School of Social Work, Simmons University อธิบายว่าเฮลลีย์ และ มูนี่ เป็นแม่ลูกที่มีสายสัมพันธ์ (Attachment) แน่นแฟ้น ดูได้จากการใช้เวลาร่วมกันที่มักจะมีแต่รอยยิ้มและเสียงหัวเราะมูนี่เองเป็นเด็กที่เข้าอกเข้าใจอารมณ์ของคนรอบข้างได้เป็นอย่างดี ในฉากหนึ่งมูนี่บอกกับเพื่อนขณะแอบสังเกตการณ์ผู้ใหญ่ทะเลาะกันว่า 

“เห็นไหม เธอกำลังจะร้องไห้แล้ว ฉันทายถูกทุกครั้งแหละ เวลาผู้ใหญ่จะร้องไห้”

ประโยคนี้อาจเป็นเพียงซีนเล็กๆ ในหนัง แต่ก็พอจะบ่งบอกถึงการเป็นเด็กช่างสังเกตและเอาใจใส่คนรอบข้าง ซึ่งคงจะเกิดขึ้นได้ยากหากมูนี่ไม่เคยได้รับการเอาใจใส่จากเฮลลีย์มาก่อน การที่สองแม่ลูกเผชิญความยากลำบากไม่ได้หมายความว่า เฮลลีย์ล้มเหลวในบทบาทแม่ เพราะยังมีปัจจัยแวดล้อมภายนอก ทั้งนโยบายสังคมและกฎหมายที่ซับซ้อน เป็นอุปสรรคต่อการได้รับสวัสดิการขั้นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตอย่างที่ควรจะเป็น
เฮลลี่ย์ พยายามสุดความสามารถเท่าที่กำลังและปัญญาของเธอพอจะมีเพื่อความอยู่รอด ขณะเดียวกันเธอก็ปกป้องมูนี่จาก ‘ปัญหาของผู้ใหญ่’ ที่เธอกำลังเผชิญ อย่างเรื่องเงิน, เรื่องงาน, อาหาร ฯลฯ จากรูปลักษณ์ภายนอก เฮลลีย์อาจดูเป็นแม่ที่ไม่เหมาะ ในแง่ของความประพฤติ และการเลี้ยงดูลูกที่ขัดกับบรรทัดฐานทางสังคม อย่างไรก็ตาม หนังแสดงให้เห็นชัดเจนว่ามูนี่และเฮลลีย์มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมาก และเฮลลีย์ปรับตัวเข้ากับมูนี่ได้เป็นอย่างดี จนเกิดเป็นสายสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูก ซึ่งถือเป็นพื้นฐานทางอารมณ์ที่สำคัญต่อการเติบโตของเด็กคนหนึ่ง

ภาพจาก : The Florida Project | Official Trailer HD | A24 

รากฐานที่ดี ต้องมีหลังคาให้ปลอดภัย

แม้สายสัมพันธ์ระหว่างผู้เลี้ยงดูหลักใน The Florida Project ซึ่งก็คือเฮลลีย์ จะมีความสำคัญต่อการเติบโตของเด็กคนหนึ่ง แต่แน่นอนว่า เพียงสายสัมพันธ์ อาจไม่เพียงพอปกป้องเด็กๆ จากภัยรอบตัวในโลกใบใหญ่ 

หากจะกล่าวว่า โมเต็ล เมจิก คาสเซิล สีม่วงสดใส เป็นภาพจำลองของหมู่บ้านแห่งหนึ่งก็คงไม่ผิดนัก แม้ว่าบรรยากาศโดยรอบจะเต็มไปด้วยตึกราม ร้านค้า สีพาสเทล แต่สภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในย่านนั้นกลับเป็นสีเทาหม่นๆ เพราะต้องทนกับความขัดสนและเข้าไม่ถึงรัฐสวัสดิการ 

ขณะที่ชาวบ้านในเมจิก คาสเซิล ต่างทำมาหากินเลี้ยงปากท้อง บ๊อบบี้ (Bobby) ผู้จัดการโมเต็ลที่เข้มงวดและดูเหมือนไม่สนใจไยดีใครๆ กลับทำหน้าที่เป็นหลังคาของหมู่บ้านแห่งนี้อย่างเงียบๆ 

บ่อยครั้งที่มูนี่และเพื่อนๆ ก่อเรื่องแผลงๆ ในโมเต็ล แม้บ๊อบบี้จะตำหนิ และส่งคำเตือนไปยัง

เฮลลี่ย์ แต่เขาก็ไม่เคยคาดโทษเด็กๆ อย่างจริงจัง ซ้ำยังเมื่อดูเหมือนว่าเด็กๆ อาจถูกคุมคามจากชายแก่โรคจิตที่แอบเข้ามาบริเวณโมเต็ล เขาก็ไม่รีรอที่จะปกป้อง 

การกระทำของบ๊อบบี้ ชวนให้เราตั้งคำถามว่า ท่ามกลางผู้คนมากมายในหมู่บ้านนั้น หากอย่างน้อยมีหนึ่งคนที่ใส่ใจก็อาจช่วยยืดเวลาความสดใสของวัยเยาว์ให้อยู่กับเหล่าเด็กน้อยได้นานขึ้น

บทความเรื่อง It Takes a Village to Raise a Child: Understanding and Expanding the Concept of the ‘Village’ อธิบายว่าความหมายของ Village ว่านอกจากครอบครัวแล้ว ส่วนถัดมาที่เด็กคนหนึ่งควรได้รับการสนับสนุน คือ ส่วนขยายของครอบครัว อันได้แก่ ปู่ย่าตายายลุงป้าน้าอา นอกจากนี้ยังหมายถึงเพื่อนสนิท และเพื่อนบ้านด้วย

สำหรับเฮลลีย์และมูนี่ที่มีกันอยู่สองคน ไม่มีสมาชิกครอบครัวอื่นๆ เพื่อนที่เคยช่วยเหลือกันก็เกิดผิดใจ ทำให้พวกเธอดูเหมือนว่าไม่มีใครคอยให้ความช่วยเหลือ แต่จริงๆ แล้วพวกเธอยังมี บ๊อบบี้ ผู้จัดการโมเต็ล ที่ทำหน้าที่เป็นแบ็กอัปอยู่ห่างๆ ในความหมายนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า บ๊อบบี้ ก็คือ ตัวแทนของ 

‘หมู่บ้าน’ ทำหน้าที่เป็นหลังคาคอยสอดส่องความผิดปกติต่างๆ ในสังคม ในแง่ที่คอยปกป้องดูแลเด็กคนหนึ่งให้อยู่รอดปลอดภัย แม้จะไม่ตลอดเวลาก็ตาม 

ภาพจาก : The Florida Project | Official Trailer HD | A24


เมื่อฐานรากผุกร่อน หลังคาผุพัง คืนพลังแก่เด็กน้อย

เฮลลีย์พยายามทุกวิถีทางเพื่อให้มีเงินจ่ายค่าเช่าโมเต็ล เมื่อสวัสดิการรัฐยังช่วยเหลือเธอไม่ได้ หนำซ้ำเพื่อนสนิทที่เคยช่วยเหลือกันก็กลับมาแตกคอ สมัครงานก็ไม่มีใครรับ เร่ขายน้ำหอมหน้าโรงแรมก็ถูกไล่ที่ ทางเลือกเดียวที่เฮลลีย์มองเห็นก็คือการใช้ร่างกายของเธอเพื่อแลกเงิน แม้ว่านี่เป็นสิ่งที่เธอปฏิเสธมาตลอด แต่เมื่อเข้าตาจนแล้ว วิธีการนี้อาจเป็นทางเลือกเพียงอย่างเดียวสำหรับเธอ
ช่วงครึ่งหลัง หนังฉายให้เห็นมูนี่กำลังนั่งเล่นในอ่างอาบน้ำเพียงลำพัง โดยไม่ได้มีเนื้อหาเชื่อมโยงกับฉากใดๆ ราวกับว่าซีนนี้ถูกแทรกขึ้นมาลอยๆ แต่เมื่อหนังดำเนินเรื่องต่อไปสักพัก ความจริงที่ปรากฏ อาจทำให้คนดูใจสลาย เพราะระหว่างที่มูนี่เล่นอยู่ในอ่างอาบน้ำ หลังประตูห้องน้ำอีกฝั่งนั้น แม่ของเธอกำลังใช้เรือนร่างแลกเงินเพื่อหาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัว

เหตุการณ์นี้นำไปสู่ เจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์พยายามเข้ามาแยกมูนี่ออกจากเฮลลีย์ หากมองเผินๆ หลายคนอาจโล่งใจที่มูนี่จะได้รับการดูแลที่เหมาะสมตามวัย แต่สิ่งที่หลายคนไม่เห็นก็คือ

สายสัมพันธ์ที่ถูกทำลาย เพราะ การพรากมูนี่จากเฮลลีย์ ก็เหมือนการกระชากสายสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกให้ขาดลง

ในรายงานเรื่อง Children and Family ระบุว่า วิธีที่นักสังคมสงเคราะห์ควรเลือกใช้ ในกรณีของเฮลลีย์และมูนี่ คือ Empowerment Approach ซึ่งเป็นวิธีที่ให้ความสำคัญกับการเห็นคุณค่าในตนเองของผู้รับการช่วยเหลือ ด้วยการตระหนักถึงความต้องการของผู้ด้อยโอกาส คนชายขอบ ที่เผชิญกับความยากจน การเข้าไม่ถึงโอกาสพื้นฐานในชีวิต ทำให้คนกลุ่มนี้ รวมทั้งเฮลลีย์และมูนี่ รู้สึกไร้อำนาจ ซึ่งเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ควรใช้วิธีที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าสามารถควบคุมชีวิตตนเองได้ หรือคืนอำนาจในการมีชีวิตที่ดีตามสิทธิขั้นพื้นฐานให้กับพวกเขานั่นเอง 

หนังไม่ได้เล่าว่าต่อจากนี้ นักสังคมสงเคราะห์ได้ใช้วิธี Empowerment Approach หรือไม่ แต่หากมีโอกาส การทำให้คนชายขอบ ผู้ด้อยโอกาสต่างๆ รู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจกุมชะตาชีวิตตนเอง ไม่ได้เลื่อนลอยไปตามชะตากรรม หรือตามแต่ผู้มีอำนาจสูงกว่าจะกรุณา ก็น่าจะเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการให้ความช่วยเหลือ ในแง่ของความเท่าเทียมและเห็นคุณค่าของความเป็นคน
เพราะหมู่บ้านที่ช่วยเลี้ยงเด็กให้เติบโตอย่างดีได้ ก็น่าจะเป็นหมู่บ้านที่ยอมรับและฟังเสียงของเด็กๆ อย่างเท่าเทียมกัน

ภาพจาก : The Florida Project | Official Trailer HD | A24

ในโลกสีเทา แต่ชีวิตเราสีพาสเทล

ในฐานะผู้ชม เรามองเห็นฉากหลังของหนังเต็มไปด้วยสีสันสดใส แต่สำหรับชีวิตคนในเมจิก คาสเซิลกลับเป็นสีเทาหม่นหมอง สิ่งที่น่าสนใจก็คือ The Florida Project เล่าเรื่องผ่านสายตาของมูนี่ เด็กน้อยวัย 6 ขวบ เพราะฉะนั้น แม้สายตาของผู้ชมที่เป็นผู้ใหญ่ มองชีวิตของตัวละครเป็นสีเทาๆ แต่สำหรับมูนี่ กลับตรงกันข้าม เพราะชีวิตของเธอ ในเมจิก คาสเซิล สดใสเป็นสีพาสเทล ไม่ต่างจากตึกรามร้านรวงที่รายล้อมรอบตัวเธอ

ที่เป็นเช่นนี้เพราะ เด็กๆ มีพลังวิเศษ ที่สามารถหาความสุขได้ง่ายๆ รอบตัว แม้หลายพฤติกรรมของมูนี่และเพื่อนดูห่ามจนเกินงาม เพราะขาดการอบรมที่เหมาะสมจากผู้ใหญ่ แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสุขของเด็กๆ นั้น เรียบง่ายเพียงแค่การได้แบ่งปันไอติมสักแท่งร่วมกัน 

ซึ่งความสุขเหล่านี้เอง คือ พลังอำนาจที่เด็กๆ มีเหนือกว่าผู้ใหญ่ และดูเหมือนเฮลลีย์เองก็เข้าใจความสุขของเด็กๆ เป็นอย่างดี เธอจึงไม่เคยนำปัญหาของผู้ใหญ่มาระบายหรือขัดขวางความสุขของลูก
ฉากเดียวที่เราเห็นน้ำตาของมูนี่คือเมื่อนักสังคมสงเคราะห์พยายามจะแยกเธอไปจากแม่ มูนี่วิ่งหนีสุดชีวิต ไปหาเพื่อนรักของเธอ พอเพื่อนถามว่าเป็นอะไร มูนี่ก็จึงกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่และร้องไห้โฮออกมา
ดูเหมือนว่าการพยายามเข้าควบคุมสถานการณ์ของผู้ใหญ่ ที่เราต่างรู้ว่ามีเจตนาดี แต่อีกมุมหนึ่งก็อาจเป็นการพรากพลังของการมีความสุขไปจากเด็กๆ 

เนื้อหาไม่ได้สรุปว่านักสังคมสงเคราะห์ทำอะไรต่อไป เช่นเดียวกับไม่ได้บอกว่าชะตาชีวิตของเฮลลีย์กับมูนี่จะเป็นอย่างไร คล้ายกับการที่จริงๆ แล้ว เราในฐานะคนดู ต่างก็ไม่อาจมั่นใจได้เช่นกันว่า หมู่บ้านที่กว้างใหญ่นี้พร้อมดูแลอุ้มชูเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียมกันจริงไหม

เพราะนอกจากปริมาณหมู่บ้านมากมายที่พร้อมอุ้มชูดูแลเด็กๆ ก็น่าตั้งคำถามต่อไปว่าคุณภาพของหมู่บ้านเหล่านั้นเป็นอย่างไร เหมือนกับที่คนดูอาจตั้งคำถามกับการทำงานของนักสังคมสงเคราะห์ในหนัง ว่าจะดูแลเด็กคนหนึ่งได้ดีจริงหรือไม่ ในเมื่อผลีผลามแยกแม่ลูก จนทำให้มูนี่วิ่งเตลิดหนีไป  

ภาพจาก : The Florida Project | Official Trailer HD | A24  

ภาพสุดท้ายของมูนี่ที่ผู้ชมเห็นก็คือ เธอจูงมือเพื่อนรักวิ่งหนีเข้าไปในดิสนีย์แลนด์ ดินแดนในฝันของเด็กทั่วโลก หากหนังไม่พยายามบอกว่า หมู่บ้านที่หล่อเลี้ยงความเป็นเด็ก ให้มีพื้นที่เพื่อความฝันได้เติบโต คือสิ่งที่โลกนี้ควรมี หนังก็อาจพยายามบอกว่า ความสุขของวัยเด็กนั้น เป็นเพียงความฝัน เหมือนดังความสุขเพียงชั่วคราวที่เราได้รับจากดิสนีย์แลนด์ 

สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะตีความอย่างไร เด็กๆ ย่อมเติบโตต่อไปได้ เหมือนกับที่มูนี่เคยพูดกับเพื่อนเมื่อเห็นต้นไม้ที่ล้มลงว่า 

“ฉันชอบต้นไม้ต้นนี้ เพราะถึงแม้มันจะล้มลง แต่มันก็ยังเติบโตต่อไป”

จริงอยู่ว่าเด็กอาจเติบโตต่อไปได้  แต่สิ่งที่น่าเสียดายก็คือ หากสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการเจริญเติบโตสักนิด ต้นไม้ก็จะสามารถเติบโตเต็มศักยภาพเป็นร่มเงา เป็นรากฐาน หลังคา ที่ดีให้กับหมู่บ้านได้ต่อไป หาได้เป็นเพียงไม้ล้มลุกที่คลุกคลานบนพื้นดิน

อ้างอิง: 
https://jessedooley.com/2021/06/27/child-and-family-paper-the-florida-project/
https://www.frontiersin.org/journals/public-health/articles/10.3389/fpubh.2022.756066/full
https://ped.md.chula.ac.th/wp-content/uploads/2021/09/01_CUPA2021_ebook.pdf
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC8964422/


Writer

Avatar photo

สุภาวดี ไชยชลอ

ชอบเดินทาง ชอบดูซีรีส์เกาหลี สนใจทฤษฏีจิตวิเคราะห์ และชอบตอบคำถามลูกสาวช่างสงสัยวัยประถม

Related Posts