- มิถุนายน 2563 สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีคำสั่งให้ย้ายศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองออกจากพื้นที่เพื่อก่อสร้างอาคารพาณิชย์และที่พักอาศัยสำหรับโครงการพัฒนาที่ดิน พร้อมทั้งฟ้องเรียกค่าเสียหาย 4.6 พันล้านบาทจากผู้ดูแลศาลเจ้า นำไปสู่แฮชแท็ก #Saveศาลเจ้าแม่ทับทิม ในทวิตเตอร์
- The Last Breath of Sam Yan คือสารคดีที่ตีแผ่เรื่องราวการต่อสู้ของทายาทผู้ดูแลศาลเจ้ากับเหล่านิสิตเพื่อปกป้องศาลเจ้าที่เปรียบดังลมหายใจสุดท้ายที่บันทึกจิตวิญญาณแห่งชุมชนสามย่านเอาไว้
- นี่ไม่ใช่เพียงเรื่องของการต่อสู้แย่งชิงพื้นที่เชิงกายภาพ แต่คือการต่อสู้เพื่อรักษาชุมชนเก่าเอาไว้ให้รอดพ้นจากเงื้อมมือของปีศาจ gentrification ในระบบทุนนิยม
ถ้ามีสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ยาวนานกว่าร้อยปี มีสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ และที่สำคัญ สถานที่แห่งนี้ยังคงเป็นพื้นที่ที่มีกิจกรรมทางวัฒนธรรมของชุมชนดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้ถูกทิ้งร้างแบบหลาย ๆ พื้นที่ คุณคิดว่าควรรื้อถอนสถานที่นี้ไหม
ที่จริงหากใช้จิตสำนึกขั้นพื้นฐานในการตอบ คำตอบมันก็คงง่าย ๆ ว่า ไม่
แต่การต่อสู้ระหว่างชุมชนและนิสิตผู้ต้องการจะปกป้องศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง กับสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่เป็นเช่นนั้น เพราะคำตอบง่าย ๆ กลับกลายเป็นเรื่องซับซ้อน เมื่อการพูดคุยไม่ได้ตั้งอยู่บนจิตสำนึกขั้นพื้นฐานเพียงอย่างเดียว หากแต่ตั้งอยู่บนกฎหมายเอื้อปลาใหญ่ไล่ปลาเล็ก ตั้งอยู่บนความเชื่อที่มองว่าตนคือ ‘เสาหลัก’ ผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการเป็นผู้นำทิศทางการพัฒนาพื้นที่ในอาณาจักรของตนเอง และการพัฒนาที่ว่าก็คือการขับไล่ชุมชนดั้งเดิมออกไปเพื่อสร้างตึกใหญ่แทนที่
อย่างน้อยนั่นก็คือสิ่งที่เรารู้สึกหลังจากที่ดู The Last Breath of Sam Yan สารคดีว่าด้วยการต่อสู้ของพี่นก-เพ็ญประภา พลอยสีสวย ครอบครัวผู้ดูแลศาลเจ้าและกลุ่มนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการปกป้องศาลเจ้าจากการถูกไล่ที่โดยสำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ
นี่อาจจะเป็นหนึ่งในสารคดีไทยที่ดีที่สุด – หากไม่ใช่สารคดีไทยที่ดีที่สุดที่เราเคยดู ก่อนอื่นเราต้องชื่นชม ฟิล์ม-เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้กำกับสารคดีเรื่องนี้ ที่เลือกจะถ่ายทอดเรื่องราวการต่อสู้ออกมาได้อย่างจริงใจกับทั้งคนดูและตัวเองมากพอ ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่องที่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายให้มีตัวร้ายและตัวดีอย่างชัดเจน หรือการจิกกัดที่ตรงไปตรงมาและกล้าหาญที่มาในจังหวะที่ใช่ซึ่งเรียกเสียงหัวเราะและอารมณ์ร่วมให้คนดูได้เป็นอย่างดี ทำให้สารคดีเรื่องนี้สามารถเข้าถึงและส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของผู้ชมได้ไม่มากก็น้อย และทำให้สารหลักที่ภาพยนตร์ต้องการจะสื่ออย่างการปกป้องศาลเจ้าแม่ทับทิมนั้นมีน้ำหนักและทรงพลังเหลือเกิน
มิถุนายน 2563 สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีคำสั่งให้ย้ายศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองออกจากพื้นที่เพื่อก่อสร้างอาคารพาณิชย์และที่พักอาศัยสำหรับโครงการพัฒนาที่ดินบริเวณหมอน 33 เขตพาณิชย์สวนหลวง-สามย่าน โดยทางศาลเจ้าจะต้องทำการขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากพื้นที่ภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2563 เมื่อถึงวันที่กำหนดและผู้ดูแลศาลเจ้ายังไม่ย้ายออก จุฬาฯ จึงมีการฟ้องเรียกค่าเสียหาย 4.6 พันล้านบาทจากผู้ดูแลศาลเจ้า นำไปสู่แฮชแท็ก #Saveศาลเจ้าแม่ทับทิม ในทวิตเตอร์ และการต่อสู้เพื่อปกป้องศาลเจ้าที่เปรียบเหมือนลมหายใจสุดท้ายของพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ชุมชนสามย่าน
หากมองข้อพิพาทศาลเจ้าแม่ทับทิมในเชิงกายภาพ สารคดีก็เน้นย้ำข้อมูลที่ว่าจุฬาฯ มีที่ดินกว่า 1,153 ไร่ในครอบครอง ขณะที่ศาลเจ้าแม่ทับทิมนั้นใช้พื้นที่เพียง 200 ตารางวา ดังนั้นแปลว่าการมีอยู่ของศาลเจ้าแม่ทับทิมก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อโครงการสร้างตึกสูงของจุฬาฯ มากนัก ที่จริง ขณะที่ข้อพิพาทยังไม่จบก็ได้มีการดำเนินการสร้างตึกสูงโอบล้อมศาลเจ้าแม่ไว้แล้ว ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าถึงจะมีศาลเจ้าแม่ทับทิมตั้งอยู่ แต่โครงการดังกล่าวก็ยังดำเนินต่อไปได้
ขยับมาที่คุณค่าทางประวัติศาสตร์ของศาลเจ้าแม่ทับทิม สารคดีก็ ‘ฟาด’ จุฬาฯ จนน่วม เพราะสารคดีไม่เพียงถ่ายทอดความเป็นมาของศาลเจ้าแม่ทับทิม ตั้งแต่เรื่องเล่าที่อากงของแฟนพี่นกพบองค์เจ้าแม่ลอยน้ำมาจนนำมาตั้งบูชาในบ้าน แต่คนในชุมชนคนอื่น ๆ ก็เริ่มศรัทธาในองค์เจ้าแม่และแวะเวียนมากราบไหว้จนต้องตั้งศาลเจ้าขึ้น ศาลเจ้านี้จึงเกิดขึ้นได้เพราะความศรัทธาและความผูกพันของคนในชุมชนโดยแท้จริง และกลายเป็นสถานที่ที่เก็บเรื่องราวจุลประวัติศาสตร์ (microhistory) ของชุมชนสามย่านไว้ แต่ที่แสบที่สุด และเป็นการตบหน้าจุฬาฯ ฉาดใหญ่ก็คือฉากการมาเยี่ยมเยือนศาลของ สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ กับการชี้ให้เห็นกระถางธูปอันเป็นเครื่องสังเค็ดในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งจารึกอักษรย่อพระนามาภิไธย ‘จปร.’ ซึ่งพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่ศาลเจ้า ที่นอกจากจะสื่อถึงความสำคัญของศาลเจ้าแม่ทับทิมที่เป็นจุดเชื่อมสายสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับชุมชนสามย่าน ยังเป็นการตั้งคำถามต่อจุฬาฯ ว่า การตัดสินใจของจุฬาฯ ขัดแย้งกับกษัตริย์ผู้พระราชทานกรรมสิทธิ์ที่ดินผืนนี้แก่จุฬาฯ หรือไม่ ในเมื่อพระองค์ยังทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของศาลเจ้าแม่ทับทิม ในขณะที่ผู้บริหารจุฬาฯ ยุคปัจจุบัน กลับมองไม่เห็นความสำคัญของศาลเจ้าอันเปรียบเป็นลมหายใจสุดท้ายของชุมชนสามย่าน
อีกปัญหาที่ปรากฏผ่านการไล่ที่ศาลเจ้าแม่ทับทิมที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ คือปัญหา gentrification หรือการเปลี่ยนแปลงพื้นที่เพื่อเปลี่ยนชนชั้นในชุมชน สิ่งที่เราชอบมากที่สุดก็คือการที่สารคดีสอดแทรกวิดีทัศน์โครงการจุฬาฯ เมืองอัจฉริยะ (CU Smart City) ที่มีอธิการบดีจุฬาฯ มากล่าวถึงการพัฒนาพื้นที่เพื่อให้ ‘ก้าวนำ’ โลก และอ้างว่าทำไปเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและ ‘ชุมชน’ ตัดสลับภาพกับสัมภาษณ์ชาวบ้านชุมชนสามย่านที่ต้องย้ายออกไปจากการถูกไล่ที่ สัมภาษณ์นิสิตที่ร่วมสู้ไปพร้อมกับผู้ดูแลศาลเจ้าแม่และถึงขั้นมาเป็นกรรมการศาลเจ้าแทนกรรมการศาลเจ้ารุ่นเก่า เพราะแม้อาจจะไม่ได้ศรัทธาในเจ้าแม่หรือคิดว่าเจ้าแม่มีอยู่จริง แต่สิ่งที่ประจักษ์แก่พวกเขาคือความสัมพันธ์ของเจ้าแม่ในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชุมชนและจิตวิญญาณชุมชนสุดท้ายของสามย่านที่ยังคงเหลืออยู่ สัมภาษณ์ของนักวิชาการหลายคนที่คัดค้านการไล่ที่ศาลเจ้าแม่ทับทิม และประวัติอันยาวนานของความผูกพันระหว่างศาลเจ้าแม่ทับทิมและชุมชน
นิสิตที่มักจะถูกตีตราว่าเป็นพวกไร้ราก กลับกลายเป็นคนที่สู้เพื่อปกป้อง ‘ราก’ ของชุมชนที่จะถูกทำลายลงด้วยโครงการตึกสูงของมหาวิทยาลัยที่นิยามตัวเองว่า ‘เสาหลัก’ ของแผ่นดิน เมื่อ ‘เสาหลัก’ กลับมองชุมชนเป็นเพียงพื้นที่ทางกายภาพโดยไม่มองไปถึงจิตวิญญาณชุมชนที่กำลังสูญหายไป และผู้คนที่ต้องโยกย้ายออกจากบ้าน ก็ไม่ได้อยู่ในสมการ ‘ชุมชน’ ที่จุฬาฯ อยากจะพัฒนา
สาเหตุที่ทำให้เราชื่นชมการเลือกจะถ่ายทอดเรื่องราวออกมาอย่างตรงไปตรงมาและการเลือกข้างอย่างชัดเจนของผู้กำกับก็เพราะสารคดีเรื่องนี้จะทรงพลังไม่ได้เท่านี้เลยหาก ฟิล์ม-เปรมปพัทธ จะเลือกถ่ายทอดออกมาอย่าง ‘เป็นกลาง’ และให้คนดูตัดสินใจเองว่าใครคือผู้ร้ายกันแน่ ทั้งที่ตัวเขาเองก็รู้ดีว่าเขาทำหนังสารคดีเรื่องนี้มาเพื่อใครและเพราะอะไร เพราะการกระทำของฝั่งจุฬาฯ ที่เราเห็นมาตลอดในสารคดีคือความไม่ชัดเจนและไม่ซื่อสัตย์ทั้งกับตัวเองและอีกฝ่าย จุฬาฯ ให้คำมั่นสัญญากับพี่นก ผู้ดูแลศาลเจ้า ว่าจะสร้างศาลเจ้าให้ใหม่ให้เหมือนกับที่เดิม แต่เราก็พบว่า สถาปัตยกรรมที่ศาลเจ้าแม่ทับทิมที่จุฬาสร้างขึ้นใหม่ในอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ก็เต็มไปด้วยความผิดพลาดจนถูกนิยามว่าเป็นเหมือน “เพลงไทยสำเนียงจีน” มีตัวอักษรจีนที่เขียนผิด ๆ ถูก ๆ ภาพจิตรกรรมที่ทำแบบขอไปที องค์เจ้าแม่ที่ไม่มีอะไรเหมือนกับองค์เดิม การทำพิธีย้ายศาลที่ไม่ครบถ้วนกระบวนความ การนำบายศรีและนิมนต์พระไทยมาทำพิธีซึ่งผิดแผกไปจากธรรมเนียมเดิม หรือแม้แต่การที่อ้างว่า ศาลเจ้าแม่ทับทิมที่ใหม่นี้ต้อนรับทุกคน แต่เมื่อพบว่าคนนั้นคือกลุ่มนิสิตที่ไม่เห็นด้วยกับตน หรือแม้แต่วิโรจน์ ลักขณาอดิศรที่แวะเยี่ยมชมศาลเจ้าใหม่ในขณะหาเสียง ก็ยังโดนเจ้าหน้าที่ขับไล่ออกมา มันจึง ‘ถูกแล้ว’ จริง ๆ ที่ฟิล์มเลือกจะถ่ายทอดเรื่องราวออกมาอย่างนี้ เพราะคุณคงไม่สามารถชี้ให้เห็นการกระทำลับ ๆ ล่อ ๆ และหลบ ๆ ซ่อน ๆ ของอีกฝ่ายได้เลย หากคุณไม่ซื่อสัตย์กับสิ่งที่ตัวเองทำแต่แรก
21 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ศาลได้มีการนัดสืบพยานครั้งสุดท้ายในกรณีพิพาทนี้ของศาลชั้นต้นเพื่อนำไปประกอบการตัดสิน แม้ยังไม่รู้ว่าปลายทางจะเป็นอย่างไร และชัยชนะก็ดูจะมีน้ำหนักเบากว่าความพ่ายแพ้ แต่ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร The Last Breath of Sam Yan ก็ถือเป็นบันทึกการต่อสู้ครั้งประวัติศาสตร์ของปลาเล็ก ที่สู้กับปลาใหญ่ ‘จนกว่าจะแพ้’ ตามที่เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล หนึ่งในผู้อำนวยการสร้างสารคดีเรื่องนี้ได้กล่าวไว้ในภาพยนตร์