The Night Kindergarten: จับมือประคองใจครอบครัว ในโลกที่ไม่สมบูรณ์แบบ

  • สารคดี “The Night Kindergarten” โดยโคอิชิ โอมิยะ บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ “เนิร์สเซอรีกลางคืน” สถานที่รับเลี้ยงเด็กทารกและเด็กเล็กที่เปิด 24 ชม. ในญี่ปุ่น ผ่านมุมมองของครูในเนิร์สเซอรี เด็ก พ่อแม่ที่ต้องทำงานตอนกลางคืน และเจ้าของฟาร์มที่ส่งวัตถุดิบสำหรับทำอาหารในเนิร์สเซอรี
  • “The Night Kindergarten” สะท้อนภาพชีวิตของชนชั้นกลางล่างของญี่ปุ่น ที่ต้องดิ้นรนหาเงินมาจุนเจือครอบครัว และระบบสวัสดิการเด็กเล็กในญี่ปุ่น ที่ยังเติบโตไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม
  • แม้ว่าปัจจัยต่างๆ จะยังไม่เอื้ออำนวยให้เด็กๆ ได้เติบโตอย่างราบรื่น แต่พ่อแม่และครูในเนิร์สเซอรีก็ยังคงจับมือและพยายามไปด้วยกัน เพื่อการเติบโตอย่างงดงามของเด็กๆ

“อยากเลี้ยงลูกเอง แต่ต้องไปทำงาน” ปัญหาหนักอกหนักใจที่พ่อแม่วัยทำงานทุกวันนี้ต้องเผชิญ ด้วยลักษณะครอบครัวที่เล็กลงจนเป็นครอบครัวเดี่ยว แม้รู้อยู่แก่ใจว่าพ่อแม่ควรใช้เวลาอยู่กับลูก แต่ในยุคที่เงินสามารถดลบันดาลความสะดวกสบายและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับทั้งครอบครัวได้ พ่อแม่หลายคนจึงจำเป็นต้องฝากลูกไว้กับใครสักคน ที่สามารถดูแลป้อนข้าวป้อนน้ำเจ้าตัวน้อยของพวกเขา รอเวลาหลังเลิกงานที่ครอบครัวจะกลับมาพร้อมหน้ากัน

ด้วยเงื่อนไขชีวิตเช่นนี้ “เนิร์สเซอรี” จึงเกิดขึ้น เพื่อดูแลชีวิตประจำวันขั้นพื้นฐานของเด็กๆ แทนพ่อแม่ เพื่อให้เจ้าตัวเล็กสามารถอยู่รอดได้ ก่อนเติบโตและเข้าเรียนในโรงเรียนอนุบาล

นี่อาจจะเป็นภาพจำที่เราเห็นกันเป็นปกติในสังคมไทย แต่สำหรับญี่ปุ่น ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการให้คุณค่ากับการทำงานหนัก และพ่อแม่จำนวนมากต้องพยายามหารายได้จากหลายทาง เพื่อนำมาจุนเจือครอบครัว รวมไปถึงการทำงานล่วงเวลา และการทำงานในธุรกิจกลางคืน “เนิร์สเซอรีกลางคืน” จึงเกิดขึ้น 

เนิร์สเซอรีกลางคืน: ไม่ได้เปิดตอนเช้า ไม่ได้ปิดบ่ายสอง แต่ให้บริการพ่อแม่ทุกกลุ่ม 24 ชม.

เรื่องราวของเนิร์สเซอรีกลางคืนในญี่ปุ่น ได้รับการบอกเล่าผ่านสารคดี “The Night Kindergarten” โดยโคอิชิ โอมิยะ เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 2017

“The Night Kindergarten” พาเราติดตามทีมงานไปยังเนิร์สเซอรีที่เปิด 24 ชั่วโมง ทั่วประเทศญี่ปุ่น หนึ่งในนั้นคือ เนิร์สเซอรีเอบีซี ในกรุงโตเกียว ที่เปิดรับดูแลตั้งแต่เด็กทารกอายุไม่กี่เดือน จนถึงวัยอนุบาล โดยเริ่มเปิดทำการตั้งแต่เช้าตรู่ พาเด็กๆ เข้านอนตอนกลางคืน จนกระทั่งข้ามคืนไปถึงเช้าอีกวัน เพื่อรอพ่อแม่มารับกลับบ้าน พ่อแม่ส่วนใหญ่ที่ใช้บริการนี้ ก็ไม่ได้มีแต่คนทำงานในสถานบันเทิงตอนกลางคืนเท่านั้น แต่ยังมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐที่ต้องทำงานล่วงเวลา และเจ้าของร้านอาหารที่ต้องเปิดร้านถึงช่วงดึกดื่นด้วย

อย่างไรก็ตาม เนิร์สเซอรีกลางคืนไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อตอบสนองวิถีชีวิตของพ่อแม่วัยทำงานในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่พวกเขามีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่า คือการเติบโตอย่างมีคุณภาพของเด็กๆ ซึ่งเป้าหมายนี้ได้ถูกบอกเล่าผ่านมุมมองและภาพการทำงานของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นครูใหญ่และครูพี่เลี้ยงในเนิร์สเซอรี ครูฝึกพัฒนาการเด็กพิเศษ นักโภชนาการ ไปจนถึงเจ้าของฟาร์มออร์แกนิก ที่ทำหน้าที่ส่งวัตถุดิบให้เนิร์สเซอรีใช้ปรุงอาหารที่มีประโยชน์สำหรับเด็กๆ

เนิร์สเซอรีกลางคืน: ภาพสะท้อนความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต

นอกเหนือจากการทำงานเพื่อการเติบโตของเด็กๆ ของบรรดาครูในเนิร์สเซอรีกลางคืนแล้ว สารคดี “The Night Kindergarten” ยังบอกเล่าเรื่องราวของพ่อแม่ที่ “ไม่สมบูรณ์แบบ” ตามความคาดหวังของสังคม ทั้งพ่อแม่ที่ทำงานหามรุ่งหามค่ำ แม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องทำงานหาเลี้ยงลูกด้วยตัวคนเดียว แม่ที่ต้องทำงานในบาร์ หรือแม้กระทั่งแม่ที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษ ซึ่งเป็นชีวิตที่สังคมทั่วไปอาจไม่มีวันเข้าใจและตัดสินพ่อแม่เหล่านี้ด้วยอคติ

“คุณพ่อคุณแม่พยายามอย่างมากเลยใช่ไหม ทำได้ดีมากแล้ว” ประโยคที่ครูใหญ่ของเนิร์สเซอรีเอบีซีพูดซ้ำๆ กับพ่อแม่ที่มารับลูก บ่งบอกถึงอีกหนึ่งภารกิจของเนิร์สเซอรี นั่นคือการประคับประคองจิตใจของพ่อแม่ ที่ไม่อาจให้เวลาและคุณภาพชีวิตที่ดีเลิศกับลูกๆ ได้ แต่อย่างน้อย ความพยายามของคนตัวเล็กๆ อย่างพวกเขาก็ถูกมองเห็นและชื่นชม

นอกจากประเด็นในระดับปัจเจกแล้ว “The Night Kindergarten” ยังสะท้อนภาพระบบสวัสดิการเด็กเล็กในญี่ปุ่น ที่ยังเติบโตไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม ผ่านเรื่องราวของ “โรงแรมเด็กทารก” หรือ “Baby Hotel” ซึ่งมีลักษณะการทำงานเหมือนกับเนิร์สเซอรีกลางคืน แต่ยังไม่ได้รับการรับรองจากทางการ โรงแรมเด็กทารกตกเป็นข่าวเกี่ยวกับการดูแลเด็กเล็กที่ไม่เหมาะสม และส่งผลให้มีเด็กเสียชีวิต

ที่น่าตกใจก็คือ โรงแรมเด็กทารกมีจำนวนหลายพันแห่งทั่วประเทศ และรับดูแลเด็กเล็กอยู่มากกว่า 30,000 คน ในขณะที่เนิร์สเซอรีกลางคืนที่ได้รับการรับรองนั้น มีเพียง 80 แห่ง ทั่วประเทศ

ตัวแทนจากโรงแรมเด็กทารกคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ถึงการทำงานของเขาว่า ที่ผ่านมาเคยมีผู้หญิงคนหนึ่งนำลูกมาฝากเลี้ยง ทว่าไม่ได้มารับลูกกลับไป และเด็กก็ต้องเข้าไปสู่ระบบการดูแลของรัฐ โดยที่เขาเองก็ไม่ทราบเส้นทางของเด็กคนนั้น อย่างไรก็ตาม เขาเองก็เป็นคนหนึ่งที่มีความตั้งใจดูแลเด็กๆ เช่นกัน นี่จึงอาจเป็นอีกเสียงที่ส่งไปยังรัฐบาล ให้โรงแรมเด็กทารกสามารถเปิดดำเนินงานได้อย่างถูกต้อง เพื่อสวัสดิภาพของเด็กๆ เช่นเดียวกับเนิร์สเซอรีกลางคืน

จับมือกันเดินไป ในโลกที่ไม่เคยสมบูรณ์แบบ

เมื่อมองสังคมญี่ปุ่นผ่านสายตาของทีมงานสารคดี ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านเวลาและรายได้ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเด็กๆ ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ในเร็ววัน แต่ถึงอย่างไร ภาพของเด็กโตที่เคยผ่านการใช้ชีวิตในเนิร์สเซอรีกลางคืน ซึ่งกลับมาเยี่ยมเนิร์สเซอรีในวันคริสต์มาส พร้อมเสียงชื่นชมจากครูใหญ่ว่า เด็กๆ นั้น “เติบโตเรียบร้อยดี” ก็อาจจะบอกเราได้ว่า การที่ผู้ใหญ่ตั้งใจทำหน้าที่ของตัวเอง จับมือกันประคับประคองเด็กๆ ให้ก้าวเดินไปในวันที่โลกไม่ได้สวยงามดั่งใจ แค่นี้ก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับวันนี้ จนกระทั่งช่วงเวลาที่ยากลำบากในการดูแลเด็กเล็กผ่านไป เมื่อเด็กๆ ได้เติบโตขึ้นโดยรับรู้ว่ามีคนที่รักเขา พวกเขาก็จะเติบโตได้ต่อไป


Writer

Avatar photo

ณัฐธยาน์ ลิขิตเดชาโรจน์

บรรณาธิการและแม่ลูกหนึ่ง ผู้เรียนรู้ความเป็นมนุษย์ผ่านการเติบโตของลูกชาย มีหนังสือและเพลงเมทัลร็อกเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และมีชีวิตอยู่ได้ด้วยกาแฟและขนมทุกชนิด

Illustrator

Avatar photo

ลักษิกา บรรพพงศ์

กราฟิกดีไซน์เนอร์ที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับธุรกิจเพลงเด็ก ติดซีรีส์ ชอบร้องเพลง ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และเป็นทาสแมว

Related Posts