แม้วัยเยาว์จะเขลาขลาด  เราก็ไม่อาจลืม : อ่านครอบครัว เพื่อน รักครั้งแรก และเรื่องราวที่ ‘วัยรุ่น’ เท่านั้นจะได้พบใน ‘ขอให้วัยเยาว์ของเราเป็นนิรันดร์’

“จำได้ไหมตอนที่ชาร์ลีเข้ามาหาพวกเราครั้งแรกที่งานแข่งอเมริกันฟุตบอล…จำได้ไหมที่ชาร์ลีปล่อยลมยางรถของเดฟที่งานเต้นรำคืนสู่เหย้า…จำกลอนบทนั้นได้ไหม…เทปรวมเพลง..หนังสือพังก์ร็อกกี้ฉบับพิมพ์สี…แล้วจำได้ไหมตอนที่พวกเรารู้สึกเป็นนิรันดร์” 

ช่วงวัยแห่งการเติบโตแต่ละช่วงในชีวิตของคนเราอาจมีเรื่องราวมากมายเข้ามาให้ได้เผชิญอยู่เสมอและเรื่องราวเหล่านั้นอาจเหมือนกันในแง่รายละเอียด แต่ประสบการณ์ทางความรู้สึกหรือวิธีการสัมผัสเรื่องราวเหล่านั้นย่อมต่างกันออกไปตามเงื่อนไขของวันวัย จึงไม่แปลกหากเมื่อเรานึกย้อนไปถึงช่วงชีวิตในวัยหนึ่งๆ อย่างเช่น ตอนวัยรุ่นจะทำให้เราได้รู้สึกถึงพลังบางประการที่ซุกซ่อนอยู่ในวัยนั้นอย่างเหลือล้นที่มักจะไม่เกิดขึ้นในวัยไหนๆ ทั้งพลังของการตั้งคำถาม ความอยากรู้อยากลอง ความบ้าบิ่นกล้าหาญ ความเขินอายและขลาดเขลาต่อเรื่องต่างๆ  ไปจนถึงความเจ็บปวดบางอย่างที่ตกค้างอยู่ในหัวใจมายาวนานนับจากนั้น หรือแม้กระทั่งบทเพลงอันโปรดปราน หนังสือเล่มน้อยใหญ่ รักแรกแสนสุขซึ้งที่ยังคงชวนให้นึกถึง แม้วันวานจะผ่านผันมานานแล้ว 

The Perks of being a wallflower (1999) หรือ ขอให้วัยเยาว์ของเราเป็นนิรันดร์ นิยายเรื่องแรกของ Stephen Chbosky คือวรรณกรรมเยาวชนที่จะมาชวนเล่าเรื่องราวของวัยเยาว์เช่นนั้นผ่าน ‘ชาร์ลี’ ซึ่งเป็นเด็กหนุ่มธรรมดาๆ ทั่วไปที่อาจจะเหมือนคุณในตอนนั้น เหมือนลูกของคุณ เหมือนหลานของคุณ เหมือนนักเรียนของคุณ และเหมือนวัยรุ่นทั่วๆ ไปที่คุณเคยพบเห็น

เขาเป็นเด็กวัย 15 ขวบ ที่ชอบอยู่ในพื้นที่ส่วนตัว เก็บตัว เขินอาย ไม่ชอบคุยกับใคร  ทำให้ชาร์ลีไม่มีเพื่อนเลย แต่ความเปลี่ยวดายในหัวใจของเขาก็มีดอกไม้ผลิบานออกมาเมื่อเข้าสู่วัยมัธยมปลาย จากการได้พบกับ ‘เพื่อนใหม่’ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘แพทริก’ เพื่อนรุ่นพี่ที่พาเขาไปรู้ไปลองและกระโดดออกไปเผชิญโลกของวัยเยาว์ ทำให้เขาได้สัมผัสประสบการณ์หลากหลาย  เพื่อนอีกคนคือ ‘แซม’ รุ่นพี่ผู้หญิงที่เขาตกหลุมรักในแรกพบที่ทำให้เขาพบพื้นที่การเรียนรู้ทางความรู้สึกในอีกมิติที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน 

ทั้งสามคนเติบโตร่วมวันวัย กลายเป็นเพื่อนสนิท พากันไปผจญกับประสบการณ์ต่างๆ ที่ไม่อาจรู้ลืม ซึ่งเราจะได้เห็นตลอดทั้งเรื่องและเมื่ออ่านแล้วก็อาจนึกถึงตัวเองหรือใครบางคนว่ามีเรื่องราวคล้ายคลึงกับพวกเขาที่เกิดขึ้นมาในช่วงเวลาสับสนอลหม่านในหัวใจและก้าวข้ามความเจ็บปวดที่ฝังอยู่ในส่วนลึกลงไปได้ยากที่สุดในชีวิตคนเราอย่างช่วง ‘วัยรุ่น’ 

มิตรภาพ  

‘เพื่อน’ เป็นเรื่องที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยในชีวิตของวัยรุ่น วรรณกรรมเรื่องนี้เล่าเรื่องอิทธิพลและการยึดโยงต่อเพื่อนได้อย่างลึกซึ้งผ่านสายตาของเด็กชายคนหนึ่งที่โลกของเขาเงียบเชียบและมีสีหม่นๆ จากสิ่งที่ติดค้างในใจที่เกิดขึ้นจากทั้งการสูญเสียเพื่อนในวัยมัธยมต้นและปัญหาครอบครัวของเขาเอง ทำให้ชาร์ลีเป็นเด็กที่ไม่ค่อยมีความมั่นใจในตัวเอง กลัวการพบเจอหรือแสดงออก เก็บตัวเงียบ ในขณะที่การเป็นอย่างที่ชาร์ลีเป็นก็ไม่ใช่เรื่องไม่สวยงามไปทั้งหมด เพราะพื้นที่ตรงนั้นเขาก็ได้ใช้ไปกับการสังเกตชีวิต ความเป็นไป และมองสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยคำถามที่ละเอียดลึกซึ้ง ขณะที่เมื่อมีใครสักคนเข้าใจตัวตนของเขาและมอบพื้นที่ให้กับเขา ก็ทำให้เขาพบกับตัวเองในอีกแบบหนึ่งที่กล้าออกไปเผชิญกับสิ่งต่างๆ รอบตัวมากขึ้น  ซึ่ง ‘เพื่อน’ เป็นคนสำคัญในเรื่องนี้ที่เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ อย่างในตอนหนึ่งที่งานปาร์ตี้ เพื่อนๆ ได้พูดถึงชาร์ลีว่าเขาคือ “ดอกวอลล์ฟลาวเวอร์” ซึ่งมีความหมายถึง ดอกไม้เล็ก ๆ ที่ขึ้นอยู่ตามซอกมุม ไม่ได้โดดเด่นสะดุดตา เปรียบเหมือนกับลักษณะของชาร์ลี  ทำให้ชาร์ลีเริ่มประหม่าจากมุมมองของเพื่อนๆ แต่แพทริกก็ได้มอบประโยคที่มีความหมายให้กับชาร์ลีมากว่า

“นายเห็นสิ่งต่างๆ นายเก็บสิ่งเหล่านั้นเป็นความลับได้ และนายเข้าใจ” 

เบื้องหลังคำพูดนี้คือการมองเห็นคุณค่าในตัวตนแบบที่ชาร์ลีเป็นที่อาจไม่ต้องเป็นคนคุยสนุกสนานหรือโดดเด่นกว่าใคร แต่เขาก็มีสายตาในการมองสิ่งต่างๆ ที่ลึกซึ้งลงไปยิ่งกว่า  

นอกจากนี้เพื่อนยังมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมร่วมสมัยที่เราจะเสพหรือเข้าไปมีประสบการณ์ร่วม ทั้งเพลง หนัง หนังสือ กีฬา และอีกมากมาย อย่างชาร์ลีเองเขาฟังเพลงมากขึ้น อ่านหนังสือหลากหลายเล่ม ดูหนังหลายเรื่อง เพราะส่วนหนึ่งคือในบทเพลง ในหนังสือ ในภาพยตร์เหล่านั้น ล้วนมีเพื่อนของเขาเป็นหนึ่งในคนร่วมอ่านร่วมฟัง และพากันออกไปหาประสบการณ์ต่างๆ มากมายผ่านวัฒนธรรมเหล่านี้  

ชาร์ลีเขียนเล่าให้คนอ่านฟังถึงบรรยายกาศการนั่งรถไปงานปาร์ตี้กับแพทริกและแซมเพื่อนของเขา พร้อมกับฟังเพลงเพลงหนึ่งที่ทำให้พวกเขาสัมผัสถึงความรู้สึก ‘เป็นนิรันดร์’ แห่งวันวัยได้  

“มันยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่เคยได้ยินมา มันเป็นเพราะเพลงนั้นเจ๋งมาก และพวกเราทุกคนก็ตั้งใจฟังมัน เป็นห้านาทีแห่งชีวิตที่เราใช้มันไป และรู้สึกถึงวัยเยาว์อย่างแท้จริง หลังจากวันนั้นฉันก็ไปซื้ออัลบั้มที่มีเพลงนั้นมา ฉันจะบอกนายก็ได้ว่ามันคือเพลงอะไร แต่บอกตามตรง นายจะไม่สามารถรู้สึกแบบเดียวกันได้เลย หากนายไม่ได้ฟังมันตอนกำลังนั่งรถไปงานปาร์ตี้จริงๆ ครั้งแรกในชีวิต โดยได้นั่งอยู่ตรงกลางระหว่างคนแสนดีสองคนในรถกระบะขณะที่ฝนเริ่มตกพรำ” 

จากตัวบทข้างต้น ชาร์ลีได้เขียนให้ผู้อ่านเห็นว่าแม้ผู้อ่านจะรู้ว่ามันคือเพลงอะไรก็ไม่อาจรู้สึกได้อย่างที่เขารู้สึก หากเพลงนั้นไม่ได้อยู่ในการเดินทางร่วมกันของวันวัยนั้นๆ และมีเพื่อนเป็นผู้ร่วมฟัง ฉายให้เห็นการเติบโตของคนเราในวัยหนึ่งที่ไม่อาจแยกขาดจากการเชื่อมโยงกับ ‘เพื่อน’ ได้ 

เพื่อนจึงมีความหมายไม่น้อยทีเดียวสำหรับวัยเยาว์ในการร่วมก่อร่างสร้างตัวตนและช่วยพยุงหัวใจของใครคนหนึ่งขึ้นมา

รักครั้งแรก

นอกจากเพื่อนจะเป็นผู้ร่วมยุคสมัยในการฟังเพลง ดูหนัง อ่านหนังสือ เที่ยวเล่นและทำกิจกรรมต่างๆ แล้ว สิ่งที่ชาร์ลีได้เข้าไปทำความรู้จักเป็นครั้งแรกในวัยมัธยมปลาย คือการพบกับ ‘รักครั้งแรก’ ซึ่งก็มิวายคือการหลงรักเพื่อนของตัวเองอย่าง ‘แซม’  นั่นเอง 

หากผู้อ่านได้อ่านจดหมายที่ชาร์ลีเขียนเอาไว้ในเล่มนี้จะเห็นว่าเขาหลงรักแซมมากอย่างที่อาจใช้คำว่า ‘คลั่งรัก’ ก็ว่าได้ แต่จะว่าไปก็ไม่แปลก เพราะหากจะพูดถึงวัยที่เราจะรักได้อย่างหมดจดในหัวใจก็คงจะเป็นช่วงวัยรุ่นนี่แหละ มันทั้งเป็นเรื่องใหม่ของชีวิต เป็นประสบการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้น เป็นความรู้สึกล้นทะลักในใจ แต่ก็ขลาดเขลาหวาดกลัวเกินจะเอ่ยมันออกมาดังๆ ให้ดังเท่ากับความรู้สึกวูบวาบข้างในที่ส่งเสียงอยู่ขณะที่มีความรัก เพราะกลัว เพราะอายเพื่อน เพราะไม่แน่ใจและสับสนว่ามันคืออะไรกันแน่ ดังตัวบท 

 “แล้วเธอก็จูบฉัน มันเป็นจูบแบบที่ฉันไม่อาจพูดออกมาดัง ๆ ให้พื่อนคนไหนได้รับรู้ มันเป็นจูบแบบที่ทำให้ฉันรู้ว่า ฉันไม่เคยมีความสุขมากขนาดนี้มาก่อนเลยในชีวิต”

และหากคุณเคยมอบของขวัญ-เขียนการ์ดสุดโรแมนติกให้ใครสักคนช่วงวัยรุ่น ชาร์ลีก็เคยเช่นกัน มันคือช่วงเวลาของการสร้างสรรค์ถ้อยคำและสัญลักษณ์บางอย่างในการบอกแทนความรู้สึกที่เปี่ยมล้น ในการ์ดแผ่นนั้นชาร์ลีเขียนบอกแซมว่า

“ของขวัญที่ฉันให้เธอนี้…คือแผ่นเสียงเก่าเพลง Something ของเดอะบีเทิลส์ ที่ฉันเคยฟังบ่อยๆ ตอนยังเด็กและคิดถึงเรื่องตอนที่ฉันโตเป็นผู้ใหญ่ ฉันมักจะเดินไปที่หน้าต่างห้องนอน จ้องมองเงาสะท้อนของฉันบนกระจกที่มีต้นไม้ทาบอยู่ด้านหลังและฟังเพลงนี้ไปด้วยเป็นชั่วโมง ๆ ตอนนั้นฉันตัดสินใจไว้ว่า เมื่อฉันพบใครสักคนที่ฉันคิดว่าสวยงามเท่ากับเพลงนั้น ฉันจะมอบเพลงนี้ให้กับคนคนนั้น ฉันไม่ได้หมายถึงความสวยงามแต่ภายนอกนะ แต่หมายถึงความสวยงามในทุก ๆ ด้าน ดังนั้นฉันเลยมอบมันให้กับแซม” 

ครอบครัว

แม้หัวใจวัยเยาว์ของชาร์ลีจะเปี่ยมไปด้วยรักและการทำความรู้จักความรักเป็นครั้งแรก แต่รักครั้งแรกคราวนี้ก็ทำให้เรื่องที่ติดในหัวใจของเขาชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะช่วงเวลาตอนท้ายของเรื่องที่เขาได้พูดคุยกับแซม ทั้งสองสารภาพรักกัน และกำลังจะเข้าสู่การเรียนรู้ร่างกายของกันและกันผ่านการมีเพศสัมพันธ์ แต่กลับไม่ราบรื่นเพราะชาร์ลีทำไม่ได้ ด้วยในหัวของเขามีภาพของป้าเฮเลนสะท้อนมาเสมอในรูปแบบของฝันร้าย คลี่ขยายให้เราเห็นว่าชาร์ลีมีประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กจากการถูกล่วงละเมิดโดยป้าของตัวเอง ซึ่งทำให้เขารู้สึกฝังใจและเป็นบาดแผลมายาวนาน ก่อร่างมุมหม่นในตัวตนของเขาขึ้นมาไว้อย่างไม่รู้ตัว

นอกจากเรื่องราวประสบการณ์ทางความรู้สึก ทั้งความเจ็บปวด ความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา ความสนุกสนาน ความหลงใหล ความรักแบบที่จะเกิดขึ้นในวัยรุ่นแล้วนั้น วรรณกรรมเรื่องนี้จึงทำให้เราเห็นอย่างแจ่มชัดว่า หัวใจอันเปราะบางของคนคนหนึ่งเป็นหัวใจที่ ‘ครอบครัว’ มีส่วนก่อขึ้นเสมอ และเกี่ยวโยงกับสิ่งต่างๆ รอบตัวพวกเขาเหล่านั้นอย่างไม่อาจแยกขาด ครอบครัวจึงสำคัญมากที่จะมีส่วนสร้างประสบการณ์แห่งวันวัยของพวกเขาให้ออกมาแบบใดแบบหนึ่ง 

ชาร์ลีเขียนข้อความทรงพลังและมีความหมายอย่างเอาไว้ในช่วงท้ายเกี่ยวกับระโยงระยางปัญหาความรุนแรงและการล่วงละเมิดจากคนไว้ใจหรือครอบครัวเอาไว้ให้ได้ขบคิดต่ออีกมากมายด้วยว่า

“…ถ้าหากคุณตาของฉันไม่ได้ทุบตีแม่ แม่ของฉันก็อาจจะไม่ได้เป็นคนเงียบ ๆ แบบนี้ และแม่ก็อาจจะไม่ได้แต่งงานกับพ่อเพราะว่าพ่อไม่มีวันตีแม่ และถ้าเป็นอย่างนั้นฉันก็คงไม่ได้เกิดมา แต่ฉันดีใจมากนะที่ได้เกิดมา ฉันเลยไม่รู้ว่าจะพูดถึงมันอย่างไร…”

“…ถ้าฉันจะโทษป้าเฮเลน ฉันก็ต้องโทษพ่อของป้าที่ทุบตีเธอด้วย โทษเพื่อนของครอบครัวป้าที่ล่วงเกินตอนที่ป้ายังเด็กด้วย และต้องโทษใครสักคนที่เคยล่วงเกินเขาคนนั้นอีกทอดด้วย และก็ต้องโทษพระเจ้าที่ไม่ยอมหยุดเรื่องพวกนี้และเรื่องอื่น ๆ ที่แย่กว่านี้…” 

อย่างไรก็ตามในปัญหาที่สลับซับซ้อนที่ส่งผลต่อชีวิตดังกล่าวมาข้างต้น ชาร์ลีก็ปลดปล่อยตัวเองออกมาจากบาดแผลนั้นได้ในที่สุด จากการเรียนรู้ต่อความจริงบางประการเกี่ยวกับเรื่องที่ค้างอยู่ในใจของเขา โดยการยอมรับมัน พร้อมทั้งเข้าใจว่าคุณค่าของเขาไม่ได้สูญหายหรือถูกทำลายไปกับเรื่องราวเลวร้ายเหล่านั้นเลยแม้แต่นิดเดียว เขายังคงเป็นชาร์ลีที่มีคุณค่าและความหมายในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเสมอ

“ฉันไม่ได้เป็นอย่างที่ฉันเป็นเพราะเรื่องที่ฉันฝันและจำได้เกี่ยวกับที่ป้าเฮเลนทำกับฉัน ฉันคิดเรื่องนี้ขึ้นมาได้ตอนที่ทุกอย่างสงบลงแล้ว และฉันคิดว่ามันสำคัญมากนะที่ยอมรับเรื่องนี้ เพราะมันทำให้สิ่งต่างๆ ชัดเจนและเชื่อมโยงกันได้  โปรดอย่าเข้าใจผิด ฉันรู้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับฉันเป็นเรื่องสำคัญมาก และมันก็ต้องอยู่กับฉันไปตลอด” 

เป็นนิรันดร์ 

แม้วัยเยาว์ของชาร์ลีจะเต็มไปด้วยความไม่รู้ ความกลัว ความสับสน ผิดพลาด เกิดเรื่องไม่คาดคิด ยากต่อการรับมือ แต่ก็เป็นวัยที่เปี่ยมพลังชีวิตในการมองเห็นและทำงานกับเรื่องราวและประสบการณ์ต่างๆ ที่เข้ามาปะทะด้วยสายตาของการตั้งคำถามและพยายามที่จะค้นพบคำตอบในแบบของเขาเองได้ จากการมีเพื่อนสักคนรับฟัง มีเพลงบางเพลงที่เข้าใจ มีหนังสือบางเล่มที่คุยด้วย ทำให้ความรู้สึกต่อวันวัยนั้นมีความหมายต่อชีวิตอย่างไม่อาจลืม 

ชาร์ลีได้เล่าถึงการยอมรับทำความเข้าใจต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตวัยเยาว์ของเขา ซึ่งสะท้อนผ่านอีกตัวบทหนึ่งที่น่าสนใจ ก่อนจดหมายทุกฉบับของเขาที่เราได้อ่านจะจบลงว่า

“ฉันร้องไห้ก็เพราะจู่ ๆ ฉันก็ตระหนักถึงความจริงที่ว่าฉันกำลังยืนอยู่ในอุโมงค์พร้อมสายลมพัดปะทะใบหน้า แต่ฉันไม่ได้จดจ่ออยู่กับการที่จะได้เห็นแสงไฟสวยงามของตัวเมืองโผล่ออกมาจากอีกปลายทางหนึ่ง ไม่ได้คิดถึงมันด้วยซ้ำ เพราะฉันกำลังยืนอยู่ในอุโมงค์ และอยู่ตรงนั้นอย่างแท้จริง และนั่นก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ฉันรู้สึกเป็นนิรันดร์”


Writer

Avatar photo

ศิรินญา

หาทำอะไรไปเรื่อยๆ ตามประสาวัยลุ้น

Illustrator

Avatar photo

สิริกร พรอนงค์

ดีไซน์เนอร์, นักวาด และอาร์ตไดมือใหม่ที่ชอบไปทะเล

Related Posts