ท่ามกลางความผันผวนปรวนแปรในโลกที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ผู้คนใช้ชีวิตอย่างรีบเร่งเพื่อไล่ตามและไขว่คว้าความสำเร็จ ยังมีเด็กและเยาวชนอีกหลายคนที่ต้องทุกข์ทนอยู่กับการพยายามก้าวข้าม ‘เส้นแบ่งความสำเร็จ’ ที่สังคมเป็นผู้ขีดไว้ จนเกิดเป็นเสียงของความกังวล ความกดดัน และความไม่แน่นอนที่ดังสะท้อนอยู่ภายในจิตใจ และน้อยครั้งที่จะมีใครสักคนผ่านมาได้ยินเสียงของพวกเขา
กว่า 30 ปี คือระยะเวลาที่ ‘มูลนิธิไทยคม’ ทุ่มเทและให้ความสำคัญกับการเดินทางเพื่อสำรวจและทำความเข้าใจถึงปัญหาที่เด็กและเยาวชนไทยต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างเด็กเมืองและเด็กชนบท การพัฒนาทักษะเพื่อให้เด็กไทย ‘คิดได้ ทำเป็น แข่งขันได้ในเวทีโลก’ จนกระทั่งย่างก้าวถัดไปที่เป็นหมุดหมายสำคัญของยุคนี้ คือการสร้าง ‘ความแข็งแรงทางจิตใจ’ เพื่อให้เด็กและเยาวชนไทยตระหนักถึงคุณค่าในตัวเอง มีภูมิคุ้มกัน พึ่งพาใจของตัวเองได้ และนำไปสู่เป้าหมายสำคัญคือการเป็นพลเมืองตื่นรู้ (Mindful Global Citizen) ที่พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้ในโลกใบนี้
หากแต่การจะสร้าง Mindfulness ให้กับเด็กๆ ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ใหญ่รอบตัว และผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ตัวเด็กที่สุด คือ ‘ครอบครัว’ พื้นที่แรกเริ่มในชีวิตเด็กที่วางรากฐานความสัมพันธ์และความเข้มแข็งทางจิตใจให้ตัวตนของเด็กๆ ได้
มูลนิธิไทยคมและ Mappa ขอชวน ‘ครอบครัว’ และ ‘ผู้ใหญ่’ ที่อยู่รายล้อมรอบตัวเด็กมาทำความรู้จักกับ 4 เทคนิค ‘เครื่องมือแห่งใจ’ ที่จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กๆ เติบโตไปอย่างมีทักษะในการตื่นรู้ พร้อมรับมือกับความผันผวนและการเปลี่ยนแปลง คิดและตระหนักถึงคุณค่าในตัวเองได้ และมีศักยภาพในการแสวงหาโอกาสเพื่อลงมือทำตามเป้าหมายของตัวเองในอนาคต
เครื่องมือแห่งใจชิ้นที่ 1 : รู้จดจ่อ ใส่ใจ
‘การจดจ่อ ใส่ใจ’ คือการนำการรับรู้ไปอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างยาวนานเพียงพอ จนกระทั่งความคิดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเหล่านั้นไม่ฟุ้งลอยไปในอดีตหรืออนาคต และเมื่อเด็กๆ จดจ่ออยู่กับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตรงหน้า การจดจ่อนั้นจะนำพาเด็กๆ กลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะได้ในที่สุด
การฝึกจดจ่อ ใส่ใจ ทำได้ด้วยการพาเด็กๆ ลองจดจ่ออยู่กับกิจวัตรประจำวันทั่วไป เช่น การแปรงฟัน การรับประทานอาหาร การทำงานบ้าน โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้เวลานาน แต่ควรใช้วิธีฝึกฝนเป็นระยะเวลาสั้นๆ อย่างสม่ำเสมอ หรืออาจฝึกโดยใช้กิจกรรมเพื่อความผ่อนคลายและสานสัมพันธ์ในครอบครัวอย่างการฟังเพลง อ่านหนังสือนิทาน หรือเล่นเกมก็ได้เช่นกัน
เครื่องมือแห่งใจชิ้นที่ 2 : รู้ลมหายใจ
เราอาจคุ้นเคยกับการนั่งสมาธิที่โรงเรียนในวัยเด็ก ความรู้สึกที่สัมผัสได้ถึงความบางเบาของใจเมื่อค่อยๆ ลืมตาขึ้นมา สำหรับหลายคนความรู้สึกนี้อาจยังตราตรึงอยู่ในความทรงจำ ความบางเบานั้นคือ ‘ความผ่อนคลาย’ ที่เกิดขึ้นในขณะที่ร่างกายมีกระบวนการหายใจในสภาวะแวดล้อมที่สงบ
‘การรู้ลมหายใจ’ คือการเอาการรับรู้ของเรามาอยู่ที่ลมหายใจ โดยหายใจเข้ายาวและลึกผ่านจมูก ปล่อยให้ลมหายใจไหลผ่านกระบังลมเข้าไป แล้วจึงหายใจออก
ในแต่ละวันที่ต้องเผชิญเรื่องราวมากมาย ความกังวลจากการเรียนและการทำงาน ความรู้สึกไม่สบายเนื้อตัว หรือความคิดต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้การรับรู้ของเราไปอยู่กับเรื่องราวต่างๆ และบ่อยครั้งก็ไม่สามารถถอนตัวจากความคิดหรือความกังวลเหล่านั้นได้ ลมหายใจที่เป็นระบบอัตโนมัติของร่างกาย จึงเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุด ใกล้ตัวที่สุดที่จะพาการรับรู้ของเรากลับมาอยู่ที่ร่างกาย และกลับมาอยู่กับปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยทำให้จิตใจสงบ ลดความเครียดและความกังวลต่างๆ ลงได้
เครื่องมือแห่งใจชิ้นที่ 3 : รู้ความรู้สึก
เราหงุดหงิดเมื่อถูกกวนใจ ร้องไห้เมื่อรู้สึกเศร้าและเสียใจ หัวเราะได้เมื่อรู้สึกสนุกสนาน
การระบุ ‘อารมณ์และความรู้สึก’ อาจเป็นเรื่องที่ฟังดูง่ายสำหรับผู้ใหญ่ แต่สำหรับเด็กๆ การทำความรู้จักอารมณ์เหล่านี้ที่เกิดขึ้นภายในตัวเองอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
คำถามสั้นๆ อย่าง “ตอนนี้หนูกำลังรู้สึกอะไร” “ความรู้สึกนั้นเป็นแบบไหน” เป็นประโยคเริ่มต้นบทสนทนาที่ทำให้เด็กๆ ตระหนักรู้ถึงความรู้สึกจากอารมณ์ที่เปลี่ยนไป และไม่เพียงแต่จะเป็นการช่วยให้เด็กได้ระบุอารมณ์ความรู้สึก ณ เวลานั้น แต่ยังเป็นการได้สำรวจสิ่งที่อยู่ในใจเขาไปพร้อมกัน
และท้ายที่สุด เมื่อการรับรู้อยู่ในจังหวะที่พอดีกับความรู้สึกที่เกิดขึ้น หรือที่เรียกว่าเกิด ‘การรู้เท่าทันอารมณ์และความรู้สึก’ สิ่งนี้จะกลายเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือแห่งใจที่ติดตัวเด็กๆ ต่อไปได้ในอนาคต
เครื่องมือแห่งใจชิ้นที่ 4 : รู้ผัสสะ หยั่งรากมั่นคง
‘การ grounding’ หรือ ‘การรู้ผัสสะ หยั่งรากมั่นคง’ คือการหยั่งรากอยู่กับปัจจุบันขณะ โดยนำเอาการรับรู้กลับมาอยู่กับร่างกายและประสาทสัมผัสทั้งห้า ได้แก่ ตามองเห็น หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายสัมผัส
เด็กๆ มีอารมณ์ความรู้สึกเกิดขึ้นหลากหลายในแต่ละวัน ความพอใจ ไม่พอใจ ความสุข ความเศร้า ความตื่นเต้น ความกังวล หรือความคิด การหลุดเข้าไปครองอารมณ์ต่างๆ เหล่านี้ อาจทำให้ถอนตัวออกมาได้ยาก และทำให้หลงลืมการรู้เนื้อรู้ตัวไปชั่วขณะ เทคนิคการ grounding ที่นำการรับรู้กลับมาอยู่กับผัสสะ เป็นการฝึกกลับมาอยู่กับร่างกายและประสาทสัมผัสทั้งห้า ซึ่งผู้ใหญ่สามารถชักชวนเด็กๆ ให้ฝึกฝนจนเป็นทักษะติดตัวได้ เมื่อเขาต้องเผชิญกับอารมณ์ที่ยากและซับซ้อนขึ้นตามวัย
ทั้งหมดนี้คือ ‘4 เครื่องมือแห่งใจ’ จากมูลนิธิไทยคม ที่จะช่วยเสริมสร้าง ‘การมีสติ รู้เนื้อรู้ตัว’ (Mindfulness) ทำให้เด็กๆ มีจิตใจที่เข้มแข็ง มีอารมณ์ที่มั่นคง รู้เท่าทันอารมณ์ และมีทักษะในการรับมือกับความผันผวนแปรปรวนในโลกใบนี้ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกๆ วัน
มาร่วมมอบ ‘ปัจจุบัน’ เป็นของขวัญให้กับเด็กๆ
เพราะทักษะนี้จะเป็นเครื่องมือที่ติดตัวและติดใจพวกเขาตลอดไป