“ผมขอปลีกวิเวกมาอยู่ตัวคนเดียว ดีกว่าโดนใครต่อใครทอดทิ้งอีกครั้ง”
คือถ้อยคำแตกสลายของตัวละครหนึ่งที่ติดอยู่ในหัวผู้เขียนมาหลายวันนับจากการได้ดู Time Still Turns the Pages (年少日記) หรือในชื่อภาษาไทยอย่าง ‘บันทึกใจสลายของเด็กชายตัวน้อย’ ภาพยนตร์ฮ่องกง ผลงานเขียนบทและกำกับโดยผู้กำกับรุ่นใหม่อย่าง นิค เฉิก (Nick Cheuk) ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับการพูดถึงอย่างมากในปีนี้
คำถามที่เกิดขึ้นกับผู้เขียนตลอดการเดินทางไปพร้อมกับบทบันทึกใจสลายของเด็กชายตัวน้อยตลอดในภาพยนตร์เรื่องนี้คือ โลกแบบไหนกันที่ทำให้เด็กหนึ่งคนตัดสินใจถอยห่างจากโลกใบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ? เพื่อไปอยู่ในมุมเล็กลับ ไม่กล้าสัมพันธ์กับใครหรือสิ่งใดอื่นอีก
ระบบแบบไหนกันทำให้พวกเขาเติบโตขึ้นมาด้วยความรู้สึก ‘โดดเดี่ยว’ ได้มากมายขนาดนั้น
ชีวิตเช่นไรที่ทำให้เด็กคนหนึ่งไม่อาจจินตนาการได้ว่า เขาอยากเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่แบบไหน
เขาจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่อย่างที่หวังได้ไหม
และสิ่งแวดล้อมอย่างไรที่ทำให้การเติบโตกลายเป็นเรื่อง ‘ส่วนตัว’ ของเด็กคนนั้นเพียงคนเดียวไม่เกี่ยวข้องกับใครอื่น กลายเป็นเรื่องของความสามารถ ไอคิว และพรสวรรค์เฉพาะตัวของคนคนเดียว กลายเป็นเรื่องของการแข่งขันต่อสู้อยู่คนเดียว กลายเป็นเรื่องของการสอบผ่าน การสอบเข้า การชนะ และการเป็นที่หนึ่ง
ราวกับว่า ความสำเร็จ สุขสันต์ ล้มเหลว เจ็บปวดที่เกิดขึ้นทั้งหมดในชีวิตนั้น ขับเน้นมาจากตัวเด็กคนนั้นแต่เพียงผู้เดียว
โลกแบบไหนที่มองการเติบโตได้โดดเดี่ยว แห้งแล้ง แยกขาดออกจากสิ่งอื่นรอบตัวได้มากขนาดนั้น
โลกแบบไหน?
แบบในภาพยนตร์เรื่องนี้?
และแบบที่เราใช้ชีวิตอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ด้วยหรือเปล่า?
**บทความต่อไปนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์
และมีการกล่าวถึงประเด็นความรุนแรงในครอบครัวและการฆ่าตัวตาย**
Time Still Turns the Pages เป็นหนังที่ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านสายตาของตัวละคร ‘ครูเจ็ง’ ซึ่งเป็นคุณครูในโรงเรียนมัธยมปลายแห่งหนึ่งในฮ่องกง กับภารกิจการค้นหานักเรียนผู้เป็นเจ้าของจดหมายลาตายที่พบเห็นภายในบริเวณโรงเรียน
“เมื่อเร็วๆ นี้ ลูกศิษย์ผมคนหนึ่ง เขียนจดหมายลาตายทิ้งไว้…มีประโยคหนึ่งในจดหมาย (ฉันไม่มีค่าอะไรสำหรับใครเลย) เตือนให้นึกถึงสิ่งที่เกิดกับผมตอนเด็กๆ”
จดหมายของนักเรียนไร้นามฉบับนั้นเองที่หนังใช้เป็นจุดเริ่มต้นของการเล่าย้อนไปยังชีวิตวัยเด็กของ ‘ครูเจ็ง’ ในครอบครัวที่ประกอบไปด้วย พ่อ แม่ พี่ชาย และตัวเขา กับบรรยากาศครอบครัวที่เต็มไปด้วยความคาดหวังและความกดดันจากพ่อแม่และสังคม ไม่ว่าจะเป็น การต้องเรียนให้เก่ง เล่นเปียโนให้ดี สอบเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ในฮ่องกงให้ได้ การเปรียบเทียบระหว่างเขากับพี่ชายในเรื่องการเรียน ทับซ้อนไปด้วยเรื่องของความรุนแรงในครอบครัว ใต้ร่มโครงสร้างความสัมพันธ์ที่ผดุงด้วยแนวคิดพ่อเป็นใหญ่ รวมถึงระบบเศรษฐกิจและระบบการศึกษาที่มุ่งเน้นอยู่กับการแข่งขันเพื่อการเป็นที่หนึ่ง
ชีวิตเขากับพี่ชายในวัยเด็กเติบโตในบรรยากาศแบบนั้นอย่างเข้มข้น และไม่อาจปฏิเสธว่า มันยังผลต่อชีวิตพวกเขาไปตลอดกาล
นอกจากประเด็นปัญหาโรคซึมเศร้าของเด็กในบริบทสังคมฮ่องกงแล้ว
ประเด็นที่ผู้เขียนเห็นว่าหนังเรื่องนี้ทำงานสื่อสารได้เป็นอย่างดี คือ การชี้ชวนให้เห็นอย่างรอบด้านและเป็นองค์รวมว่า ผู้คน สังคม และแนวคิดแวดล้อมในการเติบโตของเด็กคนหนึ่งเป็นเรื่องสำคัญต่อการเติบโตของพวกเขาเช่นไร
อีกทั้งส่งผลต่อชีวิตคนคนหนึ่งได้อย่างที่เราไม่อาจคาดคิด ผ่านวิธีเล่าเรื่องของหนังที่เป็นไปอย่างเรียบง่าย ทว่าทรงพลังและขับเน้นความหมายในการเติบโตของมนุษย์คนหนึ่งออกมาได้อย่างลึกซึ้ง
ครอบครัวและความคาดหวังในฐานะ ‘พี่ชายคนโต’
เรื่องราวหลักของภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายให้เห็นพื้นที่ในการเติบโตของเด็กโดยเริ่มจาก ‘ครอบครัว’ ของเด็กชายตัวน้อยสองคนพี่น้องดังที่กล่าวมาข้างต้น โดยหนังเล่าให้เห็นโครงสร้างของครอบครัวที่ ‘พ่อ’ มีอำนาจสูงสุดภายในบ้าน ภายใต้แนวคิดที่เชื่อว่าผู้ชายเป็นผู้นำ หาเงิน และดูแลการเงินของบ้านทั้งหมด จึงมีสิทธิ์ที่จะเป็นผู้ออกคำสั่งหรือตัดสินใจทุกเรื่องแทนทุกคน
อีกทั้งยังมองว่า ‘สมาชิกในครอบครัว’ เป็นเหมือน ‘ทรัพย์สมบัติ’ ของตน ดังตอนที่เขาทุบตีแม่ด้วยความโกรธแล้วตะโกนออกมาว่า “ฉันเป็นเจ้าของทุกอย่างในบ้านหลังนี้”
แนวคิดเช่นนี้ยังนำไปสู่การกระทำความรุนแรงต่อลูกที่ยังเล็กของเขาอีกต่อ โดยเฉพาะคนที่เป็น ‘พี่ชาย’ ที่สอบได้ลำดับไม่ดีในห้องเรียน และเล่นเปียโนได้ช้ากว่าน้องชาย ก็มักจะถูกพ่อทุบตี ด่าทอ ทำร้ายจิตใจอยู่เสมอ
โดยที่อาจหลงลืมไปว่า วิธีการเรียนรู้ที่จะพาเด็กคนหนึ่งเติบโตได้ดีและเหมาะสมกับแต่ละคนนั้นย่อมมีความแตกต่างกัน หากแต่พ่อกลับประทับมุมมองของตัวเองลงไปที่ลูกแล้วโยนความคาดหวังต่อความเป็น ‘ลูกชายคนโต’ ว่าจะต้องเรียนเก่ง เติบโตไปเป็นผู้นำ หาเงินได้เยอะๆ เป็นหน้าเป็นตาของวงศ์ตระกูล ซึ่งเป็นความกดดันแบบที่เขาได้รับมาอีกทีจากสังคมที่เติบโตมาอีกทอดหนึ่ง
ขณะเดียวกันหากลูกจะหันหน้าไปพึ่งพา ‘แม่’ ก็ดูเหมือนว่าจะยากเย็นไม่แพ้กัน หนังฉายให้เราเห็นชัดว่าโครงสร้างครอบครัวที่ออกแบบมาเช่นนี้ส่งผลให้แม่ในฐานะผู้หญิงตกอยู่ในภาวะที่เครียดและมีความกดดันสูงภายใต้อำนาจเหนือของพ่อ จึงมุ่งที่จะทำทุกอย่างเพื่อความพึงพอใจของสามีเป็นหลัก เพราะเธอคิดว่า สิ่งนี้อาจลดความรุนแรงในครอบครัวได้ และอาจทำให้สถานการณ์ทุกอย่างดีขึ้นกว่าเดิม
“แม่อุตส่าห์บอกให้พ่อพาแกไปเที่ยวกับเราด้วย แต่ตอนนี้มันพังหมดแล้ว แกต้องอยู่ท่องหนังสือไป จะไม่ได้ไปไหนทั้งนั้น”
เมื่อตัวละคร ‘แม่’ ในเรื่องนี้จะส่งเสียงต่อรองเพื่อลูกของเธอ ก็จะต้องเป็นการส่งเสียงต่อรองด้วยสิ่งที่พ่อต้องการอยู่ดี คือ ลูกจะต้องสอบได้ ไม่ดื้อ หรือสอบผ่านจึงจะได้ไปเที่ยวพร้อมกันกับครอบครัว เมื่อลูกทำไม่ได้ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปเที่ยวด้วยกันได้ ซึ่งไม่ต่างกับแนวคิดในการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เชิงธุรกิจ
เราจะเห็นบทบาทของแม่ที่ทำได้เพียงเท่านั้น คือลดแรงเสียดทานเท่าที่ทำได้ เราได้ยินเสียงแม่น้อยมากในการถกเถียงหรือตั้งคำถามต่อสามี แต่จะเห็นเธอร้องไห้ต่อหน้าลูกและนำความกดดันของเธอมาลงที่ลูกชายของเธออย่างไม่รู้ตัวอีกต่อหนึ่ง ดังในฉากที่สะเทือนใจอย่างมากเมื่อโยกิตถามแม่ว่า ถ้าเขาสอบไม่ผ่านและได้ซ้ำชั้นอีกจะทำอย่างไร คำตอบที่แม่ให้กลับมาก็คือ
“ไม่ต้องมาเรียกฉันว่าแม่อีก”
นับว่าเป็นคำที่รุนแรงมากสำหรับหัวใจอ่อนบางของเด็กคนหนึ่งที่เขารักพ่อแม่โดยไม่มีเงื่อนไขว่า พ่อและแม่ของเขาจะสอบผ่านหรือไม่ จะเล่นเปียโนเก่งไหม พ่อและแม่ของเขาจะเคยสอบตกจนต้องซ้ำชั้นมาหรือเปล่า และจะเก่งที่สุดกว่าใครในโลกใบนี้ไหม สิ่งเหล่านี้ไม่สำคัญและไม่เคยเป็นเงื่อนไขในการรักพ่อแม่ของเขาเลย
ในขณะที่พ่อแม่ ‘ต้องการ’ ให้ลูกของพวกเขา ‘เป็น’ ในแบบที่พ่อแม่ต้องการ สิ่งที่ลูกต้องการจากพ่อแม่กลับเรียบง่ายกว่านั้นมาก คือ ‘ความรักและความเข้าใจ’ เท่านั้น เขาต้องการเพียงให้พ่อแม่กอด พูดคุยกับเขา ให้การรับฟัง ถามเขาว่ารู้สึกอย่างไร อยากเรียนอะไร ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร และไม่กีดกันเขาออกไป ในขณะที่พ่อแม่กลับใช้ความพยายามอย่างมากไปกับการเคี่ยวเข็ญตบตีด่าทอ เพื่อให้ลูกสอบให้ผ่านและเป็นดังที่ตัวเองหวัง แต่ลูกกลับใช้ความพยายามทั้งหมดที่มีอ่านหนังสือ ติววิชาที่ไม่ถนัด และอ่านมันอยู่อย่างนั้นตลอดทั้งคืนจนกลายเป็นเด็กที่นอนไม่หลับด้วยความเครียด เพื่อเป้าหมายเดียวคือให้พ่อไม่ตีเขา และให้ครอบครัวยอมรับในตัวเขาเท่านั้น
หนังเรื่องนี้บอกเราอย่างตรงไปมาอย่างไม่อ้อมค้อมเลยว่า ครอบครัวเป็นส่วนสำคัญอย่างมากสำหรับการเติบโตของเด็กคนหนึ่ง และสำคัญอย่างไม่อาจละเลยได้เลย หนังทำให้เราเห็นว่า การรับฟังเสียงของเด็กในครอบครัวเป็นเรื่องที่มีความหมายอย่างยิ่งต่อการมีชีวิตอยู่ต่อไปของพวกเขา การเติบโต การค้นหาตัวเอง การพัฒนาตัวเอง และการมีความหวังความมั่นใจต่อการมีชีวิตอยู่ล้วนมีรากฐานและตั้งต้นมาจากครอบครัวทั้งสิ้น
ครู-โรงเรียน
นอกจากประเด็นครอบครัว หนังเรื่องนี้ยังคลี่ขยายสิ่งแวดล้อมในการเติบโตที่เกี่ยวข้องกับเด็กในด้านอื่นๆ ทำให้เห็นว่าการเติบโตของเด็กคนหนึ่งไม่ได้เป็นเรื่องของเด็กคนนั้นคนเดียวอย่างโดดเดี่ยว และไม่ได้เกี่ยวข้องกับหน่วยใดหน่วยหนึ่งอย่างครอบครัวเท่านั้น
ฉากที่ชวนขบคิดเรื่องนี้ได้อย่างน่าประทับใจคือ ฉากที่โยกิตเรียนเปียโนอยู่กับครูฉั่น แล้วพ่อของเขาเข้ามาดู พร้อมกับความรู้สึกไม่พอใจที่ลูกเล่นเปียโนไม่จบเพลงสักที จึงตำหนิและต่อว่า พร้อมกับเปรียบเทียบเขากับน้องชาย ซึ่งในฉากนั้นครูก็ได้ช่วยอธิบายความยากง่ายและพัฒนาการที่แตกต่างกันของเด็กให้พ่อฟัง ก่อนที่พ่อจะอารมณ์เสียและเดินออกไป
ครูฉั่นเป็นครูสอนเปียโนที่โยกิตรักมาก เพราะเธอคอยสอนเขาเล่นเปียโนอย่างใจเย็น ให้กำลังใจ และเชื่อมั่นว่าเขาทำได้ เธอบอกกับกิทไจ๋ว่า “คนเรามันไม่เหมือนกันน่า” หลังจากที่โยกิตบอกว่าเขาอยากเก่งเหมือนน้องชายของเขา แต่ไม่เพียงเท่านั้น การได้พบครูแบบครูฉั่นยังทำให้โยกิตบอกว่า เขาอยากเติบโตไปเป็นครู และเป็นครูที่รับฟังนักเรียนได้แบบครูฉั่น ซึ่งครูฉั่นเองก็ยืนยันว่าโยกิตจะเป็นครูที่ดีได้ดังหวัง
ในวันที่ชีวิตของโยกิตตกอยู่ในครอบครัวที่มีปัญหายากจะก้าวออกไปได้ แต่การได้พบครูสักคนที่รับฟังเขาเช่นนั้น ไม่เพียงแต่ปลอบประโลมให้เขาคลายความกังวลในการเรียนรู้และเติบโตได้ หากแต่มันทำให้เขามีความหวังและมองเห็นตัวเองในวันที่เติบโตขึ้นไปได้ เขามองเห็นตัวเองว่าวันหนึ่งจะเป็นครูได้ ชีวิตเขาไม่ได้จบลงเพียงเท่านี้ นี่คือพลังเล็กๆ ที่มีความหมายจากใครสักคนรอบตัวเด็ก
เช่นกันกับเรื่องจดหมายลาตายที่ปรากฏในโรงเรียน หนังฉายให้เห็นการทำงานของ ‘ครูเจ็ง’ ซึ่งเติบโตมากับครอบครัวที่เต็มไปด้วยความตึงเครียด การได้เห็นความเจ็บปวดของพี่ชายอย่างโยกิต และชีวิตที่เดียวดายทั้งหมดของเขา ทำให้เขาเข้าใจดีว่าการต้องการใครสักคนเข้าใจนั้นเป็นอย่างไร และปัญหาโรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นกับเด็กไม่ใช่เรื่องเล็กที่มองข้ามไปได้
เมื่อพบว่ามีนักเรียนที่อาจประสบปัญหาทางจิตใจ ในฐานะครู เจ็งจึงพยายามที่จะสังเกตเด็กทุกๆ คนอย่างละเอียด มองเข้าไปในดวงตาของพวกเขา สัมภาษณ์ พูดคุย รับฟัง เพื่อที่จะให้การช่วยเหลือเด็กๆ เหล่านั้นได้ทัน เมื่อเขาสร้างพื้นที่ปลอดภัยขึ้นมาได้ ก็พบว่า มีเด็กหลายคนที่ขอมาปรึกษาและพูดปัญหาที่อยู่ในใจให้ครูเจ็งฟัง
“ครูอาจไม่มีปัญญาช่วยได้ แต่ครูจะอยู่ข้างๆ เธอ”
การทำงานของครูจึงไม่ได้เป็นการทำงานเพียงการสอนหนังสือและการทำให้นักเรียนสอบผ่าน หากแต่เป็นการทำงานกับการเรียนรู้และการเติบโตของคนคนหนึ่งอย่างเป็นองค์รวมและละเอียดลึกซึ้ง เพราะการเรียนรู้ไม่อาจตัดขาดหรือแยกขาดออกจากปัญหาสุขภาพจิตหรือความพร้อมทางจิตใจได้เลย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนสำคัญของการทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพและมีความหมายต่อคนคนหนึ่งได้อย่างดียิ่งขึ้นทั้งสิ้น
สังคม
อีกประเด็นหนึ่งคือ หนังเรื่องนี้ไม่ได้มุ่งนำเสนอปัญหาความเครียด ความซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนว่า เป็นปัญหาเฉพาะของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง หรือโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่ง หากแต่มันสัมพันธ์อยู่กับมุมมองต่อการเติบโตของเด็กและเยาวชนในภาพรวมของสังคมหนึ่งๆ ด้วย
รวมถึงระบบการศึกษาที่มองการเรียนรู้แยกออกเป็นส่วนๆ นำไปสู่การมองและประเมินการเติบโตผ่านวิธีการอย่างการสอบแข่งขัน การเรียนผ่าน หรือ ไม่ผ่าน การได้เรียนสูงหรือไม่ ไปจนถึงมีการงานทำที่ดี มั่นคง ทำให้มิติอื่นๆ รอบชีวิตมนุษย์คนหนึ่งอาจหล่นหายไปอย่างน่าเสียดาย เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจึงไม่เข้าใจว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กเหล่านั้นคืออะไร เมื่อไม่เข้าใจ การปกป้องและช่วยเหลือพวกเขาก็ไม่เกิดขึ้น
อย่างในฉากหนึ่งที่มีข่าวเด็กเครียดจนกระโดดตึกฆ่าตัวตาย แล้วครูเจ็งเข้าไปอ่านคอมเมนต์ในข่าวนี้ก็พบว่าเต็มไปด้วยถ้อยคำก่นด่า ตำหนิ และต่อว่าเด็กที่ตัดสินใจกระโดดตึกคนนั้น มากกว่าจะทำความเข้าใจถึงสาเหตุและวิธีการแก้ไข สะท้อนภาพของคนในสังคมที่ยังไม่เห็นความสำคัญของประเด็นเด็กและเยาวชน ไปจนถึงเรื่องสุขภาพจิต ซึ่งส่งผลในทางใดทางหนึ่งต่อชีวิตของเด็กที่กำลังเติบโตขึ้นมาในสังคมนั้นๆ ต่อไปด้วย
การทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตขึ้นมานั้น ไม่ใช่การสอนและสั่งให้ทำข้อสอบที่มีเพียงผู้ลงมือสอบเดินทางคนเดียวอย่างโดดเดี่ยวเพื่อแข่งขันและเอาตัวรอดให้ได้ ไม่ใช่เรื่องของคนเพียงคนเดียว ไม่ใช่สิ่งที่เด็กน้อยคนหนึ่งต้องแบกรับไว้แต่เพียงผู้เดียว หากแต่คือการทำงานร่วมกันระหว่างเด็กกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวพวกเขา
ทั้งครอบครัว พ่อแม่ ครู โรงเรียน เพื่อน และสังคมในภาพรวมที่ล้วนเป็นหนึ่งในเพื่อนของการเติบโต และส่งผลต่อการเติบโตและแตกสลายของพวกเขาในทางใดทางหนึ่งทั้งสิ้น
ภาพประกอบบทความจาก
Time Still Turns The Pages | บันทึกใจสลายจากชายตัวน้อย (ตัวอย่างภาพยนตร์ซับไทย)