เมื่อ ‘มิตร’ กลายเป็น ‘พิษ’ : เรื่องที่วัยรุ่นควรรู้เมื่อต้องอยู่กับคน ‘ท็อกซิก’

  • คนที่วัยรุ่นคบหาและใช้เวลาร่วมกันนั้นมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรม เนื่องจากเป็นวัยที่กำลังสร้างตัวตนของตัวเอง
  • ในบางกรณี คนที่เป็นพิษ (toxic people) ทำให้วัยรุ่นซึมซับทัศนคติและพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์
  • การแก้ไขหรือตัดสัมพันธ์คนที่เป็นพิษ รู้จักตัวเองและสร้างระยะห่างที่เหมาะสม คือกุญแจสู่ความสัมพันธ์ที่ดีต่อใจ

โลกทางสังคมของวัยรุ่นถือเป็นมิติที่สำคัญสำหรับวัยที่กำลังประกอบสร้างตัวตน คนที่พวกเขาผูกมิตรและใช้เวลาร่วมกันนั้นมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรม โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่สามารถเข้าถึงสื่อออนไลน์ได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส วัยรุ่นมีโอกาสพบเห็นเนื้อหาต่าง ๆ และพบเจอคนทุกประเภท ซึ่งคัดกรองได้ยาก ทำให้ผู้ใหญ่ต้องระมัดระวังมากขึ้นอีกขั้น 

ภัยเงียบที่แฝงมากับความสัมพันธ์รูปแบบหนึ่งที่พบเห็นได้บ่อยคือคนแบบที่เรียกกันว่า ‘คนท็อกซิก’ (toxic people) ซึ่งหมายความตรงตัวว่าคนที่เป็นพิษ อยู่ด้วยแล้วไม่สบายใจ พาลให้อารมณ์ขุ่นมัว หรือในบางกรณีทำให้ซึมซับทัศนคติและพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ คนเหล่านี้มักมีวิธีแยบยลในการเข้าหาและสานสัมพันธ์กับคนอื่น จนบางครั้งอาจบอกได้ยากว่าแท้จริงแล้วมิตรภาพนั้นแฝงด้วยพิษร้ายหรือเปล่า

จะบอกได้อย่างไรว่าใคร ‘เป็นพิษ’: สัญญาณเตือนของเหล่า Toxic People

คนที่เป็นพิษคือใครก็ตามที่มีพฤติกรรมที่เพิ่มพลังงานเชิงลบในชีวิตของเราอย่างสม่ำเสมอและรบกวนการใช้ชีวิตของคุณ โดยส่วนใหญ่ คนที่มีความเป็นพิษคือคนที่กำลังมีความเครียด แผลใจ หรือกำลังจัดการกับความเคารพตนเองที่ต่ำ แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าเราต้องยอมให้พวกเขามีอิทธิพลต่อสุขภาพจิตของเรา ทั่วไปแล้ว คนที่เป็นพิษจะชอบบงการ ไม่จริงใจ เห็นแก่ตัว และชอบรับบทเหยื่อ คนที่เป็นพิษอาจแทรกซึมเข้ามาในชีวิตเราด้วยการยกยอปอปั้น จากนั้นก็ขอความช่วยเหลือคุณเสมอ ซึ่งทำให้คุณรู้สึกว่ากำลังช่วยเหลือเขา แต่ในบางครั้งเขากลับปฏิบัติต่อคุณอย่างแล้งน้ำใจ

หากลูกวัยรุ่นของคุณมีพฤติกรรมชอบตามใจผู้อื่นหรือใจกว้าง การสังเกตสัญญาณเตือนว่าเขากำลังพัวพันกับคนที่เป็นพิษอาจจะยากสักหน่อย นอกจากนั้น โดยธรรมชาติแล้ว ความสัมพันธ์ลักษณะนี้มักทำให้เขาสับสนหรือรู้สึกแตกสลาย หากเห็นสัญญาณของโรคซึมเศร้าหรือวิตกกังวล ต้องติดต่อขอปรึกษาและรับการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ

‘ธงแดง’ ที่เตือนว่าคนคนนั้นเป็นพิษ มีดังนี้

  • อยู่ด้วยแล้วมีแต่ปัญหาและความเครียด
  • พวกเขาชอบบงการและกีดกันคนอื่นออกจากความสัมพันธ์นี้ และอิจฉาหากคุณมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น
  • เวลาชมหรือวิจารณ์มักพูดอ้อมค้อมและแฝงด้วยความก้าวร้าว รวมถึงปกป้องตัวเองเสมอ
  • ชอบเปลี่ยนทุกเรื่องให้กลายเป็นเรื่องของตัวเอง
  • คิดแง่ลบและคิดร้ายกับผู้อื่น นินทาคนอื่นตลอดเวลา
  • เอาเปรียบ รับมากกว่าให้
  • กดดันให้คุณทำสิ่งที่ไม่อยากทำ
  • โทษคนอื่นเมื่อเกิดปัญหา

อีกแนวทางหนึ่งคือการตั้งคำถามตัวเองว่าในระหว่างอยู่ในความสัมพันธ์ คุณมีความรู้สึกเหล่านี้หรือไม่

  • คุณต้องช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้เขาเสมอ
  • คุณต้องช่วยเขาปกปิดความลับ
  • คุณไม่อยากเจอเขา
  • คุณรู้สึกเหนื่อยล้ากายใจหลังจากใช้เวลากับเขา
  • คุณโกรธ เสียใจ หรือหม่นหมองเวลาอยู่กับเขา
  • เขาเป็นจุดเริ่มต้นให้คุณนินทาหรือทำตัวแย่ใส่คนอื่น
  • คุณรู้สึกว่าต้องทำให้เขาประทับใจ
  • คุณได้รับผลกระทบจากปัญหาหรือเรื่องวุ่นวายของเขา
  • เขาเพิกเฉยต่อความต้องการของคุณและไม่ยอมให้คุณปฏิเสธ

การหมั่นสังเกตพฤติกรรมของตัวเองและเพื่อนจะช่วยให้สามารถประเมินสถานการณ์ รวมทั้งคิดหาแนวทางในการแก้ไขได้ทันท่วงทีหากมีปัญหา

ถ้าใช่จะทำอย่างไร: แนวทางการช่วยเหลือวัยรุ่นในการรับมือกับความสัมพันธ์เป็นพิษ

ก่อนพ่อแม่จะยื่นมือช่วยเหลือ ให้โอกาสลูกจัดการกับปัญหาในความสัมพันธ์ของเขาเอง ซึ่งจะเพิ่มพูนทักษะที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เช่น การคลี่คลายความขัดแย้ง ความกล้าที่จะยืดหยัดในจุดยืนของตัวเอง และการแก้ปัญหา ทว่าหากรู้สึกว่าควรเข้าไปมีส่วนร่วม แนวทางการช่วยเหลือมีดังนี้

เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เป็นพิษให้ดีขึ้น

หากลูกอยากรักษาความสัมพันธ์นี้ไว้ ช่วยพวกเขาหาทางเปลี่ยนแปลงมันให้ได้

ยกตัวอย่างเช่น ลูกรู้ไหมว่าสาเหตุของปัญหาคืออะไร อาจเป็นเพราะเพื่อนคนนั้นมักจะวิจารณ์รูปลักษณ์ภายนอกของลูก จนลูกหมดความมั่นใจ แต่ไม่รับผิดชอบอะไรเพราะลูกไม่ได้พูดให้ชัดว่าไม่ชอบคำพูดลักษณะนั้น กระตุ้นให้ลูกบอกเพื่อนให้เลิกพูดแบบนี้ โดยอาจฝึกเล่นบทบาทสมมติกับคุณก่อน

บางครั้งเพื่อนที่เป็นพิษมีพฤติกรรมแย่ ๆ เพราะได้รับปฏิกิริยาตอบสนองที่ดี คุณอาจใช้ขั้นตอนการแก้ปัญหาของเราในการระบุว่าพฤติกรรมที่เป็นปัญหามีอะไรบ้าง เพื่อที่ในขั้นต่อมาจะสามารถหาแนวทางให้เพื่อนคนนั้นเลิกพฤติกรรมดังกล่าว อาจจะตอบกลับด้วยไหวพริบ แน่วแน่ในความคิดของตัวเอง หรือเดินหนีออกมาโดยไม่พูดอะไรก็เป็นการเปลี่ยนพลวัตของความสัมพันธ์ได้เช่นกัน

การจบความสัมพันธ์เป็นพิษ

หากลูกพร้อมที่จะยุติความสัมพันธ์ เขาต้องตัดสินใจว่าจะบอกเพื่อนคนนั้นอย่างไร ลูกอาจจะต้องพูดทำนองว่า “ฉันไม่ชอบที่เธอนินทาฉันลับหลัง ถ้าเธอไม่เปลี่ยน ฉันคงเป็นเพื่อนเธอต่อไปไม่ได้แล้ว”

เตรียมตัวเตรียมใจสำหรับผลลัพธ์ของการจบความสัมพันธ์เป็นพิษ เพื่อนคนนั้นอาจพยายามกลั่นแกล้งลูก ระวังการคุกคาม กลั่นแกล้งรังแกทั้งในชีวิตจริงและทางออนไลน์ หากมีปัญหาเกิดขึ้นจริง ติดต่อโรงเรียนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้การสนับสนุนลูกที่บ้าน

การหาเพื่อนใหม่

ลูกอาจต้องการเพื่อนคนใหม่ที่ดีกว่า

ลองชวนลูกทำรายชื่อเพื่อน ๆ คนอื่นที่เข้ากันได้ เช่น ในชั้นเรียน ลูกนั่งกับเด็กคนอื่นบ้างหรือเปล่า มีเพื่อนที่มาจากกลุ่มอื่นไหม ได้เข้าชมรมกีฬาหรือทำกิจกรรมอื่นหลังเลิกเรียนหรือเปล่า ลองเสนอให้ลูกหาทางใช้เวลากับเด็กกลุ่มนี้ อาจจะร่วมโต๊ะอาหารกลางวัน ทำการบ้านด้วยกัน เล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมกัน

หาข้อมูลเกี่ยวกับชมรมต่าง ๆ ในโรงเรียน เช่น ละคร กีฬา หมากรุก ฯลฯ ไม่แน่ว่าลูกอาจจะเจอคนที่มีความสนใจร่วมกัน

หากเป็นไปได้ สนับสนุนมิตรภาพใหม่ ๆ ด้วยการเสนอไปส่งเพื่อน ๆ ของลูกที่โรงเรียน ชวนเพื่อนของลูกมาที่บ้าน หรือไปส่งลูกทำกิจกรรมนอกหลักสูตร

การหาเพื่อนกลุ่มใหม่ต้องใช้เวลา และกระบวนการเหล่านี้อาจก่อความเครียดได้ ลูกจะรู้สึกโดดเดี่ยวน้อยลงหากคุณให้การสนับสนุนและพร้อมพูดคุยกับเขาเสมอเมื่อเขาต้องการ ลูกอาจรู้สึกดีขึ้นที่ได้รู้ว่ามิตรภาพในช่วงวัยรุ่นอาจไม่คงอยู่ตลอดไป  และในอนาคตพวกเขายังมีโอกาสมากมายที่จะผูกสัมพันธ์กับคนใหม่ ๆ 

การรับมือกับพฤติกรรมเลวร้ายจากความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ

คุณอาจสัมผัสได้ว่าพฤติกรรมของลูกได้รับอิทธิพลเชิงลบจากเพื่อนที่เป็นพิษ หากเห็นว่าควรกล่าวถึงปัญหานี้ ข้อสำคัญคือการพุ่งเป้าไปที่การกระทำ ไม่ใช่นิสัยของลูกหรือเพื่อน

ยกตัวอย่างว่า คุณอาจจะพูดว่า “เวลาลูกอยู่กับจอช ลูกหงุดหงิดกลับบ้านมาตลอดเลย” คำพูดเหล่านี้เน้นที่พฤติกรรมที่ควรเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ของเขากับเพื่อน ซึ่งดีกว่าการพูดว่า “พ่อแม่ไม่อยากให้ลูกคบกับจอชแล้ว”

มิตรภาพที่เป็นพิษก็มี ‘ด้านบวก’ ของมันเช่นกัน เพื่อนอาจดูแลลูกดีและพวกเขาสนิทกันมาก แต่เพื่อนคนนั้นอาจชักนำเขาให้มีพฤติกรรมต่อต้านสังคม เช่น ลักขโมย ดื่มสุรา เป็นต้น ในการกล่าวถึงประเด็นเหล่านี้ คุณอาจพูดว่า “ถ้าลูกคบกับเจนีน ลูกจะเจอปัญหาเยอะเลยนะ ถ้าขโมยของ ลูกอาจโดนตำรวจจับได้นะ” ประโยคเหล่านี้พูดถึงผลกระทบของพฤติกรรม และให้โอกาสลูกในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งดีกว่าการพูดว่า “เลิกคบกับเจนีนเถอะ”

การกำหนดขอบเขตและสร้างระยะห่างระหว่างบุคคล

การกำหนดขอบเขตเป็นเรื่องยากแม้แต่สำหรับผู้ใหญ่ ดังนั้น มันย่อมยากมากสำหรับวัยรุ่น การกำหนดขอบเขตทำได้ยากเพราะมันบังคับให้คุณทำความรู้จักและเรียนรู้ความต้องการของตัวเอง และอาจกระตุ้นปฏิกิริยาตอบสนองที่ไม่พึงปรารถนาจากอีกฝ่าย

แต่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว วัยรุ่นต้องมีทักษะการกำหนดขอบเขตเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกควบคุมบงการ คุกคามหรือทำร้าย ขอบเขตจะช่วยให้เรารักษาคุณค่าในตัวเองไว้ได้ เป็นกุญแจสำคัญสู่การพัฒนาความสัมพันธ์ที่ห่วงใย สร้างแรงบันดาลใจและเปี่ยมด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน

วัยรุ่นเป็นวัยที่มีโอกาสพบผู้คนหลากหลายมากขึ้น ทักษะการส่องสำรวจตัวเอง จำกัดขอบเขต และรับมือกับคนที่เป็นพิษต่อชีวิตจึงจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อขจัดปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตและชีวิตทางสังคม

การแก้ปัญหาความสัมพันธ์เป็นกระบวนการที่ยาก ต้องทำงานกับตัวเองค่อนข้างมาก เพราะความสัมพันธ์มีความซับซ้อนหลายชั้น แม้การตัดสินใจและตัดความสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ควรหลีกเลี่ยง เพราะที่สุดแล้ว การจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตใครให้อยู่ในชีวิตเป็นสิ่งที่อยู่ในความควบคุมของเรา เพื่อตัวเราเอง

“ปล่อยคนมองโลกแง่ลบไปเสีย พวกเขาแค่โผล่มาพร่ำบ่น พ่นปัญหาคับข้องใจ เรื่องเลวร้าย ความหวาดกลัว และการตัดสินผู้อื่น หากใครสักคนมองหากระโถนไว้ระบาย อย่าให้กระโถนใบนั้นเป็นจิตใจของคุณ” – ทะไลลามะ 

อ้างอิง: 

https://raisingchildren.net.au/pre-teens/behaviour/peers-friends-trends/frenemies

https://www.scarymommy.com/toxic-people-quotes

https://parentingteensandtweens.com/help-teen-with-toxic-friendship/

https://www.scienceofpeople.com/toxic-people/


Writer

Avatar photo

ศิริกมล ตาน้อย

อยากเกิดใหม่เป็นแมงกะพรุน

Illustrator

Avatar photo

ลักษิกา บรรพพงศ์

กราฟิกดีไซน์เนอร์ที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับธุรกิจเพลงเด็ก ติดซีรีส์ ชอบร้องเพลง ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และเป็นทาสแมว

Related Posts