“ยากกว่าการข้ามเพศ คือ ทำให้พ่อแม่เข้าใจ” คุยเรื่องการข้ามเพศในวัยรุ่นกับ นพ.พนม เกตุมาน

  • “มีลักษณะแบบนี้มาตั้งแต่อายุน้อย ๆ แต่จะแสดงออกหรือบอกคนอื่นไม่เหมือนกัน บางคนแสดงออกเยอะ เช่น เด็กผู้ชายจะนุ่งกระโปรงตลอด”
  • หนึ่งสัญญาณจากลูกอยากให้พ่อแม่และคนรอบๆ ข้างรู้และยอมรับว่า ตัวตนที่เขาต้องการแท้จริงเป็นอย่างไร
  • ทำความเข้าใจ ‘การข้ามเพศในวัยรุ่น’ กับผศ.นพ.พนม เกตุมาน

“ลูกเพศอะไร”

หนึ่งในคำถามยอดฮิตสำหรับคนท้อง ไม่ว่าจะพ่อแม่ บรรดาญาติ ๆ เพื่อนสนิท คนรู้จัก หรือแม้แต่คนไม่รู้จัก กระทั่งตัวคนท้องเองก็คงอยากรู้ด้วยเช่นกัน

แต่น่าแปลกที่คำตอบของคำถามนี้มีเพียง ‘ผู้หญิง’ หรือ ‘ผู้ชาย’ ทั้ง ๆ ที่ในธรรมชาติ เพศมีความหลากหลายกว่านั้น

อาจเพราะเราบางคนยังติดกับค่านิยมที่ส่งต่อกันมาเรื่อย ๆ ว่าเพศที่คนยอมรับมีเพียงเท่านี้ แม้พ่อแม่จะเปิดกว้างและไม่ได้คิดตีกรอบลูก แต่ความคิดบางอย่างอาจทำให้เราเผลอแสดงออกและไปปิดกั้นโอกาสลูกในการสำรวจสิ่งใหม่ ๆ หรือทดลองอะไรบางอย่าง เพื่อให้เขาเข้าใจตัวเอง

การที่ลูกเดินมาบอกว่า เขามีเพศหรือรสนิยมทางเพศไม่ตรงตามเพศกำเนิด หรือที่เรียกว่า ‘come out’ อาจไม่ใช่เรื่องแปลกหรือใหญ่ในบางบ้าน แต่อีกหลายครอบครัวยังคงเป็นเรื่องต้องห้าม 

ภายใต้ตัวอักษรแต่ละตัวของ LGBTIQ+ ถูกซ่อนไว้ด้วยภาพชีวิตที่แตกต่าง ในบางตัวอักษร ความแตกต่างนั้นไม่ใช่แค่เฉพาะ “รสนิยม” ว่าชอบเพศไหน แต่ยังคาบเกี่ยวกับ “ตัวตนทางเพศ” และอัตลักษณ์ที่เขาอยากให้โลกทั้งใบมองเห็น

“พออายุเข้าสัก 12 – 13 ปี คนข้ามเพศทั้งหลายจะเริ่มรู้ตัวแล้ว”

ผศ.นพ.พนม เกตุมาน

เป็นประสบการณ์ทำงานให้คำแนะนำและวินิจฉัยคนข้ามเพศหรือ Transgender ของ ผศ.นพ.พนม เกตุมาน จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ถือเป็นหนึ่งในขั้นตอนตามกฎหมายที่จะต้องได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค Gender Dysphoria หรือมีภาวะทุกข์ใจจากเพศสภาพ เพื่อให้ได้รับการรักษา คือ การผ่าตัดเพื่อข้ามเพศ

ตามกฎหมายจะอนุญาตให้คนที่เข้ากระบวนการผ่าตัดข้ามเพศต้องอายุ 20 ปีขึ้นไป แต่มีการปรับเปลี่ยนกฎหมาย ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม เรื่อง เกณฑ์การรักษาเพื่อผ่าตัดข้ามเพศ พ.ศ. 2552 อนุญาตให้คนที่อายุ 18 ปี แต่ยังไม่ถึง 20 ปี สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้เช่นกัน แต่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง 

นอกจากตัวเด็กเอง พ่อแม่ก็มีส่วนที่ต้องเรียนรู้ผ่านการร่วมกระบวนการ เพราะบางคนไม่เข้าใจหรือยอมรับเรื่องนี้ไม่ได้ จนคิดว่าลูกมีอาการป่วยที่ต้องได้รับการรักษา

บทความชิ้นนี้อยากชวนพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่ต้องดูแลเด็กทำความเข้าใจเรื่องนี้กับคุณหมอพนม ถึงแม้ลูกเราอาจจะไม่ได้เป็นคนข้ามเพศ แต่อย่างน้อยก็จะทำให้เราได้เข้าใจธรรมชาติมนุษย์ที่มีรสนิยม ตัวตนที่แตกต่างและหลากหลาย 

กระบวนการผ่าตัดเพื่อข้ามเพศตามกฎหมาย

คุณหมอพนมเท้าความถึงจุดเริ่มต้นของการออกแบบกระบวนการแปลงเพศในไทยเมื่อ 10 ปีที่แล้วว่ายังไม่มีกฎหมายรองรับ เต็มไปด้วยความเสี่ยงเพราะเป็นการผ่าตัดใหญ่ และไม่สามารถเปลี่ยนกลับคืนได้ จึงต้องมีการประเมินโดยละเอียด เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นสิ่งที่คนไข้ต้องการจริงๆ

โดยขั้นตอน ทางแพทย์สภาได้เชิญประชุมแพทย์สาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น จิตแพทย์ อายุรแพทย์ ศัลยแพทย์ สูตินรีแพทย์ เป็นต้น เพื่อช่วยกันกำหนดแนวทางการรักษาไปจนถึงกระบวนการผ่าตัดเพื่อข้ามเพศ โดยทำความเข้าใจกลุ่มที่มีลักษณะเป็นบุคคลข้ามเพศและกลุ่ม LGBTIQ+ ที่เป็นร่มใหญ่ 

อันดับแรกต้องได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค Gender Dysphoria หรือมีภาวะทุกข์ใจจากเพศสภาพ ซึ่งถือเป็นโรคทางการแพทย์ คุณหมอพนมอธิบายว่าสาเหตุที่ต้องให้มีการวินิจฉัยก็เพื่อให้เกิดการรักษาด้วยการผ่าตัดข้ามเพศได้ ต่างจากกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศอื่น ๆ ที่เพียงมีรสนิยมทางเพศที่แตกต่าง ไม่เกี่ยวกับเรื่องตัวตนจึงไม่จำเป็นต้องรักษา 

“ถ้าไม่เป็นโรคนี้ เราก็ไม่สามารถทำการรักษาได้ ซึ่งการรักษานี้จะเป็นประโยชน์กับเขา”

การวินิจฉัยต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี และต้องพบจิตแพทย์ 2 คน สิ่งที่ต้องทำในการวินิจฉัย คือ ให้คนไข้ทดลองใช้ชีวิตตามเพศที่ตัวเองเลือก คือ ชายทดลองเป็นหญิง และหญิงทดลองเป็นชาย ทดลองทำกิจกรรมทุกอย่างเพื่อให้เจ้าตัวมั่นใจจริง ๆ ว่าอยากเปลี่ยน ควบคู่ไปกับการให้ฮอร์โมนทางเพศ 

Photo by Dainis Graveris

เมื่อครบ 1 ปีหลังทดลองใช้ชีวิตตามแบบเพศที่ต้องการ ถ้ายังอยากเปลี่ยนเพศก็จะเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนเพศ มีทั้งการใช้ยา ฮอร์โมนเพศ และการผ่าตัด เป็นหน้าที่ของแพทย์หลายฝ่ายและศัลยแพทย์ คนไข้อาจปรึกษาหรือวางแผนร่วมกันว่าต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการคนไข้เป็นหลัก และมีความคิดเห็นจากจิตแพทย์ที่ดูแลร่วมด้วย

“ที่ให้ทดลองใช้ชีวิต ไม่ใช่ทำเพื่อให้หมอมั่นใจนะ แต่เป็นการทำเพื่อให้เจ้าตัวมั่นใจว่าตัวเองเป็นคนข้ามเพศจริง ๆ ถ้าเขาจะหลอกหมอก็ทำได้ แต่ผมจะเน้นกับคนไข้เสมอว่า ความจริงใจกับตนเองสำคัญมาก เพราะถ้าไม่ใช่หรือไม่แน่ใจ มันมีโอกาสเกิดปัญหาทางจิตใจ และการปรับตัวภายหลังผ่าตัด เช่น มีปัญหาว่าหลังผ่าตัดแล้วเสียใจทีหลัง อยากเปลี่ยนกลับ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนกลับได้ กระบวนการก็จะช่วยลดปัญหานี้ เพราะเราไม่สามารถจะทำกลับไปกลับมาได้ ต้องทำอย่างรอบคอบและใช้เวลา 

“บางคนใจร้อน ไม่ค่อยแฮปปี้กับการเข้ากระบวนการ ก็จะพยายามไปหาคนที่สามารถทำให้เขาได้เร็ว ๆ ซึ่งนี่ก็เป็นปัญหานะ ผิดกฎหมาย หมอที่ทำมีสิทธิ์โดนจับ”

‘แสดงออกว่าอยากเป็นเพศนั้น’ สัญญาณจากลูกที่อยากให้พ่อแม่เข้าใจและยอมรับ

ช่วงที่คนเริ่มสนใจเรื่องเพศของตัวเอง หมอพนมบอกว่าเริ่มตั้งแต่เด็ก จะชัดช่วงวัยรุ่นอายุ 12 – 13 ปี ถ้าเป็นบุคคลในกลุ่มความหลากหลายทางเพศจะเริ่มรู้ตัว ส่วนหนึ่งเพราะฮอร์โมนทางเพศเริ่มทำงาน เช่น ความรู้สึกทางเพศ ความต้องการทางเพศ รู้ตัวเองว่าชอบเพศไหน รวมถึงการแต่งเนื้อแต่งตัว กิจกรรมที่เลือกทำ พยายามจับกลุ่มกับคนที่คล้าย ๆ ตัวเอง

ส่วนเด็กที่อยู่ในกลุ่มคนข้ามเพศที่ต้องเจอภาวะ Gender Dysphoria มีอาการชัดหนึ่งอย่าง คือ เขารู้สึกอยากจะเป็นเพศนั้น ๆ จะทำทุกอย่างให้เหมือน เช่น แต่งตัว วิธีดำเนินชีวิต การปฏิบัติตัว รวมทั้งความรู้สึกต่ออวัยวะเพศทางร่างกาย เขาจะรู้สึกว่าอวัยวะเพศที่ตัวเองมีเป็นส่วนเกิน บางรายอาจรู้สึกไม่ชอบจนถึงขั้นรังเกียจ อยากกำจัดออกไป อยากทำร่างกายทุกส่วนของตัวเองให้เป็นเพศที่ต้องการมากที่สุด ซึ่งอาการนี้จะเป็นปัจจัยที่จิตแพทย์ใช้ประกอบการวินิจฉัยด้วย

“เราพบว่าคนข้ามเพศมักมีลักษณะแบบนี้มาตั้งแต่อายุน้อย ๆ แต่จะแสดงออกหรือบอกคนอื่นไม่เหมือนกัน บางคนแสดงออกเยอะ แต่งกายข้ามเพศ เช่น เด็กผู้ชายจะนุ่งกระโปรงตลอด พอเข้าวัยรุ่นก็ชัดเจน ไม่เอาแล้ว ฉันจะต้องผ่าตัดข้ามเพศให้ได้”

อย่างไรก็ตาม ความสับสนทางเพศในวัยรุ่นยังมีอยู่ ทำให้การวินิจฉัยกลุ่มนี้ต้องรัดกุม และได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง ทำให้พ่อแม่ต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการวินิจฉัย

“เป็นขั้นตอนหนึ่งที่ผมว่ายากกว่าการผ่าตัดอีก คือ ทำให้พ่อแม่เข้าใจแล้วก็ยอมรับได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เด็กที่เป็นคนข้ามเพศ หมอสามารถวินิจฉัยแล้วคุยกับพ่อแม่เข้าใจได้ง่ายกว่า เพราะส่วนใหญ่จะเห็นพฤติกรรมลูกอยู่แล้ว ก็จะเข้าใจลูก ส่วนกลุ่มอื่น ๆ ค่อนข้างคุยยาก

“เจอบ่อย พ่อแม่พาลูกที่เป็น คนที่รักเพศเดียวกัน (Homosexual) มาให้รักษา บอกว่าเขาเป็นโรค มีปัญหา เราจะบอกว่าไม่ใช่ปัญหา เขาเป็นคนปกติทั่วไป ไม่ต้องไปเปลี่ยนเขา”

ปัจจุบันทัศนคติของพ่อแม่เปลี่ยนไป ดีขึ้น แต่ยังคงมีปัญหาอยู่ หมอพนมให้ความเห็นว่าเป็นเพราะขาดความรู้ พ่อแม่ไม่รู้ว่าสิ่งนี้คืออะไร แล้วเขาควรทำตัวอย่างไร ทำให้วัยรุ่นหลายคนพาพ่อแม่มาหาหมอให้ช่วยปรับความเข้าใจ

“พ่อแม่ส่วนมากไม่เข้าใจ หมอก็ต้องช่วยทำให้เขาเข้าใจลูก มันทำให้ลูกผ่อนคลายไปเยอะเลยนะ พอพ่อแม่รู้ก็จะเข้าใจ เด็กก็รู้สึกไม่ต้องปิดบังอีกแล้ว ไม่ต้องทนกับอารมณ์ของพ่อแม่หรือว่าปัญหาทางอารมณ์ของตัวเอง”

เหตุผลที่ทำให้พ่อแม่บางคนรับไม่ได้ คุณหมอพนมอธิบายว่ามีหลายปัจจัย เช่น เรื่องศาสนา ความเชื่อในครอบครัวที่ถ่ายทอดส่งต่อกันมา ความหวังของพ่อแม่ที่มีต่อลูก

“ผมว่ามันเป็นความเชื่อเก่า เป็นสิ่งที่ปลูกฝังอยู่ในสายเลือด ในครอบครัว ในสังคมเราระดับหนึ่ง แต่คิดว่าบ้านเราก็ยังดีกว่าหลาย ๆ ที่นะ บางสังคมแรงกว่านี้เยอะ ของเรายังยืดหยุ่น มีที่ไม่รู้ แต่พอรู้แล้วเขาเข้าใจ ต้องอธิบายกันไป”

‘ความสุข’ สิ่งที่ลูกและพ่อแม่อยากได้

‘ภาวะเกลียดร่างกายตัวเอง’ เป็นหนึ่งในอาการที่มักเกิดกับกลุ่มคนข้ามเพศ การผ่าตัดเพื่อข้ามเพศจึงทำให้เขามีความสุขและประสบความสำเร็จหลังการผ่าตัด เพราะมันทำให้เขาเข้าสู่เพศจริง ๆ ของเขา 

สิ่งที่เขาต้องการ ก็คือ พ่อแม่ที่เข้าใจและยอมรับ “พ่อแม่ส่วนใหญ่อยากให้ลูกมีความสุข แต่ความสุขของลูกอาจไม่ใช่อย่างที่เราคิด เหมือนลูกชอบกินน้ำพริกปลาทู ไม่ได้ชอบกินแฮมเบอร์เกอร์ จะบอกเขาผิดปกติไม่ได้”

การทำความเข้าใจพ่อแม่จึงเป็นเรื่องจำเป็น แม้อาการแรกของพวกเขาจะเหมือนกันคือต่อต้านเมื่อรู้เรื่อง แต่ถ้าลงลึกจะพบเหตุผลที่แตกต่างกัน บางคนไม่เข้าใจ บางคนกลัว รู้สึกเครียด หรือบางคนก็รู้สึกผิด เกิดอาการโทษตัวเองที่ทำให้ลูกเป็นแบบนี้

“มีหลายบ้านที่รู้สึกคล้าย ๆ กัน รู้สึก guilty รู้สึกผิด คิดว่ามันเป็นความผิดของเขาหรือเปล่าที่เลี้ยงดูลูกแบบนี้ หรือโทษว่าเป็นความผิดคนอื่น เช่น เป็นเพราะเพื่อนลูก เราต้องอธิบายแก้ไขสิ่งที่เขาเชื่อ คงต้องทำงานกันระยะแรก ๆ ให้อารมณ์สงบลง แล้วเขาจะค่อย ๆ ยอมรับได้

“วิธีคิดที่จะทำให้พ่อแม่หลาย ๆ บ้าน รู้สึกดีขึ้นได้เหมือน ๆ กัน คือ ลูกเขาจะมีความสุขต่อไปได้ยังไง พอมาคุยเรื่องนี้ เขาจะเห็นภาพแล้วว่า ชีวิตของลูกเขา ไม่ใช่ชีวิตเรา เพราะส่วนใหญ่พ่อแม่จะเลี้ยงลูกเหมือนเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของตัวเอง ก็จะทำให้เหมือนที่ตัวเองต้องการ 

“อยากให้พ่อแม่ลองกลับมามองตัวเองว่า จะทำให้ลูกมีความสุขได้ยังไง สิ่งที่เด็กต้องการจริง ๆ คือ พ่อแม่ที่เข้าใจและยอมรับ เมื่อไรที่พ่อแม่พูดอย่างนี้ได้ทุกอย่างก็จะเปลี่ยน ผมคงไปสั่งพ่อแม่ไม่ได้ว่า ทำยังไงให้ลูกมีความสุข สัมพันธภาพในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าอยู่ด้วยกันแล้วเราไม่พูดกับลูก ทำตึง หรือไม่ยอมรับแฟนของเขา ก็ลองคิดว่าถ้าเป็นตัวเราเจอแบบนี้จะรู้สึกยังไง”

ข้างนอกบ้านอาจไม่เป็นมิตรกับลูก แต่พ่อแม่สามารถทำบ้านให้ลูกมีความสุขได้

“เขาก็คาดหวังว่าหลังผ่าตัดเขาจะเป็นเหมือนเพศนั้น เพียงแต่ว่ามันไม่ได้ เช่น ยังมีคำนำหน้าว่า ‘นาย’ อยู่ หรือไปต่างประเทศเจอเจ้าหน้าที่ ตม. (ตรวจคนเข้าเมือง) อาจถูกบูลลี่ ไปทำงานเจอคนไม่เข้าใจ”

‘ความคาดหวัง’ เป็นหนึ่งหัวข้อที่หมอพนมจะพูดคุยกับคนไข้ เป็นการทำให้เขาเตรียมพร้อมชีวิตหลังผ่าตัด เรื่องที่เขาอาจเจอในอนาคต เช่น มีลูกไม่ได้ ต้องเกณฑ์ทหาร ไม่สามารถจดทะเบียนแต่งงานได้อย่างถูกกฎหมาย ยังไม่มีสิทธิตามกฎหมายบางอย่าง ซึ่งส่วนใหญ่จะโอเค เพราะประเด็นสำคัญที่พวกเขาต้องการในเวลานี้ คือ ผ่าตัดให้เป็นเพศที่ต้องการ เรื่องอื่น ๆ ค่อยแก้ไขกันไป

“คนข้ามเพศแล้วยังไม่มีกฎหมายรองรับ มันก็จะยากในบางเรื่องที่ต้องใช้กฎหมาย เช่น ยังแต่งงานไม่ได้ มีอุปสรรคไม่สมหวังตามความคาดหวังของเขาอยู่ ขึ้นอยู่กับว่าเขาตั้งความหวังไว้เยอะไหม” คุณหมอพนมทิ้งท้าย

หนึ่งก้าวที่เราสามารถทำได้เพื่อทำให้สภาพแวดล้อมน่าอยู่สำหรับกลุ่ม LGBTIQ+ คือ การลงชื่อสนับสนุนสมรสเท่าเทียม สามารถลงชื่อได้ที่ลิงก์ด้านล่าง
https://www.support1448.org

Writer

Avatar photo

เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

ชีวิตอยู่ได้ด้วยซัมเมอร์ ทะเล และความฝันที่จะได้ทำสิ่งที่เป็นความสุขตลอดไป

Illustrator

Avatar photo

กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts