“สมัยวัยรุ่นผมเกเรมาก ขี้เมา กวนตามงานหมอลำ ตีหัวหมาด่าแม่เจ๊ก ชาวบ้านแถวนี้เขารู้กันดี”
ลี่-คีตา วารินบุรี หรือ ครูลี่ เล่าเรื่องราวในสมัยที่เขากำลังอยู่ในช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อให้เราฟัง
หากไม่ใช่คำพูดที่ออกมาจากปากเจ้าตัว คงยากที่จะเชื่อว่าชายที่กำลังนั่งอยู่ตรงหน้านี้ เคยมีวีรกรรมแสนแสบจนเป็นที่เลื่องลือกันไปทั่วทั้งหมู่บ้าน เพราะ ณ ปัจจุบัน เขาคือผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘ครู’ ของบรรดาเด็กๆ รวมทั้งผู้ปกครองที่นำลูกหลานมาฝากไว้ที่ ‘โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง’ แห่งนี้
“ถ้าถามผู้ปกครองเด็กๆ ว่าเมื่อก่อนนี้ครูลี่เป็นยังไง เขาจะรู้เลย ผมก็งงเหมือนกันครับว่าทุกวันนี้เขาเอาลูกเอาหลานมาฝากผมเลี้ยงได้ยังไง” เขาพูดอย่างติดตลก ก่อนจะเล่าย้อนความหลังกลับไปถึงสมัยที่ตนยังเป็นนักดนตรีอาชีพ
ลี่คือเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่ต้องจากบ้านนาเพื่อเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ ชีวิตวัยหนุ่มของเขาคลุกคลีอยู่กับเสียงดนตรีในผับบาร์ ในขณะที่ผู้คนเริ่มตื่นมาใช้ชีวิตในยามเช้า ลี่สะพายกระเป๋าเบสเพื่อเดินทางกลับห้อง
เขาใช้ชีวิตแบบนี้อยู่หลายปีจนกระทั่งมีโอกาสได้ไปเป็นครูอาสาที่จังหวัดเชียงใหม่ และเมื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิตจนพึงพอใจ เขาจึงตัดสินใจกลับบ้านเกิดเพื่อมาใช้ชีวิตอยู่กับแม่ หลังจากที่ห่างจากอ้อมอกไปเป็นระยะเวลาเกือบ 20 ปี
หวนคืนสู่บ้านเกิด
“ความตั้งใจแรกของผมคือการกลับบ้านมาอยู่กับแม่ ผมอยากดูแลท่าน เมื่อก่อนผมทำตัวไม่ค่อยดีกับครอบครัว”
เมื่อได้กลับมาใช้เวลาอยู่กับครอบครัวที่จังหวัดบุรีรัมย์อีกครั้ง ลี่เริ่มสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงในชุมชนบ้านเกิด ภาพความสัมพันธ์ระหว่างเด็กๆ และพ่อแม่ที่เริ่มห่างเหินกัน ช่วงเวลาในการสร้างความผูกพันถูกแทนที่ด้วยหน้าจอโทรศัพท์มือถือและเกมคอมพิวเตอร์ เขาจึงเริ่มหาวิธีช่วยให้เด็กๆ ได้กลับมาใช้เวลากับครอบครัวอีกครั้ง
“พอกลับมาอยู่บ้าน หลานๆ ก็มาเล่นด้วย แต่ช่วงที่ผมไม่ได้เล่นกับเขา เขาก็ก้มหน้าเล่นโทรศัพท์อย่างเดียวเลย ผมเห็นเด็กๆ มีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่น้อยลง ที่หน้าโรงเรียนมีแต่ร้านเกมเต็มไปหมด พอเลิกเรียนเด็กๆ ก็จะไปรวมตัวอยู่ที่นั่น ผมก็เลยลองเปลี่ยนกิจกรรมหลานๆ พาเขาออกมาเล่นดนตรีบ้าง ชวนว่ายน้ำบ้าง พาปั่นจักรยาน เดินป่า ผจญภัย พอทำบ่อยๆ เขาก็ค่อยๆ ห่างจากเกม มีเวลากับพ่อแม่เยอะขึ้น”
หลังจากได้พาหลานๆ ลงมือทำกิจกรรมอย่างสนุกสนาน ลี่เล็งเห็นว่าสภาพแวดล้อมในชุมชนที่ห้อมล้อมไปด้วยธรรมชาตินั้นยังคงเหมาะกับการฝึกจิตใจให้สงบและผ่อนคลาย เขาจึงพาเด็กๆ ทำกิจกรรมที่เพื่อช่วยฝึกสมาธิ พาทำโยคะ เดินนับก้าวบนภูเขา และเริ่มสอนดนตรีให้ เพราะเห็นว่าดนตรีจะช่วยลดภาวะรบกวนในจิตใจได้ ไม่นานนัก แววตาของเด็กๆ ก็เริ่มกลับมาสดใสอีกครั้ง
“หลังจากนั้นผมก็ลองพาเด็กๆ ทำเครื่องดนตรีที่พอจะหาอุปกรณ์ได้ ทำพิณจากกระป๋อง เริ่มซ้อมร้องเพลงสัก 3 – 4 เพลง พอถึงวันเด็ก ในหมู่บ้านก็จะมีการจัดเวทีงานวันเด็ก ผมเลยขอพาเด็กๆ ขึ้นไปแสดงบนเวทีสัก 10 นาที เขาก็อนุญาต พอเด็กๆ ได้ขึ้นไปแสดงก็ดีดพิณ เขย่าน้ำเต้า แอ็กติ้งใหญ่โต โยกหัว แต่เล่นไม่เป็นนะ พิณไม่มีสายก็ยังดีดได้ (หัวเราะ) เขาเล่นไม่เป็นแต่แววตามันบ่งบอกเลยว่าเขาภูมิใจ”
“พอเด็กๆ ในหมู่บ้านเห็นก็รู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่แปลกใหม่ หลังจากวันนั้นก็เริ่มมีผู้ปกครองเอาลูกหลานมาฝากให้เราสอน ผมก็ตัดสินใจอยู่นาน ไม่ได้ตกลงรับในทันที เพราะผมเคยช่วยอาจารย์ทำโรงเรียนที่เชียงใหม่มาก่อน มันเหนื่อยมาก”
แต่เมื่อปรึกษาแม่แล้วได้คำตอบกลับมาว่า “ถ้าอยากทำก็ลองทำดู” เด็กเกเรในวันนั้นจึงเปลี่ยนผืนนาของครอบครัวให้กลายเป็น ‘โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง’ โรงเรียนเล็กๆ ที่ล้อมรอบไปด้วยทุ่งนาเขียวขจี สอนวิชาที่ไม่ได้บรรจุเอาไว้ในหลักสูตรแกนกลาง และไม่อาจเข้าใจได้ด้วยการอ่านตำราเพียงเท่านั้น ลี่เรียกวิชานี้ว่า ‘วิชาชีวิต’
“อาจารย์มโน วงเวียน กับ อาจารย์ประสาท ประเทศรัตน์ สองท่านนี้คือผู้ที่ชี้ทางให้ผมได้มองเห็นสิ่งเหล่านี้ ผมเคยไปอยู่กับท่านที่จังหวัดแพร่ บ้านตองตึง ใช้คำว่าผมเกิดจากที่นั่นเลยก็ได้ครับ ผมเรียนรู้วิชาชีวิตจากท่าน วิชาชีวิตแบ่งออกเป็น 2 วิชา คือ วิชาทางกาย กับ วิชาทางใจ วิชาทางกายก็คือ อาหารกาย ซึ่งก็คือปัจจัยสี่ ส่วนวิชาทางใจ คือเรื่องราวของสิ่งที่รบกวนจิตใจเรา มันเป็นสิ่งที่เราต้องสอนเขา สอนให้จิตกลับเข้ามาอยู่ในกาย”
‘หาบ้านให้ใจ’ คือคำสั้นๆ ที่ลี่ใช้นิยามวิชาทางใจ การทำโยคะและการนับก้าวที่ลี่สอนเด็กๆ คือการปูพื้นฐานให้พวกเขาได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง ตามหาสิ่งที่กำลังรบกวนจิตใจเพื่อที่จะได้เรียนรู้วิธีในการรับมือต่อไป เหล่านี้คือสิ่งที่ลี่อยากส่งต่อให้กับเด็กๆ ที่กำลังจะเข้ามาเรียนรู้ในโรงเรียนเล็กฯ แห่งนี้
โรงเรียนเล็กที่มีเป้าหมายอันยิ่งใหญ่
ใบสมัครเรียนของที่นี่คือแปลงผักเล็กๆ 1 แปลง โดยมีข้อแม้ว่าผักในแปลงนี้จะต้องเติบโตจากการที่ผู้ปกครองและเด็กๆ ช่วยกันดูแล รดน้ำ พรวนดิน เพราะสิ่งที่ลี่อยากเห็นคือภาพความสัมพันธ์ของครอบครัวและคนในชุมชนที่กลับมาใกล้ชิดกันอีกครั้ง หลังจากที่วิถีชุมชนเริ่มเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
“เด็กหลายคนไม่รู้วิถีของตัวเอง เขาไม่รู้ที่มาว่าตัวเองเป็นใคร ไม่รู้ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง เพราะว่าเรื่องวิถีชุมชนหรือจารีตประเพณีมันไม่ได้มีการย่อยเพื่อให้เด็กๆ ได้ซึบซับไปถึงด้านในของเขาจริงๆ เขาห่างออกมาจากสิ่งเหล่านี้เรื่อยๆ”
“เมื่อไรที่เด็กๆ ไม่เห็นรากเหง้าของตัวเอง ไม่รู้ที่มาที่ไป เขาจะไม่เห็นคุณค่าของบ้าน เขาจะมองไม่เห็นความงดงามของทุ่งนา ท้ายที่สุดเขาก็จะทิ้งบ้าน เจ้าของพื้นที่จะกลายเป็นนายทุนและชาวต่างชาติ ผมไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น”
ลี่ขอความร่วมมือจากผู้ปกครองให้มาทำกิจกรรมร่วมกันกับเด็กๆ ณ โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้างแห่งนี้ เพื่อทำให้เด็กๆ ได้เห็นถึงวิถีชุมชน ฟื้นเสียงหัวเราะและรอยยิ้มของคนในชุมชนให้กลับมาด้วยเสียงดนตรีและกิจกรรมอื่นๆ ในโรงเรียน
ทำอาหาร สวดมนต์ เล่นดนตรี ปลูกผัก กิจกรรมเหล่านี้ล้วนมีพ่อแม่และผู้ปกครองเด็กแวะเวียนเข้ามามีส่วนร่วมอยู่เสมอ เกิดเป็นภาพความสัมพันธ์ในชุมชนที่กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง และยังมีภาพความสนิทสนมของครอบครัวที่เริ่มใกล้ชิดกันมากขึ้นจากการเรียนดนตรีด้วยกัน เป็นภาพความประทับใจที่ยากจะหาจากโรงเรียนทั่วไป แต่เป็นวิถีชีวิตที่สัมผัสได้ ณ โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง
“แม่กับลูกมาเรียนดนตรีด้วยกัน คนหนึ่งร้อง คนหนึ่งเล่น ส่งการบ้านเป็นคลิปวิดีโอดีดกีตาร์ ลูกก็คอยบอกว่าแม่จับคอร์ดผิด แม่ก็เถียงกลับ หนูนั่นแหละผิด มันน่ารักไง จริงๆ เวลาผมดูคือไม่อยากให้เล่นถูกเลยนะ เดี๋ยวจะไม่ได้เถียงกัน (หัวเราะ) ต้องส่งการบ้านทุกวัน ผมจะดูแล้วบันทึกเก็บไว้ในโฟลเดอร์ คลิปพวกนี้มันมีคุณค่ามาก วันหนึ่งพอเขาโตขึ้นมาก็จะได้บอกเขาว่าครูมีสิ่งนี้จะมอบให้ นี่บันทึกทั้งชีวิตหนูเลยนะ”
“พอถึงวันพระ พ่อแม่ก็จะมาสวดมนต์ด้วยกัน มารวมตัวกันอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง เพราะเมื่อไรที่เรามาสวดมนต์ เราจะได้รีเซ็ตตัวเอง การสวดมนต์ไหว้พระจะเป็นฐานที่อยู่ภายในจิตใจของเขา เพราะฉะนั้นถ้าเด็กๆ ได้เรียนวิชาทางใจ พ่อแม่ก็ต้องได้เรียนด้วย จะได้รู้ว่าเด็กๆ ทำอะไรบ้าง”
‘ไม่ไปจัดการคนอื่น แต่ต้องจัดการตัวเอง’
คือกติกาสำคัญในการอยู่ร่วมกัน ณ โรงเรียนแห่งนี้ และเป็นสิ่งที่ลี่ขอความร่วมมือจากผู้ปกครองทุกคน พร้อมทั้งคอยย้ำเตือนอยู่เสมอ กติกานี้ไม่ได้เป็นเพียงข้อตกลงในการอยู่ร่วมกันเท่านั้น แต่ยังเป็นข้อคิดสำคัญที่ลี่อยากให้ผู้ปกครองทั้งหลายเข้าใจถึงธรรมชาติของเด็กๆ และเป็นการเตือนใจให้พ่อแม่เรียนรู้ที่จะจัดการอารมณ์ของตัวเองให้ได้ คล้ายกับหลักการของวิชาทางใจที่ครูลี่ได้เรียนรู้และนำมาถ่ายทอดต่อ
“เมื่อก่อนตอนเป็นนักดนตรี ใครๆ ก็เรียกผมว่า ลี่ร้อยวง ไปเล่นวงไหนวงนั้นก็แตก ผมเป็นนักจัดการชีวิตคนอื่น สอนน้องในวงจนเขาเล่นอาชีพได้ สุดท้ายเราอยากให้เขาเก่งมากกว่านั้น ซึ่งเราปรารถนาดีนะ แต่เรากำลังทำร้ายน้องเราโดยไม่รู้ตัว” ลี่เล่าถึงบทเรียนที่ได้เรียนรู้ในอดีต
วิธีการจัดการตนเองที่ลี่เลือกใช้ คือการ ‘รีเซ็ตตัวเองใหม่’ ตรวจสอบสภาพจิตใจ จัดการสิ่งรบกวนที่อยู่ข้างใน แล้วจึงค่อยก้าวต่อไปข้างหน้า เป็นวิธีการที่ลี่พยายามถ่ายทอดให้ทุกคนได้เรียนรู้และคอยย้ำเตือนเด็กๆ อยู่เสมอ เพราะการเล่นดนตรีนั้นก็ต้องอาศัยการรีเซ็ตเพื่อที่จะจับจังหวะให้ถูก และทักษะการจัดการตัวเองนี้ก็จะติดตัวเด็กๆ ตลอดไป
โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้างไม่มีการวัดผลเหมือนโรงเรียนทั่วไป ลี่บอกกับเราว่า “เด็กๆ จะเป็นคนวัดผลตัวเอง” เป้าหมายในการสอนวิชาชีวิตของลี่ไม่ใช่การสอนเพื่อประเมินผล แต่คือการสอนให้เด็กๆ รู้ว่าเมื่อมีความผิดพลาดในชีวิตเกิดขึ้น เขาต้องเรียนรู้ที่จะลุกและก้าวต่อไป นี่คือสิ่งที่ลี่เรียกว่า ‘สุดยอดวิชาชีวิต’
“เขาต้องเรียนรู้ที่จะรับมือกับสิ่งที่รบกวนจิตใจ เวลาเจอเรื่องราวที่ไม่ดี จิตใจเขาจะแกว่ง และถ้าหากหลุดไปโฟกัสกับสิ่งนั้น เขาจะจมปลักอยู่กับมัน เขาจะนับก้าวผิดแล้วก็นับวนอยู่แบบนั้น ชีวิตเราถึงต้องมีการอิมโพรไวซ์เหมือนดนตรี ถ้าเล่นไปแล้วมีโน้ตตัวหนึ่งผิด เราจะจมอยู่กับมันไหม หรือจะยอมทิ้งเพื่อก้าวไปยังโน้ตตัวต่อไป”
“ถ้าเราเดินเหยียบหนามแล้วไม่กล้าก้าวไปข้างหน้าเพราะกลัวจะเหยียบหนามอีก เราก็จะเจ็บอยู่อย่างนั้น ดนตรีก็เช่นกัน จงหัวเราะกับสิ่งที่มันผิดพลาด หัวเราะกับโน้ตที่มันผิด แล้วก้าวไปสู่โน้ตตัวถัดไป ดนตรีมันเล่นไปเรื่อยๆ เหมือนกับชีวิตนั่นแหละครับ เราต้องเรียนรู้ที่จะอิมโพรไวซ์”
บ้านเล็กในทุ่งกว้าง
“เด็กๆ มาที่นี่เขาจะได้เล่น ได้มีจินตนาการ ในมุมมองของผมคือถ้าเด็กไม่ได้เล่นเขาจะหาชีวิตตัวเองไม่เจอ เขาจะใช้ชีวิตเพื่อรอเลียนแบบไอดอลเขาอย่างเดียว ไม่ได้มีเวลาค้นหาตัวเอง เด็กๆ ที่นี่เขาหยิบหิน กำดินโคลนขึ้นมา ถ้าผู้ใหญ่คนอื่นมองอาจจะคิดว่าไร้สาระ แต่เราไม่มีทางรู้เลยนะว่าที่เด็กๆ เขาหยิบก้อนหินขึ้นมาเขาเห็นอะไรบ้าง เขาคิดอะไรอยู่ เราไม่ไปจำกัดจินตนาการเขา อยากลองทำอะไรทำเลยลูก”
“เขาตื่นเต้นกับทุกอย่าง เดี๋ยวสิ้นเดือนนี้เราจะดำนากัน เด็กๆ ตื่นเต้นกันใหญ่ แต่ไม่ได้ตื่นเต้นกับการดำนานะ เขาตื่นเต้นที่จะได้เล่นโคลน หรืออย่างเมื่อคืนนี้ผมบอกเขาว่าเดี๋ยวหลวงพ่อท่านจะมาทำโรงทานเลี้ยงก๋วยเตี๋ยวให้พวกหนูนะ ตาลุกวาว ร้องก๋วยเตี๋ยวๆ กันใหญ่ มันไม่ใช่แค่คำว่า ‘ก๋วยเตี๋ยว’ ธรรมดาๆ นะ แต่มันคือ ก๋วยเตี๋ยว!” ลี่เล่าพร้อมทำท่าทางดีใจประกอบ
ลี่บอกว่าเขามีความคิดที่จะเปลี่ยนชื่อพื้นที่แห่งนี้ จาก ‘โรงเรียน’ ให้กลายเป็น ‘บ้าน’
“บ้านเล็กในทุ่งกว้าง พอจะได้ไหมครับ น่ารักดีเนอะ” เขาถามเราพร้อมรอยยิ้ม
“จริงๆ แล้วผมมองว่าที่นี่คือบ้านหลังใหญ่ที่ทุกคนมารวมกัน มีอะไรก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกันเหมือนกับการทำอาหาร คนนั้นมีพริก คนนี้มีมะนาว มีถั่ว คนนู้นมีมะละกอ มีปลาร้า โอเค ผมมีครกกับสาก เท่านี้เราก็ได้กินส้มตำด้วยกันแล้ว เราเอาหลายๆ ปัจจัยมาเติมเต็มกันจนกลายเป็นบ้านหลังหนึ่ง เป็นพื้นที่ให้ลูกหลาน ผมเลยคิดว่ามันน่าจะเหมาะกับคำว่าบ้าน”
เมื่อได้ยินอย่างนั้น เรานึกเห็นด้วยกับสิ่งที่เขาพูด เสียงหัวเราะของเด็กๆ แว่วมาตามลมในขณะที่เรากำลังพูดคุยกัน ความสุขที่เราสัมผัสได้แค่เพียงได้ยินเสียงคงช่วยให้คำตอบได้ไม่ยาก ทุ่งกว้างแห่งนี้ได้กลายมาเป็น ‘บ้าน’ ของเด็กๆ อย่างสมบูรณ์แล้วจริงๆ
หลังจากเสร็จสิ้นการสัมภาษณ์ ลี่ชวนพวกเราไปดูเด็กๆ เล่นดนตรีเปิดหมวกกันในตอนเย็นที่ถนนคนเดิน
เสียงพิณจากกระป๋อง เสียงเขย่าน้ำเต้าคอยให้จังหวะ และภาพที่เด็กๆ หยอกล้อกันในขณะเล่นดนตรี เรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะจากผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาได้เป็นอย่างดี พ่อแม่ของเด็กๆ นำผักผลไม้และสินค้าที่มีมาวางขาย พร้อมทั้งช่วยกันดูแลลูกหลานทุกคนด้วยความเต็มใจ
ภาพที่อยู่ตรงหน้าเรา คงเป็นภาพที่อธิบายคำว่า ‘บ้านหลังใหญ่’ ได้ดีที่สุด
บ้านที่เป็น ‘บ้าน’ ได้ เพราะสมาชิกทุกคน
บ้านที่ไม่ได้หมายถึงสถานที่ แต่คือความสัมพันธ์ของผู้คนในพื้นที่