“ถ้าลูกชอบแค่คำชม ลูกเลิกเต้นได้ แต่ถ้าลูกชอบบัลเลต์ ลูกลองคิดใหม่อีกทีนะ” จากแม่ถึงลูกสาวใน Twenty-five twenty-one

  • ‘มินแช’ ถอดใจจากการเต้นบัลเลต์เมื่อเห็นคู่แข่งผู้เก่งกาจ และคิดว่าเธอต่างจาก ‘ฮีโด’ นักดาบทีมชาติแม่ของเธอ จนกระทั่งเธอได้อ่านบันทึกสมัยแม่ยังวัยรุ่นแล้วพบว่า เธอกับแม่ไม่ได้แตกต่างกันขนาดนั้น
  • การเติบโตไม่ใช่เส้นโค้งสม่ำเสมอ แต่เหมือนกับการปีนบันไดที่มีลำดับขั้น บางครั้งเราอาจติดตรงมุม แต่ช่วงราบเรียบไม่ได้ยืดยาวตลอดกาล
  • บันทึกเก่าของแม่สร้างความเข้าใจระหว่างแม่ลูก เปลี่ยนมุมมองที่ลูกสาวมีต่อแม่ และเป็นแรงบันดาลใจให้เธอเริ่มขีดเขียนเรื่องราวชีวิตของตัวเองบ้าง

หลังเห็นท่วงท่าอันสง่างามของผู้เข้าแข่งขันตัวเต็ง ‘มินแช’ วัย 15 ปีวิ่งลงจากเวทีแล้วบอกแม่ว่าจะเลิกเต้นบัลเลต์อย่างถาวร เธอยอมแพ้และคิดว่าหากไม่ใช่ที่หนึ่งก็ไร้ความหมาย แน่นอนว่าแม่ไม่เห็นด้วย แม่ขอให้เธอทบทวนการตัดสินใจให้ดี

การทุ่มเถียงไม่มีท่าทีจะจบลงง่าย ๆ มินแชตัดสินใจหนีไปอยู่บ้านยาย ซึ่งลงท้ายเธอได้ใช้ห้องนอนเก่าของแม่ เหรียญและโล่รางวัลมากมายเรียงรายอยู่ในนั้น คล้ายจะตอกย้ำความล้มเหลวของมินแชในฐานะลูกสาวของ ‘ฮีโด’ นักกีฬาฟันดาบทีมชาติดีกรีเหรียญทอง

เธอเห็นผู้คนชื่นชมแม่มาตั้งแต่จำความได้ แม่คืออัจฉริยะ ต่างจากเธอที่ฝีมือธรรมดา ทั้งสองคนอยู่บนโลกคนละใบและคงไม่มีวันเข้าใจกันได้ แต่นั่นคือความคิดของมินแชก่อนที่เธอจะรู้จักตัวตนของแม่ในอีกยุคสมัย 

อดีตของแม่

มินแชแอบอ่านสมุดบันทึกสมัยวัยรุ่นของแม่ ฮีโดในวัยเยาว์หาใช่นักดาบมากพรสวรรค์อย่างที่เธอคิด หากเป็นเด็กสาวธรรมดาผู้หลงใหลในการฟันดาบและมีวินัยการฝึกซ้อมสุดแสนเคร่งครัด 

ฮีโดในสมุดบันทึกแพ้มานับครั้งไม่ถ้วน ได้รับคำดูถูกสารพัดจากคนรอบข้าง โค้ชบอกให้เธอล้มเลิก เพื่อนร่วมทีมบอกว่าเธอมีค่าแค่เป็นงบรายหัว แถมแม่ยังคัดค้านเพราะอยากให้เรียนหนังสือ แต่เธอไม่ยอมแพ้ ยังคงซ้อมอย่างหนักและสม่ำเสมอ

ยิ่งอ่านบันทึกไปเรื่อย ๆ มุมมองของมินแชต่อแม่ก็ค่อย ๆ เปลี่ยนไป จากเจ้าเหรียญทองไร้พ่าย แม่เริ่มกลายเป็นเหมือนเพื่อนวัยเดียวกัน และเคยผ่านช่วงที่รู้สึกว่าตัวเองไม่ก้าวหน้าเหมือนที่เธอกำลังเผชิญ 

การเติบโตไม่ใช่เส้นโค้งสม่ำเสมอ

ฮีโดไปรับมินแชจากบ้านยายทั้งที่ต่างยังมึนตึงใส่กัน ทั้งคู่ทาสีรั้วบ้านด้วยกันในวันหยุด

“ลูกคิดว่าความสามารถคนเราจะพัฒนาแบบเนินเขาเหรอ” แม่พูดขึ้น ใช้แปรงปาดเส้นโค้งบนรั้ว

เธอลากเส้นซิกแซ็กทับลงไป แล้วอธิบายว่าการพัฒนาความสามารถไม่ได้ราบรื่นเหมือนเนินเขา แต่เหมือนกับขั้นบันได เมื่อขึ้นได้ขั้นหนึ่งแล้ว คนมักจะอยากยอมแพ้เพราะติดอยู่ตรงมุม ขั้นต่อไปดูสูงเกินเอื้อม

“ถ้าผ่านมุมนี้ไปได้ ก็จะมีพัฒนาการที่ยิ่งใหญ่รออยู่ แต่เรากลับไม่รู้เลย” 

ฮีโดลากเส้นต่อออกไป และบอกว่าคนมักหลงคิดว่าขั้นบันไดราบเรียบนั้นจะยืดยาวตลอดกาล 

ลูกสาวของเธอพยักหน้าช้า ๆ ฮีโดพูดต่อ

“ถ้าลูกชอบแค่คำชม ลูกเลิกเต้นได้ แต่ถ้าลูกชอบบัลเลต์ ลูกลองคิดใหม่อีกทีนะ”

มินแชที่กำลังสับสนเริ่มขบคิดคำพูดของแม่ หากเธอยังเห็นว่าคนพูดคือนักกีฬาฮีโดผู้เลื่องชื่อ เธอคงไม่คล้อยตาม ทว่าตอนนี้เธอรู้แล้วว่าแม่ไม่ได้แข็งแกร่งหรือเก่งแต่เกิดอย่างที่คนอื่นคิด ความเก่งกาจของแม่แลกมาด้วยความมุมานะ และกว่าที่จะมาเป็นแม่ที่สนับสนุนเธออยู่อย่างทุกวันนี้ แม่เคยผ่านมรสุมลูกใหญ่ๆ มาก่อน หนึ่งในนั้นคือปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่ชาวเอเชียต้องเผชิญอย่างเลี่ยงไม่ได้

คนต่างยุค

เด็กเจน Z อย่างมินแชรู้จัก “วิกฤตไอเอ็มเอฟ” หรือที่ไทยเราเรียกว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ผ่านหนังสือเรียนเท่านั้น แต่ฮีโดซึ่งเป็นวัยรุ่นยุคดังกล่าวผ่านช่วงอันโหดร้ายนั้นโดยตรง ระหว่าง พ.ศ. 2540-2542 เป็นดังนรกบนดินของคนเอเชีย เกาหลีใต้ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น ภาคธุรกิจล้มละลาย คนจำนวนมหาศาลตกงาน ครอบครัวแตกสลาย และความฝันมากมายถูก “ยุคสมัย” ช่วงชิง

การเป็นนักกีฬาฟันดาบคือความฝันของฮีโด มันพังทลายลงต่อหน้าต่อตาเพราะโรงเรียนตัดงบประมาณชมรมฟันดาบ ชมรมถูกยุบในระหว่างที่ฮีโดกำลังเติบโต

ทว่านั่นไม่ได้หยุดยั้งเธอ ฮีโดพิสูจน์ตัวเองกับโค้ชของโรงเรียนที่โด่งดังด้านการฟันดาบเพื่อย้ายโรงเรียน และแม้เพื่อนร่วมทีมใหม่จะไม่ต้อนรับขับสู้ เธอก็มุ่งมั่นฝึกฝนจนฝีมือเป็นที่ประจักษ์ ความพยายามผลิดอกออกผล ฮีโดชนะการแข่งขันและเป็นที่ยอมรับในที่สุด

ยุคสมัยที่แตกต่างระหว่างแม่ลูกไม่ได้หมายความว่าใครต้องเหนื่อยหนักกว่าใคร หรือแข่งว่าคนไหนพยายามมากกว่ากัน แต่หมายถึงการทำความเข้าใจเงื่อนไขและข้อจำกัดที่แต่ละคนมี แม่เจอยุคข้าวยากหมากแพงมา ส่วนมินแชคือเด็กในยุคที่โรคโควิด-19 ระบาด ความลำบากเป็นปัญหาเฉพาะยุค ฉะนั้นความคิดของทั้งคู่ย่อมมีจุดไม่ลงรอยเป็นธรรมดา 

วิกฤตเศรษฐกิจในตำราเรียนอาจมีความหมายต่อมินแชไม่มากไปกว่าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ทว่าบันทึกของแม่กลับมอบมุมมองใหม่ ๆ ทั้งต่อสังคมและต่อแม่ให้แก่เธอ 

เรื่องราวที่อยากให้ลูกรู้

ฮีโดรู้ว่าลูกแอบอ่านบันทึกของตัวเอง แต่ก็ปล่อยให้ลูกอ่านต่อไป เธอจำได้ดีว่าบันทึกนั้นเต็มไปด้วยความรัก มิตรภาพและการฟันฝ่าอุปสรรค เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญของความทรงจำล้ำค่าที่วัยรุ่นคนหนึ่งควรได้สัมผัส 

“เพราะช่วงเวลาสั้น ๆ เหล่านั้นคือสิ่งที่ทำให้ชีวิตที่ยืนยาวเปล่งประกาย”

เธอปรารถนาให้ลูกได้ลิ้มรสชีวิตในช่วงวัยที่ควรได้เรียนรู้จากการลองผิดลองถูก เธอต้องการให้ลูกได้ประสบทั้งเรื่องดีและร้าย อันจะหล่อหลอมตัวตนของลูกในวัยผู้ใหญ่อย่างที่เธอผ่านพ้นมา

เพราะแม่ลูกยังหาจังหวะคุยกันอย่างจริงจังไม่ได้ บันทึกเหล่านั้นจึงกลายเป็นสะพานเชื่อมสัมพันธ์ของทั้งสอง เรื่องเล่าที่เปี่ยมด้วยอารมณ์สุขและเศร้าเหล่านั้นช่วยให้มินแชได้รู้จักฮีโดในฐานะมนุษย์คนหนึ่งมากขึ้น

บันทึกเล่มสุดท้าย

“หนูอยากอ่านแทบตายแต่หนูก็ห้ามใจไว้ เพราะจากนี้ไปหนูจะเขียนเรื่องราวของตัวเองบ้าง” มินแชกลับบ้านมาพร้อมสมุดบันทึกเล่มหนึ่ง มันคือไดอารีเล่มสุดท้ายที่ฮีโดเข้าใจว่าทำหายไปแล้ว 

มินแชบอกว่าจะกลับไปเต้นอีกครั้ง

“หนูเองก็อยากหัวเราะและร้องไห้ มีความสุขและท้อแท้เพราะบัลเลต์บ้าง”

ฮีโดยิ้มให้ลูกสาว มันคือรอยยิ้มแสนจริงใจของแม่คนหนึ่งที่ได้เห็นลูกกล้าตัดสินใจด้วยตัวเอง ของนักกีฬาคนหนึ่งที่เห็นเพื่อนนักกีฬาเผชิญหน้ากับความท้าทายอย่างไม่ย่นย่อท้อถอย สุดท้าย มันคงเป็นรอยยิ้มของเด็กหญิงฮีโดที่ส่งข้ามกาลเวลา มาหาเพื่อนคนใหม่ที่กำลังค้นหาตัวเองอยู่เหมือนกัน

อ้างอิง

https://asianwiki.com/Twenty_Five_Twenty_One

https://plus.thairath.co.th/topic/money/101333

https://www.netflix.com/title/81517168

https://workpointtoday.com/twenty-five-twenty-one-review/


Writer

Avatar photo

ศิริกมล ตาน้อย

อยากเกิดใหม่เป็นแมงกะพรุน

Illustrator

Avatar photo

กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts