เซิ้งใส่ความทุกข์ร้อน ย้อนสู้การกดขี่ วิถีนักสู้อีสาน

  • เมื่อปี 2444 ที่รัฐสยามเริ่มเข้าไปเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองของมณฑลต่าง ๆ ในพื้นที่ที่ในปัจจุบันคือภาคอีสาน โดยเปลี่ยนจากอาญาสี่เป็นการเก็บภาษีคนละ 4 บาท ทำให้ประชาชนที่เผชิญกับภัยแล้งในปีนั้นยิ่งมีชีวิตที่ลำบากกว่าเดิม จนเกิดขบวนการผู้มีบุญ กลุ่มคนที่ต้องการปลดแอกตนเองจากการกดขี่ขึ้น และนำไปสู่เหตุการณ์การปราบปรามผู้มีบุญโดยรัฐสยามที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 300 – 400 คน
  • แม้เรื่องราวของผู้มีบุญจะเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ไม่เคยถูกพูดถึงในกระแสหลัก และถูกลบเลือนหายไปกว่า 100 ปี แต่จิตวิญญาณการต่อสู้กับอำนาจการกดขี่และความยากจนนี้กลายเป็นสิ่งที่ส่งต่อมายังคนในภาคอีสานจากรุ่นสู่รุ่น
  • พวกเขาอาจมีความยากจนแร้นแค้นและการฝันถึงชีวิตที่ดีกว่าเดิมเป็นแรงผลักดันให้สู้ แต่ในเส้นทางการต่อสู้ อารมณ์ขันและความสุนทรีย์คือสิ่งสำคัญที่ยังหล่อเลี้ยงกระแสสำนึกของการต่อสู้ให้พวกเขายังก้าวเดินต่อไปได้เสมอ  

 วันงานเทศกาลผ่านมา แค่ปีกว่า ๆ ไม่น่าลืมกัน
ในงานวันออกพรรษา สัญญาว่าจะรักมั่น
จุดธูปเวียนเทียนร่วมกัน อธิษฐานจะรักมั่นภิรมย์

ท่วงทำนองเถิดเทิงชวนลุกขึ้นฟ้อน ได้ยินเมื่อไหร่ก็ต้องย่อนใส่หย่าว ๆ อาจเป็นสิ่งที่ทำให้ ‘โบว์รักสีดำ’ บทเพลงที่ขับร้องโดยศิริพร อำไพพงษ์ กลายเป็นเพลงฮิตติดหูคนทั้งประเทศไม่ว่าจะภูมิภาคไหน แต่ในทำนองสนุกสนานจนหน้าฮ่านไหง่ง่อง เพลงนี้กลับมีเนื้อร้องแสนเศร้าว่าด้วยความรักของหนุ่มสาวที่ฝ่ายชายไม่รักษาสัญญา ปล่อยให้ฝ่ายหญิงคอยท่าจนโบว์ผูกผมที่อีกฝ่ายเคยซื้อให้กลายเป็นโบว์รักสีดำ

©ศิริพร อำไพพงษ์ PGM Record

“คุณลองไปอ่านเนื้อเพลงมันดี ๆ ตัดทำนองออกแล้วเนื้อหามันเศร้าโศกมาก แต่เป็นหยังเวลาเปิดเพลงนี้ขึ้นมาแล้วเต้นเลย เพราะคนลาวมีลักษณะประหลาด หัวเราะได้ทั้งน้ำตา อารมณ์ขันเหล่านี้แหละที่ทำให้จิตวิญญาณการต่อสู้ของเราไม่สูญหาย” เจี๊ยบ-วิทยากร โสวัตร กวีและนักเขียน พนักงานดูแลร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย ที่อุบลราชธานี บอกกับเรา

ย้อนกลับไปไม่ใกล้ไม่ไกลเพียง 100 กว่าปีก่อน เมื่อจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสได้ขยายอิทธิพลเข้ายึดดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (ลาวในปัจจุบัน) ชาวลาวบางส่วนต้องหลบหนีมาที่ฝั่งขวาแม่น้ำโขง (ภาคอีสานในปัจจุบัน) ขณะเดียวกัน มณฑลทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงก็เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองท้องถิ่นที่รัฐสยามยกเลิกอาญาสี่ และให้ชายฉกรรจ์เสียภาษีคนละ 4 บาท ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนที่เคยดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องใช้ระบบเงินตรา ทว่าแม้รัฐสยามจะเข้ามาเปลี่ยนระบบการปกครอง จัดเก็บภาษี และสร้างรถไฟเพื่อขนทรัพยากร แต่กลับไม่ได้เข้ามาดูแลระบบสาธารณูปโภคหรือคุณภาพชีวิตของผู้คนที่ในช่วงนั้นกำลังเผชิญกับความแห้งแล้ง

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นชนวนที่ก่อให้เกิดขบวนการผู้มีบุญที่ต้องการปลดแอกตัวเองออกจากทั้งฝรั่งเศสและรัฐสยาม นับเป็นการจับอาวุธลุกขึ้นสู้กับอำนาจรัฐครั้งใหญ่ และจบลงที่ทุ่งสังหารบ้านสะพือ จังหวัดอุบลราชธานี ที่มีการใช้ปืนใหญ่ปราบปรามผู้มีบุญจนมีผู้เสียชีวิตกว่า 300-400 คน เรื่องราวของผู้มีบุญถูกกลบลบเลือนไป 100 กว่าปี หากแต่จิตวิญญาณการต่อสู้ต่ออำนาจรัฐและการถูกกดขี่ยังคงเป็นเหมือน DNA ที่ส่งต่อมายังคนภาคอีสานในทุกยุคทุกสมัย

เรานั่งอยู่ในร้านหนังสือฟิลาเดลเฟียกับเจี๊ยบ – วิทยากร โสวัตร ที่นอกจากจะเป็นนักเขียน กวี และเจ้าของร้านหนังสือแห่งนี้แล้ว วิทยากรยังเป็นผู้เขียนซีรีส์กบฏผีบุญในสื่อท้องถิ่นอีสานอย่าง The Isaan Record และอาจจะเรียกได้ว่าเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้เรื่องราวของผีบุญถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้ง และ ธีร์-ธีระพล อันมัย สมาชิกอีก 2 คน จากกลุ่ม Ubon Agenda ที่ก่อนหน้านั้นเราได้สัมภาษณ์สมาชิกคนอื่น ๆ ไปในบทสัมภาษณ์ สุนทรียศาสตร์แห่งการต่อต้าน : ปฏิบัติการทางศิลปะ

ในการพูดคุยครั้งนี้ เราขยับออกมาจากเรื่องของการปฏิบัติการทางศิลปะ และเริ่มบทสนทนาด้วยการกล่าวถึงประวัติศาสตร์ที่ยังคงกระจัดกระจายและถูกกดทับไว้ของกลุ่มชาวลาวอย่างขบวนการผู้มีบุญที่อาจถือเป็นจุดกำเนิดเลือดนักสู้ของผู้คนในภาคอีสานในทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะสู้ด้วยการจับอาวุธ สู้ในสภา สู้ด้วยการเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือสู้เพื่อประกาศตัวตนและอัตลักษณ์ที่ถูกกดทับด้วยการค่อย ๆ สอดแทรกความเป็นลาวเข้าไปในอาหารการกิน ในคำพูดยอดฮิตของชาวเน็ต ในเสียงเพลง และในทุกสิ่งทุกอย่าง       

©”ประวัติศาสตร์อีสาน” โดย เติม วิภาคย์พจนกิจ

เสี้ยวทรงจำและเศษซากประวัติศาสตร์ของผู้มีบุญที่ยังต้องรอการเติมเต็ม

แท้จริงแล้วขบวนการผู้มีบุญนั้นเกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2242 ในรัชสมัยของพระเพทราชา และเกิดขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปี 2502 แต่ภาคอีสานถือเป็นภาคที่ขบวนการผู้มีบุญเกิดขึ้นบ่อยที่สุด โดยมีขบวนการผีบุญที่กระจายความเชื่อออกไปได้อย่างกว้างขวางและรวบรวมพลพรรคไว้ได้มากที่สุด ก็คือ กบฏผู้มีบุญในปี พ.ศ. 2444 – 2445 ที่กระจายตัวอยู่ถึง 13 จังหวัด  

สิ่งที่ทำให้ขบวนการผู้มีบุญในครั้งนั้นโดดเด่นและส่งต่ออุดมการณ์ไปได้ทั่วทั้งภาคอีสาน ก็คือการใช้วิธีการส่งต่อ ‘คำทำนาย’ จากผู้วิเศษหรือ ‘ผู้มีบุญ’ โดยอิงความเชื่อเรื่องพระศรีอริยเมตไตรยที่เชื่อว่าเมื่อบ้านเมืองถึงคราวกลียุค จะมีผู้วิเศษหรือพระศรีอริยเมตไตรยมาเป็นผู้กอบกู้ผ่านกลอนลำเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนขบวนการ

“ตอนนั้นเป็นช่วงรอยต่อที่ยังไม่มีการปักปันเขตแดนที่ชัดเจน ฝรั่งเศสเข้าปกครองลาว เจ้าลาวก็โอนอ่อนให้ฝรั่งเศสเพื่อที่จะปลดแอกจากสยาม สยามไม่เคยเห็นคุณค่าของแผ่นดินที่ราบสูงโคราช ซึ่ง 80 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในตอนนั้นคือคนลาวที่มีความทรงจำเลวร้ายจากตอนที่สยามไปเผาเวียงจันทน์ (สงครามเวียงจันทน์ระหว่างสยามยุค ร.3 และเวียงจันทน์เจ้าอนุวงศ์) ตอนเวียงจันทน์ถูกเผาเขาก็เลยหนีร่นใต้มา”

วิทยากรกล่าวว่าสาเหตุที่ทำให้ชาวลาวที่อพยพร่นมาทางใต้หลังจากการบุกตีเวียงจันทน์ของสยามเกิดขึ้นเพราะย้อนไปอีกประมาณ 100 กว่าปีก่อนหน้านั้นมีนักเดินทางจากเวียงจันทน์ที่ใช้เส้นทางนี้คือยาคูขี้หอมหรือเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กผู้อพยพมาอยู่จำปาศักดิ์และเป็นพระเถระชื่อดังที่มีลูกศิษย์ลูกหาอยู่มากมาย  

“ความทรงจำที่เลวร้ายในการเผาเวียงจันทน์ของสยามเลยติดมากับพวกปัญญาชนหรือพระ แล้วกลอนลำก็มาจากวัด หมอลำก็คือคนที่เป็นพระสึกออกมาหรือคนที่มีความสามารถทางศิลปวัฒนธรรมแล้วเอาความรู้จากพระมาขยาย หมอลำเลยเป็นหอกระจายข่าวที่รู้เส้นทางเดินเป็นอย่างดี ขบวนการผู้มีบุญมันเลยไปทั่วอีสาน”  

แต่แม้จะเป็นขบวนการผู้มีบุญครั้งที่รวบรวมกำลังพลได้มากที่สุดจนต้องมีการปราบปรามจากรัฐสยาม ทว่าเรื่องราวของขบวนการผู้มีบุญในปี 2444 กลับยังขาดรายละเอียดอยู่มากมาย หลายช่วงหลายตอนปรากฏเป็นเพียงภาพหรือบันทึกรางเลือนที่ยังต้องรอการปะติดปะต่อ เช่นเรื่องของคุกที่รัฐใช้คุมขังผู้ร่วมขบวนการที่ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเป็นที่ไหน หรือคำถามที่ว่า รัฐสยามรู้และส่งกองกำลังมาปราบปรามกลุ่มผีบุญในทันทีได้อย่างไร ซึ่งการค้นหาคำตอบอาจนำเราไปพบกับเกร็ดประวัติศาสตร์ใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยมีใครพูดถึง  

เพราะมีเรื่องราวอีกมากมายของผู้มีบุญที่ยังต้องค้นหา รวบรวม และทำให้ประวัติศาสตร์ที่ถูกกดทับชัดเจนยิ่งขึ้น วิทยากรจึงนำรายรับส่วนหนึ่งที่ได้จากการขายหนังสือเพื่อมาซื้อที่ดินติดกับร้านฟิลาเดลเฟียและสร้างห้องสมุดเพื่อเก็บบันทึกรักษาเรื่องราวและข้อมูลเกี่ยวกับผู้มีบุญเอาไว้ ในวันที่เราไปสัมภาษณ์ ห้องสมุดแห่งนี้ก็เริ่มมาเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาบ้างแล้ว

“สิ่งที่ผมน่าจะมีส่วนร่วมกับ Ubon Agenda ที่สุดคือการทำห้องสมุดผีบุญ ตอนที่ทำ Ubon Agenda ผมฝันว่าวันหนึ่งบ้านสะพือจะมีศูนย์ข้อมูลที่เป็นน้ำเสียงของคนในพื้นที่จริง ๆ ที่เป็นข้อมูลอีกด้าน แต่ยากมากที่จะไปถึงขั้นนั้นได้ วันหนึ่งก็คงเป็นไปได้ แต่วันไหนล่ะ เลยคิดว่าไหน ๆ เราก็รู้จักชาวบ้านแล้ว ถ้ามีใครไปที่นั่นแล้วเขาถามว่า จะหาข้อมูลได้ที่ไหน ชาวบ้านที่นั่นก็จะได้ให้เขามาที่ห้องสมุดผีบุญซึ่งมีเอกสารที่เป็นความจริงอีกด้านที่กระทรวงศึกษาหรือประวัติศาสตร์กระแสหลักเก็บงำไว้ มันก็จะกลายเป็นการขยายพื้นที่องค์ความรู้เพื่อที่จะทำให้เกิดความจริงอย่างน้อยที่สุดสองชุดความจริง ถ้ามีความจริงหนึ่งเดียวแบบที่รัฐชาติทำ มันก็จะมีกรณีที่ว่าถ้ามึงไม่คิดแบบนี้มึงก็ตายไปเลย ถ้าไม่คิดเหมือนกูก็ออกจากประเทศนี้ไป ถ้าเรามีความจริงที่หลากหลายมุมมองขึ้น ผมว่ามนุษย์มันจะหาวิธีการอยู่ร่วมกับความหลากหลายได้”  

ผิดจากนี้ไม่ใช่ไทย

“ผมขอปฏิเสธว่าประเทศนี้มี ‘ภาษาอีสาน’ (ไม่มีภาษาอีสาน) จนกว่าคุณจะเอาทุกภาษาในแผ่นดินอีสานตอนนี้มารวมกันแล้วสร้างเป็นภาษาใหม่ขึ้นมา ไอ้ที่คุณเรียกว่า ‘อาหารอีสาน’ มันก็มาจากลาวกันทั้งนั้น” วิทยากรกล่าวเมื่อเราถามถึงจุดเริ่มต้นของ ‘อีสาน’ “มันคือประวัติศาสตร์ภูมิกายา หนังสือของพวกอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูลกับอาจารย์เบน เอเดอร์สัน เขียนไว้ว่าเขาเอากรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางแล้วเรียกสิ่งต่าง ๆ โดยใช้ทิศที่ยึดตามกรุงเทพฯ”

วิทยากรเชื่อว่า ความกระด้างกระเดื่องจากขบวนการผู้มีบุญ อาจทำให้รัฐสยามเริ่มพยายามเปลี่ยนแปลงสำนึกของผู้คนในพื้นที่นี้อย่างจริงจัง ประกอบกับเหตุการณ์อื่น ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการล่าอาณานิคมจากฝรั่งเศส สงครามปฏิวัติลาว สงครามอินโดจีน หรือกระทั่งสงครามเย็น ทำให้แผ่นดินอีสานกลายเป็นรัฐกันชนชั้นดีให้กับกรุงเทพฯ และจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนสำนึกให้ชาวลาวในพื้นที่นี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของไทย ภายใต้ชื่อ ‘อีสาน’  

“นอกจากมีการทำให้อีสานไม่เป็นลาวแล้ว บางจังหวัดที่อยู่แถวเขมร เช่น สุรินทร์ บุรีรัมย์ ก็มีการทำให้ไม่เป็นเขมร ก็เกิดแนวคิดว่าบุรีรัมย์ สุรินทร์เป็นเขมรสูง เรียกกัมพูชาว่าเขมรต่ำ แม้แต่เด็กรุ่นหลังก็จะไม่บอกว่าเขาพูดภาษาลาว เขาจะบอกว่าพูดภาษาอีสาน กระบวนการสร้างความเป็นอีสานของรัฐชาติไทยที่มีศูนย์กลางเป็นกรุงเทพฯ น่าจะเริ่มที่ 2518 ในยุคที่ลาวแตก และเบ็ดเสร็จประมาณปี 2530 กว่า ๆ ที่คนในแผ่นดินนี้กลายเป็นคนอีสานหมด”

“จริง ๆ ทุกที่ก็โดนลบตัวตนหมด ไม่ใช่แค่คนลาวในอีสาน” ธีระพล อันมัย ผู้นิยามตัวเองว่าเป็นสารถีของ Ubon Agenda เสริม เช่นเดียวกับผู้คนในอีสานที่มีมากมายหลายชาติพันธุ์ ผู้คนในภาคเหนือก็ไม่ได้มีเพียงคนอู้กำเมือง แต่มีชาติพันธุ์อื่น ๆ เช่น ปกาเกอะญอ มูเซอ ม้ง ส่วนทางใต้ก็มีทั้งคนแหล่งใต้และคนพูดภาษามลายู “แต่เมื่อคุณไปโรงเรียน คุณต้องพูดไทย มันก็เป็นปัญหาของการทำให้ชาติมันเป็นหนึ่งเดียว แล้วไม่รู้จะเอาอะไรมาเป็นความเป็นหนึ่งเดียวก็เลยเอาความเป็นไทยมาครอบ ตอนนี้นักเรียนทุกโรงเรียนต้องสอบวัดระดับความรู้ อีสานสอบไม่ผ่านเยอะมากถ้ามีเรื่องภาษาเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือสามจังหวัดชายแดนใต้ที่เด็กต้องสอบภาษาไทยทั้งที่ชีวิตจริงเขาพูดมลายู แต่รัฐเอาความเป็นไทยไปวัดทุกคนแล้วบอกว่านี่คือมาตรฐานโดยไม่คำนึงถึงความหลากหลายที่เขามีอยู่”

ธีระพลเชื่อว่าหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้วัฒนธรรมลาวถูกกดทับมากที่สุด อาจเป็นเพราะการมีประชากรเยอะสุด โดยมีประชากรกว่า 1 ใน 3 ของประเทศ“

เมื่อคนเยอะ เวลาส่งเสียงมันก็มีพลัง ตัวอย่างคือมันไม่เคยมีการปราบปรามครั้งไหนที่มีคนตาย 300 – 400 ในที่เดียวกัน อย่างการสังหารหมู่ปี 2553 ที่ตาย 90 กว่าศพ เขาก็ไม่ได้ยิงทีเดียว แต่นี่ลูกปืนใหญ่สามลูกแล้วตาย 300 – 400 คน ต้องรวมคนได้เยอะขนาดไหน ดังนั้นวิธีที่จะทำให้คนไร้พลังตามหลัก propaganda คือ ด้อยค่ามันซะ”  

ไม่เพียงแต่กดทับวัฒนธรรมของคนลาว แต่คนชาติพันธุ์อื่นเองก็โดนกลืนตัวตนไปด้วย เพราะความจริงแล้วประชากรในภาคอีสานไม่ได้มีแค่เพียงชาวลาวเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์มากมายไม่ว่าจะเป็นเขมรถิ่นไทย กูย โซ่หรือกะโส้ บรู ญัฮกูรหรือชาวบน ไทโคราช ไทลาว ไทโย้ย ไทย้อ กะเลิง ไทพวน ผู้ไท และไทแสก

“แต่พอจะเรียกคนภูมิภาคนี้ก็เหมารวมเรียกว่าคนอีสาน แล้วก็ตีความว่าอีสานคือลาว พอพูดถึงภาษาอีสานก็นึกถึงภาษาลาว แต่ถ้าผมบอกว่าผมพูดเขมร ผมเป็นอีสานไหม ผมเป็นคนสุรินทร์ผมก็พูดเขมร ผมเป็นลูกเขมร คนที่เกิดเป็นลูกคนกูยก็บอกว่าเขาเป็นคนกูย ดังนั้นถ้าจะถามว่าอีสานคืออะไร มันก็คือการพยายามจะครอบให้คนที่นี่มีความเป็นท้องถิ่นนิยมโดยรัฐไทย”

©”ประวัติศาสตร์อีสาน” โดย เติม วิภาคย์พจนกิจ

จากลำกลอนถึงพรศักดิ์ ส่องแสง : การแทรกซึม งอกงาม และผลิบานของความเป็นลาว

มองย้อนไปในประวัติศาสตร์ การลบเลือนและกดทับความเป็นลาวของสยามนั้นไม่ได้เริ่มต้นมาในช่วงของการเปลี่ยนลาวเป็นอีสาน แต่เกิดขึ้นตั้งแต่หลังสงครามเจ้าอนุวงศ์ช่วงปี 2371 ที่กองทัพสยามกวาดต้อนชาวลาวจากเวียงจันทน์และเมืองอื่น ๆ มาไว้ตามเมืองอย่างสระบุรี ลพบุรี และสุพรรณบุรี

“คนลาวมาก็ไม่ได้มาเปล่า เอาแคน เอาเครื่องดนตรีมา มาเป่าแคนที่นี่พวกเจ้าในวังก็ชอบใจ รัชกาลที่ 4 เลยต้องออกประกาศราชกิจจานุเบกษาว่าห้ามเป่าแคน ห้ามแอ่วลาว เพราะมันจะกลืนความเป็นไทย มันก็เป็นปัญหาตั้งแต่สมัยนั้น” ธีระพลเล่าย้อนความ ก่อนที่บทสนทนาของเราจะเข้าสู่เรื่องราวของการต่อสู้เพื่อพลิกฟื้นคืนอัตลักษณ์ความเป็นลาวผ่านวิวัฒนาการของเพลงลูกทุ่งหมอลำในหน้าประวัติศาสตร์เพลงไทย

ฟังเด้อน้องผองไผเนื้ออ่อน
ฟังกลอนลำร็อกแอนด์โรลเด้อนาง
ข้อยบ่แอ่วเฮ็ดหยังอย่างหัวหรั่งอเมริกา
ตะวันแดงแสงแดดสาดส่อง ฟังข้อยแอ่วเด้อน้องเนื้อผ่องกานตา

หลังการกำเนิดแนวเพลงที่เรียกว่า ‘เพลงลูกทุ่ง’ ในช่วงปี 2495 – 2500 ภาษาลาวที่เคยถูก ‘ห้ามแอ่ว’ ก็เริ่มกลับมามีบทบาทในเนื้อเพลงลูกทุ่งแม้จะถูกร้องโดยสำเนียงของคนภาคกลางและออกเสียงแบบล้อเลียนความเป็นลาว เช่น เพลง ‘หมอลำร็อค’ โดย คำรณ สัมบุญณานนท์ นักร้องลูกทุ่งชาวนนทบุรี หรือเพลง ‘เสียงซุงเว้าสาว’ ที่ครูเพลงลูกทุ่งอย่างไพบูลย์ บุตรขันแต่งให้สอนคีรี ศรีประจวบที่แม้จะมีการเอื้อนด้วยทำนองของหมอลำ แต่ก็ยังเป็นหมอลำที่ผ่านปากคนภาคอื่น

“คนลาวมีหน้าที่เป็นแค่นักแต่งเพลง เหมือนครูเบญจมินทร์ ที่แต่งเกี่ยวกับสงครามเกาหลี ชื่อเพลงเสียงครวญจากอาริดัง ก็เป็นคนอุบลฯ ส่วนการร้องและรำในยุคนั้นมันก็ยังเป็นสำเนียงของคนภาคกลางและภาคอื่น กว่ามันจะมีเสียงลาวแบบลาวแจบ ๆ (ลาวสนิท) ก็กลายเป็นว่าลาวบางปลาม้าอย่างไวพจน์ เพชรสุพรรณได้ร้องก่อน เช่น เตี้ยลงสาละวันเตี้ยลง แต่คนแต่งเพลงก็คือคนลาวอุบลอย่างพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา”

จำเสียงพี่ได้ไหม จำเสียงอ้ายได้บ่ เสียงไผหนอซางมาดังวอน ๆ
เสียงนี้คือนักร้องพเนจร ที่คอยกล่อมน้องนอนจนฟ้าแจ้งจางปาง
จางปางฟ้าแจ้งจางปางนอนกะซางเจ้าบ่นอนกะซาง

อีกหนึ่งเพลงดังของศิลปินที่เพิ่งเสียชีวิตไปอย่างพนม นพพร ซึ่งมาจากชลบุรีก็ยังมีคำร้องเป็นภาษาลาว ความเป็นลาวที่ไม่ได้มีไว้เพื่อการล้อเลียนจึงเริ่มเด่นชัดขึ้นในหน้าวงการเพลง หลังจากนั้น ‘คนไทย’ ก็ได้รู้จักกับเพลงลูกทุ่งแบบ ‘ลาวแจบ ๆ’ กับการมาถึงของเพลง ‘อีสานบ้านของเฮา’ เพลงที่นำความเป็นลาวผ่านเสียงซอ แคนและพิณมาใส่ไว้ตั้งแต่ต้นเพลง ก่อนจะเปิดภาพวิถีชีวิตของภาคอีสานได้อย่างโรแมนติก ด้วยเนื้อเพลง…

หอมดอกผักกะแยง ยามฟ้าแดงค่ำลงมา
แอ้บแอ้บ เขียดจะนา ร้องยามฟ้าฮ้องฮวานฮวาน
เขียดโม่เขียดขาคำ เหมือนหมอลำพากันม่วน
เมฆดำลอยปั่นป่วน ฝนตกมาสู่อีสาน

หากมีใครสักคนบอกว่า นี่คือเพลงลูกทุ่งอีสานที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ก็คงยากที่จะเถียง บทเพลงนี้ได้เปิดศักราชให้วงการเพลงลูกทุ่งเปิดรับความเป็นอีสานได้อย่างสมบูรณ์แบบ และผู้คนจากภาคอื่น ๆ ยอมรับสำเนียงอีสานและภาษาลาวที่อยู่ในเพลงโดยไม่ได้รู้สึกถึงความเป็นอื่น

“อีสานบ้านของเฮามันเป็นเพลงที่เปิดภาพภาคอีสานออกมาได้โรแมนติกมาก เวลาฟังแล้วมือกับเท้าก็หยุดไม่ได้ ถามว่าเขาใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะเปิดศักราชสำเนียงลาวในวงการลูกทุ่งได้ ผมได้คลุกคลีกับคนแต่งคือพ่อพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ก่อนที่ท่านจะเสีย ท่านบอกว่าท่านต้องหัดแต่งเพลงลูกทุ่งภาคกลาง มีทั้งสุรพล สมบัติเจริญ ศรคีรี ศรีประจวบ รุ่งเพชร แหลมสิงห์ หรือชาตรี ศรีชล เพราะแทบไม่เปิดโอกาสให้นักร้องที่มาจากภาคอีสานได้มีที่ยืนเลย แม้แต่เบญจมินทร์ที่เป็นคนอุบลฯ พยายามจะแต่งลำเต้ยก็ไม่ดัง แต่เพลงที่เขาแต่งให้นักร้องภาคกลางอย่างทูล ทองใจกลับดังเป็นพลุแตก นั่นคือเพลง โปรดเถิดดวงใจ”

กว่าจะถึงเวลาของ ‘อีสานบ้านของเฮา’ นักแต่งเพลงจากภาคอีสานต้องค่อย ๆ แทรกซึมความเป็นลาวเข้าไปในเพลงลูกทุ่ง ไม่ว่าจะกระทำผ่านท่วงทำนองหรือคำร้อง ไม่ว่าจะใส่มาตั้งแต่ท่อนเอื้อนแรกในเพลง หรือใส่ไว้ในท่อนฮุกของเพลงเพื่อให้คนภาคอื่นรู้สึกว่าความเป็นลาวนั้นไม่ใช่ความเป็นอื่น

“ทำให้คนไทยรู้สึกว่าฟังรู้เรื่องก่อน ถ้านึกอะไรไม่ออกให้นึกถึงสาวจันทร์กั้งโกบ ไม่อยากจะคิดสงสารเมื่อเห็นสาวจันทร์นั่งซึม แล้วก็เข้าท่อน กะจังวาไผกันหล่าสิขันอาสารับเดนคนเก่า หลังจากนั้นเราก็เซิ้งกันอย่างเดียว ถ้าร้องได้ก็ร้อง ทำให้รู้สึกว่าภาษาลาวไม่ใช่เรื่องไกลตัว คือคุณต้องสั่งสมอะไรเยอะมากกว่าคนจะยอมรับคุณ เมื่อถึงเวลาแล้วคุณก็ลาวอ้อยต้อยเลย เป็นเพลงอีสานบ้านของเฮาเลย”

หลังจากการเปิดหน้าศักราชใหม่ให้เพลงลูกทุ่งอีสาน ความเป็นลาวในวงการเพลงไทยก็พุ่งทะยานไปจุดสูงสุดด้วยความสำเร็จของพรศักดิ์ ส่องแสง นักร้องจากขอนแก่น กับเพลง หนุ่มนานครพนม จนเกิดปรากฏการณ์คอนเสิร์ตพรศักดิ์ ส่องแสงปะทะเบิร์ด ธงไชย ก่อนที่ลูกทุ่งอีสานจะกลับมาโด่งดังอีกครั้งกับเพลงลูกทุ่งอีสานท่วงทำนองหมอลำยอดฮิตข้ามทศวรรษที่แม้แต่นักร้องอย่างปาล์มมี่ – อีฟ ปานเจริญ ยังนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการแต่งเพลง ‘ริบบิ้นเลิฟคัลเลอร์แบล็ค’ เมื่อปี 2565 นั่นก็คือเพลง ‘โบว์รักสีดำ’ ของศิริพร อำไพพงษ์ และแล้วความเป็นลาวที่ถูกกดทับมาตั้งแต่ราชกิจจานุเบกษาห้ามแอ่วลาวเมื่อศตวรรษก่อน ก็กลับมาผงาดและครองชาร์ตเพลงยอดฮิตมาทุกยุคทุกสมัยตั้งแต่นั้น“

คำถามสำคัญคือว่าทำไมเพลงลาวมันถึงใช้เวลานานมากกว่าที่จะมีพื้นที่หรือมีตัวตน ทำไมเขาถึงกดไว้” ธีระพลเกริ่นพร้อมรอยยิ้ม “เพราะคุณดูสิทุกวันนี้ ธาตุทองซาวด์ตอนจบยังเป็นหมอลำ ถ้าสยามไม่กดไว้ ตอนนี้มึงลาวอ้อยต้อย (ลาวล้วน ๆ ไม่มีอะไรผสม) กันหมดแล้ว ทุกวันนี้คุณอ่านพาดหัวข่าวจะเจอคำว่าหยุมหัว หงายเงิบ จกตา มันบ่แม่นกรุงเทพฯ มันภาษาลาวทั้งนั้น”

หย่างเทียวทางบ่สุดเส้น อย่าต่าวคืนให้เขาส่า ตายให้ตายหน้าพุ่น เขาจึงย่องว่าหาญ

บางทีวิวัฒนาการเพลงอีสานนั้นอาจเป็นภาพสะท้อนลักษณะนิสัย วิถีชีวิต และคุณสมบัติของการเป็น ‘นักสู้’ ของผู้คนในอีสานก็เป็นได้ ความสามารถในการซึมซับ ปรับตัว หรือแม้แต่ดึงเอาวัตถุดิบอื่น ๆ มาปรับให้เหมาะกับตัวเองอย่างที่ครูเพลงลูกทุ่งอีสานทำกับเพลงเหล่านั้น ก็คือความสามารถที่ผู้คนจากภาคอีสานใช้ในการต่อสู้กับความยากจนข้นแค้น ขณะเดียวกัน ความเป็นลาวที่ถูกกดทับ ก็งอกงามและผลิบานได้อีกครั้งเพราะการย้ายถิ่นฐานไปทำงานไกลบ้านเพื่อหนีความแร้นแค้นซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการถูกกดขี่และถูกละเลยจากรัฐสยามนั่นเอง

“มันมีต้นทุนคือความยากจน” ธีระพลเริ่มเล่า “เอาจากตัวผมเอง เมื่อก่อนผมโคตรอดอยากเลย ตอนเด็ก ๆ ในความขาดแคลนคุณกินอะไรก็ได้ที่เรียกว่าอาหาร ปลาแดกก็เคยเป็นที่รังเกียจของคนภาคอื่น ทุกวันนี้กลายเป็นอาหารยอดฮิตในร้านค้า มันคืออาหารของคนจน เราปรับตัวจากการเอาตัวรอดในชีวิต ที่เหลือมันจะไปยากอะไร หนักกว่านี้ก็ช่างมันสิ ตกต่ำย่ำแย่ยังไงก็อยู่กันไป ถามว่าเรายอมแพ้ไหม มันก็มีคำผญาของคนอีสานที่บอกว่า ‘หย่างเทียวทางบ่สุดเส้น อย่าต่าวคืนให้เขาส่า ตายให้ตายหน้าพุ่น เขาจึงย่องว่าหาญ (เดินไปไม่ถึงจุดหมายอย่าได้หันหลังกลับ ตายให้ตายดาบหน้า คนเขาถึงมองว่ากล้าหาญ)’ เราต้องทำงานตั้งแต่อายุ 13 – 14 ปี อยู่ในโรงงานโดนขูดรีดค่าแรง บางคนถูกโกงจนไม่เหลืออะไร บางคนกลับมาเป็นเถ้ากระดูก แต่เราก็ไปเพราะอยากให้ที่บ้านมีกิน”  

การต้องต่อสู้เพื่อจะมีชีวิตที่ดีขึ้นนี่เองที่กลายมาเป็น DNA ในการต่อสู้ของชาวลาวในภาคอีสาน เริ่มจากการพยายามปลดปล่อยตัวเองออกจากอำนาจกดขี่ของกบฏผีบุญ ต่อเนื่องมายังนักการเมือง “สี่เสืออีสาน” ในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองอันประกอบไปด้วยทองอินทร์ ภูริพัฒน์ จำลอง ดาวเรือง ถวิล อุดล และเตียง ศิริขันธ์ ส.ส.รัฐมนตรีอีสาน ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแข็งขันและเป็นปากเสียงให้กับผู้ที่อยู่นอกศูนย์กลางอำนาจกรุงเทพฯ จนถูกวิสามัญฆาตกรรมทางการเมืองโดยรัฐตำรวจเป็นกลุ่มแรก ๆ

“นี่คือพื้นที่สำหรับคนที่ไม่พอใจกับอำนาจรัฐที่เล่นงานประชาชน” ธีระพลบอกกับเรา เพราะหลังจากยุคของสี่รัฐมนตรีแล้ว ในช่วงหลังสงครามโลก ดินแดนแห่งนี้ก็คือที่ที่อุดมการณ์สังคมนิยมเบ่งบานที่สุด “กลายเป็นว่าชาวบ้านที่นี่จับปืนร่วมรบกับพรรคคอมมิวนิสต์มากที่สุด นี่คือช่วงสงครามเย็น เสียงปืนแตกครั้งแรกอยู่ที่อีสาน บ้านนาบัว เรณูนคร นครพนม และในช่วงเวลาที่นักศึกษาลุกขึ้นสู้ 14 ตุลาผ่านไป ประชาธิปไตยเริ่มจะกลับมาแล้วก็ถูกสังหารที่ธรรมศาสตร์ตอน 6 ตุลา พื้นที่ที่นักศึกษาต้องฝากชีวิตทุกอย่างไว้ก็คือพื้นที่ที่อีสาน ขึ้นเหนือก็มี ลงใต้ก็มี แต่พื้นที่หลักก็อยู่ที่อีสาน”

สงครามเย็นผ่านพ้น สงครามทรัพยากรก็เริ่มต้นขึ้นในปี 2535 รัฐมีโครงการสร้างเขื่อนปากมูลที่อุบล พร้อม ๆ กับโครงการจัดสรรที่ดินทำกินสำหรับเกษตรกรผู้ยากจน แต่การจัดสรรที่ดินทำกินนั้นกลับเป็นการผลักไสชาวบ้านออกจากที่ทำกินเดิม การลุกขึ้นสู้ของชาวบ้านในภาคอีสานในนาม สมัชชาเกษตรกรรายย่อย จึงเริ่มต้นขึ้น

“แกนนำชาวบ้านที่ลุกขึ้นต้านเขื่อนปากมูลเคยพูดกับผมตอนผมเป็นนักข่าวว่า พวกเฮาเป็นลูกหลานของกบฏผีบุญ เฮาถืกทำร้ายมาตลอด จนถึงรุ่นเฮา เฮายังถืกทำร้ายคือเก่า เขาเลยลุกขึ้นปลดปล่อยตัวเองออกจากการพัฒนาที่ไม่เห็นค่าประชาชน ชาวบ้านบริเวณสันเขื่อนไม่ได้อะไรจากการสร้างเขื่อนเลย บ้านหายไป ที่ทำกินหายไป อาชีพที่เคยทำมาหากินกับแม่น้ำมูลก็กลายเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้เพราะถูกห้าม นั่นแหละคือรุ่นถัดมาของการต่อสู้”  

‘เมืองหลวงของคนเสื้อแดง’ คือสิ่งที่คนบางส่วนในบางจังหวัดของภาคอีสานใช้นิยามจังหวัดของเขาในช่วงเวลาหลังการรัฐประหารปี 2549 เพื่อโค่นอดีตรักษาการนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร สำหรับประชาชนในภาคอีสานส่วนใหญ่แล้ว พรรคไทยรักไทยคือพรรคการเมืองที่ทำให้พวกเขาเชื่อว่าประชาธิปไตยนั้นกินได้และทำให้พวกเขามีความหวังถึงชีวิตที่ดีกว่า ช่วงก่อนรัฐประหารที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณาตัดสินยุบพรรคไทยรักไทยนั้น กลุ่มผู้สนับสนุนไทยรักไทยในภาคอีสานก็เคลื่อนไหวในนามคาราวานคนจน ขับรถอีแต๋นเข้ากรุงเพื่อปกป้องรัฐบาลที่พวกเขาได้เลือก ก่อนที่จะมีกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ขึ้น และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในท้ายที่สุด

“อีกสองตัวอย่างที่คลาสสิกมากสำหรับแผ่นดินที่ราบสูงที่มันสืบเนื่องจากผีบุญคือ ถ้าคุณกลับไปดูการโหวตรัฐธรรมนูญปี 2550 รัฐธรรมนูญที่มาจากการร่างของคณะรัฐประหาร คุณจะพบว่า พื้นที่ที่ vote no รัฐธรรมนูญฉบับนั้นมากที่สุดคือ พื้นที่ภาคอีสาน ภาคเหนือ และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เคยถูกปราบปรามในยุคต้นปี 1900 ทั้งนั้น นี่คือพื้นที่ที่ต่อต้านอำนาจที่มันไม่ได้มาด้วยการยึดโยงกับเสียงและความต้องการของประชาชน”

“ขุนขี่ค้านครองเมืองบ่เฮืองหุ่ง (ขุนขี้เกียจครองเมืองไม่เรืองรุ่ง)” คือคำตอบของธีระพลเมื่อเราถามว่าเพราะเหตุใดเราจึงเห็นลูกอีสานเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยทุกยุคทุกสมัย เพราะทุกข์ยาก เพราะเดือดร้อน เพราะถูกกดขี่และไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากส่วนกลาง ความหวังทั้งหมดของผู้คนในดินแดนที่ราบสูงแห่งนี้จึงต้องฝากไว้กับใครสักคนที่จะเป็นปากเป็นเสียงเพื่อพวกเขาได้ และบางครั้งพวกเขาก็ต้องลุกขึ้นสู้ด้วยตัวเอง “ผมไม่ได้อวยคนที่นี่ แต่การเลือกตัวแทนคุณต้องเลือกคนที่จะเป็นปากเป็นเสียง มันคืออุดมการณ์ประชาธิปไตยที่จะเอาคนที่ตัวเองเสนอตัวเป็นตัวแทนไปพูดในสภา ทำไมนักการเมืองอีสานมักจะเป็นคนที่ต่อสู้เพื่อชาวบ้าน ก็เพราะเขาเป็นตัวแทนจากคนที่เดือดร้อนจริง ๆ ถ้าไปศิโรราบหรือแสร้งไม่เห็นความเดือดร้อนในพื้นที่ของตัวเอง คุณไม่ได้รับเลือกในสมัยต่อไป”

เมื่อกล่าวถึง DNA นักต่อสู้ของคนในภาคอีสานที่ส่งต่อกันมารุ่นสู้รุ่น วิทยากรก็เสริมว่า แม้ในภูมิภาคนี้จะมีการต่อสู้ครั้งอื่น ๆ แต่กบฏผู้มีบุญก็ถือว่าเป็น ‘ผู้มีคุณูปการ’ ในการต่อสู้ของชาวที่ราบสูง เพราะนี่อาจเป็นเหตุการณ์ที่มีคนถูกสังหารโดยรัฐไทยมากที่สุด แต่กลับเป็นการตายที่ ‘ไร้เสียง’ มากว่าร้อยปี“

แต่แม้จะถูกกดทับไว้ วัฒนธรรมคนบ้านเฮามันกะสิซิ่มกัน (วัฒนธรรมคนบ้านเราก็จะกระซิบกระซาบกัน) ไม่มีนิทานจากภูมิภาคไหนในประเทศไทยที่พูดถึงการต่อต้านอำนาจมากเท่านิทานก้อมในอีสาน และยังเป็นการต่อต้านด้วยอารมณ์ขัน” วิทยากรชักชวนเรานึกถึงอารมณ์ขันที่ว่าด้วยเพลง โบว์รักสีดำ ที่แม้จะมีเนื้อหาแสนเศร้าแต่ทำนองกลับสนุกสนานจนอดขยับร่างกายตามไม่ได้ เพื่อเทียบเคียงกับวิธีการที่ผู้คนในดินแดนแห่งนี้หล่อเลี้ยงกระแสสำนึกของการต่อสู้ไว้ได้  

“คนลาวมีลักษณะประหลาด หัวเราะได้ทั้งน้ำตา อารมณ์ขันเหล่านี้แหละที่ทำให้จิตวิญญาณของการต่อสู้เราไม่สูญหาย มันทำให้เรามีการต่อสู้แบบรื่นรมย์จนถึงตอนนี้ได้ ในความเจ็บปวด คุณก็ยังหัวเราะได้ แม้จะหัวเราะทั้งน้ำตา เหมือนเราเดินตากฝนแล้วรู้ว่าเราจะเปียก แต่เราก็จะเดิน เปียกกะซางมัน กูสิยางไปฮอดเป้าหมาย แล้วร้องเพลงไปด้วย ผมว่านอกจากจะเป็นยีนของการต่อสู้แล้วมันมีอัตลักษณ์เรื่องของอารมณ์ขันที่ทำให้เราสู้มาได้ถึงป่านนี้”

ส่วนธีระพลมองว่าในห้วงเวลาที่การประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐที่ประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การหล่อเลี้ยงกระแสสำนึกทางการต่อสู้ด้วยการยกเรื่องของกบฏผู้มีบุญขึ้นมากล่าวถึงอีกครั้งนั้นไม่ใช่การฟื้นฝอยหาตะเข็บหรือสร้างความแตกแยก แต่คือการเปิดพื้นที่พูดคุยเรื่องประวัติศาสตร์บาดแผลที่รัฐไทยได้เคยก่อไว้ และเช่นเดียวกับอัตลักษณ์ที่ทำให้คนในภาคอีสานยังคงหล่อเลี้ยงกระแสสำนึกไว้ได้ Ubon Agenda เลือกที่จะใช้การปฏิบัติการทางศิลปะเข้ามาช่วยสื่อสาร

“ประเด็นคือเราจะพูดถึงมันแบบไหน ก็ได้ข้อสรุปว่าต้องใช้สุนทรียะค่อย ๆ เผยมันออกมา คำตอบไม่ได้อยู่ที่คนทำงาน คำตอบอยู่ที่คนที่ไปเห็นสิ่งที่มันถูกแสดง อย่างน้อยเขาก็ตั้งคำถาม เราจะไม่พูดตรง ๆ แต่ให้ศิลปะมันทำหน้าที่ ให้ชาวบ้านได้มีส่วนในเรื่องเล่า ต่อให้เขาจะเล่าตามเรื่องเล่าแบบรัฐไทย เราก็ต้องฟัง เพราะเป็นใครก็คงเล่าแบบนี้ทั้งนั้นเมื่อถูกสอนให้เล่าแบบนี้ เมื่อมีคนกำหนดแกรมมาร์ของเรื่องเล่า กำหนดโครงสร้าง กำหนดพลอตให้ แต่เสียง ambient ที่มันแทรกขึ้นมา นั่นแหละที่เราจะต้องฟัง”  

“ถามว่าการยกเรื่องนี้มาพูดคุยในตอนนี้มันสำคัญยังไง คุณลองนึกถึงพรศักดิ์ที่จู่ ๆ ได้มาร้องเพลงกับเบิร์ดสิ มันสำคัญ เพราะเสียงจากพรศักดิ์มันคือหนึ่งในเสียงที่หลากหลาย มันคือการประสานเสียง มันทำให้เพลงไม่ได้มีเสียงเดียว ดอกไม้ไม่ได้มีแค่สีเดียว เสื้อไม่ได้มีแค่สีเดียวที่จะใส่ มันคือความงาม มันคือความหลากหลาย แล้วให้คนได้เสพว่ามันมีเรื่องมากกว่านี้ มันมีอะไรอีกเยอะแยะเต็มไปหมด” 

อ้างอิง

https://www.car.chula.ac.th/display7.php?bib=b1285008

https://www.silpa-mag.com/history/article_36069

https://www.silpa-mag.com/history/article_6320


Writer

Avatar photo

ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา

อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า

Photographer

Avatar photo

ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts

Interpersonal

‘หมอโอ๋’ เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน : เด็กๆ กับโอกาสติดโควิด และการกลับไปโรงเรียนหนนี้ที่ไม่เหมือนเดิม