คุยข้ามโลก ปิดบ้าน เปิดการเรียนรู้

สหรัฐอเมริกา: พาลูกออกจากโรงเรียน เปลี่ยนบ้านเป็นห้องสมุดใหญ่ที่สุดในโลก

  • บ้าน คือห้องสมุดขนาดย่อมที่ช่วยเปิดโลกการเรียนรู้ของเด็กได้
  • Fine Motor Skills หรือ การกระตุ้นพัฒนาการด้วยการฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก จากการใช้นิ้วมือ หัวใจการพัฒนาสมองของเด็ก
  • คุยกับโจ คุณพ่อลูกหนึ่ง กับแนวทางเสริมการเรียนรู้ให้ลูก เมื่ออยู่ในประเทศที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากที่สุดในโลกอย่างสหรัฐอเมริกา

เพื่อป้องกันไม่ให้จำนวนคนไร้บ้านเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจึงออกกฎห้ามเจ้าของห้องเช่า (landlord) ไล่ผู้เช่าออกในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

คำบอกเล่าถึงหนึ่งในมาตรการการเยียวยาของภาครัฐ จาก โจ หรือ ผณิศวร ฉัตรสิงห์ คุณพ่อของลูกสาววัย 4 ขวบ ที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกามานาน 8 ปี และในฐานะผู้เช่า โจได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย

หลังลาออกจากการเป็น Software Engineer เพื่อมาประกอบธุรกิจส่วนตัวที่รัฐแคลิฟอร์เนียทำให้โจต้องขาดรายได้หลักมากพอสมควร แต่ด้วยมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐทำให้ช่วงเวลาที่ผ่านมา เขาและครอบครัวไม่ตกอยู่ในที่นั่งลำบากมากเกินไป 

อย่างไรก็ตามโจกล่าวว่า ผลกระทบที่ได้รับในครั้งนี้ กลับเป็นเรื่องการเรียนของลูกสาวเสียมากกว่า

“ตอนนั้นลูกสาวน่าจะ 3 ขวบ เราก็ต้องพาเขาออกจากโรงเรียน เพราะทางโรงเรียนเริ่มรับมือไม่ไหว แม้จะมีคอร์สออนไลน์ออกมา แต่เราคิดว่าคงไม่คุ้ม เพราะไม่เคยมีใครเรียนคอร์สออนไลน์ เลยเอาเขาออกมาดีกว่า”

การนำลูกออกจากโรงเรียนกลางคันอาจเป็นสิ่งที่หลายคนกังวลว่าเด็กจะขาดการเรียนรู้หรือไม่ แต่สำหรับโจแล้วเขากลับไม่เห็นอย่างนั้น

การศึกษาที่ดีที่สุด คือการให้เด็กได้ทำในสิ่งที่สนใจ

โจเห็นว่า เด็กวัย 4 ขวบ วิชาการ (academic) ยังไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นนัก

“ตอนนี้ลูกไม่ได้เรียนในโรงเรียนเลย ถ้าพร้อมก็คงให้เขากลับไป แต่ตอนนี้แค่รู้สึกว่า ช่วงอายุของเขาคือต้องทำอย่างอื่น ไม่ใช่มานั่งท่องจำ abc หรือเรียนคณิตศาสตร์(math) ไม่ต้องมานั่งคัดลายมือ หรืออ่านหนังสือเพื่อท่องจำ หรือแม้แต่เรียนออนไลน์ก็ตาม เด็กเขาเรียนรู้เร็วอยู่แล้ว ไม่ต้องไปกำหนดอะไรให้เขา”

ถึงอย่างนั้นเพื่อไม่ให้ลูกสาวขาดการเรียนรู้ในช่วงเวลานี้ไป โจจึงใช้หนังสือในการเสริมพัฒนาการ จนทำให้บ้านของเขา ณ เวลานี้เป็นเสมือนห้องสมุดขนาดย่อมของลูกสาวไปแล้ว

“มันมหัศจรรย์มากนะ เขาอ่านหนังสือเยอะมาก จนกลายเป็นว่าเขาเริ่มอ่านได้เอง เข้าใจภาษาได้เองแม้จะไม่ถูก 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ถือว่าเขาได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง”

นี่คือผลลัพธ์ของความเชื่อที่โจมั่นใจมาเสมอว่า หนังสือเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่าห้องเรียน

นอกจากนี้โจยังเสริมอีกว่าเขาพึงพอใจมากกับโครงการการแจกหนังสือในช่วงสถานการณ์โควิดของห้องสมุด โดยผู้ปกครองสามารถไปเลือกหนังสือต่างๆ ได้ตามห้องสมุดของเมือง เพื่อนำมาให้เด็กๆ ที่บ้าน ซึ่งสวัสดิการเช่นนี้ถือว่าเป็นการสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กในช่วงที่ไม่สามารถไปโรงเรียนหรือเรียนรู้นอกพื้นที่ได้ เพราะหนังสือถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการเปิดโลกการเรียนรู้สำหรับโจ

ทั้งนี้แม้ว่าโรงเรียนจะไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับเด็กในวัยอย่างลูกสาวของโจ แต่เมื่อถึงเวลาที่สมควร เขาบอกว่าการพาลูกกลับเข้าโรงเรียนก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่ได้มองข้าม

โจเล่าว่าโรงเรียนที่ลูกสาวของเขาศึกษาก่อนหน้านี้คือ โรงเรียนแบบ Montessori School ที่เน้นเรื่องการดำรงชีวิตเป็นหลัก อาทิ สอนให้เด็กรู้จักการทำงานบ้าน หรือแม้แต่การเล่นของเล่นที่มาจากของจริง 

ยกตัวอย่างเช่น การนำแก้วที่มีน้ำ และแก้วที่มีถั่วมาวางไว้เพื่อให้เด็กตักย้ายน้ำ ย้ายถั่วสลับกัน จุดประสงค์ของการเล่นในครั้งนี้ก็เพื่อเสริมพัฒนาการทางประสาทสัมผัสจากการจับ การมอง ทั้งช่วยให้เด็กได้รู้จักความอดทนอดกลั้น หรือแม้กระทั่งการตัดสินใจด้วยตัวเอง เป็นต้น

ดังนั้นการที่จะให้ลูกสาวกลับไปเรียนโรงเรียนอีกครั้ง โจจึงมองหาโรงเรียนที่มีหลักสูตรการเรียนการสอนที่ไม่ต่างไปจากเดิม เพราะโจเห็นว่าวิธีการเรียนการสอนเช่นนี้จะทำให้เด็กนำความรู้ที่ได้เรียนมาปรับใช้กับชีวิตในโลกของความเป็นจริงได้ 

“โรงเรียนนี้เขาเน้นตัวเด็กมาก ไม่ใช่ให้เด็กไปนั่งเรียนเฉยๆ แล้วมีบทเรียนที่กลับมาก็ต้องทบทวน แล้วก็มีการบ้านอีก แต่สิ่งที่เด็กโรงเรียนนี้ต้องทำคือ การทำโปรเจ็คต์ยาวๆ กับเพื่อน โดยเขาต้องทำรีเสิร์ช หาข้อมูลต่างๆ ร่วมกัน มันทำให้เขาได้เรียนรู้เรื่องทีมเวิร์ค”

โจตั้งใจให้ลูกสาวเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนรัฐบาล (public school) เขาให้เหตุผลว่าด้วยสวัสดิการการศึกษาของประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องสิทธิและเสรีภาพนี้ การศึกษาจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าถึงได้ สวัสดิการการเรียนฟรีจนถึงอายุ 18 ปี และคุณภาพโรงเรียนที่ไม่แตกต่างกันมากทำให้โจไม่กังวลที่จะส่งลูกเข้าเรียน อีกทั้งการเรียนการสอนของโรงเรียนแห่งนี้ที่เน้นให้เด็กทำโปรเจ็คต์ร่วมกัน จะช่วยให้เด็กเรียนรู้การอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น เสริมด้วยการค้นคว้าหาสิ่งที่สนใจด้วยตัวเองจะยิ่งทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีที่สุดได้ 

ยิ่งไปกว่านั้นการไม่มีการบ้านเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่โจให้ความสำคัญ เนื่องจากเขาเห็นว่าการที่เด็กต้องทำการบ้านหลังเลิกเรียน เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น เพราะการบ้านจะเป็นตัวบดบังเวลาของการเรียนรู้ในสิ่งที่เด็กสนใจ

เรียนรู้ที่จะ ‘เชื่อใจ ล้มเหลว และเจ็บปวด’ นอกห้องเรียน

ช่วงก่อนโควิด โจเล่าว่าเขามักพาลูกไปเรียนบัลเลต์ แต่เกิดเหตุการณ์กระทบใจบางอย่าง จึงทำให้ลูกสาวไม่อยากกลับไปเรียนอีก ประกอบกับสถานการณ์โควิดด้วยจึงทำให้กิจกรรมของลูกต้องหายไป

โจจึงหากิจกรรมให้ลูกสาวสามารถทำได้ที่บ้านไม่ว่าจะเป็น การวาดรูป ต่อจิ๊กซอว์ หรือแม้กระทั่งการประกอบหุ่นยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

ด้วยความที่โจชอบต่อหุ่นยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อยู่แล้ว เขาจึงนำสิ่งที่ตนชอบมาเล่นกับลูกเพื่อไม่ให้ตัวเองและลูกเครียด หรือเบื่อมากจนเกินไป

“เราจะให้ความสำคัญกับ Fine Motor Skills มาก เรื่องของการใช้นิ้ว อะไรก็ตามที่ใช้มือเราก็ให้เขาทำ เช่น ต่อจิ๊กซอว์ ต่อเลโก้ หรืออะไรที่ค่อนข้างแหวกแนว (unconventional) เช่น การเย็บผ้า เพราะแม่เขาเย็บผ้าอยู่แล้ว เราก็ให้เขาใช้เข็มและด้ายจริง หรือพวกไขควงเอาไว้ทำงานช่าง เราก็ให้เขาได้ลองจับเองเลย โดยเราคอยดูแลเขาอยู่”

โจเห็นว่าการให้ลูกได้แกะและต่อชิ้นส่วนต่างๆ ของหุ่นยนต์นั้น จะช่วยพัฒนา Fine Motor Skills หรือ การกระตุ้นพัฒนาการด้วยการฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กจากการใช้นิ้วมือ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาสมองของเด็ก ทั้งยังฝึกความอดทน และช่วยเสริมความมั่นใจให้เด็กได้เป็นอย่างดี 

“การให้เด็กได้ลองทำอะไรที่เหมือนกับผู้ใหญ่ทำ เขาจะรู้สึกภูมิใจ เวลาให้ทำสิ่งต่างๆ สำเร็จ เพราะนั่นหมายถึง การที่เขาได้ทำสิ่งที่เท่ากับเรา”   

นอกจากนี้แล้วโจยังรู้จักความเป็น perfectionist ของลูกสาวตัวเองเป็นอย่างดี โดยเขายกตัวอย่างการแต่งตัวที่ใช้เวลานานมากของลูกสาว เพราะต้องเป๊ะและสมบูรณ์แบบอยู่เสมอ จนบางครั้งการทำอะไรที่ไม่ถูกร่องถูกรอยนั้น ทำให้ความมั่นใจของลูกสาวเขาลดลงทันที 

การแก้ไขของโจคือการให้ลูกได้เรียนรู้จากการลองผิดลองถูก พร้อมบอกกับลูกเสมอว่า สิ่งที่ทำนั้นไม่มีถูกไม่มีผิด และการได้ทำสิ่งต่างๆ หลายครั้งคือสิ่งที่สนุกเสียมากกว่า

“เรามักบอกเขาเสมอว่า everything doesn’t have to be perfect การไม่มี second try ไม่มี third and fourth try เพราะดีตั้งแต่แรก ก็จะไม่มีความล้มเหลว (failure) เพราะถ้าไม่มี failure ก็คงไม่ได้เรียนรู้อะไรเพิ่ม แล้วก็คงไม่สนุก มันสนุกที่ได้ทำหลายครั้งมากกว่าเพอร์เฟ็คต์ตั้งแต่ครั้งแรก”

แน่นอนว่าเมื่อเกิดความล้มเหลวมักเกิดความเจ็บปวดไม่ว่าจะทางกายหรือทางจิตใจ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่โจกังวล เพราะเขาเชื่อว่าถ้าพ่อแม่มีความเชื่อใจ (trust) ให้ลูกจะยิ่งช่วยเสริมความมั่นใจของเด็กได้

“trust ที่มีให้เด็ก จะทำให้เขามั่นใจ ถ้าไม่กล้าให้เด็กเจ็บตัวหรือเจ็บปวด แล้วจะให้เขาเป็นคนที่กล้าได้กล้าเสี่ยงได้อย่างไร ถ้าเรายังไม่กล้า แล้วเขาจะกล้าได้อย่างไร เรื่องเข็ม ไขควง สว่าน อะไรที่พอให้เขาทำได้ผมก็อยากให้ทำ อย่างเก่งก็แค่เลือดออกและเจ็บนิดหน่อย”

ดังนั้นสำหรับโจแล้วเด็กต้องได้ลองเรียนรู้และเจ็บปวดด้วยตัวเองบ้าง โดยพ่อแม่มีหน้าที่คอยสนับสนุนเขาเพียงเท่านั้น 

การเปรียบลูกเป็นเหมือนลูกธนู และพ่อแม่คือคันธนู คือสิ่งที่โจยึดมั่น เพราะสำหรับเขาแล้ว 

“พ่อแม่มีหน้าที่ส่งลูกให้ไปไกลที่สุด การที่จะส่งมนุษย์คนหนึ่งให้ไปไกล ต้องไม่ใช่ไปไกลกว่าเรา แต่ต้องไปไกลในทางที่เขาอยากไป และไกลที่สุดเท่าที่เขาอยากจะไป หรือเขาอาจไม่อยากไปไกลเลยก็ได้ นั่นก็ชีวิตเขา”


Writer

Avatar photo

ธัญชนก สินอนันต์จินดา

บัณฑิตไม่หมาดจากรั้วเหลืองแดง ที่พกคำว่า ‘ลองสิ’ ติดหัวตลอดเวลา เพราะเชื่อว่าประสบการณ์ชีวิตเกิดจากการไม่กลัวและลงมือทำเท่านั้น

Related Posts