VACATION BLUE ใจหายหลังเที่ยว:

ชวนพ่อแม่รับมือกับ “Post Vacation Blue” ของตัวเอง (และของลูก ๆ) อย่างอ่อนโยน

ช่วงเวลาวันหยุดที่ได้อยู่พร้อมหน้ากันในครอบครัว มักเต็มไปด้วยภาพที่อาจไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก
เสียงหัวเราะที่ไม่มีเสียงแจ้งเตือน
การได้กินข้าวพร้อมกันโดยไม่มีตารางเรียนหรือประชุม
และโมเมนต์ที่เราคิดในใจว่า…อยากให้เวลานี้อยู่กับเรานานกว่านี้อีกหน่อย

เมื่อวันหยุดจบลง หลายครอบครัวต้องกลับเข้าสู่ตารางเดิม
เด็กกลับไปสู่กิจวัตรเดิม ผู้ใหญ่กลับไปทำงาน
จากวันที่เต็มไปด้วยแสงแดด กลับกลายเป็นวันธรรมดาที่วุ่นวาย
การจะมีความรู้สึก “ใจหาย” หรือ “โหยหา” ความสุขอยู่บ้างจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลย

นี่คือสิ่งที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า Post Vacation Blue
และมันเกิดขึ้นได้ทั้งกับพ่อแม่…และกับเด็ก ๆ เช่นกัน

Post Vacation Blue คืออะไร?  อาการที่ไม่ต้องมีใครเป็นโรคอะไร ก็รู้สึกได้

Vacation Blue หรือที่เรียกกันว่า Post-Vacation Blues คือภาวะทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากวันหยุดพักผ่อนหรือการเดินทางท่องเที่ยว โดยผู้ที่เผชิญภาวะนี้มักรู้สึกเหงา เบื่อ เศร้า หดหู่ หรือไม่มีแรงจูงใจในการกลับเข้าสู่ชีวิตประจำวันและการทำงานหรือรู้สึกว่างเปล่าหลังจากช่วงเวลาวันหยุดผ่านไป เพราะร่างกายและจิตใจกำลังเข้าสู่ภาวะปรับตัวทางอารมณ์หลังจากประสบการณ์ที่ให้ความสุขสูง แล้วต้องกลับเข้าสู่สภาพแวดล้อมเดิมที่อาจไม่ได้เติมใจเท่าเดิม

สำหรับผู้ใหญ่ เราอาจรู้สึกแบบนี้ในรูปแบบของความเฉื่อย ความรู้สึกหมดไฟ หรืออาการดิ่งเล็ก ๆ
สำหรับเด็ก ๆ มันอาจแสดงออกมาเป็นการงอแงง่ายขึ้น หงุดหงิด ซึมเงียบ หรือแม้แต่ปฏิเสธกิจวัตรที่เคยทำได้สบาย ๆ มาก่อน

สิ่งสำคัญคือ…พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องรีบแก้
แต่ขอให้เราเริ่มต้นด้วยความเข้าใจ

ลักษณะและอาการ Post Vacation Blue ในผู้ใหญ่ 

  • ความเศร้าและความคิดถึง: รู้สึกโหยหาความสุขและประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงวันหยุดที่ผ่านมา
  • พลังงานต่ำ: อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย และไม่มีแรงกระตุ้นในการทำงานหรือกิจวัตรประจำวัน
  • สมาธิสั้นและวิตกกังวล: มีปัญหาในการจดจ่อกับงาน และรู้สึกไม่มั่นคงเมื่อต้องกลับไปเผชิญหน้ากับความรับผิดชอบ
  • อารมณ์แปรปรวน: หงุดหงิดง่าย หรือแสดงความไม่พอใจต่อสิ่งเล็กน้อยในชีวิตประจำวัน

ลักษณะและอาหาร Post Vacation Blue ในเด็ก

  • แสดงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป
    เด็กอาจแสดงออกถึงความรู้สึกผ่านพฤติกรรม เช่น ความหงุดหงิดง่าย การแยกตัว หรือไม่อยากไปโรงเรียน
  • อาการทางร่างกาย
    เด็กบางคนอาจมีปัญหาเรื่องการนอน เช่น ตื่นกลางดึก หรือมีอาการเหนื่อยล้าอย่างต่อเนื่อง
  • ความรู้สึกเศร้าหรือวิตกกังวล
    เด็กอาจรู้สึกเศร้าหรือวิตกกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงกลับสู่ชีวิตประจำวัน เช่น การต้องกลับไปเรียนหนังสือหรือทำกิจวัตรเดิมๆ
  • การเปรียบเทียบชีวิตประจำวันกับวันหยุด
    เด็กมักเปรียบเทียบความสนุกในช่วงวันหยุดกับชีวิตประจำวันที่ดูธรรมดา ทำให้รู้สึกเบื่อหน่ายหรือผิดหวัง

สาเหตุของ Post Vacation Blue

  • การเปลี่ยนแปลงจากกิจกรรมที่สนุกสนานในวันหยุดกลับสู่กิจวัตรประจำวันที่ซ้ำซากและเต็มไปด้วยความเครียด
  • ความคาดหวังสูงว่าชีวิตหลังวันหยุดจะยังคงมีความสุขเหมือนเดิม แต่ความจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น
  • ความเหนื่อยล้าทางร่างกายและจิตใจจากการเดินทางหรือกิจกรรมที่มากเกินไป

อาการ Post Vacation Blue นี้เกิดได้ทั้งกับผู้ใหญ่ และ “เด็ก ๆ” โดยเฉพาะในช่วงวัยที่ยังอธิบายอารมณ์ตัวเองไม่เก่ง การเปลี่ยนแปลงจาก “ช่วงเวลาดี ๆ” มาสู่ “ความจริงที่ธรรมดา” อาจทำให้พวกเขารู้สึกหงุดหงิด งอแง หรือดูไม่เหมือนเดิม

แล้วเราจะรับมือกับอาการ Post Vacation Blue ของเรากับเด็กๆ อย่างไร?

1. พูดคุย รับฟัง ยอมรับความรู้สึกของตัวเอง — และของลูก

พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องเก็บความเศร้านั้นไว้คนเดียว
หลายครั้งพ่อแม่พยายามยืนให้มั่นโดยไม่แสดงอารมณ์
แต่ในความเป็นจริง การบอกลูกว่า “แม่ก็คิดถึงช่วงเวลานั้นเหมือนกัน” กลับเป็นการเปิดพื้นที่ให้ความรู้สึกของทุกคนมีตัวตน

ยิ่งเราเปิดพื้นที่ให้ความรู้สึกได้แสดงตัว โดยไม่ต้องเร่งจัดการ ลูกก็จะได้เรียนรู้ว่า ความรู้สึกเศร้า ไม่ใช่สิ่งที่ต้องหลบหลีก แต่เป็นสิ่งที่เราเข้าใจมันได้อย่างปลอดภัย

เมื่อลูกเห็นว่าเราไม่ซ่อนสิ่งที่รู้สึก พวกเขาก็จะกล้าเผชิญความรู้สึกของตัวเองมากขึ้นโดยไม่กลัวผิด

การเข้าใจว่า “ความรู้สึกไม่ดี” ไม่ใช่ “สิ่งผิด” เป็นทักษะสำคัญในการเติบโตทั้งของเด็ก และของพ่อแม่

2. เชื่อมประสบการณ์ดี ๆ กับชีวิตประจำวัน

ทริปไม่ได้จบแค่ที่สถานที่ แต่อยู่ในความทรงจำที่เราดึงกลับมาได้ และ Vacation จะไม่ใช่ “สิ่งที่ผ่านไปแล้ว” ถ้าเรายังดึงเสี้ยวหนึ่งของมันมาอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น ฟังเพลงที่เปิดในรถระหว่างทางไปโรงเรียน ชวนทำหรือกินอาหารที่คล้ายกับมื้อที่ลูกชอบที่สุดในทริปเอาโปสการ์ดจากสถานที่นั้นมาแปะหน้าตู้เย็น

งานวิจัยจาก Harvard ชี้ว่า การทบทวนประสบการณ์ดี ๆ ช่วยให้เรายืดความสุขและลดความเครียดสะสมหลังการเดินทางได้จริง

3. ให้ลูก (และตัวเราเอง) ได้ “สรุปเรื่องราว” ในแบบที่เป็นธรรมชาติ

เด็ก ๆ อาจยังไม่รู้จักคำว่า “คิดถึง” หรือ “ใจหาย”
แต่พวกเขาอาจวาดรูปทะเลโดยไม่พูดอะไร

หรือเปิดคลิปที่ถ่ายไว้ซ้ำ ๆ โดยไม่บอกเหตุผล

ลองเปิดพื้นที่ให้ลูกได้ “เล่า” ทริปในแบบของเขา ผ่านภาพ ผ่านเสียง ผ่านของเล่น หรือบทสนทนาสั้น ๆ
หรือลองชวนลูกทำสมุดทริป วาดภาพสถานที่ที่ชอบ เขียนคำพูดที่ประทับใจ หรือเลือกภาพมาจัดอัลบั้ม
ไม่ต้องสวย ไม่ต้องสมบูรณ์ แค่ให้มันเป็นพื้นที่ที่เรายังอยู่กับความทรงจำด้วยกัน

งานวิจัยจาก Yale (2016) ระบุว่า “การช่วยเด็กเรียบเรียงประสบการณ์อารมณ์ ช่วยเพิ่มความสามารถในการรับมือความเปลี่ยนแปลงในอนาคต”

4. ให้หัวใจมีบางอย่างให้รอคอย

ไม่ต้องรอทริปหน้าเสมอไป บางครั้งแค่กิจกรรมเล็ก ๆ อย่าง “วันศุกร์ทำของว่างด้วยกัน”
หรือ “เสาร์นี้ไปเดินเล่นสวนใกล้บ้าน” หรือแม้แต่ “ตั้งชื่อทริปหน้าด้วยกัน” ก็พอจะช่วยให้ใจของเด็ก ๆ และพ่อแม่มีแรงขับเล็ก ๆ
ที่ทำให้เรายังอยากตื่นขึ้นมาในวันถัดไป นักจิตวิทยาเรียกสิ่งนี้ว่า anticipatory joy ความสุขจากการเฝ้ารอ ซึ่งมีพลังมากกว่าที่เราคิด

นักจิตวิทยาจาก Psychological Science (Kumar et al., 2014) พบว่า “แค่การได้ตั้งตารอสิ่งดี ๆ แม้ยังไม่เกิดขึ้น ก็ช่วยลดความเครียดและสร้างความสุขได้เทียบเท่าประสบการณ์จริง”

5. สร้างกิจวัตรใหม่อย่างค่อยเป็นค่อยไป

การสร้างกิจวัตรใหม่หลังวันหยุดเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการช่วยให้เด็กปรับตัวกลับเข้าสู่ชีวิตประจำวันได้อย่างราบรื่น การทำเช่นนี้จะช่วยลดความเครียดและทำให้เด็กรู้สึกสบายใจมากขึ้น 

การกลับเข้าสู่กิจวัตรประจำวันนี้ ไม่จำเป็นต้อง “ฮึบ” หรือ “รีบลืม” บางครั้งการ “กลับมา” อย่างช้า ๆ
การปล่อยให้ใจยังอยู่กับกลิ่นของทะเลอีกนิด เสียงหัวเราะของลูกอีกหน่อย ก็เป็นวิธีเยียวยาที่อ่อนโยนที่สุด

อย่าลืมว่า post-vacation blue เป็นเพียงภาวะชั่วคราว

post-vacation blue เป็นเพียงภาวะชั่วคราว มันอาจมาในรูปของความว่างเปล่าเล็ก ๆ หรือความรู้สึกไม่คุ้นเคยกับวันธรรมดาที่เคยชินแต่มันจะค่อย ๆ จางลง เมื่อร่างกายและใจของเราปรับจังหวะได้ใหม่ เมื่อเราเริ่มรู้สึกว่า…แม้ไม่มีวิวสวย ๆ หรือโมเมนต์พิเศษ แต่เรายังมีความหมายกับกันและกันอยู่ในทุกวัน

และขอให้เชื่อว่า ทั้งเราและลูก ต่างมีศักยภาพในการปรับตัวมากกว่าที่เราคิดเสมอ แม้จะมีความงอแงบ้าง หงอยบ้าง เงียบบ้าง แต่นั่นคือส่วนหนึ่งของกระบวนการที่กำลังคลี่คลาย

วันหนึ่ง ลูกจะค่อย ๆ หัวเราะกับกิจวัตรที่เคยเบื่อ พ่อแม่จะกลับมามีแรงในบทบาทที่เหนื่อยล้า และครอบครัวจะพบ “จังหวะใหม่” ของการใช้ชีวิต ที่มีรอยเท้าของความสุขจากทริปนั้นอยู่ด้วยเสมอ

เพียงแค่ให้เวลาตัวเองบ้าง ให้ใจกันและกันบ้าง ทุกอย่างจะกลับมานุ่มนวลอีกครั้ง — อย่างเป็นธรรมชาติของมันเอง 

แหล่งอ้างอิง

  • Yale Center for Emotional Intelligence. (2016). How Children Learn to Recognize and Manage Emotions
  • University of Sussex. (2018). Transitions and Emotional Development in Children
  • Kumar, A., Killingsworth, M., & Gilovich, T. (2014). Waiting for Merlot: Anticipatory Consumption of Experiential and Material Purchases. Psychological Science


Writer

Avatar photo

กองบรรณาธิการ Mappa

Illustrator

Avatar photo

Arunnoon

มนุษย์อินโทรเวิร์ตที่อยากสื่อสารและเชื่อมโยงกับผู้คนผ่านภาพวาด

Related Posts