- สนทนากับ วิโรจน์ อาลี สื่อมวลชนสายการเมืองจาก Voice TV และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ่วงตำแหน่งคุณพ่อลูกสอง ของคนโตวัย 9 ขวบ และคนเล็กวัย 2 ขวบ ลูกชายทั้งคู่
- “เราพยายามทำให้เขา (และเรา) มองเห็นความจำเป็นที่ต้องหาเหตุผลมาอธิบายพฤติกรรมให้ได้ ทุกอย่างต้องมาจากการรับฟังและการอธิบาย”
- ร่วมสำรวจบรรยากาศของการใช้เหตุและผล การจัดวางบทบาทหน้าที่ในบ้าน และสร้างความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น อันเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของประชาธิปไตยขนาดย่อม
“ทำไมฮิตเลอร์จึงเป็นคนไม่ดี”
อาจเป็นคำถามที่ทำให้พ่อแม่หลายบ้านครุ่นคิดอย่างหนักว่าจะอธิบายเรื่องยากๆ เช่นนี้ให้ลูกเข้าใจได้อย่างไร แต่ขณะเดียวกันคำถามที่ง่ายกว่ามากอย่าง “ทำไมผมทำแบบนี้แล้วถูกดุ แต่พอน้องทำกลับไม่โดนดุ” หรือ “ทำไมผมที่เป็นมุสลิมถึงกินหมูไม่ได้ แต่เพื่อนที่โรงเรียนกินได้” จากเรื่องใกล้ตัวแบบนี้ก็ทำให้พ่อแม่หลายคน ไปไม่เป็นเช่นกัน
เพราะเด็กคือวัยขี้สงสัย หลายคำถามจึงเกิดขึ้นเพราะเขายังไม่เข้าใจความซับซ้อนของโลก ขณะที่อีกหลายคำถามก็เกิดขึ้นเพียงเพราะเขาต้องการคำอธิบายที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน และเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของพัฒนาการ
“เราพยายามทำให้เขา (และเรา) มองเห็นความจำเป็นที่ต้องหาเหตุผลมาอธิบายพฤติกรรมให้ได้ ทุกอย่างต้องมาจากการรับฟังและการอธิบาย” วิโรจน์ อาลี สื่อมวลชนจาก Voice TV และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอบคำถามเรื่องการจัดวางบทบาทความสัมพันธ์ระหว่างการเป็นอาจารย์กับการเป็นพ่อของลูกชายทั้งสองคนที่มักถูกลูกตั้งคำถามยากๆ เป็นประจำ ตั้งแต่เรื่องประวัติศาสตร์ ศาสนา สงครามโลก ฮิตเลอร์ ไปจนถึงเรื่องในบ้านอย่างการแบ่งหน้าที่ในครอบครัว หรือการเลือกปฏิบัติระหว่างลูกคนโตวัย 9 ขวบ กับน้องคนเล็กวัย 2 ขวบ
แน่นอนว่าคงไม่ใช่หน้าที่ของผู้ปกครองเพียงอย่างเดียวในการสร้างบรรยากาศของการตั้งคำถามและการอธิบายอย่างมีหลักเหตุและผล แต่สำหรับครอบครัวของอาจารย์วิโรจน์แล้ว บทบาทของโรงเรียนก็มีส่วนสำคัญด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะโรงเรียนที่ต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้มีอิสระในการแสดงความคิดและอิสระในการเลือก รวมไปถึงการทำให้ทุกคนรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมไปด้วยกัน ทั้งเด็ก ครู และผู้ปกครอง
ถัดจากนี้ไปเป็นบทสนทนาของ mappa กับอาจารย์วิโรจน์ เพื่อร่วมแชร์ประสบการณ์การเลี้ยงลูกผ่านหลักของเหตุและผล การรับฟังซึ่งกันและกัน การแบ่งหน้าที่ การให้ความรักต่อลูกๆ อย่างเสมอภาค ไปจนถึงการขอโทษผู้อื่นหากทำผิด
ย้อนกลับไปก่อนจะมีลูก เคยจินตนาการไหมว่าตนเองจะเลี้ยงลูกแบบไหน
คิดว่า อะไรที่เราไม่เคยได้ตอนเด็ก เราก็อยากให้เขาหมดแหละครับ (หัวเราะ)
แต่สุดท้ายคือ ผมก็เป็นเหมือนพ่อของผมนั่นแหละ เพราะเวลาลูกอยากได้ของเล่น เราก็จะซื้อให้ แต่พอลูกอยากได้ทุกอย่าง มันก็เป็นไปไม่ได้ เราเลยต้องใส่เงื่อนไข เช่น ถ้าเธอเรียนได้ หรือทำอะไรที่มันโอเค เราก็จะให้เป็นรางวัล แต่บางทีก็ไม่ใช่แค่เงื่อนไขนี้อย่างเดียว มันมีทั้งของราคาแพงไป ของราคาถูกไป หรือของพวกนี้ทำได้หลายอย่างหรือเปล่า มันเกี่ยวเนื่องกับอะไรที่สามารถเอาไปใช้เรียนได้ไหม นี่คือสิ่งที่เราต้องเจรจากับลูก
พูดถึงการเจรจากัน เคยเห็นต่างกับลูกบ้างไหม
มี โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพี่ชายคนโตกับน้องคนเล็ก เช่น บางครั้งคนโตทำผิด เราก็ดุ แต่พอคนเล็กทำผิด เรากลับเข้าไปอุ้ม เขาก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเราปฏิบัติแตกต่างกัน เราก็ต้องพยายามอธิบายว่า ตอนเขายังอายุเท่ากับน้อง เราก็ปฏิบัติกับเขาเหมือนที่เราทำกับน้องนั่นแหละ อันนี้จะเป็นปัญหาที่พี่คนโตไม่ค่อยเข้าใจ เพราะเขามองว่ามันต้องเท่าเทียมกัน เราก็ต้องอธิบายให้เขาฟัง
ตัวอย่างเด่นๆ ก็เช่น 2 เดือนแรกที่ลูกคนเล็กคลอด ตัวพี่คนโตก็เงียบไม่พูดอะไร แต่พอผ่านไปไม่นานก็เดินมาบอกกับผมและภรรยาว่า พอได้หรือยัง เมื่อไหร่จะเอาน้องไปฝากไว้กับสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ตอนนั้นผมก็เลยพูดกับเขาว่า สมมุติวันนี้ผมจะเอาตัวเขาเองไปฝากสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าเช่นกัน เขาจะโอเคไหม ถ้าไม่โอเคก็แปลว่าน้องคงรู้สึกแบบเดียวกัน เราจะยกลูกเราไปให้คนอื่นได้ยังไง หลังจากนั้นมาพี่คนโตก็โอเคขึ้น พยายามขอมีส่วนร่วมในการดูแลน้อง เช่น ช่วยชงนมให้น้อง อะไรแบบนี้เป็นต้นครับ
เวลาพี่น้องทะเลาะกัน คุณพ่อแก้ปัญหาอย่างไร
ส่วนใหญ่ทะเลาะกันเรื่องของเล่น เช่น เวลาพี่คนโตเล่นอะไร คนเล็กก็จะไปแย่งเล่น พอพี่คนโตเปลี่ยนไปเล่นของใหม่ คนเล็กก็จะตามไปแย่งของใหม่ด้วย พอทะเลาะกันผมก็ต้องเข้าไปแยก ไม่ใช่ว่าคนโตทำอะไรน้องนะ แต่เป็นคนน้องนั่นแหละซัดพี่คนโตก่อนเลย (หัวเราะ)
พอเราจับแยกเสร็จผมก็พยายามอธิบายกับคนเล็กเสมอว่า ของเล่นเกือบทั้งหมดในบ้านเคยเป็นของคนพี่มาก่อน น้องแทบจะได้ของทุกอย่างที่ส่งทอดต่อมาจากพี่ทั้งนั้น ดังนั้นอยากจะขอให้แบ่งกันเล่นได้ไหม ซึ่งตอนนี้ก็โอเคขึ้น ไม่ทะเลาะกันเรื่องของเล่นแล้ว แต่ย้ายไปเรื่องใหม่แทน คือเวลาพี่จะเข้านอน แต่น้องอยากไปกวนตอนดึกๆ เพราะอยากเล่นด้วย
เคยเห็นต่างกับภรรยาเรื่องวิธีการเลี้ยงลูกบ้างไหม แล้วจัดการกันอย่างไร
ส่วนใหญ่ผมก็ต้องยอมแหละ ต้องยอมรับว่าสิ่งที่ภรรยาต้องการนั้นเขารับผิดชอบเองอยู่แล้ว ถ้าไม่ยอมก็ทะเลาะกันเปล่าๆ เพราะเขาเป็นคนรับภาระตรงนั้นในการจัดการดูแลทั้งหลายเพิ่ม
เราจึงเหมือนจะรู้กันอยู่ว่า ถ้าเป็นเรื่องที่อีกฝ่ายไม่เห็นด้วย แต่ขณะเดียวกันถ้าเป็นความรับผิดชอบของอีกฝ่าย ฉันก็จะไม่เข้าไปก้าวก่าย รวมถึงพยายามมีปากเสียงกันให้น้อยที่สุด และต้องไม่ทะเลาะกันต่อหน้าลูก เพราะเราเห็นชัดว่าถ้าทะเลาะกันต่อหน้าลูกแล้วพฤติกรรมเขาเปลี่ยน เขาอาจจะลอกเลียนแบบเรา แล้วไปทำกับคนอื่นต่อ
ผมกับภรรยาคุยกันบ่อยเรื่องลูก อย่างล่าสุดก็ได้คุยกับครูที่โรงเรียนของลูกคนโต ครูแสดงความเป็นห่วงเรื่องที่ลูกของเราติดตามช่องเล่นเกมในยูทูบว่าจะมีเนื้อหารุนแรงหรือไม่ ซึ่งทางคุณแม่ค่อนข้างมอนิเตอร์ตลอด และมั่นใจว่าไม่มีอะไรรุนแรงเกินไป แต่ผมเองก็ยังไม่ได้คุยกับลูกเรื่องนี้ เพราะภรรยาผมจะมีศิลปะด้านการสื่อสารกับลูกมากกว่า ยิ่งถ้าพ่อแม่เข้าไปคุยพร้อมกันจะยิ่งทำให้ลูก insecure ว่า ตายแล้ว ฉันติด corner แล้ว เป็นต้น
ส่วนการตัดสินใจบางเรื่องภรรยาก็จะให้ผมเป็นคนจัดการ เช่น วันหยุดเสาร์อาทิตย์อยากออกไปกินอะไรกันก็ให้ลูกๆ มาคุยกับผมเป็นหลักประมาณนี้
เวลาทำผิดต่อลูก มีวิธีแก้ไขหรือขอโทษยังไง
มีครั้งหนึ่งผมเห็นผ่านหางตาว่า ลูกทำอย่างหนึ่งแล้วเราเข้าใจไปเองว่าเขาทำอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งภรรยาผมที่มองเห็นจากอีกมุมก็จะอธิบายให้ฟังว่า จริงๆ มันเกิดอะไรขึ้น ผมก็รีบขอโทษเขา และต้องขอโทษเขาทันทีด้วย เรื่องนี้จำเป็นมาก
ตัวอย่างเช่น ผมเคยเห็นผ่านหางตาว่า พี่คนโตไปผลักหรือตีน้อง เราก็เลยดุคนพี่ว่าไปตีน้องทำไม ซึ่งทางภรรยาที่เห็นจากอีกมุมว่าเป็นความตกใจของคนพี่ที่ไม่เห็นว่าน้องพุ่งเข้ามาและไม่ได้ตั้งใจผลัก ผมก็เลยต้องขอโทษลูกไป
ผมพยายามบอกเขาเสมอว่า เวลาเราทำอะไรผิดก็ต้องขอโทษ อย่าทำเป็นเอ้อระเหยไม่รู้ไม่ชี้ ครอบครัวเราพยายามผลักดันตรงนี้ เพราะเป็นเรื่องสำคัญ
การเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยหรือเป็นผู้สื่อข่าวการเมือง มีเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย ต่างๆ มากมาย สิ่งนี้ขัดกับบทบาทของการเป็นพ่อไหม
ถ้าถามว่าขัดไหม เอาตรงๆ ไม่ทันคิด (หัวเราะ)
เอาตรงๆ มันค่อนข้างเป็นไปเองตามธรรมชาติ เช่น อันนี้สั่งนะ ทำเถอะ แต่เราก็ยังพยายามใจเย็นนะ
ที่สำคัญคือทุกอย่างต้องอยู่บนหลักของเหตุและผล จะทำอะไรก็ได้ขอแค่มีหลักเหตุและผลอธิบายได้ ซึ่งผมคิดว่านี่เป็นพื้นฐานที่สำคัญมากของประชาธิปไตย เราต้องสามารถอธิบายเหตุผลในการกระทำของตนเองได้
ความจริงนอกจากเรื่องนี้แล้วทัศนคติอื่นๆ เราก็ต้องเอามาใช้กับเขาด้วย อย่างเช่นแรกๆ เด็กอาจจะยังไม่เข้าใจเรื่องการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เวลาเขาเห็นคนขายพวงมาลัยก็หยอกล้อกับน้องว่าไปขายพวงมาลัยบ้างสิ เราก็ต้องคอยบอกกับเขาว่า คิดว่าคนคนนั้นเขาอยากจะมาขายพวงมาลัยเหรอ มันลำบากมากนะ คือเราก็ต้องอธิบายให้เขาเข้าใจถึง empathy ด้วย และผมคิดว่าการเข้าอกเข้าใจต่อคนรอบข้างแบบนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ
เรื่องสิทธิอื่นๆ เราก็สอนนะ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องสิทธิระดับพื้นฐานๆ ก่อน เช่น คุณยืมของเพื่อนมาแล้วคุณก็ต้องคืน หรือคุณจะไปทำร้ายคนอื่นเขาไม่ได้
เด็กวัยก่อน 10 ขวบ มักเรียนรู้ผ่านการมอง เราทำให้เขาเห็นอย่างไรบ้าง
ก็มีเรื่องหน้าที่นี่แหละครับที่เราแบ่งงานกันทำชัดเจน ผมจะบอกน้องมิก้า (คนโต) ตลอดว่า ปะป๊ากลับถึงบ้านมาต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งแรกๆ ก็ลำบากเหมือนกัน เพราะเวลาเขาไปอยู่บ้านคุณตาหลังเลิกเรียน แล้วคุณตาจะชอบช่วยเก็บของเล่นให้เขา เวลาอยากปั่นจักรยานก็คุณตาปั่นให้เขา พอกลับมาบ้านเขาก็จะมีอารมณ์ไม่อยากทำงานบ้านตามไปด้วย
เราก็พยายามปรับตรงนี้ว่า ทุกคนมีหน้าที่ต้องทำ ต่อให้เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ต้องทำ เช่น การกรอกน้ำในตู้เย็น การนำเสื้อผ้าที่จะใส่พรุ่งนี้มาเตรียมไว้ในกรณีพรุ่งนี้เช้าต้องรีบ การถอดเสื้อผ้าใส่ตะกร้า หรือถ้าตื่นก่อนน้องก็ต้องไปชงนมหนึ่งขวดไว้ให้ ช่วงแรกๆ ก็เหนื่อยหน่อย ต้องบอกหลายรอบ แต่หลังๆ ก็ดีขึ้นมาก
รูปแบบการเลี้ยงดูบนหลักของเหตุและผลแบบนี้ เห็นผลบ้างหรือยัง
ก็เห็นผลนะ ปัจจุบันนี้คือพวกเขาจะถามหาคำอธิบายสิ่งต่างๆ อยู่ตลอด หลายครั้งก็ชอบไปอธิบายให้คนอื่นฟังเหมือนกัน ซึ่งบางทีพอเขาชอบอธิบายหรือถามคำถาม ก็อาจจะทำให้ญาติผู้ใหญ่ไม่ค่อยโอเคบ้าง แต่กับคนอื่นเขาก็จะเข้าใจ
ครั้งหนึ่งเขาถามว่า ทำไมน้ำถึงท่วม ผมก็ตอบไปว่าเพราะท่อมันไม่ดี ไม่มีคนมาทำความสะอาด เขาก็จะถามต่อว่า แล้วทำไมไม่มีคนมาทำความสะอาด ทำไมคนมีหน้าที่ถึงไม่มาทำ อีกตัวอย่างคือ ตอนเราไปฝรั่งเศสกัน เขาก็แปลกใจว่าทำไมที่นี่ถึงไม่มีเสาไฟฟ้าเยอะแยะเหมือนเมืองไทย หรือแม้แต่เวลาเราไปประเทศอื่นๆ นอกจากฝรั่งเศส เช่น ตุรกี เขาก็จะคิดเปรียบเทียบตลอดว่าทำไมสถานที่เหล่านี้ถึงดีกว่าไทย
เราก็อธิบายไปว่า การพัฒนาหรือรายได้ของแต่ละประเทศอาจจะไม่เท่ากัน ซึ่งมันอาจจะยากเกินไปสำหรับเขาในตอนนี้ แต่เขาจะชอบฟังคำอธิบายเรื่องพวกนี้มากๆ เขาอยากรู้อยากเห็นและมีความกล้าที่จะถามไปหมด ว่าทำไมสิ่งต่างๆ ถึงเป็นแบบนั้นแบบนี้
เรื่องยากๆ บางเรื่องเขาก็เคยถาม เช่น ฮิตเลอร์เป็นคนไม่ดีอย่างไร หรือทำไมศาสนาของเรา (อิสลาม) ถึงห้ามกินหมู เรื่องนี้เราก็พยายามยกเหตุการณ์มาเล่าให้ฟังเป็นฉากๆ เช่น ฮิตเลอร์เขาเป็นมาอย่างไร ทำอะไรกับชาวยิวบ้าง ส่วนเรื่องศาสนานั้นเราก็เล่าย้อนไปถึงต้นกำเนิดศาสนาที่พูดถึงเรื่องหมูกับตำนานเรือโนอาห์ อธิบายให้เขาเห็นว่าสิ่งเหล่านี้มันมีที่มา และบางอย่างอาจจะเป็นเรื่องของ discipline ด้วย
นอกจากเรื่องหน้าที่กับหลักเหตุและผล มีอะไรอีกบ้างที่เราพยายามแสดงให้เขาเห็น
ก็มีสอดแทรกอยู่เรื่อยๆ นะ เวลาเขาทำอะไรบางอย่าง เช่น การ treat คนที่เพศไม่เหมือนกัน อย่างพ่อและแม่จะแบ่งเบาภาระหน้าที่กันมากกว่าจะแบ่งว่าอันนี้เป็นงานของใครโดยเฉพาะ เราก็พยายามอธิบายให้เขาฟัง เวลาเขาถามว่าผู้ชายผู้หญิงเหมือนกันไหม เป็นต้น
นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องการให้เกียรติผู้อื่นกับการเห็นอกเห็นใจ เราก็พยายามอธิบายว่ามันไม่ใช่เรื่องของตัวเราคนเดียว แต่ยังเป็นเรื่องของสังคมทั้งหมดอีกด้วย ตัวอย่างคือเขาเคยถามว่า “ปะป๊าทำไมคนนี้ถึงทำแบบนี้ เขาไม่ได้เรียนหนังสือเหรอ” ซึ่งเราก็ต้องอธิบายให้เขาเข้าใจว่า ความจนมันก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับปัญหาตรงนี้ทั้งหมดอย่างเดียว ซึ่งคำถามแนวนี้ยังมีไม่มากเท่าไหร่ แต่อนาคตอาจจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ
ได้ยินว่าอาจารย์เลือกโรงเรียนอินเตอร์ให้ลูก ตรงนี้สัมพันธ์กันอย่างไร
นอกจากบริบทแวดล้อมจะช่วยให้เขาได้คุ้นเคยกับความหลากหลายแล้ว เช่น ผู้ปกครองเด็กบางคนเป็นแม่ทั้งคู่หรือพ่อทั้งคู่ ในแง่หลักสูตรเขาก็ให้เรียนเรื่องประวัติศาสตร์ต่างๆ อย่างสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือการปฏิวัติฝรั่งเศสกันตั้งแต่ ป.2 อันนี้เขาก็จะเอากลับมาถามเราอีกทีที่บ้านต่อ
ด้วยความที่ผู้ปกครองโรงเรียนนี้เป็นชนชั้นกลาง วัฒนธรรมของคนในโรงเรียนที่เป็นชาวฝรั่งเศสเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ ก็ทำให้ส่งต่อความ practical มายังเด็กไทยในนั้นด้วย ผมยังไม่เคยเห็นเด็กถือกระเป๋าแบรนด์เนมราคาแพงไปโรงเรียนเลยสักคน คืออาจจะมีบ้างที่ผมไม่เห็น แต่ก็น้อยกว่าโรงเรียนนานาชาติอื่นๆ ที่ค่อนข้างฟุ้งเฟ้อ
ลูกผมตอนนี้ก็ตัดผมสั้น ทั้งที่โรงเรียนไม่ได้มีกฎห้ามเรื่องทรงผม เพราะเวลาไปวิ่งเล่นมันจะร้อน เขาไม่ต้องถูกบีบบังคับว่าต้องตัดผมสั้นหรอก แต่เขาจะรู้เองว่าถ้าไว้ผมยาวเวลาวิ่งเล่นมันจะร้อนและไม่สะดวก ตรงนี้สังเกตได้ว่าเขาซึมซับการมีเหตุมีผลมาจากบริบทของโรงเรียนด้วย บางทีเวลาผมถามเขาว่าอยากได้รองเท้าคู่ใหม่สวยๆ ไหม เขาก็บอกว่าอยากได้แค่รองเท้ากีฬาเบาๆ จะได้วิ่งเล่นสะดวก
แล้วพอสังคมรอบๆ เขา มีทั้งความ practical กับความหลากหลายแบบนี้ให้เห็นเป็นประจำ เขาก็อาจไม่รู้สึกว่ามันยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่ข้างนอก เขารู้เพียงแค่ว่าโรงเรียนที่เขาเรียนอยู่กับโรงเรียนไทยแตกต่างกันตรงที่ว่าโรงเรียนไทยต้องใส่เครื่องแบบกับตัดผมสั้น แต่พอเขารู้ว่าโรงเรียนไทยครูตีเด็กได้ เขาก็ตกใจว่าทำไมทำแบบนั้น แล้วทำไมตำรวจถึงไม่มาจับครู
โลกทุกวันนี้ไม่ใช่หน้าที่ของโรงเรียนเพียงอย่างเดียว โรงเรียนนี้เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองเข้าไปมีส่วนร่วมแค่ไหน
โรงเรียนส่งเมลมาให้ผมแทบจะทุกคาบ ต่อให้ผมไม่มีเวลามาตอบ เขาก็เขียนมาใหม่อีกว่า ต้องให้ feedback (หัวเราะ)
ที่โรงเรียนนานาชาติจะซีเรียสมากเรื่องความคิดเห็นของผู้ปกครองในเรื่องต่างๆ อาหารโอเคไหม การเดินทางมาโรงเรียนเป็นอย่างไร ไปจนถึงการบ้านหลายชิ้นก็เป็นกิจกรรมที่ต้องทำร่วมกันกับผู้ปกครอง เราก็ต้องไปนั่งทำกับเขา
ปีที่แล้วก็มีความเคลื่อนไหวสำคัญอยู่ คือเด็กๆ เริ่มบ่นกันว่าอาหารของโรงเรียนคุณภาพแย่ลง สมาคมผู้ปกครองก็เข้าไปดูถึงโรงเรียนทันที ถ่ายรูปเอยอะไรเอย แล้วส่งไปยังบอร์ดบริหารของโรงเรียน โรงเรียนเองก็ตอบรับด้วยการเปลี่ยนบริษัทอาหารให้ จุดนี้คือผมมองว่าทุกคนมีส่วนร่วมตัดสินใจ ตั้งแต่เด็ก ผู้ปกครอง จนถึงโรงเรียน ซึ่งมันดีมาก
พูดเรื่องอาจารย์สอนลูกมาเยอะแล้ว แล้วลูกสอนอะไรอาจารย์บ้าง
การมีลูกนอกจากจะสอนให้เราใจเย็นลง ยังสอนให้เรารู้จักเรียนรู้และเข้าใจถึงความต้องการของเด็กในช่วงวัยต่างๆ คือเราไม่เคยเป็นพ่อคนแม่คนมาก่อน เราก็ต้องเรียนรู้ใหม่ เราไม่ได้มีแพทเทิร์นว่าจะต้องเลี้ยงแบบนั้นแบบนี้ เพราะแต่ละช่วงวัยก็มีความต้องการและต้องการความเข้าใจที่แตกต่างกัน จุดนี้เราเองก็ต้องเรียนรู้ใหม่หมด
เรื่องบางเรื่องเราก็ต้องเรียนรู้จากคนรอบตัวบ้าง อ่านจากที่อื่นบ้าง อย่างผมก็จะถามน้องสาวที่เขามีลูกก่อน อย่างเช่นช่วงที่ลูกผมอายุ 2-3 ขวบ มีพฤติกรรมไม่สนใจเวลาผมบอกให้ทำอะไร น้องสาวก็เป็นคนแนะนำว่าจะบอกอย่างเดียวไม่ได้ ต้องไปจับมือเขาทำ ต้องมองตาเขาแล้วค่อยพูดกับเขา แต่อย่าไปดุนะ เทคนิคพวกนี้ผมก็ค่อยๆ เรียนรู้แล้วก็เอาไปใช้กับคนเล็กต่อ
พอเขาเริ่มโตและเริ่มเข้าใจมากขึ้นก็ทำให้เราสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนอะไรกันได้มากขึ้น ตอนนี้บรรยากาศก็คือ เราทำให้เขาไว้เนื้อเชื่อใจ ให้เขารู้สึกว่าเขาสามารถเล่าอะไรก็ได้ และให้เขารู้ว่าสุดท้ายยังมีเรารับฟังอยู่ ช่วยแก้ปัญหาให้ได้ ไม่อยากให้เขารู้สึกว่าถ้าเล่าแล้วต้องโดนดุแน่ๆ ผมก็อยากรักษาบรรยากาศแบบนี้ไว้ต่อไป
พอเราให้อิสระกับลูกเต็มที่แล้ว มีเรื่องอะไรที่ต้องระมัดระวังบ้างไหม
ก็มีบ้าง อย่างเช่นเราอาจจะให้อิสระกับเขาหลายอย่างในการเลือก แต่บางเรื่องเราก็อยากให้เขาประสบความสำเร็จอย่างที่เราประสบความสำเร็จ เรื่องนี้ก็ต้องระวัง เราก็ต้องคอยดึงตัวเองไว้บ้างว่า นั่นคือชีวิตของเขา
ตัวอย่างเช่น การเรียนตีกอล์ฟ เรามองว่ามันก็คือการลงทุนอย่างหนึ่ง แต่พอถึงวันที่ลูกไม่อยากตี แล้วก็วางไม้กอล์ฟลง ในใจตอนนั้นคือรู้สึกว่า “อ้าว ทำไมถึงยอมแพ้ง่ายๆ ล่ะ ทำไมเขาจึงทิ้งสิ่งเหล่านี้” แต่ไปๆ มาๆ เราก็คิดได้ว่ามันต้องขึ้นอยู่กับความชอบของเขา แล้วเรายังสังเกตได้อีกว่า ถ้าเขาไม่เล่นอันนี้ ก็ยังไปเล่นอย่างอื่นที่เขาอยากเล่น ไม่ใช่ว่าเป็นคนไม่เอาอะไรเลย แถมยังจะทำได้ดีกว่าเดิมอีกด้วย เราก็ต้องเข้าใจลักษณะนี้
ถึงแม้ลึกๆ ในใจเราอาจจะมีบ้างที่เราคิดว่า “ตอนฉันเด็กๆ ฉันไม่มีโอกาสแบบนี้เลยนะ เราให้โอกาสเขาทุกอย่าง แต่ทำไมถึงไม่เห็นคุณค่า” แต่ภายหลังผมก็เรียนรู้ว่ามันไม่มีประโยชน์อะไรที่จะไปกะเกณฑ์ บางทียิ่งบังคับจะยิ่งส่งผลเสีย ยิ่งต่อต้านเสียด้วยซ้ำ เรามีแค่หน้าที่ในการสนับสนุนเขา ให้เขาทำอะไรก็ตามแต่ที่เขาอยากทำ
เรื่องใหญ่อีกเรื่องคงเป็นเรื่องการรักลูกไม่เท่ากัน คือเราอาจจะรู้สึกว่าความรักที่เราให้กับลูกทั้งสองคนมันเท่ากัน แต่เวลาที่เราให้ เราดันไปให้กับคนเล็กมากกว่าจริงๆ ซึ่งคนโตก็รู้สึกได้ ตรงนี้เราก็ต้องคอยรักษาสมดุลให้ดี
งานสอนนักศึกษา กับงานสอนลูก อย่างไหนยากง่ายกว่ากัน
สอนนักศึกษาง่ายกว่าเยอะครับ (หัวเราะ)
แต่บางทีเราก็เอาเทคนิคที่ได้จากการสอนนักศึกษาไปสอนลูก และบางทีเราก็เอาความเห็นอกเห็นใจที่ได้จากการเลี้ยงลูกไปใช้กับนักศึกษา แต่ว่ามันคนละอารมณ์กันจริงๆ คือต้องยอมรับว่านักศึกษาเขาก็ตั้งใจเรียนกันอยู่แล้ว แต่ลูกเราก็จะดุ๊กดิ๊กๆ เหมือนเราไม่ได้มี authority เหนือเขาอะไรขนาดนั้น