ศุภวิชช์ สงวนคัมธรณ์

“ไม่ต้องมาเรียนกับผม ไม่ต้องเสียเงินเรียน Visual Thinking ฝึกเองได้”

  • “ไม่ต้องมาเรียนกับผมก็ได้ แล้วไม่ต้องเสียเงินเรียนด้วย ฝึกเองได้” มะโหนก-ศุภวิชช์ สงวนคัมธรณ์ ผู้ก่อตั้งบริษัทแบล็คบ็อกซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Visual Thinking
  • สำหรับคนที่วาดหมาเป็นหมู มะโหนกย้ำว่าไม่เป็นอุปสรรค เพราะ Visual Thinking ภาพทำหน้าที่สื่อความหมายแค่ 20 เปอร์เซ็นต์
  • เพราะประเด็นสำคัญกว่าความสวยงาม – เจ้าสำนัก Visual Thinking ย้ำ

mappa : ถ้าวาดหมาเป็นหมู วาดคนเป็นต้นไม้ วาดผลไม้เป็นก้อนขยุกขยุย จะสามารถทำ  Visual Thinking ได้ไหม

มะโหนก : ได้ เราเชื่อว่าทุกคนวาดรูปได้อยู่แล้ว เช่น หากเรามีลูก แล้วปล่อยเขาไว้กับผนังขาวๆ ทิ้งเขาไว้กับดินสอสีสักแท่ง เสร็จครับ โลกในหัวเขาจะถูกฉายออกมาบนผนังขาวนั้นเลย

mappa : เรามักกลัวว่าจะวาดไม่สวย เราจึงไม่กล้าวาด ความสวยเป็นอันตรายไหม  

มะโหนก : อยากถามกลับว่า เอาความสวยไปทำอะไร ถ้าต้องเอาความสวยไปโชว์งานเจ้านาย ต้องโชว์บนโปสเตอร์เพื่อเรียกคนเข้างาน นั่นก็มีประเด็น สวยได้เลย แต่หากเราอยากวาดเพื่อช่วยในการคิด เพื่อแชร์เรื่องราวต่อ ไม่ต้องสวยมากก็ได้ แค่หยุดอ่านแล้วเข้าใจง่าย ก็พอแล้ว 

‘มะโหนก’ ศุภวิชช์ สงวนคัมธรณ์ ผู้ก่อตั้งบริษัทแบล็คบ็อกซ์ และผู้เชี่ยวชาญด้าน Visual Thinking คือเจ้าของคำตอบข้างต้น 

1

นักเรียนมะโหนก

Visual Thinking ครั้งแรกของมะโหนก เริ่มขึ้นขณะที่เขาอยู่ ม.6 

วันนั้น เขาและเพื่อนต้องประชุมเพื่อออกแบบค่ายให้น้อง ม.5 โดยมีโจทย์ว่า อยากสร้างกิจกรรมที่น้องได้เรียนรู้ มากกว่าการผูกข้อไม้ข้อมือ ร้องเพลง และสังสรรค์เช่นปีผ่านๆ มา

“เราประชุมกันบ่อยมาก คุยแล้วคุยเล่า หลายสัปดาห์ หลายเดือนก็ยังไม่ได้งานสักที จนวันหนึ่งได้เจอรุ่นพี่คนหนึ่ง ชื่อ พี่ต๊ะ-กิจการ ช่วยชูวงศ์ เลยชวนมาร่วมวงด้วย พี่เขามานั่งดูสักพัก จนเห็นว่าเราคุยกันเละๆ เหมือนเดิม เขาก็เดินกลับไปที่รถ กลับมาพร้อมกระดาษปรูฟ กับสีชอล์คกล่องหนึ่ง”

“พวกแกก็คุยกันไป แล้วคนนึงก็จับสีหน่อย ใครคุยอะไรก็วาดๆ จดๆ ไป เอาเท่าที่ได้ ไม่ต้องสวยมาก” รุ่นพี่พูดเสร็จก็ถอยไปนั่งดูห่างๆ ทิ้งน้องๆ ไว้กับการกระดาษ สีชอล์ค การพูดคุย และการวาดเขียนตรงหน้า  

ในการประชุมวันนั้น มะโหนกและเพื่อนตั้งโจทย์กันว่า อยากสร้างกิจกรรมให้น้องๆ ได้เรียนรู้ความเป็นทีม หลายไอเดียถูกนำเสนอผ่านวงสนทนา ทั้งเกมชิงธง เกมแม่น้ำทิพย์พิษ บ้างก็เห็นด้วย บ้างก็เห็นแย้ง แต่ครั้งนี้ การพูดคุยไม่ได้ลงเอยด้วยความไม่เข้าใจเช่นทุกครั้ง 

“พอเราคุยไปแล้ววาดด้วย เราจะเห็นว่า อ๋อ ทีมในความหมายของคุณมันคือการได้ลงแรงร่วมกัน ในขณะที่อีกคนหนึ่งเสนอเกมชิงธง ซึ่งทีมในความหมายของเขาคือ การที่มีเป้าหมายเดียวกัน แสดงว่าไม่มีใครผิด แต่เวลาเราพูดคำว่า ‘ทีม’ ในหัวเรานึกภาพคนละแบบ”

เมื่อต้องวาดความคิด มะโหนกบอกว่า คำพูดที่เคยกว้าง ถูกพลังของภาพบังคับให้พวกเขาต้อง clarify ความคิดของตนเองไปโดยปริยาย เพราะเมื่อใดที่ต้องวาด นั่นหมายความว่า พวกเขาต้องเข้าใจสิ่งที่ตนคิด เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันในทีม

“ตอนวาดไม่ได้คิดอะไรมาก ปรากฏว่า การคุยวันนั้นมันทำให้เราเข้าใจกันได้เร็วขึ้นมาก สนุกด้วย รู้ตัวอีกที เราสนใจสิ่งนี้มากขึ้น สมัยนั้นยังไม่รู้ชื่อนะ รู้แค่ว่ามันคือทักษะหนึ่งที่เราใช้ภาพวาด กระดาษ การมอง มาคุยกัน”

ล่วงเข้าปี 2553 สังคมไทยจึงเริ่มรู้จักคำว่า Visual Thinking ผ่าน แดน โรม (Dan Roam) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง ‘The Back of The Napkin’ และผู้พัฒนาทฤษฎีที่ชื่อว่า Visual Thinking หรือการคิดเป็นภาพ เครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้สมองคิดอย่างเป็นระบบระเบียบผ่านการคิดและวาดภาพ 

2

Visual Thinking ทำอะไรได้บ้าง 

Visual Note Taking – ภาพช่วยคิด

ข้อนี้มะโหนกบอกว่า เขาใช้สำหรับตัวเองเมื่อกำลังฟังหรือกำลังอ่าน โดยใช้ภาพ + คำ ประกอบกับการจดโน้ต โดยมีเป้าหมายหลักคือสร้างความเข้าใจให้ตนเอง คนอื่นอ่านไม่รู้เรื่อง ไม่เป็นไร 

Visual Recording – ภาพช่วยเล่าเรื่อง

ไม่ต่างจากข้อแรกมากนัก แต่เน้นหนักไปที่การใช้ภาพในการสื่อสาร เพื่อทำให้คนอื่นที่มองเห็นภาพนี้เข้าใจและเชื่อมโยงเรื่องราวที่มีความซับซ้อนได้ง่ายยิ่งขึ้น

Visual Facilitation – ภาพระดมไอเดีย 

ข้อนี้มะโหนกใช้บ่อย ทั้งประกอบการประชุม หรือใช้ประกอบในการพูดคุยกับผู้คน คุยไป วาดไป ภาพไม่ต้องประณีตมากนัก แต่ ‘ภาพ + การฟัง + การถาม’ ต้องไปด้วยกัน 

Handmade Infographic – ภาพน่ามองเพื่อสื่อสารไอเดีย

คือการใช้ภาพที่สวยขึ้นมาหน่อย ในการอธิบาย สื่อสาร สรุปข้อมูลเป็นภาพที่เข้าใจง่าย 

“วาดไม่สวยได้ไหม ตอบเลยว่าได้ เช่นผมวาดแตงโมได้ไม่เหมือนมากหากเทียบกับภาพถ่าย แต่เราก็จะเข้าใจว่ามันคือแตงโม เพราะภาพทำหน้าที่สื่อความหมายแค่ 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนอีก  80 เปอร์เซ็นต์มันอยู่ในหัวเรา เพราะเรามีความทรงจำเกี่ยวกับสิ่งนั้นอยู่ ภาพทำหน้าที่แค่ดึงลิ้นชักความทรงจำ ดึงประสบการณ์ที่เรามีกับแตงโมออกมา” 

มะโหนกย้ำอีกครั้งว่า วาดไม่สวยไม่ใช่ปัญหา เพราะเพียง 20 เปอร์เซ็นของภาพวาดนั้น ก็สามารถสื่อสารสาระสำคัญได้ไม่ยาก  

3

บันทึกการประชุม VS วาดภาพ + คำ

อาจเร็วไปหากเราจะชี้ถูกผิดว่า การใช้ภาพมาช่วยในการบันทึก เล่าเรื่อง หรือสนทนา นั้นดีกว่าวิธีการเดิมๆ อย่างบันทึกการประชุมที่เรามักเห็นตัวหนังสือละลานตา

มะโหนกชวนมองโดยเริ่มต้นจากเป้าหมายว่าในการสนทนาวันนั้น “เราอยากได้อะไร” 

เขายกตัวอย่างวงประชุมหนึ่ง โจทย์คือการวิเคราะห์หา insight ที่คุยกันไปแล้วกว่าชั่วโมงก็ยังไม่กระจ่าง​ แต่เมื่อเปลี่ยนวิธีการ โดยกางกระดาษ หยิบปากกา แล้วมาช่วยกันสรุปการสนทนาเป็นภาพ เราจะเห็นเลยว่า ภาพรวมของเรื่องนั้นมีประเด็นสำคัญอะไรบ้าง 

“คำว่า Visual Thinking นั้น แม้คำว่า visual จะแปลว่าภาพ แต่จริงๆ แล้ว มันคือการใช้ ภาพ + คำ เพราะ visual คือสิ่งที่ตามองเห็น แล้วสมองเราคิดพร้อมกันทั้งฝั่งภาษาและฝั่งภาพ เราจึงต้องใช้ทั้งภาพและคำมาช่วยในกระบวนการคิด” 

ในอีกด้าน การใช้ตัวหนังสืออย่างเดียวก็ไม่ถือว่าผิด เพราะในบางกรณีที่ต้องการความละเอียดของข้อมูล ลำพังเพียงภาพอาจไม่พอ

“เช่นในกรณีที่เราเป็นทนาย กำลังบันทึกคำให้การ แน่นอนว่า ไม่ควรจะใช้ภาพ เพราะมันสำคัญที่คำพูดของคน แต่ถ้าเราต้องการภาพรวม การใช้ภาพก็จะเข้ามาช่วยได้ 

“visual จะช่วยให้เห็นความเชื่อมโยงของภาพรวม เห็นจุดเน้น แต่ถ้าเป็น text ก็จะช่วยให้เห็นรายละเอียด ไม่มีแบบไหนดีกว่าแบบไหน แต่ขึ้นอยู่ที่ว่า จุดประสงค์ของการใช้งานงานนั้น คืออะไร 

4

It’s idea not art

“มันจะมีช่วงหนึ่งของชีวิตเด็กทุกคน ที่เราวาดรูปหมาเป็นหมู แล้วก็จะมีคุณครูท่านหนึ่งให้คะแนนเรา 2 เต็ม 10 แล้วสั่งเราไปวาดเป็นหมาให้ได้”

Visual Thinking คือการใช้ภาพมาช่วยในการจัดการความคิด ซึ่งจะแตกต่างจากศาสตร์ของศิลปะที่เน้นความประณีตบรรจงเพื่อถ่ายทอดความงาม นั่นหมายความว่า จะวาดสวยหรือวาดเหมือน ไม่สำคัญเท่าการลงมือวาดอย่างมั่นใจ ไม่ว่าใครก็สามารถวาดได้ และมนุษย์ทุกคนมีศักยภาพนั้น

“สำคัญคือการก้าวข้ามคำพูดของคุณครู ก้าวข้ามคำพูดของเพื่อนที่ชอบแซวว่า ‘วาดอะไรเนี่ย!’ ผมว่าทุกคนทำได้หมด ถ้าถามว่าเริ่มยังไง เริ่มเลยครับ เริ่มที่ตัวเอง หยิบกระดาษขึ้นมา เชื่อในมือของเรา แล้วก็ทำได้ทุกเวลาเพราะมนุษย์คิดอยู่ตลอด”

คำแนะนำของมะโหนก 3 ข้อ กับการเริ่ม Visual Thinking คือ 

  1. หยิบกระดาษขึ้นมาซะ แล้วเชื่อในมือของเรา
  2. วาดน้อยแต่ให้ผลมาก โดยการจับลักษณะเด่นของสิ่งๆ นั้น ออกมาเป็นรูปทรงพื้นฐาน ลดทอนองค์ประกอบย่อยๆ ของสิ่งนั้นออกไป เช่น หมา ประกอบด้วยสามเหลี่ยม วงกลม จุด 
  3. ลองคิดถึงภาพ 6 แบบที่จะช่วยในการวาดภาพ 

ภาพของรูปธรรม 2 แบบคือ Things และ People 

โดยพื้นฐานคือการวาดสิ่งที่ตาเราเห็นได้ เริ่มง่ายๆ คือจับลักษณะเด่นของสิ่งนั้น แล้วลดทอนให้กลายเป็นรูปทรงพื้นฐานที่เราวาดได้ 

ภาพของนามธรรม 4 แบบ คือ 

  • Symbol หรือ Icon (สัญลักษณ์) 

คือสัญลักษณ์ที่คนทั่วไปเห็นแล้วรู้ว่ามันหมายความว่ายังไง เช่น สันติภาพ คือภาพนกพิราบ หรือความรู้ แทนได้ด้วยภาพกองหนังสือ

  • Analogy หรือ Metaphor (เปรียบเทียบ) 

ใช้การเปรียบเทียบเข้าช่วย ซึ่งอาจเป็นภาพที่เราเข้าใจคนเดียวก็ได้ เช่น ความรู้หมายถึงทรัพย์สมบัติที่ใช้ไม่มีวันหมด 

  • Diagram (แผนภาพ แผนผัง)  

ใช้แผนภาพในการช่วยวาด สำหรับจัดการข้อมูล ตัวหนังสือ หรือตัวเลขที่จินตนาการได้ยาก เริ่มที่ diagram ง่ายสุด เราสามารถเขียนแค่ keyword ต่างๆ เช่น วงกลม โยงลูกศร ก็เป็นภาพได้เหมือนกัน เช่น คำว่าความรู้ สามารถใช้วงกลมสองวงทับซ้อนกัน วงหนึ่งคือ principle วงหนึ่งคือ practice รวมกันเป็นวงกลางที่ชื่อว่า knowledge 

  • Scene (ฉากเหตุการณ์)

เราอาจนึกถึงภาพเด็กคนหนึ่งกำลังนั่งเล่นต่อรถยนต์ของเล่น ระหว่างที่เขาต่อส่วนประกอบนั้นก็จะได้ความรู้เรื่องของกลไกรถไปในขณะเดียวกัน  

“การวาดคือการใช้ภาพมาช่วย clarify สิ่งที่เป็น abstract (นามธรรม) หรือ conceptual (แนวความคิด) บางอย่าง เช่น ประชาธิปไตย ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ยิ่งในวงเสวนาหรือเวิร์คช็อป แน่นอนว่าต้องมีความเห็นต่าง ซึ่งภาพจะทำให้เราคุยกันง่าย เพราะเราจะเข้าใจการให้ความหมายของคนคนนั้น”

ข้อแนะนำสุดท้ายของมะโหนก คือการฝึกวาดสิ่งต่างๆ บ่อยๆ เพื่อเพิ่มคลังภาพ เพราะ Visual  Thinking ในแง่หนึ่งนั้นคือภาษาภาพ เมื่อมีคำศัพท์เยอะ ถึงที่สุดแล้วภาพเหล่านั้นจะถูกดึงมาใช้งานโดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องมานั่งนึกว่า ‘เอ๊ะ เราจะวาดความรู้ออกมายังไงดีนะ’

“บางทีผมอ่านเฟซบุ๊ค แล้วเห็นคอนเทนต์เรื่องการ bullying (การกลั่นแกล้ง) ซึ่งการบูลลี่กันก็มีหลายเฉด ทั้งทางกาย ทางเพศ คำพูด เราก็ลองถอดออกมาวาดเล่นๆ ด้วยความนึกสนุก แต่จะวาดลงกระดาษหรือวาดภาพในหัวก็ได้นะครับ ถ้าเพิ่งเริ่มฝึก ผมแนะนำให้วาดลงกระดาษจริงๆ แล้วถ้าฝึกไปสักพัก รู้สึกว่าพอได้แล้ว ก็สามารถนึกในหัวเอาก็ได้ เช่น อ๋อ คำนี้ น่าจะวาดประมาณนี้ ก็ได้เหมือนกัน”

5

เด็กแค่ไหนก็ฝึกได้

Visual Thinking สำหรับเด็ก มะโหนกยืนยันว่า เด็กแค่ไหนก็ฝึกได้ ผ่านการฝึก 3 ข้อง่ายๆ ต่อไปนี้ 

  1. จับประเด็น 
  2. แปลงประเด็นให้เป็นภาพ 

สองข้อแรก มะโหนกแนะนำว่าต้องอาศัยการฝึกอยู่เป็นประจำ ตัวอย่างเช่นว่า ในท้ายคาบเรียนหลังสอนเสร็จ ครูอาจให้เด็กวาดภาพอะไรก็ได้ ซึ่งภาพนั้น ครูอาจดูไม่รู้เรื่องก็ได้เช่นกัน นั่นไม่เป็นไร สำคัญคือให้เด็กลองเล่าสรุปผ่านภาพที่เขาวาดสัก 2 นาที (หากเป็นเด็กโตหน่อย อาจเหลือสรุปเพียง 30 วินาที) เพื่อฝึกทักษะการจับประเด็น

  1. เลือกใช้องค์ประกอบศิลป์ในการสื่อสาร เช่นการใช้สี การใช้ฟอนต์ การจัดวาง

“ข้อ 3 เด็กได้อยู่แล้ว ถ้าคุณไม่ไปกั้นเขา ไม่ไปชี้ว่าเขาว่าต้องวาดอะไร ถ้าไม่ไปยุ่งกับเขา เขาได้อยู่แล้ว ส่วนสองอันแรกคือการจับประเด็น และแปลงเนื้อหาเป็นภาพ มันต้องฝึกเรื่อยๆ” 

6

วาดไป เล่นไป

แล้วถ้าพ่อแม่อยากชวนลูกมาลอง Visual Thinking เริ่มอย่างไรดี – มะโหนกแนะนำ 3 วิธีง่ายๆ และไม่ต้องเสียเงินเรียนให้คอร์สต่างๆ 

  1. ปล่อยให้ลูกถ่ายทอดเรื่องราวของโลก

‘แม่ หนูหิวขนม’

‘หิวขนมอะไรลูก ไหนลองวาดดูซิ’ / ‘นี่รูปอะไรเหรอลูก’ 

‘ไม่รู้อะแม่ กินแล้วมันหยุ่นๆ ผสมเปรี้ยวหน่อย’

‘ใช่อันเดียวกับที่คุณยายเอาใส่คุกกี้เมื่อวันก่อนหรือเปล่า’

 ‘เอ้อ ใช่ๆๆๆ’

“ห้ามไปพูดว่า ‘ลูกเกดมันไม่ได้วาดอย่างนี้นะลูกนะ’ อย่าเชียว (หัวเราะ) พ่อแม่ต้องเล่นไปกับลูก ไปอยู่ในโลกของเขา แล้วปล่อยให้เขาถ่ายทอดโลกนั้นออกมา ไม่ต้องใช้สื่ออะไรมากมาย เพราะสื่อนั้นก็คือเรื่องราวในหัวของเขา” มะโหนกย้ำ

  1. ชอบสื่อไหน ก็วาดสื่อนั้น

ตั้งต้นจากสื่อที่ลูกชอบ เช่นเพลง นิทาน คลิปวิดีโอ ให้ลูกเลือกสื่อที่เขาชอบแล้วลองวาด ย้ำไปก่อนในช่วงแรกว่า ‘ลูกไม่ต้องกังวลนะว่าจะรู้เรื่องหรือเปล่า เอาแค่หนูรู้เรื่องก็พอ ถ้าแม่ไม่รู้เรื่องเดี๋ยวแม่ถามเพิ่ม’

  1. ใช้ภาพช่วยให้ลูกเล่นกับเพื่อน

ข้อนี้พ่อแม่ต้องสนับสนุนให้ลูกเล่นกับเพื่อนโดยใช้ภาพเป็นสื่อกลาง โดยที่พ่อแม่ต้องคอยช่วยโค้ชอยู่ไกลๆ เพราะบางที เพื่อนของลูกอาจสร้างบาดแผลผ่านการบูลลี่ด้วยความเดียงสา เช่นว่า  ‘แกวาดอะไรอะ ไม่สวยเลย’ 

ในกรณีเช่นนี้ พ่อแม่อาจต้องเข้าไปหาวิธีการในการชวนคุย เช่นว่า ‘ลองถามเพื่อนไหม เขาวาดอะไรอยู่’ หรืออาจคิดกิจกรรมสนุกๆ โดยการชวนกลุ่มเด็กๆ ไปปั่นจักรยานโดยพกกระดาษไปด้วย แล้วจึงชวนเล่นว่า ‘ลองช่วยกันวาดให้แม่ดูหน่อย ปั่นจักรยานมาเห็นอะไรบ้าง’ พลางยื่นสีให้เด็กๆ คนละแท่ง 

“ทั้งสามวิธีนี้ ผมสนับสนุนให้วาดสด วาดไปพูดไป วาดไปเล่นไป เพราะทันทีที่วาดแล้วสายตามองเห็นสิ่งที่วาด จะเกิดกลไกทำงานข้างในหัวต่อ โดยการเรียกประสบการณ์ใหม่ ดึงเอาจินตนาการ ความคิด ณ ตอนนั้นออกมา และเมื่อสายตาเห็นสิ่งที่วาด ก็จะเกิดการหมุนกลับไปทำงานข้างในหัวเป็นเกลียวไปเรื่อยๆ”

กล่าวโดยสรุปตามทฤษฎีมะโหนกได้ว่า การวาดจะช่วยให้ หนึ่ง-ประสบการณ์จะถูกเรียกอยู่บ่อยๆ ส่งผลให้ความจำดีขึ้น สอง-สมองจะค่อยๆ จัดระเบียบได้ดีขึ้นเรื่อยๆ สาม-ภาพที่วาดเสร็จแล้วมักไม่ชวนเล่น หมายความว่า ภาพที่วาดไม่เสร็จ หรือวาดไม่สวยของลูก มีมนต์เสน่ห์ของการเล่น และเชื้อเชิญให้คนมาระบายเพิ่ม นั่นจะทำให้แง่มุมของการเรียนรู้เข้มข้นขึ้นด้วย 

“เราอยากให้ผู้คนโอบรับความไม่สวยของภาพไปใช้ ให้คุณเชื่อมือของคุณเถอะ ทุกคนทำได้” มะโหนกทิ้งท้าย


Writer

Avatar photo

อรสา ศรีดาวเรือง

ลูกสาวชาวประมงผู้ว่ายน้ำไม่เป็น ตกหลุมรักอีสานพอๆ กับหลงใหลในท้องทะเล เรียนจบมหาวิทยาลัยด้วยการเข้าห้องเรียนกับชาวบ้าน จึงได้ F เป็นรางวัลแห่งความพยายามหลายตัว

Photographer

Avatar photo

อรสา ศรีดาวเรือง

ลูกสาวชาวประมงผู้ว่ายน้ำไม่เป็น ตกหลุมรักอีสานพอๆ กับหลงใหลในท้องทะเล เรียนจบมหาวิทยาลัยด้วยการเข้าห้องเรียนกับชาวบ้าน จึงได้ F เป็นรางวัลแห่งความพยายามหลายตัว

Related Posts