Parents Voice

“ลดค่าเทอม” ใช้ #คนละครึ่ง ได้ไหม ถ้าลูกเรียนออนไลน์ทั้งเทอม

  • แนวโน้มเรียนออนไลน์ตลอดทั้งเทอม งานนี้พ่อแม่ที่คอยนั่งประกบลูกถึงกับขอยาดม
  • ถ้าขออะไรก็ได้ 3 ข้อ พ่อแม่อยากขออะไรเป็นตัวช่วยที่เวิร์คที่สุดในสถานการณ์ตอนนี้ 
  • ขอลดค่าเทอม นำโด่งมาเป็นอันดับ 1 ตามมาด้วยค่าไฟ ค่าอินเตอร์เน็ต ฯลฯ ลามไปจนถึงแพคเกจปรึกษาจิตแพทย์ฟรี

ขอยาดม 1 

ขอลดค่าเทอม #ใช้คนละครึ่ง ได้ไหม 

ขอเก้าอี้ดูดก้น ลูกจะได้นั่งนานๆ 

และ…ขอลาออกจากการเป็นแม่ 

ข้อความทั้งหมดนี้ถูกลดทอนความซีเรียสให้น้อยลงด้วยการเติมอิโมติคอนยิ้มทั้งน้ำตา หรือไม่ก็หัวเราะ 555 ต่อท้าย เมื่อถูกถามว่า “ถ้าลูกเรียนออนไลน์ทั้งเทอม พ่อแม่อยากขออะไร 3 ข้อ” 

ทีมงาน mappa ประมวลผลจากกว่า 300 ข้อความภายในระยะเวลา 3 วัน พบว่า 5 อันดับแรกของ 3 ข้อมีดังนี้ 

1. ลดค่าเทอม 

“ขอค่าเทอมในส่วนที่โรงเรียนประหยัดงบไม่ได้จริงๆ เช่น ค่าเสื้อกีฬา ค่าอาหารกลางวัน ค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าอุปกรณ์ ฯลฯ​ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเรียนออนไลน์” 

หลายคนให้เหตุผลว่าจะเอาส่วนต่างเหล่านี้มาเป็นค่าใช้จ่ายในบ้านที่เพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าอุปกรณ์การเรียนต่างๆ เช่น กระดาษ ปรินเตอร์ หมึกพิมพ์ โทรศัพท์มือถือ แทบเล็ต รวมถึงค่าอินเทอร์เน็ต ค่าไฟ ที่พุ่งเอาๆ สวนทางกับรายได้ที่ดิ่งลงๆ 

เรื่องลดค่าเทอมนี้ เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ให้ความเห็นที่พิงกับโครงสร้างหลักเอาไว้ในวงเสวนา Equity Talk ครั้งที่ 14 ‘ชวนครูติดเกม เพิ่มทางเลือกการเรียนรู้’ โดยสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เอาไว้ว่า

“เรื่องการลดค่าเทอม คือภารกิจของรัฐบาล เพราะปัญหานี้ถ้าเรามองจากฝั่งโรงเรียน ต้นทุนส่วนใหญ่ไม่ใช่ค่าไฟ ค่าน้ำ แต่อยู่ที่ครู ถามว่าสอนออนไลน์เราจ้างครูน้อยลงไหม คำตอบคือไม่ ต้นทุนของโรงเรียนจึงไม่ได้ลดลงมาก

“แต่ในฝั่งผู้ปกครอง เขาเจอปัญหามากจริง สิ่งที่จะตอบปัญหาเรื่องนี้จึงเป็นรัฐบาล ดังนั้น ถ้าเราถามไปที่ครูหรือโรงเรียน ผมว่าเป็นเรื่องที่ตอบยาก ผมคิดว่าอย่าไปกดดันโรงเรียนเลยเรื่องลดค่าเทอม” 

2. รัฐช่วยอุดหนุนค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 

เพราะไม่ใช่ทุกครอบครัวจะมีอุปกรณ์พร้อม หลายบ้านมีลูกหลายคน พ่อแม่หรือคนในครอบครัวก็ต้อง work from home สถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือ เรื่องงานกับเรื่องเรียนแย่งสัญญาณกันจนความเร็วต่ำ ยังไม่ต้องพูดถึงค่าไฟที่มิเตอร์วิ่งสูงสม่ำเสมอทุกวัน

“ขอให้รัฐช่วยค่าไฟค่ะ เปิดแอร์ทั้งวัน ค่าไฟมาจะเป็นลม”

3. ลดการบ้าน ลดใบงานกลุ่ม ลดชั่วโมงเรียน 

เหตุผลคือ การบ้านของลูกกลายเป็นการบ้านของพ่อแม่ 

“ลูก 2 คน โทรศัพท์เครื่องเดียว งานก็ต้องทำ กลับมาก็มืดต้องมาสอนลูกอีก วันละ 4-5 วิชา วันหยุดต้องมาตามเก็บการบ้านลูกถ่ายรูปส่งในกลุ่มแต่ละวิชา ประสาทจะเสียอยู่แล้วค่ะ ตอนนี้เบื่อมากเลย คือตอนนี้คนเป็นแม่เหนื่อยมากๆ”

4. ยกเลิกการสอบ หรือ ปรับเป็นการประเมินที่สอดคล้องกับสถานการณ์

“ขอให้ครูเปลี่ยนวิธีสอน จากยกห้องเรียนมาหน้าจอ อยากให้ครูปรับเป็นวิธีบูรณาการ ให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยวิธีของเขา โดยสรุปงานสั้นๆ สั่งงาน ให้เด็กสนุก และลดการบ้านลง ให้ครูเปลี่ยนจากชมเด็กเก่งมาเป็นชมที่พยายาม” 

“ขอให้การวัดผลการสอบอย่ายากจนเกินไปจนเด็กทำไม่ได้ เพราะเด็กเรียนออนไลน์ไม่ได้ฟังคุณครูอธิบายทันทุกหัวข้อ”

“เด็กอนุบาลไม่ต้องเรียนออนไลน์ เลื่อนชั้นไปเลย” 

“ขอให้ไม่มีสอบ” 

5. หยุดพักการเรียนไปเลย ไม่ต้องมีเรียนออนไลน์ ดีกว่าเรียนไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

“อยากให้ 2 ปีนี้ปล่อยเกียร์ว่างให้กับการศึกษา เพิ่มทักษะอื่นๆ เอาเวลา 5 คาบ 8 คาบที่หน้าจอ มาให้เด็กๆ ได้ทำสวน ทำกับข้าว ทำขนม กวาดถูบ้าน ทำบ้านรก ทำบ้านพัง กระโดดโลดเต้น เล่นอย่างอิสระเถอะ” 

“ยกเลิกระบบเรียนออนไลน์ไปเลย ช้าไปบ้างก็ไม่เป็นไร เอาสุขภาพจิตผู้ปกครองก่อน เพราะตอนนี้หลายบ้านเครียดกับทั้งสถานการณ์และเศรษฐกิจ ยังต้องมาคุมลูกเรียนอีก ความเครียดของพ่อแม่ก็ส่งผลไปถึงลูก วนไปไม่รู้จักจบ” 

ส่วนอันดับลดหลั่นลงมามีตั้งแต่ ค่าสอนลูกของแม่, เก้าอี้ดูดก้นให้เด็กนั่งได้นานๆ นาฬิกาปลุกเด็กให้เรียนตามตารางออนไลน์ในแต่ละคาบได้โดยไม่เสียเลือดเนื้อทั้งฝั่งเด็กและผู้ปกครอง, อาหารกลางวัน ที่ผู้ปกครองไม่สะดวกจัดหาให้หรือไม่อยู่บ้าน, พี่เลี้ยง อยู่เป็นเพื่อนตอนเรียนออนไลน์ 1 ตำแหน่ง เพราะผู้ปกครองไปทำงาน

มากกว่านั้นหลายคนขอ ‘ยา’ ไม่ว่าจะเป็น ยาระงับประสาท, ยาระงับไมเกรน, ยาดม, ยาลดความดัน พร้อมแพ็คเกจปรึกษาจิตแพทย์ฟรีให้แม่ 

“ขอให้โรงเรียนเห็นใจผู้ปกครองให้มากๆๆๆ เพราะทุกวันนี้ก็ประสาทจะกิน เลี้ยงลูกวัย 10 เดือนก็เหนื่อยพอแล้ว ยังต้องมานั่งสอนลูก คอยจี้เรื่องดูคลิปเรียน ทำการบ้าน ไม่ไหวนะ แม่จะเป็นบ้าแล้ว” 

ที่สำคัญ “ขอการจัดการให้ไว ถ้าไม่ไหวก็ปิดต่อ อย่าปิดข่าว” 

และ “ขอวัคซีนคุณภาพ”


Writer

Avatar photo

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

คุณแม่ลูกหนึ่งซึ่งคลุกวงในงานข่าวมาหลายสิบปี เพิ่งมาค้นพบตัวเองไม่กี่ปีมานี้ว่าอินกับงานด้านเด็ก ครอบครัว และการศึกษามากเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้มาร่วมสร้างแผนที่การเรียนรู้อย่าง mappa

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย

ทำงานกราฟิกหลากหลาย นิยมการพูด-เขียนสั้นๆ วาดรูปน้อยๆ เพราะสมาทานแนวคิดประหยัดพลังงาน มองว่าเด็กคือมนุษย์ตัวเล็กย่อส่วน ไม่ได้รักหรือเกลียดเป็นพิเศษ

Related Posts