- สิ่งที่ตามมาพร้อมกับความตายหรือความรู้สึกเศร้าสลดหรือสูญเสีย คนส่วนใหญ่จึงมองความตายเป็นเรื่องไกลตัว และเป็นประเด็นที่ ‘หนัก’ เกินไปในการจะสนทนากับเด็ก ๆ
- What Happens Next โดย ชินสุเกะ โยชิทาเกะ (ชื่อไทย “ต่อจากนี้จะเป็นอย่างไรนะ” โดยสำนักพิมพ์ Amarin Kids) คือหนังสือภาพที่ว่าด้วยเรื่องของเด็กชายที่บังเอิญพบสมุดบันทึกของคุณปู่ที่เพิ่งตายไป สมุดเล่มนั้นเต็มไปด้วยจินตนาการเกี่ยวกับชีวิตหลังความตายของคุณปู่
- วิธีการเล่าเรื่องโดยไม่ชี้นำและไม่ตัดสินของโยชิทาเกะทำให้หนังสือเล่มนี้สามารถถ่ายทอดแนวคิดเรื่องความตายออกมาได้อย่างสดใสและสนุกสนาน ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ลดทอนความรู้สึกเศร้าหรือสูญเสีย และยังเว้นที่ว่างให้ผู้อ่านได้หาคำตอบของชีวิตและความตายด้วยตัวเอง
แม้เราจะรู้ว่าความตายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การพูดถึงความตายก็ยังคงเป็นเรื่องยากสำหรับคนส่วนใหญ่ เพราะความตายคือการสูญเสียและการจากลาตลอดกาล ยิ่งความตายเกิดขึ้นกับคนใกล้ตัวเราเท่าไร ความตายนั้นก็ยิ่งเป็นเรื่องที่เจ็บปวดและไม่น่าพูดถึงมากเท่านั้น
และเพราะการผูกโยงกับความสูญเสียและเจ็บปวดนี่เองที่ทำให้พ่อแม่หลายคนไม่กล้าพูดเรื่องความตายกับลูก ด้วยเกรงว่าจะเป็นเรื่องที่ ‘หนักเกินไป’ สำหรับเด็ก ทั้งที่จริงแล้วความตายนั้นปรากฏให้พวกเขาเห็นทุกหนแห่ง ในนิทานบางเล่มที่เขาอ่าน ในการ์ตูนบางเรื่องที่เขาดู ในเกมบางเกมที่เขาเล่น และความสงสัยใคร่รู้ในสิ่งต่าง ๆ รอบตัวของเด็กก็ยังครอบคลุมไปถึงเรื่องของความตาย เด็ก ๆ มักจะมีคำถามมากมายเกี่ยวกับความตายไม่ว่าจะเป็น “ความตายคืออะไร” “ทำไมเราต้องเศร้าเมื่อมีใครสักคนตาย” “ตายแล้วไปไหน” “สวรรค์คืออะไร” “นรกคืออะไร” ความสงสัยเหล่านี้ทำให้พวกเขาสามารถพูดเรื่องความตายได้อย่างเปิดเผยและง่ายดายพอ ๆ กับเรื่องอื่น ๆ บนโลกใบใหญ่ที่เต็มไปด้วยเรื่องใหม่ ๆ สำหรับเขา และไม่ใช่เรื่องที่ ‘หนักไป’ อย่างที่ผู้ใหญ่คิด
แต่หากการเปิดบทสนทนาเรื่องความตายเป็นเรื่องที่ยังทำได้ยาก การพูดคุยกับเด็ก ๆ ในประเด็นนี้ผ่านหนังสือภาพเรื่อง What Happens Next โดย ชินสุเกะ โยชิทาเกะ (ชื่อไทย “ต่อจากนี้จะเป็นอย่างไรนะ” โดยสำนักพิมพ์ Amarin Kids) ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ
ชินสุเกะ โยชิทาเกะ มีผลงานหนังสือภาพออกมาหลายเล่ม ไม่ว่าจะเป็น It Might Be an Apple, Still Stuck, Can I build Another Me? และเรื่องอื่น ๆ โยชิทาเกะเคยให้สัมภาษณ์ว่า เขามักจะได้ไอเดียมาจากการสังเกตพฤติกรรมของลูก ๆ และบทสนทนาระหว่างพ่อแม่และเด็ก เพราะเขาเชื่อว่า “ความลับ” ของโลก อาจจะถูกเปิดเผยผ่านสิ่งเล็กน้อยเหล่านี้ก็ได้ นั่นจึงทำให้มุมมองต่อสิ่งต่าง ๆ ในงานของโยชิทาเกะเป็นมุมมองที่ไร้กรอบและเต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็นราวกับมองผ่านสายตาของเด็กจริง ๆ
What Happens Next เปิดเรื่องด้วยถ้อยคำแสนเรียบง่ายแต่หนักหน่วงอย่าง
“คุณปู่ตายเมื่อวันก่อน”
เมื่อคนที่เรารักจากไป เรามักจะแจ้งข่าวนี้ให้เด็ก ๆ ฟังด้วยการเลี่ยงที่จะพูดถึงความตาย เช่น การบอกว่า “ปู่ไปสวรรค์แล้ว” ความตายจึงเป็นสิ่งที่ดูไกลตัวและน่ากลัว แต่ What Happens Next ขยับความตายเข้ามาใกล้ ให้เด็กได้ทำความคุ้นเคยและลดความน่ากลัวของความตายลงด้วยประโยคง่าย ๆ อย่าง “คุณปู่ตายเมื่อวันก่อน”
เด็กซึ่งเป็นตัวละครหลักในเรื่องเล่าว่า หลังจากคุณปู่ตาย พวกเขาก็เก็บกวาดห้องของคุณปู่ และได้ไปเจอกับสมุดบันทึกที่อยู่ใต้เตียง สมุดซึ่งหน้าปกเขียนไว้ว่า “ต่อจากนี้จะเป็นอย่างไรนะ” ที่เต็มไปด้วยการวางแผนการใช้ชีวิตหลังความตาย จินตนาการเรื่องนรกและสวรรค์หรือการกลับชาติมาเกิด ไปจนถึงของที่ระลึกเพื่อให้คนอื่น ๆ จดจำตนเองได้ของคุณปู่
สิ่งที่โดดเด่นในงานของโยชิทาเกะนอกจากภาพประกอบที่มีลายเส้นเรียบง่ายและการใช้ชุดสีเพียงไม่กี่สีแล้ว ผลงานหนังสือภาพของโยชิทาเกะก็เหมาะจะเรียกว่า หนังสือเชิงแนวคิด (Concept Book) มากกว่าหนังสือนิทาน เพราะเนื้อหาในหนังสือของเขามักจะเน้นไปที่การสำรวจ “ประเด็นหลัก” ของผลงานแต่ละเรื่องในแง่มุมที่แตกต่างกัน มากกว่าจะเน้นไปที่การเล่าเรื่อง
What Happens Next ก็เช่นกัน แทนที่จะเล่าว่าเกิดอะไรขึ้นหลังจากคุณปู่จากไป หรือเมื่อคุณปู่จากไปแล้วไปไหน หนังสือกลับเปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้สำรวจแนวคิดต่าง ๆ เกี่ยวกับความตายโดยปราศจากการชี้นำ
หัวข้อแรกในบันทึกของคุณปู่คือ “แผนการผจญภัยครั้งใหญ่” ที่กล่าวถึงทั้งโลกวิญญาณ สวรรค์ และการกลับชาติมาเกิดใหม่ผ่านศูนย์การกลับมาเกิดซึ่งทำให้การตายของคุณปู่ดูเป็นโอกาสในการได้ใช้ชีวิตแบบที่อยากใช้ หน้าต่อมาคือ “สิ่งของที่ฉันจะจัดเตรียมไปสวรรค์” ซึ่งทำให้การตายไม่ต่างอะไรจากการเดินทางไกล ส่วนหน้าถัด ๆ ไปก็มีทั้งรายการสิ่งที่คุณปู่อยากกลับชาติมาเกิด สิ่งที่คุณปู่จะทำเมื่อไปเจอพระเจ้า ซึ่งโยชิทาเกะก็วาดพระเจ้าออกมาหลายองค์โดยไม่ได้มีแนวคิดเรื่องพระเจ้าในศาสนาต่าง ๆ มาเป็นตัวกำหนด มีเรื่องการผจญภัยในสวรรค์ของคุณปู่ที่อาจทำให้เขาได้เจอคุณย่าอีกหน หรือนรกในจินตนาการของคุณปู่ที่เขาต้องทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ หลุมศพที่คุณปู่ออกแบบไว้ให้ตัวเองซึ่งเต็มไปด้วยหลุมศพรูปทรงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปราสาท สไลเดอร์เด็กเล่น ลูกบอล ฯลฯ วิธีที่คุณปู่จะคอยสอดส่องผู้คนบนโลกได้ หรือของที่ระลึกที่ทำให้คนยังไม่ลืมคุณปู่
สิ่งที่ทำให้เราชอบมุมมองต่อความตายของหนังสือเล่มนี้คือ โยชิทาเกะไม่ได้ลดทอนความเศร้าและการสูญเสียที่มาพร้อมกับความตายลง เขาไม่ได้ชี้นำว่า “ความตายเป็นเรื่องปกติ ไม่เห็นจะต้องเศร้าเมื่อใครสักคนจากไป” เพราะแม้ในบันทึกการวางแผนชีวิตหลังความตายของคุณปู่จะเต็มไปด้วยความสดใสและสนุกสนานจนทำให้หลานที่ได้อ่านบันทึกรู้สึกดีขึ้นมาได้ แต่เด็กน้อยก็ยังอดคิดไม่ได้ว่า ที่คุณปู่วาดภาพชีวิตหลังความตายไว้ให้เต็มไปด้วยความสดใสนั้น แท้จริงแล้ว ในตอนที่เขียนบันทึก คุณปู่อาจกำลังกลัวความตายมาก ๆ และกำลังเสียใจอยู่ก็ได้ บันทึกนี้อาจเป็นเพียงการปลอบประโลมใจตัวเองของคุณปู่เท่านั้น
และโยชิทาเกะก็ไม่ได้ “ตลบหลัง” ให้เรากลับมากลัวความตายอีกหน เพราะท้ายที่สุดแล้วก็มีแต่เพียงคุณปู่เท่านั้นที่จะตอบได้ว่าคุณปู่เขียนบันทึกการวางแผนชีวิตหลังความตายเล่มนี้ขึ้นด้วยใจที่เป็นสุขและเตรียมพร้อมรับความตาย หรือด้วยความกลัวกันแน่ และก็ไม่ได้แปลว่าคำตอบของคุณปู่จะเป็นคำตอบของทุกคน
การได้อ่านสมุดบันทึกของคุณปู่ ทำให้เด็กชายอยากเขียนสมุดบันทึกวางแผนชีวิตหลังความตายของตัวเองบ้าง แต่แล้วเขาก็คิดได้ว่า เขายังสามารถทำอีกหลายสิ่งหลายอย่างได้ในตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ เด็กน้อยจึงตัดสินใจว่าเขาจะเขียนบันทึกเกี่ยวกับ “เรื่องที่ฉันอยากทำในตอนนี้” แทนบันทึก “ต่อจากนี้จะเป็นอย่างไรนะ” แบบคุณปู่ เพราะบางครั้ง การได้ใคร่ครวญถึงเรื่องความตายก็อาจทำให้เรามองเห็นคุณค่าและความหมายในชีวิตมากขึ้น ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่ามากขึ้น และลงมือทำสิ่งที่อยากทำโดยไม่ต้องมัวมาลังเลและเสียใจในภายหลังบ่อยขึ้น
อย่างไรก็ดี งานของโยชิทาเกะก็ยังปราศจากการตัดสินหรือชี้นำ เรื่องราวใน What Happens Next และการตัดสินใจที่จะเขียนรายการที่อยากจะทำในตอนนี้ของเด็กชายจึงไม่ได้กำลังกล่าวโทษคนที่ไม่กล้าใช้ชีวิตและก็ไม่ได้กำลังตะโกนบอกเราว่า “ชีวิตเป็นของเรา ใช้ซะ!”
ในการให้สัมภาษณ์กับ Japan Book Bank โยชิทาเกะกล่าวว่า ที่จริงแล้วเขาเป็นคนที่ค่อนข้างมองโลกในแง่ร้ายและเบื่อหน่ายชีวิตได้ง่าย ๆ การวาดรูปจึงเปรียบเหมือนการโน้มน้าวตัวเองว่าชีวิตยังเต็มไปด้วยเรื่องที่น่าสนใจอีกมากมายหากเราตั้งใจสังเกตมันให้ดี เขายังบอกอีกว่า เขาใช้ชีวิตมาได้จนถึงทุกวันนี้ด้วยการเขียนรายการสิ่งที่เขาไม่ชอบและเลือกทำเฉพาะสิ่งที่เขาพอจะทนได้จนเขาพบที่ทางที่เขาสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างสบายใจในที่สุด
แนวคิดนี้ถูกถ่ายทอดออกมาใน What Happens Next เมื่อท้ายที่สุดเด็กชายก็โดดขึ้นไปบนชิงช้า และบอกว่าเขาจะหัดบินก่อนที่จะเขียนรายการสิ่งที่อยากทำในตอนนี้ เพื่อที่เขาจะได้บินได้ดีเมื่อต้องขึ้นสวรรค์ในวันที่ความตายมาเยือน
What Happens Next จึงเป็นหนังสือที่พูดถึงความตายได้ด้วยน้ำเสียงอันเป็นธรรมชาติ เรียบเรื่อย แต่แยบคาย โยชิทาเกะไม่ได้ทำให้ความตายเป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับเด็ก แต่ก็ไม่ได้ลดทอนความรู้สึกเศร้าและสูญเสียของคนที่ยังอยู่ หรือแม้แต่ความวิตกกังวลหรือหวาดกลัวของผู้ที่กำลังจะจากไป อีกทั้งยังสามารถเชื่อมโยงการใคร่ครวญเรื่องความตายมากล่าวถึงการค้นหาความหมายของชีวิต และใจกว้างพอที่จะเว้นที่ว่างให้เด็กหรือผู้อ่านไม่ว่าจะวัยไหนก็ตาม ได้ค้นหาคำตอบของทั้งความตายและชีวิตด้วยตัวเอง
อ้างอิง
https://www.1101.com/store/techo/en/magazine/2019/kaku/2019-01-26.htmlhttps://japanbookbank.com/en/topics/3