ไม่ฟัง ไม่อยากเป็นคนขี้ฟ้อง ไม่อยากให้เครียด ‘3 ไม่’ ทำไมเด็กๆ โดนบูลลี่ แล้วไม่บอกพ่อแม่

  • ไม่ฟัง,ไม่อยากเป็นคนขี้ฟ้อง และ ไม่อยากให้เครียด คือ 3 เหตุผลสำคัญของเด็กสมัยนี้ที่ไม่อยากบอกว่าพ่อแม่ว่าโดนบุลลี่หรือโดนแกล้ง
  • ลึกๆ แล้ว ทุกคนไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ต้องการคนรับฟัง นั่งข้างๆ ไม่จำเป็นต้องแก้ปัญหาให้ก็ได้ 
  • ลึกยิ่งกว่านั้น เด็กๆ ต้องการให้คนรอบข้างเชื่อมั่นว่าเค้าแก้ปัญหาเองได้

มันเริ่มต้นจากการชวนเด็กๆ คุยเรื่องสุภาษิตคำพังเพยว่าอันไหน in อันไหน out สำหรับพวกเขา แต่สิ่งที่พบจากบทสนทนา เด็กแต่ละคนต่างมี pain point กับสุภาษิตและความเชื่อที่มาพร้อมกันโดยไม่ได้นัดหมาย 

“ถ้ากลายเป็นเด็กขี้ฟ้อง จะโดนหนักกว่าเดิมอีก” ‘วาเลน’ ปุณยานุช พุ่มพวง นักเรียนชั้น ม.4

ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง

“หนูรู้สึกว่าจริง” ‘วาเลน’ ปุณยานุช พุ่มพวง นักเรียนชั้น ม.4 อธิบายต่อทันทีว่าตัวเองกลายมาเป็นคนชอบแต่งตัว แต่งหน้า เพราะสมัยก่อน ตอนเรียนอยู่ชั้นประถมจะถูกเพื่อนบูลลี่เรื่องหน้าตา หนักถึงขั้นโดนจิกหัว เป็นอย่างนั้นอยู่ถึง 4 ปี

“ตอนนั้นหนูไม่สวย หนูดำปี๋ ผมสั้นถึงติ่งหู หนูเพิ่งเข้าไปเป็นเด็กใหม่ ป.4 ที่โรงเรียน ตอนนั้นเกรดหนูดี ได้ 4 หนูเลยถูกคัดให้อยู่ห้อง gifted เลยโดนบูลลี่ตั้งแต่นั้นมา 

“พอหนูตัดผมม้า เขาก็เรียกหนูว่าหนูหิ่น จินตหรา อาจเล็กน้อยสำหรับคนอื่นแต่สำหรับหนูมันไม่ธรรมดาเลย หนูเจ็บใจมากๆ แต่ก็ต้องทำเป็นขำตามไปทุกครั้ง เพราะถ้าไม่ขำตามจะโดนหนักกว่าเดิม” 

ไปโรงเรียนไม่เคยมีความสุข เอาความเครียดกลับบ้านมาร้องไห้ทุกวัน แต่เด็กประถมไม่ยอมบอกพ่อแม่ 

“หนูไม่อยากบอก กลัวเขาเครียด อีกอย่างหนูรู้สึกว่ามันเป็นปัญหาของหนู แล้วหนูอยากแก้ปัญหาด้วยตัวหนูเอง หนูทนได้ หนูโตไปหนูอยากทำให้พวกเขา (เพื่อน) รู้สึกว่าหนูไม่ใช่คนที่เขาเคยรู้จักอีกต่อไป” 

เอาจริงๆ วาเลนก็อยากบอกพ่อแม่ แต่พอชั่งใจแล้ว น้ำหนักแห่งความไม่อยากให้เขาเครียดมันมากกว่าก้อนทุกข์ของตัวเอง เลยเลือกที่จะทนไปก่อน ทำอะไรได้ก็ทำ-นี่คือความคิดของเด็กประถม 

แต่ลึกๆ แล้ว ด.ญ.ปุณยานุชตอนนั้น อยากเล่าให้ใครสักคนฟังมากที่สุด และคนคนนั้นคือครู

“หนูอยากจะเล่าให้ครูฟังมากๆ แต่ครูหลายคนไม่ค่อยสนใจเรื่องการบูลลี่ เขาคิดว่ามันเป็นเรื่องตลก หนูเลยไม่รู้จะคุยกับใคร” 

เลยต้องอดทนและช่วยเหลือตัวเอง ทั้งๆ ที่วาเลนเองก็ไม่ได้อยากจะเข้มแข็งอย่างนั้น

“เอาจริงๆ หนูไม่อยากอดทน ตอนนั้นหนูเป็นเด็กไม่สู้คน เงียบตลอด ไม่กล้าสู้ใคร เวลาใครทำอะไรก็ขำๆ ตาม ไม่กล้าบอกว่าเขาผิด ไม่กล้าถามว่าทำอย่างนี้ทำไม มันทำให้เรารู้สึกตกต่ำไปกว่าเดิม”

พอขึ้นมัธยม เด็กหญิงที่เอาแต่กลัวคน ค่อยๆ เติบโตพร้อมความกล้าหาญ เพราะได้เจอเพื่อนหลากหลายขึ้น สังคมกว้างขึ้น 

“มันทำให้เรากล้า กล้าตัดสินใจ กล้าทำโดยไม่กลัวผิด จนทุกวันนี้ใครทำผิด หนูก็ไม่กลัวที่จะบอกว่าเขาทำผิดและตักเตือนเขา”  

พร้อมๆ กันกับการเพิ่มความมั่นใจด้วยการแต่งตัว แต่งหน้า ที่ทำให้วาเลนเห็นด้วยกับ ‘ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง’ เพราะความกล้าหาญสำคัญที่สุด 

“พอเรามั่นใจ หนูรู้สึกว่าตัวเองกล้าใช้ชีวิตมากขึ้น กล้าทำหลายอย่างมากขึ้นโดยไม่กลัวว่าเราจะโดนใครมอง หรือไม่กลัวว่าใครจะเอาไปนินทาลับหลัง มันสำคัญมากๆ เพราะเป็นวัยที่เราจะได้รับรู้ประสบการณ์หลายๆ อย่างที่จะเอาไปใช้ในอนาคต ถ้าเราไม่มีความกล้า ก็จะไม่กล้าทำอะไร ไม่กล้าที่จะไปโน่นไปนี่ ไม่กล้าเปิดตัวเอง เปิดความคิด” 

ส่วนพ่อแม่เอง เพิ่งมารู้เรื่องลูกสาวถูกบูลลี่เมื่อไม่กี่วันมานี้หลังจากตักเตือนเรื่องแต่งหน้าบ่อยเกินไป แต่ก็ไม่เคยห้าม

“เขาก็บ่นบ้างว่าแต่งหน้าบ่อยไปนะเดี๋ยวหน้าแก่ก่อนวัย จริงๆ หนูก็เชื่อเขานะ แต่ทำไงได้ ถ้าหนูออกไปหน้าสดตอนนี้หนูก็ไม่กล้าแล้ว หนูแต่งมาหลายปี พอเราเจอคนอื่นในรูปลักษณ์ที่ดี เราก็ไม่กล้าให้คนอื่นเห็นรูปลักษณ์ที่มันด้อยของเรา 

“หนูก็เลยเล่าให้เขาฟังว่าหนูโดนเพื่อนบูลลี่หนักมากตั้งแต่ ป.4 แต่ที่ไม่เล่าเพราะเดี๋ยวถ้าพ่อแม่ไปบอกครู เขาก็จะหาว่าหนูเป็นเด็กขี้ฟ้อง แล้วก็จะโดนหนักกว่าเดิมอีก หนูว่าแม่เข้าใจในสิ่งที่หนูทำตอนนี้มากขึ้น เพราะสิ่งที่หนูเจอมามันอยากทำให้หนูทำตัวเองดีขึ้น ไม่อยากกลับไปอยู่จุดเดิม” 

ล่าสุด วาเลนได้คุยกับเพื่อนเก่าๆ ที่เคยบูลลี่ เพื่อนบอกว่าตอนนั้นก็ไม่ได้อยากทำ แต่…

“พอเพื่อนคนนึงทำก็ต้องทำตามๆ กัน ไม่อย่างนั้นจะโดนเพื่อนเกลียดไปด้วย” 

 “ถ้าฟังแค่ผ่านๆ ก็จะไม่เล่าให้ฟัง” ‘แมงป่อง’ วรุณรดี ขนุนทอง 

“หนูเข้าไปเป็นเด็กใหม่ตอน ม.3 หนูเรียนดี ส่งงานครูครบ ครูก็ตามใจ สนับสนุนทุกอย่าง เพื่อนเขาก็เลยหมั่นหนู ใส่ความบ้าง แกล้งบ้าง” 

แกล้งอย่างไรบ้าง 

“โดนสั่งไม่ให้เพื่อนคนอื่นเล่นด้วย ถามอะไรก็ไม่ให้ตอบ เหมือนเด็กน้อยเลย” แต่แมงป่องจะไปปรึกษาครูตลอด และคนสุดท้ายที่คิดจะบอกคือพ่อแม่ 

“ไม่บอกค่ะ บอกก็ไม่ได้ช่วยอะไร หนูจะไม่สนิทกับพ่อแม่เรื่องนี้ พ่อค่อนข้างหัวโบราณไม่ค่อยฟัง ด้วยความที่เป็นคนจีน เขาเยอะไปทุกสิ่ง พูดอะไรไป เขาจะขัดๆ ตลอด หนูเลยไม่บอกดีกว่า แต่แม่ฟัง แต่ก็แค่ฟัง ไม่ได้อะไรมาก” 

แมงป่องบอกว่า การเลือกคุยกับใครสักคน เธอจะมองว่าคนคนนั้นจะฟังหรือเปล่าและฟังอย่างไร ถ้าฟังแค่ผ่านๆ ก็จะไม่เล่าให้ฟัง

แต่เพราะครูที่แมงป่องคุยด้วยฟังอย่างตั้งใจ และมาพร้อมคำแนะนำ เธอจึงไว้ใจ 

“ไม่อยากให้คนที่เรารู้สึกสบายใจ รู้สึกวิตกไปกับเรา ทุกข์ เครียดแค่เราคนเดียวก็พอแล้ว” ‘ขนุน’ ดุลย์ชัยภณ ทองเปี่ยม

คนดีตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ 

คนดีของ ‘ขนุน’ ดุลย์ชัยภณ ทองเปี่ยม นักเรียนชั้น ม.4 หมายความว่า “ต้องไม่บูลลี่ ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เอาเปรียบใคร และมีจิตสาธารณะ” แต่ถึงจะเป็นคนดี ตกน้ำก็ไหลถ้าว่ายน้ำไม่เป็น ส่วนตกไฟก็ไหม้เกรียม ดีหรือเลวไม่เกี่ยว 

“ต้องไม่บูลลี่” คือประโยคแรกที่ขนุนพูดถึงคนดี ก่อนจะขยายความต่ออีกว่า 

“เราไม่ควรวิจารณ์รูปลักษณ์เขา เพราะมันคือตัวเขา เราควรอยู่แบบให้เกียรติกัน อยู่กันแบบเท่าเทียม  คนที่โดนบูลลี่เขาน่าจะเสียความมั่นใจในตัวเอง เป็นผลกระทบ อาจเป็นโรคซึมเศร้าครับ” 

ขนุนเล่าให้ฟังต่อว่า ตอน ม.1 น้ำหนักตัวเกือบ 100 กิโลกรัม เพื่อนในห้องเรียกว่า เบาหวานบ้าง อู๊ดๆ บ้าง ไม่มีใครเรียกด้วยชื่อเล่นจริงๆ 

“เสียใจครับ ผมเป็นคนคิดมาก คิดเล็กคิดน้อย เก็บมาคิดทุกอย่าง ไม่มีความมั่นใจ” 

เช่นเดียวกับคนอื่นๆ ขนุนเลือกที่จะไม่ปรึกษาใคร เพราะอยู่ที่บ้านหรืออยู่กับเพื่อนสนิท เขาเลือกที่จะเป็นคนสร้างสีสันมากกว่าเอาเรื่องเศร้าไปเล่าให้ฟัง 

“อยู่กับคนที่ปลอดภัย ผมรู้สึกว่าปลอดภัยจริงๆ ไม่อยากให้เขารู้สึกวิตกอะไรกับเรา ทุกข์ เครียดแค่เราคนเดียวก็พอแล้ว แค่เราอยู่กับคนที่สบายใจ ผมรู้สึกว่ามันผ่อนคลายแล้ว เดี๋ยวเราค่อยหาทางแก้ปัญหาด้วยตัวเอง”​

จน ม.3 ขนุนตัดสินใจลดน้ำหนักเพราะเจอช่องยูทูบ ชวนคนมาลดน้ำหนักไปด้วยกัน 

“อาหารเช้า กลางวัน กินปกติ ตอนเย็นผมกินแค่ผลไม้กับอกไก่ แล้วก็ออกกำลังกาย พร้อมๆ กับเปลี่ยนทัศนคติตัวเอง จากที่เคยเก็บเรื่องไม่ดีมาคิดเล็กคิดน้อย ผมก็เปลี่ยนมาเป็นแรงผลักดัน คิดว่าถ้าผอมคงจะลบคำพูดนี้ออกไปได้” 

ภายใน 4 เดือน ขนุนลดน้ำหนักได้ถึง 20 กิโลกรัม 

“เพื่อนๆ ก็อึ้งว่าไปทำอะไรมา ทำไมผอมได้ขนาดนี้ คนที่อ้วนเขาก็มาปรึกษาผม ถามว่ามีของดีแนะนำไหม ผมบอกว่าไม่มี แค่ออกกำลังกายกับคุมอาหาร น้ำหนักก็ลงแล้ว” 

การตั้งเป้าไว้และทำได้สำเร็จ เรียกความภูมิใจของขนุนกลับคืนมา 

“ผมคิดไว้แล้วก็ทำได้ มีความมั่นใจ ตอนที่ผมจะลดก็คิดอยู่ว่าเราจะทำได้หรือเปล่า พอเราทำได้ ก็ภูมิใจกับตัวเอง ใช้ชีวิตดีขึ้นกว่าเดิม”


Writer

Avatar photo

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

คุณแม่ลูกหนึ่งซึ่งคลุกวงในงานข่าวมาหลายสิบปี เพิ่งมาค้นพบตัวเองไม่กี่ปีมานี้ว่าอินกับงานด้านเด็ก ครอบครัว และการศึกษามากเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้มาร่วมสร้างแผนที่การเรียนรู้อย่าง mappa

Related Posts