- การอธิบายว่าสงครามคืออะไร ทำไมมนุษย์กับมนุษย์ต้องทำร้ายกันอาจจะยากเกินไปสำหรับเด็กคนหนึ่ง
- นิทานไร้คำพูด ‘ทำไม’ ของนิโกไล พอพอฟ จึงเกิดขึ้นด้วยความคิดที่ว่า ถ้าเด็กๆ ได้เข้าใจความไร้สาระของสงคราม พวกเขาอาจจะกลายเป็นพลังแห่งสันติสุขในอนาคต
- เรื่องเล่าผ่านการแย่งร่มของ ‘ฝ่ายกบ’ และ ‘ฝ่ายหนู’ จนสร้างความบาดหมาง เพียงไม่นานร่มคันนั้นก็ไม่ได้อยู่ในความสนใจ แต่การห้ำหั่นและความรุนแรงกลายเป็นใจความสำคัญของสถานการณ์
นิทานภาพ ‘ทำไม’ โดย นิโกไล พอพ็อฟ
จัดพิมพ์โดย มูลนิธิเอสซีจี
“ผมสร้างหนังสือเล่มนี้เพราะผมคิดว่าถ้าหากเด็กๆ ได้เข้าใจความไร้สาระของสงคราม ถ้าหากพวกเขาได้เห็นว่าคนเราอาจถูกดูดเข้าสู่วงจรของความรุนแรงได้ง่ายดายเพียงไหน พวกเขาอาจจะกลายเป็นพลังแห่งสันติสุขในอนาคต และผมยังหวังด้วยว่าพวกผู้ใหญ่ที่แบ่งปันหนังสือเล่มนี้ร่วมกับเด็กๆ จะได้ย้อนทบทวนความคิดของตัวเองเกี่ยวกับความไร้ประโยชน์ของสงคราม” – นิโกไล พอพ็อฟ ผู้ประพันธ์หนังสือนิทาน ‘ทำไม’
หนังสือนิทานไร้คำพูด (wordless) ที่เล่าผ่านภาพวาดสีน้ำเล่มนี้ เป็นเรื่องของ ‘ฝ่ายกบ’ กับ ‘ฝ่ายหนู’ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทุ่งหญ้าเขียวขจี อยู่ดีๆ ความบาดหมางก็เกิดขึ้นจากเจ้าหนูที่กระโดดไปแย่งร่มจากเจ้ากบ เจ้ากบก็ตอบโต้โดยการไปแย่งร่มคืนพร้อมกับเอาบางอย่างจากเจ้าหนูมาด้วย เจ้าหนูและเจ้ากบก็ยิ่งโกรธมากขึ้นเรื่อยๆ
เพียงไม่นานร่มคันนั้นก็ไม่ได้อยู่ในความสนใจ หากแต่การห้ำหั่นและความรุนแรงกลายเป็นใจความสำคัญของสถานการณ์ และปล้นความสงบสุขไปจากดินแดนสวยงามระรื่นตาแห่งนั้น โดยทิ้งภาพสุดท้ายเอาไว้คือควันโขมง และสีเขียวกลายเป็นสีเทา
หนังสือนิทานใช้คำถามนำเพียงคำเดียวว่า ‘Why?’ ‘ทำไม’ อาจเป็นสื่อแทนคำถามค้างใจของ พอพ็อฟ ผู้ประพันธ์ชาวรัสเซีย ที่มีภาพติดตาจากวัยเด็ก ?
ทำไม? แม่และยายของเขาต้องคอยอุ้มเขาไปอยู่ในหลุมหลบภัยท่ามกลางเสียงเตือนภัยที่ดังเพื่อกระตุ้นเตือนถึงการโจมตีของฝ่ายตรงข้ามของสงคราม
ทำไม? ชาวนาและชาวบ้านรัสเซียต้องกลับบ้านอย่างไม่มีแขนไม่มีขา
ทำไม? แสงวาบๆ จากเศษโลหะวาวๆ ที่ดึงดูดให้เด็กผู้ชายคนหนึ่งออกไปเก็บจึงเป็นเหตุให้เขาพิการไปตลอดชีวิต
ทำไม? ทุ่งหญ้าเขียวขจีจะคงความเขียวเอาไว้แบบในวันวานไม่ได้
ความเจ็บปวด ความอึดอัด ความหดหู่ จากคำถามค้างใจที่ถูกถ่ายทอดจากเด็กชายคนหนึ่งไปสู่เด็กคนอื่นๆ ในโลกสีเขียวของเรา มาร่วมกันหาคำตอบว่า สิ่งที่ไร้สาระที่สุดที่มนุษย์คิดทำขึ้นมาซึ่งเรียกว่า ‘สงคราม’ นั้น ทำไม? จึงต้องเกิดขึ้น และเมื่อไร? จึงจะสิ้นสุดลงเสียที