- 18 มกราคม ถูกกำหนดให้เป็น “วันวินนี่เดอะพูห์” เพื่อเป็นเกียรติแก่ เอ. เอ. มิลน์ ผู้เขียนหนังสือ “วินนี่-เดอะ-พูห์” และเป็นผู้ให้กำเนิดเจ้าหมีพูห์ ซึ่งเป็นตัวละครที่คนทั้งโลกหลงรัก
- “วินนี่-เดอะ-พูห์” เป็นเรื่องราวชีวิตและการผจญภัยของเด็กชายคริสโตเฟอร์ โรบิน กับเพื่อนรักที่เป็นสัตว์ป่า ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากคริสโตเฟอร์ โรบิน ลูกชายของมิลน์ และตุ๊กตาสัตว์ตัวโปรดของเขา
- ขณะที่หนังสือประสบความสำเร็จไปทั่วโลก สิ่งที่คริสโตเฟอร์ โรบิน ต้องเผชิญคือการกลายเป็นบุคคลสาธารณะก่อนวัยอันควร ซึ่งส่งผลกระทบต่อจิตใจของเขาจนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่
- แม้ว่า “วินนี่-เดอะ-พูห์” จะเป็นหนังสือที่นักอ่านทั่วโลกยกย่อง แต่สำหรับคริสโตเฟอร์ โรบิน มันคือความสัมพันธ์แบบทั้งรักทั้งเกลียด และทำให้เขาต้องห่างเหินกับพ่อแม่ในที่สุด
นาทีนี้ คงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก “วินนี่เดอะพูห์” ตัวการ์ตูนหมีอ้วนสีเหลืองผู้รักการกินน้ำผึ้งเป็นชีวิตจิตใจ หมีพูห์ถือกำเนิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ยุคที่ผู้คนต่างรู้สึกหดหู่สิ้นหวัง และพยายามที่จะฟื้นฟูตัวเองจากผลพวงของสงคราม เรื่องราวอันน่าสนุกสนาน ตลกขบขัน และไร้เดียงสาของเด็กชายคริสโตเฟอร์ โรบิน หมีพูห์ และเพื่อนๆ ในป่าใหญ่ เป็นความสดใสและความหวังให้กับโลกในช่วงเวลานั้น และนั่นก็น่าจะเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เจ้าหมีพูห์กลายเป็นตัวละครที่ใครๆ ก็เทใจให้ ไม่ว่าจะผ่านมานานเกือบร้อยปีแล้วก็ตาม
และเพื่อเป็นเกียรติแก่ เอ. เอ. มิลน์ ผู้แต่งหนังสือชุด “วินนี่-เดอะ-พูห์” จึงมีการกำหนดให้วันคล้ายวันเกิดของเขา 18 มกราคม เป็น “วันวินนี่เดอะพูห์” ทว่านอกเหนือจากเนื้อหาของหนังสือที่น่าประทับใจแล้ว หนังสือชุดนี้ยังมีเรื่องราวอีกหลายแง่มุมที่เราน่าจะทำความเข้าใจ ในวันสำคัญวันนี้
กำเนิดวินนี่เดอะพูห์
อลัน อเล็กซานเดอร์ มิลน์ หรือ เอ. เอ. มิลน์ เป็นนักเขียนบทละครและบทภาพยนตร์ นักเขียนนวนิยายแนวสืบสวน และเป็นนักเขียนการ์ตูนให้กับนิตยสารแนวขำขันชื่อ Punch เขาและดาฟเน ภรรยา มีลูกชายด้วยกัน 1 คน คือคริสโตเฟอร์ โรบิน ครอบครัวมิลน์มักจะใช้เวลาด้วยกันที่บ้านในเขตชนบท ที่เรียกว่า คอตช์ฟอร์ด ฟาร์ม ในอีสต์ ซัสเซกส์ ซึ่งภายหลังกลายเป็นฉากต่างๆ ในหนังสือ “วินนี่-เดอะ-พูห์”
คริสโตเฟอร์ โรบิน หมีพูห์ และเพื่อนสัตว์อื่นๆ เริ่มกระโดดโลดเต้นอยู่ในจินตนาการของ เอ. เอ. มิลน์ นับตั้งแต่ที่มิลน์เฝ้าดูภรรยาของเขาเล่นตุ๊กตากับลูกชาย โดยแสดงบทบาทสมมติให้ตุ๊กตาสัตว์เหล่านั้นพูดได้ราวกับมีชีวิต ด้วยโทนเสียงและบุคลิกต่างๆ จนเมื่อหนังสือเผยแพร่แล้ว ดาฟเนยังได้ชื่อว่าเป็นผู้ร่วมแต่งหนังสือกับมิลน์ด้วย
ส่วนเจ้าหมีวินนี่เดอะพูห์นั้น แรกเริ่มเดิมทีมันเป็นตุ๊กตาหมีจากห้างแฮร์รอดส์ ที่มิลน์ซื้อให้คริสโตเฟอร์ โรบิน ในวันเกิดครบรอบ 1 ขวบ โดยมีชื่อแรกว่า “เอ็ดเวิร์ด” และเปลี่ยนเป็น “วินนี่เดอะพูห์” ตามชื่อของ “วินนี่” หมีสีดำขวัญใจมหาชนในสวนสัตว์ลอนดอน ส่วนคำว่า “พูห์” ก็มาจากชื่อหงส์ที่เขาพบอยู่ในละแวกบ้านนั่นเอง
หนังสือ “Winnie-the-Pooh”
เรื่องราวของพูห์ปรากฏเป็นครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ Evening Standard ฉบับพิเศษต้อนรับเทศกาลคริสต์มาสในเดือนธันวาคม ปี 1924 และหลังจากนั้นก็ได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือบทกวีสำหรับเด็ก ที่มีชื่อว่า “When We Were Very Young” ตามด้วยหนังสือชุด “Winnie-the-Pooh” ในปี 1926 และภาคต่อ “The House at Pooh Corner” ในปี 1928
“Winnie-the-Pooh” เป็นเรื่องราวการผจญภัยของคริสโตเฟอร์ โรบิน หมีวินนี่เดอะพูห์ และผองเพื่อนที่ก็มีที่มาจากตุ๊กตาสัตว์ของคริสโตเฟอร์ โรบิน เช่นกัน ทั้งอียอร์ พิกเล็ต ทิกเกอร์ และแคงกา ซึ่งนอกจากลักษณะนิสัยน่ารัก สบายๆ เรียบง่าย และถ่อมตัวของเจ้าหมีพูห์แล้ว บรรยากาศในเรื่องที่เต็มไปด้วยความสดใสไร้เดียงสาของวัยเด็ก ก็ทำให้ “Winnie-the-Pooh” เอาชนะใจผู้อ่านทั่วอังกฤษและทั่วโลกได้ไม่ยาก
ความนิยมของ “Winnie-the-Pooh” สามารถเรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ ด้วยภาพของชนบทอังกฤษ ที่มีมนต์เสน่ห์ดึงดูดให้ผู้คนหลีกหนีจากความเป็นจริงเข้าสู่ป่าในจินตนาการ พื้นที่ที่ไร้ซึ่งความกดดันจากสภาพเศรษฐกิจและสังคมในยุคสมัยใหม่ นอกจากนี้ หนังสือชุดนี้ยังเป็นเครื่องเยียวยาจิตใจที่บอบช้ำของผู้คนในช่วงที่ผ่านพ้นจากมหาสงคราม ไม่เว้นแม้กระทั่งมิลน์เอง ที่เคยถูกเกณฑ์ไปรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ป่าร้อยเอเคอร์จึงเป็นเหมือนสถานที่หลบภัยจากภาพความโหดร้ายของสงครามในแนวรบด้านตะวันตก ที่ยังคงตราตรึงอยู่ในหัวใจของเขาเองและผู้อ่านหลายคนในทศวรรษ 1920
ความโด่งดังของเจ้าหมีวินนี่เดอะพูห์ ทำให้ตัวมันเองถูกพัฒนาจากตัวละครในหนังสือเด็ก สู่การเป็นนักแสดงในภาพยนตร์แอนิเมชัน นักดนตรี และแบรนด์ของเล่น โดยในทศวรรษ 1960 ดิสนีย์ได้ซื้อลิขสิทธิ์ของหนังสือชุดนี้ และนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์แอนิเมชัน ออกฉายครั้งแรกในปี 1977 หลังจากนั้น ในปี 1993 บริษัทวอลต์ ดิสนีย์ ยืนยันว่า หมีพูห์เป็นตัวละครยอดนิยมอันดับสอง รองจากมิกกี้เมาส์ และยังเป็นหมีในจินตนาการที่มีรอยเท้าอยู่ใน Hollywood’s Walk of Fame อีกด้วย ส่วนหนังสือที่เป็นต้นฉบับนั้น ได้รับการแปลในหลายภาษา และมียอดขายกว่า 20 ล้านก็อปปี้ในปี 1996
นอกจากนี้ ความสำเร็จของหนังสือ “Winnie-the-Pooh” ยังส่งผลต่อวินนี่ หมีสีดำต้นแบบของพูห์ด้วย โดยในปี 1934 วินนี่ตายเมื่ออายุได้ 20 ปี การตายของวินนี่เป็นข่าวดังไปทั่วโลก กระโหลกของวินนี่ถูกส่งไปเก็บรักษาไว้ที่ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ และมีการสร้างอนุสาวรีย์ของวินนี่ไว้ที่สวนสัตว์ลอนดอนและ วินนีเพ็ก ซึ่งเป็นอนุสาวรีย์รูปหมียืนสองขา จูงมือกับโคลเบิร์น นายทหารชาวแคนาดา ผู้เป็นเจ้าของวินนี่
หนังสือแห่งวัยเยาว์อันแหลกสลาย
ขณะที่หนังสือ “Winnie-the-Pooh” ได้รับความนิยมอย่างสูงจากคุณสมบัติในการชุบชูจิตใจของผู้คน แต่สำหรับคริสโตเฟอร์ โรบิน ตัวจริง ผลงานของพ่อเรื่องนี้ได้ทำลายชีวิตวัยเด็กของเขาอย่างไม่อาจเยียวยา
จากข้อมูลของสถาบันสมิธโซเนียน คริสโตเฟอร์ โรบิน และหมีของเขา เริ่มมีชื่อเสียงในปี 1926 ซึ่งเป็นปีที่หนังสือของมิลน์ ซึ่งวาดภาพประกอบโดย อี. เอช เชพเพิร์ด ได้รับการตีพิมพ์ หลังจากนั้น บรรดาแฟนหนังสือต่างก็พากันส่งจดหมายถึงคริสโตเฟอร์ โรบิน เมื่อพวกเขาทราบว่าเด็กชายในหนังสือแสนน่ารักเล่มนี้นั้นมีตัวตนอยู่จริง
คริสโตเฟอร์ได้อ่านจดหมายจากแฟนคลับและต้องคอยตอบจดหมายเหล่านั้น โดยมีพี่เลี้ยงคอยช่วยเหลือ และได้ก้าวเข้าสู่แสงไฟแห่งชื่อเสียงตั้งแต่วัยอนุบาล จากการเป็นต้นแบบของตัวละครเด็กชายในหนังสือของพ่อ แม้ในช่วงแรกเขาจะรู้สึกสนุกสนานไปกับชีวิตใหม่ แต่เมื่อเวลาผ่านไป หนังสือที่คนทั่วโลกหลงรักกลับกลายเป็นภาระหนักที่เขาต้องแบกไว้บนบ่าเล็กๆ
เมื่อคริสโตเฟอร์ โรบิน อายุได้ 9 ขวบ ซึ่งตรงกับช่วงที่หนังสือ “Winnie-the-Pooh” ได้รับความนิยมอย่างสูง เขาได้เข้าเรียนในโรงเรียนประจำแห่งหนึ่ง การเป็นเด็กชายคนดังของเขากลับทำให้เขาถูกบูลลี่และล้อเลียน รวมทั้งรู้สึกเหมือนถูกขโมยตัวตน เนื่องจากผู้คนมักจะเข้าใจว่าเขามีนิสัยเหมือนตัวละครคริสโตเฟอร์ โรบิน ในหนังสือ
ในปี 1929 เอ. เอ. มิลน์ ให้สัมภาษณ์ว่าเขารู้สึก “ทึ่งและขยะแขยง” ชื่อเสียงของคริสโตเฟอร์ โรบิน แม้ว่ามิลน์จะไม่ได้เล่ารายละเอียดเกี่ยวกับปัญหาที่ลูกชายเผชิญ แต่เขาก็รู้สึกว่าลูกชายของเขาได้ผ่านประสบการณ์การเป็นคนดังเกินกว่าที่เขาปรารถนาให้ลูกเป็น ด้วยเหตุนี้ เขาจึงเลิกเขียนหนังสือเด็กอย่างเด็ดขาด หลังจากที่ “Winnie-the-Pooh” เล่มที่ 4 ออกวางขาย
และไม่ใช่แค่คริสโตเฟอร์ โรบิน เท่านั้น ที่ได้รับผลกระทบจากหนังสือเรื่องนี้ อี. เอช. เชพเพิร์ด ผู้วาดภาพประกอบให้กับหนังสือ “Winnie-the-Pooh” เองก็รู้สึกเสียใจที่มีส่วนร่วมในการสร้างตัวละครอันเป็นที่รักของคนทั่วโลกนี้ เนื่องจากเจ้าหมีพูห์นั้นโดดเด่นจนกลบผลงานอื่นๆ ของเขา
จากเด็กชายคนดังสู่ผู้ใหญ่ที่มีแผลใจ
เมื่อคริสโตเฟอร์ โรบิน เติบโตเป็นผู้ใหญ่ เขาได้เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่สอง ตกงาน และมีปัญหาในการปรับตัว และยังคงรู้สึกโกรธ ผิดหวัง ถูกหลอกหลอนจากชื่อเสียงในวัยเด็ก และไม่รู้ว่าที่ทางของเขาบนโลกนี้อยู่ตรงไหน
คริสโตเฟอร์ โรบิน กล่าวถึงพ่อของเขาใน The Independent ว่า เขารู้สึกเหมือนกับว่าพ่อประสบความสำเร็จจากการเกาะอยู่บนไหล่ของลูกชายตัวน้อย และสิ่งที่เหลืออยู่คือชื่อเสียงที่ว่างเปล่าของการเป็นลูกชายของ เอ. เอ. มิลน์
บาดแผลที่หลงเหลืออยู่ในใจของคริสโตเฟอร์ โรบิน ในวัยผู้ใหญ่ ส่งผลให้เขาห่างเหินจากพ่อแม่ เขาเปิดร้านหนังสือร่วมกับภรรยา และคอยดูแลลูกสาวที่เป็นโรคสมองพิการ รวมทั้งเขียนหนังสืออัตชีวประวัติ 3 เล่ม และบันทึกความทรงจำชื่อ The Enchanted Places ซึ่งเขาได้บรรยายความสัมพันธ์ของเขากับ “Winnie-the-Pooh” ว่าเป็นความสัมพันธ์แบบทั้งรักทั้งเกลียด
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคริสโตเฟอร์ โรบิน จะเกลียดหนังสือเรื่องนี้ แต่เขาก็เข้าใจดีว่าเรื่องราวของพูห์และเพื่อนๆ นั้นมีความหมายต่อจิตใจของคนทั่วโลก เขาจึงมอบตุ๊กตาทั้ง 5 ตัว ของเขา ได้แก่ พูห์ แคงกา ทิกเกอร์ พิกเล็ต และอียอร์ ให้เป็นสมบัติถาวรของห้องสมุดประชาชนนิวยอร์ก ในปี 1987 เพื่อให้แฟนหนังสือเข้ามาเยี่ยมชม
คริสโตเฟอร์ โรบิน เสียชีวิตเมื่อวันที่ 20 เมษายน 1996 เมื่ออายุ 75 ปี หลังจากต่อสู้กับโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงมาอย่างยาวนาน เรื่องราวชีวิตและความเจ็บปวดจากการเป็นตัวละครหนึ่งในผลงานของพ่อ ถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ชื่อ Goodbye, Christopher Robin เมื่อปี 2017 และในปี 2018 ดิสนีย์ได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง Christopher Robin ที่ว่าด้วยชีวิตของตัวละครในหนังสืออย่างคริสโตเฟอร์ โรบิน เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่
ที่มา:
https://www.nhaschools.com/en/blog/parent-room/national-winnie-the-pooh-day
https://www.daysoftheyear.com/days/winnie-the-pooh-day/
https://www.history.com/news/the-true-story-of-the-real-life-winnie-the-pooh
https://www.rd.com/article/real-story-behind-christopher-robin-and-winnie-the-pooh/