วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร: ไม่ต้องเอาความหวังของพ่อไปเป็นภาระ ความฝันของพ่อสุดแค่ไหนให้มันสุดแค่นั้น

  • คุยกับ สส.ดาวสภาใน 3 ประเด็น คือ วัยเด็ก พ่อ และความฝันว่าอยากสร้างโรงเรียน
  • ถ้าวันหนึ่ง ลูกสาวไว้ 6 ขวบบอกว่าโตขึ้นหนูอยากเป็นนักการเมือง คุณพ่อตอบทันทีว่า อยากเป็นอะไรได้ ไม่ต้องเอาพ่อเป็นภาระ
  • เชื่อมเศษเหล็กให้กลายเป็น Transformer คือแนวคิดโรงเรียนในฝันของสส.วิโรจน์

ชิ้นส่วนสำคัญที่ทำให้ ด.ช.วิโรจน์ กลายเป็น สส.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ในวันนี้คือการเป็น ‘เจ้าหนูจำไม’ 

“คุณอาข้างบ้าน บอกว่า ไม่รู้ทำไมถึงไม่ถามคุณครู ไม่มีครูที่ไหนเขาตีเราหรอก เราเลยเปลี่ยนจากคนเดิม คนที่สงสัยอะไรไม่เคยถาม เราก็เริ่มถาม จากเดิมที่ไม่เข้าใจอะไรเลยก็เข้าใจ จากเดิมที่เคยเรียนไม่รู้เรื่องในห้อง ก็พยายามเรียนให้มันรู้เรื่อง” 

คุณอาข้างบ้านคนเดียวกันนั้นเอง ก็พา ด.ช.วิโรจน์ไปจตุจักร เทียวซื้อแบบฝึกหัด เพื่อแก้ไขความไม่รู้โดยเริ่มต้นที่ตัวเองก่อน ไม่ใช่คนอื่น

“เวลาที่เราไม่รู้ เราต้องพยายามก่อน เมื่อคุณพยายามถึงจุดๆ หนึ่งแล้ว คำถามที่เราถาม กับคนที่รู้ มันจะเป็นคำถามที่ make sense เพราะเป็นคำถามที่สะท้อนว่าเราได้พยายามมาแล้ว”​

และหลายครั้ง การนึกคำถามยากกว่าการหาคำตอบ 

“เราเจอเรื่องใหม่ เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสงสัยอะไร เพื่อนที่ชอบถามเรา หรือฝากเราถามครู ทำให้คิดว่าคำถามก็คือความรู้ มันคือจุดเริ่มต้นของความรู้ ทำให้เรารู้มากขึ้น”

ถ้าเปรียบกับนักฟุตบอล สส.วิโรจน์คุณต้องยิงประตูแรกให้ได้ แล้วความมั่นใจจะตามมา แต่ต้องเป็นประตูแรกที่ไม่ได้มาเพราะฟลุคหรือยิงลูกโทษที่เพื่อนประเคนให้ 

“แต่มันต้องมาจากการฝึกซ้อม คุณใช้ทักษะเทคนิคในการฝึกซ้อมนั้น แล้วมันประสบความสำเร็จจริงๆ ถ้าไม่ประสบความสำเร็จ ก็อย่าโทษคนอื่น ให้โทษตัวเรา” 

ยกตัวอย่างการอธิบายวิชาที่เพื่อนๆ ไม่เข้าใจ แต่อธิบายเท่าไหร่เพื่อนก็ไม่เข้าใจ 

“จนโกรธเพื่อน แต่ผมมานั่งคิดใหม่ว่า เราเองที่ห่วย เรายังหาคำอธิบายไม่ได้ เรากลับไปนั่งคิดตอนพักแล้วกลับมาอธิบายใหม่ อ๋อ คราวนี้เพื่อนเข้าใจ เราก็รู้สึกดีใจ มันก็ทำให้เราเป็นนักอธิบาย นักลำดับเรื่องในการเล่า แล้วก็เป็นทักษะที่ติดตัวมาจนถึงปัจจุบัน ในการเล่าเรื่องยากๆ ให้เข้าใจง่ายๆ ภายในระยะเวลาจำกัด”

หลังๆ มา จึงค่อยค้นพบว่าความเชื่อมั่นและพยายามนี้ เรียกว่า growth mindset 

“ทำให้เราไม่เคยโทษสิ่งนั้นว่ามันยาก แต่เราจะกลับมาตั้งต้นที่ตัวเองเสมอ” 

ความฝันของพ่อต้องไม่เป็นภาระ

พอกลับถึงบ้าน ถอดสูท ปลดป้าย สส. ออกไป นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร เป็นพ่อแบบไหน 

“พ่อเสรีภาพ ทุกครั้งที่เขาล้มผมให้เขาลุกเอง ผมคอย cheer up เดินไป สู้ๆ ลุกเอง ที่ผ่านมามีแค่ครั้งเดียวในชีวิตที่เขาลุกไม่ไหว ผมรู้แล้วว่าเขาต้องเจ็บหนักแน่ ตอนนั้นพาเขาไปหาหมอ”

เป็นลูกวิโรจน์ ล้มเองต้องลุกเอง และฝึกความพยายามด้วยการทำแบบฝึกหัด 

“ผมสอนให้เขามีวินัยในการทำแบบฝึกหัด เติบโตมากับการฝึกฝน เด็กในวัยอนุบาลมีแบบฝึกหัดลากเส้นระบายสี ผมพยายามให้ทำทุกวัน ให้เขารู้สึกว่ามีวินัยในการฝึกฝนตนเอง ผมไม่ได้ให้เขาฝึกวิชาการ หรือเอาอะไรมาติว แต่ให้ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก ระบายสี โยงเส้น ปั้นดินเบา ผมถือว่านี่คือสิ่งที่ต้องฝึกฝนแล้วก็ทำให้มีวินัย ไม่ใช่ทำเพราะอยู่ดีๆ ก็คิดอยากทำ แต่เราทำเพราะเราตั้งใจจะทำมัน แล้วเรามีวินัยกับมัน แล้วทำให้สม่ำเสมอจนติดเป็นนิสัย รู้จักการวางเป้า” 

ทั้งหมดนี้เขากำลังพูดถึงลูกสาววัย 6 ขวบ 

“ลูกผมรู้จักคำว่าวางเป้า รู้จักคำว่าวินัย รู้ว่าต้องทำอะไร แต่ผมเลี้ยงแบบเสรีนะ เช่น บางคนบอกว่า ผมอนุญาตให้ลูกผมดูยูทูบไหม ดู แต่ต้องมีกติกา คุณกลับมาบ้าน ต้องทำการบ้าน ทำแบบฝึกหัด ทำกิจกรรมให้เสร็จก่อนถึงดูยูทูบได้”

สำหรับคุณพ่อฝีปากกล้าคนนี้ – เมื่อไรก็ตามที่คุณได้ทำในสิ่งที่เราตกลงกันไว้ คุณมีสิทธิที่จะทำในสิ่งที่ชอบอย่างเสรี นี่คือระเบียบวินัยอย่างสร้างสรรค์ 

“ในเมื่อคุณทำตามสัญญาแล้วคุณควรจะได้รางวัล ได้เสรีภาพ การจำกัดเสรีภาพจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเขาทำผิดข้อตกลง วินัยบ้านผมเกิดจากการตกลงระหว่างกัน เราให้สิทธิเขาในการกำหนดวินัย เขาจะรู้สึกว่านี่คือกติกาที่เขากำหนดเอง โดยที่มีผมเป็นพยาน นี่คือการฝึกวินัยที่แท้จริงของผม”

ดุมาก เผ็ดมากในสภา แต่กลับเป็นคุณพ่อที่ไม่ดุของลูกสาว

“ก็ขำๆ อย่างนี้ ดุก็มีบ้างนะ แต่ว่าต้องผ่านการเตือนสักสามครั้ง เคยตีลูกสองครั้งด้วย แต่เป็นการตีตามกติกา จากเบามาหาหนัก กติกาของผมไม่เคยใช้คำสั่งเผด็จการ เราตกลงร่วมกัน บางครั้งเขาเป็นคนยื่นข้อเสนอเองด้วยซ้ำ ปรากฏว่าเขาไม่ทำการบ้านบ้าง งอแงบ้าง สุดท้ายเราบอก ไม่ได้ ต้องทำ การทำโทษขั้นสูงสุดที่ตกลงกันไว้คือ ถูกตีสองที เขา (ลูก) บอกว่าตีเลย เราตีแบบเด็กๆ ตีเปาะแปะ แต่เขาก็ร้องไห้” 

ไม่ได้ร้องไห้เพราะเจ็บมือ แต่เจ็บที่ใจมากกว่า 

“ผมว่าเขาก็เฮิร์ท ทำไมเขาต้องถูกลงโทษด้วยนะ แต่ครั้งหรือสองครั้งเอง ตั้งแต่วันนั้นเขาไม่เคยถูกตีอีกเลย ผมถามว่าเขาร้องไห้ทำไม เขาบอกว่า ทำไมเขาถึงทำตามที่เขาสัญญาไว้ไม่ได้ เขาไม่ได้ร้องไห้เพราะเจ็บที่ถูกผมตี แต่เขารู้สึกผิดหวังกับตัวเอง”

ผมชอบนิสัยแบบนี้ ให้ลูกเรียนรู้จากความผิดหวัง เขาจะมีแรงบันดาลใจผลักดันตัวเองให้ดีขึ้นภายใต้เสรีภาพที่มีเพียงพอ แล้วเมื่อไรก็ตามที่เขาทำตามกติกาได้เร็ว ได้ไว เขาควรต้องได้รับเสรีภาพมากขึ้น

เห็นพ่อเป็นดาวสภา ถ้าวันหนึ่งลูกสาวบอกว่า โตขึ้นหนูอยากเป็นนักการเมือง คุณพ่อตอบทันทีว่า

“เขาอยากเป็นอะไรก็เป็น” ความเร็วในการตอบแทบจะพอๆ กับความเร็วเสียง 

ที่สำคัญ ไม้ต่อหรือความหวังของพ่อ ลูกไม่จำเป็นต้องสานต่อให้เป็นภาระและข้อจำกัดในการใช้ชีวิต

“ผมไม่เคยคิดอยากจะส่งไม้ต่อหรือส่งอะไร เขาสามารถสร้างในสิ่งที่เขาอยากเป็นได้ด้วยตัวเอง เขาไม่จำเป็นต้องมานั่งรับเศษซากอารยธรรมอะไรจากผม เขาไม่จำเป็นต้องมานั่งสานต่ออะไรจากผม 

ไม่ต้องเอาความฝันของพ่อ ไปเป็นภาระ ไม่ต้องเอาความหวังของพ่อไปเป็นข้อจำกัดในการดำเนินชีวิต ความฝันของพ่อสุดแค่ไหน พ่อตายไปที่ตรงไหนก็ให้มันสุดที่ตรงนั้น ถ้าอยากจะเลือกทำบางอย่างต่อ ก็จงทำโดยสมัครใจ แต่ถ้าไม่สนใจเลย ก็ให้ความฝันนั้นมันตายไปกับพ่อ เชื่อว่าคนอื่นที่ฝันตรงกับพ่อ เขาจะหยิบความฝันพ่อไปทำต่อเอง”

โรงเรียนของคุณครูวิโรจน์

​ความฝันอีกก้อนของ สส.วิโรจน์ ที่ยังไม่ได้ลงมือทำสักทีคือ สร้างโรงเรียนที่เด็กเก่งกันทุกคน

“ผมอยากทำโรงเรียนที่เปิดกว้างทางความคิด เป็นโรงเรียนที่สามารถผลิตให้วัตถุดิบทุกประเภทมีคุณค่าในตัวเขาเอง คุณมาเป็นแก้ว เราก็พร้อมที่จะเจียระไน คุณมาเป็นเพชร เราก็พร้อมจะเจียระไนให้เป็นเพชรเม็ดงาม คุณมาเป็นเศษเหล็กเราก็พร้อมที่จะเชื่อมให้คุณกลายเป็น Transformer ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงมาก” 

และการศึกษาไม่ควรมีแม่พิมพ์อันเดียวอีกต่อไปแล้ว 

“พอมีแม่พิมพ์อันเดียว สุดท้ายเราแข่งกับเขาไม่ได้ เราเจ็บช้ำมาขนาดไหนแล้วครับ ที่เราฝากความหวังไว้เพียงกลุ่มเด็กยอดพีระมิด แล้วหวังว่าเด็กกลุ่มนี้จะมีแรงที่จะผลักให้ประเทศนี้พัฒนาไปได้ เราเชื่อในทฤษฎีนี้มานานแล้ว แล้วมันก็ล้มเหลว” 

โรงเรียนของเขาต้องผลักเด็กทุกคน เรื่องกำไร-ขาดทุน สส.วิโรจน์ บอกว่า ‘คุ้มมาก’ ผลตอบแทนกลับมาระดับห้าดาว ในทุกประเทศที่เด็กเกิดน้อยลง 

“รัฐบาลบอกสนใจเด็กๆ ผมไปโรงเรียนไหน ไปบรรยายอะไร ครูบอกว่า ผอ. บอกว่า เข้าห้องน้ำครูดีกว่า เข้าห้องน้ำเด็กไม่ได้ เพราะห้องน้ำเด็กมันสกปรก ผมบอกเลย คุณ normalize สิ่งที่มันผิดปกติไปแล้ว คุณปล่อยให้เด็กเข้าห้องน้ำห่วยๆ ได้ยังไง” 

ในประเทศที่งบประมาณกระทรวงศึกษาธิการสูงสุดเป็นอันดับสองของประเทศ 

ในประเทศที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างก็ห่วงเด็กๆ และบอกว่าต้องปฏิรูปการศึกษา

ในประเทศที่เด็กๆ ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตัวเองแต่กลับโดนหมายจับ กลับทำอย่างนี้ 

“คุยกับครู คุยกับนักวิชาการ บอกว่าเด็กไทยร้อยละ 60 ไม่ได้ทานอาหารเช้า แล้วรัฐมนตรีทราบไหม ทราบ เคยทำรายงานถึงรัฐมนตรี แล้วก็ไม่มีอะไร ทำไมไม่จัดอาหารเช้า แล้วอาหารกลางวันล่ะ ถ้าจากปี 56 ก็ 20 บาท ต่อหัวต่อวัน แล้วตอนนี้เงินเฟ้อไปเท่าไรแล้ว รัฐมนตรีทราบ แล้วทำไมยังจัดงบฯ เท่านี้ ตกลงแล้วเราสนใจจริงหรือเปล่า”​

โรงเรียนในฝันของวิโรจน์ที่เน้นสนใจเด็กๆ ทุกคน และภายใต้ความสนใจนั้นคือการเปิดกว้าง 

“ผมฝันว่าเด็กทุกคนต้องมีความพยายามและเชื่อมั่นในความพยายาม รู้สึกแฮปปี้ที่เห็นดอกผลจากความพยายาม ผมเชื่อใน growth mindset แต่ growth mindset ของแต่ละคน ความถนัดของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน จริงไหม”

เด็กๆ หลายคนส่งความเห็นถึง สส. ผ่านทวิตเตอร์หลายครั้งว่า “ไม่ชอบในสิ่งที่เป็นหรือสิ่งที่ทำอยู่” 

เจ้าของแอคเคาน์ Wiroj 77 ไม่เข้าข้างแต่จะถามกลับว่า ตกลงว่าไม่ชอบหรือทำไม่ได้

“ถามใจตัวเอง แล้วจะรู้เลย ตกลงแค่ไม่ชอบจริงๆ หรือทำไม่ได้ คุณได้พยายามหรือยัง บางคนพยายามแล้วก็ทำได้ แต่ทำได้แล้วก็ยังรู้สึกว่าไม่ชอบ อย่างนั้นผมเชื่อว่าคุณไม่ชอบ คุณก็ไปหาสิ่งที่ชอบ แต่ถ้าคุณไม่เคยพยายามเลย คุณจะไม่ชอบทุกสิ่งทุกอย่าง นี่คือสิ่งที่เราต้องปรับ mindset ของเด็ก ต้องพยายามแล้วก็ค้นหา เมื่อไหร่ที่คุณเจอสิ่งที่ชอบแล้วเสริมความพยายามเข้าไปด้วยนะ มันคือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่มาก”


Writer

Avatar photo

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

คุณแม่ลูกหนึ่งซึ่งคลุกวงในงานข่าวมาหลายสิบปี เพิ่งมาค้นพบตัวเองไม่กี่ปีมานี้ว่าอินกับงานด้านเด็ก ครอบครัว และการศึกษามากเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้มาร่วมสร้างแผนที่การเรียนรู้อย่าง mappa

Photographer

Avatar photo

อนุชิต นิ่มตลุง

ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว จนถึงสารคดี ปัจจุบันเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision เพิ่งตัดสายสะดือเป็นคุณพ่อหมาดๆ เมื่อเมษาที่ผ่านมา (พ.ศ. 2563)

Related Posts