เพจไม่อยากกลับบ้าน

‘บ้าน’ ไม่ได้อบอุ่นและสบายใจ เราจึงออกไปหาที่ปลอดภัยและทิ้งตัวนอน

  • เมื่อเด็กรู้สึกอยากกลับบ้าน เพราะสภาพแวดล้อมในบ้านดี จะส่งผลให้สมองของเด็กคิดและทำในสิ่งที่สร้างสรรค์ได้
  • คุยกับ ฝ้าย-บุณฑริกา แซ่ตั้ง วัย 27 ปี เจ้าของเพจไม่อยากกลับบ้าน ในฐานะลูกที่ตามหาพื้นที่ปลอดภัยในบ้านมาโดยตลอด
  • เพจไม่อยากกลับบ้าน เกิดขึ้นเพราะไม่ได้ต้องการเพิ่มความเกลียดชังให้คนที่หัวใจแตกสลายจากครอบครัว แต่กำลังสร้างบรรทัดฐานใหม่และทำความเข้าใจกับสังคมว่าการที่เด็กคนหนึ่งจะมีความขัดแย้งกับพ่อแม่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้

ถ้าความหมายของคำว่า บ้าน แปลว่าพื้นที่สบายใจ อบอุ่น ปลอดภัย สิ่งเหล่านี้คือความรู้สึกตรงข้ามที่เกิดขึ้นกับเจ้าของเพจ ‘ไม่อยากกลับบ้าน’ เพจที่ก่อตั้งเพื่อนำเสนอเรื่องราวอีกแง่มุมหนึ่งของคำว่าบ้าน เพราะในโลกตามความเป็นจริงคำว่า ‘บ้าน’ อาจจะไม่ใช่พื้นที่อบอุ่นและสบายใจเหมือนดังนิยามที่ว่าไว้ และไม่ใช่ทุกคนที่มี ‘บ้าน’ พร้อมให้กลับเพื่อหลบภัยและซุกตัวลงนอน 

ฝ้าย บุณฑริกา แซ่ตั้ง วัย 27 ปี คือเจ้าของเพจไม่อยากกลับบ้าน เธอเติบโตมาท่ามกลางครอบครัวคนจีนที่มีสมาชิกหลากหลายรุ่น โดยที่ทุกคนอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน ทว่าการรวมตัวอยู่ด้วยกันของสมาชิกในครอบครัว กลับไม่ได้สร้างความรู้สึกอบอุ่นอย่างที่ควรจะเป็น กลับกันบ้านที่มีคนอยู่ร่วมกันเยอะๆ กลับสร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัย ไร้ความเป็นส่วนตัว ท้ายที่สุดความรู้สึกไม่อยากกลับบ้านก็เกิดขึ้นในใจของฝ้าย

ฝ้าย หรือ ฟรายเดย์ ชื่อเล่นที่พ่อตั้งให้ เล่าย้อนให้ฟังว่าตั้งแต่คุณพ่อเสียไปตอนเธออายุ 6 ขวบ บ้านที่สมาชิกในครอบครัวเคยอยู่ร่วมกัน ไม่เหมือนเดิม ทุกคนมองว่าต้นเหตุที่ทำให้ลูกชายคนโตของบ้านต้องจากไป ไม่มากก็น้อยมาจากภรรยาและลูกสาว

“พ่อเคยเป็นวิศวกรอู่ซ่อมรถ ไปทำงานที่ต่างประเทศแล้วได้เงินเยอะมาก ในระดับที่สามารถจุนเจือครอบครัวได้ แต่วันหนึ่งมันพลิกผัน พ่อป่วยทำให้รายได้ครอบครัวหายไป 

ตั้งแต่พ่อเราเสีย แม่ก็มีชีวิตอยู่เหมือนเป็นคนใช้ในบ้านหลังนั้น คนในบ้านกดดัน เราไม่มีอำนาจต่อรองในบ้านเลย เรากลายเป็นจุดต่ำสุดของห่วงโซ่อาหาร” ฝ้ายบอก

เมื่อบ้านไม่ใช่ที่หลบภัยสำหรับทุกคน

ความรู้สึกไม่อยากกลับบ้านของฝ้าย เกิดขึ้นตั้งแต่เธอจำความได้หรือช่วงประมาณวัยประถม สิ่งที่เธอต้องทนมาตลอดคือความรุนแรงในระดับทำร้ายจิตใจและร่างกายใต้หลังคาบ้าน 

“เราพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ไม่เจอหน้าคนในบ้าน ตอน 10 ขวบ เรายังคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติที่เราจะโดนทำร้ายถ้าเราทำผิด แต่พอเราไปเจอคนอื่นแล้วรู้ว่าบ้านอื่นเขาไม่ได้เป็นแบบนี้ เราก็เริ่มคิดว่าสิ่งที่เราเจอมันไม่ใช่”

ฝ้ายเล่าว่า แทบทุกมุมในบ้านของเธอ ไม่มีมุมไหนที่รู้สึกสนุกหรือสบายใจ ด้วยเหตุนี้เมื่อโตขึ้น เธอเลือกที่จะลดการเผชิญหน้ากับคนในครอบครัวให้ได้มากที่สุดและต้องพยายามใช้ชีวิตให้สวนทางกับสมาชิกในครอบครัวอยู่เสมอ ตื่นเช้า ออกจากบ้านก่อน กลับอีกทีเมื่อทุกคนเข้านอนแล้วในวันธรรมดา 

ส่วนเสาร์อาทิตย์ฝ้ายอยู่บ้านแบบล่องหน โดยตื่นตอน 4 โมงเย็นและเข้านอนตอนตี 4 

เพิ่งปีที่แล้ว ฝ้ายตัดสินใจย้ายออกจากบ้านหลังนั้น เธอตัดสินใจเช่าห้องของเพื่อนอาศัยอยู่ตามลำพัง 

“เราคิดว่าถ้าอยู่ในบ้านนั้นต่อไป สุขภาพจิตเราแย่แน่ๆ เราควรจะเว้นสเปซระหว่างกันมากขึ้นเพราะที่บ้านไม่ได้แฮปปี้เหมือนครอบครัวอื่น ถ้ามองในเรื่องค่าใช้จ่ายมันก็โอเค แต่ถ้ามองในเรื่องของพื้นที่ส่วนตัวไม่โอเค”

ตลอดเวลาที่ผ่านมาฝ้ายตามหาสิ่งที่เรียกว่า พื้นที่ปลอดภัย เธอไม่เคยสัมผัสความรู้สึกนั้นอย่างแท้จริงมาก่อน เธอไม่รู้ว่าอะไรคือความสบายใจของตัวเอง

บางทีเราพอใจที่จะอยู่กับเพื่อนกลุ่มหนึ่ง แต่บางทีคนเขารับฟังเรา ก็ไม่ได้อยู่ฟังตลอด บางครั้งตัวเราเองด้วยซ้ำที่เป็นเซฟโซนของตัวเราเอง เรามีความเชื่อมั่นว่าถ้าเรารู้ว่าสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหามันคืออะไรก็น่าจะโอเค”

นี่จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ฝ้ายตัดสินใจทำ เพจไม่อยากกลับบ้าน ขึ้นมา เธอไม่ได้ต้องการก่นด่า หรือเพิ่มความเกลียดชังให้คนที่หัวใจแตกสลายจากครอบครัว  

ฝ้ายแค่อยากสร้างบรรทัดฐานใหม่และทำความเข้าใจกับสังคมว่าการที่เด็กคนหนึ่งจะมีความขัดแย้งกับพ่อแม่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ และความรู้สึกที่ต้องการออกจากบ้านมันไม่ใช่ความอกตัญญู เพราะบ้านอาจจะไม่ใช่พื้นที่แห่งความสบายใจสำหรับใครบางคนจริงๆ

“เราอยากให้เพจขับเคลื่อนไปในทางนั้น ไม่อยากให้ทุกคนมาด่าว่าโกรธพ่อ โกรธแม่ เพราะโกรธไปก็เท่านั้น แต่ถ้าทุกคนรู้ว่าสาเหตุของการโกรธคืออะไร ถ้าเรารู้ว่าพ่อแม่เราถูกเลี้ยงมายังไงเราจะรู้ว่าทำไมเขาถึงทำแบบนั้นกับเรา น่าจะทำให้เด็กจัดการชีวิตตัวเองได้” 

จุดประสงค์แท้จริงของการเปิดเพจนี้คือ การกลับไปสำรวจต้นเหตุของการไม่อยากกลับบ้าน ถ้ามาจากพ่อแม่ อาจจะแค่ดูว่าเขาเติบโตมาอย่างไรและอะไรทำให้เขาคิดและเป็นแบบนี้ 

ฝ้ายบอกว่าหลังจากเปิดเพจมา มีเพื่อนๆ โดยเฉพาะน้องๆ จำนวนมากเข้ามาปรึกษาปัญหาและมาระบายบอกเล่าความเจ็บปวดของพวกเขา

“มีหมดทุกเรื่องเลย ทั้งการโดนทำร้ายจิตใจ จนถึงขั้นทำร้ายร่างกาย พ่อแม่บางคนไม่ยอมรับตัวตนทางเพศของลูก เราทำเพจเพื่อให้คนอื่นรู้ว่ามันมีปัญหานี้อยู่ ทำให้คนที่เจอปัญหาเดียวกันมาเจอกัน ให้เขารับรู้ว่ามันมีจุดร่วมกันอยู่นะ แล้วเขาแก้ไขปัญหายังไง

“เราจะไม่ค่อยพูดว่าก็แค่นี้เอง ปัญหาของทุกคนมันปัจเจกเราก็เลยบอกไม่ได้ว่าต้องทำยังไงมันต้องจัดการปัญหาที่หน้างาน แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่เราทำคือเราถามเขาว่ารู้ไหมว่าพ่อแม่เราถูกเลี้ยงมายังไง? จริงๆ เราไม่ได้ผลักดันให้เพจเป็นเพจ emotion เพราะว่าอยากให้เขารู้ว่าเหตุและผลของการที่เขาโดนแบบนี้มามันเป็นยังไง เพราะตามหลักวิทยาศาสตร์เราอยู่กับพ่อแม่แบบไหน เราก็จะโตมาเป็นเขาอยู่แล้ว” 

เมื่อไม่อยากกลับบ้าน แล้วบ้านแบบไหนที่อยากกลับ 

ฝ้ายบอกว่าเวลาหลายชั่วโมงที่เราต้องใช้ชีวิต ตั้งแต่ตื่น กินข้าว อาบน้ำ ออกไปข้างนอก หลากหลายเรื่องราวเกิดขึ้นเยอะมาก จนบางครั้งไม่สามารถพูดหรือสื่อสารกับใครได้ สิ่งที่เธอหวังและอยากให้มีมากที่สุดคือพื้นที่พักใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอไม่เคยเจอมาตลอด 27 ปี

ดังนั้นเมื่อถามว่านิยามบ้านในฝันของฝ้ายคืออะไร เธอตอบอย่างมั่นใจว่าคือ การได้มีพื้นที่ส่วนตัว การได้อยู่ในสถานที่หรือใครสักคนที่พร้อมให้พักใจและรับฟังเธอไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม

“เราอยากได้บ้านที่ใส่ความชอบของเราเข้าไปได้ เราชอบงู อยากเลี้ยงงู ชอบนอนพื้นมากกว่านอนเตียง ความรู้สึกหลังจากที่เรามีพื้นที่เป็นของตัวเองมันดีนะ เราจะกลับมาตอนไหนก็ได้ไม่ต้องคิดว่ากลับไปเราจะเจอใครหรือเปล่า”

ฝ้ายบอกว่าท้ายที่สุดความรู้สึกอยากกลับบ้านช่วยทำให้เราไม่รู้สึกว่างเปล่าในชีวิต ถ้าความรู้สึก ‘อยากกลับบ้านจังเลย’ เกิดขึ้นกับเด็ก สภาพแวดล้อมในบ้านก็จะดี ส่งผลให้สมองของคนเด็กคิดและทำในสิ่งที่สร้างสรรค์ได้ 

“สิ่งสร้างสรรค์ในประเทศนี้มันจะเยอะขึ้นมากจริงๆ เพราะคนเรามีศักยภาพในการที่จะพัฒนานั่นนู่นนี่ได้เยอะมาก หลายๆ อย่างคงขับเคลื่อนได้ดีกว่านี้ เพราะที่อยู่อาศัยเป็น 1 ใน 4 ปัจจัยของเราเลย” ฝ้ายบอก

ดังนั้นนับจากวันที่เริ่มทำเพจ ‘ไม่อยากกลับบ้าน’ ธงของฝ้ายไม่ใช่แค่การตะโกนบอกคนในโลกว่าเธอเจ็บปวดและมีปัญหาชีวิตอะไรบ้าง แต่เธอเพียงต้องการสร้างพื้นที่แห่งความผิดพลาด อย่างน้อยๆ ในโลกออนไลน์ถูกแปรเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่วางใจ เพราะฝ้ายรู้ว่าไม่ใช่เธอคนเดียวที่เจอปัญหาชีวิตและความเกิดความรู้สึก ‘ไม่อยากกลับบ้าน’ มาครึ่งค่อนชีวิต

“เรารู้สึกดีใจตอนที่มีคนมาขอบคุณที่มีพื้นที่ให้เขาได้พูดเรื่องนี้ เพราะมันยากนะที่จะพูดเรื่องครอบครัวที่แตกสลายให้คนอื่นฟัง แต่เขาสบายใจที่จะมาพูดให้เราฟังเพราะเรามีจุดร่วมเหมือนกับเขา” ฝ้ายทิ้งท้าย


Writer

Avatar photo

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา

พยายามฝึกปรือและคลุกอยู่กับผู้คนในวงการการศึกษา เพราะเชื่อว่าการเรียนรู้เป็นใบเบิกทางให้ขยายขอบขีดความสามารถตัวเอง ฝันสูงสุดคืออยากเห็นตัวเองทำงานสื่อสารที่มีคุณภาพและคุณค่าต่อไป

Avatar photo

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

คุณแม่ลูกหนึ่งซึ่งคลุกวงในงานข่าวมาหลายสิบปี เพิ่งมาค้นพบตัวเองไม่กี่ปีมานี้ว่าอินกับงานด้านเด็ก ครอบครัว และการศึกษามากเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้มาร่วมสร้างแผนที่การเรียนรู้อย่าง mappa

Photographer

Avatar photo

ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

นักแปล นักเขียน ช่างภาพสาว ผู้ทำงานประจำอยู่ 6 เดือนและไม่ทำอีกเลย ซึ่งคิดว่าคงเป็นอย่างนี้ตลอดไป หาตัวได้แถวเชียงใหม่และบางแค หัวบันไดไม่เคยแห้งเพราะจ้างร้อยแต่ให้มาล้านทั้งปริมาณภาพ ความยาวของเนื้อหาและพาดหัว ไม่เคยมีคำว่าน้อยแต่มาก มีแต่คำว่ามากแต่มากกว่า

Related Posts