ถ้าจริง ๆ แล้วมดคือมนุษย์ต่างดาวที่ซ่อนตัวบนโลกนี้ล่ะ?
คุณตาที่ตายไปแล้วกำลังเล่นอะไรสนุก ๆ อยู่ในอีกโลกนึงนะ?
แอปเปิ้ลที่อยู่บนโต๊ะนั้นอาจไม่ใช่ผลไม้ก็ได้
ผมจะสร้างตัวเองขึ้นมาอีกคนยังไงดี?
สมองเด็กที่ตั้งคำถามได้แสนยืดหยุ่นไร้ขอบเขต พาเจ้าของสมองจินตนาการถึงสารพัดความเป็นไปได้ที่ไกลไปกว่าความเป็นจริงในชีวิตจะไปถึง ตั้งแต่หนังยางหนึ่งเส้นที่ตกอยู่บนพื้นไปจนถึงดวงดาวที่อยู่ไกลหลายร้อยปีแสง
ครั้งหนึ่งสมองของผู้ใหญ่ก็เคยมีความยืดหยุ่นแบบนั้น แต่ด้วยเหตุผลบางอย่างในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นคำตอบมากมายที่เพียงเคาะปลายนิ้วก็มีสารพันคำตอบที่ทั้งมนุษย์และ AI ช่วยให้คำตอบ การศึกษากึ่งสำเร็จรูปที่หีบห่อคำตอบส่งมอบให้ถึงมือและแม้ไม่อยากเปิดซองแต่ก็ต้องกินเพราะชีวิตต้องอยู่รอด ความจริงมือสอง สาม สี่ ห้า ที่ถูกส่งมอบจากรุ่นสู่รุ่น ถูกผลิตซ้ำแล้วซ้ำอีกภายใต้ชื่อรุ่นความหวังดีทางลัด แม้เพียงเราจะแอบคิดตั้งคำถามออกนอกขอบเขตนี้ ยังมีส่วนหนึ่งส่วนใดในความคิดของเรารีบดึงตัวเองกลับมาด้วยความคิดค้านว่า “เฮ้ยๆ คำตอบพวกนี้ก็สำคัญเพราะมันคือความจริงของชีวิต”
เมื่อ 10 ปีที่แล้ว คุณชินสุเกะ โยชิทาเกะได้เริ่มเขียนหนังสือเล่มแรกจากโจทย์นามธรรมที่ทางสำนักพิมพ์ได้เชื้อเชิญเขาเอาไว้ โจทย์นั้นได้พาเขาย้อนไปในวัยเด็กที่ช่างถาม ช่างสงสัย ช่างจินตนาการ และหนังสือหลายเล่มที่อัดแน่นด้วยคำตอบ ไม่ได้ช่วยทำให้เขา “แล้วใจ”
จนในวันที่เขาเป็นผู้ใหญ่และได้ลงมือสร้างหนังสือของตัวเอง เขาค้นพบว่าสิ่งที่เขาต้องการไม่ใช่ “คำตอบ” แต่เป็น “คำถาม” ต่างหาก ที่จะช่วยให้ความคิดในหัวยังคงเดินทางไปข้างหน้า เมื่อเข้าใจแบบนี้ เขาก็ใช้ต้นทุนคือ ทักษะการวาดภาพ ความสงสัยในวัยเด็กของตัวเอง และการเป็นคุณพ่อลูกสอง สร้างหนังสือนิทานที่ครอบครัวนักอ่านทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่อ่านแล้วยิ้มกริ่มมุมปาก หัวเราะคิกคัก และรู้สึกคัน ๆ ในหัว เพราะถูกกระตุ้นความจำว่า “ใช่เลย ตอนเด็ก ๆ ก็เคยมีคำถามแบบนั้น”
เพราะสิ่งสำคัญของคำถามใด ๆ ในโลก อาจจะไม่ใช่การได้มาซึ่งคำตอบที่มีคนอื่นมอบให้ แต่เป็นการ “รักษา” คำถามนั้นไว้ให้มันกลายเป็นโคมไฟส่องทางไปสู่การสำรวจเขตแดนความเป็นไปได้ใหม่ ๆ และแน่นอน นำไปสู่คำถามใหม่ ๆ ที่ทำให้ชีวิตสนุกขึ้น
ในบทสัมภาษณ์นี้ Mappa พาตั้งคำถามกับชินสุเกะ โยชิทาเกะนักถามตัวพ่อ (ลูกสอง) ถึงมุมมองการสร้างสรรค์หนังสือนิทานที่เปิดช่องว่างไว้ให้คนอ่านเติมเต็มคำถามมากมายไปด้วยกันกับเรื่องราวของเขา
ไปถามคำถามนักตั้งคำถามกัน
เมื่อก่อนคุณโยชิทาเกะมีอาชีพเป็นกราฟิก ดีไซเนอร์ซึ่งมีทางเลือกในการสร้างสรรค์งานได้หลายอย่าง เพราะอะไรถึงเลือกมาทำหนังสือเด็ก
ความจริงไม่ได้เป็นกราฟิก ดีไซเนอร์ แต่เป็น illustrator วาดภาพปกนิตยสาร วาดภาพประกอบ จะเรียกว่าเป็นดีไซเนอร์ก็ไม่ถูกเพราะมันเป็นการวาดภาพตามโจทย์ที่ได้มา ตอนนั้นนอกจากวาดภาพตามโจทย์ในงานนิตยสารหรือวารสารแล้ว ยังมีผลงานรวมภาพประกอบของตัวเองเป็น illustration book พอมีคนเห็นผลงาน สำนักพิมพ์จึงยื่นข้อเสนอว่าลองทำงานหนังสือเด็กที่เป็นของตัวเองดูไหม จึงเริ่มจากตรงนั้น
งานของคุณชินสุเกะค่อนข้างมีเอกลักษณ์ แตกต่างจากหนังสือเด็กทั่วไป เพราะอะไรถึงเลือกสื่อสารกับเด็กด้วยวิธีนี้
ผมไม่ได้เป็นนักเขียนนิทานภาพตั้งแต่แรก แต่เริ่มจากมีสำนักพิมพ์เสนอมา ก็เลยคิดว่าลองดูก็ได้ และอาจเพราะไม่ได้ตั้งเป้าตั้งแต่แรกว่าอยากเป็นนักเขียน ไม่รู้ว่าคนอื่นทำงานอย่างไร ตอนที่ตีโจทย์กับตัวเองตอนแรกเลยมาดูก่อนว่าตัวเองทำอะไรได้บ้าง มันก็ค่อย ๆ เกลาออกมาจนกลายมาเป็นแบบนี้ เลยอาจจะทำให้ต่างกับงานของคนอื่นเพราะไม่รู้ว่าคนอื่นทำงานอย่างไร ไม่ได้ตั้งใจแตกต่างแต่อาจจะเพราะพื้นฐาน มาคนละแบบกับคนอื่นมันจึงต่างกันไปโดยธรรมชาติ
หนังสือของคุณแทบทุกเล่ม หลายคนสะท้อนว่าเหมือนจำลองนิสัยเด็ก หรือความอยากรู้ของเด็กออกมา จนมีคนพูดกันว่า คุณชินสุเกะอ่านใจเด็กได้ คุณทำอย่างนั้นได้อย่างไร
ผมนึกถึงตัวเองตอนเป็นเด็ก ผมเป็นเด็กที่ชอบอ่าน ก็จะมีหนังสือบางเล่มที่อ่านแล้วไม่สนุกเลย บางเล่มอยากติดตามต่อ ผมก็พยายามทำหนังสือออกมาให้ตัวเองตอนเด็กอ่านแล้วสนุก
แต่ถ้าเราคิดถึงตัวเองตอนเด็กอย่างเดียวแล้วเขียนออกมาเลย มันก็อาจเป็นเรื่องปัจเจกเกินไปจนคนอื่นอาจไม่เข้าใจ โชคดีที่ตัวเองก็มีลูกสองคน ตอนเลี้ยงลูก ก็รู้สึกว่าความคิดบางอย่างตอนเป็นเด็กกับความคิดของลูก มีส่วนที่เหมือนกัน แล้วส่วนตัวเป็นคนที่จดจำความรู้สึกและประสบการณ์ตอนเด็กของตัวเองได้ค่อนข้างแม่น เมื่อมีลูกเลยยิ่งย้ำว่าเราก็เคยคิดแบบนี้ เคยรู้สึกแบบนี้ ในหนังสือจึงสะท้อนส่วนนี้ออกมาเยอะมาก ๆ
แต่ก็มีอีกหลายเล่มที่ผู้คนสะท้อนว่าคุณเหมือนอ่านใจพ่อแม่ได้ด้วย
การมีลูกช่วยให้ได้มีมุมมองของความเป็นพ่อแม่ ได้รับรู้ถึงความรู้สึกของพ่อแม่ที่พูดแล้วลูกไม่ฟังเลย พูดแล้วไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นหนังสือของผมจึงตั้งใจใส่ทั้งมุมมองของเด็กและผู้ปกครองลงไป เพราะแน่นอนว่าหนังสือนิทานเป็นกิจกรรมระหว่างพ่อแม่ลูก จึงอยากให้ทั้งสองฝ่ายได้สนุกจากหนังสือเล่มเดียวกัน
คุณทำให้คนอ่านมีอารมณ์ร่วมในเรื่องราวของคุณได้อย่างไร
ยอมรับว่าสมัยเด็กตัวเองเป็นเด็กเรื่องมากเรื่องหนังสือ ถ้าหนังสือเล่มไหนไม่สนุกก็ไม่อยากอ่าน และไม่ชอบการเล่าผ่านมุมมองของผู้ใหญ่ที่มองเด็กอยู่ข้างล่าง เพราะฉะนั้นเลยตั้งใจให้หนังสือมีวิธีการเล่า การเลือกคำที่ใจดี ไม่ใช่การสั่งสอน แต่เป็นหนังสือที่ถูกทำจากการมองโลกด้วยสายตาระดับเดียวกันกับเด็ก นี่คือสิ่งที่ตั้งใจทำตอนสร้างผลงานแต่ละชิ้น แล้วก็หยิบเอาปัจจัยต่าง ๆ ที่เคยชอบเวลาอ่านหนังสือตอนเป็นเด็ก เช่น รูปเยอะ มีรายละเอียดให้สังเกตมาใส่ด้วย เพราะถึงแม้อ่านหนังสือยังไม่แตกฉานแต่มองรูปก็สนุก แล้วเอาสิ่งเหล่านี้มาอยู่ในผลงานของตัวเอง
หนังสือของคุณชินสุเกะมีรูปแบบการนำเสนอที่ค่อนข้างใหม่มากสำหรับกลุ่มผู้อ่าน มีการรวมเอาท้ังเรื่องจริงกับเรื่องจินตนาการมาผสมผสานกัน จะ fiction ก็ไม่ใช่ซะทีเดียว จะ non-fiction ก็ไม่ใช่ซะทีเดียว
ครับ หลายคนบอกว่าหนังสือของผมแบ่งประเภทหนังสือค่อนข้างยาก เพราะพยายามใส่ทั้งมุมมองของผู้ใหญ่และเด็ก จึงเป็นความตั้งใจของตัวเองที่ไม่อยากระบุกลุ่มเป้าหมายว่าผู้อ่านต้องมีอายุกี่ปี เพราะพยายามใส่ทั้งสิ่งที่เด็กก็อ่านสนุกและผู้ใหญ่ก็อ่านสนุกลงไปด้วยกัน
และจริง ๆ แล้วการใส่บางอย่างที่มีแต่ผู้ใหญ่เข้าใจลงไปในหนังสือภาพ แน่นอนว่าเด็กจะไม่เข้าใจ มันก็ย้อนกลับไปตอนเป็นเด็กที่อ่านนิทานแล้วก็ยังมีบางอย่างที่ไม่เข้าใจ มันกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้รักการอ่านเพราะเราจะอ่านไปเรื่อย ๆ เพื่อจะได้โตเป็นผู้ใหญ่ที่จะไปเข้าใจสิ่งที่มันคาใจอยู่ในนั้น
เสน่ห์ของหนังสือหรือการอ่านหนังสือ คือต้องมีอะไรบางอย่างที่ค้างอยู่เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่า “เอ๊ะ ทำไม” รักษาความสงสัยเอาไว้บ้าง ถ้าอ่านทุกอย่างเข้าใจหมดมันก็จะไม่น่าสนใจ มันจะน่าเบื่อ และความสงสัยนี้บางทีเด็กก็เก็บไปคิดใคร่ครวญด้วยตัวเอง หรือบางทีก็เอาไปถามพ่อแม่ มันก็เป็นเสน่ห์ของการอ่านหนังสืออีกแบบหนึ่ง
คุณมีขั้นตอนการพัฒนางานของคุณอย่างไร หลายเล่มเป็นเรื่องราวที่ค่อนข้างเป็นนามธรรมอย่างอารมณ์หรือความตาย
จริง ๆ แล้วผมไม่มีประสบการณ์เรื่องหนังสือนิทานมาก่อน ไม่รู้วิธีทำเลย ตอนเป็น Illustrator มันต้องทำงานตามโจทย์ แบบให้การบ้านมีโจทย์ให้วาดตาม จึงคุยกับทางสำนักพิมพ์ว่าช่วยกำหนดโจทย์ให้ผมหน่อย ซึ่งโจทย์ของสำนักพิมพ์ตอนแรกคือ “ให้มองสิ่งเดียวกันจากต่างมุม” นี่คือการบ้านแรกที่ได้รับมา หลัง ๆ ก็เริ่มเป็นโจทย์ของตัวเองมากขึ้น อย่างเช่น เรื่องความตาย เวลาเลือกธีมของเรื่องก็จะกลับไปที่ความตั้งใจเริ่มต้นที่ว่า ทั้งผู้ใหญ่และเด็กมองเป็นสิ่งสำคัญร่วมกัน อย่างความกังวลใจ ความไม่สบายใจของมนุษย์ มันเป็นธีมสากลที่ทั้งผู้ใหญ่และเด็กมีร่วมกัน ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมได้เหมือนกัน
อีกเรื่องคือความสำคัญในชีวิต ว่าจริง ๆ แล้วเราให้ความสำคัญอะไรในชีวิตเราบ้าง เรื่องที่คนอื่นมองว่าเป็นข้อห้ามอย่างเรื่องความตาย เรื่องคนที่เราไม่ชอบ เรื่องน่าเบื่อต่าง ๆ เรื่องไร้สาระในชีวิต ความจริงสิ่งเหล่านี้มันสำคัญหรือเปล่า เขาอยากหยิบยกประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาเทียบเท่าพวกอารมณ์ด้านดีแล้วคนอ่านค่อยไปคิดเองว่าสุดท้ายแล้วอะไรสำคัญจริง ๆ สำหรับคนอ่าน
พอได้ธีมแล้วทำการบ้านกับประเด็นอย่างไรจนออกมาเป็นเนื้อเรื่อง
ยกตัวอย่างหนังสือ “Can I Build Another Me” (ถ้าหากสร้างตัวปลอมของผมได้ – สำนักพิมพ์อมรินทร์ คิดส์) เป็นการสร้างตัวเองในเวอร์ชั่นต่าง ๆ ขึ้นมา ตอนคิดธีมก็คิดพร้อมกันไปเลยว่าจะนำเสนออย่างไรให้คนเข้าใจภาพมากที่สุด ตอนนั้นคิดว่าเด็กเล็ก ๆ เขาคงไม่อยากสร้างตัวเองขึ้นมาอยู่แล้วถ้ามันไม่มีเหตุการณ์ที่ทำให้เขารู้สึกว่าต้องสร้างตัวเองขึ้นมา ผมก็เลยต้องสร้างมูลเหตุก่อน เช่น มีคุณครูที่โรงเรียนให้การบ้านมาแต่ขี้เกียจจัง งั้นมีตัวเองอีกคนดีกว่าจะได้มาทำการบ้าน
โจทย์เล่มนี้ทางสำนักพิมพ์อยากสื่อสารเรื่องอัตลักษณ์ ความเป็นตัวของตัวเองให้เด็กเข้าใจ แต่มันต้องมีมูลเหตุก่อนว่าเพราะอะไรถึงต้องเข้าใจเรื่องนี้ มันไม่สามารถเปิดมาแล้วเริ่มเรื่องได้เลย แต่ต้องปูพื้นให้เด็กก่อนว่าเกิดอะไรขึ้นเราถึงเกิดความรู้สึกแบบนี้ เกิดอะไรขึ้นคนเราถึงต้องมีอัตลักษณ์
หนังสือนิทานโดยปกติมักจะเป็นเรื่องราวที่เด็กอ่านแล้วรู้สึกเป็นผู้รับ แต่หนังสือของคุณชินสุเกะทำให้สมองเด็กไม่ receptive แต่ active มาก ๆ เด็กคิดตามตลอดเวลา มีส่วนร่วม และบางเรื่องก็เป็นเรื่องนามธรรม อย่างเรื่องความตาย เด็กบางคนจะมีคำพูดว่า “จริง ๆ เราก็ตายได้นะ”
ผมเคยเป็นเด็กที่ชอบคิด เป็นเด็กขี้สงสัยว่า “ทำไมกันนะ” “อะไรกันนะ” “ทำไมเป็นแบบนี้” “ทำไมคนนั้นคิดแบบนี้” ความสงสัยเหล่านี้พอเราเป็นผู้ใหญ่แล้วเรามักจะลืมไป แต่ตัวเด็กเองถึงแม้จะเป็นผู้ใหญ่แล้ว เขาก็ยังชอบสงสัยอะไรแบบง่าย ๆ กับเรื่องต่าง ๆ ว่าทำไมนะ อะไรนะอยู่ ก็เลยเก็บความขี้สงสัยใส่ไว้ในงานตัวเอง
เวลาผมอ่านหนังสือก็ชอบคิดเรื่องในหนังสือเปรียบเทียบกับโลกความจริงของตัวเองไปเรื่อย ๆ ว่าถ้าเป็นตัวเองจะทำอย่างไร ผมชอบหนังสือลักษณะนี้มากกว่าหนังสือที่พาไปอีกโลกหนึ่ง แล้วพอจบก็ต้องกลับมาอยู่ในโลกของตัวเอง ผมจะชอบคิดไปด้วยกันกับหนังสือมากกว่า เลยเอาวิธีการแบบนั้นมาใส่ในหนังสือ
อย่างในหนังสือเรื่อง “ต่อจากนี้จะเป็นอย่างไรนะ” เริ่มเรื่องจากเด็กคนหนึ่งไปเจอสมุดโน้ตของคุณปู่ที่ทิ้งไว้ก่อนตาย แล้วได้อ่านความคิดของคุณปู่ว่าคุณปู่คิดหรือรู้สึกอย่างไรกับความตาย แต่สุดท้ายพออ่านเรื่องทั้งหมดก็ไม่รู้อยู่ดีว่าคุณปู่คิดอะไร เพราะสิ่งที่ต้องการสื่อในเล่มนี้ คือสุดท้ายแล้วเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าความคิดของคนอื่นเป็นอย่างไร ซึ่งจะสอดคล้องกับความตั้งใจที่ได้พูดมาตลอด คือเด็กอ่านแล้วสนุกก็จริง แต่สุดท้ายก็อาจจะยังทิ้งความสงสัย ความไม่เข้าใจเอาไว้ในใจคนอ่าน
ตัวละครคุณปู่ก็มีความซ้อนทับกับความเป็นผู้ใหญ่ที่มีความกลัว ความกังวล มีปัญหาแต่ก็พยายามเก็บไว้และเขียนอะไรบางอย่างให้รู้สึกมีความสนุก มองโลกในแง่ดี แม้จะเป็นเรื่องที่คุณปู่กลัว แต่ก็อยากให้คนอื่นสนุก มันเป็นความคิดของคุณปู่ทั้งหมด และเพราะไม่มีใครรู้ว่าคุณปู่คิดอะไรก็เลยวางตัวละครอีกตัวหนึ่งขึ้นมาให้พยายามตีความความรู้สึกของคุณปู่ เลยมีเด็กที่ไปค้นเจอสมุดบันทึก
ส่วนเนื้อหาหลักของเรื่อง คือพยายามสร้างให้คนอ่านรู้สึกว่าจริง ๆ ความตายมีหลายรูปแบบเทียบเท่าจำนวนผู้คน เพราะแต่ละคนมีวิธีตายไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นสุดท้ายแม้เราจะไม่เข้าใจคนอื่น ไม่เข้าใจว่าคุณปู่รู้สึกอย่างไร แต่จะได้ย้อนคิดว่าแล้วเราจะมีวิธีการตายอย่างไหน ได้ย้อนกลับมาคิดถึงเรื่องความตายและการมีชีวิตอยู่ของตัวเอง ซึ่งอยู่ในตอนจบของเรื่องที่พยายามจะสื่อ
ตอนเอาหนังสือนิทานไปแปลเป็นภาษาอื่น ๆ พอไปอยู่ในวัฒนธรรมอื่น ๆ เป็นอย่างไรบ้าง
ค่อนข้างแปลกใจมากที่คนต่างชาติให้การตอบรับที่ดีกับงาน เพราะรู้ตัวว่ามีความคิดที่ค่อนข้างจะเป็นญี่ปุ่นจ๋าในหลายจุด แล้วผมก็แปลกใจตอนที่ได้รู้ว่างานของผมถูกแปลไปหลายภาษาทั่วโลก แต่อันที่จริงมันเป็นธีมที่ค่อนข้างสากล คือเป็นเรื่องความเป็นมนุษย์ อย่างเช่นเรื่องความตายหรือการแสดงออกของอารมณ์ต่าง ๆ หรือเวลาสัมผัสของที่มันชวนสงสัย เช่น ของที่จับแล้วรู้สึกหยึย ๆ นิ่ม ๆ ข้อสงสัยเหล่านี้มันเป็นจุดร่วมที่ค่อนข้างสากล หรือก็อาจเป็นเรื่องบังเอิญก็ได้ที่ทำให้คนทั่วโลกให้การตอบรับที่ดี
หนังสือเด็กส่วนใหญ่ทั่วไปในเมืองไทย ค่อนข้างทำให้เด็กเป็นผู้รับ คือถ่ายทอดความคิดของผู้ใหญ่ให้เด็ก ไม่ได้ทำให้เด็ก active ตอนหนังสือของคุณชินสุเกะปรากฏตัวที่นี่มันจึงค่อนข้างว้าว
น่าจะเป็นเพราะตอนผมเป็นเด็ก ผมก็เกลียดหนังสือที่มองด้วยสายตาผู้ใหญ่ที่เหมือนมองจากด้านบนแล้วสั่งสอนเหมือนกัน ก็เลยทำหนังสือแบบนี้ออกมา
มีเล่มไหนไหมที่ชอบตอนเด็กหรือนักเขียนในดวงใจ
นักเขียน Sasaki Maki และหนังสือที่ชอบคือ “Yappari Ookami”
ตอนแรกอ่านเพราะแค่ชอบภาพเฉย ๆ ชอบสไตล์การวาดภาพแต่ไม่เข้าใจเนื้อหาเลย แต่พอโตแล้วกลับไปอ่านอีกรอบก็ชอบเนื้อเรื่องด้วย เวลามีคนถามคำถามนี้ก็จะตอบเล่มนี้ตลอดเลย ภาพของหนังสือเล่มนี้เป็นลายเส้นที่ดูอ่อนโยนไม่แข็งกร้าว ภาพละเอียด มีจุดดึงสายตาเยอะ แม้ว่าตอนเป็นเด็กจะไม่เข้าใจเนื้อเรื่องทั้งหมด แต่มีจุดที่ทำให้ละสายตาไม่ได้เลย อันนี้ก็คือความสำคัญของภาพและเป็นภาพแนวที่ตัวผมชอบ
คุณใช้ภาพช่วยเล่าเรื่องอย่างไรบ้าง
อย่างหนังสือเรื่อง “มองเห็นบ้าง ไม่เห็นบ้าง” ผมตั้งใจใช้คาแรกเตอร์ที่ดูเหมือนเป็นตัวประหลาด ไม่ใช่มนุษย์ เพราะมันเป็นหนังสือเกี่ยวกับผู้ที่มีปัญหาเรื่องการมองเห็น เป็นหนังสือเกี่ยวกับคนตาบอด
ผมเกลียดเวลาพูดถึงคนพิการหรือคนที่มีปัญหาบางอย่างแล้วแบ่งแยกว่าเขาเป็นคนไม่ปกติ ซึ่งคำว่า “ไม่ปกติ” มันทำให้รู้สึกว่าด้อยหรือน่าสงสาร ผมไม่ชอบกรอบความคิดแบบนี้ แทนที่จะใช้เรื่องราวที่อยู่บนโลกมนุษย์ เลยออกแบบเรื่องนี้ให้พูดถึงอวกาศไปเลย เพราะเราอาจเป็นคนปกติในโลกมนุษย์ แต่พอขึ้นไปในอวกาศ ทุกคนไม่ปกติ ดังนั้นความปกติคืออะไร ความพิการ ความไม่ปกติ เส้นแบ่งมันอยู่ตรงไหน อยากให้คิดเรื่องนั้นอีกทีจึงเลือกใช้ฉากเป็นตัวประหลาดที่ไม่ใช่มนุษย์ เป็นสิ่งมีชีวิตนอกโลก
การทำงานผมจะคิดตามขั้นตอนแบบนี้ คือพอมีธีมแล้ว คำถามถัดมาคือ อยากให้คนคิดต่อจากธีมนี้อย่างไร เช่น เรื่องคนพิการ คนปกติ/ไม่ปกติ ถ้าใช้ฉากบนโลกแล้วเอาคนพิการมาเป็นตัวละครหลัก มันก็อาจกลายเป็นว่าคนพิการคิดว่าตัวเองเหนือกว่าคนปกติอีกแล้วหรือเปล่า กลายเป็นมองกลับกันในมุมที่ไม่ดี ก็เลยเอาเรื่องเหล่านี้ไปนอกโลกเลย แล้วมันก็จะไม่มีคำว่าปกติหรือไม่ปกติ ทุกตัวละครคือคาแรกเตอร์เฉพาะ ไม่มีอะไรปกติ ไม่มีอะไรผิดปกติ เรื่องนี้จึงใช้ฉากนอกโลกเพราะรู้สึกว่าถ้าใช้ฉากในโลกจะไม่สามารถทำให้เด็กเข้าใจถึงธีมที่อยากสื่อได้
ภาพของคุณใช้ลายเส้นง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน คุณมีเทคนิคการทำภาพประกอบนิทานเด็กอย่างไร
วาดเป็นแต่แบบนี้ (ยิ้ม) ผมก็อยากวาดให้สมจริงกว่านั้นแต่ก็วาดได้แค่นี้ เป็นคนใช้สีไม่เก่ง ไม่สามารถใช้สีเยอะมาก ๆ ได้ ตอนเริ่มทำหนังสือนิทานแรก ๆ มันมีสิ่งที่ทำไม่ได้เยอะเต็มไปหมด จึงมองหาสิ่งที่ทำได้ หาจุดเด่นของตัวเอง แล้วใช้ทักษะเหล่านี้สร้างสรรค์งานให้มีความเป็นตัวเองให้มากที่สุด
สุดท้ายมันก็กลายเป็นข้อดี เพราะพองานมีลายเส้นที่เรียบง่าย หน้ามันเลยไปเหมือนกับคนได้หลากหลาย คนอ่านจะบอกว่า นี่หน้าเหมือนลูกชายผม นี่หน้าเหมือนลูกเรา ก็เลยรู้สึกโชคดีที่ทำออกมาแบบนี้
หนังสือที่ทำแล้วชอบที่สุดคือเล่มไหน
ผลงานเล่มแรกสุด เพราะจริง ๆ ไม่ได้คิดมาก่อนเลยว่าตัวเองจะเป็นนักเขียนนิทานได้ มันอาจจะเป็นเล่มแรกและเล่มสุดท้ายก็ได้ เลยใส่ความชอบ ความไม่ชอบของตัวเองเต็มที่ อะไรที่เคยชอบตอนเด็กก็ใส่อัดแน่น อะไรไม่ชอบก็ไม่ยุ่งเกี่ยวเลย ทำตามใจตัวเองเต็มที่ เล่มแรกจึงเป็นเล่มที่ประทับใจมากถึงทุกวันนี้ ซึ่งคือเรื่อง “อาจจะเป็นแอปเปิลก็ได้นะ”
การทำหนังสือเด็กมา 10 ปี ให้อะไรกับคุณชินสุเกะบ้าง
อย่างแรกคือดีใจที่ตัวเองสามารถค้นพบธีมได้ต่อเนื่องเรื่อย ๆ อย่างที่บอกว่าตอนแรกไม่มีธีมของตัวเอง ต้องอาศัยโจทย์ แต่หลัง ๆ จะมีธีมมา หรือบางเรื่องพอทำไปแล้วก็มีอะไรเข้ามาทีหลังเพิ่มขึ้น อันนี้เป็นเรื่องที่ดีใจที่ตัวเองได้ค้นพบธีมต่าง ๆ
นอกจากนั้นผมได้เห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งกับตัวเองและครอบครัว ลูกก็โตขึ้น ตัวเองก็แก่ลง สายตาเริ่มไม่ดีแล้ว ช่วงเวลา 10 ปีทำให้เห็นรูปแบบครอบครัวที่เปลี่ยนไปแล้วสิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่สนใจอยู่เสมอ ผมเห็นความสนใจของตัวเองที่เปลี่ยนไปตามอายุเรื่อย ๆ สักวันถ้ากลายเป็นคุณปู่คุณตา ตอนนั้นก็ยังอยากทำนิทาน ทำแบบที่คนสูงอายุอ่านแล้วสนุกต่อไป
อยากบอกอะไรกับแฟนคลับเด็ก ๆ ในเมืองไทย
อยากให้อ่านหนังสือเยอะ ๆ ไม่ใช่แค่หนังสือของผมก็ได้ หนังสือมีจำนวนเยอะมากกว่าคนบนโลกใบนี้อยู่แล้ว แล้วจะได้ค้นพบว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบอะไร เล่มนี้เหมือนเรา เล่มนี้ไม่เหมือน เล่มนี้คนเขียนไม่ใช่คนไทยแต่ทำไมคิดเหมือนเรา เล่มนี้เขียนมานานแล้วแต่ทำไมเหตุการณ์มันเหมือนกัน อยากให้ค้นพบความแตกต่าง ลักษณะพิเศษเหล่านี้จากหนังสือแต่ละเล่ม ตอนนี้เด็ก ๆ อ่านงานของผมซึ่งอยู่กันคนละประเทศแต่เด็ก ๆ ยังสนุก ในอนาคตอาจมีนักอ่านสักคนหนึ่งโตขึ้นแล้วเป็นนักเขียน และผมอาจมีโอกาสได้อ่านงานของเด็ก ๆ ในตอนนี้ก็ได้ ผมตื่นเต้นกับเรื่องนี้เหมือนกัน