ส่องโปรเจกต์ใหม่ของ ‘มูลนิธิไทยคม’ ในวันที่อยากผลักดันให้เยาวชนไทยตื่นรู้ คิดได้ ทำเป็น พร้อมเป็นพลเมืองโลก

‘จะดีแค่ไหน ถ้าของขวัญปีใหม่จะเป็นการเริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัว’

เราคิดถึงประโยคนี้เมื่อได้เปิดกล่อง ‘The Present is Present’ Mindful Family Toolbox กล่องการเรียนรู้ที่ประกอบไปด้วยหนังสือ การ์ด และของเล่นที่ส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องอารมณ์ของเด็ก กล่องของขวัญกล่องนี้ออกแบบโดยชาวแมปเปี้ยนก็จริง แต่ไอเดียตั้งต้นนั้นเป็นความร่วมมือของ ‘มูลนิธิไทยคม’ และ SC Asset ที่อยากสร้างสรรค์เครื่องมือที่ชวนให้ผู้ปกครองกับลูกๆ ได้ฝึกฝนทักษะการรู้เท่าทันอารมณ์ การสื่อสาร และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีร่วมกัน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโปรเจกต์ที่มูลนิธิไทยคมอยากผลักดันรับปี 2567 นี้

เป็นของขวัญกล่องนี้อีกเช่นกันที่พาให้เรามาเจอกับ คุณกัญญ์ชลา เดชานุภาพฤทธา Managing Director มูลนิธิไทยคมวันนี้ นอกจากคุณกัญญ์ชลาจะอันบ็อกซ์กล่องของขวัญ และเล่าที่มาที่ไปให้เราฟัง เรายังได้อัพเดตถึงมิชชันใหม่ของมูลนิธิไทยคม (ซึ่งใครหลายคนอาจสับสนว่าเป็นองค์กรที่ผลิตดาวเทียม แต่จริงๆ พวกเขาส่งเสริมเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้เด็กๆ) ภายใต้สโลแกนใหม่อย่าง ‘ตื่นรู้ คิดได้ ทำเป็น พร้อมเป็นพลเมืองโลก’

ที่น่าสนใจคือ หลังจากโฟกัสกับการพัฒนาศักยภาพเด็กให้เก่งมาหลายสิบปี นี่เป็นครั้งแรกที่มูลนิธิไทยคมเลือกให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาเด็กๆ ให้เติบโตจากภายใน และการส่งต่อพลังบวกสู่สังคม

เพราะเหตุใดมูลนิธิไทยคมจึงสนใจเรื่องหัวจิตหัวใจ  เด็กยุคนี้ต้องมีทักษะอะไรเพื่อการอยู่รอดในโลกที่ผันผวน และโปรเจกต์ใหม่ของพวกเขาจะเป็นอะไรบ้าง ชวนฟังบทสนทนานี้ของเราในบรรทัดถัดไป

พูดคำว่าไทยคม หลายคนจะนึกถึงดาวเทียมไทยคม แต่เราเพิ่งรู้ว่าจริงๆ แล้วไม่เกี่ยวข้องกัน

เป็นคนละส่วนกัน มูลนิธิไทยคมทำงานเพื่อสังคมโดยไม่หวังกำไรตอบแทน ปรัชญาที่เรายึดถือมาตลอดคือสนับสนุนเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับเด็กและเยาวชน (Lifelong Learning) โดยเน้นการส่งมอบการเรียนรู้เพื่อให้เด็กและเยาวชนไทยมีทักษะที่สอดคล้องกับยุคสมัยใหม่ตามบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป นี่คือหลักคิดในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมของเรา

มูลนิธิไทยคมก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2536 โดย ดร.ทักษิณ ชินวัตร ท่านตั้งมูลนิธินี้เพราะเชื่อในเรื่องการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนไทยซึ่งเป็นกำลังหลักของชาติ มากกว่านั้นคือท่านมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาด้านการศึกษาของไทย ในยุคเมื่อ 30 ปีที่แล้วนั้นโครงการแรกของมูลนิธิไทยคมต้องการช่วยลดช่องว่างระหว่างเด็กในเมืองกับชนบท จึงทำเรื่อง Long Distance Learning หรือการเรียนรู้ทางไกลผ่านดาวเทียมเพื่ออยากเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา นี่คือจุดเริ่มต้นของเราในการให้โอกาสทางการศึกษา 

พันธกิจหรือ Mission ของมูลนิธิไทยคมคืออะไร 

พันธกิจของเราเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เมื่อยุคบุกเบิก บริบทการศึกษาไทยภาพรวมยังเน้นการท่องจำเป็นหลัก เราพบว่าเด็กไทยเก่ง แต่แค่ขาดโอกาสในการเรียนรู้ให้เกิดกระบวนการคิดเป็น ดังนั้นคำว่า ‘คิดเป็น ทำเป็น’ ก็เริ่มมีความสำคัญมากขึ้นสำหรับเรา มูลนิธิไทยคมในสมัยนั้น จึงได้วิจัยร่วมกับ MIT Media Lab ของมหาวิทยาลัย Massachusetts Institute of Technology จากสหรัฐอเมริกา โดยนำกระบวนการเรียนรู้ตามแนว Constructionism เข้ามา ซึ่งหลายคนรู้จักในชื่อ Project-Based Learning ที่เน้นสร้างการเรียนรู้โดยให้เด็กเป็นศูนย์กลาง ยุคแรกเราให้โรงเรียนในเครือข่ายฝึกการเรียนรู้ผ่านกระบวนการคิด โดยมองจากความสนใจของเด็กว่าเขามีแพสชันด้านไหน แล้วนำตรงนั้นมาเป็นประเด็นในการเรียนรู้เพื่อให้เขาขวนขวายในการเรียน อีกส่วนคือเราพยายามต่อยอดการเรียนรู้ของเขาให้สามารถคิดเป็นทำเป็น จะทำยังไงให้การเรียนรู้นี้มีความหมายต่อชีวิตเขา ซึ่งคำว่ามีความหมายคือการเรียนรู้ที่มีประโยชน์เพื่อผู้อื่น เราจึงพยายามตั้งคำถามให้เด็กคิดต่อยอดเพื่อช่วยพัฒนาชุมชน ให้เขาสามารถนำทรัพยากรอะไรในท้องถิ่นมาสร้างสรรค์เพื่อสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่ม หรือหารายได้ พร้อมกับสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อชุมชน 

หลังจากนั้น เราเข้าสู่ยุคที่รุ่นลูกๆ เข้ามาบริหาร เป็นยุคที่เรามองไปถึงว่าการเรียนรู้ และเติบโตนั้น Hard Skill อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ทำอย่างไรที่เด็กจะมีทักษะเพื่อสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข เราคิดถึงการทำให้การเรียนรู้ของเด็กนั้นคอลแลบฯ และสื่อสารกับผู้คนได้มากขึ้น มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น ในโลกที่วุ่นวายอย่างนี้เด็กจะมี Critical Thinking (การคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ) ได้ยังไง เรานำหลัก 4C มาเป็นประเด็นการเรียนรู้ให้เกิด Soft Skill โครงการที่เห็นชัดคือ THAICOM Foundation Football Camp ที่เราตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาเยาวชนด้วยกีฬาฟุตบอล เพราะนอกจากเป็นการฝึกใช้ร่างกายและจิตใจไปในทางสร้างสรรค์ ยังทำให้เกิดการเคารพตัวเอง เคารพคนอื่น มีกติการ่วมกัน นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรมแคมป์พัฒนาตนเองในรูปแบบต่างๆ ให้เด็กมีภาวะผู้นำ รู้จักตนเอง วางแผนอนาคตตนเองได้ มีการทำ Thaicom Robocamp ค่ายธรรม (ะ) ทันที แคมเปญตู้หนังสืออ่านสนุกสุขใจได้ปัญญา เพื่อให้เด็กอ่าน คิด เขียน เป็น รวมไปถึงโครงการที่เราอยากขับเคลื่อนเรื่อง Stroke Awareness (การตระหนักถึงเรื่องหลอดเลือดในสมอง) โดยร่วมมือกับทางศิริราช ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานเดิน วิ่ง ปั่น และสมทบทุนสร้างรถ Mobile Stroke Unit ที่เป็นนวัตกรรมรถรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันได้ทันท่วงที ประเด็นหลักที่เราให้ความสำคัญด้านสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องโรคหลอดเลือดในสมอง เพราะโรคนี้เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย ปัจจุบันเราพบว่า ผู้ป่วยเป็น Stroke นั้นพบในผู้ที่มีอายุน้อยลงบ่อยขึ้นเรื่อยๆ พบว่า 15% เป็นในคนรุ่นใหม่ที่อายุน้อยกว่า 40 ปี ด้วยสภาวะสังคมที่มีความเครียด ทั้งจากการทำงาน หรือจาก Lifestyle ของวิถีคนเมือง รวมถึงอาหารการกิน เราเลยอยากให้คนยุคใหม่รับรู้เรื่องนี้และหันมาสนใจสุขภาพของตัวเอง นี่คือสิ่งที่เราทำต่อเนื่องมาตลอด

แล้วมิชชันในวันนี้ของมูลนิธิไทยคมล่ะ

ปัจจุบัน มูลนิธิไทยคม ภายใต้การนำของ คุณพินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิไทยคม ท่านให้วิสัยทัศน์มาว่า ภายใต้บริบทโลกข้างหน้าที่มีความเป็นพลวัตรเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และคาดการณ์ได้ยาก การสนับสนุนให้เด็กไทยคิดเป็น ทำเป็น นั้นเพียงพอหรือหรือไม่ ยังมีทักษะอะไรที่เด็กยุคใหม่ควรได้เรียนรู้ ทางทีมได้กลับมาทบทวนและตั้งคำถาม ว่าการผลักดันให้เด็กสามารถไปแข่งขันบนเวทีโลกสำคัญจริงๆ ใช่ไหม ด้วยบริบทของสังคมไทยในปัจจุบัน ที่เด็กไทยเติบโตมาในภาวะที่มีการแข่งขันสูงอยู่แล้ว ซึ่งต้องเผชิญกับความเครียด และความเหนื่อยล้าทางใจอย่างเลี่ยงไม่ได้ 

  ในโลกปัจจุบันที่ทุกคนต้องแข่งขัน เด็กๆ เสพโซเชียลมีเดียที่เป็นหน้าต่างบอกว่าความสำเร็จหน้าตาเป็นยังไง ต้องสวยหล่อ ต้องมีบ้านมีรถ ต้องมี Lifestyle แบบนี้ถึงจะเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ สิ่งที่คนปัจจุบันไม่ทันมองคือโลกของเรายุ่งเหยิงไม่แน่นอน ใจคนก็เช่นกัน ใจคนบอบบาง ยิ่งเห็นความสำเร็จของคนอื่นมากเท่าไร เด็กหลายคนเติบโตมาพร้อมความเครียดและความวิตกกังวลแบบไม่รู้ตัวมากเท่านั้น เราจึงมองเห็นว่า จริงๆ ความเก่งเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่ตัวชี้วัดความสำเร็จเสมอไป ความเข้มแข็งทางจิตใจและการเติบโตจากภายในต่างหากที่สำคัญ 

มูลนิธิไทยคม ในศตวรรษที่ 21 จึงสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสร้าง พลเมืองโลกที่มีทักษะพื้นฐานสำคัญคือ “ความตระหนักรู้ในตนเอง” และต้องการขับเคลื่อนสังคมตื่นรู้ ภายใต้แนวคิด “ตื่นรู้ คิดได้ ทำเป็น” เพื่อการใช้ชีวิตที่มีความสุขและมีคุณภาพแบบเท่าทันโลกยุคใหม่

เมื่อพูดคำว่าตื่นรู้ หลายคนมักนึกถึงการนั่งสมาธิหรืออะไรทำนองนั้น ‘ตื่นรู้’ ในแบบฉบับของมูลนิธิไทยคมมีนิยามแบบไหน

อย่างที่บอกว่าสภาวะสังคมที่แข่งขัน เอื้อให้คนต้องคิดตลอดว่าตอนนี้ Ranking (อันดับ) ของฉันอยู่ตรงไหนบนโลกใบนี้ เพราะฉะนั้น การเติบโตที่มาพร้อมกับจิตใจที่เข้มแข็งคือเรื่องสำคัญมาก เพราะเมื่อเด็กและเยาวชนไทยมีพลังใจที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่นเพียงพอ เขาก็จะมี Positive Energy ดีๆ ซึ่งเป็นแรงขับที่อยากจะเรียนรู้เรื่องใหม่ต่อไปเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าวันนี้จะยังไม่ถึงความสำเร็จตามที่สังคมบอกก็ไม่เป็นไร เขายังเห็นคุณค่าของตัวเอง ยอมรับนับถือตัวเอง มีเป้าหมายชีวิต มีความมั่นคงทางจิตใจ มีพลังล้มแล้วลุกใหม่ได้เสมอ นี่จึงเป็นสิ่งที่มูลนิธิอยากให้ความสำคัญ

เด็กยุคนี้เก่ง และมีโอกาสเรียนรู้โลกภายนอกมากมาย แต่ขาดโอกาสที่จะเรียนรู้โลกภายใน ทำให้เขาสูญเสียความสัมพันธ์กับตัวเอง คือไม่ตระหนักถึงตัวตน ความรู้สึก หรือความต้องการของตน เด็กหลายคนไม่มั่นคงทางความรู้สึกเพราะ Low self esteem นี่เป็นหนึ่งในแผนที่มูลนิธิไทยคมอยากเสริมสร้าง เพราะถ้าเด็กตื่นรู้ เขาจะรู้จักตัวเองอย่างลึกซึ้ง เท่าทันและเข้าใจตัวเอง  รู้ว่าเขาคือใคร กำลังรู้สึกอะไร มีเป้าหมายอะไรในชีวิต นี่คือพื้นฐานความมั่นคงข้างในใจ ต่อให้โลกนิยามความสำเร็จไว้แบบไหน หรือชีวิตจะเหวี่ยงบททดสอบอะไรมา เขาก็ยังจะยืนหยัดและมีพลังขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างไม่ไหวเอนและมีวุฒิภาวะ นี่คือคอนเซปต์ของตื่นรู้ คิดได้ ทำเป็น

‘ตื่นรู้’ คือ ‘การตื่นจากความไม่รู้’ บางครั้งคนเราไม่รู้นะว่าเราไม่รู้ ตื่นรู้คือสภาวะที่เราตระหนักรู้ในตนเอง ซึ่งไม่ได้เกิดจากการใช้ปัญญาทางความคิดที่เราเรียนรู้จากการศึกษาเล่าเรียน หรือจากประสบการณ์ในอดีต แต่การตระหนักรู้คือการปล่อยวางจากความคิด ปล่อยวางจากการตีความตัดสินเรื่องรอบตัว ซึ่งการจะปล่อยวางทางความคิดได้นี่เป็นทักษะที่ต้องได้รับการฝึกฝน หลายคนชอบคิดว่าเราควบคุมความคิดได้ แต่ที่จริงเราควบคุมไม่ได้หรอก แต่เท่าทันความคิดได้ โดยต้องฝึกฝน ระบบการศึกษาไทยยังไม่ได้มีหลักสูตรที่เน้นเรื่องนี้เท่าไร หากจะเท่าทันความคิดหลายคนจะมองไปเป็นเรื่องการนั่งสมาธิ เข้าวัด หรือเป็นเรื่องของศาสนา ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่เสมอไป  

โดยส่วนตัวมองว่าการใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้เหมือนเราอยู่บนรถไฟสายความคิดที่แล่นเร็วมาก โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว เราใช้ชีวิตยึดติดอยู่กับอดีต ไม่ก็คิดกังวลอยู่แต่กับอนาคต แต่ละวันความคิดเรากระจัดกระจายฟุ้งไหลไปไม่หยุด เห็นอะไรผ่านเข้ามาเราก็ตีความ ตัดสิน หรือให้คุณค่าสิ่งรอบตัว เราวางแผนจัดการเรื่องต่างๆ อยู่เสมอ สมองของเราถึงยุ่งเหยิงและทำให้พลังงานด้านจิตใจของเราเหนื่อยล้า การฝึกการตระหนักรู้คือการสร้างชานชาลาเล็กๆ ในชีวิตเราให้สามารถกระโดดลงจากรถไฟสายความคิดสักครู่หนึ่ง เพื่ออยู่กับปัจจุบัน ช่วงเวลาที่ใจเราเว้นวางจากความคิด คือช่วงเวลาให้การรับรู้กลับมาอยู่กับผัสสะ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย) เป็นการฝึกกลับมาอยู่กับร่างกายและประสาทสัมผัสทั้งห้า เราจะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รับรส หรือสัมผัสอะไรก็แค่สังเกตและรับรู้ แต่ไม่หลงเพลินตีความ หรือไหลไปกับกระแสความคิด จริงๆ นี่คือการฝึกสตินั่นเอง ซึ่งการนั่งสมาธิเป็นแค่วิธีการหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่ใช่ทั้งหมด จริงๆ แล้วเราฝึกการรู้เนื้อรู้ตัวในชีวิตประจำวันได้ในหลายรูปแบบ และฝึกได้ตั้งแต่ยังเล็ก หากฝึกฝนจนเป็นทักษะติดตัวได้ จะทำให้เด็กๆ บริหารจัดการอารมณ์ และผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากต่างๆ ในชีวิตได้ดีขึ้น 

เมื่อเราฝึกทำแบบนี้บ่อยๆ เราจะเท่าทันแพทเทิร์นในสมองและพอจะแยกออกได้ว่า สิ่งไหนคือความจริง ความคิด หรือความรู้สึก เราจะช้าลงและมีเวลาให้สมองส่วนหน้าหรือ EF ทำงาน ซึ่งเป็นสมองส่วนที่ทำหน้าที่ในการควบคุมความคิด ความรู้สึก และการกระทำ ดังนั้นเมื่อมีสิ่งเร้าเข้ามาหาเรา เราจะทันสังเกตโลกภายในใจตนเอง และตอบสนองต่อสิ่งเร้าเหล่านั้นอย่างมีวุฒิภาวะได้มากขึ้น

จะเกิดอะไรขึ้นหากเด็กและเยาวชนยุคใหม่ไม่ตื่นรู้

หนึ่ง เด็กขาดทักษะการกลับมา Connect กับตนเอง ทำให้ไม่สามารถรู้จักตัวเองได้อย่างแท้จริง ไม่รู้ความต้องการของตัวเอง ขาดเป้าหมายในชีวิต ขาดแรงจูงใจในการใช้ชีวิต ความพึงพอใจในตนเองต่ำ หรือที่เราเรียกว่าภาวะด้อยค่าตัวเอง (Low – self esteem) ซึ่งเรามองว่าอาจเป็นจุดเริ่มของปัญหาทาง Mental Health สอง เด็กจะมีปัญหาจัดการอารมณ์ในชีวิตประจำวัน บางครั้งแม้ได้รับการกระทบจากสิ่งเร้าเพียงเล็กน้อย ก็จะกระเทือนทางใจได้ง่าย ขาดทักษะการควบคุมตัวเอง  และไม่รู้ว่าจะจัดการกับสภาวะอารมณ์เชิงลบที่เกิดขึ้นได้อย่างไร หลายครั้งจึงแสดงออกด้วยพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ สาม เด็กจะขาดการมองเห็นการเชื่อมโยง ว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งในสังคม ชุมชน และโลกใบนี้ หากเด็กขาดการเข้าใจตนเอง ทักษะในการเข้าใจคนอื่นก็จะน้อยลงไปด้วย หลายครั้งจะมีปัญหาในเรื่องความสัมพันธ์ตามมา 

มูลนิธิไทยคมจึงอยากสร้างพลเมืองตระหนักรู้ เพราะเราเชื่อว่าหากเด็กมีสติ ต่อให้โลกหมุนไปยังไงเขาก็จะผ่านไปได้ ที่สำคัญ เค้าจะเรียนรู้และเติบโตแบบมองเห็นการเชื่อมโยง เขาจะรู้ว่าสิ่งที่เขาคิด และทำมีผลกระทบกับใครและอะไรบ้าง    

พลเมืองตระหนักรู้ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง 

ก่อนหน้านี้เราทำ Focus Group จากกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ อายุระหว่าง 15 – 40 ปี เพื่อมาหาคำตอบว่าคุณสมบัติอะไรที่พลเมืองโลกยุคใหม่ควรมี สุดท้ายก็สรุปเป็น 6 คุณสมบัติ นั่นคือ หนึ่ง – การมีจิตใจที่เข้มแข็ง  พร้อมรับมือทุกการเปลี่ยนแปลง สอง – คิดอนาคตเป็น ค้นหาเป้าหมายของตัวเองได้ สาม – ร่วมสร้างสรรค์ คือทักษะการเรียนรู้ร่วมกับคนอื่นเพื่อสร้างการเติบโตอย่างไม่มีที่สิ้นสุด สี่ – ยกระดับสังคม ต่อให้เด็กเก่งยังไง ถ้าสภาพแวดล้อมไม่อำนวยเขาก็อยู่บนโลกนี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราต้องใช้ความเก่งของเรามาเชื่อมกันเพื่อช่วยยกระดับสังคม ห้า – แสวงหาโอกาสลงมือทำ เด็กยุคใหม่คิดเก่งแต่ปล่อยให้เป็นแค่ความฝันไม่ได้ เขาต้องมีศักยภาพในการแสวงหาโอกาสในการลงมือทำ และหก – เท่าทันเทคโนโลยี รู้เครื่องมือที่ทำให้การลงมือทำเกิดประโยชน์สูงสุด นี่คือคุณสมบัติหลักของการเป็นพลเมืองโลกที่เราอยากให้เด็กไทยเป็น

โปรเจกต์ปี 2567 ของมูลนิธิไทยคม ที่จะช่วยผลักดันให้เด็กและเยาวชนไทยตื่นรู้ คิดได้ ทำเป็น มีอะไรบ้าง

เรามองว่าพื้นที่ที่ทำให้เด็กเรียนรู้เพื่ออัพสกิลโลกภายนอกมีอยู่เต็มไปหมดแล้ว จึงอยากสร้างพื้นที่การเรียนรู้โลกภายในขึ้นมาบ้าง โดยรูปแบบการทำงานของเราจะเป็นในลักษณะ Co-Create (มีคนอื่นๆ ร่วมกันสร้างสรรค์เพื่อสร้าง Collective Impact ร่วมกัน) เราอยากเป็น Platform การเรียนรู้ต้นแบบที่ชวนให้คนเข้ามาเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพจากภายใน และสร้าง Mindful Community ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้คนมาเรียนรู้โลกภายในได้อย่างสนุกและสร้างสรรค์ เราเปิดรับความร่วมมือจากองค์กร หน่วยงาน ภาคีเครือข่ายทุกท่านที่เห็นคุณค่าของการยกระดับสังคมในด้านนี้มาเชื่อมต่อกัน บางคนอาจมีความรู้ บางคนอาจมีเครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่มีจิตอาสา หรือมีทรัพยากรอะไร เรายินดีที่จะร่วมพูดคุยเพื่อสร้างสังคมตื่นรู้ไปด้วยกัน  

อีกหนึ่งโครงการนำร่องของปีนี้ เราได้จัดทำ Mindful Family Toolbox ในคอนเซปต์ The Present is Present ให้ปัจจุบันเป็นของขวัญ โดยกลุ่มเป้าหมายเราเน้น Eco System ที่ใกล้ตัวเด็กที่สุด นั่นคือ ครอบครัว เราอยากให้ครอบครัวเป็นพื้นที่ปลอดภัยแรกของลูก เราจึงสร้างกล่องของขวัญสำหรับครอบครัวกล่องนี้ขึ้นมา

ไอเดียคือในหมู่พ่อแม่รุ่นใหม่ เรารู้ว่าความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้ลูกๆ เติบโตขึ้นมาอย่างมีสุขภาพกายใจแข็งแรง นำไปสู่การที่เขารู้จักตัวเองและเข้าใจเพื่อนมนุษย์ต่อไป กล่องนี้จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวมากกว่าจะเป็นแค่กล่องของเล่น โดยมีเป้าหมายคือกลุ่มพ่อแม่คนรุ่นใหม่ที่มีลูกอายุ 3-8 ปี ที่ต้องเลือกกลุ่มเป้าหมายนี้เพราะเรามองว่า ทำไมเราต้องรอให้เด็กมีปัญหาล่ะ เราฟูมฟักให้เขาอยู่ในครอบครัวที่มีความสัมพันธ์ที่ดีได้ตั้งแต่เด็ก ซึ่งเด็กอายุ 3 ปีเริ่มรู้จักตัวเองมากขึ้น มีงานวิจัยบอกว่าเด็กเล็กอายุก่อน 9 ปี เป็นวัยที่สมองพัฒนา EF มากที่สุด จึงเหมาะสมที่ให้เริ่มเรียนรู้ในเรืองของอารมณ์และการจัดการอารมณ์  

กล่อง Mindful Family Toolbox ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง และส่งเสริมการตื่นรู้ของเด็กอย่างไร

ในกล่องประกอบไปด้วยของเล่นที่ส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องอารมณ์และการจัดการอารมณ์ มีของเล่นทั้งหมด 6 ชิ้น ประกอบไปด้วยหนังสือนิทาน Interactive ที่เน้นให้เด็กฝึกฝนเรื่องประสาทสัมผัสของเขา เด็กจะสามารถเคาะ เป่า ปั๊ม ผ่านการเรียนรู้ในหนังสือเล่มนี้ โดยมีพ่อแม่ที่ชวนเด็กทำ เพื่อให้เขารู้จักการหายใจเข้าออกอย่างมีคุณภาพ เพราะการฝึกหายใจเป็นการสร้าง Grounding Activity (กิจกรรมที่ทำให้เด็กกลับมาอยู่กับปัจจุบัน) ให้เขาตั้งแต่เด็ก 

ในกล่องยังมีการ์ดที่ส่งเสริมให้พ่อแม่เล่นกับลูกเพื่อฝึกการอยู่กับปัจจุบันและรู้เท่าทันอารมณ์ โดยในการ์ดจะมีคำแนะนำ คำถาม หรือคำเชิญชวนให้ลองสำรวจร่างกายตนเอง เช่น ลองนอนราบลงไปกับพื้นดูสิ หรือลองเลียรอบริมฝีปากดูรสชาติเป็นยังไง  การ์ดนี้จะช่วยฝึกพฤติกรรมให้เด็กรู้เนื้อรู้ตัวจากเหตุการณ์ปัจจุบัน  

นอกจากหนังสือและการ์ด ในกล่องยังมีของเล่นที่ฝึกให้เด็กๆ โฟกัส เรียกว่า Balancing Rock หรือหินที่ไม่สมมาตร หินนี้จะทำให้เด็กๆ และพ่อแม่ต้องวางแผนในการวางไม่ให้ก้อนหินร่วงหล่น เป็นการฝึกการอยู่กับโมเมนต์ตรงหน้า ฝึกการตั้งเป้าหมายร่วมกัน และฝึกการล้มแล้วลุกใหม่ ถึงจะหินหล่น ท้อแท้ก็ไม่เป็นไร คล้ายเป็นพื้นที่ที่ให้พ่อแม่ได้เชียร์อัพลูก นำไปสู่การเปิดบทสนทนาดีๆ ด้วยกัน

อีกอย่างหนึ่งคือ Emotional Wheel หรือวงล้ออารมณ์ สำหรับเด็กวัยที่เขาเริ่มเรียนรู้คำศัพท์ พ่อแม่หลายคนส่วนมากจะสอน Cat แมว Dog หมา แต่ศัพท์ที่เป็นภาษาใจก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เด็กรู้สึกบางอย่างที่เป็นเชิงลบแต่พูดออกมาไม่ได้ แน่นอนว่าเขาแสดงออกด้วยพฤติกรรมเชิงลบ โกรธ ทำร้ายตัวเอง ทำลายข้าวของ การที่เขามีคลังคำศัพท์เยอะมากพอจะช่วยลดพฤติกรรมเชิงลบที่ทำให้ก้าวร้าวและเกิดการสื่อสารอย่างมีคุณภาพได้ Emotional Wheel ช่วยให้เด็กสามารถทำแบบนั้น เขาจะรู้ว่าโกรธมีหลายเฉด โกรธบางครั้งเกิดจากแค่กลัว หรือบางทีการที่เขาบอกว่าหนูโกรธ จริงๆ อาจไม่ใช่ความโกรธแต่แค่อิจฉา การที่ในบ้านพูดเรื่องอารมณ์เหล่านี้กันได้ จะเป็นการอนุญาตให้เขาโอบรับอารมณ์เหล่านี้โดยที่ไว้วางใจว่าพ่อแม่จะไม่ตัดสิน ทำให้เด็กสามารถคุยเรื่องข้างในกับพ่อแม่ได้อย่างตรงไปตรงมา ผู้ใหญ่ชอบบอกว่า เป็นเด็กต้องหัดควบคุมอารมณ์ให้เป็น แต่เราเปิดโอกาสให้เขารู้จักอารมณ์หรือยังว่าหน้าตาเป็นยังไง เพราะไม่อย่างนั้น เขาจะควบคุมไม่ได้ 

กล่องนี้ได้รับการออกแบบจาก MAPPA ซึ่งเรารู้สึกโชคดีมากๆ เพราะ MAPPA เป็นมืออาชีพในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับเด็กอยู่แล้ว มากกว่านั้น เรายังได้รับความร่วมมือจากผู้ใหญ่ใจดีอย่าง SC Asset และ สสส. ที่ช่วยสนับสนุน นี่คือความร่วมมือแรกของคนที่อยากยกระดับสังคมไปด้วยกัน

กล่องนี้เราเปิดรับบริจาค ซึ่งทุกการบริจาคจะได้ลดหย่อนภาษี โดยรายได้จากการบริจาคทุกบาท เราจะนำไปพัฒนาโครงการเพื่อสร้างสังคมตื่นรู้ต่อไป 

ภาพแบบไหนที่มูลนิธิไทยคมอยากเห็นหลังจากที่ผู้ปกครองนำกล่องนี้ไปใช้

เราอยากให้บ้านเป็นพื้นที่ปลอดภัยแรกที่จะทำให้เด็กเติบโตขึ้นมาอย่างมีความสุข มีคุณภาพ และเท่าทัน แต่ก่อนจะไปจุดนั้น พ่อแม่ต้องเท่าทันตัวเองก่อน พวกเขาเท่าทันอำนาจนิยมในตัวเองไหม ถ้าตัดสินลูกจากประสบการณ์หรือมุมมองของตัวเอง เราอาจจะหลงลืมความเป็นมนุษย์ในตัวลูก ลูกมีความรู้สึกและความต้องการเป็นของตัวเอง และถ้าเราพอทันเห็นจุดนี้ เราจะเคารพความเป็นมนุษย์ของลูกมากขึ้น โดยพื้นฐานคือการฟังให้เป็น เหนือสิ่งอื่นใด เรามีพื้นที่ให้พูดคุยภาษาใจในบ้านกันแล้วรึยัง ทางมูลนิธิไทยคมคาดหวังว่ากล่องนี้จะเป็นเครื่องมือพาพ่อแม่ให้เกิดบทสนทนากับลูกได้ว่า “ตอนนี้หนูกำลังรู้สึกอะไร” “ความรู้สึกนั้นเป็นแบบไหน” และลองใช้ใจฟัง  

การร่วมสร้างสังคมที่ตื่นรู้ คิดได้ ทำเป็น สำคัญกับมูลนิธิไทยคมอย่างไร

ทางมูลนิธิแน่นอนว่า เรารู้สึกมีคุณค่าเมื่อได้ทำอะไรบางอย่างเพื่อคนอื่น เพื่อสังคมในวงกว้าง อย่างน้อยหนึ่งคนพูดก็อาจจะมีหนึ่งคนได้ยิน ยิ่งหากมีหลายคนได้ยินและพูดต่อ มันก็ยิ่งสร้างการตระหนักรู้ของสังคมเป็นวงกว้างออกไป โดยเฉพาะเมื่อเราได้มีการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ พูดคุยกับพาร์ทเนอร์ และเชื่อมต่อกับคนในหลายภาคส่วน เรามองเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ใช่มีแค่เราคนเดียวที่อยากผลักดัน เพราะจริงๆ แล้วเรื่อง Mental Health เป็นประเด็นสำคัญของสังคมปัจจุบันที่ใกล้ตัวมาก เราจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งต่อพลังบวกสู่สังคม

มากกว่านั้น สิ่งที่ได้จากการทำโปรเจกต์เหล่านี้คือความรู้สึกเติบโตจากภายใน การที่ทีมได้ไปพบปะพูดคุยกับหลายภาคส่วน ทั้งนักวิชาการ อาจารย์ และได้เข้าร่วมเวิร์กช็อปรูปแบบต่างๆ ทำให้พวกเราได้ทำงานกับข้างในของตนเองมากขึ้นเช่นกัน 

เราเข้าใจความเป็นมนุษย์ของตนเองมากขึ้น และเมื่อเราเห็นความเป็นมนุษย์ของตนเอง เราจะเห็นความเป็นมนุษย์ของคนอื่นมากขึ้น เราจะเห็นว่าทุกคนนั้นเท่ากัน และเห็นว่าบนโลกนี้มีสิ่งที่เราต้องยึดไว้และมีสิ่งที่เราต้องปล่อยวาง การเข้าใจตนเองทำให้เห็นเส้นว่า อะไรที่เราควบคุมได้และไม่ได้บ้าง สุดท้ายมันคือโลกข้างในที่เราต้องจัดการ

สุดท้ายนี้ก็อยากฝาก Mindful Family Toolbox ทุกท่านสามารถมีส่วนเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กๆ เติบโตไปอย่างมีทักษะในการตื่นรู้ พร้อมรับมือกับความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ไปด้วยกัน


Writer

Avatar photo

พัฒนา ค้าขาย

นักเขียนจากเชียงใหม่ผู้รักทะเลและฤดูหนาวพอๆ กับหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็นเรื่องเพศ ความสัมพันธ์ และเรื่องป๊อปทุกแขนง

Illustrator

Avatar photo

สิริกร พรอนงค์

ดีไซน์เนอร์, นักวาด และอาร์ตไดมือใหม่ที่ชอบไปทะเล

Related Posts