- “18 Years ความทรงจำ ความฝัน ความรุนแรง” สารคดีเกี่ยวกับวัยรุ่นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ต้องเผชิญปัญหาในวัยของตัวเอง รวมทั้งมีความหวัง ความฝัน ไม่ต่างจากวัยรุ่นในพื้นที่อื่น
- แต่ปัญหาที่วัยรุ่นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเผชิญ ซึ่งแตกต่างจากวัยรุ่นกลุ่มอื่น คือบรรยากาศความไม่ปลอดภัยในพื้นที่ และอคติที่คนนอกพื้นที่มีต่อพวกเขา
- ท่ามกลางเสียงของความรุนแรง การนำเสนอข่าวรายวัน และเสียงเรียกร้องความเป็นธรรม “18 Years ความทรงจำ ความฝัน ความรุนแรง” ได้เปิดพื้นที่ให้เสียงของวัยรุ่นทั่วไปใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ดังขึ้นมา
เป็นเวลา 18 ปีแล้ว ที่ข่าวคราวความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรากฏอยู่ในหน้าสื่อ สำหรับผู้ที่สนใจประเด็นการเมือง ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งนี้ทั้งกินเวลานานและกัดกินคนในพื้นที่ไปด้วย โดยที่มองไม่เห็นจุดสิ้นสุด และสำหรับอีกหลายคนที่อยู่นอกพื้นที่ ข่าวความรุนแรงเหล่านี้กลายเป็น “ความเคยชิน” และมันก็นานพอที่จะสร้างอคติมากมายที่มีต่อคนในพื้นที่นั้นๆ
แม้ที่ผ่านมาจะมีนักวิชาการ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน และผู้ที่สูญเสียคนที่รักจากเหตุการณ์ความรุนแรง คอยออกมาส่งเสียงบอกเล่าเรื่องราว รวมถึงเรียกร้องการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม แต่ก็ดูเหมือนว่า 18 ปีที่ผ่านมาจะไม่มีอะไรขยับเขยื้อนเปลี่ยนแปลงเลย
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางเสียงปืน เสียงระเบิด เสียงการรายงานข่าวความรุนแรง เสียงการวิเคราะห์เหตุการณ์จากนักวิชาการ รวมทั้งเสียงเรียกร้องความเป็นธรรมของผู้สูญเสียและนักเคลื่อนไหว เสียงที่ไม่เคยถูกได้ยินคือเสียงของวัยรุ่นทั่วไปที่เกิดและเติบโตใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่พวกเขาก็เผชิญปัญหา และมีความหวัง ความใฝ่ฝัน ไม่ต่างจากวัยรุ่นทั่วไปในพื้นที่อื่นๆ
“เสียงของวัยรุ่นทั่วไปที่ไม่เคยถูกได้ยิน” คือโจทย์หลักของสารคดี “18 Years ความทรงจำ ความฝัน ความรุนแรง” ผลงานการกำกับของเปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์
“18 Years ความทรงจำ ความฝัน ความรุนแรง” เป็นสารคดีที่เล่าเรื่องจากหลากมุมมองของนักวิชาการ นักเคลื่อนไหว และวัยรุ่น 5 คน ที่เกิดในปี 2547 ซึ่งเป็นปีที่ไฟแห่งความรุนแรงปะทุขึ้น จากเหตุการณ์ปล้นปืนในค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) จ.นราธิวาส เมื่อเดือนมกราคม นำไปสู่การประกาศใช้กฎอัยการศึก ตามด้วยเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ ในเดือนเมษายน และเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ อ.ตากใบ ในปีเดียวกัน และในปี 2565 นี้ วัยรุ่น 5 คนนี้ก็มีอายุครบ 18 ปี พอดี
หนังเปิดเรื่องด้วยชนวนเหตุแห่งความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งนำไปสู่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบก็ไม่ได้มีเพียงแค่ผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ยังมีเด็กและเยาวชนที่สูญเสียพ่อหรือสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวจากเหตุการณ์ความรุนแรง ประกอบกับบรรยากาศแห่งความกลัวที่มาพร้อมกับเจ้าหน้าที่รัฐ ตั้งแต่การตั้งจุดตรวจบนถนน การบุกค้นบ้านและจับกุมประชาชนในยามวิกาล ไปจนถึงการเก็บดีเอ็นเอเด็ก ก็บีบให้เด็กและเยาวชนเหล่านี้ต้องเติบโตมาพร้อมกับภาพความรุนแรงที่ไม่สมควรเกิดขึ้นกับเด็กคนใด
อย่างไรก็ตาม “18 Years ความทรงจำ ความฝัน ความรุนแรง” กลับไม่ได้สะท้อนเสียงของเยาวชนที่เผชิญกับความรุนแรงจากรัฐโดยตรง ทว่าเลือกเปิดพื้นที่รับฟังเสียงของ “วัยรุ่นทั่วไป” ที่ไม่ได้ประสบกับความรุนแรงด้วยตัวเอง หรือเรียกได้ว่าอยู่ “วงนอก” ของความรุนแรงในพื้นที่ ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ก็มีเรื่องราวของตัวเอง ที่เมื่อเราฟังดูก็จะพบว่าไม่ได้แตกต่างจากวัยรุ่นในพื้นที่อื่นๆ เพราะทั้ง 5 คนนี้ ต่างก็พบเจอกับปัญหาลักษณะเดียวกับวัยรุ่นทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นอัตลักษณ์ทางเพศ ช่องว่างระหว่างวัยกับคนในครอบครัว ความรุนแรงในครอบครัว การถูกบูลลี่เนื่องจากความแตกต่างทางภาษา
ทว่าในความเหมือน ภาพจุดตรวจตามท้องถนน เจ้าหน้าที่รัฐที่คอยเรียกตรวจบัตรประชาชนและค้นรถ เป็นปัจจัยหลักที่สร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยให้กับเยาวชนกลุ่มนี้ ขณะเดียวกัน พวกเขายังต้องเผชิญกับอคติจากคนนอกพื้นที่ โดยเฉพาะในมุมที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง ตั้งแต่การถามคำถามซ้ำๆ ถึงสถานการณ์ความรุนแรงในบ้านเกิด ไปจนถึงการล้อเลียนด้วยคำถามที่คนพูดอาจจะขำ แต่คนฟังขำไม่ออกว่า “พกระเบิดมาด้วยหรือเปล่า”
นอกจากปัญหาหนักอกของวัยรุ่นที่ทบทวีด้วยความรุนแรงในพื้นที่แล้ว “18 Years ความทรงจำ ความฝัน ความรุนแรง” ยังนำเสนอความหวังและความฝันของวัยรุ่นกลุ่มนี้ด้วย ซึ่งแน่นอนว่าก็ไม่ต่างจากวัยรุ่นในพื้นที่อื่นเช่นกัน บางคนตั้งใจเรียนเพื่อเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย บางคนสอบเข้ามหาวิทยาลัยในคณะที่ตัวเองหวัง ขณะที่บางคนเลือกจะเดินตามความคาดหวังของพ่อแม่ และอีกคนเลือกจะเป็นพ่อที่ตั้งใจเลี้ยงลูกให้เติบโตในโลกที่สวยงาม
ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกพูดถึงซ้ำๆ ในหลายเวที แต่กลับดูเหมือนยากที่จะจบสิ้น สิ่งที่ดีที่สุดของ “18 Years ความทรงจำ ความฝัน ความรุนแรง” คือการพูดถึงประเด็นใหม่ นั่นคือชีวิตและเรื่องราวของวัยรุ่นทั่วไป ที่แม้จะไม่ได้ประสบเหตุรุนแรงโดยตรง แต่การเติบโตของพวกเขาก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน
ได้แต่หวังว่าวันหนึ่ง สถานการณ์ความรุนแรงจะสิ้นสุดลง และวัยรุ่นทั้ง 5 คน รวมทั้งวัยรุ่นคนอื่นๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะได้ก้าวข้ามปัญหาต่างๆ ในช่วงวัยของตัวเอง และเติบโตอย่างงดงามในบ้านเกิดของพวกเขาเอง