40-Year-Old Version : ราดาเป็นผู้หญิง เป็นคนดำ เป็นคนวัย 40 และเป็นมนุษย์

  • 40-Year-Old Version คือหนังที่ดัดแปลงมาจากเรื่องราวชีวิตของ ราดา แบลงค์ นักแสดง นักเขียนบทละคร ผู้กำกับ และแร็ปเปอร์ที่ได้รับการคัดเลือกไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ Sundance 
  • หนังว่าด้วยเรื่องราวของ “ราดา” นักเขียนบทละครหญิงคนดำวัย 40 ปี ที่ยังคงไม่มีบทละครที่ประสบความสำเร็จอย่างที่เธอเคยหวังไว้ อุปสรรคใหญ่ในชีวิตที่เธอต้องข้ามผ่านจึงเป็นการตั้งคำถามกับตัวเองและความสับสนลังเลในเส้นทางที่เธออยากเลือก
  • “ผู้หญิงคนดำอายุ 40 ปี ก็เป็นเพียงคนธรรมดาคนหนึ่ง” และ “จงมุ่งไปในที่ที่มีรัก” คือสิ่งที่ราดา แบลงค์ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ในวงการและการกำกับหนังเรื่องนี้ และเธอก็อยากจะถ่ายทอดสิ่งนั้นให้ผู้ชมได้สัมผัสเช่นกัน

“จงมุ่งไปในที่ที่มีรัก” ราดา แบลงค์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง 40-Year-Old Version ให้สัมภาษณ์ไว้กับ NME ขณะที่กำลังโปรโมตภาพยนตร์เรื่องแรกที่ประสบความสำเร็จของเธอ

สิ่งที่น่าสนใจคือเรื่องราวในภาพยนตร์เป็นเหมือนบันทึกชีวิตของราดา ในฐานะนักแสดง นักเขียนบทละคร ผู้กำกับ และแร็ปเปอร์ และบทเรียนที่เธอได้เรียนรู้จากการดิ้นรนขวนขวายในวงการบันเทิงที่เธอเคยโดนปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่าและเคยสงสัยว่า “ความสำเร็จคืออะไร” จนได้พบคำตอบจากการกำกับ เขียนบท แสดง และอำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้

40-Year-Old Version เป็นเรื่องราวของ “ราดา” นักเขียนบทละครผิวดำที่เคยเป็นหนึ่งใน 30 ดาวรุ่งอายุน้อยกว่า 30 แต่ 10 กว่าปีผ่านไป เธอก็ยังเป็นเพียง “อดีต” นักเขียนดาวรุ่งอายุน้อยกว่า 30 ในวัยใกล้ 40 ราดาไม่ได้เป็นนักเขียนบทละครชื่อดังอย่างที่เธอฝันไว้ เธอเป็นได้เพียงครูสอนวิชาการละครในโรงเรียนมัธยมที่โดนเด็กบางคนตั้งแง่ว่าเธอไม่มีความสามารถพอที่จะมาสอน ราดาจึงต้องเผชิญช่วงเวลาที่สับสนในชีวิต ทั้งการตั้งคำถามในความสามารถของตัวเอง การไร้ความสำเร็จให้ชื่นชมแม้ในวัยใกล้ 40 การที่เพิ่งสูญเสียแม่ไป การดิ้นรนในฐานะคนเขียนบทผิวดำในวงการที่นายทุนส่วนใหญ่มีแต่คนขาวและการต้องเลือกว่าเธอจะทำอย่างไรต่อไปกับชีวิตที่ดู “ล้มเหลว” นี้ และ “ตัวเลือก” ของเธอคือการผันตัวเป็นแร็ปเปอร์

ถ้าอยากก้าวหน้าสักหน ก็ต้องเขียนบทชักว่าวกับความจน

แม้ว่าจะยังไม่มีผลงานที่ประสบความสำเร็จ แต่ราดาก็ยังพอมีชื่อเสียงจากบทละครที่เธอเคยใช้ประกวดเมื่อตอนได้รางวัลดาวรุ่งอยู่บ้าง และเธอก็มีบทละครอีกบทในมืออย่างเรื่อง Harlem Ave. ที่ยังต้องหาทุนสร้าง แต่เมื่อเธอนำบทละครนี้ไปเสนอให้ผู้อำนวยการสร้างละครอย่าง เจ. วิทแมน ที่เป็นคนขาว เขากลับอยากให้ราดาแก้รายละเอียดบทเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ตัวละครคนดำในเรื่องยังไม่เผชิญเคราะห์กรรมมากพอ และเขายังอยากให้มีตัวละครคนขาวอยู่ในเรื่องเพื่อให้คนดูผิวขาวรู้สึกว่าพวกเขาได้เป็นส่วนหนึ่งในนั้นด้วย

ราดามองสิ่งนี้ว่าเป็นการ “ชักว่าวกับความจน” (poverty porn)

แน่นอนว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ชุมชนคนดำหรือคนชายขอบอื่น ๆ มักจะต้องเผชิญความลำบากมากกว่าคนขาว การรณรงค์ให้มีความเห็นอกเห็นใจและปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมจึงเป็นเรื่องที่ดี แต่ความเห็นอกเห็นใจก็มักจะมาพร้อมกับการยัดเยียดภาพจำใหม่ให้กับคนชายขอบ จากที่เคยรังเกียจเดียดฉันท์ว่าไม่ใช่มนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ก็กลายเป็นยัดเยียดภาพของ “เหล่าคนจนผู้น่าสงสารและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้” ให้ผู้คนเหล่านั้น

และเหตุที่การ “ชักว่าวกับความจน” ยังคงมีอยู่ ก็เพราะมันเอื้อประโยชน์ต่อคนขาวที่ยังติดอยู่ในวังวน (white) savior complex หรือพฤติกรรมที่คิดว่าตนเองเป็น “ผู้ให้” และ “ผู้กอบกู้”

วิทแมนบอกให้ราดาเปลี่ยนบทเพราะเขาต้องการมอบประสบการณ์ของการเป็น “ผู้กอบกู้” ให้คนดูคนขาวซึ่งเป็นคนดูกลุ่มใหญ่ที่สุดของเขา เมื่อคนขาวเสพสุขได้จากบทบาทนี้ ภาพความลำบากของคนดำจึงยังขายได้มากกว่าภาพของคนดำในฐานะคนคนหนึ่งที่มีชีวิตทั่ว ๆ ไปไม่แตกต่างจากคนขาว

ผู้หญิงผิวดำในวัย 40 = มนุษย์คนหนึ่ง

ราดา แบลงค์ เขียนบทและกำกับ 40-Year-Old Version ขึ้นด้วยความตั้งใจที่จะถ่ายทอดประเด็นหลักของเธออย่างการอยากให้คนมองผู้หญิง ผิวดำ วัย 40 ปี เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง

แบลงค์เคยให้สัมภาษณ์ว่า ในภาพยนตร์ส่วนใหญ่ นอกจากคนดำจะถูกยัดเยียดภาพชีวิตลำบากแล้ว แต่อีกภาพที่วงการบันเทิงของคนขาวยัดเยียดให้คนดำก็คือการเป็นหญิงวัยกลางคนผู้รอบรู้และค้นพบคำตอบทุกอย่างของชีวิต

ราดาในเรื่องนี้ จึงเป็นหญิงคนดำวัย 40 ปี ที่ยังคงค้นหาความหมายและคำตอบของสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตให้กับตัวเอง เธอยังคงปฏิเสธพี่ชายทุกครั้งที่เขาชวนไปเก็บของในห้องแม่ผู้ล่วงลับ เพราะเธอยังไม่กล้ายอมรับความสูญเสีย เธอยังคงยอม “ขายวิญญาณ” ให้วิทแมนด้วยการเปลี่ยนรายละเอียดบทละครตามที่เขาแนะนำ เธอยังคงตั้งคำถามในความสามารถของตัวเองเมื่อถูกนักเรียนสบประมาท เธอยังไม่มั่นใจในเส้นทางสายใหม่อย่างการเป็นแร็ปเปอร์ที่เธอเลือกเดิน เธอยังคงต้องการความรักที่ทำให้ใจกระชุ่มกระชวย และเธอก็ยังคงคิดว่าตัวเองล้มเหลวอยู่เสมอ

อุปสรรคเหล่านี้คือสิ่งที่แบลงค์เขียนบทให้ตัวละครของเธอ และเน้นย้ำด้วยการแทรกฟุตเทจสัมภาษณ์คนอื่น ๆ ในชุมชนที่ส่วนใหญ่ที่มีภาพจำของคนอายุ 40 ในแบบของพวกเขาเอง เพื่อให้รู้ว่าตราบใดที่เรายังคงมีชีวิตอยู่ ชีวิตก็จะมอบคำถามมากมายมาให้เราได้หาคำตอบเสมอ และไม่ผิดเลยหากเรายังไม่สามารถหาคำตอบให้ตัวเองได้ แม้ในวัยที่สังคมคาดหวังให้เราเติบโตและอิ่มตัว

จงมุ่งไปในที่ที่มีรัก

“จงมุ่งไปในที่ที่มีรัก ฉันเคยต้องหัวหมุนกับการพยายามเรียกร้องความสนใจจากพวกนายทุนและทำให้คนที่มีอำนาจ [ในการสร้างหนัง] รักฉัน ฉันเสียพลังงานตั้งเยอะตั้งแยะไปโดยเปล่าประโยชน์จากการทำแบบนั้น แล้วก็เหมือนกับตัวละครของฉันเอง ฉันได้เจอสิ่งที่มีค่า พอฉันมองไปทางอื่นบ้าง ฉันก็ได้เห็นทุก ๆ คนที่รักฉันและรักผลงานของฉันมาโดยตลอด”

นี่คือสิ่งที่ราดา แบลงค์ ได้เรียนรู้ในระหว่างการกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ 40-Year-Old Version คืองานที่เธอปลดปล่อยความเป็นตัวเองอย่างเต็มที่ และท้ายที่สุด มันคือหนังที่พาให้เธอประสบความสำเร็จและเป็นครั้งแรกที่เธอมีผลงานที่ได้ฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ Sundance

เช่นเดียวกันกับราดาในเรื่องที่แม้จะสับสนและหวาดกลัวกับเส้นทางชีวิตที่เธอ “อยาก” เลือก จนไม่กล้าเลือก ยังคงตั้งคำถามว่า “ความสำเร็จ” ควรเป็นสิ่งใด จนทำให้เธอเลือกเส้นทางที่ไม่อยากเลือกไป แต่เมื่อเธอได้รู้ว่ามีความรักอยู่รอบตัวมากมาย และเธอก็ไม่จำเป็นต้องเอาอกเอาใจคนที่ไม่เคยคิดจะรักผลงานของเธออย่างเหล่านายทุนโรงละครคนขาวและคนดูที่ยังติดหลุมพราง white savior complex เมื่อนั้นเธอจึงได้พบ “ความสำเร็จ” ที่เธอตามหา

ในชีวิต 40 ปี ที่ราดาเฝ้าฝันว่าเธอจะต้องเป็นนักเขียนบทละครชื่อดังและเข้าใจไปว่าหากไปไม่ถึงจุดนั้น เธอจะเป็นคนที่ล้มเหลว ในที่สุดเธอก็ได้รู้ว่าความล้มเหลวอาจหมายถึงการเป็นนักเขียนบทละครชื่อดังด้วยการ “ขายวิญญาณ” เอาใจนายทุนคนขาว และความสำเร็จอาจหมายถึงการพร้อมยอมรับความสูญเสียมากพอที่จะกลับไปเก็บของที่บ้านของแม่หลังจากประวิงเวลามาเนิ่นนาน หมายถึงการให้อภัยลูกศิษย์ที่เคยสบประมาทตัวเอง หมายถึงการกล้าที่จะเริ่มความรักครั้งใหม่ แม้จะเคยคิดว่าตัวเองถึงวัยเหี่ยวเฉาแล้ว หมายถึงการได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าคนดูผิวขาวว่าเธอจะไม่ยอมขายวิญญาณและดัดแปลงบทเพื่อใครอีก

ความสำเร็จเหล่านั้นเกิดขึ้นได้เมื่อเธอรับรู้ว่าเธอและผลงานของเธอได้รับความรักอย่างเต็มเปี่ยมมาตลอดเวลาอยู่แล้ว เธอมีอาร์ชี เพื่อนรักที่เป็นผู้จัดการส่วนตัว ผู้ยอมทำทุกอย่างแม้แต่เรื่องที่น่าอายที่สุดเพื่อให้ผลงานบทละครของเธอได้ทุนสร้าง เธอมี ดี นักแต่งบีทเพลงแร็ปที่เชื่อมั่นในการเป็นแร็ปเปอร์ของเธอตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ฟัง เธอมีเด็กนักเรียนหลายคนที่ยกโขยงกันไปให้กำลังใจครูของพวกเขาไม่ว่าจะในโรงละครหรูหรือเวทีแร็ปใต้ดิน

ที่สำคัญคือเธอกล้าก้าวออกมาจากความกลัวที่จะล้มเหลว เพื่อมองเห็นตัวเองอีกครั้งในฐานะผู้หญิงที่ยังคงมีคำถามและยังต้องหาคำตอบมากมายในชีวิต ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร และไม่ต่างอะไรจากมนุษย์คนอื่น ๆ เลย

อ้างอิง : https://www.nme.com/en_asia/features/film-interviews/radha-blank-interview-40-year-old-version-2775654


Writer

Avatar photo

ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา

อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts