- เป้าหมายหลักของการออกแบบพื้นที่เล่น คือ การเสนอสภาพแวดล้อมการเล่นที่หลากหลายให้ผู้เล่นเลือกวิธีเล่นที่จะสร้างประสบการณ์และการเรียนรู้ด้วยตัวเองได้
- บางครั้งสนามเด็กเล่นไม่ต้องสวยงาม ติดตั้งสำเร็จ อ้าแขนรับผู้เล่นเท่านั้น แต่สนามเด็กเล่นอาจเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ที่คนเล่นได้ปลดปล่อยพลังจินตนาการและความสนุกในสนามเด็กเล่นที่เขาสร้างเอง
- ชวนดู 5 แนวคิดของนักออกแบบสนามเด็กเล่นที่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นเลือกเล่นเอง และอยากเห็นเด็กๆ เป็นนักเล่นมากกว่านักเรียน
“ถ้าอยากพัฒนาการเล่นจริงๆ เราต้องจัดหาพื้นที่ให้การเล่นเข้าถึงทุกคนให้เป็นธรรมชาติและสร้างสรรค์มากขึ้นเพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสและจินตนาการ”
คำกล่าวของไซมอน พาร์คการ์ด (Simeon Parkard) ผู้อำนวยการ Urban Play Solution ในงานสัมมนาหนึ่งของประเทศอังกฤษที่ถูกอ้างถึงในหนังสือ Design for Play: A guide to creating successful play spaces
คนที่มีหน้าที่โดยตรงในการจัดหาพื้นที่การเล่น คือ ‘ผู้ออกแบบ’ ในหนังสือเล่มเดียวกันยังระบุอีกว่า
“เป้าหมายหลักของการออกแบบพื้นที่เล่น คือ การเสนอสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยการเล่นที่หลากหลายให้กับเด็กๆ เพื่อให้เขาเลือกการเล่นที่จะสร้างประสบการณ์และการเรียนรู้ให้กับพวกเขาได้”
ขณะเดียวกัน พื้นที่การเล่น คือ จุดเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผู้เล่นด้วยกันเองที่เล่นร่วมกัน รวมถึงเชื่อมความสัมพันธ์ของผู้เล่นและนักออกแบบทางอ้อมอีกด้วย
mappa ชวนอ่านแนวคิดของนักออกแบบสนามเด็กเล่นจาก 5 เมืองทั่วโลกที่นักออกแบบเปิดโอกาสให้ผู้เล่นเลือก ‘เล่น’ ได้ด้วยตัวเอง
เพราะบางครั้งสนามเด็กเล่นที่ดีอาจไม่ใช่สนามเด็กเล่นที่มีเครื่องเล่นสวยงาม ติดตั้งสำเร็จ อ้าแขนเปิดรับนักเล่นเท่านั้น แต่ในทางกลับกันสนามเด็กเล่นอาจเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ที่ผู้เล่นได้สร้างพื้นที่ของตัวเองไปพร้อมกับปลดปล่อยพลังแห่งจินตนาการและความสนุกที่ผู้เล่นสร้างขึ้นเอง
Cas Holman: เล่นอย่างอิสระคือการเปิดโลกแห่งจินตนาการ
แคส โฮลล์แมน (Cas Holman) นักออกแบบการเล่นนักการศึกษาชาวอเมริกัน และผู้สอนภาควิชาอุตสาหกรรมการออกแบบใน Rhode Island School of Design (RISD) ที่เชื่อว่า การเล่นสำคัญและของเล่นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ
แคสยึดแนวคิด “Open ended play” หรือการเล่นอิสระในการออกแบบของเล่นและสนามเด็กเล่นของแคส
โดยส่วนใหญ่ ของเล่นที่เธอออกแบบจะมีความยืดหยุ่น ไม่มีเพศ และอนุญาตให้เด็กๆ ใช้จินตนาการมากกว่าการเล่นตามฟังก์ชันที่คู่มือกำหนดไว้
และ ‘Imagination Playground’ คือหนึ่งในงานออกแบบสนามเด็กเล่นของเธอในเมืองนิวยอร์คจากแนวคิดที่ว่า “ทำไมไม่มีสนามเด็กเล่นที่ให้เด็กสร้างสรรค์เครื่องเล่นขึ้นตามใจ”
เธอจึงออกแบบสนามเด็กเล่นที่เคลื่อนย้ายได้ (Loose parts) เพราะเครื่องเล่นของสนามเด็กเล่นแห่งจินตนาการ คือ บล็อคขนาดใหญ่ที่นักเล่นตัวจิ๋วสามารถนำมาต่อเป็นสนามเด็กเล่นในจินตนาการของตัวเองได้
เมื่อผู้เล่นเป็นคนออกแบบเอง อาจทำให้สนามเด็กเล่นเป็นพื้นที่ของคนเล่นจริงๆ ไม่ใช่คนออกแบบ
เพราะในสนามเด็กเล่น นักออกแบบไม่ได้มีหน้าที่กำหนดของเล่น แต่มีหน้าที่จุดประกาย ‘การเล่น’ ของคนเล่นให้เกิดความสนุกและเรียนรู้ไปพร้อมกัน
Carve & WATG Landscape Architects: สนามเด็กเล่นคือโลกจินตนาการอีกใบหนึ่ง
จุดเริ่มต้นของสนามเด็กเล่น Zorlu Playground ที่ประเทศตุรกี คือ การสร้างพื้นที่ให้เด็กๆ เข้าไปอยู่ในโลกจินตนาการของตัวเอง
สนามเด็กเล่นในตุรกีที่ไม่เหมือนใคร ออกแบบโดย Carve & WATG Landscape บริษัทออกแบบจากฮาวาย เมื่อปี 2014
สนามเด็กเล่น Zorlu มีเป้าหมายหลัก คือ เปิดโอกาสให้เด็กสัมผัสประสบการณ์การเล่นที่ไม่เคยมีที่ไหนเคยทำมาก่อน ไปพร้อมๆ กับออกแบบเครื่องเล่นที่สนับสนุนพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัย
เพราะสนามเด็กเล่นมีหลายโซนที่เด็กเลือกผจญภัยได้ โดยยึดจากธรรมชาติของความเป็น ‘เด็ก’
ประกอบด้วย Low play-islands พื้นที่สำหรับเด็กเล็กที่ชอบปีน ไถล และสำรวจ โซนนี้มีทั้งแทรมโพลีน สปินเนอร์ ตาข่ายสำหรับปีน เปลญวน และสไลเดอร์ รวมทั้งยังมีเสาไม้ตั้งเพื่อเป็นองค์ประกอบในการผจญภัยของเด็กๆ
โซนต่อมา คือ ใจกลางสนามเด็กเล่น คือ Deep valleys และ two towers หุบเขาขนาดใหญ่ที่เด็กๆ สามารถสำรวจโลกที่ซ่อนอยู่ใต้สะพานตาข่ายและสไลเดอร์ขนาดยักษ์ เปิดพื้นที่ให้เด็กทุกคนเล่นร่วมกัน
และสุดท้าย Mountainrange coulisse หุบเขาลึกถูกโอบล้อมด้วย ‘ทิวเขา’ ที่มีกำแพงหลายชั้นสนับสนุนการเล่นอย่างไม่รู้จบ เด็กๆ สามารถเล่นได้ตั้งแต่ปีนเขา วิ่งเล่นอิสระ ไปจนถึงการเล่นซ่อนหา
ความแตกต่างของแต่ละโซนในสนามเด็กเล่นแห่งนี้ คือ ความตั้งใจของคนออกแบบที่ใช้สีและรูปทรงที่ไม่เหมือนใครพาเด็กๆ ทุกคนเข้าสู่โลกจินตนาการของพวกเขาเอง
Toshiko Horiuchi MacAdam: ถ้าสนามเด็กเล่นไม่ท้าทายผู้เล่น การเล่นจะสนุกได้อย่างไร
จริงๆ แล้ว โทชิโกะ โฮริอุจิ แมคอาดัม (Toshiko Horiuchi MacAdam) เป็น ‘ศิลปินสิ่งทอ’ ไม่ใช่ ‘นักออกแบบ’
ย้อนกลับไปมากกว่า 10 ปี โทชิโกะและเพื่อนจัดนิทรรศการ ‘ประติมากรรมสิ่งทอ’
เธอพบว่า เด็กๆ มาชมผลงานและปีนขึ้นบนงานศิลปะในนิทรรศการครั้งนั้น
ขณะเดียวกัน ตอนนั้นเธอยังเป็นอาจารย์ที่สถาบันบังกะ (Banka Institute) ที่สอนด้านวิศวกรรม จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการลงพื้นที่สำรวจสวนสาธารณะและสนามเด็กเล่นทุกที่ในเมืองโตเกียวตลอด 3 ปี ร่วมกับลูกศิษย์ของเธออีกสองคน
นี่คือข้อค้นพบจากการลงพื้นที่ของทั้งสามคน
“ตอนนั้นประเทศของเรากำลังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจจนลืมว่าการพัฒนาครั้งนี้จะส่งผลกับเด็กๆ อย่างไร”
“เราพบว่ามีเด็กๆ ที่เติบโตในพื้นที่คับแคบ อพาร์ทเมนต์สูง และยังมีเด็กๆ ที่เป็นลูกคนเดียว พวกเขาไม่มีทางเลือก ฉันเลยอยากสร้างพื้นที่ให้เด็กๆ ทุกคนได้เล่นด้วยกัน”
เด็กทุกคนต้องได้เล่น คือ คอนเซปต์ของโทชิโกะ
โทชิโกะจึงอยากให้สนามเด็กเล่นของเธอ เป็นช่วงเวลาความสนุก เพราะเชื่อว่าเด็กเรียนรู้ผ่านการเล่นที่จะช่วยเสริมทักษะอารมณ์และจินตนาการไปพร้อมๆ กับการเคลื่อนไหวทางร่างกาย
สนามเด็กเล่น Woods of Net ในพิพิธภัณฑ์ฮาโกเนะ (Hakone Open Air Musuem) ที่โทชิโกะออกแบบจึงเป็นสนามเด็กเล่นที่ทำให้เด็กๆ เรียนรู้ผ่านการเคลื่อนไหวและห้อยตัวตามเส้นด้ายและยังได้เรียนรู้ผ่านการสัมผัส
เพราะสนามเด็กเล่นแห่งนี้ คือ การถักทอเชือกไนลอน 650 กิโลกรัมด้วยฝีมือของโทชิโกะที่ผู้เล่นสามารถขยับ แกว่ง ปีน และออกแบบการเล่นของตัวเองได้
ในฐานะคนออกแบบ เธอหวังว่าสนามเด็กเล่นแห่งนี้จะไม่ได้เป็นแค่พื้นที่เล่น แต่ระหว่างคนเล่นกระโดด ม้วนตัว หรือหัวเราะบนประติมากรรมสิ่งทอ พวกเขาจะได้เรียนรู้เรื่องแรงโน้มถ่วง น้ำหนัก ความสูง และผิวสัมผัสไปพร้อมกันด้วย
อีกทั้งรู้จักควบคุม ‘ความเสี่ยง’ ด้วยอุปกรณ์การเล่นที่ท้าทาย
“เราออกแบบอุปกรณ์การเล่นที่สนับสนุนให้เด็กท้าทายความสามารถของตัวเอง เพราะสนามเด็กเล่นแห่งนี้ไม่มีวิธีเล่น สามารถเล่นได้หลายแบบ เสี่ยงได้เท่าที่ผู้เล่นรู้สึกปลอดภัย”
โทชิโกะยังบอกอีกว่า การเล่นจะไม่สนุกเลย ถ้าผู้เล่นไม่ได้ท้าทายตัวเอง เธอเป็นแค่ผู้ใหญ่คนหนึ่งที่มอบความเสี่ยงและความท้าทายให้เด็กทดสอบใจตัวเอง
เมื่อผ่านบททดสอบนี้ไป เด็กจะพบคำตอบว่า ตัวเองทำอะไรได้หรือไม่ได้ บางครั้งอาจจะเสี่ยงมากจนพ่อแม่ต้องห้าม
แต่โทชิโกะบอกว่า พ่อแม่ไม่ต้องกลัว ลูกๆ รู้ว่า เขากำลังทำอะไรอยู่ เพราะเด็กๆ ที่กำลังเล่นเสี่ยงวันนี้ก็เป็นแค่ธรรมชาติของเด็กคนหนึ่งเท่านั้นเอง
นอกจากนี้คนที่เป็นแรงสนับสนุนห่างๆ คือ ชาร์ลส์ แมคอาดัม (Charles MacAdam) สามีของเธอและวิศวกรที่ดูแลเรื่องโครงสร้างการเล่นของสนามเด็กเล่นแห่งนี้
และเขาก็ยอมรับว่า “ผลงานของเรามีความเสี่ยง”
“เมื่อเด็กเห็นว่าพวกเขาท้าทายตัวเอง เรียนรู้ว่ามีเส้นทางอื่นเสมอ มีอีกทางหนึ่งที่ปลอดภัย เด็กๆ จะกล้าตัดสินใจและมองเห็นปัญหาที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่”
Helle Nebelong: พื้นที่เล่นคือการเปิดพื้นที่อิสระให้เด็กทุกคนมาวิ่งเล่น
“พื้นที่เล่นควรเป็นพื้นที่อิสระของเด็กทุกคน แม้แต่เด็กพิการ”
คือ แนวคิดหลักของการออกแบบสนามเด็กเล่นของเฮลเล เนเบลอง (Helle Nebelong) สถาปนิกออกแบบภูมิทัศน์ที่สนใจเรื่องการออกแบบพื้นที่สำหรับเด็กที่มีประสบการณ์ออกแบบสนามเด็กเล่นในยุโรปและสแกนดิเนเวีย
เนเบลองเชื่อว่า ธรรมชาติคือวัตถุดิบสำคัญในการสร้างความสมดุลทั้งกายและจิตใจ
เนเบลองจึงออกแบบพื้นที่เล่นแนวธรรมชาติในสวนโบเทนเชียล (Botential Garden) ของพิพิธภัณฑ์เฟรดิกดัล (Frediksdal Museum) ในเมืองเฮลซิงเบิร์ก (Helsingborg) ประเทศสวีเดน บนความตั้งใจที่ว่า “อยากสร้างพื้นที่ให้เด็กๆ มาวิ่งเล่น”
ป่าเล็กๆ ถูกรีโนเวทเป็นพื้นที่เล่นเล็กๆ ตอไม้ เห็ด ใยแมงมุม และก้อนหิน ถูกจับแทรกไปกับอุปกรณ์เล่นสำเร็จรูป เพื่อให้ผู้เล่นปีน กระโดด และทรงตัวท่ามกลางธรรมชาติ
”สนามเด็กเล่นแห่งนี้ คือ พื้นที่กระโดดข้ามก้อนหิน ฝึกการทรงตัวบนตอไม้ ปีนใยแมงมุมเล่นซ่อนแอบในป่าเห็ด และซ่อนตัวในกระท่อมไม้”
ขณะเดียวกันยังเป็นพื้นที่แสดงผลงานศิลปะของเด็กๆ ในชุมชน และเป็นพื้นที่เติมเต็มความคิดสร้างสรรค์
เพราะเด็กๆ สามารถออกแบบพื้นที่เล่นของตัวเองได้ด้วยการนำโมเสกชิ้นเล็กๆ มาติดลงบนพื้นด้วยตัวเอง
สนามเด็กเล่นกลางธรรมชาติแห่งนี้จึงเป็นการผสมความเป็นเมือง ธรรมชาติ การเคลื่อนไหว และความคิดสร้างสรรค์ไว้ด้วยกันเพื่อรองรับการเล่นของเด็กคนหนึ่ง
พราว พุทธิธรกุล และนิษฐา ยุวบูรณ์ จาก NITAPROW: สนามเด็กเล่นคือห้องทดลองที่ไร้ข้อจำกัด
“เพราะเด็กแต่ละช่วงวัยเล่นไม่เหมือนกันและมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน”
คือ ผลการศึกษา ข้อมูล และประสบการณ์การอยู่ร่วมกับเด็กๆ ของ พราว พุทธิธรกุล และคุณนิษฐา ยุวบูรณ์ จาก NITAPROW สองสถาปนิก ผู้ออกแบบ Playville สนามเด็กเล่นในร่มย่านวัฒนาสำหรับเด็กอายุ 6 เดือน – 6 ปี
Playville จึงเป็นสนามเด็กเล่นที่มีเครื่องเล่นหลายองค์ประกอบ เพื่อรองรับพัฒนาการของเด็ก
ยกตัวอย่างเช่น เด็กอายุ 6 เดือน – 1 ปี จะมีพัฒนาการเรื่องการยืนหรือเดิน นักออกแบบทั้งสองคนจึงเน้นไปเรื่องผิวสัมผัสที่แตกต่างกัน เช่น ผิวเรียบ ความชัน ให้เขาท้าทายความสามารถของตัวเอง ถึงจะล้มก็ไม่เป็นไร
นอกจากนี้ พื้นที่การเล่นก็ตั้งต้นจากธรรมชาติของเด็กที่ชอบค้นหาพื้นที่และสำรวจพื้นที่เล่นของตัวเอง ทำให้ทุกโซนการเล่นเชื่อมต่อถึงกัน เด็กๆ สามารถเดินได้อย่างไร้ขอบเขต
ทั้งยังสอดแทรกธรรมชาติไปในสนามเด็กเล่นในร่มแห่งนี้ เสมือนเล่นอยู่กลางแจ้ง เช่น ม่านที่ทำให้เห็นเงาใบไม้ เป็นต้น
ในฐานะผู้ออกแบบ พราวและนิษฐาเปรียบเทียบสนามเด็กเล่นในขนาด 266 ตารางเมตรนี้ เป็นพื้นที่ทดลอง พื้นที่สำรวจ และพื้นที่สนุกไปพร้อมกับการพัฒนาด้านร่างกายและจิตใจ
“เพราะสนามเด็กเล่นไม่ได้มีแค่เครื่องเล่น แต่ต้องคำนึงเครื่องเล่นที่สะอาด ปลอดภัย ธรรมชาติของเด็ก รวมถึงการแบ่งสัดส่วนพื้นที่ให้พ่อแม่มองลูกได้ห่างๆ อย่างห่วงๆ ขณะที่เด็กๆ ก็ยังรู้สึกสนุกกับการเล่นของเขา”
อ้างอิง
https://casholman.com/projects#/imagination/
https://www.dezeen.com/2020/02/14/cas-holman-toy-designer-interview/
http://www.louisapenfold.com/childrens-tactile-learning-toshiko-horiuchi-macadam/
https://www.archdaily.com/297941/meet-the-artist-behind-those-amazing-hand-knitted-playgrounds
http://www.hellenebelong.com/?portfolio=the-troll-forest-has-opened
http://www.hellenebelong.com/?page_id=28
https://fredriksdal.se/trollskogen-med-nytt-lekomrade/