mappa ชวนอ่าน

‘ความสัมพันธ์’ เป็นสิ่งที่สอนยากที่สุด แต่เรียนรู้ง่ายที่สุด : ชุดนิทาน Kidscape บอกเราอย่างนั้น

  • อ่านจบรอบแรก นิทานทั้ง 5 เล่มของสำนักพิมพ์ Kidscape ชุดนี้ อาจกำลังพูดถึงความหลากหลายบนโลกใบนี้ที่เด็กๆ ควรจะมองให้เป็นเรื่องปกติ
  • แต่พออ่านซ้ำ พบว่า เนื้อในของภาพประกอบและตัวอักษรระหว่างบรรทัด คือ ความสัมพันธ์ เพราะมักถูกมองข้าม
  • นิทานจะช่วยเชื่อมโยงประสบการณ์และการเรียนรู้ไว้ด้วยกัน และทั้ง 5 เล่มมีสิ่งเหล่านั้น

อ่านจบรอบแรก อาจจะพบว่านิทานทั้ง 5 เล่มของสำนักพิมพ์ Kidscape ชุดนี้ พูดถึงความหลากหลายบนโลกใบนี้ที่เด็กๆ ควรจะมองให้เป็นเรื่องปกติและพัฒนาขึ้นมาเป็นการเคารพในความแตกต่าง 

แต่พออ่านซ้ำไปเรื่อยๆ เราพบว่า ‘เนื้อใน’ ที่สำคัญไม่แพ้กันคือความสัมพันธ์ ที่เป็นเรื่องนามธรรมมากๆ และมักถูกมองข้ามเพราะเป็นสิ่งที่ ‘สอน’ ยากที่สุด แต่ก็เป็นสิ่งที่ ‘เรียนรู้’ ง่ายที่สุด  

มนุษย์เรียนรู้ความสัมพันธ์จากประสบการณ์ตรง การได้พบเจอ การผูกมิตร ความผิดพลาด การทะเลาะ แล้วคืนดี รวมถึงการจัดวางรูปแบบความสัมพันธ์ใกล้ไกล เพื่อหาระยะที่เหมาะสมที่แตกต่างกันไปในแต่ละคนที่เราพบเจอ 

หากจะช่วยให้เด็กๆ รู้จัก ‘ความสัมพันธ์’ นอกจากจะช่วยให้เขาได้เรียนรู้จากชีวิตจริงแล้ว เรื่องราวความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างตัวละครในนิทานก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เด็กๆ ได้เห็นความสัมพันธ์ที่แตกต่างหลากหลาย 

สิ่งที่นักวาดภาพประกอบและนักแต่งนิทานซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัด บางสิ่งที่เคลื่อนไหวอยู่ระหว่างคำพูดหรือภาพในนิทาน แม้ไม่ได้เขียนออกมาเป็นคำหรือประโยคชัดๆ แต่เรื่องราวในนิทานจะช่วยทำให้ประสบการณ์ที่เด็กๆ เชื่อมโยงนั้นออกมาเป็นการเรียนรู้ 

หรืออีกนัยหนึ่งคือ นิทานช่วยให้เด็กๆ ‘make sense of their world’ หรือทำให้เรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบตัวเขาเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ 

ทั้ง 5 เล่มมีสิ่งเหล่านั้น 

มันเจ๋งไหมเล่า เรามีคุณค่าจนสีเทียนต้องทะเลาะกัน : พอกันที สีเทียนจะไม่ทน

จะเป็นอย่างไรนะ ถ้าสีเทียนทั้ง 12 สีมีความในใจและอยากจะคุยกับเด็กๆ

ดันแคน คือเด็กคนนั้นที่สีเทียนยกกล่องเขียนจดหมายหาด้วยเนื้อความและลายมือต่างๆ นานา แต่ลงท้ายทุกฉบับด้วยคำว่า ‘เพื่อน’

นั่นเพราะสีเทียนทุกแท่งไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นสมบัติหรือเครื่องเขียนของเด็กน้อย หากแต่มีความสัมพันธ์บางอย่างต่อกัน ทั้งรัก โกรธ น้อยใจ ปวดหัว เหนื่อย หงุดหงิด ไปจนถึงเข้าอกเข้าใจ 

สีมีความรู้สึกได้ด้วยเหรอ… ได้สิ ด้วยฝีมือการสร้างภาพโดย โอลิเวอร์ เจฟเฟอร์ส และ ดรูว์ เดย์วัลต์ ผู้รับหน้าที่สร้างเรื่อง 

“ไม่ยุติธรรมเลย ที่เธอใช้ฉันวาดลูกบอลชายหาดแสนสวย แล้วระบายด้วยสีอื่นๆ ทุกสี เธอระบายลูกบอลชายหาดด้วยสี… บ้างได้ไหม ฉันขอมากไปหรือเปล่า” …เพื่อนของเธอ

“เธอไม่ได้ใช้ฉันเลยแม้แต่ครั้งเดียวในปีที่ผ่านมา เพราะเธอคิดว่าฉันเป็นสีของเด็กผู้หญิงใช่ไหมล่ะ” เพื่อนที่เธอไม่ได้ใช้เลย

“เธอจะฆ่าฉันหรือไง! ฉันรู้ว่าเธอรักช้าง และฉันก็รู้ว่าช้างเป็นสี… แต่ช้างมีพื้นที่ให้ฉันระบายเองคนเดียวทั้งตัว เยอะเกินไปนี่นา ไหนจะแรด ฮิปโป และวาฬหลังค่อมของเธออีก” เพื่อนผู้แสนอ่อนล้าของเธอ 

“ดีเหลือเกินที่ได้เป็นสีโปรดของเธอในปีที่ผ่านมาและปีก่อนหน้า และปีก่อนหน้านั้นด้วย! ฉันสนุกทึ่ได้ระบายสีมหาสมุทร ทะเลสาบ… แต่ข่าวร้ายคือตอนนี้ตัวฉันสั้นมากเลย” เพื่อนเตี้ยม่อต้อของเธอ

นอกจากนิทาน ‘พอกันที สีเทียนจะไม่ทน’ เล่มนี้จะสร้างโลกให้เด็กๆ รู้จักการรับฟังเสียงของสีเทียนแล้ว ความรู้สึกเล็กน้อยถึงมหาศาลของแต่ละแท่งยังทำหน้าหน้าที่ทลายกรอบประดามี ชวนเด็กๆ ลองลงสีอย่างอิสระ ขณะเดียวกันก็รับฟังความในใจของเพื่อนสีต่างๆ เพื่อมาแก้ปัญหา และลองลงสีใหม่แบบเข้าใจ ดีลได้นะแต่ประนีประนอม 

ก็เพื่อนกันนี่ ทำไมจะคุยกันไม่ได้…

ลองคิดว่าสีเทียนนับเป็นเพื่อนแล้ว อย่างน้อยๆ ดันแคนก็น่าจะรู้สึกปลอดภัยในมิตรภาพผ่านกล้ามเนื้อมัดเล็กที่ว่านี้ 

และเมื่อดันแคนรู้สึกปลอดภัย  ความมั่นใจการใช้สีชมพูของเด็กผู้ชายก็ไม่ใช่เรื่องแปลก 

ไหนๆ สีเทียนทุกสีก็นับเขาเป็นเพื่อนแล้วนี่นา 

คิดดูสิ การถูกแย่งกันเป็น ‘เพื่อนของเธอ’ มันจะสร้างตัวตน (self) ให้เด็กคนหนึ่งมากแค่ไหน 

มันเจ๋งไหมเล่า เรามีคุณค่าจนสีเทียนต้องทะเลาะกัน

“ฉันจะระบายให้สีเทียนรักกัน” เชื่อเถอะ มือน้อยๆ กับนิ้วอ้วนๆ ป้อมๆ ของดันแคนและเด็กๆ ทำได้แน่ๆ 

โดย : ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ 

เพราะไม่เชื่อว่า ‘ดีได้แค่นี้’ แต่เชื่อว่า ‘ดีได้กว่านี้’ : เป็นตัวเรานั่นแหละดีที่สุดแล้ว 

สูญเสียไปเท่าไรแล้วเพียงเพื่อให้เหมือนๆ กัน 

และความคิดสร้างสรรค์หรือนวัตกรรมก็ไม่เคยเกิดจากความเหมือน แต่หลายต่อหลายครั้งเกิดจากการไม่เชื่อว่าของที่มีอยู่ ‘ดีได้แค่นี้’ แต่ ‘ดีได้กว่านี้’ ต่างหาก 

ไม่ใช่คำของ โจแอนนา เกนส์ ผู้แต่งหรอก และก็ไม่ใช่ภาษาภาพของ จูเลียนนา สเวนีย์ ด้วย แต่หลังจากจบหน้าสุดท้ายของเล่ม เป็นตัวเรานั่นแหละดีที่สุดแล้ว ความคิดชุดนี้ก็ผุดขึ้นมา 

มันมาจากเรื่องราวของเด็กๆ ที่ได้รับภารกิจสำคัญอย่างการทำบอลลูน โดยไม่กำหนดโจทย์ วิธี วัสดุ จะทำเดี่ยวหรือรวมหมู่ก็ได้ 

ดูๆ ไปก็คล้ายการทำพานไหว้ครู ที่หลายสิบปีก่อนยังมาในทรงพุ่มดอกบานไม่รู้โรยขาวๆ ม่วงๆ แบบไฟต์บังคับ แต่พอเวลาผ่านไปเรื่อยๆ เรากลับเห็นพานที่ไกลกว่าจินตนาการไปมาก หลายๆ ครั้งเราเห็นข้อความสำคัญหลายอย่างที่เด็กๆ อยากมอบให้ครูแต่สื่อสารผ่านพาน  

บอลลูนก็เช่นกัน ความหลากหลายของแต่ละอันนั้นมาจากคนทำที่ไม่เหมือนกันทั้งสีผิว วัย เพศ ร่างกาย จะชวนเพื่อนสี่ขามาทำด้วยก็ได้ ไม่มีอะไรผิด

และพอไม่มีคำว่า ‘ผิด’ อยู่ในพจนานุกรมการทำบอลลูนเล่มนี้แล้ว ความกลัวที่จะแตกต่างจึงหายไป ความกล้าทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ก็เข้ามา นั่นเพราะเด็กๆ รู้แล้วว่าความเป็นตัวเองของเขามีคุณค่า ความพิเศษของแต่ละคนล้วนสำคัญต่อโลก

เมื่อเด็กค่อยๆ ซึมซับผ่านนิทานว่า ความเป็นตัวเองนั้นดีที่สุดแล้ว ความเป็นตัวเองของเพื่อนๆ ก็ดีที่สุดในแบบของเขาเช่นเดียวกัน 

โดยไม่ต้องพูดหรือสอนสักคำว่า “เด็กๆ ต้องเคารพในความแตกต่างซึ่งกันและกันนะ” มันอาจจะยากเกินไป 

ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนิทานและบอลลูนหลากสีที่จะมอบทักษะเหล่านี้ให้เด็กๆ เถอะ 

โดย : ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ 

ให้ความสัมพันธ์เป็นฟูกนุ่มๆ อุ่นใจเมื่อเขาต้องไปในที่ไม่คุ้นเคย : เจ้าเพนกวินหลงทาง & เจ้าเพนกวินอยากบิน

สิ่งที่เป็นหัวใจของการเรียนรู้อย่างหนึ่งที่มักถูกมองข้ามคือ ‘ความสัมพันธ์’ เป็นสิ่งที่ ‘สอน’ ยากที่สุด แต่ก็เป็นสิ่งที่ ‘เรียนรู้’ ง่ายที่สุด  

เพราะมนุษย์เรียนรู้ความสัมพันธ์จากประสบการณ์ตรง การได้พบเจอ การผูกมิตร ความผิดพลาด การทะเลาะ แล้วคืนดี รวมถึงการจัดวางรูปแบบความสัมพันธ์ใกล้ไกล เพื่อหาระยะที่เหมาะสมที่แตกต่างกันไปในแต่ละคนที่เราพบเจอ 

หากจะช่วยให้เด็กๆ รู้จัก ‘ความสัมพันธ์’ นอกจากจะช่วยให้เขาได้เรียนรู้จากชีวิตจริงแล้ว เรื่องราวความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างตัวละครในนิทานก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เด็กๆ ได้เห็นความสัมพันธ์ที่แตกต่างหลากหลาย 

สิ่งที่นักวาดภาพประกอบและนักแต่งนิทานซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัด บางสิ่งที่เคลื่อนไหวอยู่ระหว่างคำพูดหรือภาพในนิทาน แม้ไม่ได้เขียนออกมาเป็นคำหรือประโยคชัดๆ แต่เรื่องราวในนิทานจะช่วยทำให้ประสบการณ์ที่เด็กๆ เชื่อมโยงนั้นออกมาเป็นการเรียนรู้ หรืออีกนัยหนึ่งคือ นิทานช่วยให้เด็กๆ ‘make sense of their world’ หรือทำให้เรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบตัวเขาเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ 

เจ้าเพนกวินหลงทาง และ เจ้าเพนกวินอยากบิน ที่เขียนและวาดภาพประกอบโดย โอลิเวอร์ เจฟเฟอร์ส นักแต่งนิทานและนักวาดภาพประกอบชาวไอริช เป็นนิทานที่ใช้ภาพ และคำพูดที่เรียบง่าย ดำเนินเรื่องด้วย ‘เด็กชาย’ กับ ‘เพนกวิน’ ที่เดินทางมาพบ และกลายเป็นเพื่อนกัน 

เรื่องราวมิตรภาพของทั้งสองซ่อนความสัมพันธ์อุ่นๆ และความรู้สึกที่หลากหลายของตัวละครทั้งสองไว้ระหว่างบรรทัด

เล่มแรก เจ้าเพนกวินหลงทาง

จุดเริ่มต้นของการพบกันระหว่างเด็กชายกับเจ้าเพนกวินที่หน้าประตูบ้าน โดยที่เขาไม่เข้าใจว่าทำไมเพนกวินถึงมาอยู่ตรงนี้ เขาเริ่มคิดเอาเองว่า ตัวเขานั้นมีภารกิจสำคัญคือการช่วยเหลือเจ้าเพนกวิน เขามั่นใจว่ามันต้องหลงทางมาแน่ๆ และอยากจะช่วยให้เจ้าเพนกวินคลายความเศร้าด้วยการพามันกลับบ้าน แต่แม้จะขอความช่วยเหลือจากใครก็ไม่มีใครช่วย เขาจึงตัดสินใจออกเดินทางพาเจ้าเพนกวินกลับบ้านด้วยตัวเอง

การเดินทางไม่ง่ายเลย เจอทั้งเรื่องดี เรื่องร้าย ทั้งฝ่าพายุ คลื่นลม และดูเหมือนไม่รู้ว่าจะถึงจุดหมายเมื่อไร แต่ในที่สุดการตัดสินใจครั้งนั้นกลับกลายเป็นการสร้างการเดินทางครั้งใหญ่ที่ผลลัพธ์กลับไม่ใช่การส่งเจ้าเพนกวินให้ถึงฝั่ง และเอาเข้าจริง การไปถึงฝั่งไม่ใช่เป้าหมายของเจ้าเพนกวินในการปรากฎตัวหน้าประตูบ้านของเด็กชายตั้งแต่วันแรก 

กว่าเด็กชายจะรู้ตัวว่า แท้จริงเจ้าเพนกวินต้องการอะไร 

กว่าเด็กชายจะได้ตระหนักรู้ว่า เรื่องราวต่างๆ ที่เขาเล่านั้นจะมีความหมายก็ต่อเมื่อมีคนรับฟัง 

กว่าเด็กชายจะได้รู้ว่าการโฟกัสกับเป้าหมาย ทำให้เขาสูญเสียการสัมผัสรับรู้ถึงสิ่งต่างๆ ระหว่างทาง 

กว่าพวกเขาจะรู้ตัวว่าเขาทั้งสองกำลังตามหาอะไรอยู่ ก็ต้องเดินทางไปไกล จนถึงขั้วโลกใต้ 

แต่ว่า… พวกเขาก็พบมัน  

และแท้จริง ไม่ได้มี “ใครเป็นฝ่ายช่วยเหลือ” หรือ “ใครเป็นฝ่ายได้รับความช่วยเหลือ” 

‘ความสัมพันธ์’ ที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางต่างหากที่ช่วย ‘ทั้งสอง’ ไว้

จบเล่มแรกด้วยความรู้สึกอบอุ่นหัวใจ และทำให้คนอ่านค้นพบเอาเองว่า “ไม่ใช่จุดหมายหรอกที่สำคัญ เรื่องราวและบางสิ่งที่เกิดระหว่างทางสำคัญกว่าจุดหมายมาก” 

เล่มที่สอง เจ้าเพนกวินอยากบิน เล่มนี้ผู้เขียนไม่ได้วางแผนให้เป็นภาคต่อจาก เจ้าเพนกวินหลงทาง แต่ยังคงคาแรคเตอร์และความสัมพันธ์อุ่นๆ ของเจ้าเพนกวินกับเด็กชายเป็นการดำเนินเรื่องเอาไว้

เจ้าเพนกวินไม่ได้หลงทางในเรื่องนี้ แต่จู่ๆ มันก็ต้องการค้นหาตัวเอง อยากเห็นว่าตัวเองมีอะไรที่ “มากกว่าการเป็นเพนกวิน” นั่นคือมันอยากบินได้ 

น่าสนใจตรงที่เด็กชายไม่เคยพูดสักคำว่า “เธอบินไม่ได้หรอกนะ” แม้เขาเองรู้อยู่แก่ใจ ก็แหม ในหนังสือเล่มที่เด็กชายค้นคว้าก็เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า “เพนกวินบินไม่ได้” แต่เมื่อเพื่อนของเขาเชื่ออย่างนั้น เขาก็พร้อมจะอยู่เคียงข้างคอยสนับสนุนเส้นทางที่เพื่อนเขาเชื่อมั่น ความสัมพันธ์ย่อมสำคัญกว่าการที่เพื่อนคิดถูกหรือคิดผิด 

เพื่อนเขากำลังเรียนรู้บางสิ่ง ‘ด้วยตัวเอง’

ใครที่เคยมีประสบการณ์อยู่ข้างๆ ใครสักคนที่เราต้องกัดฟันอดทน ไม่พูด ไม่บอก และต้องใช้ความเชื่อมั่นว่าเขาจะเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองนั้น ย่อมเข้าใจดีว่า การกดข่มใจไม่ให้เอาตัวเราไปแทรกแซงการเรียนรู้ของเขา ทำได้เพียงยืนอยู่ข้างๆ ปล่อยให้เขาเรียนรู้และค้นพบด้วยตัวเองนั้นยากกว่าการพูดบอกออกไปเลยว่า “เธอไม่ได้เกิดมาเพื่อบินหรอกนะ” หรือ “สิ่งที่เธอมีอยู่นั้นไม่ใช่ปีก” ทั้งๆ ที่บางครั้งแสนห่วงใย และรู้อยู่แก่ใจว่าเขาอาจจะกำลังเดินไปสู่ทางที่เสี่ยงๆ แต่ประสบการณ์ที่เขาเผชิญด้วยตัวเองย่อมทำให้เขาเรียนรู้มากกว่าการเอาประสบการณ์ของเราไปสอนผ่านการพูดและบอกแน่ๆ 

เจ้าเพนกวินอาจจะลงเอยด้วยการค้นพบพลังชนิดใหม่ที่ทำให้ตัวเองบินได้จริงๆ 

หรือมันอาจจะพบว่ามันบินไม่ได้ 

แต่นั่นไม่ใช่เรื่องของเด็กชายสักนิด

เขาแค่ต้องการอยู่ใกล้ๆ เพื่อนของเขาต่างหาก 

อีกครั้ง สิ่งที่ซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดและในภาพของนิทานภาพเรื่องนี้ ทำให้เราเข้าใจมิติของความสัมพันธ์ที่ไม่ขวางกั้นการเรียนรู้ของกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นพ่อกับแม่ พ่อแม่กับลูก หรือเพื่อนกันก็ตาม เราต่างเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตนเองทั้งสิ้น  

สิ่งที่เราทำได้คือ ‘รอรับ’ ‘Be there’ หรือ ‘อยู่ตรงนั้น’ เป็นฟูกนุ่มๆ ให้ความอุ่นใจเมื่อเขาต้องบินจนสูง ไปในที่ที่ไม่คุ้นเคย หรือทำอะไรเสี่ยงๆ สักหน่อย เพื่อให้เขารับรู้ว่า เขาจะกลับมาตรงนี้ได้เสมอ และพื้นที่ตรงนี้จะเป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’

โดย : มิรา เวฬุภาค

สิ่งที่คิดอาจไม่จริงเสมอไป เพราะโลกนี้มีความหลากหลายที่เรายังไม่รู้จัก : โลกแห่งจินตนาการของไมโล 

หากปิดหน้าจอ แล้วสำรวจคนรอบตัวด้วยสายตาของเราจริงๆ จะเห็นอะไรบ้าง

คำโปรยบนปกหลังของ ‘โลกแห่งจินตนาการของไมโล’ ที่พานักอ่านทุกคนสำรวจความหลากหลายผ่านตู้รถไฟ ผ่านตัวหนังสือของ แมตต์ เดอ ลา เปนญา

“คนอื่นจะคิดอย่างไรกับใบหน้าของฉันนะ”

คือคำถามของไมโล หลังจากเขาจินตนาการชีวิตของผู้ชายมีเครานั่งพับหนังสือพิมพ์ ผู้หญิงใส่ชุดแต่งงาน เด็กผู้ชายใส่สูท และกลุ่มนักเต้น ระหว่างนั่งรถไฟไปหาแม่ผ่านรูปวาดในสมุดโน้ตของลูกชาย

ก่อนพบว่า “สิ่งที่จินตนาการอาจไม่ใช่อย่างที่คิด” เพราะโลกใบนี้เต็มไปด้วยความหลากหลายที่ ‘ไมโล’ ยังไม่รู้จัก 

ผู้ชายไม่จำเป็นต้องแต่งงานกับผู้หญิง และ เด็กผู้ชายใส่สูทอาจจะไม่ได้อยู่ในวัง

ไมโลเป็นเพียงแค่เด็กคนหนึ่งที่เรียนรู้ความหลากหลายจากผู้คนในรถไฟ แต่ความหลากหลายเหล่านี้ที่ไม่คุ้นเคยบอกว่า “ต่อให้เรามองเห็นหน้าใครสักคนก็ไม่ได้ทำให้รู้จักเขาจริงๆ หรอก”

โลกแห่งจินตนาการของไมโล คือ หนังสือที่ทดสอบนิยามความหลากหลายในใจของเด็กๆ

แต่ไมโลเปรียบเทียบความหลากหลายเป็น “น้ำอัดลมซ่าๆ พร้อมระเบิด” 

ความหลากหลาย คือ ความตื่นเต้นที่พาเขาสำรวจชีวิตของทุกคน รวมถึงความหลากหลายในชีวิตของไมโลเอง

โดย : ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์


Writer

Avatar photo

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

คุณแม่ลูกหนึ่งซึ่งคลุกวงในงานข่าวมาหลายสิบปี เพิ่งมาค้นพบตัวเองไม่กี่ปีมานี้ว่าอินกับงานด้านเด็ก ครอบครัว และการศึกษามากเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้มาร่วมสร้างแผนที่การเรียนรู้อย่าง mappa

Avatar photo

มิรา เวฬุภาค

Avatar photo

ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง

Illustrator

Avatar photo

กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts