Riso Art Jam คอมมูนิตี้ของคนรักริโซ่กราฟ ที่ใส่ใจแบบ layer by layer

  • Riso Art Jam เป็นอีเวนต์ที่รวบรวมศิลปินและผู้ที่ชื่นชอบงานศิลปะจากทั่วทุกมุมโลก อาทิ มาเลเซีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น เวียดนาม ไทย ฮ่องกง เยอรมณี สโลวาเกีย ฝรั่งเศส อังกฤษ และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งจัดโดย Tsubaki Studio และ Hasuriso และพาร์ทเนอร์อื่น ๆ ที่มีความสนใจและหลงใหลในสเน่ห์งาน Riso  เหมือนกัน งานถูกจัดขึ้นปีนี้เป็นปีแรกที่ The Whiteways Arcade รัฐปีนัง เมืองจอร์จทาวน์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 15-31 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา
  • ภายในงานได้ถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ Forum Bazzar และ Art Exhibition ซึ่งทั้งหมดนี้มุ่งเน้นไปที่งานริโซ่กราฟเป็นพิเศษ โดยจุดประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่ให้ศิลปินได้แสดงผลงานพิมพ์ของตัวเองและสร้างประสบการณ์ร่วมกันผ่านความชอบที่เหมือนกันทั้งศิลปินและชุมชน ทั้งนี้งาน Riso Art Jam ยังเป็นส่วนหนึ่งกับ George Town Fetsival เฟสติวัลประจำปีที่ใหญ่ที่สุดของเมืองจอร์จทาวน์
  • Risograph เป็นเทคนิคการพิมพ์รูปแบบหนึ่ง ตัวเครื่องมีลักษณะเหมือนเครื่องถ่ายเอกสาร แต่แตกต่างที่วิธีการทำงาน ซึ่งจะพิมพ์แบบแบ่งเลเยอร์สีทับซ้อนกันทีละชั้นรวมไปถึงการใช้สีพิเศษ เช่น สีนีออน สีเมทัลลิค ที่นอกจากสี CMYK ที่ใช้ในระบบการพิมพ์อีกด้วย ส่วนตัวหมึกผลิตจากถั่วเหลืองเป็นหมึกแบบไม่ทึบแสง ทำให้บางส่วนของตัวงานเวลาพิมพ์ทับในตำแหน่งเดียวกันสีจะผสมกันเกิดเป็นสีใหม่ภายในชิ้นงาน
ภาพจาก https://georgetownfestival.com/2023/programmes_/riso-art-jam/

Congratulations! You’ve been chosen as an Exhibitor for Riso Art Jam 2023 Festival!

ประโยคจั่วหัวจากอีเมลฉบับหนึ่งที่ได้รับจาก inbox ของอีเมลตัวเอง ความรู้สึกตื่นเต้นจนอยากลุกขึ้นมาจัดเตรียมแพ็คกระเป๋าแล้วออกเดินทางทันทีก็ขึ้นมาในหัว… เพราะมันคืออีเวนต์รวมกลุ่มคนที่มีความสนใจและรักงานพิมพ์อย่าง Risograph ที่เจ๋งที่สุดของปีนี้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้!

Layer 1: Prepare for the destination

หลังจากได้รับข่าวดีน่าตื่นเต้นไปแล้วเรียบร้อย ถ้าไม่ทำการบ้านสำหรับประเทศที่จะไปก็คงเป็นเรื่องแปลกประหลาดไปสักหน่อย แม้จุดเป้าหมายจะเป็นการได้ไปพบปะพูดคุยภายในคอมมูฯ ของคนที่สนใจงาน Riso และดูงานแสดงของตัวเองหรือเพื่อน ๆ ศิลปินด้วยกัน แต่เราคิดว่าการไปของทริปในช่วง 3 วัน 2 คืนนี้คงพิเศษมากขึ้นถ้าได้ลองไปสัมผัสวัฒนธรรมของมาเลย์ผ่านผู้คน สถานที่ และอาหารการกิน เราจึงไม่รอช้ารีบจัดการเตรียมตัวมองหาตั๋วเครื่องบินราคาย่อมเยา การเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปปีนังใช้เวลา 1 ชั่วโมง 50 นาที และเวลาที่นั่นจะไวกว่าประเทศไทย 1 ชั่วโมง

พอถึงวันที่ต้องออกเดินทาง ในระหว่างนั่งรอที่เกตทางออกสนามบิน เราจินตนาการภาพในหัวมากมายเลยว่า ถ้าตอนไปถึงที่งานจริง ๆ มันคงจะตื่นตาตื่นใจน่าดู  

Layer 2 : ตื่นตาตื่นใจ with Penang

Apa Khabar Malaysia! (สวัสดีมาเลเซีย!) เครื่องบินแลนด์ดิ้งสู่สนามบินนานาชาติปีนังโดยสวัสดิภาพ ที่นี่คนพื้นเมืองจะสื่อสารกันโดยใช้ภาษาจีนและมลายู แต่ไม่ต้องห่วงไม่ว่าการเดินทางครั้งนี้จะต้องสื่อสารกับผู้คนมากมายแค่ไหนก็ตาม แต่ภาษาอังกฤษก็เป็นภาษาหลักสำหรับที่นี่ด้วยเหมือนกัน เราพูดภาษาจีนได้นิดหน่อย ถ้าจะได้ใช้ภาษาจีนก็จะได้เอาทักษะที่เรียนมาใช้เลย

มาถึงฝนก็ตกหนักมาก แงงงงง

แต่ในความโชคร้ายก็ยังพบกับความโชคดีอยู่บ้าง เราเจอฝนตกหนักมากแต่ไม่นานพอมีแสงแดดหลังฝนตกเป็นกำลังใจว่าการเดินทางครั้งนี้ต้องเป็นทริปที่พิเศษและน่าจดจำแน่นอน…

และแล้วเราก็เดินทางมาถึง The Whiteways Arcade สถานที่จัดงาน Riso Art Jam เรารู้สึกว่า ว้าว! นี่แหละบรรยากาศที่เรารอคอย มันเป็นเหมือนพื้นที่ที่ได้แชร์ไอเดียงานสร้างสรรค์กับเพื่อนในสายงานเดียวกัน เรารู้สึกว่ามันท้าทายมากสำหรับตัวศิลปินที่ทำงานลักษณะนี้ เพราะด้วยข้อจำกัดเรื่องสีของการพิมพ์ Risograph ทำให้ต้องใช้ความครีเอทีฟมากขึ้นกว่าเดิม เราเดินชมในโซน Art Exhibition ที่มีงานของเพื่อน ๆ จากหลากหลายประเทศ แล้วทันใดนั้นเราก็เจองานริโซ่สี่เหลี่ยมสุดจิ๋วของตัวเองที่ภูมิใจและดีใจสุด ๆ ว่าแล้วก็ขอ snap ภาพเก็บไว้เป็นที่ระทึกหน่อยแล้วกัน (แชะ)

ขอบคุณภาพจาก https://www.instagram.com/hasuriso/

นอกจากงานศิลปินต่าง ๆ ภายในงานนี้เราก็อยากเล่าถึงหนังสือที่น่าสนใจให้เพื่อน ๆ ด้วยเหมือนกัน หนังสือเล่มนี้ชื่อว่า ‘Riso Art: A Creative’s Guide to Mastering Risography’ โดย Vivian Toh และ Jay Lim จาก Hasuriso เป็นหนังสือที่รวบรวมที่เกี่ยวกับ Riso ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการเตรียมไฟล์งานพิมพ์ การเลือกใช้กระดาษ คู่สี รวมไปถึงบทสัมภาษณ์ของศิลปินหรือคนที่ทำงานพร้อมตัวอย่างผลงานของพวกเขา เรียกได้ว่าครบจบภายในเล่มเดียวมาก ๆ

ณ ตอนนี้เวลา 11:30 ตามเวลาของมาเลเซีย หลังจากดื่มด่ำกับงานเสร็จเป็นที่เรียบร้อย สำหรับกิจกรรมแรกที่เราเข้าร่วมกับทาง Art Riso คือ Forum มีการเชิญวิทยากรมาพูดคุยแลกเปลี่ยนวิธีการทำงานด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ของ Riso เพื่อสร้างสรรค์งานออกแบบที่สนุก และไม่เหมือนใคร ซึ่ง Forum จะถูกแบ่งออกเป็น  2 วัน คือวันที่ 29 และ 30 กรกฎาคม ส่วนตัวเราเลือกซื้อตั๋วเข้าฟังแค่วันเสาร์ที่ 29 แค่วันเดียว เพราะเราติดตามวิทยากรเหล่านี้ทางโซเชียลมีเดียมาได้สักพักใหญ่ อย่าง Hasuriso (Malaysia) เป็น Riso Print Maker และ Witti Studio (Thailand) ก็มาบรรยายในวันนี้ด้วยเหมือนกัน! สถานที่จัดงาน Forum คือที่ร้าน W Cafe ตรง Chruch Street Ghaut ไม่ห่างจากตรง The Whiteways Arcade มากนัก เราสามารถเดินไปได้

Forum เริ่มโดย Vivian Toh และ Jay Lim 2 ผู้ก่อตั้ง Hasuriso จากเมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งปัจจุบันมีเวิร์กชอปและให้บริการการพิมพ์ Riso กับผู้คนในละแวกนั้น พวกเขาพูดด้วยว่านอกจากริโซ่ที่ทำแล้ว ยังมีงานดีไซน์ อาทิ Branding และออกแบบ Packaging สำหรับธุรกิจทุกประเภทอีกด้วย แต่ความตื่นตาตื่นใจยังไม่หมดเพียงเท่านี้ พวกเขายังนำเสนอเทคนิค Spot UV (Thermography) บนงานพิมพ์ Risograph ซึ่งก็คือการนำเรซิ่นทาบนงานภาพพิมพ์ แล้วนำเข้าเครื่องให้ความร้อน ซึ่งจะทำให้เรซิ่นละลาย ทำให้เกิดภาพที่เงาและนูนขึ้นในบริเวณที่ต้องการ เทคนิคนี้สามารถใช้ได้กับงานพิมพ์ 1 – 2 สี สามารถพิมพ์สีเพิ่มได้หลังจากทำ Thermography แต่ต้องไม่สัมผัสกับส่วนที่นูนขึ้นมา ซึ่งตอนที่เราเห็นวิดีโอที่เขาทำแล้วเราอยากลองกับชิ้นงานตัวชิ้นต่อไป มันคงจะเพิ่มมิติให้กับงานของเราแน่เลย

(( พักเบรกดื่มชาอุ่น ๆ และบราวนี่ 15 นาที ))

ในระหว่างช่วงพักเบรกก่อนเตรียมฟังบรรยายวิทยากรคนต่อไป เรากับเพื่อนร่วมโต๊ะที่มาฟังบรรยายก็พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ทั้งแลกคอนเเทคและคุยถึงงานพิมพ์ริโซ่  มีเพื่อนมาเลเซียคนนึงได้เอางานภาพวาดดิจิทัลของตัวเองไปสั่งพิมพ์แบบริโซ่กราฟกับ Hasuriso เธอเล่าให้ฟังว่างานของเธอได้ลองเพิ่มเทคนิคแบบ Thermography ด้วย มันเป็นการทดลองที่น่าสนใจและเพิ่มความพิเศษให้กับตัวชิ้นงานของเธอได้อย่างดี ยิ่งฟังเราก็ยิ่งอยากลองบ้าง

วิทยากรในลำดับถัดไปเป็นศิลปินที่เราชื่นชม ภูมิใจและดีใจมาก ๆ ที่ได้มานั่งฟังพวกเขาบรรยายในวันนี้ นั่นคือ Witti.Studio ครีเอทีฟสตูดิโอซึ่งก่อตั้งโดย วิทมน นิวัติชัย และ สันติ ตันสุขะ ทั้งสองคนได้บรรยายเล่าถึงขั้นตอนการทำงานไม่ว่าจะเป็นการออกแบบโปสเตอร์คอนเสิร์ตต่างประเทศที่มาเล่นที่ไทย ศิลปินต่างชาติที่มีโปรเจกต์ส่วนตัวทำ Zine (หนังสือทำมือ) ในช่วง Covid-19 หรือความประทับใจที่ทางสตูดิโอได้เข้าไปทำโปรเจกต์ Made in Charoenkrung ภายใต้โจทย์  “Last Generation” ซึ่งเป็นโปรเจกต์ที่พัฒนาศักยภาพของกิจการเดิมในละแวกเจริญกรุงให้ตอบโจทย์ตลาดยุคใหม่อย่างสร้างสรรค์ โดยเน้นไปที่กิจการรุ่นสุดท้ายที่กำลังจะเลือนหายหรือถูกเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ ซึ่ง Witti.studio ได้จับมือกับร้านไอศกรีมเจ้าเก่า ‘ฮงฮวด’ ออกมาเป็นชิ้นงานที่ใช้ Risograph เข้ามาเพิ่มสีสัน

ขอบคุณภาพจาก https://www.instagram.com/risoartjam/
ขอบคุณภาพจาก https://www.instagram.com/risoartjam/

Layer 3 :  Collect the best moment (เก็บเกี่ยวความประทับใจ)

เวลา 15:00 น.หลังจากฟัง Forum จบไปเป็นที่เรียบร้อย เราก็เดินกลับมาที่ The Whiteways Arcade บรรยากาศงานเริ่มคึกคักมากขึ้น มีทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และชาวต่างชาติ ของขายแต่ละบูธน่าสนใจและน่ารักมาก ๆ มีทั้งโปรดักส์ที่เป็นงานโปสเตอร์ โปสการ์ด เข็มกลัด โคมไฟกระดาษ กล่องไม้ขีดไฟ เราเตรียมใจไว้แล้วว่าเราอดใจไม่ได้แน่นอน  แล้วก็เป็นตามนั้น เราได้อุดหนุนซื้อผลงานของเพื่อน ๆ ศิลปินด้วยกันติดไม้ติดมือมาด้วย

ก่อนจะปิดจบทริปร่ำลากันไป เรารู้สึกว่าทริปมาเยือนมาเลเซียครั้งนี้ประทับใจสุด ๆ ถ้ามีโอกาสได้กลับมาอีกครั้ง เราคงไม่พลาดที่จะคว้าช่วงเวลานั้นอีกแน่นอน


Writer

Avatar photo

อุษา แม้นศิริ

มนุษย์กราฟิกผู้ชื่นชอบงานภาพประกอบ สีฟ้า ดนตรี และมีนกน้อยสองตัวเป็นของตัวเอง

Illustrator

Avatar photo

อุษา แม้นศิริ

มนุษย์กราฟิกผู้ชื่นชอบงานภาพประกอบ สีฟ้า ดนตรี และมีนกน้อยสองตัวเป็นของตัวเอง

Related Posts